สนธิ คชวัฒน์ ถอดรหัส PM 2.5 ‘บทเรียน-ทางออก’ รับมือวิกฤตฝุ่นระลอกใหม่

ไม่กี่วันมานี่คนกรุงได้กลับมาสูดลมหายใจได้เต็มปอดอีกครั้ง หลังสถานการณ์ฝุ่นควันปกคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร มองเห็นท้องฟ้าขมุกขมัวจากฤทธิ์ของ PM 2.5 นานนับเดือน

แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจเพราะ PM 2.5 ยังไม่หายไปไหน ยังเตรียมตัวออกอาละวาดในวันฟ้าปิดเป็นระยะไปจนถึงเดือนมีนาคม ฉะนั้น การฟอกอากาศผ่านหน้ากากในวันฝุ่นคลุ้งจึงยังเป็นเรื่องจำเป็น

อีกทั้งการหามาตรฐการแก้ไขก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะ PM 2.5 จะกลับมาใหม่ในช่วงปลายปีนี้อย่างแน่นอน

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หนึ่งในผู้เฝ้าติดตามปัญหามลพิษทางอากาศมากว่า 30 ปี

Advertisement

สนธิเริ่มสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เริ่มต้นเรียน เขาจบการศึกษาปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้น เรียนต่อปริญญาโท วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ทุนเรียนต่อในด้านมลพิษทางอากาศโดยตรง

ต่อมาในปี 2528 สนธิได้เข้ารับราชการครั้งแรกที่กองอากาศ หรือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในขณะนั้น ยังเป็นผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งต้องตรวจสอบมลพิษจากโรงงาน และจากรถยนต์ตั้งแต่สมัยที่ต้องแบกเครื่องลงพื้นที่

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการันตรีได้ถึงความรู้เรื่องฝุ่น และอันตรายที่มาพร้อมกับ PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี

สำคัญกว่านั้นคือมาตรการที่ออกมาจะได้ผลแค่ไหน และทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยควรเป็นอย่างไร

ถัดจากนี้คือคำตอบจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่ชวนคิดและติดตาม

มองพัฒนาการของฝุ่นในไทยอย่างไร?

สมัยก่อนมีการตรวจวัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งมันไม่เยอะมากเท่ากับปัจจุบันที่ในกรุงเทพฯ มันเกินค่ามาตรฐานไปค่อนข้างเยอะ และที่สำคัญคือมันเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ส่วน PM2.5 จริงๆ มีมาหลายปีแล้ว แต่เราไม่มีเครื่องมือในการตรวจวัด และเราไม่ได้เอา PM 2.5 เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของอากาศ เราเพิ่งมาตรวจกันจริงจังเมื่อปีཷ และปีཹ มีเครื่องมือตรวจวัด 4 สถานี

พอปีนี้มีเครื่องมือตรวจวัดรวมกว่า 50 สถานีทั่วประเทศ โดย 24 สถานีอยู่ใน กทม. วัดออกมาพบว่าค่าฝุ่นสูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้น เมื่อข้อมูลข่าวสารออกมาเยอะ คนมีความรู้มากขึ้น ก็รู้ว่า PM 2.5 มันคือสารก่อมะเร็งตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศคนก็เลยตระหนักถึงพิษภัยมากขึ้น

ครั้งนี้ PM 2.5 มันมากกว่าที่ผ่านมาหรือเปล่า คนเลยตื่นตัว?

ปีนี้เกิด PM2.5 ค่อนข้างเยอะและมีช่วงที่ค่าฝุ่นสูงบ่อย สาเหตุเกิดจากเราสร้างรถไฟฟ้าพร้อมกัน ยังมีการสร้างสิ่งก่อสร้างบนถนนอีกจำนวนมาก เมื่อรวมกับรถถยนต์อีกประมาณ 10.3 ล้านคัน ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ เป็นรถเครื่องยนตร์ดีเซล 2.6 ล้านคัน ซึ่งรถพวกนี้วิ่งอยู่บนถนนเกินกว่าจำนวนถนน 4.4 เท่าก็ทำให้รถติด เมื่อรถติดก็เกิดการเผาไหม้น้ำมัน ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 เยอะกว่าทุกปี

การก่อสร้าง โดยตัวมันเองทำให้เกิด PM 2.5 ด้วยไหม?

