13 รัฐประหาร 1 สงครามโลก 94 ปีแห่งชีวิต ‘สมพงษ์ สุทินศักดิ์’

หากคิดว่าบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ ว่าด้วยเรื่องปฏิวัติ สืบทอดอำนาจต้องบอกว่า ไม่ใช่

หากคิดว่าบทสัมภาษณ์นี้ ว่าด้วยประวัติศาสตร์สงครามโลก ก็ยังต้องบอกว่า ไม่ใช่

เพราะนี่คือการพูดคุยถึงชีวิตอันเข้มข้น พลิกผัน เกินคาดเดา ราวนิยายยุคเก่าสุดเร้าใจที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองไทยและประวัติศาสตร์โลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ในวัยที่อีกไม่กี่เดือน จะอายุครบ 94 ปีเต็ม และอีกไม่กี่ปีจะมองเห็นโลกนี้ครบ 1 ศตวรรษ สมพงษ์ สุทินศักดิ์ ผ่านเรื่องราวมากมาย ก้าวข้ามความ “เปลี่ยนผ่าน” มานับครั้งไม่ถ้วน

Advertisement

สังคมไทยโดยเฉพาะในชนบททางภาคกลาง อยู่ในสายตาของบุคคลผู้นี้มานานเฉียด 100 ปี

เปล่าเลย! หากคิดว่า บทสัมภาษณ์นี้ ว่าด้วยเรื่องเก่าๆ ของคนแก่ๆ ก็ยิ่งต้องบอกว่า ไม่ใช่

เพราะเจ้าตัวไม่เคยตกยุคสมัย ยังใช้สมาร์ทโฟน นั่งทำงานที่โต๊ะคู่ใจโดยใช้คอมพิวเตอร์ ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงหนังสือพิมพ์กระดาษเป็นประจำทุกวัน ไม่เคยเว้น

เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 ในปลายรัชกาลที่ 6 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากเด็กชายในครอบครัวยากจน ไม่มีแม้ที่ทำกิน หนีออกจากบ้าน เป็นเด็กวัด ผ่านอาชีพสารพัด กระทั่งเข้าสู่แวดวงการธนาคาร ไม่มีแม้ใบปริญญา ทว่า กลายเป็นปูชนียบุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงทั้งด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยความรู้ที่สั่งสมด้วยตนเอง ด้วยความสามารถจากประสบการณ์อันโชกโชน ด้วยความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่ไม่ถูกตีกรอบ

ยังเปิดหน้าจอคอมพ์ค้างอยู่ ตอนนี้ทำงานอะไรบ้าง?

พิมพ์หนังสือครับ ทำตลอดมาเลย เป็นบทความเกี่ยวกับธรรมศึกษาบ้าง โรงเรียนบ้าง เพราะช่วยเหลือโรงเรียนท่ามะกาวิทยาคมมาตั้งแต่ปี 2514 จนถึงปัจจุบัน มีหลายตำแหน่ง เป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครู ตั้งแต่ปี 2530 พอปี 60 ผมเกษียณตัวเองแต่เขาไม่ยอม เวลานี้ให้เป็นที่ปรึกษาสมาคม

มีบทบาทสูงมากในด้านการศึกษาของท้องถิ่น ทั้งที่ตัวเองเรียนจบชั้นมัธยมต้นจากการสอบเทียบ ตอนเด็กเกือบไม่ได้เรียนหนังสือ?

