การเมืองเรื่อง “ชนบท” ของคนไม่โรแมนติก รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

“ด้วยรักในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2562”

คือประโยคสุดท้ายใน “คำนำ” หนังสือ “เขียนชทบทให้เป็นชาติ : กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น” ผลงานของผู้ชายที่ชื่อว่า เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าดูจะเป็น “คำบ่น” ปนความ “กวน” มากกว่าถ้อยคำที่นำผู้อ่านไปสู่พ็อคเก็ตบุ๊กเล่มนี้

“เป็นคนใช้อารมณ์เยอะ ตัดสินใจเร็ว เครียดๆ บ้างาน ต้องทำตลอด ไม่งั้นจะรู้สึกหดหู่”

คือคำตอบเมื่อถูกถามตรงๆ ว่าเป็นคนโรแมนติกหรืออย่างไร จึงลงท้ายข้อเขียนเช่นนั้น ยังไม่นับโควตในตอนต้นของเล่มที่หยิบยกวาทะของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ม(า)นุษย์โรแมนติค มาชวนให้จินตนาการ

Advertisement

“การเขียนหนังสือของผมมันไม่ค่อยสมานฉันท์อยู่แล้ว ทุกเล่มทุกบทความค่อนข้างวิพากษ์วิจารณ์หลายๆเรื่อง คนจะมองว่าผมไม่ค่อยเป็นมิตรในแง่งานเขียน คนที่ไม่รู้จักส่วนตัวอาจคิดว่าเป็นคนหัวรุนแรง บังเอิญได้เขียนคำนำในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ก็เลยลงท้ายไปแบบนั้นซึ่งมันน่าจะทำให้เราจะดูซอฟต์ลงในสายตาคนอ่าน อันนี้เป็นเรื่องโจ๊กๆ นะครับ”

เกิดที่กรุงเทพฯ ในครอบครัวคนจีนที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม พ่อทำธุรกิจค้าข้าว

เป็นเด็กหลังห้องที่หมกมุ่นทำสิ่งที่ชอบอย่างสุดตัว คว้าปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ (การเมืองเปรียบเทียบ) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า “ญาติพี่น้องส่วนใหญ่ค่อนข้างเหยียดหยามเหมือนกันว่ามาทำงานวิชาการซึ่งได้เงินเดือนนิดหน่อย ทุกคนคิดว่าผมควรเป็นนักธุรกิจหรือข้าราชการกระทรวงมหาดไทย”

นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของบทสนทนากับรองศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวัยไม่ถึง 40 ผู้ตั้งคำถามอย่างเอาจริงเอาจังกับภาพวาดทุ่งนาที่มีภูเขาเป็นฉากหลัง กระท่อม ลอมฟาง และดวงอาทิตย์กลมโตในชั่วโมงศิลปะสมัยประถม อันเป็นภาพจำในบรรยากาศโรแมนติกของ “ความเป็นไทย” ที่คนถวิลหา กระทั่งทุ่มเทศึกษาความเป็น “ชนบท” ซึ่งถูกประดิษฐ์ภาพแทนขึ้นในโครงการปฏิรูปชนบทเพื่อสร้างรัฐประชาชาติ ป้องกันคอมมิวนิสต์

“เขียนชนบทให้เป็นชาติ” แบบไม่เกิน 8 บรรทัด?

หนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายว่าสิ่งที่เราเรียกว่า “ชนบท” เกิดขึ้นได้อย่างไร เรามักจะคิดว่ามันมีภาพของความเป็นชนบทที่มีแก่นแท้ มีสาระมีความแน่นอนอยู่แล้วไปตลอดกาล แต่ในความเป็นจริงชนบทที่เราเข้าใจหรือที่เรียกกันว่าเป็นชนบทมันถูกสร้างขึ้นหรือถูกประดิษฐ์ขึ้นในยุคสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งผมว่าในมุมของอเมริกามันมีความเฉพาะ ต่างจากเจ้าอาณานิคมอย่างยุโรปที่มองคนพื้นเมืองเป็นพวกป่าเถื่อน ล้าหลัง ต้องได้รับการทำให้ศิวิไลซ์ แต่คอนเซ็ปต์นี้ไม่ปรากฏในความคิดของจักรวรรดินิยมอเมริกันที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา โดยมองว่าทุนนิยมจะทำให้ชาวนาหรือคนชนบทมาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติได้ เพราะฉะนั้นเป้าหมายสำคัญก็เช่นการตัดถนน การสร้างตลาดในพื้นที่ต่างๆ สร้างโรงเรียนหรือแม้กระทั่งสร้างวัด และการทำโฆษณาชวนเชื่ออื่นๆ