การก่อสร้างบนถนนตัวเขาเองไม่ได้ทำให้เกิด PM 2.5 เท่าไหร่เพราะมันเป็นฝุ่นดิน ทราย แต่ตัวเครื่องยนต์ เครื่องจักรที่ใช้ก่อสร้าง เป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อย PM 2.5 แต่ที่รุนแรงจริงๆ คือมันทำให้เกิดการลดพื้นที่บนผิวถนน ทำให้การจราจรติดขัด เป็นตัวที่ทำให้เกิด PM 2.5 เยอะที่สุด

ที่บอกว่าสาเหตุมาจากการจราจร เห็นได้ชัดตอนปีใหม่ รถออกนอกกรุงเทพฯเยอะ PM 2.5 ลดลงเหลือนิดเดียว รวมถึงเมื่อ กทม.สั่งหยุดโรงเรียน วันถัดมาอากาศดีขึ้น จึงเห็นได้ชัดว่ามาจากรถยนต์

นอกจากการจราจรแล้ว มีปัจจัยอะไรอีกที่ทำให้เกิด PM 2.5 หรือเสริมให้มีความรุนแรงขึ้น?

เราต้องไปดูที่แหล่งกำเนิดทั้งหลายของ PM 2.5 ซึ่งมาจากการเผาไหม้ทุกชนิด ทั้งการเผาน้ำมันดีเซล เผาน้ำมันเตา เผาถ่านหิน การเผาขยะในที่โล่ง การเผาศพ หรือแม้กระทั่งเตาปิ้งย่าง ตลอดจนโรงแรมและโรงงานที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเตาต้มน้ำร้อน ก็ปล่อย PM 2.5 หมด

แต่ปัจจัยในกรุงเทพฯหลักๆ ก็ยังคงเป็นจากการจราจร ปัจจัยเสริมคือเรามีการก่อสร้างเยอะ แล้วที่สำคัญคือเรามีอาคารสูงเลยไม่มีช่องลม ทำให้ลมพัดผ่านน้อย ประกอบกับพื้นที่สีเขียวลดลง ทำให้ PM 2.5 รุนแรงมากขึ้น

ประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวไหม?

อาจจะเกี่ยวบ้าง ในบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ หรือพื้นที่ติดชายแดน แต่ทีนี้ก็มีคนพูดว่า PM 2.5 จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสะสมที่กรุงเทพฯหรือเปล่า อันนี้มันก็พอเป็นไปได้แต่ก็ต้องดูให้ดีเพราะพอเราใช้รถน้อยลงฝุ่นก็ลด แสดงว่าฝุ่นจากเพื่อนบ้านก็มีผลน้อย ขณะเดียวกัน เมื่อเราไปวัดค่าฝุ่นที่ชายแดนก็มีค่าปกติ

สภาพภูมิประเทศมีผลให้สถานการณ์ฝุ่นหนักขึ้นหรือเปล่า?

ครับ ถ้าเราไปดูพื้นที่อย่างเชียงใหม่ หรือ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แอ่งกระทะ ทำให้อากาศฟุ้งกระจายในแนวดิ่งได้น้อย ยิ่งฤดูหนาวก็เหมือนกับมีแก้วมาครอบ เมื่อรถยนต์ปล่อยควันรวมกับมลพิษจากโรงงาน มันจะลอยออกไปไม่ได้ ยิ่งลมสงบ มันก็จะฟุ้งอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นภูมิประเทศและภูมิอากาศมันก็เป็นผล

มองว่าคนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับ PM 2.5 มากพอหรือยัง?

ถ้าดูจากโซเชียลตอนนี้คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงพิษภัยแล้ว แต่ก็มีคนที่ไม่มีเวลาจะสนใจ อย่างพ่อค้าแม่ค้า กรรมกร วินมอเตอร์ไซค์ และ ตร.จราจร บางส่วนเขาก็ยังไม่รู้ว่ามันมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ต้องให้ความรู้ก่อนว่ามันอันตราย ทั้งนี้ ในขณะที่อากาศปิด ฝุ่นเยอะ จะต้องแจกหน้ากากให้เขาฟรีด้วย

คนสนใจเยอะถือว่าเป็นโอกาสในวิกฤตได้ไหม?

