ชีวิตเฉกเช่นวรรณคดี ของ ‘ญาดา อรุณเวช อารัมภีร’ กับหน้ากระดาษแผ่นใหม่ในวัย 60 ปี

“บางช่วงเป็นนางยักษ์ บางช่วงเป็นนางแก้วกิริยา บางช่วงอาจเป็นนางละเวงก็ได้”

คือคำตอบของ ญาดา อรุณเวช อารัมภีร ต่อคำถามที่ว่า หากเปรียบชีวิตของตนคือวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ตัวละครใดคือภาพแทนอันแจ่มชัดมากที่สุด

ไม่เพียงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีไทย ที่มีตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หากแต่ยังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะเจ้าของคอลัมน์ “คุยกันเรื่องชื่อ” บนหน้ากระดาษนิตยสารในตำนานอย่างสกุลไทย

เป็นวิทยากรบรรยายด้านวรรณคดีตั้งแต่ยังเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ต้องพูดถึงรางวัลในเวทีใหญ่ที่เคยคว้ามาครองหลายครั้ง

Advertisement

มีผลงานหนังสือหลากหลาย อาทิ ลอยไปในลมบน, หลากหลายชื่อในชีวิต และ เก็บตกชื่อดีดี รักร้อนมีไม่ยาก เป็นต้น

สุ้มเสียงคุ้นหูคนไทยจากรายการวิทยุที่เจ้าตัวนั่งหลังไมค์มานานกว่าทศวรรษ

เกิดในครอบครัวสถาปนิกที่บิดามารดาเป็นนักอ่านและนักฟังเพลง

Advertisement

สมรสกับ บูรพา อารัมภีร บุตรชาย ครูแจ๋ว-สง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างสรรค์เพลงอมตะไว้มากมาย

ในวัย 60 ปี สตรีผู้มากความสามารถท่านนี้ยังสร้างหน้ากระดาษใหม่ของตัวเองใน “มติชนสุดสัปดาห์” ด้วยคอลัมน์ชื่อเก๋ “วรรณคดีจ๋าจ้ะ” ออกสู่สายตานักอ่านเป็นตอนแรกเรียบร้อยแล้ว

และนี่คือบทสนทนากับคอลัมนิสต์คนล่าสุดในเครือ “มติชน” ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง?

จัดรายการวิทยุเป็นหลักค่ะ ทำต่อเนื่องมา 10 กว่าปีแล้ว คือ รายการพูดจาภาษาไทย ทางสถานีวิทยุศึกษา แบ่งเป็น 3 ช่วง มี “คลังความคิด” เกี่ยวกับสังคม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือเรื่องน่ารู้ต่างๆ ตอนนี้กำลังเอาหนังสือลักษณะไทยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบรรณาธิการมาอ่าน

ส่วน “สะกิดวรรณกรรม” เล่าวรรณคดีจบไปหลายเรื่อง อย่างขุนช้างขุนแผน นิทราชาคริต พระนลคำฉันท์ กนกนคร พระอภัยมณี นี่เพิ่งเริ่มรามเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ 1 มี 4 เล่มจบ ยังไม่รู้ว่าต้องเล่ากี่ปี ตอนเล่าเรื่องอิเหนา เล่มเดียวใช้เวลา 3 ปี สุดท้ายคือช่วง “ลำนำกวี” จะเอาบทกวีดีๆ ที่ให้แง่คิด ปรัชญา และกระทบใจมาอ่านให้ฟัง และยังเอาเพลงย้อนยุค สมัยตัวเองยังสาวมาเปิด อย่างวงแกรนด์เอ็กซ์ วงเพาเวอร์แบนด์บ้าง ดิอิมพอสซิเบิลบ้าง บางครั้งก็เป็นเพลงเก่าๆ น่าสนใจ อย่างเพลงของขุนวิจิตรมาตรา

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 รายการ คือ รายการนิยมไทย ทางวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงลีลาภาษาไทยในเพลง ออกอากาศจันทร์-ศุกร์ และรายการมุมความสุขซึ่งเป็นรายการสด จัดกับพี่เต้ย บูรพา ชื่อ รายการมุมความสุข ช่วงอุทยานเพลง ทุกวันอาทิตย์ 2 ทุ่มครึ่ง ถึง 4 ทุ่ม ทางวิทยุศึกษา

จัดรายการวิทยุมาได้นานนับสิบปีอย่างนี้ มีเทคนิคอะไรดึงดูดใจคนฟัง?

