หนุ่มเมืองจันท์ถาม ‘เจ้าสัวธนินท์’ ตอบ ธุรกิจ ชีวิต และเรื่องราวระหว่างบรรทัด ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’

เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงสุดพิเศษ ในกิจกรรม “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว เอ็กซ์คลูซีฟทอล์ก” อันเป็นส่วนหนึ่งของงานเปิดตัวหนังสือที่ถ่ายทอดประสบการณ์จากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย อย่าง ธนินท์ เจียรวนนท์ หรือ “เจ้าสัวธนินท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ผู้จรดปลายปากกาลงในผลงาน “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”

นี่เป็นโอกาสที่หาได้ยาก แต่ในครั้งนี้ เจ้าสัวธนินท์ ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนพญามังกร ขึ้นเวทีบอกเล่าเคล็ดวิชาในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างตรงไปตรงมา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังอย่างล้นหลาม ทำเอา เดอะพอทอล บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ดูคับแคบลงไปถนัดตา

ไม่เพียงความคึกคักจากจำนวนผู้เข้าร่วมงาน แต่ยังเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความอบอุ่น ครอบครัวของเจ้าสัวธนินท์หอบดอกไม้มาให้กำลังใจเกือบทั้งบ้าน นำโดย วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์, ณรงค์ เจียรวนนท์, ศุภชัย เจียรวนนท์ และ ทิพาภรณ์ อริยวรารมย์ ผู้บริหารในเครือ ซี.พี. และนักธุรกิจคนดังมากมาย รวมถึงผู้บริหารในเครือ “มติชน”

ในช่วงของการสนทนา สรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” ผู้คร่ำหวอดในการเขียนประวัติชีวิตนักธุรกิจ รับหน้าที่ดำเนินรายการ โดยเริ่มต้นจากประเด็นความเป็นมาของหนังสือที่รวบรวมและบอกเล่าแนวคิดอันส่งผลให้ “ซี.พี.” นั้นยิ่งใหญ่ เป็นองค์กรที่ในวันนี้มีพนักงานกว่า 3 แสนคนทั่วโลก

Advertisement

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาเข้มข้นที่พลาดไม่ได้แม้เพียงประโยคเดียว

ทำไมคิดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ?

ความจริงในชีวิตไม่เคยคิดว่าจะทำหนังสือเรื่องนี้ แต่ได้อ่านหนังสือของ แจ๊ก เวลซ์ (อดีตซีอีโอ เจ็นเนอรัล อีเล็คทริค) แล้วประทับใจ และได้ฟังคนเก่งๆ อย่าง แจ๊ก หม่า ซึ่งผมยกเขาเป็นอาจารย์นะ แต่ฟังเขาพูดแล้วไม่กล้าลงทุน เพราะไม่มีรูปแบบให้เห็น ฟังแล้วไม่เข้าใจ ตอนนั้นเขากำลังทำอาลีบาบานี่แหละ เขาไม่ได้ชวนลงทุน แต่เราไปหาเขาเลย ความสำเร็จของเครือ ซี.พี. คือเราเห็นก่อนว่า เรื่องนี้สำเร็จมาอย่างไร เรามีโอกาสเอามาต่อยอดไหม แต่พอไปคุยกับแจ๊ก หม่านี่เราฟังไม่รู้เรื่อง

Advertisement

แจ๊ก หม่า ได้ยินชื่อคุณธนินท์ตั้งแต่ยังเด็ก ?

ใช่ ตอนนั้นเขายังเรียนหนังสืออยู่ เขารู้จักผม แต่ผมไม่รู้จักเขา มารู้จักตอนที่เขาดังพอสมควร ถ้าตอนนั้นไปลงทุนกับเขาก็ได้กำไรหลายร้อยเท่า แต่ตอนนั้นไม่กล้า เพราะยังมองไม่ชัด คิดไม่ออกว่าจะสำเร็จได้อย่างไร เพราะไม่มีทางเดิน ซึ่งผมเชื่อว่าเขาเห็นแล้ว เรามองภูเขา แจ๊ก หม่า เห็นเป็นทองทั้งภูเขา แต่เรามองไปมีแต่ต้นไม้กับหิน กับดิน เลยยังไม่กล้าลงทุน

จริงๆ ก็เหมือนตอนทำ ‘เซเว่นอีเลฟเว่น’ ที่ฝรั่งบอกว่าเมืองไทยทำไม่ได้หรอก ?

