‘ศรัญญู เทพสงเคราะห์’ ราษฎรธิปไตย ในสมรภูมิช่วงชิง ‘ความทรงจำ’ 2475

“ยิ่งเรียนประวัติศาสตร์มากเท่าไหร่ยิ่งไม่เชื่ออะไรง่ายๆ”

ไม่ใช่คำคมจากนักปรัชญาชื่อก้องโลกคนไหน แต่เป็นถ้อยความจากปาก ศรัญญู เทพสงเคราะห์ เจ้าของผลงาน ‘ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ) ราษฎร’ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน

ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ แต่หนังสือดังกล่าวเผยแพร่หมาดๆ ในเดือนสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย มิถุนายน 2562 ครบรอบ 87 ปีนับแต่การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475

ท่ามกลางกองหนังสือแนวเดียวกันที่ให้ ‘พื้นที่’ กับเหล่าคณะราษฎร นักประวัติศาสตร์ท่านนี้ ค้นคว้าลึกซึ้งถึง ‘คนตัวเล็กตัวน้อย’ ในห้วงเวลาเดียวกัน ย้อนความทรงจำร่วมของผู้คนต่อสิ่งใหม่ในยุคนั้น กระทั่งพบหลักฐานน่าตื่นเต้นมากมาย

Advertisement

ศุกร์ที่ 30 สิงหาคมนี้ เตรียมขึ้นเวทีเสวนา ‘ราษฎรธิปไตย’ ณ ห้องเสน่ห์ จามริก คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมด้วย ธนาวิ โชติประดิษฐ และ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ โดยมี ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ดำเนินรายการ

ก่อนจะถึงวันนั้น มารู้จักตัวตนของนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ไฟแรงมากท่านนี้ ผู้พยักหน้ายอมรับว่ามี ‘แพชชั่น’ ในเหตุการณ์ยุค 2475 เป็นพิเศษ

เป็นคนกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี เติบโตในย่านบางกอกน้อย เรียนมัธยมที่สวนกุหลาบวิทยาลัยอันเป็นช่วงเวลาที่เริ่มสนใจประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง และเช่นเดียวกัยคนไทยโดยทั่วไป เขาเริ่มต้นจากการไปเที่ยว ‘อยุธยา’ ก่อนเบนเข็มก้าวกระโดดมายุค 2475

Advertisement

“เอาจริงๆ แล้วนักประวัติศาสตร์เกือบทุกคนเริ่มต้นที่อยุธยา ที่วัด โบราณสถาน ศิลปกรรม แล้วมาสนใจ 2475 ยิ่งอ่านเยอะยิ่งสนุก ได้เห็นข้อถกเถียงมากมาย เห็นประเด็นอะไรบางอย่างที่มันมีอะไรบางอย่างสามารถเชื่อมกับปัจจุบันได้”

จบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโทสาขาเดียวกันจากรั้วธรรมศาสตร์ ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่องนโยบายที่ดินหลัง 2475 กำลังเร่งมือคว้าคำนำหน้าว่า ดร. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคุกและนักโทษตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เคยเป็น ‘เด็กฝึกงาน’ ที่นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ‘ความทรงจำ’ คือการออกไปทำข่าว ‘มิวเซียมสยาม’ ขณะปรับปรุงอาคาร ปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

“ตอนเรียนเป็นเด็กตามระเบียบ ไม่ค่อยเป็นกบฏอะไรเท่าไหร่ เพิ่งจะมากบฏช่วงหลัง (หัวเราะ) การตั้งคำถามกับความรู้ที่มันเป็นอยู่ ว่าใช่หรือไม่ หลักฐานคืออะไร คนไหนเชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์แล้ว เพราะมันจะต้องตั้งคำถามตลอด”

ต่อไปนี้คือบทสนทนาว่าด้วยเรื่องชีวิต ผลงานและความทรงจำของความทรงจำของนักวิชาการนามว่า ศรัญญู เทพสงเคราะห์

 

ก่อนอื่นคงต้องถามว่า ‘ราษฎรธิปไตย’ ในชื่อหนังสือหมายถึงอะไร ?

จริงๆ แล้วเป็นการเอา 2 คำมารวมกัน คือ ราษฎรกับอธิปไตย ถามว่าถูกไวยากรณ์ไหม ก็อาจจะไม่ถูกหลักบาลีสันสกฤต แต่เป็นความพยายามในการสร้างคำอธิบายว่าอำนาจอธิปไตย อำนาจสูงสุดทางการเมืองในช่วงหลัง 2475 เป็นของราษฎร เป็นของคนธรรมดาที่เข้ามามีสิทธิ มีเสียงต่างๆ ทางด้านการปกครอง ซึ่งแต่เดิมเสียงพวกนี้แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย

ประเด็นใหญ่สุดที่ต้องการสื่อสารกับผู้อ่านคืออะไร ?