อย่างช่วงสะกิดวรรณกรรม แทนที่จะเล่าวรรณคดีเฉยๆ ก็อ่านทำนองเสนาะ ร้องเพลง แทรกไปด้วย เป็นการชูรส เพิ่มรสชาติ พอถึงบทเศร้า ก็ขับเสภาซะหน่อย บทสนุกสนาน เอ้า! สวดคฤหัสถ์ สวดโอ้เอ้ ซึ่งมันสนุกสนานทีเดียว สนุกทั้งคนเล่า คนฟัง บางครั้งเล่าเหมือนเป็นละครวิทยุ เดี๋ยวเป็นตัวดี เป็นตัวร้าย พอเป็นคนแก่ ก็ทำเสียงแบบแก่ๆ เลยมีคนฟังเยอะมาก ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ และเด็กนักเรียนก็ติดใจ

คอลัมน์ ‘วรรณคดีจ๋าจ้ะ’ ใน ‘มติชนสุดสัปดาห์’ มีที่มาอย่างไร?

พอดีไปเจอ พี่ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บมจ.มติชน) ในงานศพของคุณอา อาจินต์ ปัญจพรรค์ ท่านฟังรายการวิทยุเป็นประจำ ยังกรุณาส่งหนังสือไปให้ใช้มอบเป็นรางวัลผู้ฟังในรายการหลายหน พี่ช้างบอกว่า อย่าเอาแต่เล่าในวิทยุสิ ให้เขียนออกมาด้วย เรื่องเกี่ยวกับวรรณคดีเดี๋ยวนี้ไม่มีคนเขียนแล้ว เลยถามว่าจะให้เขียนยังไง ท่านบอก อยากเขียนอะไรก็เขียน ขอดูสัก 4 ตอนก่อน จากนั้นก็นัดคุย ทานข้าวกัน แล้วพี่ช้างก็กรุณาตั้งชื่อคอลัมน์ให้วันนั้นเลยว่า “วรรณคดีจ๋าจ้ะ” เพราะตัวเองชื่อเล่นว่า จ๋า ซึ่งก็ดี ดูเบาๆ ไม่หนัก ตรงกับแนวทางการเขียนสนุกอย่างมีสาระ ที่เน้นความสนุกสนานโดยมีสาระและบันเทิงอยู่ในนั้น

มติชนสุดสัปดาห์เป็นนิตยสารการเมือง กลุ่มคนอ่านอาจแตกต่างจากที่เคยเขียนในสกุลไทย กังวลไหม?

ก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนกันว่าเราจะดูไม่เหมือนชาวบ้านเขาเลย แต่ถ้าผู้ใหญ่มั่นใจในตัวเรา ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร พี่ช้างท่านรักวรรณคดีมาก เป็นนักอ่านวรรณคดีตัวยง คงอยากเห็นวรรณคดีซึ่งเป็นมรดกของชาติยังคงอยู่ คุณอู (สุวพงศ์ จั่นฝั่งเพ็ชร บก.) ก็ให้อิสระในการเขียน ทำให้สบายใจมาก

วางแผนการเขียนอย่างไรบ้าง จะมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไหม?

เนื้อหามันครอบคลุมทุกเรื่องในชีวิต วรรณคดีมีทั้งสังคม การเมือง ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้แต่โหราศาสตร์ ซึ่งอยู่คู่คนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรายังหาเลขผานาที ตัวเอกของเรื่อง เกิดมาปั๊บบันทึกไว้เลย เช่น พลายแก้ว หรือขุนแผน เกิดปีขาล วันอังคาร เดือนห้า ตกฟากเวลา 3 ชั้นฉาย กรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา 3 ชั้นฉายคือช่วงเท้าของคนเวลายืนกลางแดดเป็นเงาออกไป 3 ช่วงเท้า ตอนนั้นยังไม่มีนาฬิกา เกิดตอนเหตุการณ์สำคัญ คือพระเจ้ากรุงจีนเอาแก้วมาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา เลยชื่อพลายแก้ว เดี๋ยวนี้เด็กบางคนชื่อประชาธิปไตย ชื่อรัฐธรรมนูญ ตั้งชื่อตามวันสำคัญที่เกิด หรืออะไรที่เกี่ยวข้อง คือหลักในการตั้งก็ยังอยู่ แค่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น

