มีวันนี้เพราะความจนคอยเฆี่ยนตี ‘สุพจน์ ธีระวัฒนชัย’ 2 ทศวรรษ แห่งอาณาจักรโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

จะว่าไปแล้ว สภาพการณ์ตอนนี้คงไม่แตกต่างมากนักจากวิกฤตการณ์ปี 2540 แม้ต่างกันบ้างเพียงรายละเอียด ทว่าความรู้สึกยากแค้นขัดสนของประชาชนก็ดูจะไม่ต่าง

ปี 2540 ค่าเงินบาทลอยตัว ปีต่อมาเผาหลอก อีกปีเขาบอกว่าเผาจริง แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งคิดจะทำโรงเบียร์ขนาดใหญ่ถึง 1,000 ที่นั่ง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ เขาคือ สุพจน์ ธีระวัฒนชัย และ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ สองเพื่อนสนิท ที่ตัดสินใจรวมเงินคนละ 20 ล้าน สร้าง โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เคี่ยวกรำนำพาอาณาจักรโรงเบียร์เดินทางมาเป็นเวลา 2 ทศวรรษ เขาทำได้อย่างไร ?

บ่ายสองของวันที่ 1 ตุลาคม ควันเบียร์ลอยเคล้าเสียงดนตรีแจ๊ซภายในโถงของสาขาแรก ย่านพระราม 3 สถานที่ทุกซอกจุด ทุกแผ่นไม้มีเรื่องราวตำนาน นี่คือเวลาดีที่ สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ เพื่อนเรียนร่วมรุ่นคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีโอกาสเห็นสุพจน์ในสายตามาโดยตลอด ขอทำหน้าที่จับไมค์สัมภาษณ์เจ้าของตำนานโรงเบียร์แห่งนี้ ไปพร้อมๆ กับเปิดตัวหนังสือ “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” เบื้องหลังเรื่องราวชีวิตที่ร้อยเรียงตัวอักษร ขมวดย่อไว้ให้เหลือเพียง 197 หน้า ด้วย ฝีมือการเขียนของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ “จอบ” บรรณาธิการนิตยสารสารคดี ดีกรีนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ในฐานะเพื่อนสนิทคนสำคัญเบื้องหลังการก่อตั้งโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

หวังเป็นไอเดียต่อสู้ในช่วงเวลาที่แสนเหนื่อยเพลียกับภาวะเศรษฐกิจ

Advertisement

ต่อไปนี้คือบทสนทนาระหว่างเจ้าของอาณาจักร เยอรมันตะวันแดง และ “หนุ่มเมืองจันท์”

ทำไมถึงตัดสินใจทำหนังสือเล่มนี้ ?

ตอน 3 ปีแรกของโรงเบียร์ ฮอตมาก มีหลายสำนักพิมพ์มาติดต่อขอสัมภาษณ์เพื่อออกเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ก แต่ตอนนั้นเขินอายไม่รู้ว่าจะพูดอะไร มันเป็นธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จด้วยเหตุผล 1 2 3 4 ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ในด้านตัวตนเราไม่มีอะไรจะพูด เพราะไม่มีองค์ความรู้อะไรที่จะเล่าสู่กันฟัง เบียร์ก็รู้อย่างผิวเผินก็เลยปฏิเสธ แต่เมื่อกันยายนปีที่แล้วหลังงานฉลองครบรอบ 19 ปี มีการประชุมสต๊าฟและสรุปบทเรียน สต๊าฟคนหนึ่งบอกว่า “พี่ ถึงเวลาแล้วที่พี่ต้องเขียนหนังสือ เพราะปีหน้าเป็นโอกาสพิเศษจะครบรอบ 20 ปี ตอนแรกก็อึ้งไป เพราะผมเคยร่างไว้ 2-3 แผ่นเอสี่ รู้ว่าตัวเองคงเขียนไม่ได้ ถ้าเขียนอาจจะสำเร็จตอนฉลองครบรอบปีที่ 30 (หัวเราะ) ครุ่นคิดจนถึงเดือนธันวาคม สุดท้ายโทรหาจอบ รุ่นพี่คนเดียวที่ผมไม่เคยเรียกว่าพี่ สนิทกันมาตั้งแต่ธรรมศาสตร์ จอบก็ถามว่าคิดจะเขียนอะไร ก็เล่าความคิดให้ฟัง ว่าเราผ่านมาแล้ว 20 ปีอยากทิ้งอะไรบางอย่างไว้ ผมเป็นคนโบราณชอบอ่านหนังสือ การมีหนังสือจะอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน คิดแค่นี้

ทำไมถึงเลือกโทรหาจอบ ?

