นัดกันนอกสภา บทสนทนาที่ไม่มีฝ่ายค้าน ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’

ไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเกริ่นนำให้มากความ สำหรับ ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้มีทั้งคำนำหน้าว่า นายแพทย์ และ ส.ส.น่าน สังกัดพรรคเพื่อไทย อดีต “ดาวสภา” ปี 52 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยการยกย่องของสื่อมวลชนตั้งแต่ยังไม่มีเฟซบุ๊กให้กดไลค์ โดยในตอนนั้นทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน”

“เหตุผลที่เขาให้ก็คือลักษณะการอภิปรายเน้นเนื้อหาสาระ ผมเน้นการพูดให้เข้าใจง่ายไม่กระแนะกระแหน ไม่ใช้วาทกรรมในการพูดถึงบุคคลอื่น”

ตัดฉากมาในวันนี้ ยังฟอร์มดี ไม่มีตก ล่าสุดได้รับการโหวตเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สดๆ ร้อนๆ ในวันที่ 12 กรกฎาคม

เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2504 เติบโตในจังหวัดน่าน ใช้ชีวิตในแบบที่เจ้าตัวบอกว่า “ก็เป็นเด็กบ้านนอกน่ะครับ”

Advertisement

ชล แปลว่าน้ำ ชื่อ “ชลน่าน” คือน้ำน่าน ซึ่งเป็นเส้นเลือดเส้นหลักของจังหวัดน่าน

พ่อทำสวน ทำไร่ เคยอยู่วัด ปั่นจักรยานไปโรงเรียน เส้นทางชีวิตนำพาให้ได้เข้าศึกษายังคณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล จนได้เป็นคุณหมอ และ ผอ.โรงพยาบาล

คว้าปริญญาโทอีกใบในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Advertisement

ตัดสินใจลงสนามการเมือง ชนะใจประชาชน ได้นั่งเก้าอี้ ส.ส.น่าน ต่อเนื่องยาวนานหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร

บ่ายโมงตรงในวันธรรมดาๆ ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทยซึ่งกำลังมีการอบรมเข้มข้นด้านการใช้ “ทวิตเตอร์”

ชลน่าน รับนัดพูดคุยนอกสภา มาในเสื้อคลุมที่ตัดเย็บจากผ้าพื้นเมืองล้านนา แขวนพระ “หลวงพ่อดอนตัน” เกจิอาจารย์ดังมากของเมืองน่าน สมเป็น ส.ส.ชาวน่านของคนน่านโดยแท้

 

สื่อยกเป็นดาวสภา เพราะอภิปรายด้วยสาระ ใช้ภาษาเข้าใจง่าย ตรงนี้เชื่อมโยงกับความเป็นแพทย์ไหม ที่ต้องพูดคุยคนไข้ อธิบายญาติ หรือเป็นธรรมชาติของตัวเองอยู่แล้ว ?

น่าจะทุกอย่างรวมกัน ในอาชีพแพทย์ต้องเจอคนเยอะ ต้องอธิบาย เผอิญผมมาเป็นผู้แทน หลักสำคัญคือการอภิปราย สภาคือที่พูด การอภิปรายคือการพูดให้เห็นข้อเท็จจริง มีหลักฐานประกอบ คือการให้เหตุผล ให้อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อความเห็นของเรา โดยต้องพูดผ่านประธานเท่านั้น เพราะในสภามีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล มีฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายค้าน การไปพูดโดยตรงต่อกันเป็นเรื่องพึงระวัง เพราะจะไปปะทะกันได้

ก่อนอภิปรายแต่ละครั้ง ทำการบ้านเยอะไหม เตรียมตัวอย่างไร เคยเข้าอบรมจริงจังหรือเปล่า ?