อ่านแล้วจะมองชนบทแตกต่างไปจากเดิมตลอดกาลเลยหรือไม่?

งานนี้ไม่ได้เสนอภาพชนบทว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ค่อนข้างตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าทำไมเราต้องเข้าใจสังคมไทยโดยเริ่มต้นจากคำว่าชนบทหรือหมู่บ้านหรืออะไรที่ค่อนข้างสวยงาม ทำไมไม่มองสังคมไทยว่ามันเต็มไปด้วยคนชั้นแรงงาน คนงานทำงานในโรงงาน ในสลัม ซึ่งผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้อ่านได้หลายแบบ ถ้าเป็นคนทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่นักวิชาการ อย่างน้อยก็อาจฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าชนบทที่เคยเข้าใจว่ามันสวยงาม มีหน้าตาแบบนู้น แบบนี้ มันมีอยู่จริงๆ ไหม หรือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างผ่านแบบเรียนหรือแม้กระทั่งภาพยนตร์

ทำไมถึงกล่าวกันว่าชนบท “เปลี่ยนไป” หลังปี 2549?

ช่วงหลังปี 2549 มีความตื่นตัวเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะหลังปี 2553 มีการปราบปรามชุมนุมคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ฝ่ายหนึ่งบอกว่าคนเหล่านั้นคือควายแดง เป็นคนชนบท โง่ ไม่มีการศึกษา แล้วก็ถูกซื้อเสียง ซึ่งนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้ผลิตงานวิจัยจำนวนมากที่บอกว่าจริงๆ แล้วคนชนบทไม่ใช่คนโง่นะ ชนบทมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มันไม่เหมือนชนบทเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เขาไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่จะโดนซื้อเสียงเหมือนสมัยก่อน ก็เลยเป็นกระแสที่คนหันมาศึกษาชนบทอีกระรอกหนึ่ง

โซเชียลชอบล้อว่า “ทักษิณ” ถูกโยงกับทุกเรื่อง แล้วเรื่องนี้เกี่ยวไหม?

มายาคติที่แชร์ร่วมกันระหว่างฝ่ายที่เกลียดคนเสื้อแดงและเชียร์คนเสื้อแดง คือการมองว่าคนชนบท ชาวบ้าน ชาวนาหรือจะเรียกอะไรก็ตาม ก่อนหน้าทักษิณมา เขารับเงินและอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ถูกซื้อเสียงหมด พอทักษิณมาปุ๊บ ฝ่ายเหลืองก็จะบอกว่าไอ้พวกนี้ยังถูกซื้อเสียงเหมือนเดิม ฝ่ายเสื้อแดงก็บอกพวกนี้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้ถูกซื้อเสียงแล้ว เขารับเงินนะแต่เลือกใครไม่รู้ สรุปคือทั้ง 2 ฝ่ายมองว่าคนชนบทเป็นคนโง่ แต่อีกฝ่ายบอกพอทักษิณเข้าไปปุ๊บคนชนบทก็เลยฉลาดขึ้นมา แต่เมื่อก่อนโง่ ผมรับไม่ได้กับคำอธิบายแบบนี้ ถ้าดูประวัติศาสตร์ชาวนาหรือเกษตรกรในประเทศไทยหรือแม้กระทั่งแรงงานที่เป็นคนระดับล่างของสังคมซึ่งเข้ามาทำงานในเมือง คนเหล่านี้มีความตื่นตัวทางการเมืองมาตลอดตั้งแต่ปี 2490 เราจะบอกได้อย่างไรว่าเขาเพิ่งจะมาฉลาด

มาถึงการเมืองปัจจุบัน ในการเลือกตั้งทั้งหมด 350 เขต ชนบทนับเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ส่งเสียงอะไรบ้าง?

