สุรพงษ์ กองจันทึก อำนาจเถื่อนในสังคมไทย กับความหวังจาก ‘บิลลี่’

เป็นคดีที่สะท้านสะเทือนสังคมไทยในห้วงเวลานี้อย่างยิ่ง เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงถึงการพบชิ้นส่วนกระดูกที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เพชรบุรี ที่หายสาบสูญตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557

เมื่อถังน้ำมัน 200 ลิตร ถูกนำขึ้นจากผืนน้ำอันสงบนิ่งของแก่งกระจาน ความหวังในการคลี่คลายคดีก็สว่างขึ้นหลังอยู่ท่ามกลางความมืดมนมานานถึง 5 ปี

แน่นอน ไม่ใช่คดีฆาตกรรมธรรมดา แต่มีความซับซ้อน เชื่อมโยง และชวนให้ตั้งคำถามถึงความเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีเอี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร

“เรื่องนี้สะท้อนว่าประเทศไทยยังมีอำนาจเถื่อน แนวคิดรวมทั้งการปฏิบัติที่ป่าเถื่อน ผิดกฎหมาย แต่กลับยังอยู่ได้ในสังคมไทยและยังได้รับการยอมรับตลอดมา”

Advertisement

คือปากคำของ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น เจ้าของ “คำนำ” อันลือลั่นในโลกออนไลน์ จากหนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” ซึ่งเปิดความจริง-ล้างความเท็จ ปมกะเหรี่ยงติดอาวุธ รุกป่า ยึดที่ดิน ว่าหาใช่เช่นนั้นไม่

แม้จุดจบน่าเศร้าอย่างไม่เกินความคาดเดา แต่เจ้าตัวเชื่อว่าคดีนี้จะนำไปสู่สิ่งอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่อง “คนกับป่า”

และนี่คือคำตอบของ 13 คำถามในหลากแง่มุมจากประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดของ “คนทำงาน” ผู้ติดตาม คลุกคลี ลงพื้นที่ ช่วยเหลือและผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนตลอดมา แม้กระทั่งวินาทีนี้

Advertisement

 

บิลลี่สูญหายนาน 5 ปี อยู่ๆ มาพบตอนนี้ คิดว่ามีวาระซ่อนเร้นหรือนัยยะอะไรไหม?

คงไม่มี จะเห็นว่าดีเอสไอเข้ามาตลอด ตั้งแต่เกิดเรื่องเพราะการที่จะเป็นคดีพิเศษได้ ดีเอสไอต้องชงเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการซึ่งก็ต้องมีข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น พิเศษอย่างไร ทำไมเข้าข่าย ไม่ใช่ว่ารับเรื่องแล้วถึงเข้ามาดู แต่ต้องดูก่อนว่ามีข้อมูลจำเป็นที่ดีเอสไอสามารถใช้อำนาจเข้าไปได้ หรือมีเงื่อนงำบางอย่างซึ่งต้องใช้อำนาจดีเอสไอ ถ้าไม่จำเป็น ก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานปกติ เมื่อเข้าไปแล้วก็เก็บข้อมูลตลอดมา แต่คงไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเป็นเรื่องภายใน พอมีข้อมูลชี้ชัด ก็เปิดแถลงข่าว เป็นเรื่องปกติ

‘มึนอ’ ภรรยาบิลลี่ให้สัมภาษณ์สื่อว่า เชื่อว่าดีเอสไอรู้อยู่แล้วว่าใครทำ แล้วส่วนตัวรู้ไหม?

เราเชื่อว่าดีเอสไอมีข้อมูลมากกว่านี้ เพราะการเผยต่อสาธารณะ เขาไม่เผยหมดหรอก เขาคงมีมากกว่านี้ แต่มากกว่าขนาดไหนนี่ไม่รู้ การที่ออกมาเปิดเผย แน่นอนทำให้ผู้กระทำผิดรู้ตัว แสดงว่าดีเอสไอน่าจะมีการป้องกันในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วถึงกล้าออกมา คือเราไม่เชื่อว่าดีเอสไอเปิดเผยออกมาเพื่อให้ผู้กระทำผิดรู้ตัวและเตรียมหลักฐาน เพื่อจะรอด

