เส้นทาง ‘ยืนหนึ่ง’ มาลี ถามรางกุล ไกด์ไทย ‘คนแรก’ ในเกาะฮ่องกง

ภาพจากเพจ 'เจ้าแม่ฮ่องกง' มาลี ถามรางกุล-Marvelous Tour Hong Kong

ในแวดวงการท่องเที่ยวฮ่องกง ถ้าเอ่ยถึงไกด์ไทยที่มากมายแพรวพราวทั้งด้วยความสามารถ อัธยาศัย และความกว้างขวางในเกาะเล็กๆ ที่เปี่ยมเสน่ห์แห่งนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก มาลี ถามรางกุล หรือ “มิสมาลี” ดีกรีไกด์คนไทยรายแรกในประวัติศาสตร์ฮ่องกง

เปล่าเลย นี่ไม่ใช่แค่บทสัมภาษณ์ที่ว่าด้วยการท่องเที่ยว หรือวงการมัคคุเทศก์

หากแต่ชีวิตของมิสมาลีเปรียบได้ดั่งการผจญภัยเล็กๆ ของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งแม้ไม่เข้าข่ายโลดโผนโจนทะยาน แต่ก็มีสีสันไม่ใช่ธรรมดา

เกิดในครอบครัวชาวกวางตุ้ง บ้านเดิมอยู่ตรอกสะพานยาว ตรงข้ามไปรษณีย์กลาง ก่อนย้ายไปตรอกจันทน์ ใกล้วัดไผ่เงิน ชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนอีกแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ

Advertisement

เป็นนักเรียนศิลป์-เยอรมันรุ่นแรกของสตรีมหาพฤษฒาราม หลังพลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านมัคคุเทศก์ที่ฮ่องกง

พบรักและแต่งงานกับนักฟุตบอลทีมชาติฮ่องกงในยุคที่หญิงไทยยังถูกมองอย่างดูแคลน

ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคนานัปการ จน “ยืนหนึ่ง” ในวงการมัคคุเทศก์ไทยในฮ่องกง

Advertisement

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 43 ปีที่เจ้าตัวใช้ชีวิตอยู่ในฮ่องกง มองเห็นความเหมือนและต่างของสองประเทศ จุดอ่อนและจุดแข็ง ความก้าวหน้า และอนุรักษนิยมบางประการที่อาจฉุดรั้งโอกาสของคนรุ่นใหม่ กระทั่งประเด็นรัฐสวัสดิการที่ชวนให้เปิดใจพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา

อยากให้ย้อนเล่าถึงสาเหตุที่มาฮ่องกง ?

อายเนอะ (หัวเราะ) ตอนนั้นเรียนจบศิลป์-เยอรมันของโรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามรุ่นแรก มีนักเรียน 14 คน เข้าอักษรฯ จุฬาฯ ได้ 2 คน นอกนั้นแยกกันไปหมด ตัวเองสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็อาย เพราะชอบเป็นหัวหน้าในห้อง เลยมาเรียนด้านการท่องเที่ยวที่ฮ่องกงแล้วชอบมาก ได้เป็นมัคคุเทศก์ไทยคนแรกที่มีบัตรในฮ่องกง ปลื้มมากจริงๆ แล้วที่นี่มีมัคคุเทศก์เยอะ แต่เขาไม่มาสอบกัน นี่เป็นคนแรก จากนั้นก็ยึดอาชีพนี้มาตลอด เป็นไกด์ตั้งแต่ปี 1983 (พ.ศ.2526) ทำงานให้การท่องเที่ยวฮ่องกง แต่อยู่ในวงการตั้งแต่ปี 1980 เรียนไปหัดไป พยายามทำความรู้จักอาชีพนี้ให้ลึกซึ้ง ต้องเรียนรู้ด้านการสื่อสาร ต้องแบ่งคนออกเป็น Adult Parent และ Child เราจะคุยอย่างไร อันนี้ยาก หลายคนไม่เข้าใจ เวลาจะคุยกับใครนานๆ ต้องดึงสถานการณ์ให้เขามาเป็น Adult ให้ได้ แขกบางคนมาถึงมาสั่งๆ นั่นคือเขาเป็น Parent จะมีคำพูดอย่างไร เรื่องนี้ใช้กับชีวิตได้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะอาชีพ

ทำไมเลือกอาชีพนี้ คิดว่าเหมาะกับนิสัย บุคลิกตัวเอง ?