ใช่ ผมเห็นว่ามีการทำสำเร็จแล้วในอเมริกา เลยศึกษาในการมาทำที่เมืองไทย เห็นชัดว่าสำเร็จแน่นอน แต่เขาบอกว่าไม่คุ้มหรอก ยังไม่ถึงเวลาลงทุน ผมรู้จัก 2 พี่น้องเจ้าของ เซเว่นอีเลฟเว่นเพราะผมเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ Chase Bank ที่อเมริกา Vice President เป็นคนพาไปรู้จัก ผมก็เชิญมาเมืองไทย เขาบอก คุณธนินทร์ มันเป็นไปไม่ได้หรอก อย่าทำเลย เพราะกำลังซื้อของคนไทยไม่พอ 1 คนของเขามาซื้อของ เฉลี่ยเท่ากับเรา 15 คน แต่เคล็ดลับของผมที่เขาคิดไม่ถึง คือ เราจ้างพนักงานกับเปิดร้านต้นทุนของเราถูกกว่าเขา 10 กว่าเท่า

ทำไมเห็นโอกาสของ เซเว่นอีเลฟเว่น แต่ไม่เห็นโอกาสของ ‘อาลีบาบา’ ?

ผมยังเป็นคนล้าสมัย ต้องเห็นของจริง อาลีบาบาไม่มีตัวตน เรามองไม่เห็น ความสำเร็จของผม คือ คิดไม่เหมือนคนอื่น ทุกคนมองแล้วว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับเมืองไทย แต่อะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าผมทำสำเร็จ ก็คนอื่นไม่ได้ทำ ผมทำแต่เพียงผู้เดียว เหมือนกับผมเลือกของที่ยาก ซึ่งคนฉลาดไม่เอาหรอกครับ คนฉลาดชอบทำอะไรที่ง่าย แล้วสำเร็จง่ายๆ แต่ผมไม่ใช่ ผมต้องดูสิว่า ยากที่สุดแล้วมีอนาคตไหม ถ้ายากแล้วไม่มีอนาคต ก็ไม่เอาเหมือนกัน

50 กว่าปีก่อน ในอเมริกา เกษตรกรหนึ่งคนเลี้ยงไก่ได้หมื่นตัว คนไทยเลี้ยงได้ 500 ตัว ทุกคนไปดูแล้ว โอ๊ย จบมัธยมปลาย จบมหาวิทยาลัยมาเลี้ยงไก่ เราเลี้ยงไม่ได้หรอก ไม่มีทาง แต่ผมคิดว่าต้องศึกษาดู เขายังทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ เลยไปเอาอาจารย์มา ไปเอาความรู้มา สุดท้ายก็รู้จริง ตัวเราเองต้องเลี้ยงไก่เป็นนะ ต้องรู้ว่าที่เขาสำเร็จ ไม่ใช่เพราะเกษตรกรหนึ่งคนเลี้ยงไก่ได้หมื่นตัว แต่มีทีมงานตั้งกี่ทีมมาช่วย เราก็มีทีมอยู่แล้ว ตรงนี้ผมเลยทำสำเร็จ

หลายคนไม่รู้ว่า 40-50 ปีก่อน เนื้อไก่แพง แต่พอ ซี.พี.เข้ามาราคาถูกลง มีการนำเทคโนโลยีซับซ้อนมาใช้ มองว่ายิ่งกับเกษตรกร ยิ่งต้องนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ เพื่อให้ง่าย ?