กรณีบิลลี่ คนทำคงมั่นใจในระดับหนึ่ง อย่างน้อยหลบมาได้ถึง 5 ปี สิ่งที่พบไม่ใช่ง่ายๆ ถังอยู่ในน้ำที่ลึกที่สุด มองข้างนอกไม่มีทางเห็น เทคโนโลยีที่ดีเอสไอเอามาใช้ คือการตรวจสแกนหาโลหะ เป็นเทคโนโลยีใหม่ ถ้าไม่มีอาจจะยังไม่เจอ และ/หรือเจอแล้วก็อาจตรวจไม่ได้ เพราะไม่มีดีเอ็นเอชั้นนิวเคลียสอยู่ ถูกเผาหมดแล้ว ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งสมัยก่อนไม่มีอีกเช่นกัน คือการตรวจไมโตรคอนเดียซึ่งเป็นเรื่องระหว่างแม่กับลูก กรณีบิลลี่ ลูกของแม่บิลลี่ยังมีชีวิตอยู่ทุกคน มีบิลลี่หายไปคนเดียว เลยสรุปได้ว่าเป็นบิลลี่ ถ้ามีใครตายไป 1 คน บิลลี่หาย 1 คน ก็ไม่รู้ว่าเป็นลูกคนไหน นี่เป็นความบังเอิญ

หลังพบชิ้นส่วนกระดูกบิลลี่ ประเด็นวัฒนธรรม ‘ลอยนวล’ ในสังคมไทยถูกพูดถึงอีกครั้งอย่างกว้างขวาง มองประเด็นนี้อย่างไร?

ต้องพูดความจริงกันนะครับ ว่าที่ผ่านมาการอุ้มหายไม่ได้เกิดครั้งแรก มีหลายเคส เกือบทุกเคส ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ ก็เกิดคำว่าลอยนวล จริงๆ แล้วทั่วโลกก็เป็น แต่ไทยยิ่งไม่มีกฎหมายมาช่วยก็ยิ่งทำให้ยากใหญ่ ระยะเวลาผ่านไปนานเข้า ก็ยิ่งตอกย้ำว่าการลอยนวลน่าจะเป็นไปตามนั้น ต้องขอบคุณดีเอสไอ นี่ถือเป็นผลงานแรกๆ ที่สำคัญในแนวนี้ ซึ่งก็หวังว่าจะลบภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองว่าไม่มีน้ำยา ตรวจเรื่องไหนก็เงียบ โดยสร้างผลงานตัวเองจากเรื่องนี้

การเยียวยาจากภาครัฐต่อความเสียหายต่างๆ จากคดีลักษณะนี้เป็นอย่างไร?

ขออนุญาตใช้ว่า ไม่มี เพราะเรื่องคนหาย พอยังไม่เป็นคดี คือไม่รู้เกิดอะไรขึ้น เจ้าหน้าที่ยังไม่สืบสวน ไม่มีข้อสรุปอะไรเลย ก็ยังไม่สามารถเยียวยาได้ กรณีมึนอ เวลาจะคุ้มครองพยาน ก็ไม่ง่าย ถ้าไม่ใช่ข่าวดัง ไม่ใช่สภาทนายความเข้าไปยื่นมือช่วยเหลือ ก็จะไม่มีการคุ้มครองพยาน นี่แค่คุ้มครองพยานเท่านั้นนะ ยังไมได้พูดถึงการเยียวยา ซึ่งเราหวังว่าถ้ามีกฎหมาย จะมาช่วยเติมช่องว่างตรงนี้ได้ เราต้องรอให้มีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายออกมา

พ.ร.บ.ฉบับที่ว่านี้ ถ้ามีการใช้บังคับแล้ว จะเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลอย่างไรที่เป็นรูปธรรม?

กฎหมายฉบับนี้ เริ่มต้นจากการป้องกันก่อน ซึ่งเดิมไม่มีการป้องกันเลย การป้องกันจะทำอย่างไร ก็เช่น ถ้าผู้บังคับบัญชาทราบว่าลูกน้องตัวเองจะไปอุ้มให้คนหายแล้วไม่ห้าม จะมีความผิด แต่ถ้าเป็นกฎหมายปกติ ผู้บังคับบัญชาแค่ทราบ ไม่ผิด ถ้าไม่เข้าไปสนับสนุน สมมุติว่าได้ยินลูกน้องพูดกันแล้วไม่ได้บอกว่า เฮ้ย! เอ็งไปทำเลย เดิมไม่ผิด รับทราบเฉยๆ ไม่ได้เชียร์ ก็ไม่ผิด แต่ถ้าเป็นกฎหมายใหม่ ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดด้วย

นอกจากกฎหมายแล้ว ยังมีกลไกหรือวิธีการอื่นๆ ที่ช่วยป้องปรามได้อีกไหม?