ก็ทำการบ้านพอสมควรนะ ในการที่จะเอาเนื้อหาสาระต่างๆ ไปอภิปรายในสภา การจะพูดอะไรต้องมีเค้ามีโครง มีโครงสร้างเนื้อหาของการพูดทั้งหมด แต่โชคดีหน่อย ตอนที่เป็น ผอ.โรงพยาบาล มีพรรคพวกที่เขาสนใจเรื่องการฝึกพูด เราก็ไปดูเขา ตอนนั้นมีสโมสรฝึกการพูด เลยไปฟัง หลังจากนั้นก็พยายามเอามาจัดตั้งเป็นสโมสรฝึกการพูดที่โรงพยาบาล เราก็เป็นผู้วิพากษ์ด้วย ทุกคนต้องมา “ไต่บท” เริ่มจากการพูดแนะนำตัว การกล่าวสุนทรพจน์ มันก็ได้จากตรงนั้นมาด้วย

ก่อนเปิดสภา ดูเหมือนมีคนพยากรณ์ว่าการอภิปรายในสภาอาจไม่ “แซ่บ” เพราะ ส.ส.เก่าและเก๋าเกมในการพูดหลายคนหลุดไป แต่ปรากฏว่าตรงกันข้าม เพราะเข้มข้นเหลือเกิน แต่ด้วยสาระ ไม่ใช่วาทะแนวตีฝีปาก ?

ใช่ อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่ง ส.ส. ยุคเดิมชอบใช้วาทกรรม มีความโน้มเอียง พูดเอามันส์ แต่เดี๋ยวนี้หันมาใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายอะไรต่างๆ นี่เป็นภาพที่ดีขึ้น และที่สำคัญการใช้วาทกรรมในยุคนี้มันใช้ไม่ได้ด้วย ถ้าคุณพูดดี เป็นประโยชน์ แต่ถ้าพูดไม่ดี สื่อออกไปหมดเลย พูดออกไปปั้ง! ถ้าปัง ก็ปังไปเลย แต่ถ้าพังก็พังไปเลยนะ และคนยังสามารถค้นสิ่งที่คุณเคยพูดไว้ก่อนมาเปรียบเทียบง่ายมาก นี่เป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง มีทั้งบวกทั้งลบ

ความเปลี่ยนแปลงในสภาใหม่ เกิดขึ้นเพราะ ส.ส.หน้าใหม่เข้าไปเปลี่ยนน้ำเยอะ ?

ปกติในการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่มี ส.ส.ใหม่ ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ยุคนี้ครึ่งหนึ่งเลย ของเพื่อพรรคไทย 34 คน วันก่อนเราจัดเวทีให้คนรุ่นใหม่ฝึกการอภิปราย ก็ได้รับความสนใจ คนให้ความสำคัญ เราก็ฝึกให้สมาชิกเรา มีคอร์ส อย่างวันนี้ก็ฝึกเรื่องทวิตเตอร์กัน ด้วยความที่มีคนใหม่กึ่งหนึ่ง โอ้โห สภามันก็เปลี่ยนเยอะ เหมือนเรื่องการแต่งกายนั่นแหละ นี่เป็นผลของการที่คนใหม่เข้ามาเยอะ ถามว่าเขาเจตนาไหม เขารู้ข้อบังคับไหม ก็น่าจะรู้ แต่อาจพยายามที่จะแสดงออกเรื่องความหลากหลาย เพราะเป็นวิธีการต่อสู้อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของวิธีการทำงานในสภา ก็มีความเปลี่ยนแปลงเยอะ เพราะคนใหม่ บวกกับกระแสโซเชียล เรื่องสื่อต่างๆ ทำให้สภาชุดนี้ต้องทำงานบนพื้นฐานของความระมัดระวังสูงมาก สังเกตว่าถ้าใช้สื่อเป็น ใช้โซเชียลเป็น ก็ดังระเบิดภายในพริบตา แต่ถ้าใช้ไม่เป็นดับเลย นี่เป็นข้อพึงระวังมากในยุคนี้

ในฐานะดาวสภาในอดีต และตอนนี้คนก็ยังยกนิ้วให้ มอง ส.ส.รุ่นใหม่อย่างไร ใครมีแววเด่นในแง่การอภิปราย ?

