ย้อนอ่าน ‘โกวิท วงศ์สุรวัฒน์’ พระสหายใน ‘เจ้าฟ้านักพัฒนา’ : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 4 เมษายน 2558

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 60 พรรษา รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พระสหายในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะทรงพระอักษรหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร เมื่อ พ.ศ.2524 ได้ร่วมเทิดพระเกียรติด้วยการนำหนังสือ “เมื่อสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระอักษรระดับปริญญาเอก” ที่ได้เขียนและตีพิมพ์ไว้เมื่อ 14 ปีก่อนมาปรับปรุง เพื่อจัดตีพิมพ์ใหม่ในชื่อ เทพรัตนอักษรา เจ้าฟ้าปริญญาเอก โดยสำนักพิมพ์ มติชน ฉายให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของ “เจ้าฟ้าหญิงสิรินธร”

เมื่อครั้งยังศึกษาที่ มศว นั้น รศ.ดร.โกวิทได้รับพระราชทานฉายาจากสมเด็จพระเทพรัตนฯ ว่า “นักเรียนพ่อลูกอ่อน” เพราะมีลูกน้อยวัย 5 ขวบ 4 ขวบ และ 1 ขวบ ตามลำดับ กระทั่งภรรยา ผศ.แจนนิส เอ็ม. วงศ์สุรวัฒน์ คลอดบุตรคนสุดท้อง จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ จึงได้รับพระราชทานฉายาใหม่ว่า “นักเรียนพ่อลูกดก”

แม้จะเป็นเรื่องราวเพียงน้อยนิด แต่สามารถสะท้อนความไม่ถือพระองค์และพระอารมณ์ขันที่ “เจ้าฟ้านักพัฒนา” ทรงมีต่อเพื่อนร่วมชั้น

หนังสือ “เทพรัตนอักษรา เจ้าฟ้าปริญญาเอก” ต่างจากฉบับเมื่อ 14 ปีที่แล้วอย่างไรบ้าง?

Advertisement

หนังสือ “เมื่อสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระอักษรระดับปริญญาเอก” เริ่มเขียนเป็นตอนๆ ลงในต่วย’ตูน ช่วงปี 2542-2543 พอปี 2544 ได้มีโอกาสรวมเล่ม ซึ่งขณะนั้นผมได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโททางกฎหมายที่สหรัฐอเมริกา

กระทั่งปี 2558 โรซี (จรรยา วงศ์สุรวัฒน์) ลูกสาวคนที่ 2 ได้เตือนว่า ปีนี้สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา น่าจะมีการตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองแด่พระองค์ท่าน จึงติดต่อมายังสำนักพิมพ์มติชนในชื่อ เทพรัตนอักษรา เจ้าฟ้าปริญญาเอก ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนเปลี่ยนให้ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นชื่อที่ฟังแล้วเพราะดี

เนื้อหาในเล่มมีการเพิ่มเติมพระราชกรณียกิจภายหลังสำเร็จการศึกษา เพราะหลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนฯ สำเร็จการศึกษาแล้ว พระองค์ท่านทรงทำการศึกษาในเรื่องต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะวิชารีโมทเซ็นซิ่งที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรต่างๆ ในประเทศ นอกจากนั้น ยังสนพระทัยในด้านดนตรี รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจในต่างประเทศ เช่น จีน ฝรั่งเศส

Advertisement

ขณะทรงพระอักษรได้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์อย่างไรบ้าง?

ความรู้สึกของผม เข้าใจว่าท่านเก่งด้านอักษรศาสตร์-ศิลปศาสตร์ เพราะเมเจอร์ของพระองค์คือประวัติศาสตร์และภาษาบาลี-สันสกฤต คิดว่าพระองค์ไม่โปรดวิชาคำนวณเท่าใด แต่ปรากฏว่าพระองค์ทรงคล่องแคล่วในวิชาสถิติซึ่งบางทีอาจคล่องกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ จึงทูลถามว่าเรียนวิชาสถิติมาจากไหน เพราะพระองค์อยู่คณะอักษรศาสตร์ ซึ่งพระองค์บอกว่าทรงไปนั่งเรียนกับนิสิตวิศวกรรมศาสตร์

