จากน่านฟ้า สู่ท้องถนน ‘นอ.สุวรรณ ภู่เต็ง’ 2 ทศวรรษของประสบการณ์ สู่ ‘ทักษะคิด’ เพื่อชีวิตที่ปลอดภัย

“ปีใหม่ไทย 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ 11-17 ปี 2559 ผู้เสียชีวิตรวม 442 ราย ตายมากสุดในรอบ 10 ปี” ข้อมูลจากสานักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุระบุไว้

แต่สติจะถูกทำลายอีกครั้ง และอีกครั้งหรือไม่ จะต้องมีคราบเลือด รอยชอล์กบนถนนไปถึงเมื่อไหร่ ?

ก่อนจะถึงจุดนั้น ขอให้ลองจับอ่านหนังสือ “ทักษะคิด ฝ่าวิกฤตอุบัติเหตุทางถนน” เชื่อว่าทันทีที่อ่านจบ ความคิดจะเปลี่ยน หนทางจะกระจ่างในวันที่ถนนมืดบอด

เพราะผู้เขียนไม่ธรรมดา จบการศึกษาปริญญาโทการบริหารจัดการความปลอดภัยในการบิน เกรดเฉลี่ย 4.0 จากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลมิซซูรี สหรัฐอเมริกา จบปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอากาศยาน โรงเรียนนายเรืออากาศ หลักสูตรระบบการจัดการความปลอดภัยการบิน ประเทศอังกฤษ ไปจนถึง หลักสูตรครูบริหารจัดการลูกเรือ ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยการบิน บริษัทแคนาเดียเฮลิคอปเตอร์ ประเทศแคนาดา หลักสูตรระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 หัวหน้าผู้ตรวจสอบ บริษัทเอสจีเอส ประเทศไทย หลักสูตรการวิเคราะห์สาเหตุต้นตอ ประเทศแคนาดา

Advertisement

กว่า 20 ปีที่อยู่ในสายอาชีพด้านความปลอดภัย เป็นทั้งวิทยากรหลักสูตรการจัดความปลอดภัยการบิน หลักสูตรบริหารทรัพยากรลูกเรือ, หลักสูตรการจัดการความเสี่ยงในการปฏิบัติการบิน เป็นผู้วิเคราะห์มนุษย์ปัจจัยในการสอบสวนอุบัติเหตุให้แก่หน่วยงานราชการและสายการบิน, วิทยากรรายวิชาระบบจัดการความปลอดภัยการบินสากล หลักสูตรปริญญาโท สาขาการจัดการการบิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ต้องการไปเทรนด์ เพราะประสบการณ์ทำงานแน่น

ด้วยมีคติประจำใจว่า Safety always จะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเสมอ ไม่ว่าจะขับขี่หรือใช้ชีวิตมันมีความเสี่ยงอยู่ในทุกการกระทำ ทุกกิจกรรมในชีวิต ไม่มีทางที่จะไม่มีความเสี่ยง

“คนจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของความปลอดภัย โดยปกติเราจะเรียนรู้กันแบบไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ไม่เจ็บ ไม่เสียชีวิตก็ไม่ตระหนัก อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย เราสูญเสียกันมาก 2 หมื่นกว่าคน 500,000 ล้านบาทต่อปี คืนก่อนคืนเดียว 70 ศพ”

ในวันที่ด่านตรวจแทบจะไม่ช่วย ทางออกยังคงมี

ต่อไปนี้คือทักษะคิดที่จะถูกถ่ายทอด จากปากของ นาวาอากาศเอกสุวรรณ ภู่เต็ง คนที่อยากขายความปลอดภัยให้กับทุกคน

ได้แนวคิดเรื่องความปลอดภัยมาจากไหน ถึงใช้ชีวิตด้วยวิธีป้องกันความเสี่ยง ?