ผมว่าการเมืองตอนนี้มันข้ามพ้นความชนบทหรือไม่ชนบทไปแล้ว ไม่ว่าจะจังหวัดอะไรก็ตาม เช่น สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐได้ยกจังหวัด เวลาเราไปสุโขทัยมันก็จะมีแต่เกษตรกรมีฟาร์มวัว มีคนทำไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด คำถามคือเราจะนับเกษตรกรเท่ากับคนชนบทไหม เวลาที่เราพูด เราพูดรวมๆ กันเสมือนว่าถ้าคุณทำนาคุณเป็นคนชนบทแล้วคนกรุงเทพฯเป็นคนชนชั้นกลาง เราพูดเสมือนว่ามันเป็นเช่นนั้น แต่จริงๆ แล้วในจังหวัดเดียวกันก็มีหลายชนชั้น หลายรูปแบบ หลายทัศนคติที่ซ้อนกันอยู่ ลองคิดง่ายๆ ว่าคนเชียงใหม่เฉพาะเขตเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน่วยเลือกตั้งตรงตึกอธิการบดีที่พวกเจ้าหน้าที่และอาจารย์ไปเลือกกัน พรรคพลังประชารัฐชนะ แต่หน่วยอื่นๆ ทั้งหมดในมหาวิทยาลัยพรรคอนาคตใหม่ได้หมด คือ อาจารย์เลือกพลังประชารัฐ นักศึกษาเลือกอนาคตใหม่ เราจะบอกได้อย่างไรว่าเชียงใหม่เป็นฝ่ายไหนกันแน่ คือมันพูดยากมากเลยตอนนี้ โอเค พูดคร่าวๆ ว่า ส่วนใหญ่ประชากรในภาคเหนือและภาคอีสานมีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอนาคตใหม่ อันนี้เราพูดได้ แต่ไม่สามรถบอกได้ว่าพอเขาเป็นคนเหนือ คุณจะคิดแบบนี้ พอเห็นเป็นคนชนบทคุณจะคิดแบบนี้ ในกรณีอย่างนี้มันยากขึ้นเรื่อยๆ ในการอธิบาย

ดูเหมือนทุกวันนี้ยังมีการอ้างชาติและความเป็นไทยมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่เสมอซึ่งมักจุดติดตลอด?

ผมคิดว่าใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา มันจุดไม่ติดอย่างที่ควรจะเป็น ทุกวันนี้มีคนถูกตราหน้าว่าเป็นคนชังชาติเยอะมาก ที่จุดติดเป็นภาพของคนที่มีอำนาจในการพูดกับสื่อหรือแสดงความคิดเห็น คนที่พูดเรื่องเหล่านี้เต็มไปด้วยคนที่มีอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ผบ.ทบ. หรือใครก็ตามที่พูดเรื่องคนอื่นไม่รักชาติ อันที่จริงแล้วน่าสนใจนะ ถ้ามานั่งวิเคราะห์เรื่องพวกนี้ ถ้ามีคนบอกว่า ครูพยายามตีเรา แสดงว่าเราต่อต้านเยอะ แต่ถ้าครูไม่สนใจ แสดงว่าครูมั่นใจว่าเราเชื่อฟังอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้มีคนตั้งคำถามการผูกขาดของความเป็นชาติเยอะมาก ถึงทำให้คนจำนวนหนึ่งออกมาพูดว่าพวกคุณไม่รักชาติ ซึ่งในด้านกลับกันมันสะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้อินกับความคลั่งชาตินิยมอะไรมากมายขนาดที่เราเข้าใจ

มีคนบอกว่าอะไรก็ตามที่มีคำว่า “แห่งชาติ” พ่วงท้าย มีแนวโน้มล้าหลัง สร้างปัญหา?