และสมเด็จพระเทพรัตนฯ ยังบอกความจริงว่า โปรดวิชาคำนวณ แต่โปรดประวัติศาสตร์มากกว่า

เมื่อพระชนมายุ 7 พรรษา พระองค์เคยทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าข้าวสารกระสอบหนึ่งมีกี่เมล็ด ในหลวงตรัสว่ากระสอบหนึ่งมี 100 กิโลกรัม กิโลกรัมหนึ่งมี 10 ขีด ฉะนั้น ไปตวงข้าวสารมา 1 ขีด แล้วนับว่ามีกี่เมล็ด จากนั้นคูณ 10 แล้วคูณ 100 อีกที จะได้คำตอบว่าข้าวสารกระสอบหนึ่งมีกี่เมล็ด สมเด็จพระเทพรัตนฯทรงเล่าว่า ขณะนั้นไม่อยากรู้แล้ว แต่ในหลวงตรัสว่าไม่ได้ เมื่อทรงถามแล้วแสดงว่าอยากรู้ ฉะนั้น จงไปทำมา เพราะในหลวงก็อยากรู้เหมือนกันว่ามีกี่เมล็ด

เท่าที่ฟัง หากเรามาคิดอย่างจริงจัง ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว จะพบวิธีที่ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ผมคิดว่าพระองค์ทรงมีวิธีคิดของพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อพระองค์เล่าพระราชทาน ก็นำวิธีคิดมาปรับใช้บ้าง

นอกจากทรงถนัดในวิชาประวัติศาสตร์และวิชาสถิติ สมเด็จพระเทพ รัตนฯ ยังมีพระปรีชาสามารถด้านศิลปะ?

จำได้ว่าปี 2516 ผมได้อ่านบทความที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนว่า เรากำลังจะมีราชศิลปินพระองค์ใหม่เกิดขึ้นในรัชกาลนี้แล้ว

อย่างทุกวันนี้ในงาน “เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ อุทยาน ร.2 อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระองค์สามารถว่ากลอนสักวาแบบสดๆ สิ่งนี้เป็นพระปรีชาสามารถด้านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และดนตรีต่างๆ ก็เชี่ยวชาญ สนพระทัยในการทรงระนาดอย่างจริงจัง บางทีพรรคพวกโทรศัพท์ไป ก็ได้ยินเสียงระนาดบรรเลงอยู่

พระสหายร่วมชั้นต้องใช้คำราชาศัพท์?

แรกเริ่ม ศ.ดร.เฉลียว บุรีภักดี ซึ่งเป็นอาจารย์บอกว่าพวกผมต้องใช้คำราชาศัพท์คุยกับพระองค์ เมื่อทุกคนได้ยินก็หันหน้ามาหาผมเพราะผมเคยเรียนที่วชิราวุธวิทยาลัย ทุกคนจึงคาดหวังว่าผมจะใช้คำราชาศัพท์ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่บังเอิญผมไม่ค่อยจะเอาดีเท่าไหร่จึงบอกไปว่าผมเองก็พูดไม่รู้เรื่อง เรียนตามตรงว่าผมพูดไม่ค่อยเป็น เพราะฉะนั้นอย่ามาคาดหวังอะไรจากผมเลย (หัวเราะ)

ต่อมา อ.เฉลียวจึงนำหนังสือคำราชาศัพท์มาให้พวกผมได้ฝึกอ่านฝึกท่อง ยอมรับว่าเกร็งเหมือนกัน พูดผิดๆ ถูกๆ แต่พระองค์ท่านก็ไม่ทรงถือสาว่าความอะไรเลย อยู่ไปนานๆ ทุกคนก็เริ่มพูดได้คล่องโดย อัตโนมัติ

กิจกรรมระหว่างทรงพระอักษร?

ด้านกิจกรรม ส่วนใหญ่สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเป็นผู้เสนอด้วยซ้ำ เช่น ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ พระสหายร่วมชั้นอีกท่านได้เสนอหัวข้อสัมมนาเกี่ยวกับกีฬาเพื่อการพัฒนา ทุกคนสนใจรวมถึงพระองค์ด้วย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนานเฮฮา บางครั้งยังขึ้นเขียงสับกันว่าจะเป็นไปได้อย่างไร กว่าจะหาข้อสรุปได้เล่นเอาสะบักสะบอม (ยิ้ม)

