นายทหารนักเขียน พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ‘ไม่มีพระเอก ผู้ร้าย ทุกคนคือตัวละครในประวัติศาสตร์’

ผ่านวันคล้ายวันสำคัญ 24 มิถุนายน อันเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์สู่ประชาธิปไตยเพียงไม่กี่วัน

ยังคุกรุ่นด้วยบรรยากาศที่สังคมไทยนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาย้อนเล่าหลากหลายเวอร์ชั่น

หนึ่งในผลงานฮอตมากในห้วงเวลานี้ คือ “2475 : เส้นทางคนแพ้” จากปลายปากกา บัญชร ชวาลศิลป์ นักเขียนดังที่มีคำนำหน้าว่า “พลเอก”

ไม่เพียงเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ลือชื่อในด้านผลงานเขียนมานานหลายสิบปี เป็นที่รู้จักจากผลงาน “สอยดาวมาร้อยบ่า” ภายใต้นามปากกา “วิชัย ภูเวียงกล้า” ต่อมาถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่โด่งดังข้ามทศวรรษจนกลายเป็นตำนานมาถึงทุกวันนี้

Advertisement

ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ยังสร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องในหลากหลายแนว อาทิ ดับไฟใต้, ดอกฟ้ากับหมาวัด, นายร้อยสุกดิบ, ท.ทหารอดทน ,แผนเด็ดปีกพญาอินทรี และนวนิยายไฟรัก ไฟสงคราม เป็นต้น

ทุกวันนี้ยังเป็นนักเขียนมือทองและคิวทอง ล่าสุด ผุดคอลัมน์ใหม่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม นามว่า “แทบพื้นทรายสมัย” ที่แฟนานุแฟนตอบรับอย่างอบอุ่น ด้วยเนื้อหาแนวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับทหารที่ต้องเป็น “วงใน” เท่านั้น

“ท่อนนี้เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งแปลจากบทกวีของ Henry Wadsworth Longfellow ชาวอเมริกัน ผมติดใจตรงบาทสุดท้ายที่พระองค์ทรงใช้คำว่า แทบพื้นทรายสมัย พอไปดูจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า sand of time ซึ่งก็เพราะอยู่แล้ว และพอรัชกาลที่ 6 ทรงแปล ก็ยิ่งรู้สึกมหัศจรรย์มาก นอกจากไพเราะแล้วยังตรงกับภาษาอังกฤษด้วย เลยมาปรึกษาคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว บก.ศิลปวัฒนธรรม ว่าอยากเขียนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของทหาร ลงไปแล้ว 1 ตอนว่าด้วยเรื่องของเสรีไทย” พล.อ. บัญชรเล่าที่มาของชื่อคอลัมน์อันมีความหมายลึกซึ้ง สมกับความเป็น “นักอ่าน” อย่างแท้จริง โดยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะโตมาในครอบครัวรักการอ่าน

Advertisement

บิดาเป็นตำรวจตระเวนชายแดนในยุคอธิบดีที่มีแนวคิดก้าวหน้าอย่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึมซับบรรยากาศเมืองทหารจากบ้านเกิดที่ลพบุรี ซึ่งมองไปทางไหนก็เห็นมรดกจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่จุดหักเหสำคัญอยู่ที่การได้เห็น “เครื่องแบบ” นักเรียนเตรียมทหาร

“เด็กรุ่นผมยังไม่มีใครมาแนะนำหรอกว่าอาชีพไหนดีไม่ดี ส่วนใหญ่ก็ตามรุ่นพี่ พอจบ ม.6 ไปสอบเตรียมอุดมฯ ความตั้งใจคือเข้าจุฬาฯ แล้วเรียนวิศวะตามที่เขาเรียนกัน แต่ไปเห็นนักเรียนเตรียมทหารเขาแต่งเครื่องแบบ ชีวิตเลยเปลี่ยน ตัดสินใจไปสอบเตรียมทหาร แล้วก็สอบได้ จริงๆ ก็ชื่นชมอาชีพนี้อยู่แล้ว แต่ความที่เป็นเด็กไม่เล่นกีฬา ตัวเล็ก ว่ายน้ำก็ไม่เป็น จะเรียนได้อย่างไร ถามว่าชีวิตจริงๆ อยากเป็นอะไร ถ้ามาสรุปตอนอายุมากแล้ว ผมว่าอยากเป็นทหารมาแต่ไหนแต่ไร”

