นิติศาสตร์ต้องรับใช้สังคม ‘ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวณิชย์’

48 ปีแห่งการก่อตั้งคณะ 48 ล้านเพื่อก้าวต่อไปของ “ฬ”

ตัวอักษรสีชมพูบนแบ๊กดร็อปงานก้าวขึ้นสู่ปีที่ 48 ของการก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บ่งบอกความมุ่งมั่นต่อการนำพาคณะทะยานไปข้างหน้าภายใต้นโยบาย “นิติศาสตร์เพื่อสังคม”

เป็นคณบดีหญิงคนแรกของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไฟแรงจนบางครั้งถูกแอบเมาธ์ลับหลังว่าเป็นเจ้าโปรเจ็กต์

ยกตัวอย่างกิจกรรมนิติศาสตร์เพื่อสังคม อาทิ ชมรมนิติสังคมปริทรรศน์ พานิสิตออกไปเรียนรู้วิถีและปัญหาในสังคมจริง เพื่อนำมาพัฒนาด้วยกระบวนการคิดและออกแบบที่เรียกว่า นิติศาสตร์สร้างสรรค์ (Legal Design Thinking) การพัฒนากิจกรรมของชมรมนิสิตนักศึกษากฎหมายของเอเชีย (ALSA) ให้มีกิจกรรมเพื่อสังคมนอกจากไปร่วมในเวทีต่างประเทศกับนานาชาติ โดยจัดแคมป์ไปสำรวจปัญหาทางสังคมและนำมาอภิปรายหาประเด็นกฎหมาย นอกเหนือจากวิชากฎหมายเพื่อสังคมที่มีอยู่แล้วในหลักสูตร ที่นำนิสิตไปเรียนรู้ผลกระทบและการบังคับใช้กฎหมายในสังคมจริง และศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน ซึ่งเผยแพร่และให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไป และยังมีกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศอีกหลายโครงการ

Advertisement

“ที่เพิ่งเปิดตัวในโอกาสย่างเข้าสู่ปีที่ 48 คือ เว็บไซต์ใหม่ www.law.chula.ac.th รวบรวมกิจกรรมทางวิชาการทั้งหมดที่เราจัดในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่คณะจัดขึ้น เป็นคณบดีมา 1 ปี 8 เดือน ตั้งใจจะจัดเดือนละครั้ง 2 เดือนครั้ง ไปๆ มาๆ เกินเป้า (หัวเราะ) รวม 20 กว่าครั้ง

แล้ว พอมีประเด็นกฎหมายที่น่าสนใจอะไรขึ้นมา เราก็ชวนกันจัด เรียก

‘เวทีเสวนา ฬ. นิติมิติ’ ก็รวบรวมขึ้นเว็บไซต์ เพื่อคนที่สนใจสามารถย้อนกลับมาฟังได้ รวมทั้งรายการวิทยุนิติมิติ เป็นการให้ความรู้กฎหมายแก่ประชาชนผ่านทางสถานีวิทยุจุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2538 เราก็รวบรวมมาไว้ด้วย”

Advertisement

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวณิชย์ เป็นคนมหาสารคาม บุตรสาวของคุณพ่อ พล.ต.ต.ประยุทธ กับคุณแม่ ภญ.กรรณิการ์ ศุภจริยาวัตร ศิษย์เก่าเตรียมอุดมศึกษา ก่อนจะเอ็นทรานซ์เข้าเป็นลูกพระเกี้ยว รุ่น 32

เป็นเด็กที่เรียนเก่ง ชอบทำกิจกรรมตั้งแต่อยู่ประถม 1 บำเพ็ญประโยชน์ จิตอาสาต่างๆ เป็นหัวหน้าห้อง ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เป็นแบบนี้มาตลอด นอกจากชอบกฎหมายยังอยากเรียนบัญชี เธอเล่าว่า ความคิด ณ ตอนนั้น จะได้เรียนควบคู่กับกฎหมายที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ความที่เป็นคนเรียนเร็ว สอบเทียบตั้งแต่ชั้นมัธยม 4 แล้วสมัครเข้าเรียนนิติศาสตร์ มสธ. พอมัธยม 5 สอบเอ็นทรานซ์ เลือกคณะบัญชีทุกอันดับ แต่ติดนิติศาสตร์ จุฬาฯ ไว้อันดับสุดท้าย วัดดวงกันไป ปรากฏว่าได้ (หัวเราะ)

