เผยแพร่ |
---|
ปี่กลองเลือกตั้งดังขึ้นทุกขณะ ชีพจรการเมืองขยับเต้น ประเทศไทยห่างเหินการเลือกตั้งมากว่า 4 ปี นับจากเลือกตั้งโมฆะเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
เมื่อการเลือกตั้งกลับมาทำหน้าที่ตัดสินทิศทางประเทศอีกครั้ง ผู้เล่นสำคัญของเกมคือนักการเมือง ที่จะต้องลงแข่งขันใน 350 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ มีเสียงถามหา “คนรุ่นใหม่” ถามหา “คนดี” ฯลฯ แต่สุดท้าย -ทุกคนคือผู้อาสา ผู้ชี้ขาดคือประชาชนเจ้าของสิทธิ
350 เขตทั่วประเทศ รวมถึงชลบุรี ดินแดนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษพภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นพื้นที่ไฮไลต์ที่ทั่วประเทศจับตาความเป็นไป ในอดีตพื้นที่นี้ ส่งนักการเมืองคุณภาพเข้าสภามามาก ไม่ว่าจะเป็น “อุทัย พิมพ์ใจชน” หรือ “บุญชู โรจนเสถียร”
และคนดังอีกมาก โดยเฉพาะจากตระกูลใหญ่อย่าง “เนื่องจำนงค์” ไปจนถึง “สิงห์โตทอง” และปัจจุบันนี้ คือ “คุณปลื้ม”
“สรวุฒิ เนื่องจำนงค์” หรือ “ส.ส.ต้น” เป็นบุตรชายของ “ประโยชน์ เนื่องจำนงค์” อดีต ส.ส.อดีตรมช.อุตสาหกรรม เที่ยวนี้ สุรวุฒิย้ายค่ายจาก ปชป. ที่เคยเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และส.ส.เขต มาลง “พลังประชารัฐ”
การเมืองชลบุรีจะเป็นอย่างไร ยึดโยงกับการเมืองประเทศอย่างไร และการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “ผู้เล่น” อย่างไร ลองติดตามกันดู
ชีวิตส่วนตัว การศึกษา?
โตมาเหมือนเด็กกรุงเทพฯครึ่งหนึ่ง ต่างจังหวัดครึ่งหนึ่ง เรียนกรุงเทพฯตั้งแต่เด็ก แต่ทุกปิดเทอมไปบ้านญาติต่างจังหวัดตลอด โดยเฉพาะญาติพี่น้องคุณแม่อยู่จันทบุรี ภาคตะวันออก ทุกปิดเทอมใช้เวลา 2-3 เดือนอยู่ต่างจังหวัด
จบมัธยมศึกษา ต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านการเงินและการธนาคาร หรือไฟแนนซ์
ชอบด้านตัวเลข ?
จริงๆ ไม่ชอบเลย อยากเป็นนายร้อยตำรวจ แต่คิดว่าตัวเองไม่เหมาะ กินมังสวิรัติตั้งแต่เด็ก ถ้าไปฝึกคงมีปัญหาแน่ เลยเปลี่ยน
ตอนแรกอยากเข้าวิศวะ จุฬาฯ แต่ไปๆ มาๆ เอ็นทรานซ์จริงๆ อันดับ 1 ก็เลือกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ก็ติดอย่างที่ตั้งใจ
ครอบครัวอยากให้เรียนด้านไหนเป็นพิเศษ หรือช่วยตัดสินใจไหม?
คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยพูด แต่เราคลุกคลีมา คุณพ่อทำเรื่องการเมืองอยู่แล้ว คุณแม่มีญาติพี่น้องทำงานเรื่องการเมืองตลอด เราเห็นคุณพ่อคุณแม่มีโอกาสช่วยเหลือ คุณพ่อจะเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาและเรื่องคนเจ็บป่วย คนชลบุรีคงทราบดีว่าถ้าเป็น 2 เรื่องนี้จะมาพบคุณพ่อ อาจเป็นเรื่องความไม่สะดวกในการติดต่อโรงพยาบาล เคสหนักๆ เคสใหญ่เราก็แนะนำไป
ที่บ้านทำเรื่องเกษตรกรรม ไร่อ้อย ไร่ยาง ไร่ปาล์ม มีตลาด คนจำนวนมากจะรู้จักกันอยู่แล้ว ฉะนั้นก็มีส่วนที่เราได้เห็นไกลๆ แต่เขาไม่เคยพูดว่าอยากให้เป็นอะไร
ทุกวันนี้คนชลบุรียังจำคุณพ่อได้?