จอบเป็นคนที่รู้จักผมดี มีบางเรื่องที่ภรรยาไม่รู้ แต่จอบรู้ กอดคอร่วมกันมาหลายยุคหลายสมัย ตอนที่เกิดเหตุจัตุรัสเทียนอันเหมินถึงขั้นคิดจะตามจอบไปทำข่าว ตอนนั้นทำธุรกิจการ์เมนต์อยู่ สุดท้ายไม่ได้ไป วีซ่าไม่ผ่าน

หนังสือเล่มนี้มีมุมหนึ่งที่พูดถึงชีวิตวัยเด็ก ทำไมชีวิตถึงต้องเป็นพ่อค้า เริ่มค้าขายตั้งแต่ ป.3 ?

วันนี้หวนกลับไปคิด ก็ได้คำตอบว่า สังคมตอนนั้นเป็นสังคมที่พ่อแม่เราไม่มีการศึกษาเหมือนเด็กทุกวันนี้ และครอบครัวยุคนั้นมีลูกเยอะทำให้ได้สัมผัสความยากลำบาก เราไม่ได้กอดเงินถุงเงินถังเกิดมา ก็ต้องต่อสู้กัน ภายใต้สภาพที่พ่อแม่ไม่มีการศึกษาสูง ใช้วิธีครูพักลักจำ เพราะพ่อทำงานปั๊มโลหะ แม่ทำขนมขาย แต่แม่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก อะไรทำเงินได้อย่างสุจริตแม่จะลงมือ ด้วยความเป็นลูกชายคนโตที่ติดขงจื๊อมาตั้งแต่เด็กก็ทนไม่ได้ คุณไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ ต้องทำอะไรกันหน่อย อย่างที่เขียนในหนังสือ เริ่มจากตั้งแผงขายขนมหน้าบ้าน จริงๆ ตอนแรกเริ่มจากน้ำอัดแก๊สเป็นขวด ตราสิงห์เกาะลูกโลก ทุกวันนี้รู้สึกจะเป็นยี่ห้อยาบ้า (หัวเราะ) แล้วซื้อขนมปังเป็นแผงเอามาบิเป็นก้อน ขายก้อนละสลึง เริ่มจากตรงนั้น ยืมเงินแม่มา 10 บาท และขยายตัวไปเรื่อยๆ อาศัยว่าตอนนั้นอยู่ในตลาดสด ภาษาการตลาดคือมันมีทราฟิก อย่างก็น้อยจากแม่ค้า ตึกแถวรายล้อม เพื่อนบ้านมาซื้อ ลองผิดลองถูกกันไป

ฉากหนึ่งที่ชอบมากๆ คือทำธุรกิจเสื้อยืดอยู่ตึกแถวคูหาเดียว มีพื้นที่แคบๆ เช้าต้องเอากองผ้าไว้ข้างนอก กลางคืนเอากองผ้าเข้ามา แล้วพี่น้องทุกคนก็ไปนอน แต่ที่นอนสุพจน์คือ ?