ในเชิงป้องกัน นอกจากร่างกฎหมายแล้ว ทางอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เคยนั่งคุยกับผม กับสื่อด้วย และสรุปตรงกันว่า หลักการทั่วโลก มีการป้องกันคือ คนที่มีประวัติอาชญากรรม รัฐจะมีแบล๊กลิสต์ เพื่อเฝ้าระวัง ขณะเดียวกันคนที่ออกมาต่อสู้กับอิทธิพลมืดซึ่งเสี่ยงที่จะถูกทรมาน ถูกฆ่า ถูกอุ้มหาย นี่เรียกว่า White list ทั่วโลกมีหลักเกณฑ์การปกป้องนักสิทธิมนุษยชน มีแนวคิดจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม มีการตั้งกรรมการช่วยกันยกร่าง แต่เสียดายว่าอธิบดีท่านนั้นย้ายไปอยู่กรมอื่น เรื่องนี้ก็หายไป อยากให้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่

การคลี่คลายคดีนี้เกี่ยวข้องกับประเด็น ‘มรดกโลก’ มากน้อยแค่ไหน?

ถ้าถามว่าเป็นการสั่งการไหม เพื่อให้มาออกตอนนี้ โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างภาพว่าไทยดูแลเรื่องนี้ดี หวังนำไปสู่การประกาศมรดกโลก ผมเชื่อว่าไม่เกี่ยว เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งดูแลเรื่องมรดกโลกก็ไม่เคยแก้ไขปัญหาตามที่ต่างประเทศเสนอมา ทั้งเรื่องชุมชนก็ดี เรื่องอะไรก็ดี ยังเป็นการดำเนินการเดิมๆ ทำมา 4-5 ปี ก็ได้รับการปฏิเสธเดิมๆ ตลอดมา เนื่องจากไม่เปลี่ยนวิธีคิด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนปัจจุบันก็ยังยืนยันว่าจะเสนอใหม่ ซึ่งก็ไม่พบว่ากระทรวง เปลี่ยนวิธีการกระทำ ยังไม่ได้เข้าหาชาวบ้าน ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย สรุปคือ ไม่น่าเกี่ยว แต่จังหวะเผอิญพอดีที่ออกมาชัดเจนในช่วงนี้ ซึ่งส่งผลแน่นอน เพราะโลกถามอยู่แล้วว่าการที่บิลลี่หายไป ไทยทำอะไรให้มีความชัดเจนบ้าง ขนาดคนหายยังไม่สามารถทำอะไรได้ แล้วคุณจะไปดูแลสัตว์ ดูแลพืชได้อย่างไร แต่ถ้าทำให้ชัดเจนได้ ก็จะสามารถอธิบายทั่วโลกได้ว่า ประเด็นบิลลี่ เราเคลียร์แล้วนะ เราหาผู้กระทำผิดจนกระทั่งนำไปสู่การลงโทษได้ จึงน่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

แล้วชาวบ้านในพื้นที่ต้องการหรือเปล่า?

กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ก็มีการประกาศมรดกโลกในเขตป่าซึ่งชาวบ้านอาศัยมานานแล้ว เหมือนกรณีแก่งกระจานเลย ชาวบ้านเขาเฉยๆ คือ ขึ้นก็ขึ้น ไม่ขึ้นก็ไม่ขึ้น

พอประกาศทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลก ชาวบ้านก็ออกมาเฉลิมฉลองด้วยนะครับ มาร้องรำทำเพลง มาพูดคุยกัน จัดงานที่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี ผมก็ไปร่วม ทุกวันนี้ทุ่งใหญ่นเรศวรก็สงบสุขตลอดมา 20 กว่าปี เพราะเขาให้ชาวบ้านใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่ป้องกันไม่ให้คนนอกเข้ามา เพราะปัญหาส่วนใหญ่มาจากคนนอกทั้งนั้น ทุ่งใหญ่ฯ มีกรณีดังๆคือ ฮ.ไปตก ซึ่งเกิดจากทหารเข้าไป เสือดำ ก็เกิดจากคนนอก