ใช่ครับ คนมองข้ามตรงนี้ คนไม่เข้าใจว่า ตาสีตาสาจะไปใช้เทคโนโลยีสูงได้อย่างไร นี่เป็นความเข้าใจผิด การผลิตเทคโนโลยียาก แต่ผู้ใช้มันง่าย เราไม่ได้ไปผลิตเทคโนโลยี อย่างพันธุ์ไก่ เราจะมาค้นคว้า เป็นไปไม่ได้ แต่เราเอาพันธุ์ไก่มาเลี้ยง หรือเขามีสถิติ คู่มือ สะสมมากี่สิบปี ก็เอาความรู้มา ทำตามประสบการณ์ที่เขาสำเร็จ เรื่องยากบริษัทใหญ่ทำ เรื่องง่ายๆ เกษตรกรเป็นคนทำ เช่น ไก่หมื่นตัวทำวัคซีน เกษตรกรไม่ต้องทำ เรามีทีมงานเฉพาะ มีผู้เชี่ยวชาญในการจับไก่ให้ไม่ช้ำ ไก่ไม่ตื่น และเร็วด้วย

ถ้าให้ครอบครัวเกษตรกรมาจับไก่หมื่นตัว จับกันถึงสว่างเลย ไก่ก็เหนื่อย คนก็เหนื่อย รถก็รอ โรงฆ่าไก่ ก็ไม่มีไก่ไปฆ่า แต่เรามีผู้เชี่ยวชาญในการจับ แป๊บเดียวเสร็จ ทำความสะอาดให้ด้วย เอาขี้ไก่ไปขายด้วย แล้วหมื่นตัวเกษตรกรจะไปขายที่ไหน แต่เราขายทั้งประเทศ ไปถึงต่างประเทศ นี่เป็นหน้าที่เรา ความสำเร็จอยู่ตรงนี้มากกว่า คือเราพร้อมทุกขั้นตอน

ท่านไม่ได้มีสูตรสำเร็จเดียว ในขณะที่เราพูดถึงสินค้าทางการเกษตร ท่านเลือกเทคโนโลยีระดับสูงสุด แต่ตอนทำมอเตอร์ไซค์ที่เมืองจีน มีกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจมาก คือไปเอาเทคโนโลยีจากฮอนด้าโดยไม่ได้เลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ?

ทางจีนต้องการเงินตราต่างประเทศ ก็ประกาศว่าใครจะมาเป็นเอเยนต์ขายมอเตอร์ไซค์ไปทั่วโลกเพื่อเอาเงินตราต่างประเทศมาให้เขา ผมไปดูแล้ว ขายเป็นของเก่าแบบแอนทีคน่ะได้ แบบโบราณ ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คันใหญ่เบ้อเริ่ม กินน้ำมันก็เปลือง แล้วจะขายให้ใคร ผมไปต่อรอง บอกว่าขายไปทั่วโลกแต่เอามอเตอร์ไซค์มาใช้ที่เมืองจีนได้ไหม คือเอาเงินตราต่างประเทศมาให้คุณ แล้วให้คนจีนในเมืองจีนใช้มอเตอร์ไซค์ก็แล้วกัน เขาตกลง