กองผ้า ยุคนั้นปี 2518 เรียนมัธยมอยู่ที่ ร.ร.สวนกุหลาบ ที่บ้านมีปัญหา คุณแม่ก็มาอยู่บ้านยายมาตั้งโรงงานการ์เมนต์ คำว่าโรงงานการ์เมนต์ของผม คือ จักรโพ้ง 2 ตัว ยี่ห้อจูกิ (Juki) 1,800 บาท จักรลามือสอง หัวละ 9,000 ทำโต๊ะตัด 3,000 บาท กรรไกรตราตุ๊กตาคู่ 12 นิ้ว 700 บาท ชอบมากกรรไกรอะไรคมเป็นบ้า ตัดผ้าได้หนาอย่างนี้ แต่วัตถุดิบที่สำคัญที่สุดคือผ้า รองมาคือคน ผ้าพับหนึ่งจะมีน้ำหนักประมาณ 18.5-19 กิโล ขายเป็นกิโล รุ่นแรกห่อกระดาษสีน้ำตาล ซึ่งพอทำไปต้องสต๊อกผ้าเยอะขึ้น ทีนี้เราไม่มีที่ เพราะบ้านหลังนี้เป็นตึกแถว 2 ชั้น ลึกแค่ 10 เมตร หน้ากว้าง 3 เมตร 20 วางจักร วางโต๊ะก็ไม่มีที่วางผ้า ก็เลยต้องอาศัยวางหน้าบ้าน กลางคืนย้ายลากเข้ามาวางบล็อกกิ้งดีๆ สลับไขว้กัน ไม่อย่างนั้นมันจะล้ม ก็สลับ แกน X 2 แกน Y 2 ที่นอนอยู่ตรงกลาง สูงขึ้นมาสองชั้น เอาผ้ามาปูนอน ตอนเช้าต้องรีบตื่นมาขนผ้าออกเพราะไม่เหลือทางเดิน พี่น้องผมและคุณแม่จะนอนชั้น 2 ต้องรีบย้าย ไม่อย่างนั้นทำกิจกรรมอะไรกันไม่ได้

ความยากจนที่สุดในชีวิต ที่ว่าเป็นแส้บางๆ คอยเฆี่ยนตีเราตลอดเวลาคืออะไร ?

มันจะมีฉากหนึ่งที่ไม่เคยลืม วันนั้นไปซื้อก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา เกาเหลา 1 บะหมี่น้ำ 1 ถุงละ 5 บาท และข้าวสวย 5 ถ้วย พี่น้อง 5 คน นั่งกินล้อมกัน น้องชายคนที่ 5 จะได้กินลูกชิ้นปลา ผมกินถั่วงอกราดกับน้ำ ความรู้สึกของเราตอนนั้นมันแย่นะ แต่จุดนั้นทำให้เราไม่ยอมให้ชีวิตข้างหน้าเป็นอย่างนี้อีก อีกฉากที่มีความสุข คือตอนไปขายรองเท้าแตะที่ท่าน้ำพระประแดง จะมีเป็ดพะโล้ขาย ตัวละ 14 บาท ให้ตายจนถึงวันนี้ผมยังไม่สามารถกินได้ อยากซื้อกลับมาแต่ตังค์ไม่พอ เพราะผมขายรองเท้าแตะ แม่ขายเสื้ออยู่ติดกัน อย่างดีที่สุดคือซื้อผักกระเฉด 2 บาทกลับบ้านมาผัดกิน

เพราะภาพนี้เลยที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตนี้ เราจะไม่ยากจนแบบนั้นอีกแล้ว ?

ชีวิตไม่เคยกินก๋วยเตี๋ยวเบิ้ลชาม มาตอนพอจะมี ไปไหนผมจะกินก๋วยเตี๋ยวพิเศษตลอด เป็นปมในใจ 70 ก็ซื้อ 60 ก็ไม่ลังเล แต่ขอพิเศษ (หัวเราะ) ส่วนเบิ้ลไม่เบิ้ลว่ากัน ดูความหิว แต่ยุคนั้นก๋วยเตี๋ยวธรรมดา 4 บาท พิเศษ 5 บาท อย่างน้อยขอให้ทุกคนได้กินก๋วยเตี๋ยวคนละชาม ข้าวสวยคนละถ้วย ผมได้กินลูกชิ้นปลาบ้าง ไม่ใช่ 2 แล้วหาร 5

คุณแม่ของสุพจน์ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกมีข้าวกิน ช่วงหนึ่งถึงขั้นต้องพับถุงกระดาษขาย อะไรที่ได้ตังค์เอาหมด ได้จากแม่มาเยอะไหม ?

ตอนที่จะปิดโรงงานการ์เมนต์แยมแอนด์ยิม มีหนี้ 28.9 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยธนาคารกสิกรไทยตอนนั้นอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตอนนั้นคิดเลยว่า 1 วินาทีที่ผมหายใจทิ้งต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงินเท่าไหร่ ตรงนี้ทำให้ผมกลัวมาก คิดอย่างนี้จริงๆ แต่ไม่เป็นไร รันทดก็รัดทดไป สู้กับมัน

เคยถูกโกงด้วย ?