แม้เกษียณตัวเองมานานหลายปีด้วยเหตุผลที่ว่า “ไปประกอบอาชีพอื่น” ก็ยังได้รับเชิญจากกองทัพบกไปกล่าวต่อหน้า “รุ่นน้อง” เฉียดพันนาย ในหัวข้อ “เราคือทหารของชาติ” เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่ง พล.อ.บัญชรกล่าวในตอนหนึ่งโดยอ้างถึงคำพูดของอดีตนักเรียนนายร้อยคนดัง ที่เคยกล่าวในหัวข้อ An Officer and a Gentleman ใจความโดยสรุปคือ

“คุณต้องเป็นทั้งนายทหาร และเป็นทั้งสุภาพบุรุษ ผมรู้สึกว่าน้องๆ ที่นั่งฟังอยู่ ต้องเป็นให้ได้ทั้ง 2 แบบ” เจ้าตัวกล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น สมชายชาติทหารผู้รักและภูมิใจในอาชีพ

นอกจากค้นคว้าและสร้างผลงานสม่ำเสมอในห้องหนังสือที่อัดแน่นด้วยคลังข้อมูลตั้งแต่พื้นจรดเพดานในบ้านย่านปากเกร็ด ปัจจุบันนายทหารนักเขียนท่านนี้ ยังพูดคุยกับแฟนๆ ผ่านเฟซบุ๊ก gen.bunchon – บัญชร ชวาลศิลป์ โดย “ตอบทุกเมนต์” ด้วยตนเอง

“เริ่มจากลูกสาวทำให้ก่อน แล้วผมก็เริ่มเขียนตั้งแต่จากโทรศัพท์มือถือ แล้วมาใช้โน้ตบุ๊ก ตอนนี้คนติดตามหมื่นกว่าคน ผมตอบทุกคอมเมนต์ ลูกสาวยังชมเลย มันเป็นความสุขที่ได้คุยกับคนอ่าน”

ยังไม่นับบทบาทนักจัดรายการวิทยุ แถม “อสมท.” ยังทำ “พอดแคสต์” ให้ “เล่าอะไรต่ออะไร” ที่มากมายด้วยสาระ และความเพลิดเพลิน แต่ถึงอย่างนั้น พล.อ.บัญชรก็ยังบอกว่า

“ยังมีเรื่องอยากเขียนอีกเยอะครับ ผมเป็นคนอ่านเยอะ หลายเรื่องเจอแล้วก็ยังแปลกใจว่า เอ! เรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร บางเรื่องคนรู้เยอะ อย่างเสรีไทย แต่คนไม่รู้ก็เยอะว่าอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือเสรีไทยชุดแรกที่โดดร่มลงมาจริงๆ แบบทหารเลย ตอนนั้นกองทัพไทยยังไม่มีพลร่มด้วยซ้ำไป แต่ท่านโดดมาลงที่ชัยนาทแล้วถูกจับ มหัศจรรย์มากว่าอาจารย์ป๋วยที่เรารู้จักว่าเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านมียศทางทหารด้วยนะ เป็นพันตรีของกองทัพอังกฤษ”

เปิดบทสนทนามาอย่างนี้ ได้เวลาเข้าประเด็นการพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ และ “ลุค” ในช่วงเวลาผ่อนคลายซึ่งไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนัก

เพิ่งผ่าน 24 มิถุนาฯ มาหมาดๆ มีนักการเมืองท่านหนึ่งออกมาพูดเชิงตำหนิว่า คณะราษฎร สุดท้ายแย่งชิงอำนาจกันเอง แต่นักวิชาการออกมาแย้ง ในฐานะเจ้าของผลงานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงนี้ มองอย่างไร ?

ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่เวลามองประวัติศาสตร์ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแย่งชิงอำนาจมีจริง แน่นอน แม้กระทั่งทหารด้วยกันเอง อย่าง 4 ทหารเสือ ในที่สุดพญาทรงสุรเดชไปทางหนึ่ง เจ้าคุณพหลฯ ก็ไปทางหนึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม แทรกเข้ามา การต่อสู้แย่งชิง มีแน่นอน แต่สิ่งที่อยากจะเน้นคือ ก่อนปี 2490 หมุดหมายของปีนั้นคือรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ก่อนหน้านั้น 15 ปี การต่อสู้ทางการเมืองมีตลอด แต่ไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น การต่อสู้เป็นไปตามความเชื่อทางการเมืองของแต่ละท่าน เขาต่อสู้เพื่ออำนาจแน่นอน แต่ไม่ได้คิดจะเอาอำนาจไปใช้ในประโยชน์ด้านโภคทรัพย์ ซึ่งจะต่างกับการเมืองไทย หลังปี 2492

คิดอย่างไรเมื่อมีคนออกมาติงว่า การที่ฝ่ายการเมือง อย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกมาพูดถึงประวัติศาสตร์ยุค 2475 เป็นการปลุกระดม ?

ผมเห็นด้วยกับความพยายามที่จะหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในช่วง 2475 นะ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยากจะรู้ว่า เรื่องจริงคืออะไร แต่วิธีคิดหรือจุดยืนของผมซึ่งบอกคนอ่านเสมอคือ ประวัติศาสตร์ไม่มีพระเอก ไม่มีผู้ร้าย ไม่มีคนถูก คนผิด แต่ทุกคนคือตัวละคร เมื่อตัดความรู้สึกไม่ว่ารักหรือเกลียดออกจากเรื่องราว เราจะหาเหตุผลได้ ไม่ต้องทะเลาะกัน จะมีความสุข สนุกที่จะค้นคว้า ผมเองค่อนข้างเป็นห่วงว่าสังคมไทยเมื่อมาถึงวันนี้ คนดูเหมือนจะมีมุมของตัวเอง แล้วปฏิเสธคนที่ไม่ได้อยู่ในมุมของตัวเอง เรา 2 คนคุยกัน บางทีผมก็ไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่ผมไม่ได้จัดคุณเป็นศัตรู แต่สิ่งที่ผมเห็นในปัจจุบัน คือถ้าไม่พูด ไม่เชื่อเหมือนเรา เขาเป็นศัตรู

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงหลังมานี้ ทหารถูกวิพากษ์เยอะ ในฐานะ ‘คนใน’ มีข้อแนะนำทั้งต่อวงการทหาร และสังคมอย่างไรบ้าง?

ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องนี้ คือหลัง 14 ตุลาฯ 16 ผมเรียนจบมาได้ 2-3 ปีแล้ว เพื่อนฝูงก็ไปรบเวียดนามมา เรามีความภาคภูมิใจในเกียรติยศ เพื่อนผมตาย ลูกน้องตาย เราตายเพื่อชาติ เราถูกปลูกฝังด้วยความคิดนี้ถึงมาเป็นทหาร แต่ 14 ตุลาฯ 16 ทหารถูกเหยียดหยาม ถูกรังเกียจจากสังคม แต่เมื่อมีคำสั่ง 66/23 ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำให้ทหารสามารถแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ได้ ความภาคภูมิใจก็กลับมา เพราะฉะนั้นกรณีที่เกิดในปัจจุบัน อาจจะถึงเวลาที่กองทัพจะต้องรำลึกถึงประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2523 ที่ป๋าเปรมประกาศใช้ 66/23 น่าจะต้องมีการทำงานทางความคิดกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนสมัยนั้นไหม

ในความเป็นทหารกับบทบาทนักเขียน มองเผินๆ ดูเป็นคนละศาสตร์กันอย่างสิ้นเชิง จุดร่วมคืออะไร ?