คุณพ่อเป็นที่รู้จักมากที่สุดในตระกูล เพราะในตระกูลมีผมเป็น ส.ส.คนที่ 3 มีนักการเมืองในระดับต่างๆ อีก เช่น ส.จ.กว่า 10 คน นายกเทศมนตรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. สมาชิกเทศบาลอีกหลายสิบคน เรียกว่าเยอะมาก แต่คนที่เป็นที่รู้จัก จดจำในระดับชาติคือคุณพ่อ (ยิ้ม)
หลังเรียนจบบริหารธุรกิจ ได้ทำงานสายนี้บ้างไหม?
ซีพีมีโครงการซีดีพี หรือ Career Development Program จะส่งคนไปทาบทามคนที่เป็นผู้นำนิสิต หัวหน้า ประธาน เป็นนายกต่างๆ ที่จุฬาฯ และคัดเลือกไป ผมเป็นคนเดียวในคณะที่ได้รับคัดเลือกให้ไปอยู่กับซีพีในช่วงต้น ไปอยู่ในสำนักบริหารกลางของเครือซีพี ดูแลเกี่ยวกับเซเว่น การลงทุนในจีน ทำงานช่วงสั้นๆ ไม่ถึงปี ที่บ้านเรียกกลับไปช่วยงาน
จุดเริ่มต้นที่เข้าสู่แวดวง?
ยุคแรกพรรคไทยรักไทย คนของคุณทักษิณ ชินวัตร ไปทาบทามที่บ้าน แล้วก็มาประชาธิปัตย์ คืออดีตนายกฯชวน หลีกภัย ส่งคนเข้าไปทาบทามที่บ้าน ลงสมัครครั้งแรกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ อายุ 20 กว่าๆ ซึ่งเด็กมาก เพราะยุคนั้นมี 100 คน ปี 2548 ท่านอื่นๆ อาวุโสทั้งนั้น อายุ 50-70 มีเรา 20 กว่าอยู่คนเดียว รู้สึกว่าได้โอกาส และอยู่ในอันดับที่ 50 กว่า
เส้นทางการเมืองตลอด 11 ปี ราบรื่น ขึ้นลง ขรุขระอย่างไร?
โชคดีมากที่ประสบความสำเร็จมาตลอด ประชาชนสนับสนุนมาตลอด คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ตลอด เป็นคนเดียวที่ได้เกิน 50,000 ใน จ.ชลบุรี คิดว่าตัวเองคงไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นตำแหน่งอะไร แต่ว่าย้อนกลับไปตอนเด็ก คิดว่าตอนนี้เราช่วยคนได้จำนวนหนึ่งแล้ว แม้จะไม่หมด แต่เราตั้งมั่นในสิ่งเหล่านี้
เที่ยวนี้ตัดสินใจนานไหมที่เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ?
ไตร่ตรองอยู่นาน เพราะความรู้สึกตัวเองคือไม่คิดจะเปลี่ยนพรรค อยู่พรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2546 และคิดว่าถ้าสอบตกก็ไม่มีปัญหาอะไร ถือว่าอายุน้อยกว่าหลายๆ คน
เราเริ่มต้นอาชีพนักการเมืองตอนอายุ 30 นิดหน่อย และคิดว่าเรามีโอกาสในชีวิตอีกเยอะ อีกหลายสิบปี
แต่ตอนนี้เรื่องสถานการณ์ประเทศด้วย ผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐก็ให้โอกาสด้วย?