ตอนนั้นโดนระเนระนาด ถูกโกงไปประมาณ 6-7 ล้าน เขาโทรมา “ตี๋ ของที่สั่งไว้หละ” “พรุ่งนี้เช้าเสร็จครับ” “คืนนี้มาเลย” ตอนนั้น 3 ทุ่มกว่าผมกำลังแพคเพื่อเตรียมส่งพรุ่งนี้ แต่แม่สอนเสมอ “ถ้าค้าขายได้ เที่ยงคืนเขาเรียกไปรับเงินก็ต้องไป” วันนั้นก็นั่งสามล้อไป วันอาทิตย์กะตื่นสาย แต่ปรากฏข้างร้านโทรหาแม่ บอกว่า “เมื่อวานร้านนี้ขนของขึ้น 10 ล้อ ไปกลางดึกหลังเที่ยงคืน” ผมก็วิ่งไปดู คอตก เพราะร้านปิดแล้ว

จุดตัดของชีวิตคือตอนไหน ?

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลุดไปชุมนุมศิลปะและการแสดง เพราะขึ้นไปหาเพื่อน ตอนนั้นเรียนคณะสังคมวิทยา มันเคว้งคว้าง เพราะเป็นคณะที่เรียนวิชาการ ไม่ใช่วิชาชีพ ก็ขึ้นไปแล้วก็ได้สนิทกับพี่จอบ

สิ่งที่ได้มากที่สุดจากชมรมศิลปะการแสดง คืออะไร ?

อย่างน้อยก็ดูออกว่า สวยไม่สวย ดีไม่ดี เต้นเก่งรำสวยอย่างไรไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือผู้ชมชอบหรือไม่ อีกเรื่องที่เรียนรู้คือ โชว์ออฟ ศิลปินที่ขึ้นเวทีจะมีอีโก้ อยากโชว์ออฟ ซึ่งอันนี้จะต้องมี มีแล้วดีแต่จะต้องควบคุม เพราะบางคนจะโชว์ออฟเกินไป ก็ล้ำหน้า ฆ่าเพื่อนบนเวที และเราได้วิธีจัดการเงินจากการจัดการแสดง ตอนนั้นต้องทำชุดกินรี 7 ตัว ไว้ใส่ออกงานวันไปเล่นวัฒนธรรมสัญจร สมัยก่อนเวลาของบจากมหา?ลัย เป็นคนเขียนงบประมาณเอง เราจะรู้ว่ามีค่าอัดเพลง 500 บาท ก็เขียนไปว่าโชว์ชุดนี้ขอค่าอัดเพลง 500 บาท เช่าชุด ชุดละ เกือบ 1,000 บาท แต่ทั้งหมดเราทำเอง ซื้อของมาทำ อัดเพลงก็ใช้วิทยุ 2 เครื่องใส่เทปคาสเซต และจ่อหน้าอัดเสียงเข้าไป ทั้งหมดเป็นงบประมาณก็เรียนรู้ว่าถ้าจะหารายได้มีเทคนิคเยอะ เราซื้อของจากพาหุรัดมาเย็บปักทำกันเอง พอหันกลับไปดูมันเป็นการสร้างกิจกรรม คาบนี้เราไม่เรียน งั้นเด็กผู้หญิงขึ้นมาช่วยกันปักมุก ปักเลื่อม

ในหนังสือเขียนว่า สิ่งที่เรียนรู้อีกอย่างจากการทำกิจกรรมนักศึกษา คือการเรียนรู้คน เรียนรู้อย่างไร ?