ปี 2535 สำเร็จปริญญานิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหรียญทอง ด้วยสอบได้เป็นที่ 1 ของชั้น สอบชิงทุนจุฬาฯ ไปศึกษาต่อปริญญาโทกฎหมาย 2 ใบ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

ล่าสุด ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนที่ 11 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 จนปัจจุบัน

ตอนเด็กมีความเห็นอย่างไรที่บางคนมองว่าวิชานิติศาสตร์ที่สอนกันมาล้มเหลว เพราะเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์?

ตอนเป็นเด็กไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น รู้แต่ว่าอยากเรียนกฎหมาย เพราะเป็นคนชอบติดตามเรื่องการเมือง ตั้งแต่เด็กจากสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาถึงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐในการพัฒนาประเทศ เริ่มมีคนพูดถึงการออกกฎหมาย การให้สิทธิประโยชน์ในทางกฎหมายต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มมีกระแสทางการเมืองที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตย ตอนนั้นรู้แล้วว่านักกฎหมายต้องทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้แน่ๆ เป็นสิ่งที่เราต้องการจะทำ คือ อยากศึกษาและหยิบกฎหมายมาทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่ามันจะมีผลขนาดไหน ก็ตั้งใจเรียนหนังสือ และทำกิจกรรมคู่กันไป ตอนเข้ามาอยู่นิติฯ จุฬาฯ เข้ามาตอนอายุน้อยมาก เข้ามาตอนอายุ 16 ปี เพราะเรียนเร็ว เข้ามาก็เป็นหัวหน้าชั้นปี 1 เลย มาแล้วก็ทำให้สุด สนุกกับการได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ เช่น จัดงานวิชาการ เสวนา อภิปราย เชิญคนนั้นคนนี้มาพูด อย่างประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหน สังคมไทยจะเป็นเช่นไร มีการสัมมนานิสิตนักศึกษากฎหมายทั่วประเทศ นี่คือกิจกรรมที่ทำตอนเป็นนิสิต จนจบก็เป็นประธานกรรมการบัณฑิตของจุฬาฯ ทั้งหมดที่จบในปีนั้น เป็นประธานกรรมการบัณฑิตหญิงคนแรก

อยากใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อนำพาสังคมไปสู่สิ่งที่ดี แต่มาเป็นอาจารย์?

ตอนเรียนจบได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ต้องตัดสินใจว่าจะทำอะไร ไปภาคเอกชนก็ดีแต่อาจไม่เหมาะกับตัวเอง สุดท้ายเลือกเป็นอาจารย์ เพราะคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เพราะเราคือคนสร้าง คนผลิต คือคนที่กำลังจะส่งนักกฎหมายออกสู่สังคม ถ้าต้นทางไม่ดี จะส่งอะไรไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ดี ดังนั้นการที่เราจะสร้างนักกฎหมายดีๆ ให้กับสังคมให้ออกไปสู่วงการตุลาการ อัยการ เป็นตำรวจ ไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนด้วย ตรงนี้แหละคือต้นทางจริงๆ ตอนที่เรียนหนังสือ ทำกิจกรรม เรารู้ว่ามหาวิทยาลัยนี่แหละคือสิ่งที่จะหล่อหลอม ปลูกฝังความคิดเพื่อที่จะให้กับสังคมได้ ก็เลยเลือกเป็นอาจารย์ รวมทั้งมีความเป็นอิสระในการที่จะคิดจะทำในสิ่งที่เราสนใจ ในขณะที่ถ้าไปอยู่ในที่อื่นเราอาจถูกตีกรอบ เช่น ในภาคเอกชน ตำรวจ อัยการ ศาล ยังไงก็ถูกตีกรอบด้วยบทบาทหน้าที่

เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นคณบดีไหม?