สถานการณ์ที่ว่าหมายถึง 5 ปีที่แล้ว ประเทศถึงทางตัน คนตีกัน ทหารเข้ามารักษาความสงบ เขาก็มาทำสิ่งที่ถูกต้อง ณ เวลานั้น
แต่ผ่านมามีหลายอย่างที่ไม่ถูกใจหลายคน ตัวผมเองมีบางสิ่งที่คิดว่ายังไม่ถูกนัก แต่ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ติทุกปัญหา แต่ไม่ช่วยเขาทำงานคงไม่ถูกต้อง ประเทศคงไม่ได้ดีถ้าเราเลือกฝั่งหนึ่งฝั่งใด แต่ประเทศจะดีขึ้นได้ถ้าเกิดจากการหลอมรวมความเข้าใจของคน
ที่เข้ามาพรรคพลังประชารัฐ เพราะเห็นว่าโอกาสของประชาชนยังมีอยู่มาก ถ้ามีตัวแทนที่ดี มีรัฐบาลที่ดี มีประเทศชาติที่มั่นคง คิดว่าบางเรื่องอาจไม่ถูกใจนัก แต่เราก็ต้องเดินหน้า เพื่อทำให้บางอย่างตรงกับเป้าหมายกับสิ่งที่วางไว้
คิดอยู่นาน เพราะในทีมงาน รวมทั้งครอบครัว ชัดเจนเลยตั้งแต่คุณแม่ ภรรยา คนใกล้ชิด ไม่มีใครอยากให้ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากรักและผูกพันมานาน และไม่เคยคิดเปลี่ยนใจ พอมาคราวนี้ สถานการณ์มันเปลี่ยนไป ผู้ใหญ่ให้โอกาสมาก ให้มาเป็นกรรมการบริหารพรรค ให้มาทำผลงานด้านนโยบาย อยู่ในยุทธศาสตร์ และอีกหลายๆ เรื่อง
บทบาทหรือทิศทางในการทำงานของพรรคตอนนี้มีอะไร อย่างไรบ้าง?
ถ้าเป็นระดับนโยบายคงต้องรอความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง แต่ส่วนตัวอยากแก้ไขปัญหา 3 เรื่องที่ชาวบ้านที่ประสบกันมากๆ
1.เรื่องที่ทำกิน ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยส่วนหนึ่งมาจากความเป็นอยู่ 40-50 ปีที่แล้ว ส.ป.ก.เป็นกฎหมายที่ทันสมัย เป็นการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แจกที่รกร้างว่างเปล่าให้กับเกษตรกร เขาใช้ 2 มือ 2 เท้า กับครอบครัว ลงทุนลงแรงกับพื้นที่ ตอนนั้นมันทันสมัยและถูกต้องมากๆ แต่มาวันนี้ไม่ทันสมัยแล้ว ผมยกตัวอย่างว่า 30-40 ปีก่อน คนตอนนั้นอายุ 25-35 ไปกัน 2 สามีภรรยา พออายุ 60 กว่า จะรีไทร์ จะเกษียณ ที่ดินเปลี่ยนมือไม่ได้
บ้านที่สร้างมา 30-40 ปี ลงทุนลงแรง เลี้ยงลูกเป็นอาชีพต่างๆ ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ นอกจากทิ้งเป็นมรดก แต่ลองคิดดูว่า เราเป็นสามีภรรยา มีลูกน้อย สามีได้ 20 ไร่ ภรรยาได้ 20 ไร่ จะโอนให้ลูกคนหนึ่งก็โอนไม่ได้ เพราะเกิน
สมมุติเกินคนละ 25 ไร่ ก็เกิน 50 ไร่ ถ้ามีลูกเยอะล่ะ มีปัญหาอะไร ลูกคนหนึ่งเป็นตำรวจ อีกคนเป็นครู อีกคนเป็นข้าราชการ ไม่มีใครทำเกษตร จะโอนให้ใคร?
