เปลี่ยน “หอคอยงาช้าง” เป็น “อินโนเวชั่นฮับ” เบื้องหลังบทบาทใหม่ จุฬาฯ รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย

ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่ครั้งแรก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอาสาเข้ามาเป็นหน่วยทดสอบเทคโนโลยี เชื่อมโยงภาครัฐและภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 5จี ในอนาคต

แต่จุฬาฯ ลอนช์โครงการ “ซียู อินโนเวชั่นฮับ” มาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว โดยเป็นหนึ่งใน 4 ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องเดียวกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

“งานวิจัยเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเมืองไทยเรามีเยอะมาก แต่เราไม่ค่อยเอาทรัพย์สินทางปัญญาของเราไปใช้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ชอบซื้อคนอื่น ถ้าเราพึ่งจมูกคนอื่นหายใจเราอยู่ไม่ได้หรอก ฉะนั้นเราต้องสร้าง “ยูสเคส” ของเราเอง ซึ่งก็คือ สตาร์ตอัพที่เราสร้างขึ้น” รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย หรือ “อาจารย์หลิน” รองอธิการบดีด้านการพัฒนางานใหม่และงานนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอก

ขณะที่ประเทศต่างๆ มองเห็นในปัญหาเดียวกัน และพยายามส่งเสริม “คน” เพื่อให้คนนำทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ยุทธศาสตร์ Made in Russia 2017 ของประธานาธิบดีปูติน ที่มุ่งสร้างนักธุรกิจเพื่อนำเทคโนโลยีออกไปสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ที่วางเป้าหมายสร้าง Mass and Fast Innovation Entrepreneurship ตั้งแต่ปี 2016 อาจารย์หลินจึงย้ำว่า สิ่งที่เราทำมาถูกทางแล้ว

Advertisement

รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ลูกสาวศาสตราภิชาน รศ.ดำรงค์ ทวีแสงสกุลไทย และลูกพระเกี้ยว ระดับเกียรตินิยมอันดับ 1 วิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ก่อนจะได้ทุนศึกษาต่อปริญญาโท ด้านวิศวกรรมการผลิตและการจัดการ ที่มหาวิทยาลัยลินเชอปิง ประเทศสวีเดน

มีโอกาสได้ทำงานกับบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อยู่เกือบปี จึงไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ ด้านบริหารจัดการวิศวกรรมคุณภาพและนวัตกรรม ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ในปี 2550

ความที่มีประสบการณ์ทั้งการทำงานและทำวิจัยกับบริษัทเอกชนระดับชั้นนำของประเทศหลายๆ แห่ง เช่น เอสซีจี ปตท. ซีพี โรงพยาบาลกรุงเทพ เห็นภาพความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นที่มาของการนำภาพเหล่านี้กลับมาใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัย

Advertisement

สำหรับโครงการซียู อินโนเวชั่นฮับนั้น อาจารย์หลินบอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สร้างธุรกิจสตาร์ตอัพมาแล้วมากมาย เช่น เมติคูลี่ (Meticuly) ซิปอีเวนต์ (Zipevent) เอ็นเรส (ENRES) ชีวี (Chiiwii) ยังแฮปปี้ (Young Happy) ฯลฯ รวมทั้ง เวียบัส (ViaBus) ผลงานนักศึกษาปี 1 ที่เริ่มจากการทำรถบัสในมหาวิทยาลัย และขยายไปทำรถ ขสมก. 4 สายในกรุงเทพฯ ปัจจุบันขยายไปถึง 18 จังหวัดทั่วประเทศไทยแล้ว

วัตถุประสงค์คือ ให้สตาร์ตอัพเหล่านี้นำเทคโนโลยีไปใช้ และส่งเสริมการสร้างธุรกิจนวัตกรรม

ลืมภาพของจุฬาฯ ในบทบาทของ “จุฬาฯวิชาการ” ไปได้เลย แล้วไปทำความรู้จักกับจุฬาฯ กับบทบาทใหม่ของการเป็น “อินโนเวชั่นฮับ”

ยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ ไม่ใช่แค่การสร้างคนเก่ง?

ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยคือ การสร้างคนที่เป็นคนเก่งให้กับประเทศไทยและสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย 2.สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างเสริมสังคมไทยให้ก้าวไกลในสังคมโลก สองข้อนี้อยู่ใน 4 ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งท่านอธิการบดี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ นำโครงการที่รองรับทั้งสี่ยุทธศาสตร์ออกมามากมาย หนึ่งในนั้นที่ท่านริเริ่มคือ “ซียู อินโนเวชั่นฮับ” (CU Innovation Hub) หรือศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มมาได้ 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2559

เดิมเราเน้นรองรับชุมชนในจุฬาฯ ซึ่งมีพันธกิจอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน 1.การสร้างคน ที่มีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งไทยแลนด์ 4.0 ก็เน้นในเรื่องนี้ เพราะเรามองว่าเทคโนโลยีในอนาคตไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนที่เอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ต้องมีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นพ่อค้า แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะอองเทรอเพรอเนอชิพคือคนที่สร้างประโยชน์อย่างมืออาชีพ หลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่าเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ “ประโยชน์สุข” ซึ่งคนที่จะสร้างประโยชน์สุขก็ต้องสร้างมูลค่าได้ตลอด ต้องมีลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการ คือคิดเป็นทำเป็นสื่อสารเป็น คนเหล่านี้จำเป็นต้องมาฝึกทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ

พันธกิจที่ 2 คือ เอางานวิจัยจากหิ้งออกสู่ห้างให้ได้ เพราะเรามองว่างานวิจัยเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเมืองไทยเรามีเยอะมาก แต่เราไม่ค่อยเอาทรัพย์สินทางปัญญาของเราไปใช้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ชอบซื้อคนอื่น ถ้าเราพึ่งจมูกคนอื่นหายใจเราอยู่ไม่ได้หรอก ฉะนั้นเราต้องสร้าง “ยูสเคส” ของเราเอง ก็คือสตาร์ตอัพที่เราสร้างขึ้น โดยทำงานร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคนเอาองค์ความรู้นี้ไปใช้ เราจึงต้องสร้างผู้ประกอบการขึ้นมาเป็นผู้ที่นำเอาองค์ความรู้นี้ออกสู่ภายนอก

แต่จะทำอย่างไรให้คนที่เราสร้างนำงานวิจัยไปใช้อย่างกว้างขวาง จึงต้องมีพันธกิจที่ 3 คือการสร้างสังคมอุดมปัญญา เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการพูดการคุยที่เป็นประโยชน์ และเมื่อไอดู I do พบกับไอเดีย Idea ได้อินโนเวชั่น Innovation

กระบวนการสร้าง”คน”ในสังคมตรงนี้?

การสร้างคน เรามีกิจกรรมมากมาย มีองค์ประกอบหลายสิ่งมาก เราต้องมี A School เป็นหลักสูตรของเราเอง เราไปดูงานที่นั่นที่นี่มามากมาย เอ็มไอที สแตนฟอร์ด ฯลฯ แต่สุดท้ายก็กลับมาที่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อยู่ดี ศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ใช่แค่ปั้นเฉพาะอินโนเวชั่น แต่เป็นการ “พัฒนาอย่างยั่งยืน” เราแปลงศาสตร์ต่างๆ ที่เราไปเรียนจากต่างประเทศมาเป็นหลักสูตร

อย่างตอนนี้อยู่ในช่วงสตาร์ตอัพลีค มีการจัดอบรมและแข่งขันกันภายในจุฬาฯ เรามีแคมป์ 3 วัน 2 คืน เพื่อให้เด็กมาเจอกันและอยู่กันในค่าย สุดท้ายได้ออกมาเป็นโซลูชั่น นอกจากนี้ก็มีสตาร์ตอัพคลินิก, “แฮกกาทอน” (Hackathon คนที่ชอบคิดใหม่ ทำใหม่) ส่วนใหญ่จะลิงก์กับทางบริษัทหรือภาคอุตสาหกรรม เช่น กับไมโครซอฟท์ สมาคมประกันวินาศกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยทางเราจัดหาพื้นที่ จัดหาอาจารย์ จัดหาทีมที่จะเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาโครงการนั้นให้สำเร็จ

จุฬาฯจากการที่เป็นสถาบันการศึกษาให้ความรู้ ตอนนี้มีบทบาทเป็นที่ปรึกษา?

ใช่ค่ะ อย่างที่บอกว่าเราจะทำให้เป็นสังคมอุดมปัญญา เราจึงเปิดพื้นที่บริเวณสยามสแควร์ สวนหลวง สามย่าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่เปิดให้ใครๆ ก็ได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้ คิดและทำ สร้างประโยชน์ให้ประเทศไทย และเปิดพื้นที่ให้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและเอกชน เน้นการเอาไปใช้ ซึ่งงานวิจัยที่ต้องใช้เงินมากมายเพื่อแปลงเป็นองค์ความรู้ เป็นอินโนเวชั่น มาถึงตอนนี้เป็นการแปลงองค์ความรู้ให้กลับมาเป็นเงิน ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ ความรู้ที่เราสร้างขึ้นจะไม่สามารถเวียนกลับมาให้องค์กรมหาวิทยาลัยอยู่ได้ จึงต้องสร้างกลไกในการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้กลับมาเป็นมูลค่า คือทั้งตัวเงินเลี้ยงมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็สร้างอิมแพคให้กับประเทศด้วย