ถือเป็นโอกาสในวิกฤตได้ ซึ่งผมจะนำตรงนี้ไปยกเครื่องเรื่องสิ่งแวดล้อมในปีหน้า และอยากเสนอว่าพรรคการเมืองที่จะมาลง ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ ควรจะต้องมีนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทุกปี

ถ้าไม่ป้องกันจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

PM 2.5 มีขนาดต่ำกว่า 2.5 ไมครอน เยอะที่สุดในนั้นคือฝุ่นขนาด 0.1 ไมครอน มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมประมาณ 25 เท่า และเกิดจากการเผาไหม้ ลอยอยู่ในอากาศเต็มไปหมด ถ้าเราหายใจเข้าไปมันสามารถทะลุถุงลมปอดเข้าไปในเส้นเลือด อาจจะไปที่หัวใจ หรือ สมอง ทำให้เกิดโรคหลอดลมอุดตัน เส้นเลือดอุดตัน มะเร็งปอด โรคหัวใจล้มเหลว และโรคเส้นเลือดในสมองได้

นอกจาก PM 2.5 ยังมีตัวไหนอีกบ้างที่เป็นอันตราย?

จริงๆ แล้ว PM 2.5 เป็นตัวที่อันตรายที่สุด แต่ฝุ่นมันมีหลายขนาด อย่าง PM 10 หรือ ฝุ่นก่อสร้าง สามารถทะลุสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ถ้ามีจำนวนมากจะทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นโรคหอบหืดได้ นอกจากนี้ กรณีรถปล่อยควันดำจะมีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่วนควันขาวก็จะมีสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ ยังมียังมีพวกสารอินทรีย์ระเหยง่าย พวกนี้ประกอบกันอยู่ แต่ทุกวันนี้เราพูดถึงแค่ PM 2.5 แต่เวลาเราหายใจมันสูดเข้าไปทุกตัว ซึ่งมันทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กัน

ร่างกายมนุษย์สามารถขับ PM 2.5 ออกได้ไหม?

ได้ครับ แพทย์ก็ยืนยันว่าเวลาเราหายใจเข้าไปแล้วมันไปสะสมอยู่ ร่างกายก็จะสร้างเม็ดเลือดขาวเป็นตัวกินสิ่งที่แปลกปลอมในร่างกายแล้วไปกำจัดที่ตับ แต่ถ้าเรารับเข้าไปเยอะๆ สะสมนานๆ เม็ดเลือดขาวก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน คนที่จะมีปัญหาคือกลุ่มเสี่ยงต่างๆ อนาคตจะเกิดอันตรายได้

โดยปกติ PM2.5 จะมาช่วงเวลาไหนและอยู่นานแค่ไหน?

มาเป็นประจำในช่วงฤดูหนาว ช่วงที่มีหมอกหรือความชื้นเยอะ และลมสงบนิ่ง ดังนั้น ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีแผนปฏิบัติการแล้วว่าจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง เพราะปีหน้าจะมีมาอีกแน่นอน ดังนั้น ถ้าไม่มีแผนอะไรเลยปัญหาก็จะเกิดซ้ำเหมือนเดิม

การแก้ปัญหาฝุ่นให้ได้ผลที่สุด ควรทำอย่างไร?

ต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล และต้องมีมาตรการระยะสั้นและระยะยาว

ในระยะสั้นจะต้องออกกฎหมาย เช่น จับรถควันดำ ห้ามรถสิบล้อเข้าเมืองตอนกลางวัน ที่สำคัญคือไปตรวจโรงงาน และคุมเข้มทุกพื้นที่ ทั้งเตาเผา เตาปิ้งย่าง รวมถึงต้องไปดูว่าอะไรเป็นจุดกำเนิดจะต้องจัดการทั้งหมด รวมถึงมีระบบเตือนภัยให้ประชาชนรู้ว่าพื้นที่ไหนมีปัญหา จะได้ใส่หน้ากากออกจากบ้าน และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม อาจจะมีหมายเลขโทรศัพท์ให้ประชาชนแจ้งเบาะแส เมื่อเห็นโรงงาน หรือ รถปล่อยควันดำ แล้วทางราชการจะต้องมีการตรวจสอบและจับ

ขณะที่ประชาชนต้องใช้สามัญสำนึกในการลดที่ตัวเราด้วย เดินทางใกล้ๆ ก็อย่าใช้รถยนต์ อาจจะใช้รถไฟฟ้าหรือรถยนต์สาธารณะ รวมถึงการลดการเผาเพื่อไม่ให้เกิดการเพิ่มฝุ่น

