9 เดือนแห่งความเวิ้งว้างหลังกำแพงป้อมมหากาฬ คุย ไมเคิล เฮิร์ซเฟล (อีกครั้ง) “นี่คือความผิดพลาดครั้งใหญ่”

เมื่อนิยามของคำว่าชุมชน ต้องมีผู้คน ชีวิต และลมหายใจ

25 เมษายน 2561 คือ 24 ชั่วโมงสุดท้ายของ “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ชุมชนในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ที่อยู่คู่กำแพงเก่าแก่มานานกว่า 2 ศตวรรษ

ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยหลังภาครัฐผุดโครงการ “พัฒนา” เกาะรัตนโกสินทร์เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เอ็นจีโอ นักวิชาการ กูรูประวัติศาสตร์ นักกฎหมาย เครือข่ายชุมชนและอีกมากมายร่วมต้านศึกชิงพื้นที่ดังกล่าวอย่างยาวนานถึง 26 ปี

กระทั่งไม้แผ่นสุดท้ายถูกขนย้ายออกไป พร้อมๆ กับลมหายใจของชาวบ้านที่ในวันนี้แตกกระสานซ่านเซ็น ไม่เหลือความเป็นชุมชนอีกต่อไป

Advertisement

มกราคม 2562 ชายชาวต่างชาติคนหนึ่ง เดินทางไปเยือนพื้นที่ซึ่งวันนี้กลายเป็นสวนสาธารณะ ยืนมองความเวิ้งว้างหลังกำแพงสูงที่ถูกปูหญ้าเขียวขจี ไม่ใช่ครั้งแรกของ ศาสตราจารย์ ไมเคิล เฮิร์ซเฟล แต่เป็นครั้งแรกหลังชุมชนป้อมมหากาฬถูกรื้อย้ายเมื่อ 9 เดือนก่อน ในฐานะนักมานุษยวิทยา รั้ว “ฮาร์วาร์ด” สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งที่โลกใบนี้เคยมี

ผู้ลงพื้นที่ศึกษาชุมชนดังกล่าวมานานอย่างน้อย 13 ปี เคยปรากฏตัวในวงเจรจาระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยสนับสนุนชุมชนบนพื้นฐานหลักวิชาการ ให้สัมภาษณ์สื่อนอกอย่าง “นิวยอร์กไทม์ส” ถึงการดำเนินงานของ กทม.ว่าเป็นไปตามโมเดลความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยหลงลืมไปว่า “เมืองมีไว้เพื่ออะไร”

“มันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ นี่คือสิ่งที่ผมกลัวว่ามันจะเกิดขึ้น” คือ ประโยคแรกจากปากศาสตราจารย์ท่านนี้ หลังการสัมภาษณ์ครั้งก่อน ในช่วงต้นปี 2560 ที่เจ้าตัวบอก “มติชน” ว่า ชุมชนป้อมมหากาฬสามารถเป็นโมเดลให้โลกเลียนแบบได้ ท่ามกลางความสูญสลายที่อยู่ตรงหน้า เขามีความเห็นอย่างไร ประเทศไทยจะได้รับบทเรียนใดจากการตัดสินใจของภาครัฐในครั้งนี้?

Advertisement
ร่วมวงพูดคุยกับชาวบ้านหลากหลายชุมชนเมื่อต้นปี 2560

นาทีที่เห็นชุมชนกลายเป็นเป็นพื้นที่ว่างเปล่า มีความรู้สึกอย่างไร?

เศร้าใจมาก กทม.ทำลายชีวิตของชุมชน ทำลายสิ่งที่สำคัญ ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นทรัพยากรของประเทศไทย นักท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณนั้นเขาไปภูเขาทอง ไปเยี่ยมวัดหลายๆ แห่ง แต่คนที่บังเอิญเข้าไปในชุมชนต่างก็ประทับใจชาวบ้านมาก เพราะได้เห็นตัวอย่างวิถีชีวิตเก่าแก่ในเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านไม่เคยยอมแพ้ ไม่ยอมเป็นตุ๊กตาของนักท่องเที่ยว เขาทำตามชีวิตประจำวันของตัวเอง แต่ไม่มีปัญหาถ้าใครจะมาดู มีชุมชนน้อยมากที่มีลักษณะแบบนี้ ตอนนี้มันหายไปแล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ ไม่เฉพาะสำหรับชาวบ้าน แต่สำหรับ กทม.ด้วย อนาคตเขาจะเข้าใจ แต่ก็สายไปแล้ว

ถ้าสวนนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยรื้อชุมชนออกไป จากสภาพที่เห็นถือว่าเป็นสวนสาธารณะที่ดีหรือไม่ ?