สิ่งที่เราในฐานะที่เป็นคนไทยต้องช่วยกันพูดก็คือความเป็นชาตินั้น ควรเปิดและโอบรับคนอื่นๆ ที่แตกต่างจากเราขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางการเมือง ศาสนา เพศสภาพ เชื้อชาติ ภาษาพูดหรืออะไรก็ตาม ถ้าจะพูดให้ประนีประนอมที่สุดความเป็นชาติควรปรับเปลี่ยนความหมายของตัวมันเองเพราะจริงๆ แล้วคอนเซ็ปต์เรื่องชาติแต่เดิมมีนัยยะที่หมายถึงประชาชน ซึ่งต้องโอบรับความหลากหลาย เพื่อที่จะนิยามกลับไปถึงความเป็นไทยที่ไม่ได้มีความหมายที่จำกัดและกีดกันคนอื่น นี่อาจเป็นภารกิจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก 10-20 ปีนี้ด้วย

ไหนๆ ก็คุยเรื่องแห่งชาติ แล้วคิดอย่างไรกับแนวคิด “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่มีคนพยายามเสนอ?

รัฐบาลแห่งชาติเนี่ยล้าหลังกว่าการเอาบิ๊กตู่ขึ้นเป็นนายกฯอีกรอบหนึ่งอีกนะครับ ไม่งั้นจะเลือกตั้งกันไปทำไม เสียเงิน 5,800 ล้าน ผมคิดว่าตอนนี้มีฝ่ายที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง ซึ่งเราจะเห็นปรากฏการณ์นี้มากว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 48 และ 49 ที่อยากจะล้มการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา เมื่อมันเกิดการเลือกตั้งไปมีปัญหา มันมีสิ่งคนที่สงสัย มีคนที่ไม่เห็นด้วยหรืออะไรก็ตาม เราควรทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับโดยที่ กกต.ต้องพูดความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น องค์กร หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรแสดงบทบาทในการสนับสนุนการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยที่มีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การเสนอรัฐบาลแห่งชาติคือการล้มทำลายการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดเลย ถ้าทำแบบนี้ถือว่าเราถอยหลังเข้าคลองกว่าเดิมอีก

มองอย่างไรกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดนโจมตีว่าทำลายความเป็นไทยจากแนวคิดเลิกเรียก ลุง พี่ ป้า น้า อา ในองค์กร?

การเมืองโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของความเป็นพรรคการเมืองมันมีหน้าที่ของมันอยู่ การที่พยายามจะเสนอว่าความเป็นไทยที่ดีกว่าควรจะเป็นอย่างไร มันเป็นอุดมคติ ซึ่งผมคิดว่าการที่คุณธนาธรพูดแบบนั้นเป็นการเสนออุดมคติในมุมมองของเขาซึ่งเราก็มีสิทธิที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีสิทธิไปบอกว่านี่ไม่ใช่ความเป็นไทย

เราเล่นการเมืองโดยบอกว่าใครไทยแท้กว่ามานานมากแล้ว จนไม่ทำให้เราพัฒนาไปสู่การสร้างบทสนทนาที่ก้าวหน้าหรืออยู่ร่วมกันได้จริงๆ ที่ผ่านมามีการผูกขาดนิยามความเป็นไทยให้มีความหมายจำกัด ทั้งที่ตัวเองก็ไม่เคยปฏิบัติตามนิยามนั้นได้หรอก คิดง่ายๆ ความเป็นคนไทยเขาบอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ควรเป็นศาสนาประจำชาติ ศีล 5 เป็นหลักการพื้นฐานของศาสนาพุทธ ถามจริงๆ พลเมืองประเทศนี้มีคนถือศีล 5 ครบ 5 ข้อกี่คน

ยิ่งความเป็นไทยเข้มข้นมากเท่าไหร่ ตัวเราเองยิ่งไม่ตรงกับมาตรฐานที่เรานิยามด้วยซ้ำ ถ้าจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ ควรเปิดให้ทุกคนสามารถนิยามความเป็นไทยร่วมกันได้