การทำกิจกรรมทำให้เรียนรู้เรื่องการถอย ที่เป็นรูปธรรมเลย คือ ตอนเปิดร้านใหม่ มีคนมาเบ่งกินเยอะ เรามีวิธีการรับมือ คือ ถอย หยวนๆ กันไป เพราะเขาคงไม่ทำเราเจ๊ง แต่อย่ามาอีก ผมเคยโดนลูกน้องโกหกเอาเงินไปเฉยๆ 1 หมื่นบาท จะฟ้องก็ได้ ข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ความผิดอาญา 2 เท่า ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่อย่ามาเจอกันอีก เจ้านายคนต้องมีความยุติธรรม มีสิทธิรักลูกน้องไม่เท่ากัน แต่ต้องยุติธรรม ต้องแสดงออกอย่างยุติธรรม ต้องให้อย่างยุติธรรม

อีกช่วงคือตอนที่เป็นหนี้ ไปซื้อโรงงานและไม่ประสบความสำเร็จ บทเรียนที่ได้คืออะไร ?

ตอนนั้นมะเร็งที่กินผมคือ ดอกเบี้ย คนแรกที่ช่วยผมเอาเงินสด 8 ล้านให้ คือพี่เขย เขาสอนว่า เคลียร์หนี้สินกับเคลียร์ทรัพย์สิน หนี้สินมีเท่าไหร่ บวกดอกเท่าไหร่ ดอกปัจจุบันเท่าไหร่ พรุ่งนี้ขึ้นเป็นเท่าไหร่ อีก 10 วัน 20 วัน 30 วัน ขึ้นเป็นเท่าไหร่ หากจะตัดมะเร็งร้ายให้เร่งขายทรัพย์เพื่อหยุดดอก ตอนนั้นอยู่ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ต้นทุนผมต่ำกว่านั้น เป็นเจ้าของที่ดินเล็กๆ 100-200 วา ติดป้ายขาย เท่าไหร่ก็ขาย เท่าทุนก็ขาย ขาดทุนก็ขาย เพราะเวลาคือตัวเดินดอกเบี้ย เวลายิ่งเดินดอกเบี้ยยิ่งงอก ต้องหยุดหนี้แล้วเกิดใหม่ ชีวิตไม่ถ้าตายไปหาเงินเอาข้างหน้า ไม่เป็นไร

ทำไมตัดสินใจทำโรงเบียร์ตอนเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งๆ ที่เพิ่งหมดหนี้

ช่วง 2542 วิกฤตเศรษฐกิจ หลังใช้หนี้เสร็จ จุดตัดสินใจเปิดโรงเบียร์คือได้ที่ดินแปลงนี้ ปลายกันยายน 2541 ก็ตัดสินใจกอดคอกันกับเสถียร ทีนี้ปัญหาคือ ไม่รู้จริงๆ ว่าต้องลงทุนเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ แต่อาหารพอรู้ พี่เสถียรประมาณการ 30 ล้าน ผมมีโอดี (สินเชื่อ) อยู่แค่ 3 ล้าน มีเงินเก็บสำหรับในบ้านที่กอดเก็บไว้แน่น 1 ล้านบาท ชีวิตนี้ไม่อยากจนอีก มี 4 ล้าน ขาด 11 ล้าน ลิสต์รายชื่อว่าจะยืมใครได้บ้าง แล้วยืมได้ประมาณเท่าไหร่ เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ไม่สำคัญว่าเขามีเท่าไหร่ สำคัญว่าเขาประเมินเครดิตในตัวคุณเท่าไหร่ เขาจะให้คุณยืมเท่าไหร่ ในนั้นกว่าครึ่งที่ลิสต์รายชื่อ ไม่ให้ยืม (หัวเราะ) ไม่ใช่ไม่เชื่อเครดิตเรา แต่เขาไม่เชื่อภาวะเรื่องเศรษฐกิจว่าตอนนี้ยังคิดทำอะไรอีก เพิ่งรอดมา ไม่ใช่หรือ ไม่ให้ก็ไม่เป็นไร หายืมต่อ

จะพูดกับคนใกล้ชิดตลอด สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต คนมักจะชี้ไปหาเงิน แต่เงินเป็นเบอร์สอง กัลยาณมิตรเป็นเบอร์หนึ่ง การที่มีกัลยาณมิตร ชีวิตอับจนอย่างไรคุณจะไม่ตาย จอบเป็นกัลยาณมิตรอีกคนที่กำเงินให้ผม 1 ล้าน ซึ่งมารู้ทีหลังว่าขายหุ้นทั้งหมดมาให้ โอ้โห! ให้มาตั้ง 1 ล้าน ที่จดไว้ให้สูงสุด 2 ล้าน อันนี้ แรงก์ต้นๆ (หัวเราะ)

หลังได้เงินมาเป็นโรงเบียร์แล้ว ทุกจุดเป็นการคิดแบบลดต้นทุนทั้งสิ้น ทั้งไม้กระดาน หมอนรางรถไฟ มาจากการเดินลุยเพื่อหาของถูกที่สุดมาสร้างโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง มีหลักคิดอย่างไรในเชิงธุรกิจ มีเคล็ดลับอะไรในการตัดสินใจเลือกลงทุน ว่าจะลงทุนตรงจุดไหนของธุรกิจ ?