ไม่เคยค่ะ รู้แต่ว่าอยากเป็นอาจารย์ตั้งแต่ยังเรียน ไม่ได้เป็นนักวิชาการจ๋า แต่เป็นคนทำงาน ทำกิจกรรม จึงรู้สึกว่าสิ่งนี้จะปลูกฝังนิสิต คนรุ่นใหม่ คนรุ่นต่อไปได้ดีที่สุด ผ่านการฝึกจริง ทำจริง ไม่ใช่คนเขียนตำรา แต่ชอบและอยากให้เด็กลงมือทำ มันคือการสร้าง มันคือการสอน เป็นพี่เลี้ยง เป็นโค้ชเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ ได้สิ่งที่ดีที่สุด เป็นความคิดของเราเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว บังเอิญเรียนดีมากด้วย พอเรียนจบ ทุนจุฬาฯ เปิดพอดีก็เลยลองสอบชิงทุน จนไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แล้วไปจบปริญญาเอกที่วิสคอนซิน จุฬาฯ จึงเหมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 ที่ให้ทุกอย่าง รวมทั้งอาชีพด้วย

อยากให้แบ่งปันประสบการณ์ตั้งแต่ตอนเป็นนิสิต?

ตอนเป็นนิสิตทำกิจกรรมเยอะ ทั้งวิชาการกึ่งสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ช่วงนั้นมี อาจารย์ที่คณะหลายท่านไปเป็นที่ปรึกษาให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งเป็นการยืนยันถึงบทบาทของอาจารย์ต่อนโยบายระดับประเทศ กิจกรรมที่ประทับใจอีกอย่าง คือ การออกค่ายกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วค่ายกฎหมายมีมาตั้งแต่ปี 2520 กว่าๆ แต่หยุดไปพักหนึ่ง ก็ชวนๆ อาจารย์รื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ตอนนั้นเป็นนิสิต ปี 3-4 ค่ายกฎหมายคือสิ่งที่ใช่เลย เราเรียนรู้พัฒนาตัวเองเยอะมาก ค่ายกฎหมายคือการนำนิสิตจำนวนหนึ่งไปเผยแพร่กฎหมายให้กับประชาชนในต่างจังหวัด เรื่องการทำสัญญากู้ ค้ำประกัน จำนำ จำนอง กฎหมายที่ดิน รวมทั้งมีเปิดโต๊ะรับฟังปัญหากฎหมาย ไปจนถึงพาชาวบ้านไปเดินเรื่องที่หน่วยราชการต่างๆ โดยมีอาจารย์เป็นผู้ดูแล

ตอนแรกคิดว่าเราจะไปช่วย แต่ในทางกลับกันเราต่างหากที่เป็นคนได้เรียนรู้ของจริง เลยทำให้ตอนไปเรียนต่อต่างประเทศเข้าใจคำว่า Law in book กับ Law in action สิ่งที่เราเรียนกับสิ่งที่เป็นอยู่มันต่างกัน

กฎหมายสากลกับกฎหมายของไทยอยู่บนรากเดียวกันหรือไม่?

กฎหมายของแต่ละประเทศ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ มันจะสะท้อนถึงทุกอย่าง รากเหง้า ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ความคิดความเชื่อ ระบบการปกครอง แต่ว่ารากฐาน คอนเซ็ปต์ของกฎหมายมันไม่ต่างกันมาก คือเพื่อความเป็นธรรม แต่ว่าตรงไหนที่ความเป็นธรรมยังไง ตรงนี้คือสิ่งที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนทั่วโลก ก็มุ่งอย่างเดียวกัน คือสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม

อะไรที่ได้จากการไปศึกษาต่อต่างประเทศแล้วหยิบมาใช้?

เป็นการเปิดโลกของเรา ได้เห็นอะไรเยอะขึ้น ที่โน่นเขาสอนให้เราคิด สอนให้เราเห็นผลกระทบของกฎหมาย เห็นพัฒนาการของกฎหมาย เช่น คนยุคหนึ่งไปเรียนอาจไปในช่วงที่มีคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา แต่ตอนเราไปก็เริ่มมีการทบทวนสิทธิของคนในสังคมหรือเหยื่อที่อาจถูกกระทบจากการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีนัก คือเราได้ไปเห็น และชอบดูว่ากฎหมายมันพัฒนาไปยังไง แล้วมันจะไปยังไงต่อ ถ้าไปดูแต่เนื้อ ดูแค่ตัวบทกฎหมาย แล้วหยิบมาใช้ทันที อาจจะไม่เหมาะ ต้องศึกษาถึงผลกระทบ สามารถใช้กับบริบทของสังคมไทยได้มากน้อยแค่ไหน หรือเราจะต้องตามเขาไปทั้งหมด ซึ่งเราก็ได้คำตอบว่าก็ไม่ควรเป็นเช่นนั้นทั้งหมด ต้องเอากลับมาดูว่าจะมีอะไรที่ดีที่สุดสำหรับเรา อีกส่วนหนึ่งที่ได้เห็นมาก และคิดว่ามีผลมากต่อตัวเอง ณ เวลานี้ คือการเปิดโอกาสให้นิสิตทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ กันค่อนข้างเยอะ กิจกรรมเพื่อสังคม ได้ทำ law clinic ทำศาลจำลอง เขียนบทความ เป็นกิจกรรมที่สร้างความเป็นนักกฎหมายที่ดีได้เยอะมาก