ความจริงเมื่อก่อนก็ไม่ได้คำนึงเรื่องความปลอดภัย เคยถูกชนและชนท้ายเขาเหมือนกัน พอได้ไปศึกษาเรื่องความปลอดภัย และปัจจุบันอยู่ในแวดวงการบิน เราได้เห็นการสูญเสียจากการบินตั้งแต่เริ่มต้น จนปัจจุบันการบินปลอดภัยน่านฟ้าเมืองไทยรองรับ 1 ล้านเที่ยวบิน/ปี ทำไมเขาวิ่งขึ้นร่อนลงได้อย่างปลอดภัย ทำไมบนถนนเราถึงได้เสียชีวิตกันทุกค่ำคืน

แตกต่างกันอย่างไร ระหว่างความปลอดภัยทางถนน และทางอากาศ ?

ชัดๆ ว่าทางอากาศปลอดภัยมาก เพราะเขาวางระบบจัดการความปลอดภัย เฉพาะกิจกรรมที่มีการควบคุมความเสี่ยง และความผิดพลาดของมนุษย์เท่านั้นจึงจะยอมรับได้ ทุกวันนี้ งานด้านความปลอดภัย เป็นหนึ่งในแก่นงานหลักของการทำธุรกิจการบิน เทียบเท่ากับการปฏิบัติการ การจัดการการเงิน การตลาด แต่ในภาคถนนของเราดูเหมือนว่าถูกละเลยมาก

ความปลอดภัยบนท้องถนนของประเทศไทย ถือว่าเลวร้ายแค่ไหน ?

อันดับ 2 ของโลก เลวร้ายพอไหม เราติดอันดับมากี่ปีแล้ว ลองคิดง่ายๆ จีดีพี ของเราไม่ได้เยอะมาก 2 ล้านล้านบาท เราสูญเสียอยู่ 5 แสนล้านบาทต่อปี ไปกับเรื่องอุบัติเหตุ คิดดู เราจนเพราะอุบัติเหตุนะเนี่ย แต่ทุกคนมองข้าม เพราะดูเหมือนมันไกลตัว

เพราะดูเหมือนสัมผัสไม่ได้ ยกเว้นโดนกับตัวเองถึงจะซาบซึ้ง ลองคิดดูว่าเด็กของเรา 13 คน พ่อแม่ลงทุนเท่าไหร่ ส่งเรียนมา จบแล้ว ฝึกงานเรียบร้อย กำลังจะทำงานเป็นกำลังหลักของครอบครัว เสียชีวิตพร้อมกัน 13 คน ครอบครัว ลงทุนแล้ว ยังไม่ได้ผลตอบแทนก็ต้องเสียชีวิต

ลองคิดดูว่าประเทศไทยเสียโอกาสไปมากเท่าไหร่ แรงงาน 13 คน แน่นอน คนที่ใช้ชีวิตบนท้องถนนส่วนใหญ่ที่เดินทางเป็นคนทำงาน สงครามนี้มันดุดัน วันหนึ่ง 70 ศพ คิดดูว่าตอนนี้มีสงครามที่ไหนของโลกบ้างที่เสียชีวิตขนาดนี้

มองว่าอะไรคือจุดอ่อนที่ทำให้คนไทยประสบอุบัติเหตุมากมายขนาดนี้ กระทั่งมีเหตุการณ์ นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ 13 ศพ ?

เราขาดการให้ความรู้ในขณะที่เขายังศึกษา ความเสี่ยงในเรื่องนี้คืออะไร ในการนั่งท้ายรถกระบะ 13 คน ถามว่าไม่มีเลยสักคนหรือที่จะคิดว่า โอ้โห! เรานั่งท้ายกระบะด้วยความเร็วขนาดนี้ ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาเราไม่มีที่ยึดเกาะ ไม่มีเครื่องป้องกัน ร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทานทนกับการกระแทก แต่ความจริงคือก็ยังนั่งหลังกระบะอยู่ทั่วไป เพราะเขาไม่ตระหนักถึงความปลอดภัย ไม่ตระหนักถึงความเสี่ยง โดยปกติในประเทศที่พัฒนาแล้วยอมไม่ได้ แต่ทำไมเรายอมได้ ? แม้แต่คนขับขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกกันน็อกจะเห็นได้ยากมาก แต่บ้านเราเห็นเป็นเรื่องปกติ