ฐานะทางบ้านยากจนมาก เข้าเรียน ป.1 ตอน 10 ขวบ 3 เดือนก็อ่านออก 6 เดือนบวกลบเลขเป็น เพราะอายุมากกว่าเด็กคนอื่น พอจบ ป.4 อยากเรียนต่อ แต่พ่อแม่ไม่มีปัญญา แม้กระทั่งครูใหญ่จะอุปการะทุกอย่าง แต่แม่บอกว่า ถ้าเอาลูกฉันไปอยู่ด้วย ใครจะช่วยเลี้ยงน้องอีก 3 คน เลยไม่ได้เรียน พอเตี่ยตาย ยิ่งแย่ใหญ่ ต้องทำงานต่างๆ ทั้งที่ใจอยากเรียนต่อตลอดเวลา เลยวางแผนหนี บอกแม่ว่าจะไปดูคนข้างบ้านเกณฑ์ทหาร มีเงินติดตัว 4 บาท ลงเรือจากบ้านโป่งไปหาป้าที่ทำโรงเลื่อยมืออยู่ ขอให้เขาช่วย แต่ป้าก็ส่งไม่ไหว เลยไปอยู่วัดกับน้าชายที่วัดหลุมดิน แล้วเรียนหนังสือด้วยตัวเอง สอบเทียบ ม.3 ผ่าน หลวงลุงรองเจ้าอาวาสซึ่งเดิมอยากให้ผมบวช แกฝากให้ผมไปเป็นครูที่โรงเรียนวัดท่าโขลง ตอนนั้นอายุ 17 ปี ได้เงินเดือนจากรัชชูปการ คือภาษีโบราณ แล้วได้เป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดอรัญญิกาวาส

ชีวิตเหมือนเริ่มลงตัว แต่มาพลิกผันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ?

ระหว่างสงครามโลก ทุกอย่างขาดแคลน ผมก็เป็นครูอยู่ 5 ปี นึกอยากจะบวชแทนคุณพ่อแม่ เพราะถือว่าเราอกตัญญูหนีมา ไม่ช่วยทำงาน โรงเรียนบอกปีหน้าแล้วกัน พอถึงเวลาไปขอบวชอีก เขาบอกว่า หาครูยากเหลือเกิน ให้บวชไปสอนไป ซึ่งยุคนั้นคนทำกันเยอะ ผมบอกว่า งั้นจะบวชทำไม เลยตัดสินใจลาออกโดยไม่คิดเลยว่าชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร บวชแล้วก็เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ใช้เวลาว่างเรียนภาษาบาลี พอเข้าพรรษาที่ 2 ญาติในกรุงเทพฯ โทรเลขมาบอกว่า หางานให้ทำได้แล้ว เลยสึกทันที ไปอาศัยวัดโสมนัสฯ ตอนแรกคิดว่าจะได้ทำงานโรงพยาบาลแถวบางรัก ที่มุ่งเรื่องกามโรค ปรากฏว่าเขาเข้าใจผิด คิดว่าผมเป็นผู้หญิง เพราะมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงที่นั่นชื่อสมพงษ์ ในที่สุด เขารับผมไว้ไม่ได้ หลังจากนั้นไปหางานที่ไหนๆ ไม่ได้เลย ตกงานอยู่ปีกว่า

เกือบต้องไปถีบสามล้อ และคลุกคลี “โต๊ะบิลเลียด” ทั้งที่เคยเป็นครูและบวชเรียนมา?

ประหลาดมากครับ ตอนที่ยังหางานทำไม่ได้สักที พระที่ผมไปอยู่ด้วยบอกว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าอีก 7 วันหางานไมได้ ฉันจะไปหาสามล้อให้ถีบ คืนนั้นก่อนนอนกราบที่หมอน 3 ครั้ง อธิษฐานว่า ขอทำอาชีพอะไรก็ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ใช้แรงงาน เพราะมีจุดที่ปอด ขอให้อานิสงส์ที่กระทำมาตลอดช่วยอย่าถึงขนาดเป็นกรรมกรเลย พอรุ่งขึ้นช่วงสายๆ ลูกป้าซึ่งเป็นปลัดอำเภอแวะไปหา ชวนไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสโมสรข้าราชการพลเรือน ผมตกลงทันที ไม่ต้องคิดเลย ก็กลับไปอยู่ราชบุรี ปรากฏว่าหน้าที่คือ มาร์กเกอร์ ให้แต้มโต๊ะบิลเลียด โอ้โห! อยู่ทั้งคืน ทำให้รู้จักข้าราชการตั้งแต่ชั้นผู้น้อยจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด หลังจากนั้นก็ไปช่วยขายของที่สหกรณ์ตอนกลางวัน ได้เงินเดือนอีกทางหนึ่ง

แล้วไปทำงานทางหลวงจังหวัดได้อย่างไร ดูชีวิตเปลี่ยนมา เปลี่ยนไปหลายหนมาก?