คล้ายค่ายกฎหมายที่เคยทำ?

คล้ายๆ แต่ว่าเขาไปไกลกว่านั้น คือ ของเราที่จุฬาฯ มีข้อจำกัดอยู่พอสมควร อาจารย์จะต้องไปดูแล เราไม่สามารถปล่อยนิสิตไปเดี่ยวๆ ได้ ขณะที่เรามีอาจารย์ในคณะทั้งหมด 45 คน เรียนต่อ 7 คน กับนิสิตที่เรามีอยู่ 1,800 คน แต่เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ แต่ตอนนี้ใช้อีกวิธีหนึ่ง แทนที่เราจะไปค่ายกฎหมายนานๆ เราจะมีค่ายอาสาพัฒนาชนบท ซึ่งเด็กๆ ไปอยู่แล้ว ที่หลายคนตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วต้องทำไหม เป็นนักกฎหมายทำไมต้องแบกปูน สร้างห้องสมุด ล้างห้องน้ำ แต่เรามองว่าตราบใดที่เด็กมีจิตอาสาอยากทำอะไรก็ตามที่เป็นกิจกรรมสำหรับเด็ก และเด็กเป็นคนคิด เราสนับสนุนทุกทาง ไม่ว่าจะวิชาการหรือไม่วิชาการก็ตาม ตราบใดที่น้องๆ สนุก ยังอยากทำอะไรให้กับสังคม ได้เรียนรู้ และยังหาที่ๆ ต้องการความช่วยเหลือตรงนั้นได้ เราก็พร้อมจะสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันก็สอดแทรกด้วยว่า ในฐานะนักกฎหมายอย่าไปสร้างอย่างเดียว เรามีศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชนอยู่แล้ว ก็ไปด้วยกัน ไปทำค่ายกฎหมายเล็กๆ ต่อไปถ้าน้องๆ รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ก็อาจกลายเป็นค่ายกฎหมายใหญ่เต็มรูปแบบอย่างที่เราอยากจะให้เป็นก็ได้

คำจำกัดความของ ‘นิติศาสตร์เพื่อสังคม’ ที่ชูธงในสมัยของคณบดีปารีณาคืออะไร?

จริงๆ นิติศาสตร์เพื่อสังคม เราไม่ได้จำกัดเฉพาะสำหรับนิสิตของเราเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าตัวเองมองจริงๆ มันคือทุกระดับของคณะที่ต้องทำเพื่อสังคม ตั้งแต่อาจารย์ของเราที่ถึงแม้มีน้อย แต่เราเชื่อมั่นในคุณภาพ ว่าอาจารย์เหล่านี้สามารถสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อสังคมได้ เราก็พยายามสนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย วิชาการ ตามความสนใจของอาจารย์ เพราะอย่างที่บอกว่ากฎหมายมันมีอยู่ในทุกๆ มิติของสังคม ไม่ว่าอาจารย์จะเชี่ยวชาญด้านไหน อย่างพูดถึงรัฐธรรมนูญ เราก็มีอาจารย์ที่ทำเรื่องนี้ พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็มีอาจารย์ที่ทำเรื่องนี้ พูดถึงเรื่องพลังงานก็มีอาจารย์ที่ทำเรื่องนี้ เทคโนโลยี เราก็มี แรงงาน สิ่งแวดล้อมเราก็มี เราพยายามที่จะกระตุ้นให้อาจารย์ได้ทำงานเพื่อตอบสนองประเด็นต่างๆ ของสังคม

เคยคิดอยากที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายบ้างไหม?

