87 ปี ประชาธิปไตยที่ (ยัง) ไม่ตั้งมั่น ในมุมมอง ดร.จิราภรณ์ ดำจันทร์

“เพิ่งมาคิดว่าตัวเองแปลก เพราะเอารัฐธรรมนูญ 40 ยัดใส่กระเป๋านักเรียนไว้ อ่านแล้วรู้สึกดี (ยิ้ม)”

คือคำสารภาพของอดีตเด็ก ม.ปลายสายศิลป์คำนวณ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ที่ในวันนี้เป็นเจ้าของผลงานขายดีติดอันดับต้นๆ ของสำนักพิมพ์มติชนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47

“ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น” สร้างความฮือฮาไม่เพียงด้วยยอดขาย หากแต่ชวนให้น่าประหลาดใจด้วยกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย สอดคล้องกระแสความสนใจการเมืองในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สร้างปรากฏการณ์การเมืองไทยในการเลือกตั้ง ปี”62 ที่ยังอลหม่าน

จบปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์จากคณะวิทยาการจัดการ ที่ มอ.หาดใหญ่ พ่วงนิติศาสตร์ รามคำแหง อีก 1 ใบ ก่อนเข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วกลับไปเป็นอาจารย์ที่ มรภ.นครศรีธรรมราช 2 ปีเต็ม เก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเข้มข้น ถึงขนาดต้องซื้อข้าวไข่เจียวมากินมื้อเที่ยงที่โต๊ะทำงานเพื่อให้คำปรึกษานักศึกษาด้วยความเต็มใจ

Advertisement

เคยเป็นนักวิจัยประจำศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย ทำให้เข้าใจบริบทและปรากฏการณ์ทางการเมืองในห้วงเวลาต่างๆ กระทั่งมุ่งหน้าศึกษาต่อจนคว้าปริญญาเอกด้วยผลงานชิ้นเยี่ยมสมศักดิ์ศรีลูกพระเกี้ยว

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ชอบอ่านข่าว ฟังข่าว พลิกตำราพ่อที่เป็นครูตั้งแต่ยังไม่รู้หนังสือ ชอบถามชอบซัก ชอบแสดงความคิดเห็น เติบโตเป็นเด็กกิจกรรมรับหน้าที่ดูแลน้องๆ ในหอพักจนต้องท่องหนังสือหน้าห้องฉุกเฉินมาแล้ว

“การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า” คือข้อความบนปกหน้าที่เป็นปริศนาชวนตั้งคำถาม

Advertisement

ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น คือปรากฏการณ์ความล้มเหลวของการทำให้เป็นประชาธิปไตยอันมีข้อบ่งชี้หลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือการรัฐประหารถี่ยิบถึง 13 ครั้ง นับแต่ พ.ศ.2475

“รัฐประหารทุกครั้งจะมีเงื่อนไขมาก่อน พอหลังจากนั้นก็เข้าอีหรอบเดิม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดกติกาใหม่ เข้าสู่การเลือกตั้ง ได้รัฐบาล วนอยู่อย่างนี้ แค่ระยะเวลาในแต่ละกรอบต่างกันบ้าง สาระต่างกันบ้าง ผลงานนี้คือทำให้กระชับมาก เข้าใจง่ายๆ สั้นๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ สื่อสารตรงๆ ตอนเขียนต้องทำใจว่างๆ นิ่งๆ โล่งๆ อ่านข้อมูลมาให้เห็นภาพทั้งหมดก่อนถึงจะมาเขียน คัดแต่เรื่องที่เป็นแก่นความจริงมาวาง ความเห็นก็ใส่ตามมาว่าแต่ละมุมเห็นอย่างไร ต่างกันตรงไหน”

ดร.จิราภรณ์เล่าด้วยอิริยาบทสบายๆ ต่างจากบทสนทนาต่อไปนี้ ที่มากมายด้วยประเด็นร้อนระอุของสถานการณ์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ถึงขนาดมีผู้คาดการณ์ว่าอาจนำไปสู่วิกฤตใหญ่ และสถานการณ์ที่เกินคาดเดา

“…ที่ผ่านมาล้มเหลวเพราะความคิดเห็นในกติกาไม่ตรงกัน
ถ้าอยู่คนละกติกา คนละฝั่ง มันคุยกันไม่ได้ มันไม่จบ
หรืออาจจะจบนะ แต่จบไม่สวย….”