“…เรามีซียู อินโนเวชั่นฮับ เรามีสยามดิสทริกต์

เรามีคณะใหม่ที่เปิดขึ้นเป็นที่ทดลองของใหม่อยู่แล้ว

ฉะนั้นไม่ว่าจะมีอะไรมาใหม่ เราพร้อมเป็นพื้นที่ทดลองอยู่แล้ว

เพื่อให้แผ่นดินไทยได้ใช้ประโยชน์ 

เราพยายามจะลบภาพมหาวิทยาลัยเป็นหอคอยงาช้าง

แปลงมาสู่การใช้งานได้จริง….”

เมืองนวัตกรรมแห่งสยามคือตัวอย่างของเมืองอนาคต?

ค่ะ เมืองนวัตกรรมแห่งสยามเป็นโครงการในปีที่ 2 ด้วยการร่วมลงทุนของภาครัฐ จุฬาฯ และเอกชน ปัจจุบันไทยเบฟ เคแบงก์ กฟน.ร่วมสนับสนุนเป็นระยะเวลา 5 ปี เปิดพื้นที่ของสยามสแควร์ สวนหลวง สามย่าน เป็นพื้นที่ที่ให้เอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปขาย หรือใช้จริง เพราะสยามสแควร์เป็นพื้นที่ช้อปปิ้งอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเราขายแต่ของเล็กๆ น้อยๆ เสื้อผ้ากระเป๋ารองเท้า เราก็มองว่าทำไมไม่ใช้พื้นที่นี้มาขายของนวัตกรรม เพราะส่วนใหญ่เมืองไทยเราจัดการแข่งขันนวัตกรรมบ่อย แต่จัดเสร็จ เราอยากได้ ถามว่าจะไปซื้อที่ไหน ใช้พื้นที่นี้สิ มาขายตรงนี้

ยกตัวอย่างที่เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม เรามีร้านกาแฟที่มีนวัตกรรมในร้าน เป็นสตาร์บัคส์ของโคราช เจ้าของเป็นคนโคราชอยากขยายตลาด เราให้พื้นที่ตรงนี้และพยายามดันให้ประสบความสำเร็จเป็นสตาร์บัคส์ ออฟ ไทยแลนด์ จะได้ไม่ต้องซื้อของต่างประเทศ ปรัชญาของเราคือ เจ้าของธุรกิจต้องเป็นคนไทย เราสนับสนุนคนไทยให้สร้างธุรกิจนวัตกรรม

พอปีที่ 3 เราเปิดคณะใหม่ชื่อว่า School of Integrated Innovation สถาบันนวัตกรรมบูรณาการจุฬาลงกรณ์แห่งมหาวิทยาลัย เป็นคณะนานาชาติใหม่ที่จะเชื่อมโยงกับคณะต่างๆ เชื่อมศิลปกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันในการตอบโจทย์ในอนาคต

คณะใหม่มีการเรียนการสอนอย่างไร?

หลักการ 3 อย่าง ข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary) สอดคล้อง (Relevant) ทั่วโลกและเรียนรู้ตลอดชีวิต (Global& Life-long learning) เด็กที่เราสร้างขึ้นเปรียบได้กับต้นไม้ที่มีฐานคือศิลปศาสตร์ หรือ 21 Century skill (ศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 21) การดำรงชีวิตในอนาคตต้องทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ทำงานอยู่คนเดียว เด็กจึงต้องรู้จักวิธีการทำงาน การอยู่ร่วมกับคนอื่น ต้องรู้จักการแก้ปัญหาเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต เรื่องของคุณธรรม การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาน คณะนี้จะสอนในเรื่องเหล่านี้ เด็กที่จบออกไปจะเก่ง 2 อย่างคือ เก่งเทคโนโลยีและเก่งธุรกิจ เพราะสิ่งที่ดิสรัปโลกตอนนี้คือเทคโนโลยี ฉะนั้นเด็กต้องเก่ง รู้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ พอรู้แล้วต้องจัดการมันได้ ตั้งแต่ต้นน้ำมาจนถึงปลายน้ำ โดยการเรียนการสอนเราจะเน้นการเรียนรู้บนฐานของการปฏิบัติจริง การเรียนทุกอย่างต้องตอบความหมายของมันได้ ตั้งแต่ปี 1 เริ่มจากการค้นหาปัญหา คือ “เข้าใจ” ปัญหาโจทย์ เข้าใจลูกค้า “เข้าถึง” ทำเป็นโปรดักต์โซลูชั่น และปีที่ 3 แปลงทั้งหมด “พัฒนา” ให้เป็นธุรกิจโมเดลให้ได้เพื่อความยั่งยืน