มีหลายฉบับที่ต้องเปลี่ยน อาจารย์ในคณะก็มีส่วนช่วยผลักดันอยู่ในหลายๆ เรื่อง แล้วแต่ความเชี่ยวชาญของอาจารย์แต่ละคน ตอนนี้ที่ทำอยู่คือ การคุ้มครองผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น ในทางอาญา มันจะมีโอกาสที่ผู้สูงอายุเข้าไปเป็นผู้ต้องหา เป็นนักโทษ ถูกทำร้ายเป็นผู้เสียหาย กระบวนการสำหรับผู้สูงอายุเหล่านี้ จะเหมือนกันกับผู้ต้องหา จำเลย ผู้เสียหาย ที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ จะเหมือนคนทั่วๆ ไปไหม การให้การคุ้มครองคนเหล่านี้ควรจะเป็นยังไง อย่างเห็นข่าว อายุ 72 ปีถูกข่มขืน เราควรจะมีกระบวนการพิเศษในการดูแลหรือเปล่า เป็นโครงการหนึ่งที่กำลังศึกษา อีกส่วนหนึ่งที่กำลังจะทำคือกฎหมายสำหรับผู้สูงอายุ อีกหนึ่งโครงการกฎหมายเพื่อประชาชนว่า เราอาจจะรับปรึกษากฎหมายได้ไม่ทั้งหมด แต่การเผยแพร่กฎหมายที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุ

มองเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับคนข้ามเพศอย่างไร?

สนใจเรื่องนี้มาก ความเท่าเทียมทางเพศ เรามีกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศแล้ว ก็อยู่ในช่วงของการบังคับใช้ ทำยังไงถึงจะทำให้บรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมายในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ได้มองแต่ผู้หญิง คนข้ามเพศ LGBT เท่านั้น ความเท่าเทียมมันต้องไปถึงผู้ชาย ทำยังไงถึงจะเกิดความเท่าเทียม เพราะทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน ความเท่าเทียมมันไม่เหมือนกับความเสมอภาค คำว่า “ความเท่าเทียม” แปลว่าทุกคนได้ทุกอย่างเท่ากัน แต่ “ความเสมอภาค” ทุกคนได้ทุกอย่างเท่ากันจะต้องมีความเป็นธรรมอยู่ด้วย โดยที่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศไหน ต้องมองทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน เป็นหนึ่งคนที่สนับสนุนเรื่องนี้ แล้วยิ่งตัวเองเป็นผู้หญิง เราไม่รู้สึกว่าการเป็นผู้หญิงจะเป็นข้อด้อยหรือข้อเด่น แต่เรารู้ข้อจำกัดทางสรีระของเรา แต่ก็รู้ว่าสรีระไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการใช้ความรู้ความสามารถ

การเป็นคณบดีผู้หญิงถือเป็นข้อได้เปรียบไหมในการที่เราจะผลักดัน LGBT ขึ้นมา?

อาจด้วยความเป็นผู้หญิง และเป็นแม่ด้วย เราจึงมีความละเอียดอ่อน มีความเข้าใจในบริบทของสังคมที่ประกอบด้วยคนหลากหลาย เราจะเห็นว่าลูกทุกคนต้องการความรัก ลูกชายก็ต้องการความรัก ความเข้าใจ การดูแลไม่ต่างจากลูกสาว ลูกสาวก็ต้องการการยอมรับในสังคมไม่ต่างกับลูกชาย ทั้ง 2 คนต้องมีโอกาสในการที่จะเป็นตัวของตัวเองเหมือนๆ กัน หรือถ้าลูกสาวที่ไม่อยากเป็นลูกสาว ลูกชายที่ไม่อยากเป็นลูกชาย เพราะเขามีรสนิยมอีกแบบหนึ่ง เขาก็ควรได้เป็นตัวของเขาเอง เลยทำให้เราเข้าใจ และรู้สึกว่าสังคมควรที่จะยอมรับในความหลากหลายของคน

ในฐานะผู้สร้างบัณฑิตน้ำใหม่ มองปัญหากฎหมายบ้านเราอย่างไร ปัญหาตรงไหนที่ควรแก้ไข?