อย่างน้อยที่สุดที่ผมไปดู ไม่มีใครมาเยี่ยมเลย หลายคนก็บอกว่าไม่มีคนสนใจหรอก สวนนี้ไม่มีอะไรเลย ไม่มีความน่าสนใจ จุดใหญ่ที่สุดคือห้องน้ำ (หัวเราะ) แม้ว่าเมืองใหญ่มีความต้องการที่จะมีสวนสาธารณะ แต่มีอีกหลายอย่างมากๆ ที่จะสามารถทำอะไรให้มีประโยชน์กับคนกรุงเทพฯได้มากกว่านี้ ผมแน่ใจว่าคนทำงานในสวนสาธารณะตอนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ กทม. ซึ่งไม่ได้สนใจว่าที่นี่เคยมีชุมชนเก่าแก่

แต่ในสวนก็มีป้ายบอกข้อมูลประวัติศาสตร์ให้อ่าน?

มีจุดเดียวที่กล่าวถึงชุมชน แต่ไม่เคยพูดว่าเคยมีคนอยู่อาศัยที่นี่ เขานำเสนอประวัติศาสตร์ทางการของรัฐ ของเมือง ผมบอกตลอดว่าสิ่งที่นักท่องเที่ยวสนใจที่นี่คือวิถีชีวิตเก่าแก่และประเพณีของคนไทย ชาวบ้านป้อมมหากาฬรักษาวิถีชีวิตเก่าแก่ของเขาสำเร็จ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ กทม.กลัวที่สุด ไม่ใช่การที่ชาวบ้านละเมิดกฎหมาย

คิดว่าทำไมอาคารเก่าตรงท่าเรือ ซึ่ง กทม.เคยบอกว่าจะจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์แทบไม่เคยเปิดเลย?

เจ้าหน้าที่คงจะกลัว เพราะชาวบ้านมีความรู้ อาจเป็นการทำลายความชอบธรรมของตัวเอง

ภาครัฐใช้อาคารพระยาญาณประกาศ จัดนิทรรศการประวัติศาสตร์กรุงเทพฯบริเวรป้อมมหากาฬ แต่ทั้งปีแทบไม่เปิดให้ใครดู

หลังการรื้อชุมชน ได้พบและพูดคุยกับชาวบ้านบ้างหรือยัง?

ยังไม่มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านเลย แต่ตอนแวะไปที่สวนสาธารณะ ยังเจอชาวบ้านคนหนึ่ง เป็นผู้ชายที่ขี่มอเตอร์ไซค์ ชาวบ้านเหล่านั้ต้องย้ายไปอยู่ไกลมาก ผมแน่ใจว่า กทม.ไม่อยากให้เขามาทุกวัน อาจกลัวว่าชาวบ้านจะพยายามแอบเข้ามาทำอะไร อันนี้ไม่แน่ใจ แต่สำหรับผม มองว่าชาวบ้านเป็นคนที่นับถือกฎหมาย เขาละเมิดเรื่องเดียวคือสิทธิที่จะอยู่อาศัย แต่อย่างอื่นเขาทำตามกฎหมายทุกอย่าง ซื่อสัตย์มาก คุณธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนในตอนนั้นเป็นคนฉลาด มีวาทกรรมสวยงามมาก ผมรู้สึกว่าจะต้องร้องไห้ไปกับเขา คิดว่าต้องหาโอกาสคุยกัน

คิดว่าอะไรที่ทำให้การต่อสู้ 26 ปีต้องจบลง เกี่ยวกับรัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่?