ตอนนั้นยังไม่รู้จักตัวเองเลย แต่การเรียนมัคคุเทศก์สามารถแตกแขนงได้ ทำการโรงแรมได้ แปลภาษาได้ เลยเข้ามาในสายนี้ก่อน แล้วค่อยดูว่าจะไปอย่างไรต่อ แต่พอดูๆ แล้วชอบมัคคุเทศก์มาก เพราะไม่ใช่งานที่เข้าเช้า 9 โมง เย็นเลิก 5 โมง แต่ได้ออกไปดูอะไรข้างนอก เราไม่ชอบจำกัดตัวเองอยู่ในที่ที่หนึ่ง

การเป็นไกด์ไทยในต่างแดน ดราม่าเกิดบ้างไหม ?

ใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยเป็นงาน ช่วงท้อก็มีนะ เราไม่เข้าใจวัฒนธรรมเขา เพราะเป็นคนไทยที่มาอยู่ฮ่องกง คัลเจอร์ต่างๆ ของคนทำให้ท้อ แต่มาคิดว่าต้องพยายามเข้าสังคมให้ได้ จากนั้นก็ปรับตัวมาเรื่อยๆ ในยุคนั้น แย่ที่สุดคือดูถูกคนไทย สตรีไทยแต่งงานมาอยู่ที่นี่เยอะ และมาหลอกลวงแล้วหนีกลับไป แต่จริงๆ แล้วปัญหาส่วนหนึ่งมาจากพ่อสื่อแม่สื่อไปหลอกมาอีกที เช่น บอกว่าผู้ชายฮ่องกงคนนี้เป็นเจ้าของบริษัท มีบ้านของตัวเอง พอผู้หญิงไทยมาถึง พบว่าขายของรถเข็น บ้านใช้ห้องน้ำรวม บางคนทนไม่ได้ กลับเมืองไทย ก็ถูกมองว่าหลอกลวง กรณีแบบนี้เยอะมาก ในยุคนั้นเป็นช่วงที่คนฮ่องกงมองผู้หญิงไทยว่าเป็นพวกหลอกลวงทั้งนั้น นี่คือสิ่งที่ต้องเผชิญ พอเข้ามาทำการท่องเที่ยว เลยรู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยนความคิดของคนฮ่องกงให้รู้ว่าผู้หญิงไทยไม่ใช่อย่างนี้

สำหรับเรื่องภาษา เราได้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากครอบครัวเป็นคนจีน แม้ตอนนั้นยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่บ้านพูดกวางตุ้งกัน แต่ที่เราชนะคือรอยยิ้มสยาม ในฮ่องกงคนไม่ยิ้ม เวลาประกวดอะไร เลยชนะตลอด (ยิ้มหวาน)

อยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวมานานถึง 40 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ?

อย่างแรกคือ สมัยก่อนมักจะมาเที่ยวเป็นกรุ๊ปใหญ่ 30-40 คน เดี๋ยวนี้เป็นครอบครัว ไม่นั่งรวมกันในรถคันเดียวแล้ว อย่างที่สอง คือ แขกต้องการให้เราหาของดีให้เขาจริงๆ แบบอันซีน ไม่เคยเห็น แต่ไม่ต้องให้ข้อมูลเยอะ เล่าเฉพาะที่สำคัญๆ เดี๋ยวนี้มีสมาร์ทโฟน พูดนานไม่ได้ เขาไม่สนใจเรา แขกแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน บางกลุ่มขอสนุกอย่างเดียว เราก็ให้เขาสนุก แต่ไม่ว่าจะได้ทัวร์กลุ่มไหนมาก็ตามเราต้องศึกษาจริงๆ ไม่ใช่ซี้ซั้วพูดและต้องมีวิธีการสื่อสาร

เฟซบุ๊ก ไอจี กระทบอาชีพไหม เพราะบางส่วนอาจมาเที่ยวเองตามรีวิวในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ?

ไม่กระทบเลย เพราะยังมีแขกที่ต้องการมีคนเทกแคร์ ไฮโซด้วย ฮ่องกงมาบ่อยแล้ว อยากดูอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น แบบ…ยังมีอย่างนี่อีกเหรอ ? เดี๋ยวนี้คนไทยไม่มายด์เรื่องราคา ขอให้ดีจริง เท่าไหร่ก็ได้ แต่ทัวร์ที่ราคาถูก ก็ยังต้องมีอยู่สำหรับอีกกลุ่ม

แล้วคนฮ่องกงมาไทย เขาชอบเที่ยวที่ไหนกัน ?