เพราะเรามองเรื่องของการขับขี่ไม่ต่างจากการทักษะการเดิน การวิ่งมา เราละเลย เมื่อเร็วขึ้น แรงขึ้น เซอร์ไอแซกนิวตัน บอกไว้ F=MA แรงเท่ากับมวล x อัตราเร่ง 13 คน

คือมวล 13 ก้อนที่อยู่ในรถ และเมื่อรถเกิดการเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน มวลนี้กลายเป็นแรงที่ทำให้รถเหวี่ยงตัวและเสียศูนย์ คนขับไม่รู้หรอก ถามว่าคนขับมีใบขับขี่ไหม มี อ้าว! มีแล้วทำไมไม่รู้ล่ะ เพราะเราฝึกกันไม่มากพอโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย

ภาพไหนที่เห็นแล้วสะเทือนใจ จนต้องทำอะไรบางอย่าง ?

ที่เข้ามาทำเรื่องนี้ เพราะเห็นความสูญเสีย ผมมาจากครอบครัวที่ใช้แรงงาน แม่คือชาวไร่ชาวนา รับจ้าง ส่งเรียน

พอเจอสภาพแบบนี้เราก็มานั่งคิด มันคือวงจรความยากจนของประเทศไทย จน อดทน ส่งลูกเรียน อุบัติเหตุพรากลูกไป จนไหม จนสิ จะเหลืออะไร

แล้วเป็นอย่างนั้นอยู่ปีละหลายพันครอบครัวที่ล้มละลายจากอุบัติเหตุ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำให้เป็นภาพที่ทุกคนจะต้องหันมาช่วยกันอย่างจริงจัง และใช้หลักการที่ถูกต้องประยุกต์จากการบินมาใช้ ความรู้แบบนี้จะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมคน ทุกคนต้องถูกฝึกเรื่องความปลอดภัย เรื่องสมรรถนะและขีดจำกัดในความเป็นมนุษย์ วิชานี้ไม่ใช่เพียงจะช่วยคุณให้อยู่รอดบนท้องถนนเท่านั้น แต่คุณจะเป็นพนักงานที่ดีขึ้นขององค์กร เพราะคุณจะเข้าใจสมรรถนะของตัวเอง ในการที่จะเข้าไปทำงานกับเครื่องจักรเครื่องกล และจะลดความผิดพลาด เราเรียนกันหนัก จริงๆ ที่ทุกคนต้องเรียนมี 2 เรื่อง คือ 1.ความปลอดภัยพื้นฐานอันตรายมาจากไหน ความเสี่ยงประเมินอย่างไร แล้วคุณจะควบคุมความเสี่ยงอย่างไร มีใครไม่ชอบความเร็วบ้าง ทุกคนซื้อรถเพื่อต้องการเร็ว และเราจะหยุดเขาไม่ได้ด้วยการบอกว่า ช้าลงนะ แต่เราจะหยุดเขาได้ด้วยการทำให้เขาเข้าใจตัวเองว่าทำไมคุณต้องช้า จังหวะนี้คุณเร็วไม่ได้ ถ้าคุณเร็วคุณเสี่ยงเกินจะยอมรับได้ ไฟฉายหน้ารถคุณได้แค่ 20 เมตร คุณวิ่ง 30 เมตร/วินาที แสดงว่าคุณไม่ให้เวลาตัวเองในการที่จะมองเห็น และหลีกเลี่ยง

แต่คนไทยส่วนใหญ่จะชอบโยนความผิด ?