ผมเลยบอกว่านี่เป็นภารกิจที่ต้องผลักดันให้เปลี่ยนตรงนี้ให้ถูกต้อง หากทำให้ ส.ป.ก.เทียบเคียงโฉนดได้ เป็นเป้าหมายสูงสุดของผมแล้ว แต่หากทำไม่ได้ อย่างน้อยก็ให้เขาไปมีทางเลือกในอาชีพอื่นบ้าง คำว่าเป็นเกษตรกรไม่จำเป็นต้องจมปลักอยู่กับความยากจนตลอดไป
บางทีสภาพสังคมเปลี่ยนไป เช่น จ.ชลบุรี มีสภาพแวดล้อมสวยงาม ผมอยากให้เขามีทางเลือกอื่นๆ ทำโฮมสเตย์ได้บ้างเพื่อเลี้ยงตัวเอง ไม่ต้องทำโรงแรมใหญ่โตขนาด 20-30 ห้อง แต่เพื่อให้เขาไม่โดนรบกวนจากเจ้าหน้าที่ เกิดเบี้ยบ้ายรายทาง เรียกใต้โต๊ะซึ่งเห็นกันอยู่ประจำ ทำสิ่งที่มันควรถูกให้ถูกเสีย นี่เป็นเป้าหมายของผม
เคยคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐไว้ว่า ผมอยากพัฒนาเรื่องนี้ เปลี่ยนมือได้ คงสภาพเป็นเกษตรกรรมเหมือนเดิมก็ได้ ไม่ต้องให้เขาเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรม หรือเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
2.สินค้าเกษตร ในพื้นที่ผมอย่างยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน รากฐานปัญหาคืออะไร กว่ายางพาราจะกรีดได้ก็ 7 ปี รีบร้อนกรีดหน่อยก็ 5 ปีครึ่ง ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ราคายางดีตลอด เมื่อราคาดีคนก็ใส่ยาง ใส่ปาล์ม พอใส่แล้ว สินค้าเยอะก็เป็นธรรมดาที่ราคาตก แต่ประชาชนโทษรัฐบาลอย่างเดียว ซึ่งผมมองว่าไม่ถูกต้อง ต้องมองเศรษฐกิจโลกด้วย มองด้วยว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือไม่
“…มีบางสิ่งที่คิดว่ายังไม่ถูกนัก
แต่ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ติทุกปัญหา แต่ไม่ช่วยเขาทำงานคงไม่ถูกต้อง
ประเทศคงไม่ได้ดีถ้าเราเลือกฝั่งหนึ่งฝั่งใด
แต่ประเทศจะดีขึ้นได้ถ้าเกิดจากการหลอมรวมความเข้าใจของคน….”
ที่ผมอยากผลักดันคือโซนนิ่งการเกษตร ทำเกษตรพันธสัญญา แล้วโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน ผมจะมองในภาพรวมว่าเหมาะปลูกอะไร พืชบางชนิดต้องอาศัยการขนส่ง เช่น อ้อย ต้องดูไม่ให้ไกลจุดรับซื้อจนเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องขยายพื้นที่ที่จะเป็นช่องว่าง หรือรูม (Room) สมมุติว่าในอนาคตมีพืชบางตัวดี เราอาจจะกันโซนไว้ให้
เกษตรที่เป็นโซนดีตรงไหน ผมมองต่างจากคนอื่น การแบ่งโซนหมายความว่า ทุกพื้นที่ห้ามปลูก ยกเว้นโซนนี้ใช่ไหม ไม่ใช่ สมมุติผมปลูกในโซนที่ตกลงกันอยู่ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ผมควรมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนจากรัฐบาลก่อน เพราะเงินประเทศมีจำกัด แต่หากนำเงินหมื่นล้านมาหารให้เกษตรกรทุกคนที่ปลูกพืชเกษตรที่ตกต่ำในทีเดียว คนปลูกเป็นร้อยอย่าง ไม่มีทางสำเร็จหรอก และเงินก็ได้น้อยนิด แต่ถ้าเราทำโซนให้ถูกต้อง เมื่อถึงเวลา คุณประสบปัญหาตกต่ำ รัฐบาลก็เอาเงินในส่วนนี้มาช่วยเหลือก่อน
ขณะเดียวกัน เกษตรพันธสัญญาหมายความว่า ถ้าเราสามารถต่อท่อถึงอุตสาหกรรรมที่เป็นปลายน้ำ เช่น พื้นที่ผมปลูกอ้อยเยอะ ได้ข่าวว่า PTTGC เขาจะเอาน้ำอ้อยไปทำเอทานอล แต่เรารู้ว่าเกษตรกรไม่สามารถผลิตน้ำอ้อยได้เอง เราต้องรวมกลุ่มกัน โดยความช่วยเหลือจากรัฐบาล ส่งท่อไปให้เกษตรกรได้ส่วนต่างของราคามากขึ้น คิดว่าส่วนนี้จะต้องทำ และทำให้เยอะขึ้นทุกตัว