ก็พอขายของที่สหกรณ์ครบปี เพื่อนที่เป็นศึกษาธิการอำเภอ ชวนไปเป็นครูอีก คราวนี้เป็นครูโรงเรียนราษฎร ท่านปลัดจังหวัดชอบใจในการทำงานของผม บอกว่าไปทำงานราชการด้วยกันดีกว่า เพราะเวลานั้นมีงานของกรมโยธา เรียกว่า “หน่วยงานทางหลวงจังหวัด” มีหน้าที่สร้างทางในจังหวัดทั้งหมด ผมก็ลาออกจากครูไปอยู่ที่นั่น

ครอบครัวสุทินศักดิ์ หนึ่งในนั้นคือ “ชยากร สุทินศักดิ์” บุตรชายคนสุดท้อง โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดัง

การแก่งแย่ง โกงกิน ป้ายสีในแวดวงราชการในยุคนั้นมีไหม เคยได้รับผลกระทบหรือเปล่า?

มีครับ ตั้งแต่ตอนจะเข้าไปทำงาน ก็มีการแข่งขันกันว่าเป็นคนของใคร มีการหมั่นไส้กันบ้าง อุปสรรคก็เคยเจอ วันหนึ่งคุณนายผู้ว่าฯให้คนรถมาตาม บอกว่าเย็นนี้ให้ไปกินข้าวที่จวน สมัยก่อนข้าราชการชั้นผู้น้อยยังไม่มีสิทธิได้นั่งโต๊ะกับผู้ว่าฯเลย สรรพนามต้องใช้ว่า “ใต้เท้า” นะ แต่ท่านเชิญให้ผมนั่งโต๊ะด้วย ผู้ว่าฯบอกได้รับรายงานว่า มีบัตรสนเท่ห์กล่าวโทษนายสมพงษ์หลายเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล่าวหาว่าเบียดบัง เรียกร้องเงินทองจากผู้รับเหมาสร้างทาง เรียกเงินทองจากผู้สมัครเป็นพนักงาน ฉันให้ปลัดจังหวัดสืบสวนอยู่ 2 เดือน มันตรงข้ามหมดเลย ไปสืบสวนทางผู้รับเหมา 3-4 ราย มีแต่สรรเสริญว่าจ่ายเงินเร็วมาก ไม่มีการถ่วงเวลาให้วิ่งเต้น จะให้เงินตอบแทนคุณสมพงษ์ก็ไม่เอา สุดท้ายต้องเขียนนามบัตรให้ไปตัดสูท อะไรอย่างนี้ สุดท้ายสืบพบว่าคนที่เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครงานคือคนที่กล่าวโทษผมนั่นแหละ

จากเหตุการณ์นั้น ผมเลยกลายเป็นคนสนิทผู้ว่าฯ ขับรถจี๊ปให้บ้าง บางทีท่านขับเองโดยให้ผมนั่งข้างๆ บ้าง ชาวบ้านมาเจอยกมือไหว้ นึกว่าผมเป็นผู้ว่าฯ เพราะผู้ว่าฯขับรถให้นั่ง (หัวเราะ)

ใช้ชีวิตวัยรุ่นยุคสงครามโลกอย่างโชกโชน?

ตอนวัยรุ่นใช่ย่อย สูบบุหรี่ตั้งแต่ 10 ขวบ บุหรี่พื้นบ้านนะ ยามสงคราม บุหรี่ในท้องตลาดไม่มีขายก็มวนยาสูบกันเอาเอง ตอนเป็นครู กินเหล้ามาก ยุคสงครามก็เป็นเหล้าเถื่อน แต่ผมมีหลักอย่างหนึ่งว่า ไม่มากเกินไป ตั้งแต่เป็นผู้จัดการธนาคาร ก็ปรับชีวิตใหม่ เหล้าดื่ม บุหรี่สูบ แต่ไม่มาก พูดง่ายๆ ว่า ใช้หลักมัชฌิมาปฏิปทา แต่ถึงวันจะต้องเลิก ยากมาก โดยเฉพาะบุหรี่ แต่ก็เลิกได้

เคยเกือบตายเพราะวัณโรคปอด แต่รอดอย่างไม่ใช่ปาฏิหาริย์?