ส่วนมาตรการระยะยาว คือ 1.ต้องเปลี่ยนน้ำมันจาก ยูโร 4 ที่มีค่ากำมะถัน 50 PPM เป็นยูโร 5 ที่มีกำมะถัน 10 PPM ซึ่งต้องมีแผนการให้ชัดเจน เช่น จะต้องเปลี่ยนภายในปี 64-65

2.ต้องเน้นและส่งเสริมให้เกิดรถยนต์ไฟฟ้า อาจจะลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าลงจูงใจให้คนหันมาใช้ให้มากขึ้น

3.ขนส่งสาธารณะจะต้องหันมาใช้ NGV หรือระบบไฟฟ้าในอนาคต

4.รถไฟฟ้าที่สร้างอยู่ในขณะนี้จะต้องทำให้บริการครบลูปโดยเร็ว และจูงใจให้คนหันมาใช้ให้มากขึ้น เช่น ลดค่าโดยสารให้ถูกลง เพิ่มพื้นที่จอดรถให้มากขึ้น หรือต่อไปให้การจดทะเบียนรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลทำได้ยากมากขึ้น ส่วนภาษีรถยนต์ใหม่ควรจะถูกลง แต่รถยนต์เก่าควรจะมีภาษีแพงขึ้น เป็นต้น

5.จะต้องปรับปรุงมาตรฐานจากแหล่งกำเนิดทั้งหลาย เช่น ปล่องจากโรงงานอุตสาหกรรม ทุกวันนี้มีการปล่อยตรงตามค่ามาตรฐานแต่จะปล่อยเท่าไหร่ก็ได้ ทำให้มีการปล่อยอยู่ตลอดเวลา เมื่อทุกโรงงานมาอยู่รวมกันก็ทำให้มีฝุ่นเต็มพื้นที่ ดังนั้น จะเป็นไปได้ไหมถ้ามีการปล่อยเยอะจะต้องจ่ายเงินเข้ารัฐเยอะ ซึ่งการทำแบบนี้น่าจะทำให้โรงงานหาทางปรับปรุง หาทางฟอกอากาศไม่ให้ปล่อยออกมาเยอะ เป็นต้น

6.ปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว วันนี้ผู้ว่าฯกทม.ยอมรับแล้วว่า พื้นที่สีเขียวมีน้อยเกินไป คือประมาณ 3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น เพราะฉะนั้น จะต้องระดมปลูกให้หมด ผมมองว่าอย่างในต่างประเทศบนหลังคาตึกเขาก็ปลูกต้นไม้ได้ ซึ่งการปลูกต้นไม้มากก็จะคายออกซิเจนออกมากอากาศดีก็จะมาเร็วขึ้น ดังนั้น จะต้องทำให้เป็นกรีนซิตี้ให้ได้โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือช่วยกัน

7.การวางผังเมือง ต่อไปจะต้องดูว่าต่อไปการจะสร้างตึกสูง จะต้องออกแบบให้มีช่องว่างให้ลมพัดผ่านให้ได้ และการทำรายงานเรื่องสิ่งแวดล้อมของตึกสูงต้องดูภาพรวมด้วย

มาตรการของรัฐที่ออกมาเพียงพอไหม?

มาตรการของรัฐอาจจะช้าไปหน่อยแต่ว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ถึงวันนี้ผมว่าภาครัฐตระหนักแล้ว กทม.ก็พยายามจัดการทุกแหล่งกำเนิดและใช้วิธีการช่วยต่างๆ เช่น ใช้น้ำฉีดขึ้นไปบนท้องฟ้า ใช้โดรนบินพ่นน้ำ ที่เป็นมาตรการเสริม ผมมองว่าช่วงหลังเดือนมีนาคม อากาศเปิด ฝุ่นน่าจะออกไปหมด แต่ในช่วงนี้ที่อากาศมันปิดจะต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่ทำอยู่ทุกอย่าง จากเบาไปหาหนัก

ท้ายที่สุดถ้าเอาไม่อยู่จริงๆ คงต้องใช้มาตรการวันคู่วันคี่ ซึ่งผมมองว่าสำหรับประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมการและทำให้ประชาชนเข้าใจ และเมื่อมีการใช้วันคู่วันคี่เมื่อไหร่เท่ากับว่าประชาชนต้องเสียสละ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีการซัพพอร์ต เช่น การขึ้นรถขนส่งมวลชนฟรี การลดราคารถไฟฟ้าลง หรือการมีที่จอดรถมากๆ เพื่อให้ประชาชนเอารถไปจอด จะต้องทำตรงนี้ด้วย

นอกจากนี้ จะต้องระยะยาว ไม่ใช่เฉพาะปีนี้ เพราะเดี๋ยวมันก็หายไปแล้ว แต่ปีหน้ามันจะมาใหม่ ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องมีแผนปฏิบัติการโดยเอาปีนี้เป็นบทเรียนไปแก้ไขในปีหน้า

การพ่นน้ำช่วยได้มากน้อยแค่ไหน?