เรื่องที่ 3 ที่ตั้งใจไว้คือ คุณภาพชีวิตของคนไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ เรื่องเกษตรที่เป็นเกษตรอินทรีย์ อยากผลักดันให้สำเร็จจริงจัง สมัยก่อนที่อยู่พรรคประชาธิปัตย์ รู้สึกไม่สบายใจที่ยังมีการอนุญาตนำเข้าสารเคมีที่เป็นพิษกับชาวบ้าน รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตของคนไทย ถ้าเราไปรักษาที่ปลายเหตุตลอดเวลาคงไม่สำเร็จ รวมทั้งคุณภาพชีวิตคนไทยก็จะด้อยลงเรื่อยๆ ถ้าเราแก้ที่ต้นเหตุ ให้คนกินพืชผักที่ปลอดภัยได้ ใช้วัสดุ อุปกรณ์ หรือพันธุ์พืชที่อยู่ในท้องถิ่นได้ ผมคิดว่าน่าจะดีกว่า
เรื่องไหนที่คิดว่ามีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากที่สุด หรือพอคลี่คลายได้สักส่วนหนึ่ง?
คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องแรก ต้องตั้งใจทำ
ทิศทางของพรรคตอนนี้?
น่าจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ เพราะคนที่มาจากสัดส่วนของคนรุ่นใหม่ ที่อยากมาทำงานให้ประเทศ ผมเห็นว่าจำนวนมาก เป็นน้องๆ มาจากสาขาอาชีพ เสมือนความคิดเราย้อนกลับไปหลายปีที่แล้วคือใช่เลย เห็นว่าบ้านเมืองมีปัญหาอะไรอยู่ อยากมาร่วมช่วยกัน แล้วนักการเมืองที่มีประสบการณ์ เขาทำงานมาอย่างไรก็มาหลอมรวมกันตรงนี้
ผมรู้สึกไร้รอยต่อ ไม่มีปัญหาการหลอมรวม เพราะพูดอะไรเขาก็ฟัง และทำในสิ่งที่เราตกลงกันและเราร่วมมือกัน
พื้นที่ชลบุรีเป็นแบบไหน การทำงานการเมืองต้องอย่างไรบ้าง?
สมัยแรกที่ลงเขตเลือกตั้ง ตอนนั้นเขตเลือกตั้งเป็นแบบรวม ผมรับผิดชอบเขตที่มีผู้แทน 2 คน รู้สึกว่าตอนนั้นเราเด็ก เราไม่ได้คิดอะไร ทำงานเพื่อชาวบ้านอย่างเดียว ผลที่ออกมาก็น่าพอใจ ถือว่าสำเร็จมาตลอด พอสมัยที่ 2 จากเดิมที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทั้งจังหวัด เหลือผมคนเดียว เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ก็ไม่ได้รู้สึกตกใจอะไร แต่ตกใจแค่ผลเลือกตั้ง ตกใจว่าเพื่อนๆ น่าจะได้ด้วย กลับกลายเป็นว่าเราคนเดียว จึงรู้สึกว่าการทำงานต่อไปน่าจะยากขึ้น
พื้นที่ชลบุรีสิ่งที่ประทับใจพรรคพลังประชารัฐคือ เขาพยายามผลักดันเรื่องอีอีซี หลายคนมองว่าจุดใหญ่ อยู่ที่พัทยา อู่ตะเภา แหลมฉบัง แต่ผมมองว่าบ้านผมต่างหากที่เป็นสปอตไลต์ ส่วนตัวคิดว่าความขาดแคลนคือโอกาส หมายความว่าพื้นที่ที่มีความกระจุกตัวอยู่แล้ว คนสนใจมากอยู่แล้ว โอกาสมันเยอะจริง แต่คู่แข่งก็เยอะ แต่พื้นที่ผมเกือบเป็นป่าล้วน ที่บ่อทอง หนองใหญ่ จะเป็นโอกาสสำหรับพี่น้องประชาชนในการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีส่วนร่วมเป็นหัวจักรผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่สายตาชาวโลก
ผมคิดว่าถ้าเราทำให้ดี เป็นอุตสาหกรรมที่พอรับได้ ชาวบ้านน่าจะพอใจ และอย่างที่บอกว่า ธรรมชาติของฝั่งผมเป็นทิวเขาสลับงดงาม ติดกับจันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ผมว่าเราสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งเกษตรกรรมไว้เลี้ยงดูคนจำนวนมากได้ด้วย รวมถึง จ.จันทบุรี ที่ผ่านไปกัมพูชาได้นิดเดียวเอง
ถ้าให้เทียบกับปัจจุบัน สนามเลือกตั้งของชลบุรีเปลี่ยนแปลงจากเมื่อก่อนมากน้อยแค่ไหน?