ความเชื่อ เราเรียกกันว่าทัศนคติ เมื่อเราเกิดเหตุร้ายๆ เราโทษให้กับโชค ไม่มีโชค ถ้าเราไปอยู่ในเมืองพัฒนาอย่างสิงคโปร์ ทำไมเราไม่เสียชีวิต ไปอยู่ประเทศที่พัฒนาแล้วเราจะเสียชีวิตยากมากกับอุบัติเหตุทางถนน

แสดงว่าโชคร้ายอยู่กับประเทศไทย ? มันไม่มีเหตุผลมันเป็นการกระทำของเราที่ปราศจากความตระหนักถึงอันตราย ความเสี่ยง และความปลอดภัยในกิจกรรมที่เราทำนั่นเอง

คนอาจจะแย้งว่า ก็ไปเรียนขับรถมา ก็น่าจะช่วยได้แล้ว ?

ทักษะการขับขี่เหมือนกับทักษะการบิน เราแยกเป็น 2 ฝั่งเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ด้านหัว เราเรียกกันว่าทักษะเชิงเทคนิค ด้านก้อย เป็นทักษะคิด ทักษะในการประเมินความเสี่ยง การตัดสินใจ การรับรู้

หลายคนไม่เข้าใจว่าตอนกลางคืนตรงกลางตาของเราบอด เมื่อขับรถกลางคืนบนถนนที่มืดมิดไม่มีแสงไฟ

ข้างหน้าเป็นอะไรเรามองไม่เห็นได้ไกลไปกว่าลำแสงไฟจากหน้ารถ เราขับ 90 กม./ชม. เท่ากับว่าเรากำลังวิ่งเกือบ 25 เมตร/วินาที ในขณะที่เปิดไฟต่ำก็ฉายได้ประมาณสายตา 30 เมตร เมื่อเราเห็นข้างหน้าว่าเป็นรถบรรทุก เราก็ชนพอดี ความรู้แบบนี้จะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม

กฎหมายมีส่วนมากน้อยแค่ไหน ?

กฎหมายเราดีแล้ว ไม่ได้แย่มาก แต่เรากำกับดูแลไม่ได้ พอจะประกาศเรื่องของการห้ามนั่งหลังกระบะ ใครโวยวายบ้าง

เป็นเพราะสภาพสังคมไทยด้วยหรือไม่ สภาพสังคมไทยมีส่วนมากน้อยแค่ไหนในการกำหนดพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ?

สภาพสังคมไทยมีส่วนแน่นอน สภาพความจำเป็นของคน เดี๋ยวเราจะได้เห็นกันอีกในช่วง 7 วันอันตราย ผู้ใช้แรงงานของเราต้องกลับบ้าน รถไม่เพียงพอก็ต้องไปท้ายกระบะ อุบัติเหตุดูเหมือนว่าเราจะแก้ไม่ได้ ถ้าเราไม่ให้การศึกษาคนอย่างถูกต้อง ตั้งแต่โรงเรียน

ที่ต่างประเทศสอนอะไรบ้าง แตกต่างกับบ้านเราอย่างไร ?

เขาไม่ได้สอนแค่เรื่องเทคนิคในการขับขี่ แต่เขาสอนว่าคุณวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็นหรือไม่ ความเสี่ยงในการกระทำของคุณคราวนี้คืออะไร ยอมรับได้ไหม ยอมรับไม่ได้ คุณคุมอย่างไร โดยปกติเราคุมด้วยการใช้ “เทคโนโลยี” ทำให้เครื่องบินดีขึ้น ในยุคต่อมาเรารู้แล้วว่ามนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญถ้าไม่ได้ถูกฝึกให้ดีจะเป็นปัจจัยที่อ่อนไหวที่สุด แปรปรวนที่สุด ในการบินยอมรับแล้วว่าเราไม่สามารถกำจัดความผิดพลาดจากผู้ปฏิบัติงานให้สิ้นซากได้ แต่เราพยายามฝึกเขาให้เข้าใจและบริหารจัดการความผิดพลาดให้ดีที่สุด ความผิดพลาดในการขับเครื่องบินไม่ต่างกับการขับขี่รถ มีพื้นฐานเรื่องเดียวกัน คือ “สมรรถนะของผู้ขับขี่” และ “ขีดจำกัดความเป็นมนุษย์” เราอ่อนไหวมาก องค์ความรู้ที่นำมาฝึกอบรมให้กับทุกคนที่อยู่ในภาคการบิน เรียกว่า มนุษย์ปัจจัย ซึ่งพวกเราไม่คุ้นเคย

แล้วมนุษย์ปัจจัยคืออะไร?