จตุจักรกับสยามพารากอน เพราะข้างล่างมีร้านอาหารเยอะ คนฮ่องกงชอบกิน ต้องหาที่กิน คนฮ่องกงให้สมญานามเมืองไทยว่า “แห่ง แลง แจง” แห่งแปลว่า ถูก แลงแปลว่า ของดีมาก แจงแปลว่า เจ๋ง เขาชอบประเทศไทยมาก เพราะถูกและดี

คนไทยหอบเงินไปช้อปปิ้งที่ฮ่องกง แล้วคนฮ่องกงช้อปอะไรกลับมา ?

ของฝาก หมูตากแห้ง ขนมไทยๆ สบู่ อาร์ตแอนด์คราฟท์ พวกที่มีตะเกียง เทียน น้ำมัน อโรม่า ของหอมๆ อะไรที่ดูแล้วไทยๆ ที่สำคัญคือ สินค้ายี่ห้อ “นารายา” ฮิตมาก สำหรับคนฮ่องกง

“…เรื่องสำคัญคือต้องทำการบ้าน ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
ต้องศึกษาประวัติศาสตร์
เราจะมีความสุขที่สุดคือส่งแขกแล้วเขาประทับใจ…”

ตามสวนสาธารณะและท้องถนน มีผู้สูงวัยเยอะมาก ?

ชอบมาออกกำลังกาย เพราะบ้านเล็กมาก ไม่เหมือนเมืองไทย ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในบ้านได้ เพราะบ้านใหญ่ แต่บ้านในฮ่องกง แค่ลงจากเตียงก็เป็นห้องรับแขก ห้องอาหารแล้ว เพราะฉะนั้นในแฟลต ในคอนโด จำเป็นต้องมีสวนให้คนสูงวัยออกกำลังกาย จะได้ไม่หดหู แต่เสาร์-อาทิตย์ ลูกๆ จะพากันไปเดินช้อปปิ้งมอลล์ที่มีแอร์

สวัสดิการฮ่องกงเป็นอย่างไรบ้าง ?

ดีมากกกก ภาษีเก็บเยอะ เราก็ยอมจ่าย ยินดีมาก 17 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าดีตรงไหน? พอมีใบภาษี ก็สามารถไปขอใบวีซ่า ขออะไร ไปไหนง่ายหมด สวัสดิการก็ได้ พออายุ 60 รถบัสบางสายเหลือแค่ครึ่งราคา แต่ถ้าอายุ 65 ทุกสายไม่ว่ารถอะไรจ่ายแค่ 2 เหรียญเอง ถ้าไม่ทำงาน ทุกเดือนมีเงินสวัสดิการให้ 2 พันกว่าเหรียญดอลลาร์ฮ่องกง แล้วแต่ว่าสุขภาพเป็นอย่างไร ถ้าป่วย ทำงานไม่ได้ มีใบรับรองแพทย์จริง เขาดูแลเราหมด บางคนไม่ป่วย ก็ขอตัดแว่นแทน

อย่างที่ทราบกันว่า ที่ดินฮ่องกงแพงมาก ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงซื้อได้ ?

ตอนนี้ 2 ล้านซื้อไม่ได้ อย่างต่ำ 4 ล้าน คิดเป็นเงินไทย 16 ล้านบาทสำหรับบ้านธรรมดา เล็กๆ ตอนนี้คนฮ่องกงไปซื้อคอนโดเมืองไทยเยอะมาก เพราะถ้าเอาเงินล้านหนึ่งไปฝากธนาคาร ได้ดอกเบี้ยปีละแค่ 2 พันเหรียญ เอาไปซื้อบ้านให้คนเช่า เดือนละ 2-3 หมื่นดีกว่า นานๆ ไป ราคาขึ้นก็ขาย ไม่ขึ้นก็ไม่ขาย ให้คนเช่าไปเรื่อยๆ ไม่เดือดร้อนอะไร ดีกว่าฝากธนาคาร

นอกจากราคาอสังหาริมทรัพย์แล้ว ค่าครองชีพก็ค่อนข้างสูงมาก เงินเดือนเด็กจบใหม่ได้เท่าไหร่ ?