สำหรับแนวการเขียน เป็นคนชอบรายละเอียด ก็จะหยิบประเด็นที่น่าสนใจ เช่น สรีระบางส่วนของผู้หญิง เราเอาส่วนนั้นมาพูดถึงว่าในวรรณคดีมีอะไร อย่างไร ผู้หญิงไม่ใช่แค่เป็นแม่ เป็นเมีย ทำงานบ้าน แต่มีหน้าที่ต่อบ้านเมืองเช่นกัน สามารถไกวเปลเลี้ยงลูกได้ในเวลาปกติ แต่ก็จับดาบลุกขึ้นมาป้องกันบ้านเมืองในยามคับขันได้ หรือยกประเด็นการเปรียบเทียบว่าทำไมสมัยก่อนเขาชอบเปรียบเทียบอย่างนี้ ยังมีอีกเยอะที่จะนำเสนอ

บางคนบอกวรรณคดี ยาก เชย น่าเบื่อ เสน่ห์อยู่ที่ไหน?

ที่เขาว่าเชย น่าเบื่อ เพราะยังไม่รู้จักวรรณคดี ทั้งยังเอาตัวเองในยุคสมัยนี้ไปตัดสินคนและการกระทำของคนในยุคสมัยก่อน จะยุติธรรมไหมถ้าคนในอีก 100 ปีข้างหน้า ดูงานของนักเขียนรุ่นนี้แล้วบอก ตาย! มันเชย ไม่เห็นเข้าท่า เหมือนที่บอกว่าเมืองไทยเรานี้มีชนชั้น กดขี่ทาส คุณได้กลับไปอ่านจริงๆ หรือเปล่าว่าสภาพสังคมตอนนั้นทำไมถึงมีทาส บางทีทาสไม่อยากไปจากนายเลย เพราะนายเลี้ยงดี พอนายจะให้ออกไปเป็นไทแก่ตัว ร้องห่มร้องไห้ ต้องอ่านงานในยุคนั้นจึงจะเข้าใจ ไม่ใช่เอาปัจจุบันไปตัดสินอดีต

วรรณคดีเป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องของชีวิต เหมือนการเอาชีวิตคนทุกระดับลงไปรวมอยู่ด้วยกัน ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงคนเดินดินกินข้าวแกง จนถึงทาส เหมือนเราได้ศึกษาโลก แม้ว่าจะเป็นโลกที่ต่างไปจากปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่า งานเขียนแต่ละยุคสมัย สะท้อนสภาพสังคมในยุคนั้น แม้แต่ซ่องก็บันทึกไว้ ในประวัติศาสตร์จะบันทึกเพียงแค่ว่า ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ ก็จบ แต่ไม่มีรายละเอียดของเหตุการณ์ว่าสภาพสังคม วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในขณะนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเจอได้จากวรรณคดี อย่างกลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ของนายมี มหาดเล็ก ถ้าไม่อ่านจะไม่รู้เลยว่าเวลาเกิดไฟไหม้ในพระนคร ผู้ที่เป็นหัวหน้าดับเพลิงคือ พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 3 ทรงควบคุมการดับเพลิงเอง ทรงชักตะกร้อตักน้ำสาดเองเลย

ส่วนที่ว่ายาก ถ้าไปมุ่งแต่คำศัพท์ จะเบื่อมาก อ่านๆ ไปเดี๋ยวก็เข้าใจเอง ไม่ต้องมานั่งแปลว่าคำนี้หมายถึงอะไร เหมือนภาษาอังกฤษ ถ้าเข้าใจคำแวดล้อมก็เดาได้ แต่นั่นคือต้องอ่านเยอะๆ วรรณคดีบางเรื่องก็ง่าย บางเรื่องก็ยาก ควรอ่านเล่มง่ายๆ ก่อน เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดีไทยที่อยู่ในวงการเพลงมานาน มองภาษาไทยในเพลงปัจจุบันอย่างไร?