ตอนนี้ยังประชุมน้อยอยู่ บางคนยังไม่มีโอกาสได้พูด ต้องรอให้เขามีโอกาส เพราะขณะนี้เรายังเพิ่งเริ่มต้น เท่าที่ผ่านมาตั้งแต่เปิดสภาเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ยังบอกอะไรได้ไม่เยอะ แต่เห็นมีแววดีหลายคน อย่างตอนที่อภิปรายเรื่องการเกษตร เรื่องปัญหาราคาพืชผล หลายคนเตรียมตัวดี มีสาระ อย่างคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคอนาคตใหม่ เป็นตัวอย่างของการเตรียมตัว การนำข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาใช้ในสภา เป็นตัวอย่างที่ดี ผมนั่งฟังอยู่เหมือนกัน

ในกลุ่มเพื่อไทยก็มี ดร.สุทิน คลังแสง ซึ่งเป็นนักอภิปรายอยู่แล้ว เขาเว้นไปสมัยหนึ่งแล้วกลับมา ถือว่าเป็นผู้ที่อภิปรายมีเนื้อหาสาระดี เก็บประเด็นได้ดี

รัฐธรรมนูญ 60 ถูกวิจารณ์เยอะมากในประเด็นต่างๆ ส่วนของการทำงานในพื้นที่ได้รับผลกระทบไหม?

ค่อนข้างมีผลต่อการทำงานในพื้นที่ การทำงานของ ส.ส.จะลำบากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนไว้ อย่างในมาตรา 185 ห้ามไปก้าวก่ายแทรกแซงงานประจำของส่วนราชการ ถ้าเราไม่ระมัดระวัง แล้วถูกตีความเป็นการก้าวก่ายแทรกแซง ถึงกับต้องหลุดจากตำแหน่งเลยนะ เพราะฉะนั้นเวลาจะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ต้องทำเป็นกระบวนการอย่างมีที่มาที่ไป อย่างที่น่าน ถามว่าคุณหมอสามารถไปทำงานโดยตรงได้ไหมในขณะนี้ ด้วยผลพวงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ค่อนข้างยาก ต้องมีทีมงานด้านการเมือง เช่น ทุกอย่างขับเคลื่อนผ่านไปที่ท้องถิ่นซึ่งมีผลสำคัญมากในการเชื่อมโยงการแก้ปัญหา ซึ่งผมมีความตั้งใจ อย่างน่าน มีการกำหนดยุทธศาสตร์เป็น “น่านหนึ่งเดียว” หมายถึงว่าทุกสรรพกำลังมาร่วมมือกัน มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้น่านเป็นหนึ่ง ทั้งน่านน่าอยู่ น่านน่ากิน น่านน่าเที่ยว น่านน่าเรียน น่านน่าทำ ยุทธศาสตร์พวกนี้ก็ต้องผลักกันไป

คาถาดีที่ทำให้ชาวบ้านไม่เปลี่ยนใจไปจาก “ชลน่าน” ? เพราะเป็นหมอ เพราะเป็นคนพื้นที่ หรือเพราะนโยบายและพรรคที่สังกัด

เชื่อว่าชนะเพราะทุกองค์ประกอบรวมกัน เลือกตั้ง 7 ครั้ง โมฆะ 2 ครั้ง ชนะทุกครั้งนโยบายพรรคที่จับต้องได้นี่เป็นตัวหลัก อันที่สองคือวิธีทางการเมืองที่น่านหรือทางเหนือนั้น ต้องเกาะพื้นที่ตลอด ไม่ทิ้ง อย่างผมเป็นผู้แทน เสาร์-อาทิตย์ต้องกลับไปอยู่น่าน ไปรับข้อมูล ไปดูประเด็นต่างๆ แล้วเอากลับมาทำงานต่อ วันจันทร์-ศุกร์ อยู่กรุงเทพฯ จันทร์บ่ายมีประชุม เตรียมคณะทำงานของพรรค อังคารประชุมพรรค พุธ-พฤหัสฯ ประชุมสภา ซึ่งการที่เราแสดงบทบาทในสภา ถือเป็นความนิยมของพี่น้องประชาชน พูดง่ายๆ คือ ใช้สภาเป็นที่หาเสียงได้ โดยเฉพาะยุคนี้ พอกลับไปบ้าน โอ้โห มีแต่คนพูดถึง เพราะกระแสโซเชียลเยอะ