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ควรทำอย่างไรในการก้าวผ่านวิกฤตการเมือง?

เมื่อเกิดปัญหาการเมือง ทุกคนโดยเฉพาะประชาชนต้องทำใจให้ว่างๆ นิ่งๆ สื่อสารให้ตรงประเด็น เมื่อไหร่รวมก๊วน สุดท้ายจะมีช่องให้เกิดรัฐประหารอีก จากประวัติศาสตร์การเมือง เราเป็นแบบนี้ ถ้าอยากให้เดินต่อได้ ก็คือต้องพูดความจริง อย่าพยายามปิดกั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่าไปล็อก เพราะพอล็อก ก็ล็อกหมด

คำว่านิ่งๆ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าอย่าแสดงความเห็น หรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหว?

ไม่ๆ ไม่เกี่ยว นั่นคือการสื่อสาร อย่างที่บอกว่าอย่าปิดกั้น เมื่อไหร่ปิดกั้น จะนำไปสู่ความรุนแรงได้

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ห่วงไหมว่าจะมีรัฐประหารพาชาติสู่วังวนเดิม?

พูดตรงๆ ก็เป็นห่วง ทุกครั้งคิดว่าเดี๋ยวเราก็เดินต่อได้เหมือนทุกที แต่สุดท้ายก็วนอยู่อย่างนี้แหละ เดินต่อ แล้วสะดุด เดินต่อแล้วสะดุด อยากให้มันสำเร็จได้สักครั้งหนึ่ง ถ้าถึงจุดที่คิดว่าน่าจะพอมีหนทาง

ทำไมไทยเกิดรัฐประหารบ่อยติดอันดับโลก?

คิดว่าจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ประชาธิปไตยของเราอาจจะยังไม่แข็งแรง หรือเข้มแข็งพอ อย่างเวลาร่างกติกาใหม่ เราอาจใช้แค่คนกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเปิดให้เกิดการถกเถียงในกติกา ทำความเข้าใจกติกามากขึ้น จะสามารถสร้างกติกาชุดหนึ่งที่เราเห็นร่วมกัน และเดินต่อได้ เมื่อไหร่เอาเฉพาะที่คนกลุ่มหนึ่งมาสร้างก็จะเป็นไปแบบนี้

ตอนนี้คนสนใจการเมืองมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ถกกันสนั่นโซเชียล คิดว่าจะช่วยผลักดันให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นได้เร็วขึ้นไหม?

การที่คนสนใจการเมืองเยอะ ถกเถียงกันไปมา เหมือนเป็นการขยายฐานคนที่เข้ามาในการเมือง ให้ความสนใจการเมือง ถ้ามองในแง่ดี คือเขามีความเข้าใจ มีส่วนร่วม สำหรับบ้านเรา คนรุ่นใหม่คือคำตอบของประชาธิปไตยในตอนนี้ เพราะเป็นคนจำนวนมากในช่วงนี้และความสนใจในการเมืองเพิ่มมากขึ้น สื่อสารได้มากขึ้น คิดว่านี่คือคำตอบว่าเราจะเดินต่ออย่างไร เราต้องฝากไว้กับคนรุ่นหลัง ทุกคนที่พยายามจะเป็นประชาธิปไตยก็พยายามทำเต็มที่ แต่บางจุดบางประเด็นยังไม่จบ เป็นข้อถกเถียง ถ้าคนรุ่นใหม่เข้าใจมันก่อน ก็จะสามารถเป็นพื้นฐานที่ดีได้ แต่ต้องให้เวลา พยายามเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดความเห็นออกมาในวิธีการ ในรูปแบบของเขา การเมืองเป็นธรรมชาติของความเห็นต่าง แค่ให้ความเห็นต่างได้มีพื้นที่ ได้ถก พูดกัน จับมือกันโดยไม่ต้องเห็นเหมือนกันก็ได้

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์ตอนนี้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ทั้งการรวมตัวทำกิจกรรมของนักศึกษา และยังมีสื่อบางสำนักที่ถูกเทียบเคียงกับ ‘ดาวสยาม’ มองว่าจะเกิดเหตุรุนแรงซ้ำรอยไหม?

