ชีวิตไม่ธรรมดา ‘อดีตนักบิน’ ไพบูลย์ สุดลาภา เฟรชชี่ออกแบบกราฟิกฯอายุมากที่สุด

ดูเผินๆ เขาอาจเหมือนคุณตาธรรมดาทั่วไป ทว่า ชายวัย 72 รายนี้เคยเป็น นักบินรบของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา มีส่วนร่วมในหลายสงคราม อาทิ สงครามอ่าวเปอร์เซีย ช่วงปี 2533-2534 ก่อนจะหวนคืนประเทศมาตุภูมิเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด เพิ่งได้เป็นเฟรชชี่ ‘ออกแบบกราฟิกและอินโฟร์’ ที่อายุมากที่สุดในประเทศไทย

ไพบูลย์ สุดลาภา หรือ “พี่ตุ๋ย” ของเพื่อนร่วมชั้นเรียนสาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพิ่งเข้ารายงานตัวเป็นนิสิตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 มาหมาดๆ

ย้อนกลับไปในวันสอบสัมภาษณ์ ไพบูลย์ให้คำตอบกับคณะกรรมการว่า ตัวเองสนใจเรื่องศิลปะเรื่องการออกแบบ อยากรู้ว่าเขาทำกันยังไง

สำหรับ สาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ เป็นหลักสูตรที่เรียนเกี่ยวกับศิลปะการออกแบบด้านกราฟิกดีไซน์และการสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อการสื่อสารทางการตลาด บรรจุอยู่ในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต มีวิชาที่ต้องลงเรียนไม่น้อยกว่า 136 หน่วยกิต

Advertisement

รายวิชาที่สำคัญ อาทิ กลุ่มวิชาพื้นฐานด้านศิลปะ เช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะและการออกแบบ หลักการออกแบบและทฤษฎีสี กลุ่มวิชาพื้นฐานด้านการออกแบบ เช่น ความคิดสร้างสรรค์เพื่อการออกแบบ การออกแบบแบรนด์ การตลาดสร้างสรรค์ โครงการพิเศษออกแบบกราฟิกและอินโฟร์

มากมายขนาดนี้ จึงไม่พลาดที่จะถามว่าตั้งเป้าเรียนจบภายในกี่ปี เขาตอบว่า “ตามธรรมดา ไม่ถึงขนาดลงเรียนซัมเมอร์”

ในวัย 72 ปี ไพบูลย์ผ่านชีวิตอย่างโชกโชน อยากเป็นนักบินตั้งแต่สมัยเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประจวบวิทยาลัย ด้วยเพราะว่าได้ยินเสียงทหารทิ้งระเบิด ยิงปืนในทะเลใกล้ๆ โรงเรียน ซึ่งสมัยนั้นยังถูกจัดให้เป็นฝูงบินรบ ภายหลังเป็นฝูงบินช่วยรบ

Advertisement

ต่อมา ย้ายไปเรียนโรงเรียนวัดนวลนรดิศ จบ ม.ศ.5 (เทียบเท่า ม.6 ปัจจุบัน) พ.ศ.2507 เป็นเพื่อนกับ “สองกุมารสยาม” ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน

ช่วงวัยเด็ก เขาสารภาพว่าเคยหนีเรียนไปวิ่งเล่นในสวนส้มของญาติที่บางมดจนเหนื่อย เกเรถึงขนาดที่พ่อต้องให้พกสมุดไปโรงเรียน เพื่อให้ครูเซ็นเวลากลับบ้านด้วย

เคยสอบติดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เรียนได้ไม่นานก็ออกมา ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว “และผมไม่ชอบระเบียบ” เจ้าตัวว่า

จากนั้นเปลี่ยนเป้าหมายไปสอบเข้าโรงเรียนนายเรืออากาศ เมื่อเรียนจบหลักสูตรได้ทำงานรับใช้ชาติ ประจำการที่ จ.ปัตตานี อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปใช้ชีวิตใหม่ที่อเมริกานานหลายสิบปี

“ผมไปอเมริกาตั้งแต่ปี 2522 อยู่ที่นั่น 2-3 ปีแรกไม่ได้งานเลย ฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ต่อมาได้เข้าเรียนด้านสถาปัตยกรรมอยู่ 2 ปี ที่ Southern California Institute of Architecture ก่อนจะไปฟลุคสอบติดโรงเรียนนายเรืออากาศ เรียนจบ และทำงานที่อเมริกามาตลอด”

กลางเดือนกรกฎาคม ที่ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ไพบูลย์สวมชุดนิสิตชาย ผูกไทถูกระเบียบ หิ้วผลงานออกแบบป้ายแนะนำตัวน้องใหม่ส่งการบ้านรุ่นพี่ ก่อนจะร่วมพูดคุยในหลายประเด็นที่น่าสนใจ


– ระหว่างเป็นนักบินที่อเมริกาได้รับการปฏิบัติอย่างไรบ้าง?