อันที่จริงผมว่าชีวิตทหารเอาไปเขียนนิยายได้ไม่รู้กี่รูปแบบ แต่มีประโยคหนึ่งที่อธิบายอะไรต่อมิอะไรในชีวิตทหารได้คือคำกล่าวของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านพูดกับลูกศิษย์ว่า นายต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อนจึงจะมาเรียนศิลปะ ผมก็คิดว่าไม่ใช่เฉพาะคนที่จะเรียนศิลปะเท่านั้น ยิ่งอาชีพทหาร ขั้นแรกต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์แล้วจึงเรียนรู้วิธีฆ่าฟัน ถ้ากลับไปสู่ความเป็นมนุษย์ อาชีพทหารหรือทุกอาชีพ จะไม่มีความแตกต่าง ความเป็นมนุษย์ในความหมายของผมก็เป็นเรื่องง่ายๆ คือ มนุษย์ไม่โหดร้าย มีเมตตา มีความรักต่อโลก ต่อเพื่อน

นามปากกา ‘วิชัย ภูเวียงกล้า’ เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากในกลุ่มนักอ่าน อยากให้ย้อนเล่ารายละเอียดการเข้าสู่วงการเพิ่มเติม ?

ต้องย้อนเล่าว่า เมื่อ พ.ศ.2524 ผมเข้ากรุงเทพฯ แล้วเริ่มสนิทกับเพื่อนรุ่นน้อง คือ คุณคำนูณ สิทธิสมาน เจอกันในงานเปิดตัวหนังสือของคุณชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เขาถามว่าทำไมเวลาทหารในกรุงเทพฯ ขึ้นรถเมล์ ถึงไม่แต่งเครื่องแบบให้เรียบร้อย หรือแต่งนอกเครื่องแบบให้หมดเรื่องหมดราว แต่ใส่กางเกงเครื่องแบบกับใส่เสื้อฮาวาย เบ่งหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ ผมก็อธิบายว่า ไม่ใช่หรอก ทหารไม่ได้มีรถขับทุกคน น้อยคนที่จะมีในยุคนั้น เวลามาทำงาน จะแต่งเต็มที่ขึ้นมามันก็อึดอัด ดาวเดิวอะไรไปเกี่ยวแก้มคนข้างๆ เข้า แต่จะแต่งพลเรือนไปก็ลำบากเวลาเปลี่ยน การแก้ปัญหาง่ายๆ คือ นุ่งกางเกงเครื่องแบบ แล้วถอดเสื้อเครื่องแบบไว้ที่ทำงาน ระหว่างเดินทางใช้เสื้อฮาวาย พอถึงที่ทำงานถอดเสื้อฮาวายออก แล้วเอาเครื่องแบบมาใส่ วิธีนี้สะดวกและไม่ผิดระเบียบด้วย เขาก็เลยถามเรื่องอื่นอีก ทำไมทหารม้า เสื้อสีอ่อน กางเกงสีเข้ม ผมก็เล่าให้ฟังว่ามีเหตุผลอย่างนี้ๆ คำนูณเห็นว่าน่าสนใจเลยชวนว่า พี่เขียนหน่อยสิ แนวสบายๆ ผมเลยตัดสินใจเขียนลงหนังสือ ข่าวจตุรัส เป็นหนังสือซ้ายจัดเลย เขาตั้งชื่อคอลัมน์ให้ว่า สอยดาวมาร้อยบ่า