แต่กรณีแก่งกระจาน ถึงชาวบ้านอยู่มานานแล้ว หมู่บ้านใจแผ่นดินปรากฏในแผนที่มาเป็นร้อยปีแล้ว แต่วิธีการจัดการของเจ้าหน้าที่ไม่เหมือนกับทุ่งใหญ่ฯ หัวหน้าอุทยานแก่งกระจานฯ ตรงกันข้ามกับหัวหน้าอุทยานทุ่งใหญ่ฯ ผมใช้คำว่าตรงข้ามเลย แก่งกระจานจะย้ายชาวบ้านออก อย่าใช้คำว่าย้ายเลย เรียกว่าบังคับดีกว่า ชาวบ้านไม่ออกก็เผาบ้าน นำมาสู่การฟ้องร้องกัน ไม่ได้เผาแค่บ้านเดียว เผาเป็นร้อยๆ หลัง

แต่คนส่วนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งมองการกระทำนี้เป็น ‘วีรกรรม’ คนทำคือ ‘ฮีโร่’?

กระแสกรีนในบ้านเรา เอาเฉพาะป่า ไม่เอาคน มูลนิธิที่ทำเรื่องรักษาป่า ก็ไม่ได้เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านในการรักษาป่า สื่อสมัยก่อน ก็กลายเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างชาวบ้าน เห็นว่าเป็นกองกำลัง มีอาวุธสงคราม เป็นผู้บุกรุก เป็นพวกค้ายาเสพติด ก็ไปเสนอภารกิจนี้ในแง่ที่ว่าคนทำเป็นฮีโร่ ปกป้องอธิปไตยของชาติ จนกระทั่งปู่คออี้ลุกขึ้นมา สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดตัดสินเมื่อปีที่แล้วบอกว่า ชาวบ้านเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม การที่เจ้าหน้าที่ไปเผาบ้าน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องทำตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งมีนโยบายและแนวปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกระเหรี่ยง ยุติการจับกุม ให้การคุ้มครอง เยียวยาค่าเสียหาย แต่การเยียวยาเป็นเงินหลวง ตัดสินแล้วก็เอามาให้ เป็นเรื่องกระบวนการจัดการชุมชน จนวันนี้ผ่านไปปีกว่าแล้ว ยังไม่จัดการเลย

การที่วิธีคิดของทุ่งใหญ่ฯกับแก่งกระจานแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทำไมแนวนโยบายหลักของทั้งกระทรวง หรือทั้งกรมไม่มุ่งไปในแนวทางเดียวกัน?

เห็นด้วยกับคำถามนี้ ทำไมกรมอุทยานฯ ไม่ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับรัฐ กับชาวบ้าน กับภาพลักษณ์ประเทศไทย ที่เราไม่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแก่งกระจานติดต่อกัน 4-5 ปี เพราะหลักการทั่วโลก เขามองว่าชุมชนเป็นเจ้าของป่า จะทำอะไรก็ต้องไปขออนุญาตเขา เราเป็นคนนอก ประเทศไทยเผลอๆ จะเป็นประเทศเดียวในโลก ที่คิดว่าคนอยู่ในป่าไม่ได้ ต้องเอาคนออก ครั้งนี้กรรมการมรดกโลกก็เสนอเราชัดเจน 3 ข้อ ข้อ 3 ซึ่งเป็นข้อใหญ่คือให้ไปดูเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้ปฏิบัติตามไกด์ไลน์ของเขา แต่ไทยไม่ได้พูดถึงย่อหน้านี้เลย รัฐไทยยังคิดว่า โอเค มีคนในป่าก็ได้ แต่จะ ‘อนุญาต’ ให้อยู่อย่างไร ต้องย้ำนะครับว่ายังผิดกฎหมายอยู่ แต่ผ่อนปรนอยู่ในเงื่อนไขอย่างไร ซึ่งทั่วโลกไม่มีใครคิดแบบนี้

สังคมไทยเรียนรู้อะไรจากคดีบิลลี่?