เชื่อว่าไม่รุนแรงถึงขนาดนั้น เพราะเงื่อนไขต่างกัน แล้วสื่อก็กว้างขึ้น คนหาข้อมูลได้ง่าย ไม่เหมือนสมัยก่อน ส่วนสื่อที่เล่นคำรุนแรงในบางประเด็น ข้อดีคือทำให้คนติดตาม แต่ถ้าไปสร้างความเป็นปรปักษ์ สุดท้ายอาจสร้างทัศนคติที่ไม่ดี นำไปสู่สิ่งที่ไม่อยากเห็น ในหนังสือเล่มนี้บอกเลยว่าถ้าเกิดเหตุที่เป็นวิกฤต สิ่งแรกที่ต้องทำคือตั้งหลัก อดกลั้น คิดว่าสิ่งที่อยากได้คืออะไร เมื่อเราอยากได้ประชาธิปไตย ก็ต้องหาช่องทางที่จะไปต่อให้ได้ ถ้าไม่อดกลั้นก็นำไปสู่ความรุนแรง แล้วเข้ารูปแบบเดิม

ตอนนี้ไทยเป็นประชาธิปไตยกี่เปอร์เซ็นต์ ถึง 99.99 ไหม?

(หัวเราะ) ทั่วโลกไม่มีใครถึงแบบนั้น ประชาธิปไตยทุกประเทศต้องปรับให้เข้ากับบริบทของตัวเอง ตามทฤษฎีแล้วถ้าประชาชน 70 เปอร์เซ็นต์เชื่อมั่นและเดินไปในแนวทางประชาธิปไตยก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยได้

แสดงว่าการที่คนออกมาเลือกตั้ง 70 ขึ้นไปอย่างในครั้งนี้และหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ประชาชนต้องการประชาธิปไตย?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าประชาธิปไตยไม่เท่ากับการเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยจำเป็นต้องเดินขึ้นมาจากการเลือกตั้ง นี่คือกติกาโดยพื้นฐาน เมื่อผ่านจุดนี้ไปได้แล้ว เราก็แค่ทำให้มันมั่นคง ยั่งยืนแค่นั้นเอง กระดุมเม็ดแรกก็พยายามติดให้ดี ให้ตรงแนว

ตอนนี้มีการนำคำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ออกมาใช้ ซึ่งแม้เป็นคำที่ได้ยินมานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่านิยามของคำนี้ในใจของแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน

จริงๆ แล้วคำอธิบายของประชาธิปไตยบ้านเรา ในหนังสือก็บอกไว้เลยว่าแต่ละช่วงมันก็ไม่ได้เท่ากันทุกครั้ง เพราะแต่ละกลุ่มจะหยิบยกคำว่าประชาธิปไตยไปอธิบายในมิติของตัวเองอยู่แล้ว ความยากของประเทศไทยในการเป็นประชาธิปไตยคือ เราไม่สามารถหาแก่นที่ตรงกันได้ตลอด อธิบายกันคนละเรื่อง คนละทาง ส่วนใหญ่มักบอกว่า ประชาธิปไตยเริ่มที่การเลือกตั้ง แต่สำหรับตัวเอง คิดว่าต้องเริ่มจากกติกาที่ตรงกันก่อน พอเดินสู่กระบวนการที่ต้องเอากติกามาใช้ มันก็จะไปต่อได้

มองความอลหม่านหลังการเลือกตั้งอย่างไร?

ตอนนี้เข้าใจว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ไปเลือกตั้งวันนั้น เขาเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่า ที่เลือกๆ ไปคืออย่างไรกัน เข้าใจว่ารอบนี้ใหม่หมดเลย ทั้งกติกา ทั้งคนดูแลกติกา พรรคใหม่ก็หลายพรรค มีนักการเมืองใหม่เข้ามา มีนิวโหวตเตอร์ที่สนใจการเมือง ซึ่งเป็นจุดแข็ง ทุกครั้งเวลามองถึงอนาคต ก็ต้องฝากความหวังไว้กับเด็กรุ่นใหม่ เราไม่สามารถเดินไปสุดทางได้โดยเฉพาะประชาธิปไตย มันล้มลุกๆ กันมาแบบนี้ตลอด 80 กว่าปี

การล้มลุก 80 กว่าปี ถ้าเทียบมาตรฐานโลก ไทยถลอกปอกเปิกมากไหม?