คงเป็นรูปแบบของวิธีการดูแลรักษาเมืองของรัฐบาลที่ไม่ฟังประชาชน ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลทหาร นี่เป็นปัญหาเก่าแก่มาก ไม่เฉพาะในเมืองไทย ยกตัวอย่างที่สหรัฐ นักวางแผนพูดถึงการมีส่วนร่วมบ่อยๆ แต่เป็นแค่โวหาร เป็นวาทกรรมซึ่งไม่ได้ทำจริง กรณีป้อมมหากาฬ เจ้าหน้าที่รัฐคิดว่าตัวเองทำตามกฎหมาย แต่มีคนเยอะแยะที่บอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ต้องปรับกฎหมาย เพราะกฎหมายมันเก่าแล้ว ไม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นคือปัญหาหลัก แต่สิ่งที่น่าเจ็บใจมากที่สุดคือเจ้าหน้าที่ไม่เคยสนใจความเห็นของผู้สังเกตการณ์เลย ผมไม่เข้าใจว่าทำไม กทม. ไม่สนใจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาดู ทุกคนประทับใจกับชุมชน นี่คือทรัพยากร ควรปรับกฎหมายเพื่อให้ชาวบ้านยอมรับว่าเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ แต่สามารถอยู่ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ได้ แต่ภาครัฐตัดสินใจไม่ประนีประนอม กทม. ไล่เขา พยายามทำให้สาธารณชนรู้สึกว่าชาวบ้านป้อมมหากาฬเป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งไม่ใช่ เจ้าหน้าที่โกหกตลอด แต่คงเป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำลายความชอบธรรมของชุมชน ทำให้คนเริ่มทะเลาะกัน ทุกครั้งที่มีกรณีแบบนี้ จะมีคนที่รู้สึกได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ดูแลเรา ทั้งที่หน้าที่ของเขาคือรับใช้ประชาชน แต่กลับมองประชาชนไม่มีคุณค่า ต้องทำตามคำสั่ง

สิ่งที่ภาครัฐของไทยทำ สวนกระแสโลกไหม อย่างสิงคโปร์ก็เคยออกมาเสียใจที่เคยทำลายชุมชนเก่า?

ใช่ นี่เป็นรูปแบบที่สิงคโปร์เคยพยายามทำ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ตอนนี้ก็เสียใจกับนโยบายเก่าของตัวเอง เขาเปลี่ยนทัศนคติแล้ว ในขณะที่นวัตกรรมเก่าแก่เริ่มหายไป พอเพิ่งรู้ตัวว่ามีคุณค่าก็พยายามรักษาสิ่งเล็กๆ ที่เหลืออยู่ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ปัญหาของป้อมมหากาฬ มีลักษณะพิเศษ กทม. ไม่จำเป็นต้องทำลายบ้านเก่า ผมไม่ใช้คำว่าบ้านโบราณเหมือนที่ชาวบ้านพยายามบอกเพื่อแสดงว่ามันมีความน่าสนใจทางโบราณคดีซึ่งเป็นความฉลาดของเขา แต่ผมมองว่าบ้านเหล่านั้นเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมธรรมดาในรัชกาลต่างๆ ทำไมต้องทำลายสิ่งที่น่าสนใจมากๆ ขนาดนี้ ผมไม่เข้าใจ ในสหรัฐมีหมู่บ้านที่นักแสดงพยายามแสดงวิถีชีวิตเก่า แต่ทุกคนรู้ว่าเป็นละคร เป็นการแสดง เป็นสิ่งหลอกๆ ไม่ใช่ของจริง ในขณะที่ป้อมมหากาฬ นอกจากวิถีชีวิตเก่าแก่แล้วเขายังปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ทันสมัยด้วย ในชุมชนมีคนขับรถมอเตอร์ไซค์ มีพนักงานบริษัท มีคนขายอาหารบนถนน และคนซึ่งรู้จักกับเจ้าหน้าที่ใน กทม.ด้วย เป็นตัวอย่างของชุมชนที่ปรับตัวกับชีวิตร่วมสมัยโดยไม่ทำให้วิถีชีวิตของเขาสูญเสียไป นี่คือสิ่งที่ผมบอกบ่อยๆ ว่าชุมชนป้อมมหากาฬมีโครงการที่อาจเป็นตัวอย่างให้ที่อื่นๆ เลียนแบบได้ แต่เราสูญเสียชุมชนนี้ไปแล้ว ไม่แน่ใจว่า กทม.รู้ตัวไหมว่าได้ทำลายชุมชนประวัติศาสตร์ไป ผมมีความรู้สึกว่า ในอนาคตเขาจะเริ่มเข้าใจ แต่สายไปแล้ว

ปักป้ายเล่าประวัติศาสตร์พื้นที่และผู้คนโดยมีฉากหลังเป็นสนามหญ้าว่างเปล่า

คิดอย่างไรที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งรวมเงินกันซื้อที่ดินเพื่อสร้างชุมชนป้อมมหากาฬขึ้นใหม่ย่านพุทธมณฑล?