อันดับแรกสุดคือถ้าเขารู้ว่าเราเป็นนักบิน เขาถามเลยว่า อะไรนะ? จริงเหรอ? แล้วก็มองแบบดูหมิ่น (แสดงท่าทางประกอบ) เขาไม่เชื่อว่าคนไทยหรือคนเอเชียจะทำอย่างนั้นได้ ผมต้องเถียงบ่อยๆ เถียงแม้กระทั่งแพทย์ที่ไปขอรับคำปรึกษาด้วย เขาไม่เชื่อเรื่องสมอง ไม่เชื่อเรื่องร่างกายว่าเราจะทำได้

ที่สำคัญคือ ชีวิตทหารอเมริกามีอยู่อย่างหนึ่งคือคุณจะต้องละทิ้งทุกอย่าง โดยเฉพาะถ้าอยู่ในหน่วยที่มีเรื่องราวมากๆ คุณต้องลืมแบ๊กกราวด์ให้หมด เพราะถ้าฝ่ายตรงข้ามจับไปได้ หากคุณไม่พูด เขาก็มีวิธีทำให้คุณพูดออกมาอยู่ดี

– อยู่ต่างประเทศตั้งนาน คิดยังไงถึงกลับมาประเทศไทย?

ผมคิดอยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องกลับมา ไม่ว่าจะฝันอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายต้องกลับประเทศไทยให้ได้

ที่ก่อนหน้านี้ยังไม่กลับเพราะเรื่องเงินบำนาญและการตกรางวัลยังไม่เสร็จ ตอนนี้เรียบร้อยแล้ว แถมแต่ละเดือนยังได้รับมากพอจนเกินพอด้วยซ้ำ (ยิ้ม)

– อายุเยอะขนาดนี้แล้ว ทำไมยังมาสมัครเรียนอยู่?

ผมเกลียดการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร พออยู่นานๆ ไปชักเบื่อ อยากทำอะไรให้มีประโยชน์ อยากจะเรียน อีกอย่างคือคอมพิวเตอร์น่าจะเป็นประโยชน์กับเรามากกว่าสิ่งอื่นๆ ทำให้ไม่ต้องเหนื่อยแรงอะไรมาก ทุกอย่างคอมพิวเตอร์ทำให้หมด ความสามารถของเครื่องในอนาคตก็จะยิ่งมากไปกว่านี้อีก

ส่วนที่เลือกมาสมัคร มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพราะว่าเคยมีลูกศิษย์ของที่นี่ไปขึ้นเครื่องบินผมที่เมืองนอก ตอนนั้นขับเครื่องบินพาณิชย์แล้ว เขาพูดขึ้นมาว่าที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนอยู่ มีเปิดสอนกว่า 70 วิชา ผมจะลองดูหน่อยไหม เขาติดเอกสารมาพอดี ก็เลยลองดู แล้วก็หมายตาว่าจะเป็นอะไร ตอนกลับมาไทยดันทะลึ่งเจอกันอีก (หัวเราะ)

รู้ไหมว่า คนที่เชื่อโชค เชื่อลางมากที่สุดก็คือนักบิน ผมจะกินทุกอย่าง ไม่เลือกอะไรทั้งสิ้น ยกเว้นสัตว์มีปีก เป็นแบบนี้ตั้งแต่เป็นทหารแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังถืออยู่ คืออย่าไปฆ่าสัตว์ที่มีปีก แต่ก็มีบางคนที่ไม่ถือ กินทุกอย่าง ดังนั้น จึงเชื่อเรื่องการได้เจอกับคนนั้นอีก น่าจะเป็นสถานการณ์ที่ดี เป็นลางดี ก็เลยมาเรียน

– ตั้งเป้าจะเรียนให้จบภายในกี่ปี?