แล้วแต่ว่าจบระดับไหน สมมุติจบมหา”ลัย ได้ราว 14,000-15,000 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยก็คูณ 4 แต่ที่นี่ค่าครองชีพสูง เงินเดือนเท่านี้เก็บเงินซื้อบ้านไม่ได้เลย อีก 10 ปีก็ซื้อไม่ได้ แต่ตัวเองโชคดี ตอนที่ซื้อบ้านยังไม่แพง ลูกชายก็โชคดี ซื้อในราคาล้านเก้า ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 4 ล้านห้า ขึ้นเร็วมาก จนพวกวัยรุ่นกลุ่ม “ร่มเหลือง” ในฮ่องกงประท้วง รัฐบาลต้องออกมาจัดการ

ความเหลื่อมล้ำในสังคมฮ่องกงมีสูงไหม ?

เยอะมาก แต่ชอบฮ่องกงอย่างหนึ่งตรงที่ไม่ว่าจะยากจนอย่างไร ถ้าอยากกินอาหารที่ร้านดีๆ ก็สามารถเก็บเงินมากินได้ แต่ในไทยทำไม่ได้ บางทีมื้อหนึ่ง เท่ากับเงินเดือนเขาทั้งเดือน ในขณะที่คนฮ่องกง ถึงจะจนสำหรับที่นี่ แต่ถ้าเก็บเงินเดี๋ยวก็มากินได้ นอกจากเรื่องเงินแล้ว เท่าที่รู้สึกคือร้านในเมืองไทยก็ไม่อนุมัติให้คนพวกนี้กิน ที่ฮ่องกงไม่สนใจเรื่องการแต่งตัว จะแต่งยังไงก็ได้ แต่เมืองไทยไม่ได้

คนฮ่องกงเคยกังวลมากตอนที่ต้องไปอยู่กับจีนหลังอังกฤษหมดสัญญาเช่า 99 ปี บรรยากาศช่วงนั้นเป็นอย่างไร ?

มีคนหนีออกจากฮ่องกงไปเยอะ เพราะสถานการณ์ตอนนั้นประเทศจีนไม่มีพาสปอร์ตเป็นส่วนตัว จะออกจากเมืองต้องเอาเงิน 1 แสนไปให้ธนาคาร แล้วถึงจะเอาเงินออกมา ออกมาเสร็จก็ต้องกลับเข้าไปคืน นั่นไม่อิสระ คนฮ่องกงกลัวความไม่เป็นอิสระ ก็หนี แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าตอนนี้รัฐบาลจีนดีอย่างนี้ ใครเข้าออกก็สบาย พาสปอร์ตก็มีแล้ว ตอนนั้นคนหนีไปแคนาดา ไปออสเตรเลีย แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ได้ทุกคน บางคนอยู่ไม่ได้ก็กลับมาเยอะมาก เคยขายบ้านขายอะไรไป กลับมาซื้อราคาเดิมไม่ได้แล้ว แพงกว่าเดิมมาก ตอนนั้น ค.ศ.1983 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ทุกคนรวนเร ทำยังไงดีนะ กลัว แล้วหนีไป มีการแบ่งคนเป็น 4 จำพวก พวกแรก คือ คนจน พวกที่ 2 หาเช้ากินค่ำ พวกที่ 3 มีเงินหน่อย ขายกิจการอพยพไปต่างประเทศ พวกที่ 4 รวยอยู่แล้ว ยังไงก็ได้ไม่สนใจ จะไปเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะมีเงินมากมาย แต่พอปี 1997 ทุกอย่างอยู่กับที่แล้ว มาถึงตอนนี้ ทุกคนรู้ว่า โอ้! ฮ่องกง ดีจริงๆ แต่ที่สุดแล้วยังมีคนจำนวนมากที่ยังกลัวว่าจีนจะเปลี่ยนกฎหมาย เพราะเขาเปลี่ยนได้ทันที โดยไม่มีการแจ้งเตือน

เห็นว่ามหาวิทยาลัยในฮ่องกง สอบเข้ายากมาก สอบไม่ได้ ไปเรียนเมืองนอกเลย ?

