ทุกดีกรีของชีวิต ‘พิเศษ สอาดเย็น’ จาก ผอ.ศูนย์ไอที ถึงผู้ชนะรางวัลแต่งหนังสือสอนพุทธศาสนาเด็ก

ในวัยใกล้ 48 ปี เขามีปริญญาอยู่ 5 ใบ ศึกษาทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแปล กฎหมาย อีกทั้งยังสนใจในพุทธศาสนา ด้วยความมุ่งมั่นและโอกาสมาถึง “พิเศษ สอาดเย็น” ไม่รอช้า เขาเรียงร้อยถ้อยความงานเขียนหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก หัวข้อ “กาลเทศะตามนัยพระพุทธศาสนา” ได้รับพระราชทานรางวัลที่ 1 ประจำปี 2562 จากการประกวดของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานเนื่องในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา 2562

ก่อนจะถึงวันนี้ พิเศษเคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เคยร่วมงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เคยปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม

ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม รับผิดชอบงานอำนวยการ ผลักดันการทำตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวง รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับรองไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งครอบคลุมถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงาน วิจัยและวิชาการ ประจำสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือทีไอเจ

Advertisement

ทว่า เมื่อกล่าวถึงด้านงานเขียน พิเศษเคยฝากผลงานในแวดวงน้ำหมึกมาแล้ว อาทิ งานเขียนเรื่อง “อยู่เรือนหลังเล็ก” ถ่ายทอดศาสตร์การชงชา งานแปลเรื่อง “ปรัชญากฎหมาย : ความรู้ฉบับพกพา”

สำหรับหนังสือเรื่อง “กาลเทศะตามนัยพระพุทธศาสนา” เขาบอกว่าเป็นการส่งผลงานประกวดแข่งขันครั้งแรก และได้รางวัลทันที

จากเมื่อก่อนถึงตอนนี้ คงไม่แปลกหากจะมองว่าพิเศษเดินบนถนนวิชาการเกือบทุกสายแล้ว เจ้าตัวบอกว่า “ที่เป็นตัวเป็นตนอยู่ทุกวันนี้ ผมได้ใช้ทุกดีกรีแล้ว แต่ใช้คนละช่วงเวลาเท่านั้น”

Advertisement

ดูเหมือนว่าหน้าที่การงานไม่เกี่ยวข้องกับด้านพุทธศาสนาเลย แล้วมาเขียนหนังสือสอนพระพุทธศาสนาเด็กได้อย่างไร เคยส่งผลงานเข้าประกวดมาก่อนหรือไม่?

ไม่เกี่ยวเลยครับ งานประจำก็คืองานประจำ นี่เป็นความสนใจส่วนตัว ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ไปประกวดเวทีนี้ซึ่งเป็นคนคุ้นเคยกันเล่าให้ฟังบ้าง เขาเอาหนังสือที่ส่งเข้าประกวดและได้รับพระราชทานรางวัลที่ 1 มาเป็นของขวัญแจกวันปีใหม่ ผมอ่านแล้วจึงรู้ว่ามีกิจกรรมการประกวดแบบนี้อยู่ คิดว่าน่าสนใจดี ตอนนั้นผมชอบขีดเขียนอยู่แล้ว พอได้โอกาสเมื่อปีที่ผ่านมาจึงลองติดตาม แล้วก็เขียนส่งไปประกวดดู ส่วนเรื่องงานเขียนที่ส่งเข้าประกวด งานนี้เป็นชิ้นแรกแล้วก็ได้รางวัลเลย (ยิ้ม)

สนใจด้านพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว?