ช่วงนั้นการจะเขียนหนังสือนอกวงการทหาร ต้องขออนุมัติถึง รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่กลัวว่าขอไปแล้วเดี๋ยวเขาไม่ให้ จะปิดโอกาสเลยไม่ขอ แล้วตั้งนามปากกาขึ้นมาแทน โดยยืมชื่อของรุ่นพี่ที่เป็นเจ้านายด้วย ชื่อว่า วิชัย ส่วนนามสกุล อยากจะให้มันดูทหารนิดๆ ให้น่าเชื่อว่านี่เป็นชื่อจริง เลยเอาภูเวียง ซึ่งเป็นชื่ออำเภอในขอนแก่น แล้วใส่คำว่ากล้าเข้าไป แต่ตอนหลังเขาก็รู้กันหมดเลยไม่ได้ใช้นามปากกา พวกพี่ๆ เขาก็มาเล่าว่า ในรุ่นตัวเองมีเรื่องแบบนั้น แบบนี้ พอเขียนไปสักพักหนึ่ง ก็จับความต้องการของตัวเองได้ว่า เราอยากจะบอกสังคมว่าเราเป็นมนุษย์ ฟังดูอาจจะหรูหราหน่อย มีสนุกสนาน มีเกเร มีหลับในห้องเรียน ในช่วงที่ผมเขียนหนังสือเป็นช่วงหลัง 6 ตุลาฯ 19 ไม่เท่าไหร่ สังคมยังแบ่งฝักฝ่ายเยอะว่าทหารเผด็จการ นักศึกษาประชาธิปไตยอะไรแบบนี้

ที่ผ่านมาผลงานหลากหลายแนวมากทั้งวงการทหาร สัตว์เลี้ยง ท่องเที่ยว ยังมีแนวที่อยากเขียน แต่ยังไม่ได้เขียน และคิดจะเขียนไหม ?

ก่อนหน้านี้ผมเขียนนิยายออกมาเล่มหนึ่ง เรื่องไฟรักไฟสงคราม ก็อยากจะเขียนอีกเล่มแต่ว่ามันเหนื่อย เล่มนั้นใช้เวลาเกือบสิบปี พล็อตมีอยู่เรียบร้อย ไม่พ้นเรื่องที่คนข้างนอกเขียนไม่ได้ คือ ชีวิตทหาร เตรียมชื่อเรื่องไว้แล้ว แต่พอเริ่มมาแตะงานประวัติศาสตร์โดยตรง มันก็เพลิน ผมโชคดีตรงที่พอเจอหนังสือที่ชอบ ซื้อทันที บางเล่มยังไม่ได้อ่าน บางเล่มซื้อมา 20 ปีเพิ่งมาหยิบอ่าน เพราะมีความจำเป็นต้องใช้งาน ผมก็จะขลุกอยู่ในห้องหนังสือ ประวัติศาสตร์มีเรื่องเยอะ เขียนไม่จบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมจะพยายามสกัดออกมาในมุมที่หลายคนอาจจะไม่รู้ ถ้าเป็นมุมของทหารยิ่งดี จะได้อาศัยเป็นเครื่องมืออธิบายชีวิตทหาร

นอกเหนือจากการใช้ ‘เนื้อหา’ จากแวดวงทหาร มียุทธวิธีทางการทหารที่ถูกนำมาปรับใช้ในงานเขียนไหม ?

ผมเองเคยเป็นฝ่ายเสนาธิการ ก็ค่อนข้างเชี่ยวชาญเรื่องการวางแผน และประยุกต์มาจากสิ่งที่เรียกว่า มายด์ แมป ซึ่งช่วยให้ลำดับความิด เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ อย่างไฟรักไฟสงคราม ภูมิใจที่สุด เพราะมันใช้ความพยายาม และเป็นงานใหม่ วิธีการเขียนเล่มนี้สะสมมาจากข้อมูลกบฏบวรเดช แล้วมาสร้างเป็นพล็อตเรื่องมาเชื่อมกับประสบการณ์ตรงเรื่องสงครามของผม คือ สงคราม พคท. ผมเห็นความแตกต่างของ 2 สงครามนี้แล้วอยากนำเสนอ สงครามกบฏบวรเดช จบลงด้วยความพยาบาท ยังต้องตามล้างตามผลาญกันอีกนาน ในขณะที่สงคราม พคท. จบลงที่การให้อภัย นี่คือไฮไลต์ที่ผมพยายามนำเสนอ