อย่างคนออกแบบร้านก็อยากให้ผลงานของตัวที่ทิ้งไว้ในแผ่นดินสวยงาม จำได้ว่าเขาจะใช้หลังคาอารมณ์คริสตัล ก็เถียงกันว่าไม่เอา เพราะลูกค้าแค่ขอให้คุ้มกะลาหัวได้ กันแดดกันฝนได้ ก็ให้ไปคิดสีมา ผมจะเอาเงินไปซื้อเครื่องเสียงดีๆ เพราะลูกค้าสัมผัสได้ทันที มีผลต่อการขาย หลังคาไม่มีผล จนทุกวันนี้ 20 ปี หลังคายังไม่เคยเปลี่ยนเลยนะ

ผมมักจะใช้คำว่าคุ้มค่า ให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่ได้จ่ายไป ผมชอบทะเลาะกับสต๊าฟเวลาตั้งราคาบ่อยมาก เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าทำไมตั้งแพงจัง อย่าคิดว่าร้านเราอยู่ได้เพราะราคาเท่านี้ ถ้าขายดี กำไรน้อยก็คือกำไรเยอะ ถ้าขายไม่ดีก็ไม่ได้ฉุดตัวเลขเราเท่าไหร่ แต่ต้องให้ลูกค้ารู้สึกว่ากินแล้วคุ้มค่า สมราคา การตั้งราคาสำคัญมาก เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ทุกวันนี้ยังทะเลาะกับลูกน้องอยู่ พอจะทำโรงเบียร์ก็ไปนั่งดื่มแถวเซ็นทรัลพระราม 3 ถามพนักงานเขาก็ตอบไม่ได้ ต้องศึกษาว่าคือเบียร์อะไร สุดท้ายจบที่ราคา ครึ่งลิตร 100 หรือแก้วละ 100 เพราะมีแอร์ มีการแสดง การตั้งราคาจึงสำคัญมาก

ช่วงเปิดโรงเบียร์ เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ คนจองพื้นที่ถึงขนาดข้ามเดือน โดยเฉพาะวันศุกร์-เสาร์ และช่วงเวลาสำคัญ และกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ยาวนานมาก

ความจริงยุคทอง คือ ปีก่อนน้ำท่วม เอาเป็นว่า 5 ปีแรกคิวยาวทุกวัน เพราะคนมาวันศุกร์ไม่ได้ รำคาญก็มาวันจันทร์ ทดๆ กันไป ทีแรกไม่เข้าใจว่าทำไมกินเสร็จแล้วไม่ลุก อ๋อ! เขาจะดูการแสดง นี่จึงเป็นที่มาของ วันสต๊อป ไดน์นิ่ง แอนด์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ลูกค้าไม่ต้องเคลื่อนตัวไปสนุกสนานที่ใดอีก

หัวใจสำคัญของการทำร้านอาหารคืออะไร ?

ให้ใครชิม ร้านเจ๊งก็เจ๊งเพราะคนนั้น ร้านอาหารต้องมีคนชิมอาหาร ซึ่งต้องไม่ใช่พ่อครัว รสชาติฟังพ่อครัวได้ แต่หลักสำคัญคือเจ้าของร้านต้องเคาะให้ได้ว่าจะเอารสชาติแบบนี้ อร่อย ไม่อร่อย หรือไม่ต้องปรุง อย่างผมจะบอกเสมอว่า ไปลดหวานอีก 10 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นประสบการณ์ คนที่ชิมอาหารของที่นี่คือผมกับพี่เสถียร ฉะนั้นถ้า 2 คนนี้ทักเมื่อไหร่ พนักงานจะฟัง แล้วลองทำใหม่ ผมจะเคาะให้ แต่เราสองหูไม่พอ ต้องใช้ลูกน้องฟัง ถ้ามีลูกค้าทักว่าเค็มหนาหูเหลือเกินก็กลับมาใหม่ ถ้าผมชักไม่แน่ใจก็ให้คนอื่นชิม จะเชื่อไม่เชื่ออีกเรื่อง แต่ผมจะฟัง คือมันต้องมีคนเคาะ

