หมอผู้ปิดทองหลังพระ นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ ‘ไม่ได้ทำงานด้วยเงิน แต่ด้วยหัวใจอย่างเดียว’

เป็นทั้งหมอ ทั้งนักธุรกิจ ทั้งประธานมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไร แถมยังมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลอย่าง “บ้านแม่อุสุ” อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

ใช่แล้ว เขาคือ “นายแพทย์ วัชรา ทรัพย์สุวรรณ” ประธานมูลนิธิเทียนฉาย ผู้ริเริ่มโครงการดีๆ มากมาย

หลายปีก่อน หมอวัชรานำทีมเข้ากราบนมัสการ “หลวงพ่อวิโมกข์” วัดปิปผลิวนาราม ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ในการพูดคุยทำความเข้าใจ ก่อนจะเริ่มโครงการ “วิโมกข์เกมส์” ขึ้นในปี 2557 จัดแข่งขันกีฬานานาชนิด เพื่อต้องการให้โรงเรียนในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสได้มีพื้นที่ออกกำลังกาย เยาวชนห่างไกลยาเสพติด โดยมูลนิธิเทียนฉายเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ รางวัลการแข่งขัน ถ้วยรางวัล ชุดการแข่งขัน

รวมทั้งกิจกรรมออกค่ายอาสาที่มูลนิธิร่วมมือกับ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ” อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ทำกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ อาทิ เรียนรู้การเลี้ยงผึ้งป้องกันช้างป่า สร้างโป่งเทียมและฝายชะลอน้ำ พร้อมบริจาคสิ่งของให้ผู้ยากไร้

Advertisement

สำหรับชื่อมูลนิธิ “เทียนฉาย” มีความหมายทั้งในภาษาไทยและจีน หมอวัชราเล่าว่า เหตุที่ตั้งชื่อนี้เนื่องจากจุดเริ่มต้นทำมูลนิธิมาจากเพื่อนชาวไต้หวัน จึงตั้งชื่อเป็นภาษาจีน เทียนหมายถึงท้องฟ้า ฉายหมายถึงโชคลาภ

กว่าสิบปีที่ผ่านมา “มูลนิธิเทียนฉาย” ดำเนินกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ทว่า นพ.วัชราในฐานประธานมูลนิธิยังคงยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการให้องค์กรใหญ่โตขึ้นแต่อย่างใด

“ผมไม่ได้คิดว่าเราจะทำให้มันใหญ่ เราจะไม่ขยายงานเลย นอกจากงานขยายตัวเอง เมื่อถึงเวลามันจะเป็นของมันเองโดยบุญวาสนาพาไป นอกจากนี้ก็ให้อยู่ในวิสัยที่เราทำได้ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ทำ”

Advertisement

ที่มาที่ไปของ ‘มูลนิธิเทียนฉาย’ เป็นอย่างไร?

เมื่อประมาณปี 2545 ได้รู้จักเพื่อนชาวไต้หวันซึ่งทำงานให้กับมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย เขาทราบเรื่องจากอาสาสมัครสาธารณสุขว่ามีพระภิกษุรูปหนึ่งอยู่ที่สำนักสงฆ์แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ชื่อพระครูธนศักดิ์ ใช้สำนักสงฆ์เล็กๆ เพื่อให้เด็กชาวเขา ซึ่งเกือบทั้งหมดของคนที่อยู่ในนั้นเป็นกะเหรี่ยงมาอยู่อาศัย เขามาชวนผมเข้าไปดู เบื้องต้นได้ดูแลเรื่องอาหาร ตรวจรักษาโรคให้กับคนที่อยู่บนดอยสูง รวมถึงแจกข้าวสารอาหารแห้ง ทำแบบนี้อยู่สัก 2-3 ปี พวกเพื่อนไต้หวันก็บอกว่าพวกเขามีภาระหนักเกินไปแล้ว จำเป็นต้องถอนตัว

ผมบอกว่าไม่เป็นไรหรอก นี่ประเทศไทย เดี๋ยวผมรับหน้าที่ต่อ พอทำไปได้ไม่ถึงปีรู้สึกว่าเราเดินด้วยวิธีนี้ไม่ได้ จึงเข้าไปคุยกับผู้อำนวยการในการเคลื่อนย้ายเด็กจากวัดมาอยู่ในโรงเรียน อยู่ในความดูแลของครู แต่เราจะดูแลเรื่องหอพักให้ ทั้งปรับปรุงและสร้างเพิ่ม แล้วก็มีโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือในการหาอาหารให้เด็ก ทาง ผอ.ก็สามารถเขียนโครงการของบประมาณอาหารกลางวันสำหรับเด็กได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการปลูกผัก เลี้ยงไก่ พอช่วยค่าอาหารได้บ้าง ผมทำแบบนี้มาหลายปี คนไต้หวันที่เขาไม่มีเวลาก็เอาเงินมาช่วยผมบ้าง

ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องจัดระบบการเงินให้ถูกต้อง โปร่งใส จึงปรารภกับหลวงพ่อว่า ถ้าหลวงพ่อตั้งมูลนิธิได้ เราจะช่วย หลวงพ่อบอกว่าอาตมาเป็นกะเหรี่ยง ไม่มีการศึกษา ถ้าจำเป็น หมอตั้งเองได้ไหม ผมเลยต้องมาตั้งเองชื่อ “มูลนิธิเทียนฉาย”

ภารกิจหลักของมูลนิธิเป็นอย่างไรบ้าง?

หลังจากตั้งเป็นมูลนิธิแล้ว เรามีภารกิจหลักคือ 1.ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา การค้นคว้าวิจัย 2.ด้านสังคมสงเคราะห์ 3.ด้านสาธารณสุข ผมเป็นแพทย์ ในทีมมีแพทย์และพยาบาลหลายคน จึงนำเครื่องมือและยาขึ้นไปตรวจตามหมู่บ้านต่างๆ เราพบว่าชาวบ้านปวดคอ เข่า หลังจากการทำไร่ หากยาหมดเขาก็ปวดอีก ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืน จึงเข้าไปพบผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง เราคิดว่าไปร่วมมือกับโรงพยาบาลดีกว่า จากนั้นคุยกันต่อว่าให้โรงพยาบาลซึ่งมีหน่วย สาขา และบุคลากรช่วยสำรวจว่าจะไปพื้นที่ไหนบ้าง เพื่อให้เป็นผลงานของโรงพยาบาลต่อไป

จากการสำรวจหมู่บ้านต่างๆ ผอ.รพ.เลยบอกว่าสร้างศูนย์บริการสุขภาพบนดอยสูงดีกว่า เพราะเวลาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขขึ้นไปบนภูเขา บางครั้งลงมาไม่ทัน มืดก่อน ถ้าช่วงหน้าฝน แม้แต่รถมอเตอร์ไซค์ของชาวบ้านก็ยังวิ่งไม่ได้ ถ้าเขาเจ็บป่วยก็ต้องหามเปลมา บางทีตายกลางทาง เราเลยขึ้นไปสร้างอนามัย ตอนนี้มีทั้งหมด 4 แห่ง ส่วนเด็กนักเรียนใน ต.แม่อุสุ ไม่มีน้ำดื่มที่ดีพอ เพราะการทำไร่มีการใช้สารเคมีเยอะ จึงทำเป็นระบบบำบัดน้ำเพื่อทำน้ำดื่มให้กับทุกโรงเรียนในตำบล ตอนนี้ครบหมดแล้ว รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาเด็กในพื้นที่สำหรับสาขาที่ขาดแคลน เรามอบให้อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยสิทธิการเลือกเด็กให้เป็นไปตามความเห็นของ ผอ.โรงพยาบาลและครู

เข้าไปดูแลเฉพาะพื้นที่แม่อุสุ หรือยังมีที่อื่นในประเทศไทยอีก?

ผมขีดวงแค่แม่อุสุ เพราะเราเริ่มต้นกับพระ ซึ่งเป็นพระที่ดี มีจิตใจอยากช่วยสังคม ถ้ามีพระแบบนี้แล้วเราไม่เกาะติด ไม่ส่งเสริม เราจะเหมือนกองคาราวานที่ขับรถเข้าไปบนภูเขา เอาเสื้อผ้า เอาข้าวสารไปดัมพ์ลงแล้วกลับ ไม่เกิดประโยชน์ ผมจึงโฟกัสอยู่กับพื้นที่เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับชุมชน ถ้าเร่ร่อนไปจะเกิดประโยชน์อะไร? ดังนั้น พระจะเป็นตัวชี้นำเราว่าควรไปหมู่บ้านไหน

ทำไมถึงเป็น ‘พระ’?