ผมก็ประกาศลง นสพ.ของจีนว่าใครต้องการมอเตอร์ไซค์ ก็ให้ญาติที่อยู่ต่างประเทศทั่วโลกส่งเงินมาที่ฮ่องกง แล้วเราส่งเงินไปให้รัฐบาลที่เซี่ยงไฮ้ ตอนนี้เติ้งเสี่ยวผิงบอกว่า เกษตรกรไม่มีรถบรรทุก ถนนก็เล็ก เขาใช้จักรยานกัน ก็เอามอเตอร์ไซค์ แป๊บเดียว 20,000 คันเกลี้ยง ไม่พอขาย ต้องการ 60,000-100,000 คัน แล้วทำอย่างไร ก็ชวนผมไปลงทุน ผมรีเสิร์ชแล้วว่า มอเตอร์ไซค์ที่ทนทาน แข็งแรง ปีนเขาได้ อดทน ซ่อมง่าย ก็ต้องของฮอนด้า 4 จังหวะ ตอนผมไปเจรจาญี่ปุ่นไม่ใช้แล้ว เพราะมีคันเล็กกว่า วิ่งได้เร็วกว่า ลดน้ำมันอีก เขาเข้าลิ้นชักแล้วผมถึงไปซื้อตัวนี้มา เพราะเหมาะสมที่สุดกับเมืองจีนในตอนนั้น ซื้อถูกมาก ก็เอาไปผลิตที่นั่น ขาย 60,000 คันทันที นี่คือเส้นผมบังภูเขา การแต่จะเข้าใจได้ ต้องไปรับรู้ว่าตอนนั้นจีนขาดมอเตอร์ไซค์ แล้วจะเอาไปขายต่างประเทศทำไม ก็เอาเงินตราให้คุณ แล้วคุณเอามอเตอร์ไซค์ให้คนจีนใช้ก็หมดเรื่อง รัฐบาลจีนก็แฮปปี้ เงินตราก็ได้ ประชาชนก็ได้ใช้มอเตอร์ไซค์ไปขนส่ง

มอเตอร์ไซค์ซิ่งฝูในยุคแรก ภาพจากหนังสือความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้บ่งบอกเลยว่าวิธีคิดของท่าน ปรับเปลี่ยนตลอดให้เหมาะสมกับแต่ละเรื่อง ไม่ได้มียาวิเศษเม็ดเดียวที่กินแล้วได้หมด อย่างในบทแรกพูดถึงพัฒนาการของ ซี.พี. จากเกษตรไปค้าปลีก ไปโทรคมนาคม มีบางประโยคที่บอกว่า เสี่ยง 30 ชนะ 70 ถ้าความเสี่ยงนั้นไม่ทำให้เราล้มละลาย ผมพร้อมจะเสี่ยง ท่านมีวิธีคิดในการประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างไร ?

ไม่ว่าลงทุนอะไร คนที่บอกว่าไม่มีความเสี่ยงเลย ไม่จริง เชื่อผมเถอะ เราต้องเสี่ยงทั้งนั้น สตาร์ตอัพก็เหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จรูป ทำไป แก้ไป ปรับปรุงไป ขยายไป ไม่ใช่ไม่เสี่ยง แต่เราเห็นว่าแนวทางนี้ถูกต้องแล้ว เป้าหมายชัด เจอภูเขา เจอเหว ก็หาทางหลีกเลี่ยง ใครบอกทำธุรกิจไม่มีวันเสี่ยง ถ้าไม่มีวันเสี่ยงก็อย่าทำ แต่อย่าง ซี.พี. เวลาทำใหญ่ เสี่ยงแล้วมันอันตราย แต่คิดแล้วว่าถ้ามี 70 เปอร์เซ็นต์ได้ 30 เปอร์เซ็นต์มีโอกาสเสี่ยง ผมก็จะลงทุน ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีอะไร 50/50 ถ้า 50/50 ไปเล่นการพนันก็แล้วกัน (ยิ้ม)

แต่ถ้าโครงการใหญ่มาก ถึงขนาดที่ทำให้ ซี.พี.ล้มละลายได้ ไม่ทำ?

(ตอบทันที) ผมไม่เอาเลย แม้ว่าเสี่ยงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ผมก็ไม่เอา จะไปหาเรื่องทำไม (หัวเราะ) มันเกิดอุบัติเหตุ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ยิ่งใหญ่ ยิ่งเสี่ยงสูง อย่าไปเข้าใจผิดว่าบริษัทใหญ่ ไม่ล้มละลายนะ เพราะฉะนั้นนโยบายเครือ ซี.พี. เสี่ยงได้ แต่ต้องไม่ให้ล้มละลาย สตาร์ตอัพยิ่งเสี่ยง เพราะเป็นของใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ แต่ถ้าสำเร็จก็ยิ่งใหญ่ แล้วสมัยนี้โอกาสสำเร็จสูง สมัยนี้เป็นยุคของความเปลี่ยนแปลง

ความสำเร็จของ ซี.พี.มีเยอะมาก แล้วเคยเจอความล้มเหลวไหม ที่จำได้ดีที่สุดคือเรื่องไหน?