น่าสนใจว่าโรงเบียร์ที่นี่อาหารเยอะ คนเยอะ แต่ทำไมอาหารดีและออกไว ?

อย่างแรก เราลงทุนเรื่องของคนที่อยู่ในครัว การปรุงไม่สำคัญเท่าการเตรียม การเตรียมเสียเวลาเยอะกว่า ถ้าเตรียมดีจะคลุก ปรุงได้เร็ว แต่การเตรียมที่ดีโดยไม่ให้อาหารด้อยคุณภาพและรสชาติจะต้องเตรียมอย่างไร อุณหภูมิเท่าไหร่ พอเติบโตมาเรื่อยๆ เรามีครัวเตรียม หลายอย่างจะ semi-cook คือทำให้สุกครึ่งหนึ่ง โดยที่รสชาติไม่ด้อยลง อย่างน้ำเกาเหลาเย็นตาโฟจะไม่มีว่าสาขานี้เปรี้ยว สาขานั้นหวาน สาขานี้เค็ม เพราะเรามีการเตรียมวัตถุดิบ แบบคอนเซนเทรต มาเติมน้ำหน้างาน พัฒนาไปเรื่อยๆ กระทั่งของทอดที่จัดการง่ายที่สุดเราก็เตรียมโดยทำให้กึ่งสุก พัฒนาไปเรื่อยๆ โดยจะไม่ยอมให้คุณภาพหรือรสชาติด้อยลง หรือเป็นอาหารประเภทไมโครเวฟ แบบนี้ไม่ อย่างที่สองคือ กำลังคน และสุดท้ายคือระบบที่วางไว้ ทำให้คนทำงานน้อยลง แต่คุณภาพชีวิตกลับดีขึ้น

มีแนวคิดเรื่องคนที่ละเอียดมาก กระทั่งเรื่องเวลารับสมัครพนักงาน ไม่ว่าจะมาช่วงต้นเดือน กลางเดือน พนักงานที่นี่จะเริ่มงานวันจันทร์ เพราะอะไร ?

ถ้าเข้าวันศุกร์ วันรุ่งขึ้นหายเพราะปั่นป่วนทุกสาขา ก็ให้เข้าวันจันทร์ ภาษาผมคือ ค่อยๆ เผาหัวให้เครื่องร้อน จะมีพี่เลี้ยงประกบ พอวันศุกร์ก็จะเริ่มเรียนรู้งาน เป็นอีกศิลปะในการบริหาร

อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากทำธุรกิจ หรืออยากประสบความสำเร็จในชีวิต

ผมเดินมาถึงวันนี้ ไม่เคยคิดว่าชีวิตจะถูกบันทึกออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ตีพิมพ์เป็นเล่ม และขายได้ สิ่งที่ผมอยากจะทำ ผมได้ทำและตั้งใจทำอย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะต้องเลี้ยงเบียร์จอบไปกี่ลิตรกี่แก้ว ผมอยากหวังอย่างหนึ่งให้คนที่คิดจะทำร้านอาหารได้ลองอ่านหนังสือของผมก่อน เพราะคนไทยคิดอะไรไม่ออกก็จะทำร้านอาหาร แต่ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มาเร็วไปเร็ว ไม่ง่ายเลย แม้จะเริ่มจาก 6-10 ที่นั่งก็ตาม คิดให้ดีก่อน แต่ถ้าคิดดีแล้ว หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ไตร่ตรอง ให้น้ำที่ตกตะกอน นอนก้น แยกมวลสารออก ขณะเดียวกันผมยังปวารณาตัวว่า ถ้าที่ใดต้องการให้ผมไปพูด หรือใครก็ตามมานั่งคุย ผมยินดี ยินดีที่จะให้ประสบการณ์ ยินดีที่จะส่งสัญญาณเตือนว่าจุดอ่อนแอที่สุดอยู่ตรงไหน ขอบคุณมติชนที่ไม่กลัวเลือดสาด และขายได้จนพิมพ์ครั้งที่ 2 แล้ว แม้จะเป็นแค่ผงธุลีผงเดียว