ในวัยเด็ก ชีวิตเป็นอย่างไร โรยด้วยกลีบกุหลาบหรือฝ่าขวากหนาม ?

อยู่บ้านนอก แม่เสียตั้งแต่ยังเล็ก พ่อทำไร่ทำสวน ผมเป็นเด็กคนแรกของบ้านนาสา ที่ได้เรียนต่อ ป.5 เพราะถูกคุณครูโรงเรียนบ้านนาสาไปไล่เก็บมาเรียน ไปตะครุบมา คือปกติเข้า ป.1 กัน 7 ขวบ แต่ด้วยความที่เราเป็นเด็กแก่น เล่นอยู่ ไม่ได้สนใจจะไปเรียนหนังสือ ครูไปเห็นเข้าก็จับมาเรียน พอเรียนปุ๊บ เราเรียนดีหน่อย ครูเลยมาคุยกับพ่อว่าน่าจะส่งเรียนต่อ พ่อบอกไม่ไหวมั้ง จะไปอยู่ที่ไหน ยังไง เพราะเป็นคนแรก ไม่มีตัวอย่าง ยุคนั้นการไปเรียนหนังสือมันยากมาก

ครูท่านนี้ ซึ่งเหมือนเป็นพ่อผมเลย ท่านบอก ไม่เป็นไร ก็เอาไปฝากวัด ไปอยู่วัดไหล่น่าน แล้วไปเรียนโรงเรียนบ้านบุญเรือง ซึ่งเปิดสอน ป.5 ป.6 ป.7 ผมก็ปั่นจักรยานจากวัดไปเรียน ห่างกันอยู่ 2 กิโล หลังจากที่ผมออกมาเรียนปุ๊บ คนในบ้านนาสาก็เริ่มขยับออกมาเรียนต่อกัน ปีแรกๆ ผมปั่นคนเดียว ปีที่ 2 มีเด็กวัดไหล่น่านปั่นไปเรียนด้วย ต่อมาก็ปั่นกันไป 4-5 คน

ตอนมัธยมก็เรียนที่น่าน กระทั่งได้เป็นหมอเพราะอยู่ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เขาให้โควต้าไป จังหวัดน่านได้คนหนึ่ง ผมเป็นรุ่นที่ 7 ในโครงการ

เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่าสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก อ่านหนังสือแนวนี้ตลอด แล้วทำไมไปเรียนแพทย์ เพิ่งมาเรียนสายรัฐศาสตร์ตอนปริญญาโท ?

วิธีคิดของคนไทยเราไม่ว่ายุคนั้นหรือยุคนี้ ต้องบอกตรงๆ ว่ามีกระบวนทัศน์ที่ผิด พยายามส่งลูกส่งหลานไปเรียนให้กลับมาเป็นลูกจ้าง ยิ่งคนชนบท คนบ้านนอก ถ้าได้รับราชการถือว่าเป็นเจ้าคนนายคนแล้ว เพราะฉะนั้นใครที่มีโอกาสได้เรียน แล้วเรียนดี ก็จะถูกผลักด้วยวิธีคิดเชิงสังคมให้เข้าไปเรียน อย่างผมเรียนแพทย์ ถามว่าชอบแพทย์เป็นชีวิตจิตใจเลยไหม ต้องตอบว่ามันเป็นโอกาส เมื่อไปเรียนแพทย์แล้ว ความชอบทางการเมืองก็ยังเป็นสิ่งที่เราติดตาม ผมสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตั้งแต่เรียนปี 2 ปี 3 นะ

แต่ตอนนั้นเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และโดนตาม “จีบ” ตลอด ?