หลังเสร็จสิ้นการสัมมนา สมเด็จพระเทพรัตนฯ ตรัสว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่ากีฬาจะวิเศษได้ถึงขนาดนี้ ฉะนั้น น่าจะมีการแข่งกีฬาระหว่างนิสิตพัฒนศึกษาศาสตร์กับนักพัฒนาหลักสูตร จึงเป็นที่มาของการจัดการแข่งขันกีฬาซึ่งพระองค์ทรงเข้าร่วมด้วยทั้งแบดมินตันและบาสเกตบอล ทรงลงเล่นตลอดการแข่งขัน ไม่มีการเปลี่ยนตัว

แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะมีดีกรีเป็นนักกีฬาเขต ส่วนอีกคนเป็นครูสอน แบดมินตัน ที่สำคัญคือพระองค์ท่านไม่เคยทรงแบดมินตันมาก่อน และคืนนั้น ในหลวงทรงเรียกสมเด็จพระเทพรัตนฯเข้าพบ แล้วตรัสกับสมเด็จ พระเทพรัตนฯว่า เก่งดีนะ เล่นไม่เป็นยังเล่นกับเขาได้จนจบเกม

ทรงเป็นต้นแบบให้กับนิสิตคนอื่น?

หากคิดเวลาเรียนตามเกณฑ์ที่ร้อยละ 80 ผมขอยืนยันว่าสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเข้าเรียนเกินอย่างแน่นอน เพราะจะมีเรียนช่วงเช้า มีเพียงวันเดียวที่เรียนเต็มวัน สำหรับการเรียนในช่วงเช้าพระองค์ท่านเสด็จฯเป็นประจำ ในช่วงบ่ายเสด็จฯไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ พระสหายในห้องเรียนจะคอยติดตามข่าวสารของพระองค์ในหน้าจอทีวี ว่าพระองค์เสด็จฯไปที่ใดบ้าง ซึ่งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดเวลา

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานสยุมพรของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอาน่า ถ้าจำไม่ผิด พระองค์เสด็จฯ 5 วัน แล้วเสด็จฯกลับถึงสนามบินดอนเมืองในเวลา 6 โมงเช้า ปรากฏว่า 9 โมงเช้าวันนั้นพระองค์ทรงเข้าเรียนได้ตามปกติ ซึ่งพวกผมไม่คิดว่าพระองค์จะเสด็จฯ ทั้งยังตรัสว่าเพราะขาดเรียนไปหลายวัน จึงอยากมาเรียน

ความโดดเด่นในสมเด็จพระเทพรัตนฯ?

ด้านมนุษยธรรม พระเมตตา พระกรุณาเมตตาคือความต้องการให้คนอื่นมีความสุข กรุณาคือความต้องการให้คนอื่นพ้นทุกข์ ซึ่งพระองค์ทรงมีเพียบพร้อมทั้งสองอย่าง เห็นคนมีความทุกข์ยาก ก็ทรงยื่นมือเข้าช่วยเหลือ

ผมเคยเปรียบว่าพระองค์ทรงเหมือนพระมาลัย เพราะพระองค์เสด็จฯเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จฯไปในคุกของผู้หญิงอยู่เป็นประจำ

หลังจบการศึกษาแล้วยังได้เข้าเฝ้าฯบ่อยครั้ง พระองค์ทรงพระเมตตาต่อพระสหายอย่างมาก เมื่อคราวที่ รศ.ดร.อรอนงค์ เย็นอุทก ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนคนหูหนวกด้วยการให้สังเกตริมฝีปากจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เสียชีวิต พระองค์ทรงเป็นธุระจัดการเรื่องมรดกให้เพราะ รศ.ดร.อรอนงค์เขียนพินัยกรรมแล้วมอบให้พระองค์ พระองค์ทรงเรียกพวกเราเข้าไปในวังแล้วอ่านพินัยกรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่าง ดี

พระอารมณ์ขันที่ทรงมีต่อเพื่อนร่วมชั้น?

ครั้งหนึ่งผมคอยรถเมล์สาย 72 ที่ผ่านหน้ากระทรวงการคลัง ถนนศรีอยุธยา ซึ่งผ่าน มศว ด้านคลองแสนแสบ พอดีพระองค์เสด็จฯด้วยรถยนต์ส่วนพระองค์มาจากพระราชวังสวนจิตรลดา ผมไม่รู้จะทำอย่างไร หากยืนอยู่ที่เดิมพระองค์คงทอดพระเนตรเห็นว่าผมไปสายอีก จึงหลบหลังต้นอินทนิลน้ำแล้วทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แล้วพระองค์ก็เสด็จฯเลยไป