เพราะต้องการเพิ่มบุญบารมีให้กับหลวงพ่อ คือชาวบ้านไม่ได้เข้าใจหลักธรรมลึกซึ้งอะไร เขารู้ว่าถ้าพระมา เขาจะได้รับของ เมื่อเขามาแล้วได้รับของเขาจะได้นับถือพระ ถ้าชาวบ้านนับถือพระ นี่เป็นแนวรบหนึ่งทางศาสนา

หลวงพ่อพาขึ้นไปบนเขาสูงๆ ชี้ให้ผมดูโบสถ์ ถามผมว่ารู้ไหมทำไมต้องพามาที่นี่ เขาบอกว่าถ้าไม่มา คนอื่นก็มาอยู่ดี ดังนั้น หลวงพ่อจึงพยายามพาเราไปที่หมู่บ้านยากจน ที่คนเข้าไม่ถึง

บังเอิญ รศ.นสพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้าง ตามผมไปที่แม่อุสุ ได้พูดถึงชุมชนชายขอบแห่งหนึ่ง เหมือนเป็นรอยต่อของเมืองและป่า อยู่ที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี อาจารย์ก็กำลังทำการศึกษาวิจัยเรื่องป่า ช้าง รวมถึงสัตว์ป่าบริเวณนั้น ชวนผมมาว่าเราจะทำอย่างไรให้ชุมชนบริเวณนั้นเป็นแนวป้องกันป่า เราเลยค่อยๆ ผ่อนกิจกรรมจากแม่อุสุไปที่ อ.ศรีสวัสดิ์ เราเริ่มทำโครงการอนุรักษ์ป่าที่ อ.ศรีสวัสดิ์ ด้วยการพาคนมาเดินป่า โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นพรานพาเดินศูนย์ธรรมชาติศึกษา บรรยายให้ฟังว่ารอยเท้าสัตว์ที่เห็นคืออะไร ระบบนิเวศอยู่กันยังไง ผมเพิ่งรู้ว่าคนทำงานอุทยานที่พาเราเดินป่า อนุรักษ์ป่า สำรวจป่า เป็นลูกจ้างเงินเดือนไม่ถึงหมื่น ดังนั้น การที่เราให้ค่าจ้างเขาคือมีความหมายมาก นอกจากนั้นเรายังให้ภรรยาเจ้าหน้าที่มาทำอาหารให้ทาน เขาก็ได้เงินอีก รวมทั้งเรามีเงินก้อนหนึ่งสนับสนุนอุทยานโดยมอบให้กับหัวหน้าไปจัดการ

หน้าที่ของเราคือไปยกย่อง ไปเป็นประจักษ์พยานถึงความเสียสละของเขา ไม่ใช่เราเป็นคนเสียสละ เขาเป็นคนเสียสละมากกว่า ครูที่อยู่บ้านดอยก็เสียสละมากกว่า เราแค่นักท่องเที่ยวฉาบฉวย

เป้าหมายของโครงการในพื้นที่แม่อุสุและศรีสวัสดิ์คือ?

เราต้องการคำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” แต่เราก็ต้องเจียมตัว ต้องรู้จักตัวเอง เราไม่ใช่คนที่มีเงินเยอะ ไม่ได้มีอำนาจอะไรเลย มีแต่หัวใจ ดังนั้น เราต้องใช้กลไกของหัวใจทำงาน ด้วยการให้เกียรติพระ ให้เกียรติครู ให้เกียรติหมอ ให้เกียรติเจ้าหน้าที่อุทยาน คนทุกคน พอเขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำถูกมองเห็นเขาก็ภูมิใจ มีแรงทำงาน อย่างที่ อ.ศรีสวัสดิ์ เราเจอ “กำนันตึ๋ง” ตอนเด็กๆ ก็เป็นชาวบ้านทั่วไป ตัดไม้ทำลายป่า แต่วันหนึ่งเขาเกิดตระหนักในคุณค่าของป่า พยายามเอาคนไปปลูกต้นไม้ ทำฝาย เราเจอคนแบบนี้ปุ๊บต้องไม่รอช้า พาคนไปหากำนันตึ๋ง ช่วยกันทำฝาย ปลูกต้นไม้ในป่า