ล่าสุดมีคนในโซเชียลกลุ่มหนึ่งซ้ำเติมฝรั่งเศสว่าโบสถ์นอเทรอดามไฟไหม้เพราะผลกรรมจากการรับผู้ลี้ภัยทางการเมือง ย้อนหลังไปถึงยุคล่าอาณานิคมและปล้นเงินถุงแดง หรือก่อนหน้านี้ที่โลกออนไลน์ชอบไล่คนออกนอกประเทศ ประเด็นแบบนี้สะท้อนอะไร?

ประเด็นแรกเรื่องดูเป็นเรื่องตลกมากกว่า เรามีศีลธรรมแบบปากว่าตาขยิบ ส่วนเรื่องไล่คนออกนอกประเทศ ผมคิดว่าโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยคือเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรทั้งที่เราไม่เห็นด้วยกันเลย ทุกคนพร้อมที่จะด่าฝ่ายตรงข้ามในเฟซบุ๊กหรือในบทความ บทสัมภาษณ์ นักวิชาการ ปัญญาชนฝ่ายเสื้อแดง ฝ่ายประชาธิปไตยหรืออะไรก็ตาม ก็ไม่มีข้อเสนอว่าถ้าเราเห็นต่างกันแล้วจะอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาแบบไหน อะไรคือสิ่งที่เราจะแชร์กันได้ นี่คือสิ่งที่เราไม่ค่อยพูดกัน ทำให้เรามีแต่ดราม่าในโลกโซเชียล

แล้วในชีวิตส่วนตัว ความเห็นต่างทางการเมืองส่งผลกระทบบ้างไหม?

ในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผมแตกหักกับเพื่อนไปหลายคน เพราะไม่เห็นด้วยที่กับความคิดเขาเลยไปแย้ง ที่โกรธที่สุดคือการบอกว่าปล่อยให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ เพราะคนกรุงเทพฯมีแต่สลิ่ม คุณไม่รู้เหรอว่ากรุงเทพฯเต็มไปด้วยสลัม เต็มไปด้วยคนที่ทำงานระดับล่างของสังคม ถ้าน้ำท่วมเขาจะอยู่ตรงไหน นี่เป็นการใช้โวหารทางการเมืองที่ไม่มีประโยชน์ มันพร้อมที่จะฟาดฟันศัตรูโดยไม่คิดว่าเราจะอยู่ร่วมกันไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่าคนกรุงเทพฯเป็นใครเลยด้วยซ้ำ เราปล่อยให้คนพูดอะไรแย่ๆ แบบนี้ออกสื่อสาธารณะได้อย่างไร ที่ผมเกลียดมากคือวัฒนธรรม “เซเลบ” คือถ้าคุณกลายเป็นเซเลบในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ คุณจะพูดอะไรก็ได้ แค่ดูยอดไลค์ ยอดแชร์ว่าเท่าไหร่ แต่ไม่รับผิดชอบต่อคำพูดและข้อมูลที่ฟีดลงไป เป็นกันทุกฝ่าย ไม่ว่าเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง นี่เป็นเรื่องที่อึดอัดใจมาก คือใครพูดขัดหู ก็พร้อมที่จะสวมหมวกให้เขาฟาดเขาว่าเป็นสลิ่ม เป็นควายแดง ฆ่ามันเลย ผมบอกพูดประโยคแบบนี้ไม่ได้นะ แล้วเขาก็โกรธ คบกันมาเป็น 10 ปี ก็เลิกไป แม้กระทั่งคนเสื้อแดงก็โกรธผม ว่าไปท้วงเรื่องการด่าสลิ่ม เราอยู่ในบรรยากาศที่เต็มด้วยความเป็นศัตรู

จุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตหรือสิ่งที่อยากเห็นในสังคมคืออะไร?