ลองคิดง่ายๆ เวลาขับขี่ ตัวเราอยู่ตรงกลาง ต้องปฏิสัมพันธ์กับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ บนพื้นฐานของกติกา พ.ร.บ.จราจร ถามว่าพวกเราเข้าใจกันจริงหรือไม่ พ.ร.บ.จราจรทางบก คือซอฟต์แวร์สำคัญที่จะเขียนว่าเธอเป็นใครในระบบการจราจรทางบก เธอเป็นมอเตอร์ไซค์ เขาบอกให้ขับชิดซ้าย เราลองดูสิ ของเราเลนซ้ายเป็นอะไร เต็มไปด้วยอะไร ทางไม่สะดวก ก็เลยขับไม่ได้ มันเป็นเชิงระบบค่อนข้างจะใช้พละกำลังอย่างมากทีเดียว ตอนนี้จึงต้องการให้คนติดอาวุธทางปัญญาก่อน

การแก้ไขที่มนุษย์ปัจจัยสำคัญอย่างไร สำคัญขนาดไหน ทำไมคนไทยควรจะต้องรู้ ?

คนไทยชอบที่จะโทษนู่นโทษนี่ ไม่หันมาดูตัวเองเมื่อก่อนเราเรียนรู้กันแบบ Outside in เราชอบโทษหลุม ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ไฟ แสงสว่างไม่เพียงพอ

คนอื่นขับแย่ แต่หนังสือเล่มนี้จะให้เราเรียนในแบบ Inside out มองออกไปจากตัวเองว่าโทษภัยของตัวเอง ที่คุณไม่เข้าใจระบบปฏิบัติการของตัวคุณเอง ความตายคุณอยู่แค่เอื้อม ทั้งการมองเห็นที่มีขีดจำกัด ทั้งความคิด ทั้งการใช้ความจำ

หลายคนเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องมองก็เห็นได้ เราทำอย่างนั้นอยู่ เราเดิน แล้วเรามองที่โทรศัพท์ สายตาไม่อยู่กับทาง มีผู้คนมากมายที่ทำแบบนั้นในขณะขับขี่ มนุษย์อ่อนไหวกับการทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน ทำได้แต่มันอันตรายถึงชีวิตถ้าอยู่ในขณะที่คุณอยู่หลังพวงมาลัย เขายอมรับกัน แล้วพอมันพลาดเขาจะโทษชะตาชีวิต คราวเคราะห์ โทษวัยเบญจเพส 25 ปี

วัยเบญจเพสเกี่ยวไหม?

แต่จริงๆ ก็ ใช่นะ วัยนี้กำลังเสียชีวิต เพราะคือวัยที่คนนั่งท้ายกระบะ ใครชวนอะไรยังไงก็ไป

แล้วก็ไปเสียชีวิตด้วยกัน ง่ายๆ เพราะวัยนี้ 1.อดรีนาลีนหลั่ง ชอบความตื่นเต้น ท้าทาย แต่ถ้าเขามีอาวุธเชิงปัญญาเอาไว้ยับยั้งว่า เอ๊ะ! ตัวฉันมีขีดจำกัดเยอะเหมือนกันนี่หว่า

ตัวฉันระบบปฏิบัติการของฉัน ในสมองของฉันมันไม่ใช่จะสมบูรณ์ และสมรรถนะสูงนักนี่นา ลองคิดดูบิ๊กไบค์ขับ 200 กม./ชม. บนสภาพถนนบ้านเรา มันไม่ใช่โมโตจีพีที่สนามบุรีรัมย์นะ ที่เขาป้องกันเอาไว้ เห็นไหมมาร์เกซรถหักกระเด็น มาร์เกซเองไม่เป็นอะไรมาก