ส่วนนิยายที่ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องต่อไป คงมีคนอ่านจำกัดมาก จะใช้ฉากสงครามในลาว ซึ่งมันจะมีข้อมูลลับที่ผมค้นคว้าเก็บขึ้นมาได้ เป็นข้อมูลที่จนกระทั่งบัดนี้กองทัพก็ยังไม่ยอมเปิดเผย

ในวงการนักเขียนมีความขัดแย้งทางความคิดเชิงการเมือง ก็โต้ตอบกันผ่านงานเขียน แล้ววงการทหาร จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำอย่างไร ?

ความเห็นที่ต่างกันสังคมไหนก็มีทั้งนั้น แต่มันเป็นความแตกต่างที่อยู่ด้วยกันได้หรืออยู่ด้วยกันไมได้ ส่วนใหญ่ความคิดเห็นทางทหาร ถูกปลูกฝังให้เชื่อผู้บังคับบัญชา แล้วปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ฟังอย่างนี้ เหมือนง่ายที่จะเป็นผู้บังคับบัญชา อยากสั่งอะไรก็สั่ง ง่ายที่จะเป็นลูกน้อง สั่งอะไรก็ทำ ซึ่งไม่ใช่ มันมีระเบียบ สั่งไปแล้วติดคุกย้อนหลังได้ นี่คือความเป็นจริงของอาชีพทหาร ถ้าคนสั่งมีเหตุผล คนรับคำสั่ง 90 เปอร์เซ็นต์เชื่อ แต่ถ้าความขัดแย้งเกิดขึ้น นายคิดอย่าง ลูกน้องคิดอย่าง ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า กบฏเสนาธิการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 นำโดยนายทหารความคิดก้าวหน้า ในยุคนั้น คือ พล.อ.เนตร เขมะโยธิน

ทราบว่าตอนนี้กำลังเตรียมทำหนังสือไว้อาลัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ?

ครับ หนังสือเล่มนี้จะทำขึ้นในนามของมูลนิธิรักเมืองไทย ซึ่งปัจจุบัน พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ โดยผู้ก่อตั้งมูลนิธิและเป็นประธานท่านแรกคือป๋าเปรม ต่อมามอบหมายให้ พล.อ.มงคลเป็นประธานต่อในปี 2549 เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรมจึงมีการประชุมร่วมกับมูลนิธิในเครือและตกลงกันว่าจะจัดทำหนังสือที่ประกอบด้วยชีวประวัติ และคำไว้อาลัย โดยในส่วนของคำไว้อาลัย ทางมูลนิธิรักเมืองไทยจะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งผมจะเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและรวบรวม จุดประสงค์หลักเน้นไปที่ผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับป๋า สำหรับผู้ที่ตอบรับมาแล้วมีหลายท่าน เช่น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, พล.อ.อู๊ด เบื้องบน, พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, พล.อ.อัธยา แผ้วพาลชน พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นต้น รวมถึงกรรมการมูลนิธิรักเมืองไทย และ ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร อดีตที่ปรึกษาของท่าน ในส่วนของสื่อมวลชน จะมีนักข่าวอาวุโส เช่น คุณปราโมทย์ ฝ่ายอุประ คุณจัตวา กลิ่นสุนทร หลายท่านยังอยู่ระหว่างการติดต่อ

สำหรับผมคำสั่ง 66/23 ของ พล.อ.เปรม ทำให้สามารถแก้ปัญหา ยุติสงครามระหว่างคนไทยด้วยกันเองได้ แม้ไม่ได้ทำงานใกล้ชิดกับท่าน แต่เป็นคนรับนโยบายนี้ไปทำแล้วเห็นผล ว่าทำให้คนไทยไม่ต้องฆ่ากันเอง ในทรรศนะผม คงเขียนถึงท่านในจุดนี้ ซึ่งคงเป็นเรืองที่ไม่ได้ลึกลับอะไร