ผมคิดว่าชาวบ้านมีความรู้เยอะ บางทีเยอะกว่าเราอีก ไม่มีใครหลอกใครได้ คนที่จะสำเร็จคือคนที่เป็นของจริงเท่านั้น
การแข่งขันรุนแรงแน่นอน เพราะมีคู่แข่งเยอะมาก ทุกคะแนนมีค่า ใครไม่ส่งก็แบลงก์ (Blank) ไปเลย แต่ก็คิดว่าชลบุรีคงให้โอกาส อย่างแคบๆ ในเขตเลือกตั้งผมเองก็คิดว่าการตอบรับของพี่น้องประชาชนก็ยังดีเหมือนเดิม อาจจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า ส.ส.อยู่ตรงไหน เขาก็จะช่วยเลือก
ในมุมมองของคุณ สิ่งที่คนชลบุรีอยากได้คืออะไร หรือสิ่งที่เป็นปัญหาของคนชลบุรีคืออะไร?
จริงๆ ชลบุรีเป็นพื้นที่ที่ประชาชนไม่ค่อยเดือดร้อนเรื่องใหญ่ๆ มาก ถ้านับกันทั้งประเทศ ความเหลื่อมล้ำมีอยู่แล้วทุกที่ แต่ถ้าเทียบกันแล้วพื้นที่ของชลบุรีคนดั้งเดิมค่อนข้างมีความเป็นอยู่ที่โอเคกว่าภาคอื่น แต่สิ่งที่เขาอยากได้คือผู้แทนที่เขาภูมิใจ ผู้แทนที่ฝากความหวังและคาดหวังได้ว่าเขาจะไม่ทำอะไรเพี้ยนๆ ในสภา หรือคงไม่ไปทำอะไรนอกลู่นอกทางที่จะทำให้บ้านเมืองเสียหาย และจะต้องมีวิสัยทัศน์ ไม่รังแกชาวบ้าน เมืองเศรษฐกิจดีจะมีนักเลงหรือผู้มีอิทธิพล แต่สมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว คนที่มีอิทธิพลหรือคนที่รังแกชาวบ้านไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จในการเมือง ผมแปลความหมายให้เลยว่าคนชลบุรีคิดอย่างนี้
เราไม่มีการเลือกตั้งมาหลายปี การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้จะดึงดูดคนให้มาใช้สิทธิได้มาก?
ผมคิดว่าจำนวนมากเลย ตอนเรียนหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.9) ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ทำวิจัยเรื่องนี้ เรื่อง “ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก” ประมาณเกือบ 6 ล้านเสียง หมายความว่า คนที่อายุ 10 ขวบ เมื่อปี 2554 เมื่อมาปี 2562 ก็อายุ 18 มีสิทธิแล้ว และก็เป็นการเลือกตั้งที่ห่างช่วงกัน เข้าใจว่านานที่สุดในประเทศไทย คนจึงกระตือรือร้นที่อยากจะเปลี่ยนแปลง แต่หลายคนอาจมองว่าประเทศนี้ไร้ทางออกแล้ว และคิดว่าพรรคพลังประชารัฐจะเป็นอีกทางออกหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสารที่เขารับด้วย
ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการดึง ส.ส.เข้าพรรค มองยังไง?