เอาตามธรรมดา ไม่ได้ถึงกับขนาดลงเรียนซัมเมอร์ หรือต้องเรียนให้จบเร็วๆ ไม่ได้ถึงขนาดนั้น ส่วนในอนาคต ถ้าเรียนจบคงไม่ทำอะไรใหญ่ๆ แล้ว อาจจะช่วยดูแลระบบคอมพิวเตอร์ หรือถ้าคนมาจ้างงานให้ออกแบบดีไซน์ก็ยินดี (ยิ้ม)

– ความจริงแล้วสามารถเลือกเรียนให้จบภายใน 1 คอร์ส ไปเรียนที่อื่นก็ได้ ไม่ต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาก็ได้ ทำไมไม่เลือกแบบนั้น?

มันมีเวลาที่คิดมาก มันว่าง อยู่กับตัวเองมากเกินไป จบจากหนังสือเล่มนี้แล้วจะทำอะไรต่อ โอเค อาจจะไปทำกับข้าว ทำเสร็จแล้วยังไง? นอน? ดูทีวี? แค่นี้เหรอ? ก็เลยต้องกลับมาเรียน

– ปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ รุ่นน้อง รุ่นพี่ ยากไหม?

ผมโชคดีอยู่อย่างหนึ่งที่เป็นคนปรับตัวง่าย เพราะทำงานมาเยอะ ปรับตัวง่ายอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเป็นนักบินที่ต้องเอาใจคนนู้น คนนี้เยอะแยะ ดังนั้น เรื่องการปรับตัวจึงง่ายมาก

– ในอนาคตจะมีโอกาสเห็นคุณลุงเป็นวิทยากรพิเศษ บรรยายเรื่องการบินไหม?

คิดว่าโอเค เพราะมีใบอนุญาตนักบินอยู่แล้ว แต่เรื่องหนึ่งคือ คุณต้องเข้าใจให้ถูกว่า แค่คนเราสตาร์ตเครื่องมอเตอร์ไซค์ได้ สตาร์ตเครื่องตัดหญ้าได้ เร่งเครื่องให้มันวิ่งไปข้างหน้าได้ หรือทำให้มันช้าลงได้ คุณปรับเครื่องได้แค่นี้ก็บินได้แล้ว เรื่องการบินมันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะบังคับยังไงให้เครื่องมันรอบเร็วขึ้น รวมทั้งวิธีการลงจอดฉุกเฉินซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากที่เราฝึกกันประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ในเวลาทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้กันก็คือ กัปตันสามารถทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนได้ เช่น ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า กระทั่งการเซ็นประนอมหนี้ กัปตันสามารถช่วยได้หมด ผมเคยเป็นนายทะเบียนงานแต่งงานให้ 1-2 คู่ นอกจากนั้นก็เคยเป็นพยานเวลาคนจะสิ้นลมร่วมกับแพทย์

– เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุการณ์เครื่องบินขับไล่ L-39 ของกองทัพอากาศไทยตกที่ จ.เชียงใหม่ ครูฝึกบินเสียชีวิต นี่เป็นหลักปกติไหมที่จะต้องให้ลูกศิษย์สละเครื่องก่อน แล้วครูดีดตัวออกมาทีหลัง?

เรื่องแบบนี้มีสองด้าน คือด้านคนนอกที่มอง กับด้านครูเขา เขาอยากจะไปลงกับเครื่อง แต่จริงๆ ไม่จำเป็น ครูของผมไม่เคยบอกเลยว่าคุณจะต้องตายไปกับเครื่องบิน ยกเว้นจะหล่นลงไป หรือหนีไม่ได้ แบบนั้นช่วยไม่ได้ แต่อย่าลืมว่า การบินทุกวันนี้ พนักงานการบินเป็นอาชีพที่เสิร์ฟคุณด้วยชีวิต

ดังนั้น เราในฐานะผู้ปฏิบัติงานจะต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นที่สุด นั่นคือการเปิดโอกาสให้ทุกคนเซฟมากที่สุดที่จะมากได้ เป็นต้นว่า แทนที่เราจะลงบนถนน ซึ่งพื้นที่เรียบ อีกทั้งถนนเมืองนอกกว้างขวาง ปีกจัมโบ้เจ็ตพ้นได้สบาย เราอาจเลือกลงในน้ำ ซึ่งก็ต้องดูว่าคลื่นมาทางไหน ต้องดูให้เครื่องไปตามคลื่น ไม่ใช่สวนกับคลื่น

– ในวัย 72 ปี ถือว่ายังแข็งแรงไหม?