เมื่อผมไปถึง มศว เห็น อ.กานดา ยืนยิ้มคอยอยู่หน้าตึก สมเด็จพระเทพ รัตนฯ เสด็จลงจากรถแล้วตรัสกับ อ.กานดา ว่าเห็นโกวิทยืนหลบอยู่หลังต้นไม้ ตัวโผล่มาตั้ง 90 เปอร์เซ็นต์ (หัวเราะ) เพราะผมอ้วนมาก

พระองค์ทอดพระเนตรเห็นแล้วให้อาจารย์ดักจับไว้ เพราะว่าคนนี้มาสายเสมอ (หัวเราะ) ก็เป็นเรื่องสนุก

อีกเรื่องคือ ขณะเรียนวิชาหนึ่ง อาจารย์ให้อ่านหนังสือ 5-6 เล่ม ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แล้วสั่งให้ย่อยมาเป็นเรื่องหนึ่งแล้วรายงานหน้าชั้น หนักหนาสาหัสเหมือนกันนะ แต่ผมสบายใจ ไม่มีปัญหา เพราะภรรยาเป็นฝรั่ง ก็มาอ้อนวอนให้เขาอ่านแล้วสรุปให้หน่อย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ภรรยาผมก็ยอมอ่านให้ เขาสอนทางปรัชญา เรื่องแบบนี้คงเข้าใจดี หลังจากนั้นเขาก็เขียนรวมเรื่องให้ผม เสร็จแล้วก็มานั่งอ่านระหว่างนั่งรถเมล์ไปเรียน รายงานวันนั้นพอดี

ไปถึงผมต้องรายงานเป็นคนแรก พระองค์ทอดพระเนตร แล้วก็ตรัสว่า “เอ๊ะ เขียนเป็นภาษาอังกฤษด้วย ผมจึงทูลว่าก็หนังสือทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ เลยต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อรายงานเป็นภาษาไทย คล้ายๆ จะบอกว่าพระองค์ไม่ต้องทรงเป็นห่วง ไม่รายงานเป็นภาษาอังกฤษแน่ จะรายงานเป็นภาษาไทย

สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงพระสรวลแล้วตรัสว่า “นี่มันไม่ใช่ลายมือคุณ” ผมก็ตกใจว่าพระองค์ทราบได้อย่างไร จึงทูลว่าภรรยาผมเขาช่วย พระองค์ทรงพระสรวลอีก แต่ไม่ได้ว่าอะไร

หลังจากนั้นประมาณครึ่งปี ผมไปงานแต่งเพื่อนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือคุณรัฐกิจ มานะทัต (ปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น (เขตอาณา : ราชรัฐลิกเตนสไตน์ และนครรัฐวาติกัน) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งแต่งงานกับพระสหายของพระองค์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสยืนส่งเสด็จด้วยเมื่อพระองค์พระราชดำเนินผ่านมาก็หยุดที่ผม แล้วทรงถามเรื่องการบ้าน คุณรัฐกิจจึงบอกว่าภรรยา อ.โกวิท ก็มาด้วย ภรรยาผมจึงไปถวายความเคารพ

สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงพระสรวล แล้วตรัสถามว่า “คนนี้เหรอที่ทำการบ้านให้” ผมก็ตกใจว่าพระองค์ตรัสเสียงดัง จึงไม่พูดอะไร ไม่รู้จะพูดอะไร ทั้งยังทรงสำทับอีกว่า “ใช่หรือเปล่า” ก็บอกว่าใช่พระพุทธเจ้าข้า

หลังจากนั้นพระองค์ทรงพระสรวลอีก แล้วตรัสว่า ความจริงเรื่องนี้เป็นความลับ ไม่น่าบอกเลย

เรียกว่าพระองค์มีอารมณ์ขันมาก  ฝากอะไรถึงคนอ่าน?