ก็มีความน่าสนใจแน่นอน แต่มันไม่ได้มีความหมายเดียวกันกับพื้นที่เดิมซึ่งมีกระบวนการประวัติศาสตร์เกิดขึ้น ป้อมมหากาฬอยู่บนจุดที่ลักษณะของเมืองเริ่มเปลี่ยนอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยกลายเป็นเมืองทันสมัยแบบตะวันตก ถ้าเดินข้างนอกจะสังเกตเห็นเลยว่าบันไดป้อมมหากาฬเข้ากับถนนไม่ได้

ไหนๆ ก็เป็นสวนไปแล้ว ประเทศไทยควรทำอะไรกับสวนนี้ต่อไป?

กทม.น่าจะให้ชาวบ้านบางคนมาทำงานที่สวนได้ จริงๆ แล้วเขาสามารถรักษาบ้านเก่าบางหลังได้ แต่กลับทำลายทุกอย่าง แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่บางคนเห็นใจชาวบ้าน แต่ในระบบราชการมีลำดับชั้น คนที่อยู่ในลำดับชั้นต่ำกว่าก็ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นออกมา นี่เป็นปัญหา เขาไม่มีอิทธิพลต่อกระบวนการ

ความเก่าแก่ของชุมชนกลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่กลับสร้างปัญหาให้ผู้อยู่อาศัยตัวจริง?

ใช่ครับ จีนก็มีแนวๆ นี้ ในยุโรป 50 ปีก่อนก็มีเหมือนกัน ตัวอย่างคืออิตาลี คนที่มีบ้านเก่า แต่อยากมีบ้านอยู่ในที่ที่เจริญ มีบ้านที่แสดงให้เห็นว่าเขามีระดับทางเศรษฐกิจสูง ก็ขายบ้านแล้วย้ายออกไป ตลาดทำให้ความเป็นบ้านโบราณมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ พยายามให้ความโบราณมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ขายบ้านโบราณในราคาสูงมากๆ ได้ ในโรม ตอนผมทำวิจัยที่นู่น 18 ปีก่อน ราคาบ้านตอนนั้นสูงขึ้น 10 เท่า ในเวลาแค่ 12 เดือน เพราะบริษัทเอกชนส่วนใหญ่สามารถทำให้ราคาสูงขึ้นเร็วมาก คนที่เดือดร้อนคือผู้อยู่อาศัยซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน คนที่เป็นเจ้าของย้ายไปเกือบหมดแล้ว คนที่ยังอยู่เป็นคนขายเสื้อผ้า อาหาร เป็นช่าง บางคนมีร้านอาหารเล็กๆ เหมือนในกรุงเทพฯ แต่กระแสที่จะต้องมีบ้านทางประวัติศาสตร์คือสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเราบอกว่าบ้านมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ราคาก็ต้องสูงกว่าแน่นอน และก็ใช้สื่อ ใช้หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ใช้ทุกอย่างเพื่อสร้างกระแส ผลกระทบคือ คนที่รวยมากเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นชุมชน ผมกลัวว่าสิ่งเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทย แต่กรณีป้อมมหากาฬไม่เหมือนกัน เพราะไม่มีคนที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่

เคยมีนักวิชาการเตือนว่าชุมชนนี้เป็นพื้นที่ปิด ไม่เหมาะเป็นสวนสาธารณะ จากนี้ไปมีอะไรน่ากังวลบ้าง?