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความตั้งแต่ประมาณปี 2556 เป็นต้นมา บทความแรกพูดถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฏก่อน แล้วค่อยเขียนมาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม แต่ประเด็นที่เป็นความสนใจส่วนตัวของผมคือเรื่อง 2475 เป็นหลัก ฉะนั้นก็นำไปสู่การวางธีมแต่ละธีม สุดท้ายได้มา 3 ธีม ซึ่งจะเห็นความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับคนตัวเล็กตัวน้อย คือเป็นการคืนเสียงของคนเหล่านี้ให้ประวัติศาสตร์

คิดว่า ‘ความทรงจำร่วม’ ที่สังคมไทยมีต่อคณะราษฎรคืออะไรกันแน่ คือฮีโร่หรือกบฏ คือพระเอก หรือตัวร้าย เพราะดูเหมือนมีความเห็นเป็น 2 ฝั่งเป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะตอนนี้

เอาจริงๆ ก็ยังมีการต่อสู้ช่วงชิงความหมายกัน บางกลุ่มมองว่าคณะราษฎรเป็นฮีโร่ เป็นไอดอลของพวกเขาที่มีความสืบเนื่องถึงการเมืองถึงปัจจุบันได้ ที่เห็นได้ชัดคือในกรณีของเสื้อแดง ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าคณะราษฎรเป็นผู้ร้าย เป็นผู้แย่งชิงอำนาจ เป็นพวกชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งเป็นมุมมองแบบคอนเซอร์เวทีฟ หรืออนุรักษนิยมที่มีอิทธิพลต่อคำอธิบาย เอาจริงๆ แล้วก็ยังเป็นกระแสหลักในสังคมไทยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ยังมีการขับเคี่ยวอยู่

ในทางวิชาการเองก็มีการต่อสู้ ช่วงชิง การให้ความหมาย แม้จะเป็นหลักฐานชิ้นเดียวกัน สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตีความและสร้างเรื่องราวให้กับมัน พูดง่ายๆ คือ 2475 ยังเป็นสมรภูมิที่สามารถช่วงชิงความทรงจำต่างๆ ได้ และยังมีหลักฐานอีกมากมายที่สามารถเปิดประเด็นใหม่ๆ ได้

วาทกรรม ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ ใช้กันเยอะมาก และนานมาก จนมีผู้ออกมาแสดงความเห็นแย้งหลายครั้ง ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่สนใจช่วง 2475 เป็นพิเศษ จะอธิบายอย่างไร ?

เอาจริงๆ ถ้าไม่มีคณะราษฎร ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะพร้อม แต่สถานการณ์ในช่วงเวลานั้นสุกงอมพอแล้วที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 2475 แม้ว่าจะไม่มีคณะราษฎร ก็จะมีคณะอื่นๆ เกิดมาเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ไม่สามารถขวางหรือชะลอกระแสทางประวัติศาสตร์ได้ เพราะมันมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน กระแสแบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะสังคมไทยอย่างเดียว แต่เป็นกระแสทั่วโลกเลย

น่าสังเกตว่าปัจจุบันกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับคณะราษฎรอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองได้รับมรดกจากคณะราษฎร อะไรคือมรดกที่สำคัญและทรงอิทธิพลที่สุดที่คณะราษฎรมอบไว้ให้สังคมไทย?

พูดง่ายๆ คือการมีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแล้วก็รองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้มันไม่มี ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน รัฐให้คุณวิจารณ์การเมืองได้โดยไม่ติดคุก ขณะเดียวกัน คนตัวเล็กตัวน้อยก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาโลดแล่นทางการเมืองได้ หากไม่มีอภิวัฒน์สยาม ส.ส.ภาคอีสานบางคน ก็เป็นแค่ครูประชาบาลตลอดชีวิต เช่น ถวิล อุดล อภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณจนรัฐบาลพระยาพหลฯ ต้องยุบสภาในปี 2481

มรดกของคณะราษฎรเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ เป็นการเปิดประตูบานใหญ่ ซึ่งแต่เดิมมันจำกัดให้แค่กลุ่มเจ้านาย กลุ่มข้าราชการ และกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง แต่ต่อจากนี้ไปมันเปิดทุกอย่าง ทุกทาง ให้คนเปลี่ยนสถานะของตัวเองได้ภายใต้ความเชื่อว่ามนุษย์เสมอภาคกัน

ทำไมเลือก ‘อนุสาวรีย์ปราบกบฏ’ เป็นภาพปกซึ่งเป็นตัวแทนเนื้อหาทั้งเล่ม นอกจากคำตอบเชิงวิชาการ มีความทรงจำอะไรเป็นพิเศษไหม?