จริงๆ ทุกครั้งมีการโตขึ้น แต่ยังไม่ได้ถึงขนาดเป็นนัยสำคัญของการที่เราจะทำให้มั่นคงเท่านั้นเอง อย่างน้อยความสนใจการเมือง การรักษาสิทธิโตขึ้นเยอะมาก มีคนไปเลือกตั้ง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ จากในช่วงต้นๆ เคยมีถึงขนาดแค่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยเปิดกว้างขึ้น สมัยก่อนคนยังไปตีความผิดๆ บางคนนิยามว่ามีรัฐธรรมนูญก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว มีเลือกตั้งก็เป็นแล้ว แต่จริงๆ มันมีรายละเอียดมากกว่านั้น หนังสือเล่มนี้ตั้งใจให้เห็นข้อมูลว่าเราไปสะดุดตรงไหน เปิดให้เห็นว่าอะไรคือจุดที่ทำให้ไปต่อไม่ได้ ถ้าเจอจุดนั้นแล้วก็ต้องพยายามประคับประคองสถานการณ์ให้เดินต่อ แต่ต้องเอาใจมาวางกัน

จุดสะดุดไหนที่น่าเสียดายที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าเกิดรัฐประหารจนนำเรากลับสู่วังวนเดิม?

ทุกช่วงเลย เพราะวางกันมาโอเคในระดับหนึ่ง อย่างน้อยเรามีรัฐธรรมนูญใช้ อาจเห็นต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่สุดท้ายเวลามันจบ บางทีประชาชนก็ยังงงๆ อึ้งๆ เสียดาย บางครั้งการสะดุดไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์ภายในอย่างเดียว ปัจจัยเยอะ

คิดอย่างไรต่อการที่ ‘บิ๊กแดง’ ออกมากล่าววาทกรรม ‘ซ้ายตกขอบ’ ?

ตอนนี้ไม่ว่าจะฝั่งไหนขอให้พูดกันอย่างตรงไปตรงมาดีกว่า ถ้าไปตอบโต้กันแบบนี้ สุดท้ายกลายเป็นการแบ่งข้าง ซึ่งไม่ดีสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตย คำว่าความรุนแรง ไม่ใช่แค่การเดินไปทำร้ายกัน แต่รวมถึงความคิด หรือคำพูด บางทีทำร้ายได้มากกว่าการทำร้ายร่างกายเสียอีก กลายเป็นสิ่งที่ติดฝัง อาจไปสร้างความคิดบางอย่าง

อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไปไม่ถึงฝั่ง?

ที่ผ่านมาล้มเหลวเพราะความคิดเห็นในกติกาไม่ตรงกัน ถ้าอยู่คนละกติกา คนละฝั่ง มันคุยกันไม่ได้ มันไม่จบ หรืออาจจะจบนะ แต่จบไม่สวย

นอกจากนี้ไม่ใช่วิกฤตทางการเมืองอย่างเดียวที่ทำให้เราไม่เป็นประชาธิปไตย บางทีวิกฤตเศรษฐกิจก็มีส่วนที่ทำให้เราออกจากประชาธิปไตยเหมือนกัน เช่น พอเศรษฐกิจตกต่ำ แล้วพอดีอยู่ในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลก็จะถูกตั้งคำถาม อาจมีการเรียกร้อง เอาปัญหาอื่นๆ เข้ามาแทรก สุดท้ายนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ คนกลุ่มเดียวก็ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ แต่คนจำนวนมากที่สุดของสังคมนั่นคือ ประชาชนต่างหากที่จะสร้างประชาธิปไตย

ก่อนจะมาถึงเล่มนี้ เคยทำหนังสือมาก่อนด้วย?