สนใจระดับปานกลาง เพราะผมไม่ค่อยได้อยู่เมืองไทย ช่วงชีวิตส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ตอนนั้นสิ่งที่ทำนอกจากเรียนคือเที่ยวเล่นบ้าง พอมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับไทยๆ ก็มีความกระหายอยากจะรู้ เช่น อ่านหนังสือไทยเยอะขึ้น เรื่องศาสนาจึงเข้ามาเป็นความสนใจ หาอ่านเองเพิ่มเติม ผมไปอยู่ที่ญี่ปุ่นมา 8 ปี เห็นคติมหายานรอบๆ ตัวเลยศึกษา แต่เป็นการศึกษาในทางที่รู้ไว้เพื่อสนใจ ตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ และความรู้ก็ปานกลาง คือรู้นิดๆ หน่อยๆ

ตีโจทย์หัวข้อ “กาลเทศะตามนัยพระพุทธศาสนา” อย่างไร?

หัวข้อนี้ค่อนข้างยาก ปีก่อนๆ เป็นโจทย์เรื่องหลักธรรม ซึ่งกาลเทศะก็ไม่ได้เป็นหลักธรรมโดยตรง แต่เป็นคอมมอนเซนส์ ดังนั้น ต้องไปตีโจทย์ว่าจะหาหลักธรรมอะไรที่สอนให้เรารูจักกาลเทศะ จากนั้นไปดูว่ากาลเทศะที่เป็นหลักธรรมตรงๆ อาจไม่มี แต่ถ้าเป็นเรื่องการสอนให้คนทำตัวให้ถูกต้อง เป็นคนดี น่าจะมีความเกี่ยวข้อง ก็เลยไปศึกษา ไปถามพระเถระที่รู้จักคุ้นเคย รวมทั้งปรึกษาอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เขาแนะนำว่าน่าจะมีเรื่องธรรมะของคนดี 7 ประการ ซึ่งมีหมวดที่พูดถึง “กาลัญญุตา” หรือผู้รู้กาล ผมจึงจับจากตรงนี้มาพร้อมๆ กับเปิดหนังสือพุทธธรรมของพระธรรมปิฎกที่บังเอิญมีอยู่ที่บ้าน อ่านไปก็พบว่ามันคือ “สัปปุริสธรรม 7” ก่อนนำมาปรับวิธีคิดว่าการจะเป็นคนดีตามนิยามของพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมดังกล่าวจะช่วยให้เรามีวิธีคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วางตัวได้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะกาลเทศะคือการทำให้ถูกที่ ถูกเวลา

คำว่า “ที่” ที่ผมรู้แบบกว้างๆ นั้นไม่ใช่แค่สถานที่อย่างเดียว แต่หมายถึงสังคมที่เราเข้าไปอยู่ รวมถึงคนที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์ ขนบธรรมเนียม ดังนั้น จึงต้องอาศัยวิธีมองโลกที่พระพุทธศาสนาสอนผ่านหลักธรรมข้อนี้ก็น่าจะช่วยได้

พอดูไปแล้วก็พบอีกว่าเหมือนรู้แค่ทฤษฎี บางทีกาลเทศะมันทำถูก แต่กลับไม่เกิดผลดีอย่างที่คาดหวัง เพราะยังมีเหตุที่ควบคุมไม่ได้อีก จึงมองหาหลักธรรมอีกหนึ่งหมวดคือ “พรหมวิหาร 4” พูดถึงการปรับจิตใจให้เหมาะกับความทุกข์ ความสุข ความยินดี ความยินร้าย เลยเลือก 7+4 แล้วพยายามอธิบายหลักธรรมให้ครบก่อน ระหว่างนั้นก็ยกตัวอย่างแทรก เช่น หากเป็นเด็กที่ต้องไปโรงเรียนวันพรุ่งนี้ ถ้ากลางคืนมัวแต่เล่นเกมอยู่ถือว่าไม่รู้ตนแล้ว ไม่รู้หน้าที่ตัวเอง อีกทั้งกรณีศึกษาอีก 2 เรื่องคือ 1.เด็กผู้หญิงที่สูญเสียแม่ และ 2.พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น คิดว่าเรื่องนี้แสดงสัปปุริสธรรมได้ทั้งหมด 7 ข้อ น้องๆ จะได้เข้าใจ พุทธธรรมที่นอกจากจะดูเป็นข้อๆ แล้ว ยังเห็นเป็นองค์รวมว่าเวลานำไปใช้จริงจะสัมพันธ์กันอย่างไร

โจทย์คือต้องเขียนหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถือเป็นเรื่องหนักใจอย่างหนึ่งหรือไม่?