ผมว่ามี 2 แง่นะครับ เอาแง่ที่ไม่ดีก่อน ก็จะเห็นว่ามีคนจำนวนหนึ่ง เลือกที่จะจัดการชาวบ้านโดยอ้างว่ารักษาป่า ด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายแล้วได้รับการยอมรับอย่างมากจากคนในสมัยหนึ่งด้วย แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่บางส่วนก็ไม่รู้ด้วย มาช่วยในปฏิบัติการนี้คือปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี มีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากส่วนอื่นเข้ามาร่วมด้วย กลายเป็นเครื่องมือ นำไปสู่การที่ ฮ.ตก 3 ลำ ซึ่งเราก็เสียใจกับการสูญเสียครั้งใหญ่ แน่นอนว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ชาวบ้านถูกเผาบ้านเป็น 100 หลัง ก็น่าเศร้าเช่นกัน คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เอาข้อมูลมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ อย่าง อ.ทัศน์กมล โอบอ้อม พาบิลลี่มาเจอผมได้ 7 วัน อ.ก็ถูกยิงตาย บิลลี่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ต่อ ก่อนที่ปู่คออี้จะเจอหน้าศาล บิลลี่ก็ถูกอุ้มหาย คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ไม่ได้รับการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง ยังอยู่ในอำนาจ ถ้าดีเอสไอไม่มาเจอ ก็เงียบหายไปในสังคมที่ดูคล้ายๆกับไม่มีความหวัง แต่ในขณะเดียวกัน อีกแง่หนึ่งเรื่องของบิลลี่ เรื่องของปู่คออี้ ก็นำไปสู่ความหวังของสังคมไทย ในการแก้ไขปัญหาเรื่องคนกับป่า ปัจจุบันเรามีคนอยู่ในพื้นที่ป่าประมาณ 15 ล้านคน ถ้าเอาหลักเกณฑ์นี้มาใช้ก็จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ประเด็นต่อมาที่คืบหน้าคือมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ให้ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง พอออกมาปั๊บ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ส่วนใหญ่ บอกว่านี่ไม่ใช่กฎหมายของเขา เขาไม่มีหน้าที่ปฏิบัติตาม ต้องปฏิบัติตามมติ ครม. 3 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นมติที่เขาชงขึ้นมา ซึ่งก็ไปจัดการว่าชาวบ้านผิดกฎหมายอย่างไร มีการสู้กันในศาล ศาลบอกต้องทำตามมติ 3 สิงหาคม 2553 หมายความว่าที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำต่อๆ มานั้นผิดหมดเลย ซึ่งต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด การดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ทำเลย

คดีบิลลี่จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือกรณีศึกษาให้คดีอื่นในอดีตและอนาคตอย่างไร?

คดีนี้บอกเราว่า ถึงแม้คุณจะมีอำนาจ มีความพยายามในการกลบเกลื่อนอย่างไรก็ตามแต่ เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็สามารถหาเบาะแสได้ คนที่จะทำเรื่องเหล่านี้ ก็จะไม่กล้าทำ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ทำแล้วไม่สามารถเอาผิดได้ คนที่ถูกอุ้มหายคนที่ถูกฆาตกรรม คนที่ถูกซ้อมทรมาน ก็บอกว่าไม่มีหลักฐาน ตายแล้วก็ตายไป แต่กรณีบิลลี่ คนเริ่มมีความหวังว่าเคสอื่นๆ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบในเรื่องเหล่านี้ ก็ถือโอกาสเรียกร้องให้สังคมว่าต้องดูเรื่องนี้อย่างจริงจังในเชิงระบบ ทั้งป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาด้วย

คำถามสุดท้าย ดีเอสไอบอก 3 เดือนจับคนร้ายได้ เชื่อไหม?