ใช่ๆ เมื่อก่อนฮ่องกงมีมหา’ลัย 2 แห่งคือ ฮ่องกง ยูนิเวอร์ซิตี้ กับ ไชนิส ยูนิเวอร์ซิตี้ คนที่สอบเข้าไม่ได้มีเยอะ เพราะรับได้น้อย พอสอบเข้าไม่ได้ปุ๊บ ก็ไปต่างประเทศ ตอนหลังรัฐบาลเห็นว่าพวกวัยรุ่นคิดหนักถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มี เครียดหนักด้วยแรงกดดันของสังคม รัฐบาลเลยเปลี่ยนพวกเทคโนฯ ให้เป็นยูนิเวอร์ซิตี้หมดเลย ดังนั้น ตอนนี้ฮ่องกงมีมหา’ลัย ทั้งหมด 8 แห่ง แล้วยังมีอคาเดมีอีก 2 แห่ง เรียนเป็นดารา นักแสดง ศิลปิน กับช่างกล อะไรประมาณนั้น สำหรับเด็กที่เรียนไม่เก่งแบบไปต่อไม่ได้แล้วก็ให้ไปเรียนด้านอาชีพและสามารถไปเป็นตำรวจได้นะ เขารับทันที ไม่ดูเกรด

มาเฟียฮ่องกงยังมีเหมือนในหนังยุคเก่าไหม ?

มันไม่ร้ายแรงเหมือนในหนัง แต่ก็มีพวกที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งทุกแห่งทั่วโลกก็มี มาเฟียฮ่องกง ถ้าเป็นเด็กดี เขาไม่มายุ่ง เขายุ่งกับเด็กไม่ดี

มาอยู่ฮ่องกงนาน มองย้อนกลับไปในเมืองไทยอย่างไร ควรพัฒนาในด้านไหนบ้าง ?

ประเทศไทยพัฒนาเองอยู่แล้ว การศึกษาในเมืองไทยตอนนี้ดีขึ้นเยอะ เก่งมาก เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสเอามาใช้ เพราะสังคมไทย ไม่ปล่อยให้คนรุ่นใหม่มีโอกาส นี่เรืองจริง ส่วนตัวอยู่ในองค์กรที่ฮ่องกงได้เห็นคนใหม่ๆ เข้ามา เขาให้โอกาสคน สมมุติว่าไม่มีเงินของตัวเอง สามารถไปยืมรัฐได้ รัฐช่วยเต็มที่ มีบิลที่เด็กเหล่านี้ไม่มาคืนเยอะ แล้วไม่ดำเนินคดีด้วย แต่วันหลังจะไปขอความช่วยเหลือ เช่น เรื่องบ้าน คุณต้องคืนเงินที่ยืมไปก่อน ชอบตรงนี้ ตรงที่เขามีวิธีดูแล แก้ไขปัญหาต่างๆ

ขอย้อนมาที่เรื่องไกด์ มัคคุเทศก์ไทยในฮ่องกงมีเยอะไหม จุดเด่นและจุดอ่อนอยู่ตรงไหน?

มีเยอะ แต่ที่มีบัตรไกด์จริงๆ น้อยมาก ไม่ถึง 100 คน ไกด์ไทยทำไม่ทน เพราะอาชีพนี้โดนฝนก็ต้องโดน ออกแดดก็ต้องไม่กลัว

ไกด์วัยรุ่น บางครั้งไม่อดทน งานหนักหน่อยก็บ่น ปล่อยปละละเลยแขก มีอะไรก็ออกสีหน้า บางทีเจอแขกพูดจาไม่ดี ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเราทำตัวดี แขกก็จะพูดกับเราดี ต่อให้แขกนิสัยไม่ดีกับเรา เขาก็จะแก้ที่ตัวเขาเอง จะรู้ว่าเราไม่ใช่คนที่จะมาทำอย่างนั้น

สิ่งที่ทำให้ตัวเองชนะในการประกวดไกด์เรื่อยมา คือ ยิ้มสยาม ไม่ทำสีหน้าใส่แขก แม้จะโดนว่า ก็ยิ้มไว้ก่อน บางทีแขกดูถูก เพราะเขายังไม่รู้จักเรา

เรื่องสำคัญคือต้องทำการบ้าน ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะมีความสุขที่สุดคือส่งแขกแล้วเขาประทับใจ ถ้ามาฮ่องกงแล้วกลับมาหาอีก เราก็มีความสุข ไม่กลับมาก็ไม่เป็นไร แต่คิดอยู่คำเดียวว่า เขามากับเรา จะไปหาไกด์คนไหนที่พาเขาเที่ยวได้เหมือนเรา ไม่มีแล้ว เราจะภูมิใจตรงนี้ (ยิ้ม)