ไม่ได้มีความทะเยอทะยานในแง่วิชาการ ในแง่อาชีพมากนัก งานส่วนใหญ่ที่เขียนจะมีเป้าหมายทางการเมืองมากกว่า ผมอยากนำเสนอหรือสร้างเครื่องมือที่ช่วยในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ พูดอีกแบบก็คืออยากปฏิวัติสังคมให้ลดความเหลื่อมล้ำ งานทุกชิ้นจะมุ่งไปทางนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนทางทฤษฎีหรืองานแบบเล่ม “เขียนชนบทให้เป็นชาติ” ก็ตาม

 

เขียนชนบทให้เป็นชาติ

: กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น

“คลี่ปมอาณานิคมความรู้และการเมืองเบื้องหลังชนบทศึกษา” คือข้อความโปรยบนปกผลงานสุดเข้มข้นอันมีที่มาจากงานวิจัย “มานุษยวิทยาจักรวรรดิ : หมู่บ้านศึกษา และกำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ก่อนปรับปรุงเป็นพ็อคเก็ตบุ๊กน่าอ่านโดยสำนักพิมพ์มติชน

“ทั้งไกลและใกล้” คือ คำอธิบายของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เจ้าของผลงานซึ่งบอกว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้อาจถูกอ่านได้ทั้งในฐานะที่เป็นเรื่องไกลตัวและใกล้ตัว

“ไกลตัว เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามเย็น และวิชามานุษวิทยาซึ่งอยู่ในโลกทางวิชาการและโลกทางการเมืองอันไกลโพ้นเมื่อราวๆ สัก 40-50 ปีที่แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ใกล้ตัวจนแทบจะหายใจรดจมูกของเรา เพราะมันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเข้าใจที่คนร่วมสมัยมีต่อสังคมไทยที่เราอาศัยอยู่และเติบโตมา โดยเฉพาะความเข้าใจและความรับรู้ของพวกเราเกี่ยวกับความเป็นไทยและที่มาที่ไปของรากเหง้าสังคมไทย”


เพียงกรีดเล่มเปิดอ่านไม่กี่หน้า ก็ย่อมรู้ทันทีว่าต้องค้นเอกสาร ภาพถ่าย และข้อมูลอื่นๆ มากมายมหาศาล ถามว่ามีการค้นพบใดจากการทุ่มเททำงานชิ้นนี้ที่ “ตื่นเต้น” ที่สุด

“จริงๆ แล้วผมเป็นคนขี้ตื่นเต้น ตื่นเต้นตลอดในการทำงานทุกงาน ส่วนหนึ่งที่ตื่นเต้นมากก็คือได้การสัมภาษณ์ รศ.ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช ก่อนท่านเสียชีวิตได้ไปหาที่บ้านและคุยกันหลายครั้ง ในหนังสือจะบอกเลยว่าในอดีตอาจารย์เคยทำงานให้กองทัพอเมริกันที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อทำข้อมูลวิจัยหมู่บ้านในชนบท ชาวเขาในไทย เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ สิ่งที่ประทับใจมากคือตอนเอาดราฟต์แรกของงานวิจัยไปให้อ่าน และเล่าให้ท่านฟังว่า มีคนแย้งว่าผมจะเอาชื่ออาจารย์สุเทพมาทำให้เสีย ท่านพูดกับผมว่า ไม่ต้องกลัวเลย เพราะเรื่องพวกนี้เป็นความจริง ถ้าไม่พูดกับผม หรือผมไม่เขียน เท่ากับว่าจะไม่มีคนเขียน เรื่องพวกนี้จะตายไปกับท่าน ทำให้รู้สึกว่ามีกำลังใจ ทำให้เราทำงานต่อไป แม้จะโดนคนในวงการวิชาการค่อนแคะหรือเสียดสีหรือด่าหรือบ่นอะไรก็ตามว่าทำให้วงการแปดเปื้อน ไม่มีศักดิ์ศรี

ผมไม่เข้าใจว่าศักดิ์ศรีของความเป็นนักวิชาการยิ่งใหญ่กว่าการค้นหาความรู้หรือการสร้างความรู้อีกเหรอ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image