อยากให้มองพระองค์ท่านในแง่ของความเป็นมนุษย์ จากการได้เห็นพระราชจริยวัตรอย่างใกล้ชิด ได้เห็นความเป็นมนุษย์ที่วิเศษซึ่งควรค่าแก่การเคารพนับถืออย่างจริงจัง พระองค์ท่านทรงวิเศษ ทรงมีอารมณ์ขัน และมีเรื่องสนุกสนานมาตรัสเล่าให้เพื่อนร่วมชั้นฟังเสมอ

หนังสือเล่มนี้จึงต้องการเขียนในแง่ของความเป็นมนุษย์โดยทั่วไป มีเนื้อหาที่แสดงถึงความเป็นคนดี น่าเคารพ น่านับถือ

หากพูดง่ายๆ ลองนึกถึงมงคลข้อที่ 3 ในมงคล 38 ประการ “บูชาคนที่ควรบูชา” เมื่อบูชาคนที่ควรบูชาแล้วจะเป็นบุญของเรา

เราไม่ได้ดูท่านในแง่ที่ท่านเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน แต่ในฐานะที่ท่านเป็นคนดี ควรค่าแก่การบูชา

เรื่อง ‘ภาษา’ ของปู่

หลังจาก จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ลูกชายคนเล็กสละโสดไปเมื่อมีนาคมปีที่แล้ว กับ แพร-ชุติมา บุษราคัมภักดี รศ.ดร.โกวิทก็มีสถานะ “คุณปู่” เพิ่มมาอีกสถานะ “วิลเลียม (ลูกของจอห์น-แพร) เป็นหลานคนแรก ผมบอกว่าไม่ตั้งชื่อภาษาไทยเหรอ ‘เสียหายตรงไหนพ่อ’ ก็ถูกของมันเนอะ”

ถามว่าเห่อไหม”ก็ไม่ค่อยเห่อเท่าไหร่ แต่คนอื่นเขาว่าผมเห่อเป็นบ้าเป็นหลัง” คุณปู่ป้ายแดงตอบเสียงอ่อย

และว่า จอห์นเป็นลูกคนสุดท้อง ความจริงมีลูกที่แต่งงานไปแล้ว 2 คน ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะได้หลาน ได้คนนี้ก็ดีใจจะ แย่

“ผมตกลงกันว่า ภรรยาที่เป็นย่าต้องพูดภาษาอังกฤษกับหลาน ซึ่งความจริงคุยกันตั้งแต่มีลูกแล้วว่า ผมพูดภาษาไทย ภรรยาพูดภาษาอังกฤษ เพราะไม่อยากให้ลูกๆ พูดภาษาไทยสำเนียงฝรั่ง และภาษาอังกฤษสำเนียงไทย พยายามแบ่งกันอย่างนี้เพื่อฝึกให้ได้ทั้งสองภาษา ไทยก็ชัด อังกฤษก็ชัด สำเนียงได้ทั้งสอง”

แต่มีเรื่องที่ทำให้เกือบถอดใจ “ลูกสาวคนโตไม่พูดเลย ไม่ออกเสียงกระทั่ง 2 ขวบ เดาว่าเขาสับสน”

“วันหนึ่งไปกินอาหารนอกบ้านกับเพื่อนอาจารย์ที่มีศักดิ์เป็นป้า จู่ๆ เขาก็พูดขึ้นมาทั้งสองภาษา พูดกับแม่เป็นภาษาอังกฤษว่าไม่ชอบกินอย่างนี้ จะกินอย่างอื่น จึงถามลูกว่าจะเอาไงเพราะคุณป้าสั่งมา ลูกสาวจึงหันไปแล้วพูดกับป้าเป็นภาษาไทยว่า ‘ไม่ชอบซุปข้าวโพด’ ตอนนั้นดีใจจะแย่” รศ.ดร.โกวิทเล่า และว่า การเลี้ยงลูกแบบสองภาษาคนที่ 2-4 ก็ไม่มีปัญหาอะไร

รศ.ดร.โกวิทยังเล่าให้ฟังอีกว่า มีญาติที่อาศัยในต่างประเทศแล้วลูกๆ พูดภาษาไทยไม่ได้ มาเมืองไทยต้องคุยเป็นภาษาอังกฤษกัน

“ทำไมคนจีนหรืออินเดียที่อยู่เมืองไทยจึงพูดภาษาไทยได้ อย่างเพื่อนบ้านที่เป็นแขกอินเดียกับคนจีนในตลาดนครราชสีมา ในบ้านเขาพูดภาษาจีน อินเดีย นอกบ้านพูดภาษาไทย ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย

“แต่คนนี้ (วิลเลียม) คงไม่มีปัญหาอะไรมั้ง ลุงๆ ป้าๆ คุณย่าก็คุยภาษาอังกฤษกับหลานเพราะภาษาอังกฤษดีอยู่แล้ว กับปู่ก็คุยเป็นภาษาไทย

“เป็นข้อดีที่มีคุณย่าเป็นชาวอเมริกันใช่ไหมคะอาจารย์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image