ภาษาเป็นภาพสะท้อนของคนในยุคสมัยหนึ่ง แต่ละยุคสมัยไม่เหมือนกัน สมัยก่อนทำไมคนชอบเพลงที่ใช้ภาษาละเมียดละไม มีความคล้องจอง เพราะคนยุคนั้นชอบอย่างนี้ ชีวิตก็ไม่เร่งร้อนเหมือนเดี๋ยวนี้ คนสมัยก่อนอ่านหนังสือเยอะ ครูสง่าชอบอ่านวรรณคดีมาก พอเจอตอนดีๆ ก็หยิบมาเป็นเนื้อเพลง เช่น ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ ได้มาจากการอ่าน “เวนิสวานิช” บทละครพูดของรัชกาลที่ 6 ที่ว่า “ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์”

การอ่านวรรณคดีทำให้เราได้คำเยอะ มีคลังคำในการเขียน ดูงานของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ท่านอ่านวรรณคดีจนปรุ ศัพท์แสงอยู่ในหัว ท่านเป่าขลุ่ยได้ ขับเสภาได้ หรืออย่างสุนทรภู่สมัยยังหนุ่ม ต้องบอกบทละครนอก ทำให้ท่านได้จังหวะ ได้เรื่องเพลง ขับเสภาก็ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้กลอนของท่านทั้งสองมีเสียงไพเราะเหมือนเสียงดนตรีที่สอดประสานกัน

สมัยก่อนวรรณคดีมีไว้เพื่อการฟัง คนอ่านหนังสือไม่ออกเยอะ คนรู้หนังสือต้องเป็นคนอ่านให้ฟัง วรรณคดีไทยจึงต้องอ่านออกเสียง ถึงจะได้รส เพราะแต่งเพื่อให้ฟังเสียง อย่างกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนบรรยายสงครามยุทธหัตถี ทำไมถึงทำให้ภาพของพระนเรศวร สง่างามและองอาจได้ขนาดนั้น ก็เพราะคำที่ใช้แสดงถึงการต่อสู้อย่างห้าวหาญ และการสิ้นสุดของพระมหาอุปราชาที่จบชีวิตลง สระเสียงยาวในบทสุดท้ายทำให้เราเศร้าโศกตามไปด้วย

ที่มาของเพลงยุคเก่ามีเรื่องราวน่าสนใจมาก?

ใช่ค่ะ นักร้อง นักแต่งเพลงสมัยก่อนท่านเก่ง แค่เห็นนกกระจอกบิน ก็แต่งออกมาได้ และได้รางวัลด้วย อย่างเพลงวิหคเหินลม ของครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ที่ว่า “แสนสุขสมนั่งชมวิหค อยากเป็นนกเหลือเกิน” ท่านบอกว่าเห็นนกกระจอกกำลังบินอยู่ เลยแต่งเป็นเพลง หรือเพลงที่เรารู้จักกันดี อย่าง จำเลยรัก ท่อนหนึ่งเด็ดมาก “กักขังฉันเถิด กักขังไป ขังตัวอย่าขังหัวใจดีกว่า” เกิดจากตอนที่ครูชาลี อินทรวิจิตร กำลังเล่นไพ่ คั่วสเปโต แล้วอีกคนกักไว้ (หัวเราะ)

แม้แต่ครูสง่า อารัมภีร ก็ได้แรงบันดาลใจจากนิสิตจุฬาฯ 2 คน ซึ่งคงไม่รู้ตัวว่าได้เป็นตัวละครในเพลง ดวงใจ วันนั้นท่านนั่งรถราง เจอคู่รักนั่งง้องแง้งๆ อยู่ ผู้หญิงโกรธเอากระเป๋าฟาดผู้ชาย แล้วกระโดดลงจากรถ ผู้ชายตะโกนบอกว่า นุช ฉันมีสิทธิจะรักเธอนะ เสร็จเลย! ได้วรรคแรก ดวงใจ ทุกคนมีสิทธิจะรักกันได้ ถึงอยู่ห่างไกลก็ยังส่งใจไปถึง

ขอย้อนไปเรื่องชีวิตวัยเด็ก โตมาในครอบครัวสถาปนิก ทำไมเลือกเส้นทางสายวรรณกรรมและบทเพลงเต็มตัว?