(หัวเราะ) ใช่ๆ เพิ่งมาลาออกตอนก่อนมาลงเลือกตั้ง แล้วไปอยู่ไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่ใน ปี 2541 เดิมผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ก็มาทาบทามให้ลงการเมืองตั้งแต่ปี 2538 แต่ผมไม่ได้ตัดสินใจที่จะลง ปี 2539 ก็มาชวนอีก แต่ผมกลับมาคิดว่าสภาพการเมืองในตอนนั้น เข้าไปแล้วก็ทำอะไรได้ยากมาก ตัวรัฐธรรมนูญเองก็ไม่เอื้อ

พอมีกระแสแก้รัฐธรรมนูญปี 2540 ระบบเลือกตั้งดีขั้น มีโอกาสทำงานให้บ้านให้เมือง เลยตัดสินใจปี 2543 ซึ่งประชาธิปัตย์ก็ยังตามจีบผมอยู่นะ ท่านนายกฯชวน หลีกภัย ไปตามผมถึงน่านเลย ผมก็เล่าให้ท่านฟังตรงๆ ว่าขออภัยที่ไม่สามารถอยู่พรรคเดียวกับท่านได้ ด้วยหลายเหตุผล

1.กระบวนการการคัดสรรคนของ ปชป. ดูเหมือนไม่มีความจริงใจ คนที่มาติดต่อทาบทามผมเหมือนจะไม่จริงใจ

2.กระแสไทยรักไทยแรงมาก กระแสนายกฯคนเหนือ กระแสนโยบาย ชาวบ้านเรียกร้องว่าถ้าหมอจะเล่นการเมือง ให้พิจารณาดูกระแสพี่น้องประชาชน เขาพร้อมที่จะสนับสนุนไทยรักไทย เลยตัดสินใจไปสังกัดพรรคไทยรักไทยในยุคนั้น

การเป็นแพทย์ในชนบทมีส่วนให้รู้ปัญหาจริงๆ เลยยิ่งผลักดันให้อยากเข้าสู่วงการการเมืองอย่างจริงจังหรือเปล่า ?

ครับ คือมันเป็นโอกาสในการแก้ปัญหาให้บ้านให้เมือง เราเป็นแพทย์ก็ทำได้ส่วนหนึ่ง แต่พอเข้ามาเป็นนักการเมือง ภาพมันกว้าง ทุกอย่างที่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่มันก็สามารถนำมาสู่กระบวนการในการแก้ไขปัญหาผ่านสภา

ในฐานะเคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน มอง ปชป.ตอนนี้อย่างไร

ต้องยอมรับว่าเมื่อก่อนเรามีข้อมูลอะไรไม่เยอะพอ และพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนั้นถือว่า ปชป.น่าจะดีที่สุดแล้ว พอมองกลับไป ผมไม่อยากวิจารณ์เขา เพราะยิ่งมาอยู่ในวงการการเมือง เรายิ่งรู้อะไรลึกมากขึ้น ในฐานะนักการเมือง ไม่ขอซ้ำเติมกัน ทุกอย่างอยู่ที่การกระทำ คุณสามารถแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน การใช้คำพูดในการแก้ปัญหาในยุคนี้มันเป็นไปไม่ได้แล้ว คุณต้องลงมือทำ

ย้อนไปตอนปี 2559 ที่โดนคดี “ขันแดง” เป็นข่าวฮือฮามาก งงไหม กลายเป็นประเด็นความมั่นคง?