เชื่อไม่เชื่อไม่รู้ แต่สิ่งที่ดีเอสไอพูดผ่านสื่อ นี่คือสัญญาประชาคม

เมื่อประกาศต่อสื่อจำนวนมากอย่างนี้ น่าจะทำได้เขาถึงกล้าพูด

 

‘คาปู ลาเต้ มอคค่า’
เศรษฐีน้ำตา
และคำสวยๆ ว่า ‘สิทธิมนุษยชน’

อาจดูเป็นชุดคำที่ไม่ค่อยเข้ากันสักเท่าไหร่ สำหรับเศรษฐีน้ำตา ชื่อเพลงดังของ สุเทพ วงศ์กำแหง, 3 เมนูกาแฟซึ่งที่แท้เป็นชื่อสุนัข และสิทธิมนุษยชน ถ้อยคำอันมีความหมายทรงพลัง

ทว่า ทั้ง 3 คำคือสิ่งที่ สุรพงษ์ กองจันทึก ผูกพันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“เดือนหนึ่งผมจะไปร้องเพลงที่ รพ.จุฬาภรณ์ครั้งหนึ่ง ไปร้องให้ผู้ป่วย รุ่นพี่ที่เป็นนักร้องเก่าวงสุนทราภรณ์เป็นคนจัด เพลงที่ร้องบ่อยคือเศรษฐีน้ำตา”

ไม่ใช่แค่ครวญเพลงอันไพเราะ เจ้าตัวยังเล่นเปียโนซึ่งเดิมเป็นของลูกสาวว่าที่ทันตแพทย์ซึ่งพักหลังทุ่มเทกับการเรียนจนไม่ค่อยมีเวลาจับเครื่องดนตรีมากนัก ตำแหน่งศิลปินหลักจึงตกอยู่กับนักสิทธิมนุษยชนคนนี้

เวลาว่าง ยังออกกำลังกายด้วยการวิ่งในสวนหน้าบ้านเบาๆ 100 รอบ โดยมี มอคค่า ลาเต้ และคาปู ให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ


“ตัวสีดำชื่อมอคค่า แก่สุด ได้มาจากสัตวแพทย์ประจำ เคยเป็นหมาของคนงานก่อสร้าง พองานเสร็จ ไม่เอาหมาไป หมอเลยโน้มน้าวให้ผมรับมา (หัวเราะ) ส่วนคาปู ตัวเล็กสีน้ำตาล เห่าเก่ง ได้มาเพราะมีรุ่นน้องไปเจอหมาจรถูกรถชน เขาเอาไปรักษาแล้วฝากไว้ที่คลินิก ผมก็ไปรับมาเลี้ยง สุดท้าย ลาเต้ ตัวใหญ่สุด ลาบราดอร์นะ แต่กี่เปอร์เซ็นต์ไม่รู้ (หัวเราะ) เจ้าของเดิมให้มา ก่อนให้ ขอดูรูปบ้าน พอเลี้ยงแล้วยังอัพเดตให้เขาดูด้วย สัตวแพทย์ที่คุ้นเคยกันบอกว่า พี่ๆ ผมว่าไม่น่าใช่ลาบราดอร์พันธุ์แท้นะ ไว้โตๆ ก่อนค่อยยืนยันแล้วกัน มาดูตอนนี้ พูดง่ายๆ ไม่ใช่พันธุ์แท้ แต่เลี้ยงแล้วก็รัก ตัวนี้นอนในบ้านเลย”
เล่าอย่างอารมณ์ดี ต่างจากท่าทีจริงจังครั้งพูดถึงเบื้องหลังอันน่าเจ็บปวดของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเขาให้การผลักดันช่วยเหลือตลอดมา

ถามถึงความคาดหวังสูงสุดในเชิงอุดมคติ ได้รับคำตอบที่ไม่พลิกความคาดหมาย

“ผมคิดว่าผมคาดหวังเหมือนคนทุกคนในโลกนี้ คือ อยากให้โลกสงบสุข ทุกคนไม่เบียดเบียนกัน ซึ่งหลักนี้อยู่ในใจคนทุกคน ความปรารถนาให้คนอื่นได้ดี หรือว่าเห็นคนอื่นเดือดร้อนแล้วเรารู้สึกเดือดร้อนเป็นธรรมชาติพื้นฐานมากๆ ของมนุษย์ เห็นได้ชัดเจนจากละครน้ำเน่า คนดูทั้งประเทศไทย เห็นใจคนดี ด่าคนร้าย ทำไมพระเอกซื่อบื้อจัง อยากให้แฮปปี้เอ็นดิ้ง เป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

อาจใช้คำศัพท์สวยๆ ว่า สิทธิมนุษยชนก็ได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image