การพ่นหรือฉีดน้ำเป็นตัวเสริม มันช่วยได้ไม่มาก มีการวิจัยแล้วว่าการจะพ่นน้ำต้องพ่นสูง 100 เมตร แล้วเม็ดน้ำจะต้องมีขนาด 0.1-3 ไมครอน ถึงจะจับอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กอยู่ ที่ผมเคยนำเสนอคือเมืองจีนเขาใช้สเปรย์น้ำขนาด 0.1-3 ไมครอน ติดบนหลังคาตึกทุกตึกแล้วหมุน 360 องศา รัศมี 50 เมตร ช่วยกันทุกหลังคา จะช่วยลดฝุ่นในช่วงนั้นได้ แต่ถ้าเราพ่นน้ำโดยใช้รถดับเพลิงมันจะจับฝุ่นขนาดใหญ่ หรือฉีดจากตึกสูง ซึ่งมันไม่ได้ช่วยอะไร มันจะต้องฉีดเข้าไปในชั้นบรรยากาศ

ดังนั้น การฉีดน้ำทั้งหมดผมมองว่าเป็นแค่การบรรเทา จริงๆ จะต้องไปจัดการที่แหล่งกำเนิด ทำอย่างไรถึงทำให้คนขึ้นรถสาธารณะเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรจึงจะเอารถออกจากถนนได้ แต่ถ้าเอาออกไม่ได้ต้องจัดการไม่ให้ปล่อยควันดำ เป็นต้น

วันนี้มาตรการหรือการแก้ปัญหาของเราก้าวไปแค่ไหนแล้ว?

จาก 100 เปอร์เซ็นต์ผมว่าวันนี้เรามาได้ 50-60 เปอร์เซ็นต์แล้ว เพราะประชาชนเริ่มตระหนักรู้ถึงพิษภัยของ PM 2.5 แล้ว ขระที่รัฐบาลก็ตื่นตัว มีการออกมาตรฐการต่างๆ มา ผมกำลังมองว่าปีนี้เราอาจจะทำอะไรไม่ทันทั้งหมด แต่มันคือบทเรียนของปีหน้า ที่มันจะกลับมาอีก ซึ่งเราจะต้องรู้แล้วว่า ใครต้องทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และใครจะเป็นคนสั่งการ

เราสามารถเอาต้นแบบจากต่างประเทศมาใช้ได้ไหม?

ได้ครับ ทั้งประเทศจีน อินเดีย อเมริกา อังกฤษ รวมถึงเกาหลี มีปัญหาเรื่องนี้หมด ซึ่งผมมองว่า เมืองจีนประสบปัญหามากกว่าเราเยอะ ก่อนหน้านี้ในช่วงฤดูหนาว PM 2.5 สูงถึง 300-400 มคก./ลบ.ม. แต่ถึงวันนี้เหลือ 70-80 มคก./ลบ.ม. เพราะเขาแก้ไขมาเป็นระยะยาว เช่น การย้ายโรงงานอุตสาหกรรมถ่านหินไปนอกเมืองทั้งหมด รถเครื่องยนต์ดีเซลห้ามขับเข้าเมือง รถยนต์ในเมืองใช้น้ำมันยูโร 6 ที่สำคัญคือการเอกซเรย์พื้นที่แหล่งกำเนิดทั้งหมด เช่น การเผาศพต้องมีมาตรฐาน การเผากระดาษเงินกระดาษทองต้องมีการจำกัดปริมาณ ซึ่งประชาชนก็ให้ความร่วมมือเพราะกลัวอากาศเป็นพิษ

บ้านเราวันนี้เราปลุกจิตสำนึกและประชาชนก็เริ่มตระหนักแล้ว ต่อไปภาครัฐจะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับประชาชนให้ได้ ส่วนภาคประชาชนก็อย่าเอาแต่ด่าว่ารัฐบาลอย่างเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image