แต่ผมหวังอย่างยิ่งว่าจะได้ทิ้งอะไรไว้ให้สังคมไทย

 

คือ ‘เสือ’ ที่มีเมตตาจิตเป็นพื้นฐาน

“เขาเองไม่ได้เป็นนักแสดง แต่เป็นผู้บริหารที่ต้องคุมศิลปินซึ่งมีความตั้งใจสูง ตัวตนแก่กล้า ถืออารมณ์เป็นใหญ่ บางครั้งแข็งกร้าวเกินเอื้อม แต่สุพจน์เอาอยู่ นี่คือเสน่ห์ ของแบบนี้สอนกันไม่ได้ มาในดีเอ็นเอของเขา”

คือคำกล่าวการันตีของผู้บุกเบิกศิลปะการแสดง อย่าง อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ แขกรับเชิญพิเศษที่มาร่วมแสดงความยินดีกับ 20 ปี ของเส้นทางชีวิต สุพจน์ ธีระวัฒนชัย เจ้าของ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ในโอกาสเปิดตัวหนังสือ “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

ก่อนจะวางไมค์ อ.วิโรจน์เผยความรู้สึกส่งท้าย

ตอนได้รับคำเชิญให้เขียนคำนำ ก็ค้านในใจ สุพจน์ไม่ต้องการเซเลบมาการันตี เพราะตัวเขาคือดาวฤกษ์ ไม่ต้องการพระจันทร์หรือพระอาทิตย์มาส่อง

การก่อตั้งธุรกิจยากแสนยาก แต่การจากคงไว้ยากยิ่งกว่า คงไม่มีใครอวยพรให้ใครได้ ความสุขเซเว่นก็ไม่มีขาย ขึ้นอยู่กับเราทำออกมาเอง สุพจน์ทำออกมาและฉันเห็น ความสำเร็จที่พูดมาทั้งหมดของเขาเบื้องหลังคือการบริหารคน

อยากจะเขียนไปในคำนิยมมากว่า สุพจน์เป็นคนที่มี Human Right แต่เป็นคำที่ไม่กล้าเขียนในยุคนี้ เพราะเสียดหัวใจของคนกลุ่มหนึ่ง จึงบดบังโดยใช้คำว่า “มีพื้นฐานเมตตาจิต” คือใจที่มีเมตตาเป็นพื้นฐาน

He treats human as a human เขาเป็นคนที่ปฏิบัติต่อมนุษย์เยี่ยงมนุษย์ จึงทำให้ลูกน้องอยู่กับเขาได้ถึง 20 ปี อีกข้อที่เห็น คือ ตอนเรียนหนังสือที่ปักกิ่ง เขาบาดเจ็บวิ่งมาหาในสภาพทุรนทุราย เฮียเกิดปีขาน เขาเกิดปีขาน เสือสองตัวเจอกัน เราก็สวมบทเสือกะเทยเฒ่าพูดกับเสือหนุ่มว่า “ไอ้ตี๋ ถ้าสิงห์โตบาดเจ็บนะ มันจะเข้าถ้ำ เลียแผลให้หาย และมันจะออกมาผงาดเป็นสีหนาทอีกครั้งหนึ่ง” อีกไม่กี่วันเขาก็ซื้อตั๋วกลับไทย ผงาดเป็นสุพจน์ในวันนี้

“How many road must man walk out before you call him a man. อย่างที่บ็อบ ดีแลน บอก เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้ว ในวัย 40 ฉันเห็นแล้วว่าเขาไม่หลงทาง

50 เขารู้ชะตาฟ้า 60 เขาจะต้องเป็นคนที่ใครพูดอะไรก็ไม่ขัดหู ไม่มีอะไรจะกระทบได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นคุณสมบัติของสุพจน์ต่อไป และเชื่อว่าสุพจน์จะเดินไปถึง 70 ที่สง่างาม”

เฮียของสุพจน์ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image