ช่วงที่ผมทำงานทางหลวงจังหวัด 5 ปี ทำให้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ทักษะอะไรต่างๆ มากมาย มีครั้งหนึ่ง ผอ.รพ.ราชบุรี หมอสมนึก วิทิศวรการ ท่านมาหาผู้ว่าฯ บอกงบประมาณให้กันมาเยอะแยะเลยทีเดียว สร้าง รพ.บ้าง บ้านพักบ้าง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่บริหาร บุคลากรเขียนจดหมาย ยังไม่เป็นเลย ขอให้ผู้ว่าฯส่งคนไปช่วย ผมเลยได้ไปช่วยงาน รพ. 2-3 เดือน ซึ่งต่อมาช่วยชีวิตผมไว้จากการเป็นจุดที่ปอด หรือทีบี สมัยสเตรปโตมัยซินเพิ่งเข้ามา เรียกว่า “ยาวิเศษ” แพงลิบลิ่ว อานิสงส์ที่ผมไปช่วยงาน รพ. หมอเลยรักษาให้ฟรี ไม่งั้นก็ตายไปแล้ว สมัยนั้นคนเป็นทีบีตายทุกคนถ้าไม่มีเงิน

กับเพื่อนร่วมงานธนาคารนครหลวงไทย ราว พ.ศ.2501-2502

แล้วเข้าสู่แวดวงการเงินได้อย่างไร เป็นบุคลากรยุคบุกเบิกธนาคารแห่งแรกในนครปฐม?

ราว พ.ศ.2499 คุณนายวิจิตรา อรจันทร์ คุณนายผู้ว่าฯ นายกเหล่ากาชาด และนายกสโมสรสตรีประจำจังหวัดราชบุรี ท่านไปรับงานธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งจะมาเปิดกิจการเป็นธนาคารแห่งแรกในจังหวัดนครปฐม ท่านมาชวนผมว่า สมพงษ์ไปทำงานด้วยกันนะ ผมบอก คงไม่ได้หรอก เพราะมีความรู้เพียง ป.4 เท่านั้น นอกนั้นสอบเทียบวิชาสามัญ ม.3 ม.6 และวิชาครู ไม่ได้ เกี่ยวข้องกับการเงิน การธนาคารเลย ท่านบอกสมพงษ์ทำได้แน่นอน ผมเลยไปฝึกงานที่สำนักงานใหญ่ 2-3 เดือน ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานสินเชื่อ ทำอยู่ 1 ปี ย้ายมาอยู่อำเภอท่าเรือ แล้วได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ

จากตรงนี้ ชีวิตเปลี่ยนมาก แต่ก็วกเข้าสู่วงการศึกษาอีกครั้ง?

ครับ มาอยู่ที่นี่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงบทบาทมาก ราวๆ ปี 2507 นายอำเภอท่ามะกา ชื่อสมภพ แสงอรุณ นายอำเภอท่ามะกา ท่านมาชวนให้ไปสมัครรับเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาล ผมบอกไม่เอาเด็ดขาด ไม่ถนัด ปรากฏว่า 7-8 วันต่อมา ได้รับการลงคะแนนซึ่งประหลาดมาก คงไม่มีประเทศไหนใช้กัน คือ ใครต้องการเลือกนายสมพงษ์ มายืนทางนี้ ใครเลือกอีกคนไปยืนทางนั้น สรุป ผมได้เป็น จนเกิดปฏิวัติรัฐประหาร

พูดถึงรัฐประหาร จากอายุ 94 ปี ผ่านการรัฐประหารมาแล้วทุกครั้ง มองเรื่องนี้อย่างไร?