ด้วยความที่เคยเป็นนักวิจัยที่ศูนย์ติดตามประชาธิปไตย เราก็เก็บข้อมูลโดยเฉพาะช่วงหลังๆ ตั้งแต่ปี”48 เป็นต้นมา เคยรวบรวมเขียนหนังสือเรื่อง “อึ้ง ทึ่ง งง คำคมการเมือง” 3 เล่ม มีน้องอีกคนช่วย และอาจารย์สิริพรรณ (นกสวน สวัสดี) เป็น บก. เราเก็บคำพูดที่สื่อเอามาลง มาสกัด อ้างอิง อยากให้เด็กๆ ได้มีความสุขกับการอ่าน เราสื่อออกไปเหมือนตัวละครในการเมือง อยากให้คนสนใจการเมือง อย่าเบื่อการเมือง ไม่งั้นใครจะช่วยให้ประชาธิปไตยเดินต่อ

แล้วประโยคไหน อึ้ง ทึ่ง งง สุดในยุค คสช.?

น่าเป็นของคุณการุณ โหสกุล ที่บอกว่า “สาบานให้แม่ผมตาย” รู้สึกว่า อ้าว! เราเป็นเด็กไทย การสาบานอะไรไม่ถึงขนาดนั้น แต่แกคงมั่นใจของแกมาก เลยเอาแนวนี้ขึ้นมา (หัวเราะ)

วัยรุ่นซื้อหนังสือเล่มนี้เยอะมาก มีข้อแนะนำสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มอ่านแนววิชาการด้านการเมืองอย่างไร?

ถ้าเทียบกับเวลาของงานด้านการเมือง 85-86 ปี หนังสือเล่มนี้ถือว่าบางมาก สามารถเก็บทุกช่วงเวลาให้คนที่สนใจได้อ่านได้ จริงๆ เน้นให้บริบทประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่ง และมีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเปลี่ยนผ่านอยู่ในนี้ ถ้าหยิบขึ้นมาอ่านแล้ว ยังจะได้เห็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการเมือง อาจได้เห็นแสงสว่างบางอย่าง อาจฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเมื่อถึงจุดนี้แล้ว ควรตัดสินใจอย่างไร เดินต่ออย่างไร

มองปรากฏการณ์ที่นักศึกษาทั่วประเทศจัดกิจกรรมลงชื่อถอดถอน กกต.อย่างไรทั้งที่รู้ว่าไม่มีผลทางกฎหมาย?

เขาก็ทำในสิ่งที่ทำได้ เป็นสิ่งที่เด็กๆ เขาทำ เป็นความใสๆ อาจจะใช้ได้ไม่ได้ก็ยังดีที่ได้แสดงออก ผู้ใหญ่ต้องใจกว้าง เด็กก็ต้องใจกว้างที่จะฟังเหตุผลเหมือนกัน ตอนนี้มาถึงจุดที่ต้องเปิดกว้างให้มากขึ้น ไม่งั้นล่มอีก ล่มโดยยังไม่ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ความพยายามของคนที่ไปเลือกตั้งจะหายไปเลย การที่เราไปเลือกตั้ง เพราะอยากเห็นอะไรที่มันเดินต่อไปได้ ถ้าต้องมานั่งติดหล่มกันแบบเดิมๆ เมื่อไหร่จะได้เดินก็ไม่รู้

แล้วเมื่อไหร่ประชาธิปไตยไทยจะตั้งมั่น?

เมื่อเราคิดเห็นตรงกันว่าประชาธิปไตยเป็นคำตอบเดียวที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเรา ไม่ว่าจะปรับรูปแบบให้เข้ากับบริบทแบบไหนก็แล้วแต่ ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเชื่อมั่นและเห็นร่วมกันแล้ว มั่นใจว่าถึงจะไปเจอปัญหาอะไรก็แล้วแต่ เราจะสามารถเดินไปบนเส้นทางประชาธิปไตย บนวิธีการที่ประชาธิปไตยสร้างรากฐานไว้ได้ ประวัติศาสตร์ทำให้เราเรียนรู้ว่ามันมีความไม่แน่ไม่นอนเกิดขึ้นในการเมืองอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่บ้านเรา ทั่วโลกก็เป็น เพียงแต่เขามีแก่นที่เห็นพ้องร่วมกันไว้ว่าเวลาเกิดวิกฤต เขามีวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่บางทีเราละเมิดกติกา เล่นนอกกติกาที่กำหนด ทั้งที่คิดขึ้นมาแล้ว ยอมรับกันมาแล้ว แต่กลับเราไปทิ้งกติกานั้น กลายเป็นว่าเหมือนเราต้องไปเริ่มจุดที่ 1 ใหม่ คือกำหนดกติกาใหม่ แล้วทำซ้ำวนไปวนมา จึงไม่รู้ว่าจะเดินไปถึงจุดหมายเมื่อไหร่

