ทำลายล้างคำสาป 3 รุ่น ด้วยสูตรสำเร็จ ‘ธุรกิจครอบครัวไทย’ จาก ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

“ธุรกิจครอบครัวไทยจงเจริญ”

ประโยคสุดท้ายจากหน้ากระดาษแผ่นหลังสุดของ “สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย เพื่อการสืบทอดอย่างยั่งยืน” งานเขียนเล่มที่ 2 ของ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ที่ปรับปรุงเพิ่มเติมจาก “การวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน” ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2554 ก่อนจะตีพิมพ์เป็นฉบับพิเศษในอีก 6 ปีต่อมา (อ่านต่อหน้า 14)

385 หน้า กับ 5 บทภายในเล่ม ถ่ายทอดจากความรู้และประสบการณ์ตลอดการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ “ธุรกิจครอบครัว” ของตัวเองยาวนานกว่า 40 ปี

“หากนับตั้งแต่เริ่มทำงานมาก็เป็นเวลากว่า 41 ปี แต่ถ้านับรวมเวลาที่สนใจเรื่องนี้มีประมาณ 15 ปี เพราะรู้สึกว่าการได้เข้าไปช่วยทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโต จนสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ได้ ขยายกิจการได้ เป็นความรู้สึกที่ดีที่ไม่สามารถอธิบายได้” ศ.พิเศษ กิติพงศ์ ให้คำตอบพร้อมรอยยิ้ม

Advertisement

เป็นคน จ.ยะลา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทด้านนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบหลักสูตรเนติบัณฑิตไทย ปี 2519 ก่อนจะได้ทุนโครงการอบรมระดับปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.บริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ยังไม่รวมกับประกาศนียบัตร วุฒิบัตรด้านการศึกษาอีกนับไม่ถ้วน

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษีและกฎระเบียบ สภาหอการค้าไทย ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่สถาบัน สถานศึกษาจำนวนมาก

บทสนทนาต่อจากนี้มาจากการพูดคุยกว่า 90 นาทีที่ ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อัดแน่นเนื้อหาสาระ แนะนำสูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย ทำลายล้างคำสาป 3 รุ่น เพื่อให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน

Advertisement

 

ที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้?

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ 2 ซึ่งปรับปรุงจากเล่มเดิมชื่อว่า “การวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน” ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2554 เป็นหนังสือเล่มแรกที่มีหลักคิดการเขียนด้านการให้ความรู้เรื่องธุรกิจครอบครัว รวมทั้งวิธีการบริหารจัดการว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้ธุรกิจสิ้นสุดเพียงแค่ 3 รุ่น เหมือนคำสาป 3 รุ่นที่เกิดขึ้น

สมัยก่อน ที่บ้านผมเคยมีธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็นรุ่นของพ่อแม่ แต่ไม่มีการสานต่อจึงเลิกกิจการไปในที่สุด ก่อนจบลงด้วยการขายที่ดินเหล่านั้นทิ้ง ทั้งที่หากเก็บไว้ได้จะถือเป็นที่ดินทำเงินมาก เพราะอยู่ในทำเลแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของ จ.ยะลา ในปัจจุบัน

ส่วนการเขียนหนังสือนั้น เล่มแรกใช้เวลาเขียนกว่า 9 ปี หลังจากปี 2554 ได้ทำงานด้านธุรกิจครอบครัวมาเรื่อยๆ แนะนำเรื่องกฎหมายภาษีต่างๆ ต่อมามีการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง เพราะได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวไทยมากว่า 30-40 ราย ทำให้มีแนวตัวอย่างเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม จึงมีการเขียนหนังสือเล่ม 2 ขึ้น ใช้เวลาเก็บเกี่ยวข้อมูลระหว่างทางมากกว่า 5 ปี ประกอบกับมีกระแสละคร “เลือดข้นคนจาง” ซึ่งมีแก่นเรื่องนอกเหนือจากการสืบสวนเสมือนแก่นของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้