ผมโดน 116 เลยนะ ตอนนั้นตัวอยู่กรุงเทพฯ ขันถูกส่งไปเก็บที่สำนักงาน ส.ส.สิรินทร รามสูต เพราะเขาจะให้ ส.ส. แต่ละคนกระจายเป็นของขวัญให้ประชาชน เป้าหมายคนละ 3,000 ใบ พอขันถูกลำเลียงไปเก็บไว้ที่โกดัง ปรากฏว่ากำลังทหารอย่างน้อย 50 นายล้อมบ้านเลย มีคนโทรไปบอกว่า เนี่ย! เขาจับขันแดง ของผมเพิ่งเอามาได้ 1,500 ใบ เพราะรถที่ไปเอาเป็นรถตู้นักเรียนของเพื่อน เลยได้มาครึ่งหนึ่งก่อน เอามาไว้ที่สำนักงาน พอล้อมจับบ้าน ส.ส.สิรินทร เขาก็ตามมาสำนักงานผมด้วย แล้วยกไปหมด หายไปใบสองใบมั้ง แจกไปแล้ว (หัวเราะ) พอไปค้นปุ๊บ ก็เป็นคดีเลย สู้กันไป บอกเป็นภัยต่อความมั่นคง ฟ้อง 116 เนื่องจากขันแดงมีลายเซ็นทักษิณ ชินวัตร เขาไปจับที่เชียงใหม่ก่อนแล้วโดนทั่วประเทศเลยทีนี้ หลายจังหวัดโดนเหมือนกัน กลายเป็นการโฆษณาให้ภายในพริบตา

คุยกันตอนนี้อาจจดูเป็นเรื่องตลก แต่จริงๆ แล้วเป็นภาพสะท้อนอะไรบางอย่าง ?

ใช่ มันเป็นการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างวันที่เขายึดอำนาจประมาณบ่าย 4 โมง วันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557 มีการเชิญผมเข้าค่ายสุริยพงษ์ ก่อนนั้นเขาส่งทหารยศพันเอกคนหนึ่งคอยมาเป็นเพื่อน เล่นกอล์ฟด้วยกัน สนิทกัน เป็นพี่น้องกัน พอยึดอำนาจปั๊บ เขาบอก “พี่เย็นนี้ไปกินข้าวบ้านผมนะ” ผมยังแซวว่า เอ็งจะจับพี่ไปขังเหรอ พี่จะเผาค่ายนะโว้ย! ยังพูดเล่นๆ อย่างนี้นะ สุดท้ายถูกกักตัวที่นั่นคืนหนึ่ง รุ่งเช้ามีประกาศชื่อจากส่วนกลางให้ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก

เขาเลี้ยงดีไหม กับข้าวใช้ได้หรือเปล่า ?

เอ่อ กับข้าวอย่างดีเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่จำไม่ได้ว่าอะไรบ้าง เป็นอาหารภาคกลาง ผมยังไปทวงว่า ไหนว่าจะเลี้ยงเหล้าด้วย มีบริกรที่เป็นทหารหญิงมาช่วยเสิร์ฟ

ตอนนั้นกังวลไหม ?

ก็ธรรมดานะ ถูกสั่งห้ามเคลื่อนไหว ห้ามออกนอกประเทศ ห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง ห้ามสนับสนุน ห้ามทุกอย่าง

เป็นคน “จน” สุดตอนแสดงบัญชีทรัพย์สิน เขินไหม ?

ไม่เขิน ก็เป็นเรื่องจริงน่ะ ผมเป็นผู้แทนที่ไม่ทำธุรกิจ ช่วงหลังก็ไม่ได้ทำคลินิกเลยด้วย มาเป็นนักการเมือง ก็มีอาชีพนักการเมือง หลายคนมองว่าถ้าไม่มีธุรกิจรองรับจะลำบาก ซึ่งก็จริง เพราะค่าใช้จ่ายมันเยอะพอสมควร งานบวช งานแต่ง งานศพ งานพื้นบ้านในชุมชน แม้ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ก็ให้มีตัวแทนไปตลอด บางทีวันหนึ่งสิบยี่สิบงาน ในการทำงาน