ผมนี่เจอกับตัวเองเลยนะ ตรงๆ เลย มืดแปดด้าน โอ้โห! ตรงนั้นก็มีปัญหา ตรงนี้ก็มีปัญหา ตอนวิกฤตต้มย้ำกุ้ง บริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศอย่างเดียวนี่ไปเลย อยู่ๆ 25 บาทกลายเป็น 55 บาท คิดไม่ถึงว่าร้ายแรงอย่างนี้ เรื่องแรกเลย แม้มีสัญญากับธนาคารกู้ 5 ปี แต่ในนั้นมีข้อหนึ่งคือ ถ้าเจอวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ เขามีสิทธิเอากลับทันที ไม่ต้องรอ 5 ปี ตรงนี้ต้องระวัง ธนาคารไทยก็มีข้อนี้เหมือนกัน แต่มีการอะลุ้มอล่วย

ตอนวิกฤต ผมไปขอ 4 พี่น้องบอกว่า เอาหละ ผมรับรองว่าธุรกิจเดิมของเรา ที่เกี่ยวกับเกษตรทั้งหลาย รับรองว่าไม่ล้มละลายแน่ ส่วนธุรกิจใหม่ที่สร้างขึ้น ทั้งหมด 4 พี่น้องให้คนเดียวไปปวดหัวก็แล้วกัน นั่นคือผม อีก 3 คนสบายเลย ไปเที่ยวได้เลย ไม่มีปัญหาแน่ ผมจะขายธุรกิจที่สร้างขึ้นมาใหม่ก่อน ถ้าไม่เจรจากับพี่น้องก่อน เขาก็ห่วง ตีหนึ่งตีสองยังโทรมาเลยว่าเป็นอย่างไร ตอนวิกฤต ต้องจำไว้ว่าเรารักษาทุกอย่างไว้ไม่ได้ ต้องทิ้งบางอย่าง

ผมมีบทเรียนที่เตือนทุกท่านว่า เวลาจะทำอะไร ต้องเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มิฉะนั้นพอวิกฤตแล้ว ให้ฟรี เขายังไม่เอาเลย อย่าว่าแต่ขาย ตอนนั้นขายโลตัสก่อน คนมาซื้อยังพูดตรงๆ กับผมว่า คุณทำเหนือกว่าผมที่อังกฤษอีก ราคาเราว่าไปเท่าไหร่ เขาไม่ต่อเลย แล้วยังเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ให้เราอีก ผมพอใจแล้วว่าคนอังกฤษคบได้ทีเดียว (ยิ้ม)

อันที่สอง ผมก็ต้องขายแม็คโคร ยังไม่ทันขายเซเว่นอีเลฟเล่น ขาย 2 อันนี้ก็ผ่านวิกฤต ถ้าตอนนั้นขายโทรศัพท์อันเดียวจบเลย ไม่ต้องขายแม็คโครกับโลตัส ตอนนั้นโทรศัพท์ยังดีมาก วันนี้เทคโนโลยีเกิดใหม่ โทรผ่านอินเตอร์เน็ตกันฟรี ธุรกิจตัวนี้ไม่มีความหมายไปเลย

เรือมันเจอพายุแล้วต้องทิ้งของบางส่วนให้รักษาเรือลำนี้ให้รอดก่อน แล้วค่อยหาคืนมา ประสบการณ์บอกเราว่า ถ้าอันนี้ก็จะรักษาไว้ อันนู้นก็จะรักษาไว้ สุดท้ายล้มทั้งลำ

หลายคนตอนนี้อาจเจอปัญหาทางธุรกิจ มีคำแนะนำอย่างไร ?