การศึกษาเรื่องนี้ในเมืองไทยมีไม่ค่อยเยอะ แต่เมืองนอกมีมานานแล้ว จนกระทั่งมีสมาคมที่ปรึกษาเรื่องธุรกิจครอบครัว ทำให้หนังสือเล่มนี้เสมือนการเปิดประตู เป็นความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจครอบครัว มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะ รวมถึงผู้ที่สนใจหรือมืออาชีพที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านนี้ เนื้อหาครอบคลุมด้านการทำบัญชีธุรกิจ การไม่เพิ่มความเสี่ยงด้านภาษีให้กับธุรกิจ ฯลฯ

ธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ไม่ใช่เรื่อง่ายเลยที่จะแยกเรื่องธุรกิจกับการทำงานออกจากกัน ต้องแยกจากกันทั้งหมด ทั้งการทำงาน ความเป็นพ่อแม่พี่น้อง ญาติมิตร ความยากคือการแยกเรื่องธุรกิจออกจากความเป็นพ่อแม่ลูก หรือญาติพี่น้อง รวมถึงอยากสร้างคนที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจครอบครัว หรือมืออาชีพที่มีทักษะเกี่ยวกับการทำธุรกิจครอบครัว จนเป็นสื่อกลางประสานความแตกต่างและข้อขัดแย้งของคนในครอบครัวได้

ดังนั้น ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องมีมืออาชีพที่เป็นคนนอกเข้ามาช่วย เพราะอาจเป็นตัวเชื่อมความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัวได้ หรืออาจเป็นคนกลางในเรื่องต่างๆ ซึ่งหากกลับมามองธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ในประเทศไทย มีหลายรายที่เปิดให้คนนอกที่มีความเป็นมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ทำไมต้องมีมืออาชีพเข้ามาช่วย ทั้งที่เมื่อก่อนก็ทำกันเองได้?

ต้องบอกว่าความจริงแล้วธุรกิจครอบครัวรุ่นที่ทำได้ดีที่สุดคือรุ่น 1 เพราะเป็นผู้สร้างมาตั้งแต่แรก ส่วนรุ่น 2 และรุ่นต่อๆ ไป เป็นรุ่นที่เข้ามาสานต่อก็จริง แต่ไม่สามารถเชี่ยวชาญเท่าคนที่เริ่มทำมาตั้งแต่แรก ทำให้การมาช่วยของมืออาชีพโดยสิ่งหนึ่งที่เขาต้องมีคือ ความรู้ของการบริหารธุรกิจครอบครัว การแนะนำข้อขัดแย้ง การสื่อสาร หากมืออาชีพเข้าใจ เวลาเขาคุยกับคนในครอบครัว เขาจะรู้ว่าต้องคุยอย่างไร ดังนั้น มืออาชีพหรือคนที่จะเข้ามาในธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญมาก

ขอย้อนกลับไปถามว่าคำจำกัดความของ ‘ธุรกิจครอบครัว’ คืออะไร?

คือธุรกิจที่มีคนในครอบครัวเดียวกันเป็นเจ้าของเกินครึ่งหนึ่ง รวมทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กว่า 70% เป็นธุรกิจครอบครัว ธุรกิจที่คนในครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ ถือหุ้นเกิน 60% ในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือมีอำนาจในการตัดสินใจเกินครึ่ง อาทิ ซีพี เซ็นทรัล

ธุรกิจครอบครัวมีหลายมิติมาก ถ้าครอบครัวรักกันทุกรุ่นทุกคนก็ทำงานด้วยกันง่าย แต่ถ้าบางครอบครัวมีความแตกต่าง คือเราคงไม่ได้เป็นคนแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างนั้น แต่สามารถป้องกันได้ ต้องมีการพูดคุยกันสื่อสารกัน สร้างความเข้าใจ และในหนังสือจะมีบอกเรื่องเหล่านี้ว่า ความรู้เรื่องกฎหมายมีความสำคัญ จึงมีการสร้างสูตรสำเร็จขึ้นมา เพื่อบอกแนวทางการดำเนินธุรกิจครอบครัว เชื่อว่าถ้ามีครบ 6C จะสามารถทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ที่สำคัญคือ ธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะหากย้อนดูข้อมูลบริษัทในประเทศไทยแล้ว มีอยู่จำนวนมากที่โตมาจากธุรกิจครอบครัว รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) เองก็มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

ดังนั้น สูตรสำเร็จ 6C จึงหมายถึง?