เรื่องอนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็นบทความแรกที่ผมขียนในหนังสือเล่มนี้ ขณะเดียวกันก็มีความทรงจำอย่างด้วย เพราะตอนที่มีการเคลื่อนย้ายเพื่อหลบรถไฟฟ้าตอนปี 2559 ผมไปเฝ้าสังเกตการณ์ตั้งแต่ช่วง 5 ทุ่ม ถึงตี 2 เข้าไปถ่ายคลิปเพื่อเก็บภาพปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เจอบ่อยๆ

พอตอนปลายปี 2561 ได้ไปสังเกตการณ์การย้ายอนุสาวรีย์อีกครั้ง แต่รอบนี้กลับประสบเหตุถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกันตัวออกมาไม่ให้เฝ้าดูเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้

นอกเหนือจากประเด็นประวัติศาสตร์แล้ว ทำไมสนใจศึกษา ‘ความทรงจำร่วม’ ซึ่งตอนหลังดูจะฮิตพอสมควร?

มันเป็นประเด็นค่อนข้างใหม่ในประวัติศาสตร์ บางคนมองว่าประวัติศาสตร์คือความทรงจำร่วม แต่ในการศึกษาความทรงจำกับประวัติศาสตร์ค่อนข้างจะเป็นคนละเรื่องเลยด้วยซ้ำ แต่มันสนุกเพราะความทรงจำสามารถใช้หลักฐานอื่นๆ นอกเหนือจากเอกสาร เช่น สิ่งของต่างๆ อนุสรณ์สถานต่างๆ พิธีกรรมต่างๆ มาศึกษา เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ซึ่งจริงๆ แล้วผมก็ได้รับอิทธิพลจากงานหลายๆ ชิ้นที่ศึกษาในแนวนี้เหมือนกัน เช่น งานของ รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ที่ศึกษาเรื่องศิลปกรรมคณะราษฎร

ทำไมสังคมไทยถูกหล่อหลอมให้จำบางเรื่อง และลืมบางเรื่อง เพราะความทรงจำร่วมมีอิทธิพลสูงมาก ?

ประเด็นคือมันยังมีพลังอยู่ มีอำนาจและมีปฏิบัติการที่สามารถผลิตซ้ำ ขยายผลไปสู่ประเด็นทางการเมืองต่างๆ ที่ใหญ่โตได้ เช่น พม่าเผาเมืองเกิดเป็นวาทกรรม ปลูกฝังจากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง ความทรงจำสัมพันธ์กับการเมืองมากๆ มันคือการเมืองกับเรื่องความทรงจำที่สิ่งนี้คุณต้องจำ สิ่งนี้คุณไม่ต้องจำ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจหรือเงื่อนไขทางบริบทการเมือง แม้จะบอกว่าในยุคนี้เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่สิ่งที่เราเห็นกันอยู่คือความพยายามลบความทรงจำต่างๆ เต็มไปหมด อย่างกรณีอนุสาวรีย์ปราบกบฏ เดิมสถานีรถไฟฟ้าใช้ชื่อสถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ แต่พออนุสาวรีย์หายไปก็เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีพหลโยธิน 59 สะท้อนว่าไม่มีอะไรยึดโยงแล้ว ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเขตบางเขน มีการตั้งแขวงอนุสาวรีย์ แต่ต่อจากนี้ไปไม่รู้ว่าความทรงจำจะถูกลบไปเรื่อยๆ หรือเปล่า

‘อำนาจ’ มีผลต่อการสร้าง กระตุ้นเตือน หรือกระทั่งลบความทรงจำมากน้อยแค่ไหน ถ้าคนยังจำ จะลบได้เกลี้ยงจริงหรือ?