แตะลงไปตรงไหนในสังคม ก็มีจุดที่เจอปัญหากฎหมายและสามารถพัฒนาได้ทั้งหมด เรื่องที่เป็นอันดับต้นๆ ของส่วนตัวคือเรื่อง การเข้าถึงความยุติธรรม ทำยังไงที่ประชาชนจะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ และได้รับการบริการทางกฎหมายได้เต็มที่ เป็นธรรม ทำยังไงประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหา บุคลากรต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ได้รับความเป็นธรรมในบทบาทที่แตกต่างกัน บางทีก็มองว่าตำรวจรังแกประชาชนอย่างเดียว ก็ต้องมองลงไปลึกๆ ว่าเขามีข้อจำกัดหรือมีปัญหาของเขาหรือไม่ แล้วก็ไปแก้ กับบางทีกับผู้เสียหาย ผู้ต้องหา ก็มีทัศนคติเหมารวมว่า ถ้าคุณสักทั้งตัว เป็นโจรแน่ๆ ทำยังไงให้คนเหล่านี้ได้พิสูจน์ตัวเองได้ไหม ในขณะเดียวกันผู้เสียหายก็ต้องมีคนไปเยียวยาเขา ไม่ใช่ว่าจ้องจะลงโทษคนทำผิดอย่างเดียว แต่ไม่เยียวยาดูแลผู้เสียหายเลย

เรายังมองว่า การพัฒนากระบวนการยุติธรรมของเราไม่ทำแบบเป็นภาพรวม-องค์รวม บอกว่า อย่าเอาคนเข้าคุก ถ้าไม่เอาเข้าคุก แล้วจะมีวิธีการจัดการยังไงกับคนที่ไม่ให้เอาเข้าคุก ปล่อยไปเฉยๆ โดยไม่หาทางฟื้นฟูช่วยเหลือให้เขาได้ทำตัวดีขึ้น ส่วนใหญ่สาวไปลึกๆ จะพบว่าคนทำผิดคือผลกระทบจากปัญหาสังคม เขาไม่มีโอกาส ทำยังไงให้คนที่ทำผิดแล้ว ได้กลับมีที่ยืนในสังคมได้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราคิดแยกกันหมด ทุกอย่างในเมืองไทยคิดเป็นจุดๆ หน่วยงานไหนรับผิดชอบอะไร ก็คิดของตัวเองไป มันไม่มีการคิดภาพใหญ่ด้วยกัน ระบบการร่างกฎหมายก็ยังเกิดจากการเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรามีความหวงพื้นที่ของตัวเองพอสมควร แต่เราไม่ได้มองว่ามันเกี่ยวกับหน่วยงานไหนบ้าง นี่คือสิ่งที่อยากจะเห็น มองเป็นเรื่อง อย่ามองเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ

อยากผลิตน้ำใหม่ให้ออกมาเป็นอย่างไร?

สำคัญที่สุด ต้องรู้แน่น ทำเป็น คิดเป็น และมีใจเพื่อสังคม ทั้งหมดพูดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพาเขาไปทำ สำหรับที่จุฬาฯ เราไม่ห่วงเรื่องเรียน แต่ทำยังไงให้เขาคิดเป็นคิดมากกว่ากฎหมายที่เขียนไว้ เห็นผลกระทบของกฎหมาย เห็นช่องว่างของกฎหมายที่จะสามารถพัฒนาให้ดีขึ้น ให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นจริง ช่องว่างอยู่ตรงไหน ทำให้เขาทำเป็น มีทักษะ ตรงนี้สำคัญ ต้องพาเขาไปเห็น อย่างเด็กที่เข้าไปในเรือนจำ เขาจะเข้าใจมากขึ้น

เราอยากเห็นคณะก้าวหน้ามั่นคง อยากเห็นอาจารย์ของเราเป็นหลักในทางวิชาการ เราอยากเห็นนิสิตเป็นหลักในเรื่องของการสร้าง เป็นความหวังรุ่นใหม่ อยากเห็นงานวิชาการของอาจารย์ไปโลดแล่นในเวทีต่างประเทศได้ หวังมากไปไหม แต่เรารู้สึกว่าถ้าทำได้ มันก็น่าจะดีนะ ทุกอย่างจึงตั้งขึ้น และต้องเดินไปให้ถึง

แต่ถ้าไม่ถึง ก็ถือว่าเราได้ลงมือทำเต็มที่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image