คิดว่าเป็นความยากจริงๆ เพราะแต่งหนังสือทั่วไปอาจพออธิบายให้ชัดเจน ครบถ้วน ก็น่าจะพอ แต่นี่มีความยากง่ายด้วย ผมเลยอาศัยกลวิธีการเขียนแบบทอนประโยคให้สั้น พยายามไม่เขียนอะไรยืดยาว พร้อมกับขึ้นย่อหน้าบ่อยๆ

อีกวิธีหนึ่งคือลองเขียนแล้วเอาไปให้ลูกหลานอ่าน แล้วถามฟีดแบ๊กเขาว่าอ่านแล้วพอรู้เรื่องไหม เท่าที่เขาดู เขาอ่านแล้วเข้าใจ ไม่ยากเกินไป จึงพอจับทางได้ว่าประมาณนี้ไม่น่าจะยากเกินไป อีกอย่างหนึ่งคือการศึกษาภาษาไทยอย่างเป็นทางการของผมอยู่แค่ ม.3 เพราะ

ม.4 ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นแล้ว ด้วยตัวตนแบบนี้ทำให้ภาษาไทยของผมไม่ได้วิลิศมาหรา จึงนำมาเป็นจุดแข็งคือเขียนแบบง่ายๆ คิดว่าส่วนนี้น่าจะมีส่วนช่วย ไม่จำเป็นต้องปรับภาษาตัวเองให้มาก เขียนแบบที่เราเขียน เพียงแต่มีความระมัดระวังมากขึ้นนิดหน่อย นอกจากนี้ ยังได้ไปปรึกษาพระเถระที่รู้จัก ท่านให้ตัวอย่างพระพุทธประวัติในพระไตรปิฎกซึ่งน่าสนใจมาก ท่านหวังดี แต่ผมว่ามันยากไปสำหรับเด็ก จึงไม่ได้นำมาใช้

การปรึกษาพระ ผู้ใหญ่ หรือให้เด็กๆ อ่านต้นฉบับก่อนคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะกติกาการแข่งขันมีไม่กี่ข้อเท่านั้น อาทิ ต้องไม่เป็นกรรมการ ต้องเขียนให้ครบตามแบบ เช่น จำนวนหน้า ส่วนภาพประกอบจะมีก็ได้ แต่ไม่นำมาคิดคะแนน รวมทั้งต้องอธิบายหลักธรรมให้ชัดเจน ปลูกฝังให้เด็กอ่านแล้วรู้สึกเลื่อมใสในคำสอน ไม่ย่ำยีศาสนาอื่น ถ้าเรายกพระพุทธศาสนาดี แต่ศาสนาอื่นแย่ ก็ไม่เป็นไปตามกติกา พาร์ตการทำรีเสิร์ชก็เข้าใจว่าคนที่ได้รางวัลในอดีตส่วนใหญ่ไม่ต้องทำ เพราะเขารู้เรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลที่ผ่านมามีทั้งพระสงฆ์ ฆราวาส รวมทั้งผู้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ 1 คนแรก คือ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ผมไปอ่านดูแล้วพบว่าคลาสสิกมากๆ แต่งง่าย เข้าใจ ชัดเจน มีคำถามท้ายบทด้วย ส่วนผมไม่ได้ใส่เข้าไป และผมไม่ใช่มนุษย์ที่เก่งเลยต้องทำรีเสิร์ช (ยิ้ม)

การประกวดที่ผ่านมามีผู้สมัครแข่งขันเยอะไหม?

ผมลองถามเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เขาบอกว่าไม่เยอะ ไม่ถึง 10 สำนวนดี คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ด้วย ผมอยากส่งประกวดมาหลายปีแล้ว แต่ไม่ทัน พอมาเปิดดูเว็บไซต์ก็หมดเขตแล้ว การประชาสัมพันธ์ของเขาคล้ายหนังสือราชการเวียนไปตามหน่วยงานต่างๆ ระบุถึงหัวข้อในปีนั้น เงื่อนไขการแข่งขันมีอะไรบ้าง กำหนดส่งงานถึงวันไหน ส่วนในเว็บไซต์ก็มีช่วงเวลาประกาศราวเดือนกันยายน ครั้งนี้จังหวะดีเพราะตั้งแจ้งเตือนไว้ในปฏิทิน พอถึงเวลาปุ๊บผมจึงรีบแพลนว่าจะทำอะไรบ้าง

ส่วนการประกวดครั้งต่อไปกำลังคิดว่าได้หนหนึ่งก็พอแล้ว เป็นเกียรติประวัติกับตัวเอง เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ประกวดบ้าง (ยิ้ม) ในชีวิตนี้เขียนหนังสือมาแค่เล่มเดียวคือ “อยู่เรือนหลังเล็ก” อย่างที่บอกว่าผมไปอยู่ญี่ปุ่นมา 8 ปี ช่วง 3 ปีสุดท้ายได้อยู่ในบ้านของสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นคุณครูสอนชงชา ผมเลยได้เรียนชงชา พร้อมนำประสบการณ์ช่วงนั้นมาเขียนเป็นหนังสือ ก่อนจะมีคนนำไปตีพิมพ์ให้ นอกจากนั้นเป็นผลงานแปลคือ ปรัชญากฎหมาย : ความรู้ฉบับพกพา และคอร์รัปชัน : ความรู้ฉบับพกพา ร่วมแปลกับอาจารย์ธงทอง และเล่มคุณานุคุณไตรภาค หนังสือที่สำนักงานสภาการศึกษาจัดพิมพ์สนองพระกรุณาธิคุณในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา ที่มีส่วนร่วมแปลด้วย

ในฐานะผู้เขียน คาดหวังให้คนอ่านได้อะไร?

ผมพยายามมองว่าทุกวันนี้คนหรือเด็กๆ น่าจะมองว่าศาสนาอาจจะอยู่ไกลตัว จึงพยายามย้ำในมุมนี้หลายครั้งว่าพุทธศาสนาสอนวิธีคิด เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยู่กับปัจจุุบัน อยู่กับปัญหา และมีวิธีแก้ปัญหา คุณก็อยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาได้แล้ว คิดว่านี่เป็นข้อความสำคัญในเรื่องนี้ ส่วนกาลเทศะเป็นโจทย์ที่ยกตัวอย่างมาว่าพระพุทธศาสนาสอนหลายเรื่อง แต่คีย์เมสเสจคือไม่จำเป็นต้องไปวัดทุกวัน อยู่ตรงไหน ทำอะไรอยู่ก็ได้ ขอให้เรามีวิธีคิดแบบที่พระพุทธศาสนาได้ยกย่อง แนะนำไว้

ดังนั้น จึงมองว่าการที่คนหรือเด็กในปัจจุบันไม่ค่อยใกล้ชิดศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก? ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละบุคคล?