เป็นความรู้สึกเหมือนคนทั่วไปที่นึกถึงป๋า ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีต่อสถาบัน


 

เรื่องรักระหว่างรบ ‘สัญญาจะเขียนถึงกันทุกวัน’

“คงไม่ถึงกับโรแมนติกเหมือนในหนัง”

คือคำตอบจากปาก พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ เมื่อถูกถามถึงเรื่องราวความรักระหว่างไปปฏิบัติภารกิจในเวียดนามเมื่อครั้งยังหนุ่มแน่น ขณะที่แฟนสาวอยู่ที่เมืองไทย

“ผมไปรับราชการที่ปักษ์ใต้ ปี 2512 ภรรยาผมเรียนปี 2 ที่ มช. พอปิดเทอม เขากลับบ้านที่นครศรีธรรมราช พ่อเป็นทหารบ้านอยู่หลังค่าย เลยเจอกันที่ตลาด ก็ผูกสมัครรักใครกัน พอเขากลับไปเรียนต่อ ผมก็อยู่นครฯ อีกปี จากนั้นต้องไปเวียดนาม การติดต่อใช้จดหมายอย่างเดียว สัญญาจะเขียนถึงกันทุกวัน วันไหนไม่ได้เขียน วันรุ่งขึ้นก็ต้องเขียน 2 ฉบับ ขึ้นต้นว่า เม้าที่รัก ซึ่งเป็นชื่อเล่นของเขา (ยิ้ม)”

ส่วนวิธีพิชิตใจ เน้นเป็นไปตามธรรมชาติ คุยเรื่องเพลงสุนทราภรณ์และภาพยนตร์ ซึ่งทั้งคู่ชอบเหมือนๆ กัน

พล.อ.บัญชรยังบอกว่า “กระซิบเลยนะ แฟนผมสวย สวยมาก เป็นดาวเด่นของนครเลย ผมกลัวว่าเดี๋ยวคนอื่นมาแย่งจีบ ตอนนั้นเขาได้งานที่ ธ.ก.ส.หนองคาย เลยบอกว่าไม่ต้องไปทำงานหรอก ผมอยู่เวียดนาม เงินเดือนไม่มีคนใช้ ให้เธอไว้นะ กลับมาจะแต่งงานกัน พอกลับมาต้นปี 2515 เดือนมีนาคม ก็แต่งงาน มีลูก”

เรื่องราวจดหมายรัก ยังไม่จบแค่นั้น เพราะต่อมา พล.อ.บัญชร เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่ายังเขียนถึงกันอยู่เสมอ

“ทำแบบนี้ 200 กว่าวันในเวียดนาม 300 กว่าวันในอเมริกา จดหมายพวกนี้แฟนเก็บใส่ลังไว้ เสียดายปลวกมากินหมดเลย สมัยก่อนยังเป็นแอร์เลตเตอร์”

กระดาษสูญสลาย แต่เรื่องราวฝังลึกในความทรงจำ เช่นเดียวกับเรื่องราวของลูกๆ เมื่อครั้งยังเด็ก พล.อ.บัญชรในบทบาทของ “คุณพ่อ” มีความสุขในการซื้อหาเสื้อผ้าเด็ก จากห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวหิ้วไปฝาก โดยเน้นแนวน่ารัก และ “สีชมพู”

“เสื้อผ้าลูกนี่เลือกเองเลย เลือกตามความรู้สึกของเราว่า ใส่แล้วน่ารัก สมัยเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว เสื้อผ้าเด็กไม่ค่อยมีขาย พอผมเข้ากรุงเทพฯ เมื่อไหร่ก็ต้องมาเซ็นทรัลลาดพร้าว ซื้อเสื้อผ้าดีๆ กลับไปให้ลูก คนนครฯ เขาก็ตื่นเต้น เวลาเห็นลูกสาว 2 คนแต่งตัวน่ารัก ผมเลือกเป็นน่ะ!”

เล่าไปยิ้มไป รายละเอียดแจ่มชัดราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image