แนวทางการทำงาน 6 ข้อ ถือเป็นสูตรแก้ไขปัญหาของธุรกิจครอบครัวที่มีทั้งหมดประมาณ 10 ข้อ แบ่งเป็น 1C โครงสร้างองค์กรและการถือหุ้น ธุรกิจครอบครัวควรมีกงสี มีบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก และสัดส่วนการถือหุ้นของแต่ละบริษัทจะแบ่งปันกันอย่างไร จะถือโดยสมาชิกในครอบครัว หรือตั้งผ่านบริษัทลูกที่แยกออกมา? ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องกฎหมาย ภาษี การเข้าจดทะเบียนใน ตลท. ซึ่งจะมีภาษีแตกต่างกัน หรือกรณีที่ประกอบธุรกิจหลายอย่าง หากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งสร้างรายได้ไม่ดีเท่าที่ควร จะต้องจัดการอย่างไร?

2C ผลประโยชน์ อาทิ การจัดสรรหุ้นให้กับญาติจะทำอย่างไร เวลาจัดแบ่งหุ้นจะจัดอย่างไร ให้เท่ากันทุกคนในญาติพี่น้อง หรือจะจัดแบ่งให้คนที่ทำงานมากกว่าได้เยอะกว่า เรื่องเหล่านี้บริหารจัดการยาก เพราะการทำให้ทุกคนยอมรับการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งหมดร่วมกันอย่างแท้จริงเป็นเรื่องยากมาก 3C การสื่อสาร ความล้มเหลวของธุรกิจครอบครัวทั่วโลกกว่า 60% เกิดขึ้นจากการสื่อสาร เพราะเมื่อพ่อแม่ลูก หรือพี่น้องคุยกันมักจะไม่ฟังกัน เพราะเป็นการคุยกันแบบสั่งให้ทำ โดยเฉพาะรุ่นที่ 1 จะสั่งมากกว่าทุกรุ่น ด้วยถือว่าตนเองเป็นรุ่นบุกเบิกและสร้างธุรกิจครอบครัวมากับมือ ทำให้มีการสั่งให้ลูกหรือญาติพี่น้องทำตามความคิดของตนเอง หากอยู่ในฐานะเจ้านายกับลูกน้อง จะสั่งให้ลูกน้องทำอะไรก็สั่งได้ แต่ถ้าเป็นญาติพี่น้อง เป็นพ่อแม่ลูกจะสั่งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนสานต่อธุรกิจในช่วงต่อไป

4C การระงับความขัดแย้ง ต้องมีการบริหารความขัดแย้งด้วยการใช้ข้อกฎหมาย เพราะหากธุรกิจครอบครัวมีความคิดเห็นไม่ตรงกันหรือมีข้อขัดแย้งกันควรจัดการอย่างไร? จะโหวตจนกว่าจะได้มติเอกฉันท์ หรือจะสื่อสารกันจนกว่าจะเข้าใจตรงกันทุกคน? ทั้งนี้ เรื่องบางเรื่องก็ไม่เหมือนกัน เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องธุรกิจโดยแท้ บางเรื่องเป็นเรื่องกึ่งธุรกิจและครอบครัว เช่น พี่น้องทำธุรกิจด้วยกัน คนหนึ่งอยากลงทุนทำสินค้าเพิ่ม แต่มีพี่น้องไม่เห็นด้วย แบบนี้ก็ถือเป็นเรื่องของธุรกิจ แต่เป็นธุรกิจที่เกิดความขัดแย้งขึ้น อาจต้องใช้วิธีโหวตเพื่อให้ได้ข้อสรุป แต่ผลโหวตอาจสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยแต่ต้องแพ้โหวตก็ได้ ซึ่งความไม่พอใจเหล่านี้จะถูกสะสมไปเรื่อยๆ