กำนันตึ๋งเป็นคนมีปัญญา เมื่อช้างเข้ามาในหมู่บ้าน กินพืชผัก ทำลายข้าวของชาวบ้าน เขาเลยเลี้ยงผึ้ง เขาบอกว่าเมื่อช้างมาทีแรกก็เตะรังผึ้งเลย มาทีเดียวเลิก (หัวเราะ) ตอนนี้การทำผึ้งเลี้ยงกลายเป็นธุรกิจในหมู่บ้าน มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องผึ้ง รู้ลึกถึงระดับนักปฏิบัติ เรารู้อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าคนได้ประโยชน์จากป่า เขาก็จะหยุดการทำร้ายป่า ตอนนี้กำนันตึ๋งเลยทำโฮมสเตย์ จัดกิจกรรมล่องแก่ง ล่องแพ ให้ชาวบ้านมีรายได้ เราก็ต้องสร้างชุมชนต้นแบบขึ้นมา จริงๆ เราไม่ได้สร้าง เขาสร้าง แต่เราพยายามไปโปรโมตเขา

ถามว่าเรามีปัญญาไหม ไม่มีหรอก ความรู้ก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี เงินก็ไม่มี เราไม่ได้ทำงานด้วยเงิน แต่ทำงานด้วยหัวใจอย่างเดียว

เห็นว่ามีโครงการ ‘วิโมกข์เกมส์’ ด้วย?

เรื่องนี้ตลกดี ผมมีเพื่อนที่เรียนมัธยมด้วยกันที่เตรียมอุดมศึกษา เขาอายุประมาณ 48 ปีก็ไปบวช ไม่นานก็เป็นเจ้าอาวาส ชื่อ “หลวงพ่อวิโมกข์” อยู่วัดปิปผลิวนาราม อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เขาพูดภาษาอังกฤษได้ เดินทางสอนวิปัสสนาที่ประเทศต่างๆ วันหนึ่งผมเลยแหย่หลวงพ่อว่า หลวงพ่อสอนคนหลับตาทั่วโลกเลย พวกคนลืมตา ไม่ค่อยจะมีกินอยู่ข้างวัด หลวงพ่อเคยเห็นไหม? หลวงพ่อบอกว่า แล้วจะให้ทำยังไง ผมเลยบอกว่าแล้วแต่หลวงพ่อ เขาบอกให้ไปหาที่วัด หลวงพ่อพาผมไปที่โรงเรียนเล็กๆ ข้างวัด มีนักเรียนประมาณ 200 คน หลวงพ่อไปบอก ผอ.โรงเรียนว่าผมเป็นเพื่อน เป็นหมอ มีมูลนิธิอยู่ จะมาช่วยโรงเรียน ผมก็ตกใจ ต้องการมาดูเฉยๆ ผอ.บอกว่าเขาอยากได้อาคารเรียน ผมเลยพูดตรงๆ ว่านักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ จะเอาอาคารไปทำไม ผมเองก็ไม่มีเงิน แต่จะให้ลูกฟุตบอล 1 ลูก ให้เด็ก 20 คนเตะกัน แล้วมันก็เตะกันได้อีกหลายปีกว่าจะพัง เขาก็ไม่เข้าใจผม

ผมบอกเขาว่า ช่วงปีใหม่ให้จัดโครงการเอานักเรียนมาจัดทีมเตะฟุตบอล เดี๋ยวผมเอาทีมตัวเองจาก กทม.มาเตะด้วย เขาทำตามแบบไม่เต็มใจเท่าไหร่ (ยิ้ม) นั่นคือปีที่ 1 เริ่มจาก 1 โรงเรียน แต่ ผอ.โรงเรียนในเขตการศึกษาเดียวกันอีก 4 แห่งมาเห็น ขอเข้าร่วมด้วย ผมก็ไปเจรจากับหลวงพ่อวิโมกข์ว่า ผมไม่มีเงินมาให้หลวงพ่อ แต่ผมมาขอบิณฑบาตก็แล้วกัน (หัวเราะ) ถ้าหลวงพ่อให้เงินรางวัลกับนักกีฬา-นักเรียนปีละแสนบาท ผมจะตั้งชื่อว่า “วิโมกข์เกมส์” ปีต่อมามี 4 โรงเรียน ภายหลังเพิ่มเป็น 8 โรงเรียน ตอนนี้ปีที่ 5 ได้ข่าวว่ามีประมาณ 12 โรงเรียน ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย จ.ระยองมี 2 เขตการศึกษา ประมาณ 50 โรงเรียน ทั้งจังหวัดอยากเข้าร่วมวิโมกข์เกมส์ เพราะเมื่อเอาเด็กมาเล่นกีฬา เด็กก็จะโฟกัสเรื่องการฝึกซ้อม ตัวเองจะไปสอบเข้าโรงเรียนใหญ่ขึ้นมันยาก ต้องแข่งกับเด็กเก่ง แต่ถ้าเป็นนักฟุตบอล จะมีแมวมองจากโรงเรียนใหญ่มาเลือกไป ดังนั้น ถ้าเด็กอยากเรียนต่อ อยากไปเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงก็ต้องฝึกซ้อมกีฬา