เป็นกรรมของประเทศไทยเรา คล้ายๆ ว่ากำลังเดินไปด้วยดี ก็มีใครมาขัดขา เป็นอย่างนี้ตลอดมา แต่ละรัฐประหารจบลงด้วยการที่ประเทศไทยต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งนั้น ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ผมไม่ได้เลื่อมใสอะไร สมัยปี 2500 ที่เรียกว่าการเลือกตั้งสกปรกที่สุดของพรรคเสรีมนังคศิลา แล้วพอหลังจากนั้นเกิดปฏิวัติครั้งใหญ่ขึ้นมาโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตอนนั้นยังหนุ่ม เราก็ดีใจ สนับสนุนพวกปฏิวัติว่าท่านเก่งจริง ใครค้ายาเสพติด จับเอาไปยิงทิ้งกลางสนามหลวง แต่ไปๆ มาๆ ความนับถือหมดไป เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ทางฝั่งธนฯ มีแฟนเป็นอดีตนางงามท้องถิ่น รักใคร่กันมาก พอท่านจอมพลไปเห็น แล้วเรียกเข้าทำเนียบ กล่อมด้วยอามิส รถเทานุส 1 คัน

ความเห็นต่อประเด็นบทบาทคนรุ่นใหม่กับการเมืองไทย ในฐานะผู้ที่มีอายุมากกว่าประชาธิปไตยไทย?

แม้ผมอายุใกล้จะศตวรรษแล้วก็ตาม แต่จิตใจของผม มองการบริหารประเทศว่า เราจะต้องสนับสนุนคนรุ่นใหม่ คนใหม่ๆ อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กลุ่มพวกนี้เขามาดี ทั้งนโยบาย การบริหาร แต่นักการเมืองรุ่นเก่าไม่ว่าฝ่ายขวาซ้าย ฝ่ายทหาร ฝ่ายประชาธิปไตย เขี้ยวลากดิน วันนี้ยังแย่งกันเป็นรัฐมนตรี ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้เลย นโยบายต่างๆ ที่ให้กับประชาชนตอนก่อนเลือกตั้ง ไม่ต้องพูดถึง พอตัวเองเข้าไป ขอให้ได้ตำแหน่งก็แล้วกัน ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ที่ผมอ่านทุกวันคือ ไทยรัฐ ตั้งแต่ฉบับแรก ต่อมาอ่านมติชน เป็นสื่อที่ไว้วางใจได้ เป็นพวกของชาวบ้านเรา ไม่เหมือนบางฉบับพอปฏิวัติปั๊บ โดดไปเชียร์เหยงๆ

แล้วในฐานะผู้อยู่ในแวดวงการศึกษาที่ได้รับการนับถือมาก มองปรากฏการณ์เด็กทำพานไหว้ครูล้อการเมืองอย่างไร ?

ผมสนับสนุนเต็มที่เลย คำว่าล้อ ไปเปิดพจนานุกรมดูก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องจริงๆ จังๆ อะไร เป็นเรื่องขำๆ ขันๆ แม้กระทั่งการแข่งขันกีฬาระหว่างธรรมศาสตร์กับจุฬาฯ เขาก็ล้อการเมืองตลอดตั้งแต่ไหนแต่ไร ปีนี้เด็กมัธยมมีความคิดไหว้ครู ล้อการเมือง ถูกโจมตีขนาดหนักว่าปล่อยให้เด็กนอกลู่นอกทาง แต่ว่าผมเห็นว่าควรสนับสนุน เวลานี้การศึกษาไทยเองก็ตกต่ำ จะอยู่อันดับท้ายๆ ของอาเซียนแล้ว

มาถึงตรงนี้ อยากให้ย้อนเล่าถึงการผลักดันให้โรงเรียนท่ามะกาได้ขยายจาก ม.3 จนมีการเรียนการสอนได้ถึง ม.6 ซึ่งในอดีตไม่ใช่เรื่องง่ายเลย?