5C ความเมตตากรุณา จะเห็นได้ว่าข้อ 1-4 ที่ผ่านมาสามารถเขียนเป็นข้อตกลง ข้อบังคับของบริษัทที่อิงกับกฎหมายได้ แต่สิ่งที่สำคัญและทำเป็นข้อบังคับหรือกฎหมายไม่ได้คือ ความเมตตากรุณากับพี่น้อง กับลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวและธุรกิจอื่นๆ สามารถอยู่รอดมากว่า 200-300 ปีได้ และ 6C การเปลี่ยนแปลง การประกอบธุรกิจต้องเจอและต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่สามารถเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานของตัวเองได้ หลายสิ่งรอบตัวเราไม่สามารถควบคุมให้มันไม่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเราเองให้เท่าทันสิ่งเหล่านั้น

แล้วปัญหาของธุรกิจครอบครัวไทยคืออะไร?

ปัญหาหรือกับดักของธุรกิจครอบครัวไทยมีทั้งหมด 10 ข้อ 1.ขาดการจัดโครงสร้างการประกอบธุรกิจและการถือหุ้นที่ดี 2.ขาดการทำเอกสารทางกฎหมายที่ครบถ้วน 3.ขาดกลไกการจัดสรรเรื่องผลประโยชน์หรือความเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นธรรม 4.ขาดการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกในครอบครัว 5.ขาดแนวคิดที่จะสามารถแยกความแตกต่างระหว่างประเด็นทางธุรกิจและประเด็นทางครอบครัว

6.ขาดการวางแผนสืบทอดธุรกิจและการเลือกสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้นำ 7.ขาดนโยบายการจ้างงานโดยเฉพาะ 8.ขาดมืออาชีพหรือกรรมการอิสระที่มีความรู้และมีประสบการณ์มาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง 9.ขาดมาตรการบริหารความเสี่ยง และ 10.ขาดการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเงิน

ตั้งแต่ทำงานด้านนี้มา ไม่เคยมีใครสามารถให้คำตอบได้ว่าทั้ง 10 ปัญหานี้ควรแก้ไขอย่างไร นอกจากนี้ ปัญหาธุรกิจครอบครัวของประเทศไทยคือ เกิดขึ้นเร็วและดับเร็ว รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ รุ่นสามเริ่มต้นใหม่ ดังนั้น ผมจึงนำประสบการณ์ทั้งหมดที่มีมาเขียนเป็นหนังสือโดยให้แนวทางการแก้ปัญหาไว้อย่างครบถ้วน

เหล่านี้เป็นที่มาของหนังสือซึ่งออกมาจากแนวความคิดที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจให้กับผู้อ่าน หรือคนที่ประกอบธุรกิจครอบครัวให้หันกลับมาดูว่า การทำธุรกิจครอบครัวจะทำโดยไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม หากเจ้าของธุรกิจครอบครัวสามารถประกอบธุรกิจภายใต้แนวคิดเหล่านี้ได้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยั่งยืนเป็นพันๆ ปีนะ (ยิ้ม) ระหว่างทางมันมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทว่าความยั่งยืนที่เกิดขึ้นเกิดจากรุ่นสู่รุ่นถ่ายทอดไปเรื่อยๆ ก็จะไม่มีทางที่จะล่มสลายไปง่ายๆ

การบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวต้องมีอะไรบ้าง?

ควรต้องมีการวางแผนการสืบทอดอำนาจ เพราะหากเกิดการสูญเสียผู้มีอำนาจสูงสุด จะเลือกผู้มาสืบทอดอำนาจนั้นอย่างไร เหล่านี้ต้องระบุไว้ในธรรมนูญครอบครัวหรืออะไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายภายหลัง โดยการเปิดให้มืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการ

วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีในการเปิดให้คนเก่งเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจ แต่บางธุรกิจก็ไม่ต้องการให้มืออาชีพเข้ามาช่วย ผมว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะทุกคนไม่ได้เก่งและเชี่ยวชาญในธุรกิจครอบครัวเหมือนกันทั้งหมด

ทำเรื่องธุรกิจครอบครัวแล้วได้อะไรตอบแทนบ้าง?