ถ้ามีความจำเป็นจะต้องวิ่งหนีจิ๊กโก๋ก็ไหว (หัวเราะ)

นานๆ จะออกกำลังกายครั้งหนึ่ง ไม่ถึงกับเป็นกิจวัตรประจำวัน ส่วนเรื่องการรับประทานอาหาร แนะนำให้ทานผักมากๆ โดยตัวผมเองไม่ทานสัตว์ปีกอยู่แล้ว ตัดเรื่องไขมันได้เยอะแยะ เคยยึดถือยังไงก็อย่างนั้น ไม่ทานตลอดชีวิต

 


 

รางวัลและบาดแผลของนักรบ

ชีวิตการเป็นนักบินทหารและนักบินพาณิชย์ของ ไพบูลย์ สุดลาภา มีเรื่องเล่ามากมาย ทว่า บางส่วนก็ยังเปิดเผยไม่ได้ ด้วยเพราะความมั่นคงของประเทศ

มาถึงตรงนี้เลยเสี่ยงถามไปว่า สมัยอยู่อเมริกาเคยขับเครื่องบินอะไรบ้าง บอกได้ไหม? “ได้ๆ” เขาตอบพร้อมพยักหน้า

“ขับเครื่องบินรบก่อน หลังจากนั้นหันไปขับเครื่องบินพาณิชย์” เขาตอบ พร้อมควักบัตรประจำตัวนักบิน ออกโดยกรมการบินพลเรือนสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) มาโชว์

อดถามไม่ได้ว่ามีการจัดอันดับฝีมือและวิธีการตกรางวัลไหม เจ้าตัวบอกว่า “มี” แถมขณะร่วมรบสงครามอ่าว เขายังทำผลงานได้ดี รับรางวัลอย่างงดงามด้วย!

“อเมริกาทำไม่เหมือนใคร วิธีการตกรางวัลของเขาคือ ไม่ว่าคุณจะไปอยู่ที่ไหนของมุมโลก เขามีให้หมด มีบ้านให้อยู่ นอกจากนี้คุณรู้ไหมว่าดาราชอบนักบินมาก เพราะยีนความฉลาดของคุณเป็นที่หนึ่ง ถ้ามีลูกด้วยกันก็ไม่เสียเปล่า ดังนั้น จึงมีคนมาสมัครนักบินเยอะมาก กองทัพสกรีนไม่ไหว (หัวเราะ) ส่วนการออกรบจริงๆ เขาถามความสมัครใจภายในที่ชุมนุมทหารแล้ว ไม่มีการบังคับให้คนนั้น คนนี้ออกไป ไม่เหมือนในหนังที่เราดูนะ เพราะนั่นเหมือนกับว่าเป็นการอาสา แต่จริงๆ มันมีคำพูดอื่นกดเขาอยู่ ทำให้ไม่กล้าปฏิเสธ

“เป็นนักบินไม่ยากหรอก ใครก็บินได้ (ยิ้ม) หมายความว่าการที่คนจะไปบิน วิธีการมันลำบาก แต่ไม่ยาก ยิ่งนักบินพาณิชย์เนี่ย เขาแข่งกันเต็มที่เลย วิธีการคือเขาจะเอาน้ำใส่แก้วจนเกือบเต็ม แล้วให้คุณบิน อย่าให้น้ำกระฉอก ส่วนเวลาเขาจะเลือก เขาก็เลือกอีกทีว่าคุณนำเครื่องลงยังไง ต้องให้นิ่มเหมือนกับผ้า และเขาไม่สนใจหรอกว่าคุณจะเอาเครื่องขึ้นยังไง เชื่อหรือเปล่าว่า ความเร็วมันช่วยให้การลงคีพไลน์ได้ ซึ่งมันต้องมีไลน์ตรงกลางของสนามบิน คุณคีพไลน์ได้ก็ง่ายแล้ว ไม่ว่าจะเครื่องบินอะไรก็แล้วแต่”

อย่างที่รู้กันว่า ทหารผ่านศึกแต่ละนายย่อมได้รับ “บาดแผล” ที่แตกต่างกันไป สำหรับไพบูลย์แล้วไม่ใช่บาดแผลทางร่างกาย ทว่ากลับเป็นทางใจ เขายอมรับว่า ณ ตอนนี้ยังมีบางครั้งที่นอนฝันร้าย นานๆ จะหวนกลับมาหลอกหลอนครั้งหนึ่ง

“เพราะคุณปฏิเสธไม่ได้กับสิ่งที่คุณทำลงไป”

ดังนั้น เมื่อเอ่ยถามว่ายังคิดถึงชีวิตการเป็นนักบินอยู่ไหม? เขาส่ายหัว แล้วตอบว่า “ไม่” ด้วยเสียงแผ่วเบา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image