อำนาจมีส่วนแน่ๆ อย่างน้อยสามารถกำหนดได้ว่าอะไรควรจำ อะไรควรลืม สั่งได้ว่าคุณต้องเรียนอะไร ไม่เรียนอะไรในแบบเรียน เช่น สมัย 2475 ระบุว่าหน้าที่พลเมืองต้องทำอะไรบ้าง ต้องเรียนอะไรบ้าง ต้องเรียนเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิเสรีภาพ ในบางยุคการศึกษาภาคบังคับบอกไม่จำเป็นต้องเรียนหน้าที่พลเมืองก็ได้ เพราะเราก็ไม่มีสิทธิอะไรเท่าไหร่นัก

สำหรับการสร้างอนุสาวรีย์ซึ่งถูกจัดตั้งโดยราชการ สะท้อนว่าผู้มีอำนาจในช่วงนั้นย่อมเห็นความสำคัญของเหตุการณ์กบฏบวรเดช จึงอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกการสละชีพเพื่อชาติของทหารและตำรวจ 17 นายที่ร่วมพิทักษ์รัฐธรรมนูญหลังจากกบฏบวรเดชพยายามล้มล้าง มีการจัดงานเฉลิมฉลองทุกปีเพื่อมีการผลิตซ้ำความทรงจำในวันที่ 14 ตุลาคม แต่เมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจไป อนุสาวรีย์ก็ถูกลดทอนความหมาย งานก็เลิกจัด ขณะเดียวกันก็ถูกปล่อยปละละเลยจากข้าราชการท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่ สุดท้ายคนไม่ยึดโยงกับอนุสาวรีย์นั้น

ตอนหนึ่งในหนังสือ มีเนื้อหาที่ทำให้นึกถึงวาทกรรม ‘คนอีสานโง่ จน ไม่สนการเมือง’ จากการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์สรุปว่าจริงไหม ทัศนคติแบบนี้มาจากไหน ?

นี่เป็นวาทกรรมที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมา ทั้งที่ช่วงหลัง 2475 หลักฐานหลายชิ้นสะท้อนว่าคนอีสานมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก นับตั้งแต่ 24 มิถุนา 2475 แม้จะไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองคืออะไร แต่เขาพยายามจะไปเรียนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในกรุงเทพฯ มีเอกสารจากข้าหลวงทางหัวเมืองอีสานส่งเข้ามาในกรุงเทพฯเพื่อถามว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วข้าหลวงก็ไปบอกชาวบ้าน พร้อมๆ กันนั้น การตระหนักรู้ของคนยังมี เมื่อคนอยากรู้มากขึ้น รัฐก็ตอบสนองด้วยการส่งคนไปเผยแพร่ความรู้ว่าระบอบใหม่คืออะไร รัฐธรรมนูญคืออะไร หลัก 6 ประการคืออะไร

กระบวนการแบบนี้จะเห็นผ่าน ‘กรมโฆษณาการ’ แล้วที่เห็นได้เด่นชัดคือ ไม่ใช่คนอีสานอย่างเดียว แต่คนทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านทางการเลือกตั้งครั้งแรก คือการเลือกตั้งผู้แทนตำบล ซึ่งผู้แทนตำบลจะไปเลือก ส.ส.อีกทีหนึ่งในปี 2476

คนอีสาน ไม่ว่าจะชาวบ้าน ข้าราชการ พ่อค้า แอ๊กทีฟมากๆ พยายามเชื่อมโยงตัวเองกับระบอบใหม่ผ่านการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ บางแห่งสร้างก่อนกรุงเทพฯด้วยซ้ำ เช่น ที่แรกคือ มหาสารคามสร้างปี 2477 รวมถึงโคราช ซึ่งใครจะรู้ว่าข้างอนุสาวรีย์ย่าโมเคยมีอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญตั้งอยู่ด้วย

ดูสนใจอนุสาวรีย์มาก มีที่ตื่นเต้นเป็นพิเศษกับการค้นพบข้อมูลไหม?

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่สุรินทร์ มันมีจารึกชื่อคนที่มีบทบาทในการสร้าง ตอนแรกไปถ่ายรูป เห็นรายชื่อก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ แต่ช่วงหลังไปเจอหนังสือเกี่ยวกับรายนามข้าราชการและพ่อค้าช่วง 2479 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับตอนสร้างอนุสาวรีย์ เมื่อค้นไปค้นมาก็เจอว่าแต่ละคนมีใครบ้าง ปรากฏว่าไม่ใช่ข้าราชการสุรินทร์อย่างเดียว ยังประกอบไปด้วยพ่อค้า บรรดาครู ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสุรินทร์ แต่ยังมีจังหวัดอื่นๆ ด้วย มีข้าราชการกรุงเทพฯ ด้วย สะท้อนให้เห็นว่าอนุสาวรีย์สุรินทร์ที่ไกลมากๆ คนกรุุงเทพฯหรือจังหวัดอื่นๆ ยังมีบทบาท และเห็นว่าคนพวกนี้พยายามเชื่อมตัวเองเข้ากับระบอบใหม่

เสวนา ‘ราษฎรธิปไตย’ ที่ธรรมศาสตร์ ตั้งใจจะพูดอะไรบ้าง ทำไมต้องไปฟัง ไม่ใช่แค่ย้อนเกร็ดประวัติศาสตร์ 2475 ซ้ำเดิม?