ตำนานรัก ‘เจ้าแม่ฮ่องกง’
นักเรียนไกด์สาวไทยกับนักเตะทีมชาติฮ่องกง

“เขาคิดว่า นี่อ้วนน่ารักดี (หัวเราะ)”

คือคำบอกเล่าพร้อมรอยยิ้มเขินนิดๆ จากปาก มาลี ถามรางกุล เจ้าของฉายา “เจ้าแม่ฮ่องกง” ผู้คร่ำหวอดในวงการมัคคุเทศก์ไทยในเกาะฮ่องกง ถึงความรู้สึกของสามีอดีตนักฟุตบอลทีมชาติฮ่องกง นาม ก๋าน ชี นาม ในคราวพบกันครั้งแรก เมื่อครั้งเดินทางมาฟาดแข้งชิงถ้วยคิงส์คัพ ปี 1974 หรือเมื่อ 45 ปีก่อน

“สามีเป็นคนฮ่องกงแท้ๆ เลย รู้จักกันเพราะพ่อพาไปดูลูกชายเพื่อนพ่อที่เป็นนักฟุตบอลทีมชาติฮ่องกง แล้วสามีเป็นหนึ่งในทีมนั้น เลยได้เจอกัน ตอนนั้นเขาบอกว่า นี่อ้วนน่ารักดี แต่ไม่ได้คิดอะไร คำนั้นคำเดียว แมตช์นั้นฮ่องกงชนะไทย พอไปเรียนต่อที่นู่น ก็ไปอยู่กับแม่ที่เป็นคนจีนแดงช่วงสั้นๆ ต้องเล่าก่อนว่า สมัยก่อนคนจีนอพยพไปไทยตรงสามเหลี่ยมทองคำ มีความเชื่อที่ว่า ถ้าไปต่างประเทศ หากไม่แต่งงานใหม่ จะอยู่ไม่ได้ ต้องตาย ต้องหาผู้หญิงมาดูแล พ่อเลยไปแต่งงานกับแม่ที่คลอดเรา ส่วนภรรยาอีกคนก็คือแม่จีนแดง

ช่วงที่อยู่ฮ่องกง ได้ใกล้ชิดสามี รู้สึกว่าเขาดูแลดี ก็รักกันแต่งงานกัน มีลูกชาย 2 คน ซึ่งเติบโตและเรียนหนังสือที่นี่ มีหลานแล้ว 4 คน (ยิ้ม)”

เจ้าแม่ฮ่องกงย้อนเล่าเรื่องราวความรักด้วยแววตาแห่งความสุข

“พูดถึงชีวิตรักในฮ่องกง หญิงไทยถ้าจะแต่งงานกับชาวต่างประเทศ ต้องเข้าใจเขามากๆ ไม่งั้นทนไม่ได้ ไหนจะภาษาไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะคุยอะไรสวีตหน่อยก็ไม่เหมือนกัน (หัวเราะ) จะทำอย่างไรให้เขาเป็นเพื่อนชีวิต ร่วมทุกข์ สุข สำหรับตัวเอง เคยอยู่ในสังคมยุคที่คนฮ่องกงยังเกลียดผู้หญิงไทย ต้องใช้คำว่าทรมานมาก แต่จะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจเรา ตอนนั้น ตั้งอยู่คำเดียวว่า เรารักเขา และต้องถามเขาเหมือนกันว่ารักเราไหม ยิ่งอาชีพไกด์อย่างเรา ต้องพาแขกเข้าโรงแรม มีคำพูดอะไรเข้ามาก็แล้วแต่ อย่าไปสนใจ”

ที่สุดแล้ว ไม่เพียงประสบความสำเร็จในอาชีพที่รักจนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ชีวิตคู่ก็ราบรื่น ครองรักอย่างยาวนาน เป็นรางวัลที่เทพเจ้าองค์ใดไม่ได้ประทาน หากแต่มาจากความมุ่งมั่น อดทน มองโลกในแง่ดี ดังเช่นรอยยิ้มกว้างและเสียงหัวเราะอย่างจริงใจอันเป็นภาพจำที่มีต่อเจ้าแม่ฮ่องกง นามว่า มาลี ถามรางกุล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image