บ้านเรายังตัดประเด็นความเป็นผู้แทนซึ่งต้องอยู่กับพื้นที่ไม่ได้

 

การเมือง กีฬา ความรัก

“เขาสำคัญจริงๆ นะ”

คือถ้อยความจากปาก ชลน่าน ศรีแก้ว ไม่ใช่ในฐานะแพทย์หรือนักการเมือง ทว่าในฐานะผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเอ่ยถึงคู่ชีวิต แพทย์หญิง นวลสกุล บำรุงพงษ์ หรือ หมอก้อย ศรีภรรยาผู้เป็นแรงผลักดันทางใจของ ส.ส.น่านหลายสมัย

“เป็นพลัง เป็นแรงผลักที่ช่วยเราได้เยอะมาก งานการเมืองก็คอยดู คอยระมัดระวังให้ อย่างการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมถูกกักให้อยู่ในสำนักงานตั้งแต่คืนวันที่ 20 เพราะถูกขู่จาก คนที่ดูแลภาคเหนือ ก็อาศัยได้เขาช่วยทำเพจ ช่วยหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะการเมืองยุคใหม่”

หากติดตามข่าวสารของ ส.ส.น่านท่านนี้ย่อมเคยเห็นภาพกิจกรรมหลากหลายในการลงพื้นที่จากเพจเฟซบุ๊ก “ไป๊น่าน ชลน่าน fc ช่วยงานสามีแพร้บ” ซึ่งมีหมอก้อยเป็นแอดมินเพจที่ไม่เพียงมากมายด้วยบรรยากาศการทำงานทางการเมือง แต่ยังมีรูปคู่หวานๆ ระดับฝูงมดไต่ขึ้นหน้าจอ นอกจากนี้ ยังนั่งเก้าอี้แอดมินเพจของสามีด้วย

“เขาจะตามตลอด ตามไปเก็บภาพมาเขียน มาบรรยายในเพจ คำว่าไป๊ หมายถึงสะใภ้ ภรรยาผมมีเฟซบุ๊กของตัวเอง มีเพจของตัวเอง แล้วมาเป็นแอดมินเพจของผมด้วย เขาดูแลทุกเรื่อง เพราะเราเองไม่ได้สมบูรณ์แบบในทุกด้าน รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนแพทย์ เขาจบรามาฯ ผมจบศิริราช”

มาถึงตรงนี้ ไม่ควรต้องถามว่าเป็นคู่ที่หวานไหม แต่เมื่อหลุดปากถามไปแล้ว นพ.ชลน่านก็หัวเราะร่วน ก่อนจะตอบว่า “น่าจะหวานนะ” ส่วนคำถามที่ว่า แล้วตัวเองเข้าข่ายผู้ชายโรแมนติกหรือเปล่า ?

หลังความเงียบราว 4 วินาที ก็ได้คำตอบว่า “ต้องถามภรรยาผม” (ยิ้ม)

นอกเหนือจากการเป็นแพทย์ และนักการเมือง ผู้ชายคนนี้ยังเล่าว่า ชอบเล่นกีฬามาก

“เป็นคนชอบเล่นกีฬา เล่นมาทุกชนิดตั้งแต่สมัยเรียน เคยเป็นนักเทนนิสมหา’ลัยด้วยนะ นักตะกร้อ นักฟุตบอล นักวอลเลย์ เล่นหมด ช่วงหลังเอ็นเข่าขาด เลยหยุดเล่นบอลไป พอปี 47 มาฝึกกอล์ฟ ถ้ามีเวลาว่างผมก็ไปเล่นกีฬา”

เวลาว่างให้กีฬา แล้วเวลาว่างสำหรับภรรยาอยู่ตรงไหน ?

“เขาติดตามผมอยู่แล้ว วันนี้ก็มา”

จบการสนทนาด้วยรอยยิ้มอ่อนโยนของคนมีความรัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image