2475 ยังมีประเด็นใหม่อีกเยอะ ขึ้นอยู่กับว่าจะตีความใหม่ จะเปิดหลักฐานใหม่มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ 2475 อย่างน้อยก็น่าจะไปฟังมุมมองใหม่ๆ และด้านหนึ่งก็ไปดูว่า ตอนนี้สถานะของ 2475 เป็นอย่างไรบ้างในปัจจุบัน


 

ประวัติศาสตร์จาก ‘ซาเล้ง’ เหรียญตราและงานศพ

“อาจารย์ศรัญญูไม่เพียงเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ตามหาเศษเสี้ยวแห่งความหมายของการปฏิวัติ 2475 ที่ตกหล่นหายไปจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติและห้องหนังสือหายากเท่านั้น แต่เขาตามรอยวัตถุพยานแห่งยุคสมัยที่แอบซ่อนตามร้านหนังสือซาเล้งที่รับซื้อหนังสือตามบ้านคน, ร้านแบกะดินริมถนน, ตลาดหนังสือออนไลน์, ร้านขายของเก่า, ร้านขายของสะสม…”

คือส่วนหนึ่งใน ‘คำนิยม’ โดยนักวิชาการชื่อดัง ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ต่อหนังสือ ‘ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร’ ของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์

เหมาะเจาะกับ ‘ของสะสม’ เพื่อการศึกษา ผสม ‘แพชชั่น’ ส่วนตัว นั่นคือ เข็มกลัด เหรียญที่ระลึก และหนังสือเก่าซึ่งส่วนหนึ่งคือ ‘หนังสืองานศพ’ ที่บันทึกเรื่องราวน่าสนใจซึ่งวันหนึ่งได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมของนักประวัติศาสตร์

“หน้าที่หนึ่งของนักประวัติศาสตร์นอกจากการตีความใหม่ หรือการอ่านเอกสารต่างๆ คือการเปิดหลักฐานใหม่ๆ ซึ่งแหล่งที่ผมว่าน่าจะเยอะที่สุดคือร้านหนังสือเก่า ถ้าไปค้นดีๆ บางเล่มอาจไม่มีในห้องสมุดด้วย หนังสือพวกนี้ให้ข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจมากๆ เช่น กบฏบวรเดช มีการตีพิมพ์หนังสืองานศพเยอะมาก ถือเป็นงานมหกรรมของชาติ เป็นจุดเปลี่ยนของการปฏิวัติสยาม” ศรัญญูเล่า พร้อมบรรจงหยิบให้ชมทีละเล่ม ก่อนผายมือต่อไปยัง ‘วัตถุทางวัฒนธรรม’ ชิ้นอื่นๆ

 


“ยังมีวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดช เช่น เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งแจกให้คนที่มีส่วนร่วมในการปราบกบฏบวรเดช ตอนแจกเหรียญนี้ครั้งแรกประมาณหมื่นกว่าเหรียญ แสดงให้เห็นเครือข่ายของระบอบใหม่บางส่วน อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือเข็มกลัดที่มีข้อความ ‘สละชีพเพื่อชาติ’ ซึ่งหมายถึงทหาร ตำรวจที่เสียชีวิตจากการปราบกบฏบวรเดช ซึ่งต่อมาข้อความนี้ถูกใช้เป็นม็อตโต้ของทหาร นี่คือสิ่งที่วัตถุพวกนี้เติมเต็มประวัติศาสตร์ได้”

ศรัญญูยังเปิดใจถึงประเด็นชวนขบคิดที่ว่า ข้อจำกัดของการศึกษาเอกสารทางการคือ ‘มุมมอง’ และนั่นทำให้เขาเปิดประตูออกจากห้องทำงานหลักของนักประวัติศาสตร์อย่าง ‘หอจดหมายเหตุแห่งชาติ’ ไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งทำให้พบข้อมูลที่คุ้มค่ายิ่ง


“เวลาเราทำงานประวัติศาสตร์ ห้องทำงานอย่างหอจดหมายเหตุ ข้อจำกัดของมันคือให้แต่มุมมองส่วนกลาง มุมมองของชนชั้นนำจากระบบราชการเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะไปหาประเด็นคนตัวเล็กตัวน้อย ต้องงมกันเยอะพอสมควร ผมโชคดี ไปเจอพวกกลอนลำซึ่งมันสะท้อนมุมมองของคนท้องถิ่นที่มีต่อระบอบใหม่

ช่วยอธิบายประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างได้จริงๆ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image