จากรายงานของอาจารย์เขาบอกว่า เด็กที่มามุ่งเป็นนักกีฬา 1.สุขภาพดีขึ้น 2.สมาธิดีขึ้น 3.ผลการเรียนดีขึ้น 4.ช่วยเหลือโรงเรียน มีน้ำใจ พอมีหลายๆ โรงเรียนก็ต้องแบ่งเป็นสายเอ/บี พอถึงฤดูกาลแข่งขันราวเดือนธันวาคมก็ไปเตะตามโรงเรียนต่างๆ หาที่ 1-2 เพื่อหาทีมตัดเชือกมาแข่งกันประมาณเดือนมกราคม ใกล้ๆ วันเด็ก ปีไหนที่โรงเรียนใดได้เป็นเจ้าภาพ สนามกีฬาก็ถูกปรับปรุง ชาวบ้านก็รู้สึกว่านี่มันงานของชุมชน พระก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นโรงเรียนของวัด พอถึงวันแข่งขันชาวบ้านก็มาทำอาหารเลี้ยงนักกีฬา หลวงพ่อก็มานั่งดู บางท่านก็เอาเงินมาให้ผม เอาเงินไปช่วยครู พวก อบต.ก็มา กำนันก็มา ส.จ.ก็มา นายอำเภอก็มา

เหมือนกับลูกบอลที่เราโยนไป 1 ลูก ราว 4-5 ปีที่แล้วมันสร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งจังหวัด

ตอนนี้มีเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติก มูลนิธิมีแนวคิดดำเนินการเรื่องนี้ไหม?

ช่วงงานหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง เจ้าอาวาสวัดชลประทานฯในขณะนั้นเรียกผมไปปรึกษาว่า ถ้าคนมาเยอะๆ มาเป็นหมื่น แล้วงานหลายวัน ถ้าแต่ละคนดื่มน้ำขวด วันหนึ่งไม่รู้ขยะพลาสติกจะเกิดขึ้นเท่าไหร่ หลวงพ่อถามผมว่าทำอย่างไรดี ผมเลยไปตั้งเครื่องกรองน้ำใหญ่ๆ 2 เครื่องที่ลานหินโค้ง เมื่อถึงเวลาหลงพ่อจะเทศน์ว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสำคัญยังไง การลดขยะ การลดพลาสติกเป็นยังไง โดยธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อเขารู้ถึงโครงการนี้ก็เอากระบอกน้ำมาให้หลวงพ่อแจก หลวงพ่อก็ประชาสัมพันธ์ว่าถ้าใครมาวัดอย่าเอาขวดพลาสติกมา ให้มากรองน้ำ ก็มีคนเห็นด้วย นำเครื่องกรองน้ำมาบริจาคให้หลวงพ่อตั้ง 20 เครื่อง จาก 2 กลายเป็น 20 เครื่อง หลวงพ่อก็นำไปติดตามตึกต่างๆ ค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ

มองว่าความสำคัญของมูลนิธิคืออะไร สิ่งเหล่านี้มีบทบาทสำคัญกับประเทศอย่างไร ทำไมถึงจำเป็นต้องมี?

ถ้าพูดถึงความยากจน ผมว่าเราขว้างก้อนหินขึ้นไปบนอากาศ มันตกตรงไหนก็ใช่หมด แต่โดยทั่วไป องค์กรการกุศลมักจะมองไม่ทะลุ มองไม่ตลอด ไปกันที ใครมีข้าวของหรือเสื้อผ้าอะไรก็เอาไป แวะซื้อขนมเอาไปให้ แล้วก็ขับรถเข้าไปในป่า ไปถึงหมู่บ้านไหนจนๆ เห็นเด็กก็เรียกให้มาเอา ทำทานแบบเรี่ยราดไปเรื่อย ซึ่งไม่ได้มีผลต่อการพัฒนาอะไรทั้งสิ้น บางทีก็แค่ย้ายขยะคนเมืองไปเป็นขยะของคนบ้านป่า ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ผมไม่ได้ว่าเขาไม่ดี เขาทำความดีในกรอบที่เขามองเห็น