ใช่ครับ ความเห็นส่วนตัวผมคือพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีทั้งความยากและง่ายในตัว จะว่าง่ายก็ง่าย ถ้ามองในมิติเรื่องศรัทธาก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ทำตามแพทเทิร์นไป นี่คือบุญ-บาปชัดเจน ทว่า หากเข้าใจให้ลึกซึ้งก็ถือว่าเป็นศาสนาที่เหมาะกับปัญญาชนพอสมควร คัมภีร์ก็เป็นภาษาต่างประเทศที่เราเข้าใจได้ยาก วิธีเดียวที่เราจะเข้าถึงได้ก็คือหวังพึ่งพระที่ท่านศึกษาบาลีแล้วนำหลักธรรมมาย่อย มาสอนเรา หลังๆ มาก็มีงานของพระสงฆ์หลายรูปที่ทำให้เราเข้าถึง อย่างพุทธธรรมที่ยกขึ้นมา สามารถอ่านเล่นได้ เพราะท่านเขียนไว้เป็นหมวดหมู่ชัดเจน

สำหรับตัวเองมองว่าศาสนาพุทธดี ดังนั้น ให้คนรอบตัวหรือครอบครัวหันมานับถือศาสนาพุทธตามด้วยไหม หรืออะไรก็ได้ แค่อยู่บนพื้นฐานความดี?

ผมไม่บังคับใคร มองว่าเป็นชอยส์ แม้ตอนแรกอาจไม่ได้เลือกด้วยซ้ำ แต่เมื่อโตพอรู้ความ ได้ลองศึกษาดูก็รู้สึกว่าเป็นศาสนาที่ดี ก็เลือกเอง แต่ทุกวันที่อาราธนาศีลก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งและได้เชื่อมโยงกับแนวคิดและคุณค่านี้ ผมไม่คิดว่าตัวเองอยู่ในฐานะที่ไปกะเกณฑ์ให้ใครต้องมาเชื่อแบบเดียวกัน จะนับถืออิสลามหรือคริสต์ก็อยู่ในครอบครัวเดียวกันได้ ศาสนาไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้อยู่กันไม่ได้แม้ในชายคาเดียวกัน

ถ้ามองศาสนาให้ข้ามไปจากจารีต มองไปถึงแก่นก็ล้วนเหมือนกันทั้งนั้น มีอุดมคติเดียวกันคือการหลุดพ้น ไม่ว่าจะหลุดพ้นด้วยความรักจากพระเจ้า ความเมตตาจากพระอัลเลาะห์ หรือการปฏิบัติอยู่กับทุกข์ของตัวเอง แล้วอยู่กับความดับทุกข์ มันก็ไปที่จุดเดียวกัน จะมีหรือไม่มีอัตตาก็จุดเดียวกัน อยู่ที่ชื่อเรียก ที่สภาพแวดล้อมทางสังคมที่หล่อหลอมมาเป็นอารยธรรมเช่นนั้น ให้มีความเชื่อเช่นนั้น

เปิดกว้างเรื่องศาสนาเช่นนี้ คิดอย่างไรกับกรณีนักศึกษาวาดภาพพระพุทธรูปอุลตร้าแมน มองว่าถูกหรือผิด หรือพระพุทธศาสนาจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมใดก็ได้?

ถ้าดูจากเจตนาแล้วก็น่าเห็นใจเขา เพราะเรื่องศาสนานั้นสำคัญ คนในสังคมอาจต้องยอมรับและเคารพการแสดงออกของคนอื่นด้วย ตราบเท่าที่การแสดงออกนั้นไม่ได้ไปล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ถ้าถามผมก็เป็นเรื่องที่เขาน่าจะทำได้ แต่ก็เข้าใจว่าในมุมของอนุรักษนิยมว่าไม่ควร ฉะนั้น การไปตัดสินจึงทำได้ยากมาก ถ้าคำอธิบายคือเขาเข้าใจแบบนี้ อยากจะนำเสนอในแง่มุมนี้ในศิลปะ ผมว่าก็ไม่ได้เสียหายอะไร

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าศาสนาเราเป็นของประเสริฐ และไม่ได้ด้อยค่าลงเพราะสิ่งนี้ พุทธศาสนาอยู่มาได้เป็นพันๆ ปีแล้ว และจะอยู่ต่อไปอย่างน้อยจนกว่าจะหมดอายุพระพุทธศาสนา แล้วรอพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป เป็นสัจธรรมที่อยู่ได้ แต่ก็เข้าใจอีกมุมหนึ่งสำหรับคนที่ศรัทธาก็จะมองความเป็นสถาบันของศาสนา อยากจะปกป้อง รักษา มีปฏิกิริยาที่เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขารักและเคารพถูกกระทบ แต่ผมมองว่านี่เป็นคนละประเด็นกัน