ก็ต้องดูว่าหมายถึงอะไร ผูกพันกับเรื่องเงิน หรือแม้กระทั่งมีพรรคการเมืองในพื้นที่ไปใส่เสื้อและติดป้ายโจมตีบอกว่า “มีอุดมการณ์ ไม่ขายตัว ไม่สืบทอดอำนาจเผด็จการ” คือไม่ต้องพูดเรื่องเงินหรอก แต่เราพูดเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองในส่วนอื่นมากกว่า เช่น การได้โอกาสการทำงาน ไม่ได้บอกว่าอยู่พรรคเดิมแล้วทำงานไม่ได้นะ แต่บ้านหลังใหม่มีสิ่งที่ท้าทายเหมือนกัน มีสิ่งที่เราต่อเติมได้
ต้องยอมรับความจริงทางการเมืองว่า บางพรรคใช้เงินซื้อ มีหลายๆ พรรคด้วย เรารู้อยู่ว่าใครขาดแคลน ใครต้องการ อุดมการณ์ที่แท้จริงในการไปทำงานของแต่ละคนอยู่ตรงไหน ถ้ามีโอกาสไปสัมภาษณ์ก็รู้แล้วว่า เขาไปเพราะอยากไปทำงาน หรือไปเพราะอยากได้เงิน
คิดว่ามีความกังวลหรือจะมากระทบกับการเลือกตั้งหรือไม่?
ผมคิดว่าชาวบ้านเข้าใจ ชาวบ้านรู้ดีว่าเราไม่ได้ขาดแคลน ในพื้นที่นี้เราเป็นฝ่ายให้มาตลอดอยู่แล้ว อย่างสมัยคุณปู่คุณย่าเป็นคนตั้งอำเภอนี้มาเอง ให้ทั้งโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนมัธยม ที่ว่าการอำเภอ โรงพยาบาล สถานีตำรวจ เรียกว่าทั้งหมดของอำเภอนี้
คุณปู่คุณย่ามาอย่างยากจน เมื่อก่อนคนอื่นขึ้นเรือมา แต่คุณทวดเดินมาเพราะไม่มีเงิน เดินเลาะมาจากชายฝั่งลาวและมาทำไร่อ้อยเป็นคนแรกๆ ที่บ้านบึง มาสร้างฐานะ อพยพคนจีนโพ้นทะเลมา เราก็เป็นตระกูลแรกๆ
นอกเหนือจากเรื่องการเมือง ธุรกิจ และการอ่านแล้ว ในชีวิตประจำวันยังมีเรื่องอื่นๆ อีกไหม?
ผมชอบเตะบอล เคยเตะบอลได้แชมป์โรงเรียน แชมป์มหาวิทยาลัย ก็ชอบ เราเป็นทีมชาติอาวุโสด้วย ทีมชาติไทย แต่ไม่ได้เก่งกาจอะไรขนาดนั้น แค่ชอบเตะบอล เมื่อก่อนตอนตกงานก็นัดกันเดือนละครั้ง แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้เตะ
มีช่วงที่ตกงานด้วย?
ก็นี่ไง ตกแบบตกจริงจัง (หัวเราะ) ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย ส่วนมากก็เล่นกีฬา ชอบเตะบอล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ส.ส.เป้า พ้อเพื่อไทย ไม่เห็นค่า รับเด็กพปชร. มาแทนที่ ลั่นขอสลับข้างสู้ ชนสังกัดเก่า
- ‘สรวุฒิ’ เปิดใจทิ้งพปชร. ตระกูลเนื่องจำนงค์ ผนึกบ้านใหญ่ สวมเสื้อพท.สู้ศึกเมืองชล
- ‘สรวุฒิ’ ทิ้ง พปชร. ตาม ‘สุริยะ-สมศักดิ์’ ซบเพื่อไทย เตรียมร่วมเปิดตัวใหญ่ 400 เขต 17 มี.ค.นี้
- ส่องร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ประเด็นร้อน-ชนวนสภาล่ม