ถ้าคนทำมูลนิธิยังมีความคิดว่าตัวเองเป็นต้นตอของคุณงามความดี อันนี้ก็ยิ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะต้องคิดว่าเราเป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ที่นำน้ำใจของคนบริจาคหรือที่เขาไว้ใจ ส่งไปถึงผู้รับ แล้วเราก็ต้องมองเห็นความสำคัญของคนที่อยู่ในพื้นที่ว่าเขาสำคัญ เป็นกลไกสำคัญกว่าตัวเรา

“ถ้าเราคิดว่าเราสำคัญกับตัวเขา เรากำลังทำลายโครงสร้างที่มันถูกต้องหมดเลย”



“แค่บุรุษไปรษณีย์ที่ไม่มีเงินเดือน”

นอกจากจะมองว่าคนทำมูลนิธิเสมือน “บุรุษไปรษณีย์” นำส่งน้ำใจของผู้บริจาคไปถึงมือผู้รับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ “นพ.วัชรา ทรัพย์สุวรรณ” ประธานมูลนิธิเทียนฉาย ย้ำอยู่เสมอคือ เขาไม่ได้ต้องการให้มูลนิธิใหญ่โตหรือมีชื่อเสียงแต่อย่างใด เพียงแค่สังคมที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้ รับทราบ ก็เพียงพอแล้ว

“อะไรที่มันใหญ่เกิน มันจะสร้างปัญหา ดังนั้น จะทำอะไรก็ต้องคิดถึงคนที่ร่วมงานกับเรา หากทำเกินไปก็จะพ้นขอบเขตของความสุข”

ดังนั้น เมื่อลองถามว่า “ตอนนี้หันมาทำมูลนิธิเต็มตัวหรือไม่ หรือยังเป็นคุณหมอทำการรักษาผู้ป่วยอยู่?” คำตอบที่ได้รับจึงไม่เป็นที่แปลกใจ

“ตอนนี้มีทั้งงานของตัวเอง มีทั้งธุรกิจ แต่คิดได้ว่า ถ้าคนเราเกิดมาแค่เพื่อทำมาหากินก็เหมือนนก เหมือนกา ที่ออกไปหากิน แล้วก็จบ ผมเป็นหมอ มาเรียนหมอเพราะอยากช่วยคน แต่วันนี้ผมไม่ได้ใช้อาชีพหมอในการหากิน ฉะนั้นก็ต้องใช้ความสามารถของผมที่มีเครือข่าย มีคนที่รู้จัก เพื่อทำให้มันเกิดประโยชน์ แต่ไม่ได้ทำเพราะอยากจะมีชื่อเสียง

“เราไม่ใช่คนมีเงิน เวลาจะมีกิจกรรมก็ควักกันมา เราไม่ได้ประชาสัมพันธ์หรือโฆษณา เพราะคิดว่ามันน่าจะอันตรายมากกว่า บางมูลนิธิมีการร่อนหนังสือ ขอรับบริจาคเงินเพื่อการศึกษา แนบประวัติเด็กให้หมด ผมว่านี่อาจเป็นผลเสียกับเด็ก เราจะไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกแบบนี้ คือการต้องเป็นหนี้บุญคุณชีวิตใคร ดังนั้น ระหว่างผู้บริจาคกับเด็กจะไม่รู้จักกัน เด็กรู้ว่าเขาได้เงินจากมูลนิธิ ส่วนผู้บริจาคก็ไม่ขอรู้ว่าเขาให้ใคร ผมว่ามันเป็นการให้ที่บริสุทธิ์ใจมากกว่า และเราไม่ต้องการการโฆษณา เพราะถ้าโฆษณา มูลนิธิใหญ่ เราจะมีปัญหา แต่ละปีเราคิดว่าจะได้ทำโปรเจ็กต์อะไร แล้วก็ไม่รับปากว่าจะทำสำเร็จ ถ้ามีเงินพอก็เสร็จ ไม่พอก็ต้องข้ามไปปีหน้า เราทำในขอบเขตที่ทำได้” เจ้าตัวเอ่ยไปยิ่มไป ก่อนจะปิดท้ายว่า

“ต้องรู้ก่อนว่าตัวเราไม่ใช่เทพบุตร ไม่ใช่เทพธิดามาจากไหน เราเป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ที่ไม่มีเงินเดือนและไม่คิดเงิน เมื่อประกาศโครงการอะไร มีคนบริจาคให้ เราแค่นำของหรือเงินเหล่านั้นไปส่งถึงมือผู้รับเท่านั้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image