ถามว่าทำแล้วได้เงินหรือไม่ ก็ใช่ มันต้องได้เงินอยู่แล้ว แต่ได้ไม่มาก ถ้าเปรียบเทียบกับงานประจำที่ทำอยู่ทุกวันนี้ถือว่าน้อยมาก เพราะสิ่งนี้สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่าเยอะ มีการทำงานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งพอเอาเข้าจริงแล้วโครงการขนาดใหญ่เหล่านั้น หากมีความเชี่ยวชาญมากพอ ไม่ว่าใครก็ทำได้ อาทิ การควบรวมกิจการ ซื้อกิจการ ร่วมลงทุน เจรจาราคาต่างๆ ก็เป็นรูปแบบเดียวกัน แต่เรื่องธุรกิจครอบครัวถ้าไม่เข้าใจหรือไม่ชอบจริงๆ ก็ทำออกมาได้ไม่ดี

ผมต้องการแบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่น แบ่งปันประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมาตลอดชีวิต เรื่องเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ต้องการอีกแล้ว เพราะมีรายได้จากการทำงานพอสมควร จึงอยากทำอะไรที่ชอบและเป็นประโยชน์กับธุรกิจครอบครัวไทย

ผมทำงานมาจนจะเกษียณอายุ ถือว่าใช้ชีวิตคุ้มค่าและมีแทบครบทุกสิ่งที่ต้องการแล้ว (ยิ้ม)

 

สูตร 6C กับ ‘เลือดข้นคนจาง’

“การจัดสรรหุ้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากเปรียบเทียบกับละคร เลือดข้นคนจาง จะรู้เหตุผลว่าทำไมไม่ให้หุ้นภัสสรเลย ทำไมให้ประเสริฐและลูกชายคนโตถือหุ้นเท่านั้น

“หากจัดโครงสร้างบริษัทได้ดี แบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีได้ก็จะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างกติกาและทำให้รับรู้ร่วมกัน”

คำอธิบายจาก ศ.พิเศษ กิติพงศ์ ต่อความสำคัญของสูตรสำเร็จ 6C ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง สะท้อนผ่านละครโทรทัศน์ ก่อให้เกิดการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในหนังสือ “สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย เพื่อการสืบทอดอย่างยั่งยืน” นอกจากจะเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องธุรกิจครอบครัว ช่วยวางแผน และเหมาะกับเป็นคู่มือปฏิบัติ เพื่อการสืบทอดอย่างยั่งยืนแล้ว ในบทส่งท้ายยังวิเคราะห์สูตร 6C กับละครโทรทัศน์ “เลือดข้นคนจาง” ไว้อย่างเข้มข้น

หาก “ตระกูลจิระอนันต์” ตั้งบริษัทโฮลดิ้ง มีโครงสร้างกฎหมายที่เหมาะสม สื่อสารเรื่องการทำธุรกิจอย่างจริงจัง ทั้งแนวนโยบายและบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนในครอบครัวมีความเอื้ออาทรต่อกัน ลดค่านิยมความแตกต่างระหว่างชายหญิงขึ้นได้ เรื่องราวต่างๆ อาจไม่จบลงเช่นนี้

หาก “ตระกูลจิระอนันต์” นำหลัก 6C ไปปฏิบัติใช้ เริ่มตั้งแต่ตั้งบริษัทโฮลดิ้ง มีธรรมนูญครอบครัว สื่อสารกันอย่างจริงจัง สร้างความเอื้ออาทรและให้ความเท่าเทียมกับทุกคน โศกนาฏกรรมต่างๆ คงไม่เกิดขึ้น

พบกับการเปิดตัวหนังสือ “สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย เพื่อการสืบทอดอย่างยั่งยืน” อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image