ผมแน่ใจว่าในไม่ช้าเราจะพบว่ามีการขายยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งที่ กทม.กล่าวหาชาวบ้านเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว แต่ความจริงนี่เป็นชุมชนที่แก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะมีคนอาศัยอยู่ ชาวบ้านใส่ใจที่จะป้องกันตัวเอง ไม่เฉพาะจาก กทม. แต่เขาพยายามปกป้องลูกหลาน จำได้ว่ามีชาวบ้าน 5 คน เป็นตำรวจชุมชน มีการร่วมมือกับตำรวจ เขามีสิทธิจับคนที่ใช้ยาเสพติด และใช้วิธีที่ชาญฉลาดมาก คือไปหาพวกผู้หญิงโดยบอกว่าใครมีสามี พี่น้อง ลูกๆ ที่ใช้ยาเสพติดจะต้องเลิกทันที ไม่อย่างนั้นต้องออกไปจากชุมชน ปรากฏว่าสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาด แต่ถ้าไม่มีใครอยู่ในพื้นที่ระหว่างคลองกับกำแพงเก่าอีกแล้ว อย่างนี้อันตราย น่าเป็นห่วงมาก มันกลายเป็นพื้นที่ที่เงียบเชียบ จะทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ

การต่อสู้ที่พ่ายแพ้ของชุมชนป้อมมหากาฬ ให้บทเรียนอะไรบ้าง?

แม้ว่าเขาไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นตัวอย่างของการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่ง่ายแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือช่วงเวลาที่เขากำลังต่อสู้ ได้แสดงให้เห็นว่าชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เขาแสดงให้เห็นว่าชุมชนซึ่งประกอบด้วยคนที่ไม่ได้มีระดับการศึกษาสูงเท่าไหร่ ก็สามารถเรียนรู้จากเอ็นจีโอ จากนักวิชาการได้ จริงๆ แล้วเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน บางครั้งชาวบ้านถามผมว่าเขาจะต้องทำอะไร ผมบอกตลอดว่า ชาวบ้านรู้สถานการณ์ของตัวเองมากกว่าผม แต่ผมก็พร้อมช่วยเขา ถ้าอยากให้ช่วย ผมประทับใจเสมอกับการที่เขาประชุมกันอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชุมชน เรื่องของครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เรื่องยุทธศาสตร์การต่อสู้กับ กทม. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เขาหารือกัน พูดคุยกัน คุณธวัชชัย อดีตประธานชุมชนให้ความมั่นใจกับชาวบ้านคนอื่นๆ เสมอว่า ไม่ต้องกลัว อยากให้ทุกคนแสดงความเห็นเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าอะไรดีที่สุดในทุกกรณี บางคนไม่เชื่อใจเขา แต่ผมคิดว่าเขาจริงใจ ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดกับชุมชนอื่น อาจจะต่อสู้เหมือนกันได้ อย่างไรก็ตาม คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองด้วย ต่อไปจะมีการเลือกตั้ง สถานการณ์อาจเปลี่ยนก็ได้

แต่เคยมีคำกล่าวที่ว่า ถ้าป้อมมหากาฬยังสู้ไม่ได้ ที่อื่นก็หมดหวัง อยากบอกอะไรกับชุมชนซึ่งอาจเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน?

ชุมชนอื่นๆ ถ้าเห็นป้อมมหากาฬแล้วผิดหวัง อันนี้เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด เขาจะเสียใจว่าชาวบ้านป้อมมหากาฬ แข็งแรงมาก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้ แล้วเขาเองจะทำอะไรได้ นี่คือสิ่งที่ผมกลัวมากที่สุด และต้องยอมรับว่าทุกชุมชนไม่ได้มีระดับคุณค่าเดียวกับชุมชนป้อมมหากาฬ ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ต้องพิจารณาทุกกรณีแยกกัน ต้องคำนึงว่าชาวบ้านมีความสามารถที่จะทำอะไรได้ แต่ถ้าพูดถึงหลักการทั่วไป ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับป้อมมหากาฬ จะทำให้ชาวบ้านในชุมชนอื่นๆ ผิดหวังมาก เขากลัว และความกลัวก็เป็นสิ่งที่ทำลายหัวใจของประเทศทั้งหมด เพราะมีผลกระทบที่แย่มากต่อทัศนคติของชาวบ้านทั่วประเทศ ปัญหาหลักของป้อมมหากาฬ คือ เจ้าหน้าที่ดูถูกเขา คิดว่าไม่มีความรู้ ทั้งๆ ที่ชาวป้อมมหากาฬเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะแสดงออกชัดเจนมาก ว่าเขามียุทธศาสตร์ มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ มีความฉลาดในการเจรจาต่อรอง แต่เป็น กทม.เองที่ปฏิเสธการเจรจา สำหรับผม ถ้าเจ้าหน้าที่เริ่มเข้าใจคุณค่าของคนยากจน สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงทันที จริงๆ แล้วตอนที่คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม. ผมบอกเขาว่า มีนโยบายดีๆ ที่จะให้เจ้าหน้าที่ กทม.ไปอยู่ในชุมชนแออัด สัก 3-4 เดือน จะเริ่มเข้าใจ ปรับตัว รู้ถึงคุณค่าของคนที่เท่าเทียมกัน และพัฒนานโยบายที่มีประโยชน์มากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากเห็น แต่ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลมีมุมมองที่จะสนใจหรือไม่