แต่ถ้าเป็นถนนบ้านเรามาร์เกซจะแหลกเหลว เพราะโดนรถบรรทุกเหยียบซ้ำ แต่คนที่ไปดูโมโตจีพีมาก็เอามาบิดกันบนถนน บางคนไลฟ์สดให้เห็นว่าตัวเองตายอย่างไร น่าเศร้ามากสำหรับทัศนคติของผู้ขับขี่ของเมืองเรา

เราเรียกมันว่ากระสุนความคิดที่ปลิดชีวิตตัวเองและผู้อื่น ซึ่งอันตรายมาก ข่าวดีก็ยังพอมีอยู่บ้าง กล่าวคือ ทุกคนที่ชะตาขาด ณ ขณะนี้เขาเหล่านั้นยังมีลมหายใจสบายดีอยู่ 40 ชีวิตที่จะตายในวันนี้ยังหายใจดีอยู่

แต่เราไม่เคยไปบอกเขาเลยว่า คุณจะตายแล้วนะ และเขาดูตัวเองไม่ออก หนังสือเล่มนี้ต้องการให้คุณดูตัวเองออก บอกตัวเองได้ แก้ไขตัวเองเป็น ในการบินเราเชื่อ “The best safety device in any aircraft is a well-trained crew.” หมายความว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ดีที่สุดในทุกยวดยานพาหนะ ก็คือคนที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดีนี่เอง แต่ไม่ใช่แค่ทักษะเชิงเทคนิคในการขับขี่ คนที่ขับ 200 กม./ชม.

ทักษะการขับขี่คือยอดเยี่ยม แต่ทักษะคิดเขามีหรือไม่ ฉันเสี่ยงชีวิตฉัน ฉันเสี่ยงชีวิตคนอื่นด้วยนะ เพราะถ้าพลาดไป

เขาไม่เคยคิดถึงเราที่ใช้ชีวิตร่วมกับเขา เขาพลาดมา เราเหยียบเขาซ้ำต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล แล้วก็ต้องไปต่อสู้ เพราะถือว่าเราประมาท

ทั้งๆ ที่เขาไม่ควรทำแบบนี้ เขาควรจะสมหมวกกันน็อก เขาพลาดมาโดนเรา รถล้ม และหัวน็อกพื้น เขาเสียชีวิต เราโดนฟ้องอีก กฎหมายเป็นแบบนั้น

อยากฝากอะไรถึงคนที่กำลังจะบิดกุญแจสตาร์ต ?

ก่อนที่จะบิดกุญแจสตาร์ต ถามตัวเองก่อนว่าคุณรู้จักระบบปฏิบัติการของคุณดีแล้วหรือยัง มันไม่ใช่แค่เรื่องตั้งสติก่อนสตาร์ต

มนุษย์เป็นผู้มีอัจฉริยะ สร้างได้ แต่ในความเป็นอัจฉริยที่เราได้มามันก็ฆ่าเราเช่นกัน

เราต้องการขับขี่ให้ดี ให้เร็ว และเราทำได้ และหลายอย่างเป็นอัตโนมัติ

เมื่อเราทำอะไรเป็นอัตโนมัติสิ่งที่หายไปคือ สติ ความรู้ตัวที่ถูกสลายหายไปกับคำว่าอัตโนมัติ

อุบัติเหตุทางถนน เรื่องความปลอดภัยสะท้อนอะไรกับประเทศ ?

ชัดเจนว่า 5 แสนล้าน/ปี 5,000 คนที่เป็นคนพิการทุพพลภาพ ที่จะต้องมาเป็นภาระ และ 13 ชีวิต ที่เสียไปบนท้ายกระบะ อีก 26 ชีวิต ถ้าพ่อแม่เขายังอยู่ ต่อไปจะเป็นผู้สูงวัย เราจะเข้าสู่ประเทศที่มีผู้สูงวัย