สมัยก่อนมีระเบียบว่า โรงเรียนที่จะสอนระดับมัธยมปลายได้ ต้องเป็นโรงเรียนในอำเภอเมืองเท่านั้น คือโรงเรียนประจำจังหวัด ผมไปวิ่งเต้นให้โรงเรียนท่ามะกาขยายจาก ม.3 สอนได้ถึง ม.6 ตอนนั้น ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา ผมเลยตั้งคำถามว่า ระเบียบนี้ใครตั้ง คนตั้งคือกระทรวง แล้วกระทรวงก็คือคนใช่ไหม เมื่อคนตั้งระเบียบได้ คนก็แก้ได้ ท่านตบโต๊ะ แล้วบอกว่า ใช่ เรื่องนี้อยู่ในหัวท่านอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นควรแก้ไขได้แล้ว ตกลงอนุมัติให้โรงเรียนเราเป็นแห่งแรก แล้วขยายไปโรงเรียนอื่นๆ ด้วย ทั่วประเทศก็พลอยได้ขึ้นมาพร้อมกัน

นอกจากบทบาททางการศึกษา ยังพัฒนาความเจริญของวัดพระแท่นดงรังจากที่เกือบร้างมาเป็นวัดหลวง ซึ่งเริ่มจากไปขอข้าวพระกิน แต่ไม่มี?

ครับ ตอนปี 2501 ผมขับรถจี๊ปไปเที่ยววัด ปรากฏว่ามีพระอยู่องค์เดียว แก่เชียว ชื่อหลวงตาเป๋ ผมไม่ได้กินข้าวเช้าไป จะไปขอข้าวท่านกินสักมื้อ ท่านบอกไม่มี ให้ไปหาแม่ชี กุฏิแทบจะพัง ต้องเดินย่องๆ โบสถ์หลังเล็กนิดเดียว ศาลาการเปรียญไม่มี อะไรก็ไม่มี พูดง่ายๆ ว่าเป็นวัดร้างเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ การเดินทางสมัยก่อนก็ลำบากมาก มีทางเดียวคือขึ้นเรือที่ตลาดท่าเรือ แล้วใช้ทางเกวียน ตอนที่ผมมาอยู่เขาขยายทางเกวียนเป็นทางรถแล้ว แต่ก็ยังเป็นทางดิน พอถึงหน้าน้ำ น้ำพัดทางขาด พวกพระแท่นดงรัง กับพวกท่าเรือติดต่อกันไม่ได้ โทรมขนาดนั้น คณะสงฆ์ ก็พยายามหาพระมาเป็นสมภารวัด แต่หาไม่ได้ ในที่สุดเจ้าคณะหนกลางที่วัดสามพระยา กรุงเทพฯ สั่งการมายังเจ้าคณะจังหวัด บอกให้เอาพระครูทองหล่อ วัดหนองพันท้าว ไปรักษาการแทนเจ้าอาวาส พวกผม 6-7 คน ถูกขอร้องให้ไปช่วยวัดพระแท่นดงรัง มีการตั้งกรรมการขึ้นมา โดยมี คุณมงคล กีพานิช เป็นประธาน มาคิดกันว่าจะทำอย่างไรในการหาเงินหาทองมาพัฒนา สุดท้ายก็สำเร็จ ก่อนหน้านั้นนายอำเภอเคยส่งหนังสือขอยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงทุกปี 4-5 ปี แต่ไม่ได้ พอขอดูต้นฉบับพบว่าเขียนไปหน้าเดียว ผมเลยรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปูชนียสถานที่คนโบราณเชื่อว่าเป็นสถานที่ปรินิพพานและถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า และเรื่องอื่นๆ แม้กระทั่งใครมาเขียนสมุดเยี่ยมว่าอะไร ก็รวบรวมไว้หมด ได้ 10-20 หน้า ส่งไปจนได้รับการอนุมัติ ข้อมูลพวกนี้ ก็เอามาเรียบเรียงเป็นหนังสือประวัติวัดเพื่อเผยแพร่ด้วย

คิดว่าจะพัฒนาวัดพระแท่นดงรังต่อไปอย่างไร ประวัติศาสตร์ของวัดควรได้รับการเผยแพร่มากขึ้นนอกเหนือจากการท่องเที่ยวหรือไม่?