ถึงพ่อแม่จะเป็นสถาปนิกทั้งคู่ แต่เป็นนักอ่าน นักฟังเพลง ท่านสะสมแผ่นเสียงและหนังสือไว้เยอะมาก ความที่เกิดก่อนน้องหลายปี เลยเป็นเด็กคนเดียวในบ้าน มีเพื่อนเป็นหนังสือ เวลาจะขอซื้อของเล่น ไม่ค่อยให้ซื้อ แต่ถ้าหนังสือเท่าไหร่เท่ากัน สมัยก่อนอ่านนิยายเพียบเลย ยังคิดว่าจะเป็นนักเขียนนวนิยาย พอสิ้นปีปั๊บ แถววังบูรพา ร้านรวมสาส์น แพร่พิทยา ลดราคาเยอะ จะไปหิ้วกันมาเป็นถุงๆ กลับมาอ่าน ไม่กินไม่นอนเลย คุณอาจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เล่านิทานเก่งมาก ทั้งไทยและต่างประเทศ เราก็ติดใจ

ตอนเล็กๆ เวลาพ่อแม่จะไปไหนก็เอาไปฝากบ้านคุณย่า หงุดหงิดมาก เพราะเด็กคนอื่นได้ไปเล่น ในขณะที่ตัวเองต้องนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านวรรณคดีให้คุณย่าฟัง ตอนนั้นไม่ชอบเลย แต่ตอนนี้รู้สึกขอบคุณ

ถึงจะเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ซึ่งเป็นโรงเรียนฝรั่งตั้งแต่อนุบาลจนจบ ม.ศ.5 แต่ชอบภาษาไทยมาก เพราะสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมขึ้นมาอย่างนี้ ตอนมัธยมเคยทำรายงานที่ต้องหารูปมาประกอบกับวรรณคดี สนุกเลย ตัดหนังสือแม่กระจุย ทั้งสตรีสาร สกุลไทย ศรีสัปดาห์ พอเข้าอักษร จุฬาฯ เลยเลือกเอกภาษาไทย ได้พบอาจารย์ดีๆ หลายท่าน เช่น ศ.ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา, ผศ.ดร.คมคาย นิลประภัสสร, ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล, รศ.ยุพร แสงทักษิณ และ ศ.เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี ซึ่งท่านเชี่ยวชาญวรรณคดีสันสกฤตเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมตอนเรียนปริญญาเอก

ทุกวันนี้ยังดูแลตัวเองดีมาก ทราบว่าไม่ดื่มน้ำเย็นเลย?

นี่เป็นคำขอร้องของอาจารย์ปาจรีย์ บุษยกุล ซึ่งสอนที่ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย คุณแม่เป็นอาจารย์สอนเขียนแบบอยู่ที่นั่น แล้วอยากให้ลูกอ่านทำนองเสนาะเป็น เลยพาไปเรียนกับอาจารย์ ท่านขอคำแรกเลยว่า ไม่กินน้ำเย็น ของเย็นได้ไหม ถ้าได้จะสอนให้เป็นวิทยาทาน ก็บอกไปว่า จะพยายามค่ะ ตอนแรกทำได้บ้างไม่ได้บ้าง พอหลังๆ รู้สึกว่าคอโล่งดี จมูกโล่ง ไม่เป็นหวัดง่ายอย่างเคย เลยไม่ทานมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2519 ตอนนั้นอยู่ ม.ศ.5 มีรุ่นน้องพูดตลกๆ ว่า พี่จ๋าน่ะเหรอ แค่ใครถือแก้วน้ำเย็นผ่านหน้า แกก็หนาวแล้ว (หัวเราะ)

นอกจากของเย็น แอลกอฮอล์ก็ไม่ดื่ม คุณหมอพูนพิศ อมาตยกุล เคยบอกว่า ถ้ากินของเมาก็เหมือนเอาแอลกอฮอล์ไปเช็ดเส้นเสียง จะทำให้เสียงต่ำลงเรื่อยๆ ลองเอาเทปเก่าๆ ที่เคยอ่านหรือเคยร้องมาฟัง ปรากฏว่า เสียงสูงกว่าเดิมเยอะเลย ชีวิตคนเราถ้าต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ต้องลงทุน บางครั้งไม่ใช่เป็นเงินเป็นทอง แต่เป็นความตั้งใจหรือความพยายาม

ถ้าชีวิตที่ผ่านมาคือวรรณคดีสักเรื่องหนึ่ง คิดว่าเป็นนางวรรณคดีคนไหน?