 


 

ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น โดย ดร.จิราภรณ์ ดำจันทร์ ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง “การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น ความล้มเหลวของการทำให้เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย” กลายเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ก 335 หน้า เข้มข้นด้วย 5 บทที่อ่านแล้ววางไม่ลง ได้แก่ 01 การทำให้เป็นประชาธิปไตย 02 การดิ้นรนเพื่อสถาปนาประเทศไทย 03 ประชาธิปไตยของพลังที่ต้องการขับเคลื่อนประชาธิปไตย 04 การเลือกตั้งในนามประชาธิปไตย 05 ประชาธิปไตยของพลังอนุรักษนิยม พร้อมปิดท้ายด้วยบทสรุปอันคมคายที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการทำให้เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย

“ปกถูกใจมาก มีความตรงไปตรงมา” ดร.จิราภรณ์กล่าวถึงปกสวยๆ ที่ออกแบบโดย “ซันเต๋อ” ศิลปินดัง ก่อนเล่าที่มาของชื่อหนังสือซึ่งตัดทอนมาจากชื่อวิทยานิพนธ์ซึ่งได้อาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการหลักสูตรช่วยกันขบคิดและขัดเกลา ด้วยความที่เป็นคอนเซ็ปต์ต่างประเทศ จึงคิดภาษาอังกฤษก่อน พอมาใช้คำไทย ก็ไม่ค่อยตรงกัน บางคนใช้คำว่า “มั่นคง” แต่เจ้าตัวเลือกคำว่า “(ไม่) ตั้งมั่น” จึงปรากฏบนปกสีขาวสะอาดตา สู่มือผู้อ่านดังเช่นวันนี้

เมื่อถามว่าการทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์มติชนในการปรับวิทยานิพนธ์ให้เป็นหนังสือเล่มสำหรับคนทั่วไป เป็นอย่างไรบ้าง?

“ก็พยายามปรับให้น่าสนใจเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ ตัดทอนรายละเอียดบางอย่างออก เพราะมันเยอะเกินไป อย่างการร่างรัฐธรรมนูญ บางท่านอาจจะอ่านแล้วเหนื่อย เหลือแค่ข้อมูลที่จำเป็น โดยที่ความเป็นวิชาการยังครบสมบูรณ์ ทางสำนักพิมพ์ก็แนะนำว่าบางช่วงต้องปรับคำ บางคำต้องอธิบายเพิ่ม แบ่งวรรค ใส่ภาพประกอบให้น่าสนใจ บางทีตี 3 ยังส่งคอมเมนต์มา ก็คิดในใจว่า บก.ไม่นอนมั่งเหรอ (หัวเราะ)”

ส่วนการเล่าเรื่องนั้น เจ้าของผลงานบอกว่า เป็นคนชอบเก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางการเมืองอยู่แล้ว

“เป็นฟุตโน้ต เป็นเชิงอรรถ ซึ่งจะเห็นสีสัน บรรยากาศในช่วงเวลานั้น ก็เล่ากึ่งนวนิยายให้เห็นฉากก่อนแล้วถึงจะมาสโคปประเด็นและวิเคราะห์ มีการเกริ่นนำให้เห็นบริบทช่วงต้นก่อนที่จะถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านว่าอยู่ตรงไหน จากนั้นให้ข้อมูลในช่วงของการเปลี่ยนผ่านว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เหตุการณ์อะไรที่นำไปสู่จุดที่มันสุ่มเสี่ยง เกิดอะไรขึ้นก่อนรัฐประหาร มีบทบาทของฝ่ายต่างๆ กลุ่มต่างๆ ในช่วงเวลานั้น แล้วสรุปเป็นประเด็นว่าอะไรคือปัญหา สุดท้ายมันจบที่อะไร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image