เวลานี้ก็ยังทำอยู่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มาช่วยทำแผ่นพับข้อมูลกระจายให้คนรู้จักทั้งในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง อย่างมติชน โดยท่านประธานขรรค์ชัย บุนปาน และคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่มาถ่ายทำรายการทอดน่องท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วย และยังมีทีวีช่องต่างๆ มาเป็นประจำ

มีประเด็นเรื่องเงินๆ ทองๆ กับระบบราชการที่ทางวัดขอบริหารจัดการเองจนสำเร็จ?

เรื่องมีอยู่ว่า ในวันหนึ่งของปี 2510 มีการประชุมเรื่องการจัดงานนมัสการพระแท่นดงรัง ซึ่งเดิมทางจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ แต่วันนั้นเจ้าอาวาส คุณมงคล กีพานิช และผมเสนอขอให้วัดจัดการกันเอง ทางอำเภอค้านเด็ดขาด บอกว่าชาวบ้านแถวนั้นยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ จะไปทำอะไรได้อย่างไร ทางอำเภอมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีบุคลากรพร้อมกว่า ในที่สุดผู้ว่าฯคนใหม่บอกว่า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปให้วัดลองทำ 3 ปี ถ้ามีรายได้ไม่ดีขึ้น ก็มอบให้อำเภอทำต่อไป ถ้าดีขึ้นมาก วัดก็เอาไปทำ ปรากฏว่าปีแรกได้กว่า 6 แสนบาท มากกว่าที่อำเภอจัด 1 เท่าตัว ผู้ว่าฯเลยบอกไม่ต้องรอ 3 ปี จากนี้ให้วัดทำไปเลย ก็เอาเงินตรงนั้นมาบูรณะวัด ล่าสุดเร็วๆ นี้ได้กว่า 7 ล้านบาท เฉพาะประมูลร้านค้าอย่างเดียวได้เกือบ 5 ร้าน ขายทองได้ 2 ล้าน

ตอนนี้วัดพระแท่นเป็นอาเสี่ยแล้ว ตอนนั้นเป็นยาจก (หัวเราะ)


 

พระ พุทธองค์เสด็จด้าว ไพรสาณฑ์

แท่น ที่ปรินิพพาน ผ่องแผ้ว

ดง สาลวโนทยาน ร่มรื่น รมย์แล

รัง รักษ์ทุกผู้แกล้ว กราบเบื้องบรรจถรณ์

คือ บทกลอนจากปลายปากกา สมพงษ์ สุทินศักดิ์ ผู้ผลักดันการบูรณะวัดพระแท่นดงรัง จากวัดราษฎร์ สู่วัดหลวง

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ยกวัดพระแท่นดงรังเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515

ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน วัดแห่งนี้ทรุดโทรมแทบรกร้าง ทั้งที่เป็นปูชนียสถานสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพระวินัยธรเร่ง เจ้าอาวาสมรณภาพ ไม่มีพระสังฆาธิการรูปใดอาสาไปอยู่ เนื่องจากกันดารมาก

พระครูพุทธมัญจาภิบาล (ทองหล่อ) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันผลักดันพัฒนาจากสภาพปรักหักพังสู่วัดที่เจริญรุ่งเรือง จนได้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างจากกรมการศาสนาในปี 2509

เรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับวัด ถูกรวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือหลากหลายเล่ม แจกจ่าย ให้ความรู้ อาทิ นิราศพระแท่นดงรัง ของสามเณรกลั่น พร้อมประวัติวัดอย่างละเอียด และ วัดพระแท่นดงรัง จากวัดราษฎร์มาเป็นวัดหลวง รวบรวมโดยสมพงษ์ สุทินศักดิ์ ผู้มีบทบาทการผลักดันอย่างสูง ไม่เพียงความเป็นมาตามประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีถึงความเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” และ “แลนด์มาร์ก” ตั้งแต่โบราณกาล หากแต่ผลงานของบุคคลท่านนี้ ยังเปี่ยมคุณค่าด้วย “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ที่ไม่ปรากฏในเอกสารทางการ หรือพงศาวดารฉบับใด อีกทั้งประวัติศาสตร์ร่วมสมัยจากข้อมูลที่ได้รับการอัพเดตอยู่เสมอ เป็นผลงานของชาวบ้านอันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างไม่สามารถแยกจากกันได้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image