แล้วใครจะดูแล เห็นผลกระทบของอุบัติเหตุไหม แต่เรามักไม่ค่อยจะซาบซึ้ง อาจจะเป็นเพราะขาดคนที่จะสื่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เรามีคนหลายกลุ่มเข้ามาช่วยกันทำ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่โดนตรงจุด เรื่องนี้จำเป็นมากที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ

เป็นนโยบายที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ระบบการศึกษาจะทำอย่างไร เรื่องนี้สำคัญมากแต่ทำไมไม่ได้เรียนตั้งแต่อยู่มัธยม

อย่างไรก็ต้องใช้รถใช้ถนนอยู่ดี

ยากแค่ไหน กับการปลูกฝังแนวคิดเช่นนี้ให้กับคนไทย โดยเฉพาะเยาวชน ในเมื่อคนไทยส่วนใหญ่มีทัศนคติประเภทว่า กฎมีไว้แหก ?

กฎมีไว้แหกก็ต้องแก้ กระสุนความคิดในข้อแรก “Anti-authority” ดูเหมือนคนไทยมีลักษณะทัศนคติที่จะแหกกฎ

แต่เราต้องเข้าใจว่า ถ้าเราวางกฎไว้แล้ว เวลาขับขี่ร่วมกัน เราจะคาดเดาสถานการณ์ได้ง่ายถ้าทุกคนทำตามกฎ แต่เมื่อทุกคนแหกกฎ มันจะโกลาหล เธอจะคาดเดาได้อย่างไรว่ารถคันนั้นจะทำอะไร

มีไฟแดงจะฝ่าหรือเปล่า เฮ้ย! เขาจะย้อนศรมาหาเราไหมเนี่ย ขับรถสภาพแบบนี้จะมีความสุขไหม มันคืออันตรายที่เราจะต้องช่วยกันแก้ เด็กไม่มีปัญหาเขาพร้อมที่จะเรียนรู้

ผู้ใหญ่ต่างหากที่ยังมองปัญหาด้วยมุมมองเดิม โทษข้างนอก โทษถนนไม่ดี โทษนู่นนี่นั่น แต่ไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของเราให้ดีขึ้น

อยากเห็นท้องถนนประเทศไทยเป็นอย่างไร ?

ถ้าเราฝึกคนให้ดี ติดอาวุธเชิงปัญญาให้เขา ถนนประเภทไหนเขาก็จะอยู่ได้ ไม่ว่ารถประเภทไหนที่ใช้ เขาจะอยู่ได้ และปลอดภัย พอคนไม่เสียชีวิต ถึงตอนนั้น เราจะมีเงินเหลือทำถนนแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ตอนนี้เราเสียชีวิตปีละ 2 หมื่นกว่าคน 5 แสนล้านบาท มันไม่มีตังค์แล้ว ไหนจะยากจน สุขภาพอีก ขนาดยังไม่คุยเรื่องสุขภาพว่าคนที่เรียนไปแล้วจะกินจะคิดอย่างไร การทำงานของสมองต้องใช้พลังงานอย่างไร อาหารประเภทไหน จะครอบคลุมไปเรื่อยๆ การศึกษาเปลี่ยนมุมได้แล้วที่จะ Outside-in เป็น Inside-out บ้าง อุบัติเหตุแบบเดิมๆ เพียงแต่เปลี่ยนเหยื่อรายใหม่ เพราะเหยื่อไม่ได้เรียนรู้ในแบบใหม่ นักข่าวก็พูดแค่ว่าอย่าขับรถเร็วนะคะ เป็นอุทาหรณ์ แต่ไม่พูดว่าทำไมขับรถเร็วไม่ได้ตอนกลางคืน เพราะตามองไม่เห็น เมื่อเข้าใจ พฤติกรรมจะเปลี่ยน ถ้าเธอรู้ว่าน้ำแก้วนี้เป็นพิษเธอจะไม่ดื่ม แต่เธอไม่รู้ก็เลยดื่ม นี่คือการฝึกคนเรื่องทักษะมนุษย์ปัจจัยให้เขาอยู่กับความเป็นมนุษย์ให้ได้จะดี

เพราะเราอ่อนแอเรื่องความคิด เด็กของเราโดนล่อลวงง่าย เชื่อง่าย ใจอ่อน ใจดี พนพื้นฐานของความเชื่อผิดๆ ความคิดของคนไทยน่าจะดีกว่านี้ทำไมเราถูกฝังความเชื่อที่ผิดไปหมด

 


 

 

ถึงเวลา… ประกาศสงครามบนท้องถนน!