รัฐบาลไทยยังมีโปรเจ็กต์อื่นอีก เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถูกค้านเยอะมาก?

คำว่า พัฒนา เป็นคำที่อันตรายที่สุดในคำศัพท์ของผู้ชี่ยวชาญ เพราะคำนี้มาจากทฤษฎีทางมานุษยวิทยายุควิคตอเรียน ซึ่งมีการแผ่ขยายอาณานิคม มหาอำนาจเชื่อว่าหน้าที่ของเขาคือทำให้พลเมืองที่มีระดับต่ำกว่าพัฒนาตัวเอง แต่จริงๆ แล้วเป็นข้ออ้างเพื่อเอาเปรียบพลเมืองเหล่านั้น เพื่อขโมยทรัพยากรทางธรรมชาติจากประเทศนั้นๆ ไทยไม่เคยอยู่ใต้อาณานิคมอย่างเป็นทางการ แต่เป็นตัวอย่างหนึ่งของอาณานิคมอำพราง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าตอนนี้รัฐบาลต้องระวังให้มาก อย่าไปผลิตซ้ำแนวคิดอาณานิคมอำพราง จริงๆ แล้วรัฐบาลก็รู้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่างผลกระทบที่แย่มากต่อสิ่งแวดล้อม ตอนที่ กทม.ทำลายคลอง กรุงเทพฯ ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว โครงการนี้ก็อาจสร้างผลกระทบเดียวกันซึ่งอันตรายมาก เพราะตอนนี้กรุงเทพฯ ร้อนมากแล้ว (หัวเราะ) ผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องคิดใหม่อย่างแน่นอน ไม่ต้องทำทันที ต้องพิจารณาว่าผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ผลกระทบต่อสังคมจะเป็นอย่างไร ผมหวังว่ารัฐบาลจะทบทวนเรื่องนี้เพราะว่าอันตรายมาก

สวนสาธารณะที่สร้างบนชุมชนป้อมมหากาฬเดิม หลังรื้อเรือนไม้เก่าแก่และสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมด ปักป้ายเล่าประวัติศาสตร์ชุมชน โดยให้คนย้ายออกทั้งหมดในเดือนเมษายน 2561

ช่วง 1-2 ปีมานี้ กทม.พยายามการจัดระเบียบพื้นที่ต่างๆ ทั้งแผงลอย ตลาด ซึ่งสังคมส่วนหนึ่งตั้งคำถามถึงวิถีชีวิตและเสน่ห์ที่สูญหายไป?

ผมมีเพื่อนที่ทำวิจัยในประเทศเวียดนาม เขาบอกว่าในบรรดาคนที่ถูกไล่ออกจากบ้าน ก็มีคนสนับสนุนเจ้าหน้าที่ เพราะเชื่อว่าจะต้องมีวิถีชีวิตทันสมัย แต่ชาวบ้านที่ผมรู้จักใน กทม.ไม่เห็นด้วย เขาบอกว่าไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวันของตัวเอง ถ้าเราพูดถึงวิถีชีวิตทันสมัย ถามว่าทันสมัยของใคร เราไม่สามารถบอกได้ว่าเขาไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องอยู่อย่างไรในยุคสมัยนี้ เพราะเขาปรับวิถีชีวิตต่อสถานการณ์อยู่แล้ว แต่ถ้าสถานการณ์มาจากรัฐบาล มาจากเจ้าหน้าที่ มาจากนักวิชาการโดยไม่พิจารณาความคิดเห็นของชาวบ้าน ชาวบ้านจะต่อต้านแน่นอน เขาไม่ชอบ เพราะเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ไม่แท้จริง เป็นสิ่งปลอมๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image