ถามว่าประเทศไทยได้อะไรจากสิ่งที่เราทำ เราตั้งเป้าไว้สำหรับสิ้นปีนี้ 2 อย่าง 1.คนไทย 1 ล้านคนต้องได้ประโยชน์จากธุรกิจนวัตกรรมที่เราสร้างขึ้น 2.คือ ธุรกิจมีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท เราจะสร้างตัวอย่างสมาร์ทซิตี้ที่เป็นเมืองที่ดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างธุรกิจนวัตกรรมที่เรานำไปโชว์ในงาน 5จี คือหุ่นยนต์ที่ช่วยเรื่องเทเลเมดิซิน การฟื้นฟู การทำกายภาพบำบัด และมีโฮมแคร์โรบอต

กรณีของศูนย์ปฏิบัติการและทดสอบ 5จีของจุฬาฯทำงานอย่างไร?

เหมือนเป็นแพลตฟอร์มสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อรองรับประโยชน์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยว่าไปทางด้านไหนได้บ้าง การเกษตร สุขภาพ การเดินทาง เป็น 3 เรื่องหลักในประเทศไทย เช่น 5จี จะช่วยผู้สูงอายุได้ยังไง การเดินทางทำอย่างไรให้ง่ายคล่อง แล้วไม่ต้องใช้คนได้มั้ย อย่างรถของเอไอเอสที่ไม่ต้องใช้คน โดยเรามีศูนย์สำหรับขึ้นรูปโมเดลเหล่านี้ที่ตึกวิศวกรรมศาสตร์

ศูนย์ 5จี ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จุฬาฯเพิ่งทำ?

ค่ะ มันคืออินโนเวชั่นฮับที่ทำอยู่แล้ว เพียงแต่โฟกัสที่เทคโนโลยี 5จี ซึ่งในอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีอื่นๆ อะไรก็ได้ เรามีพื้นที่ที่พร้อมให้ทดลอง เราเปิดให้ประชาชนทุกคนได้เข้ามาใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีที่ใช้ นั่นคือใช้พื้นที่นี้เป็น “แซนด์บ็อกซ์” (Sand box) เป็นพื้นที่ทดลองเพื่อลดความเสี่ยง

แล้วหลังจากจบโครงการศูนย์ทดสอบ 5จี?

ถ้าเวิร์กอาจจะมีการขยายต่อ แต่สำหรับจุฬาฯ เราเปิดพื้นที่อยู่แล้ว เรามีซียู อินโนเวชั่นฮับ เรามีสยามดิสทริกต์ เรามีคณะใหม่ที่เปิดขึ้นเป็นที่ทดลองของใหม่อยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ว่าจะมีอะไรมาใหม่ เราพร้อมเป็นพื้นที่ทดลองอยู่แล้ว เพื่อให้แผ่นดินไทยได้ใช้ประโยชน์ (ยิ้มกว้าง) เราพยายามจะลบภาพมหาวิทยาลัยเป็นหอคอยงาช้าง แปลงมาสู่การใช้งานได้จริง

เราอยากจะได้ยูนิคอร์นแห่งประเทศไทย เราจึงเป็นสตาร์ตอัพสตูดิโอช่วยสร้างสตาร์ตอัพไปสร้างอิมแพค เป้าหมายคือ สร้างเทคโนโลยีแทนที่การซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

เป้าหมายของการสร้างสังคมอุดมปัญญา 2 ปีที่ผ่านมาได้เห็นผลหรือยัง?

เห็นค่ะ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาที่เปิดอินโนเวชั่นฮับ เมื่อ 27 กันยายน 2559 เราเห็นแล้วว่าทีมเหล่านี้เขาสร้างชาติได้จริงๆ อย่างเวียบัส ล่าสุดขยายไป 18 จังหวัดจากทำรถบัสในมหาวิทยาลัย แค่ 2 ปีมีผู้ใช้กว่า 8 แสนคน สามารถสร้างอิมแพคให้กับประเทศได้ขนาดนี้ ถ้าเรามีแบบนี้มากๆ ประเทศไทยเราไม่ต้องพึ่งต่างประเทศ เราพึ่งประเทศตนเองได้แน่นอน

กับในต่างจังหวัดในพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา?