แล้วแต่จังหวะ เพราะบางช่วงเวลาก็เป็นนางยักษ์ ต้องถามพี่เต้ย บูรพา ดู (หัวเราะ) บางช่วงก็เป็นนางแก้วกิริยา บางช่วงอาจเป็นนางละเวงก็ได้ คนเราไม่ได้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตลอดเวลา บางจังหวะเป็นตัวร้าย ตัวดี บางทีอาจไม่ดีไม่ร้าย หรืออาจเป็นตัวน่าเบื่อก็มี

ตอนยังเด็กกว่านี้ มองทุกอย่างขาว ทุกอย่างดำ ถ้าไม่ถูกต้องก็คือผิด แต่เมื่อโตขึ้น พบว่ามันมีสีเทาด้วย มีทั้งขาวและดำปนอยู่ในนั้น และมีที่ดำปี๋ แต่ยังมีจุดขาว หรือบางทีขาวหมด แต่มีจุดดำแทรก ชีวิตทำให้เราเรียนรู้ และต้องเรียนรู้ทุกช่วงจังหวะของชีวิตเหมือนกัน


 

ญาดา-บูรพา อารัมภีร ในคอนเสิร์ต “คิดถึง…ครูแจ๋ว”

เรื่องของฉัน เรื่องของเขา กับพื้นที่ของ ‘เรา’

นับเป็นคู่หวานที่ทั้งในและนอกวงการเพลงพากันอิจฉา สำหรับ ญาดา-บูรพา อารัมภีร ที่แม้จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมานาน 20 ปี แต่ดีกรีความสวีตดูเหมือนยิ่งไต่อันดับ ทั้งที่ทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ด้วยกันแต่อย่างใด เนื่องจากฝ่ายหญิงขอย้ายกลับบ้านไปดูแลบุพการีที่อยู่ในวัยชรา โดยขอเกษียณอายุราชการล่วงหน้าถึง 10 ปี ญาดาเปิดใจว่า การที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันทั้งวันทั้งคืน ทำให้แต่ละฝ่ายมีพื้นที่ส่วนตัว

“เขามีเรื่องของเขา เรามีเรื่องของเรา และพื้นที่อีกส่วนร่วมกัน ทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ถ้าถามว่ามันหวานแหววกว่าคนอื่นไหม คงตอบไม่ได้ มันอยู่ด้วยความเข้าใจ ความรัก และความผูกพัน ถึงจะแยกกันอยู่ แต่มีเวลาทำงานด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน เลยรู้สึกเหมือนยังเป็นแฟนกันยังไงไม่รู้”

หวานแค่ไหนไม่ต้องพูดถึง เพราะล่าสุดเมื่อ “พี่เต้ย” บูรพาไปเที่ยวลาว ก็ยังซื้อกำไลเงินสวยๆ มาฝากภรรยา ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ “ต้นฉบับ” คอลัมน์วรรณคดีจ๋าจ้ะ ที่ทยอยส่งเพื่อตีพิมพ์ใน “มติชนสุดสัปดาห์” คนพิมพ์ไม่ใช่ใคร แต่เป็นสามี

“ถนัดกับการเขียนด้วยดินสอและยางลบ เพราะใช้ความคิดได้สะดวก เคยลองพิมพ์ดูแล้วมันต๊อกแต๊กๆๆ เสียงพิมพ์ดีดทำไม่มีสมาธิ คอมพิวเตอร์ตัวเองก็ไม่เอาไหน ก่อนหน้านี้ให้หลานหรือเด็กที่รู้จักกันพิมพ์ให้ แต่คุณสามี มีน้ำใจบอกว่า จ๋าเขียนมา พี่พิมพ์ให้ แล้วส่งจ๋าตรวจ พี่เต้ยเป็นคนดูแลคน และก็ดุด้วย อะไรไม่ถูกใจก็ดุ ทุกวันนี้ยังโดนดุเหมือนเด็กๆ (ยิ้ม)”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image