ผมมองไปถึงเรื่องเสรีภาพในการคิดเห็น เขาทำแบบมีหลัก มีคำอธิบาย มีเจตนาที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำแบบลอยๆ หรือตั้งใจทำให้ดูด้อยค่า เขาเชื่อแบบนั้นจริงๆ เพียงแต่รูปอุลตร้าแมนอาจเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่คาดฝันว่าจะมาอยู่กับพระ แต่ต่อไปอาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ ถ้าผู้สร้างสรรค์งานสามารถทำออกมาให้ดี เป็นศิลปะ ซึ่งก็เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งได้ เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พุทธศาสนาสอนเรื่องการมีสติ อย่าด่วนสรุป ใช้หลัก ใช้วิธีคิด โดยสิ่งที่พุทธศาสนาไม่แนะนำคือการฟังแค่บางส่วนแล้วนำไปสร้างกระแส ใช้อารมณ์มากไป คนที่ใช้อารมณ์อาจลืมว่าพุทธศาสนาสอนให้เราใช้เหตุผล สติคือตัวกำหนดให้เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราถึงจะตามความคิด ความรู้สึก ตามอารมณ์ทัน

ผมจึงบอกว่าพุทธศาสนานั้นจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ยาก


นาทีแห่งความปีติ

17 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในการตั้งเปรียญพระภิกษุและสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค และ 6 ประโยค เนื่องในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2562 ในการนี้ ได้พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ประจำปี 2562 ทั้งหมด 3 รางวัล

หนึ่งในนั้นคือ พิเศษ สอาดเย็น ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ 1 เขาบอกว่า วันนั้นเป็นงานแจกรางวัลหนังสือที่พิเศษมาก


“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะพระราชทานรางวัลเอง แต่ให้เป็นช่วงต่อท้ายหลังจากทรงตั้งเปรียญแล้ว ซึ่งในพระราชพิธีวิสาขบูชาจะมีงาน 2 วัน วันแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือผู้แทนพระองค์จะเสด็จฯไปที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว ทรงตั้งเปรียญ จากนั้นผู้ได้รับรางวัลการเขียนหนังสือทั้ง 3 คน เข้ารับพระราชทานรางวัล วันรุ่งขึ้นมีพิธีเวียนเทียน มีการประดับโคมดอกไม้ ประทีปไฟแบบโบราณ บรรยากาศน่าตื่นเต้น ช่วงพระราชพิธีวันแรกมีพระและญาติๆ เต็มไปหมด เขามาแสดงความยินดีกับเณรหรือพระที่เป็นลูกหลานที่สอบเปรียญได้ ซึ่งธรรมเนียมแบบนี้ไม่ค่อยมีคนรู้

“ผู้เชิญเงินรางวัลพระราชทานในวันนั้นคือผู้ปฏิบัติงานในสำนักพระราชวังส่วนที่เรียกว่าพระคลังข้างที่ ส่วนตัวเคยอ่านในหนังสือเข้าใจว่าตำแหน่งดังกล่าวคือหน่วยที่ดูแลพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่กันไว้จากเงินแผ่นดิน วันนั้นเขาถือซองมา 3 ซอง ซึ่งเป็นเงินพระคลังข้างที่จริงๆ ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ได้รับพระราชทานมาแล้วก็ไม่กล้าใช้ เก็บไว้เป็นสิริมงคล หรืออย่างมากอาจนำไปทำบุญเท่าจำนวนนั้น” พิเศษถ่ายทอดนาทีแห่งความปีติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image