เราเอาสตาร์ตอัพเหล่านี้ไปลงต่างจังหวัดไปสร้างคน เช่น ที่น่าน พะเยา เราเลือกจังหวัดเล็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ เอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปให้ใช้ หรือร่วมสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขยายในจังหวัดของตนเอง ให้เขาสามารถแข็งแกร่งในจังหวัดของเขาได้ เป็นการ “สร้างสังคมอุดมปัญญาด้วยสตาร์ตอัพ”

เราพยายามเป็นมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ เพราะถ้าสร้างคนได้มาก ชาติก็จะเจริญเยอะ ตอนนี้เราคิดว่าอีโคซิสเต็มที่เราสร้างพร้อมแล้ว เราต้องการขยายไปทั่วประเทศไทยและในอาเซียนด้วย ตอนนี้จุฬาฯ เราเป็นประธานยูนิเวอร์ซิตี้เน็ตเวิร์ค University Innovation and Enterprise คือเป็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยในอาเซียนมีการประชุมเมื่อปีที่แล้ว ท่านอธิการบดีบอกว่า เราจะเปิดคลัสเตอร์เรื่อง Innovation and Enterprise ให้กับอาเซียน เราก็เลยได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานในการดูแลให้กับประเทศในอาเซียนทั้งหมดเรื่องนี้ ซึ่งก็สอดรับกับการที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้พอดี

ต้องบอกว่าเป้าหมายสำเร็จได้ด้วยการสนับสนุนจากสภามหาวิทยาลัย ท่านนายกสภา และการนำของท่านอธิการบดี ความมุ่งมั่นตั้งใจของทีมบริหาร คณาจารย์ นิสิต บุคลากร ภาครัฐ เอกชนและที่สำคัญที่สุดสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ


โลกทัศน์เปิดที่สวีเดน

“เห็นอินดัสทรี 4.0 เมื่อ 17 ปีที่แล้ว”

รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย บอกถึงสิ่งที่ได้เห็นเมื่อครั้งที่ได้รับทุนจากรัฐบาลสวีเดนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งครั้งนั้นเองที่เป็นการพลิกฟ้าคว่ำดินจากสิ่งที่เคยรู้จัก เคยเรียนรู้มาตลอด

ตอนนั้นอุตสาหกรรมไทยเน้นคนเป็นหลัก เข้าไปในโรงงานเจอแต่คน ฉะนั้น ทฤษฎีที่เรียนในเมืองไทยจะเป็นทฤษฎีบริหารการจัดการคน บริหารการจัดการโรงงาน พอไปสวีเดนคนละตำราเลย เข้าไปในโรงงานใหญ่ๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเตตร้าแพ็ก สแกนเนีย ซาบ เอชแอนด์เอ็ม ซีริคสัน ฯลฯ มีคนน้อยมากๆ ทุกอย่างเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติไปหมด

“เห็นภาพไทยแลนด์ 4.0 หรืออินดัสทรี 4.0 เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว และรู้ว่านี่คือคำตอบที่แท้จริง เพราะคนเหล่านี้ไม่ต้องทำงานหนัก ไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม ไม่มีปัญหาเรื่องใช้แรงงานคนเกิน 8 ชม. ประเทศในสแกนดิเนเวียให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนมาก ไม่มีแรงงานผิดกฎหมาย ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาก ใช้คนน้อยที่สุด”

1 ปี 4 เดือน ของการอยู่ที่นั่นกับสภาพอากาศที่หนาวจัด ทำให้เข้าใจว่าเมื่อคนเราหลังชนฝา อยู่ในสภาพที่ไม่สบายแล้วมันต้องคิด จึงสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ขึ้น เป็นที่มาของการเกิดธุรกิจต่างๆ มากมาย

“ที่ชอบมากๆ คือ เขาชอบที่จะจับปลาใหญ่ๆ ไม่จับปลาเล็ก อะไรที่เล็กๆ ผลลัพธ์น้อยๆ ไม่ทำ บ้านเราชอบทำพวกไคเซ็น 5 ส กิจกรรมเป็นล้านเลย ประเทศเขาไม่ทำ เพราะเวลาเขาน้อยมาก ค่าแรงต่อชั่วโมงมันแพงมากจนไม่สามารถเอาคนไปทำกิจกรรมอย่างนี้ได้ เขาเอาคนไปคิดธุรกิจใหม่ๆ สร้างธุรกิจใหม่ๆ สร้างแวลูใหม่ๆ ดีกว่าเอาคนของเขามาแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image