“ชีวิตคือการเดินทาง เพราะไม่มีใครอยู่นิ่งๆ การเดินทางมีอันตราย

“ถ้าเรารู้จักอันตราย ไม่ว่าจะทำอะไรมีความเสี่ยงอย่างไร ผลของอันตรายนี้ยอมรับได้ไหม ถ้ายอมรับไม่ได้เราต้องคุมความเสี่ยง คุมอะไรบ้าง

จะสร้างคน ฝึกคน และคนจะอยู่ได้ทุกสภาพเหมือนนักรบ อยู่ได้ทุกสภาพสนามรบ เอาตัวรอดได้ คุณต้องเข้าใจสนามรบของคุณ ต้องเข้าใจตัวเอง” นาวาอากาศเอกสุวรรณ ภู่เต็ง ย้ำ และว่า มันจำเป็นในการที่เราจะต้องเริ่มเรื่องพวกนี้ในลักษณะประกาศสงครามกับอุบัติเหตุทางถนน

“ทำไมเราไม่ประกาศสงคราม เราอายเขาหรือ ในเมื่อเราสูญเสียคืนเดียว 70 ศพ เส้นทางชีวิตเต็มไปด้วยอันตรายในทุกสิ่งที่เธอทำ แต่สังคมเรามุ่งแต่ความสำเร็จ การศึกษามุ่งความสำเร็จ แต่เมื่อเราสำเร็จแล้ว ยังไม่ทันรับปริญญา ก็ต้องมาเสียชีวิต”

ก่อนจะให้เหตุผลว่า ที่ประกาศสงคราม ก็เพื่อให้เราได้ฝึกนักรบ “เราไม่ฝึกนักรบ แต่เอาอาวุธมาให้ คือ บิ๊กไบค์ พ่อแม่เอามาให้ สมรรถนะดี แล้วก็ตายในวันรุ่งขึ้น

เสียใจ เสียใจทำไม โอ้โห ลูกสอบได้แพทย์ เอามอเตอร์ไซค์ไป เอารถยนต์ไป ฝึกเขาหรือยัง กำลัง I can do it ! ฉันทำได้ทุกอย่าง

คนทั่วโลกเป็นเหมือนกันหมดแต่เขาใส่อาวุธเชิงปัญญาห้ามเอาไว้เป็นจุด ต่างประเทศไม่ได้ต่างกับคนไทย 25 ก็คึกคะนองเหมือนเรา

แต่ด้วยระบบเขาเคร่งครัด บ้านเราเอาไม่อยู่”

นาวาอากาศเอกสุวรรณบอกอีกว่า หลายปีมานี้ไม่มีอุบัติเหตุ เพราะไม่แค่ระวังข้างหน้า

แต่ยังระวังรอบตัว “เราพยายามเข้าใจเขา บนพื้นฐานของมนุษย์ปัจจัย เราจะเข้าใจคน มอเตอร์ไซค์ตากแดดตากฝน คุณไม่เห็นใจหรือ?

คุณนั่งอยู่ในรถคุณไม่เปียก เขาเปียก เขาแทรก เขาแซง คุณต้องระวังให้เขาหน่อย พวกเขาจะมาในแบบที่ยากจะคาดเดา ถนน 4 เลน

เตรียมได้เลยว่ารถมอเตอร์ไซค์ 4 คัน จะมาทุกทิศทางถ้าไม่ฝึกขีดจำกัดของมนุษย์ คนเราจะอยู่ที่เดิมแล้วก็โทษกันไปมา เราต้องเข้าใจกัน

จะปรับพฤติกรรมผู้ขับขี่ได้ดีขึ้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image