ความจริงวิกฤตเป็นโอกาส ทุกเรื่องลองไปศึกษาให้ดีๆ ผมนี่ชอบศึกษาเป็นบทเรียนเพิ่มความรู้ วิกฤตคือโอกาส โอกาสก็ตามมาด้วยวิกฤต อยากเตือนทุกๆ ท่านว่าตอนที่ดีที่สุด ตอนที่รุ่งเรืองที่สุด เราต้องคิดตลอดเวลาแล้วว่า ถ้าเกิดมืดลงมา เกิดวิกฤตมา เรารับไหวไหม ต้องทำการบ้านแล้ว อย่าเหลิงว่ายิ่งใหญ่ ร่ำรวยแล้ว

ตอนที่วิกฤตแล้วมืดที่สุด พวกคุณอย่าท้อใจ แสงสว่างจะมาแล้ว ถ้าเราผ่านได้ หลังจากวิกฤตแล้ว มีโอกาสอะไร ต้องเตรียมว่า พอฟื้นแล้ว สังคม เศรษฐกิจเอื้อ ทุกอย่างถูกหมด ดีหมด เราจะทำอะไร

ตอนวิกฤต ต้องอย่าตาย ต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ แล้วถึงจะมีโอกาสฟื้นคืน ถือว่าเป็นประสบการณ์ เป็นความรู้ เสียค่าเล่าเรียนแล้ว ถ้าตายไป ก็เอาคืนไม่ได้ หมดโอกาสแล้ว

แล้วตอนนี้กี่โมง มืดหรือยัง ?

ผมคิดว่าตอนนี้กำลังถึงบ่าย 3-4 โมง แต่ถ้าเมืองไทยทำเป็น ก็เป็นโอกาสอย่างยิ่ง แต่รู้สึกว่ายังทำไม่เป็น ความจริงแล้วการที่อเมริกากับจีนมีปัญหากัน เป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างยิ่ง คนจะย้ายฐานจากจีน บางอย่างที่จะไปขายให้อเมริกา ไปไหนล่ะ มาเมืองไทยดีที่สุด

แต่ถ้าเราไม่ฉวยโอกาสนี้ เขาก็ไปเวียดนาม อินโดนีเซีย โอกาสนี้ก็หายไป กว่าจะดึงกลับมาก็หลายสิบปี

 

8 ปีที่ทุ่มเท กว่าจะเป็น ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’

เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยเคล็ดวิชาความรู้ และความอิ่มเอมใจที่เราจะได้เห็นนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ในทุกด้านทุกมุมอย่างครบถ้วน สำหรับ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ซึ่งที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ เกิดจากการร่วมมือระหว่าง ซีพี สำนักพิมพ์มติชน และบริษัท คัดสรรดีมาก จำกัด ถือเป็นการระดมความคิดผ่านเรื่องราวของบุคคลระดับประเทศ ที่ต้องการส่งต่อแนวคิด และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้ได้เห็นทางสว่างเพื่อไปสู่จุดหมายได้ดีมากขึ้น รวมถึงในช่วงท้ายได้ใส่ความพิเศษสอดแทรกความในใจของครอบครัวที่มีต่อเจ้าสัวธนินท์ในฐานะหัวหน้าครอบครัวไว้ด้วย

ขณะที่ขั้นตอนของการทำหนังสือ ใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลยาวนานถึง 8 ปี ซึ่งเป็นความตั้งใจของเจ้าตัว ซึ่งต้องการทบทวนว่าในระหว่างที่เขียนหนังสืออยู่นั้นมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ มีกรณีศึกษาอะไรใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับคนอ่านมากกว่าที่เขียนไปแล้วหรือไม่

เหตุผลที่เลือกจะบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง เพราะมองเห็นว่าการสร้างความสำเร็จของ ซีพี จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ส่วนการถ่ายทอดผ่านรูปแบบ “หนังสือ” เพราะเป็นสื่อเก็บเป็นที่ระลึกได้ และมองว่ายังไม่มีท่าทีว่าจะหมดไป

สำหรับที่มาของชื่อนั้น เจ้าสัวเปิดเผยว่า มาจากหลักคิดและการปฏิบัติตนในชีวิตที่ไม่เคยฉลองความสำเร็จอะไร เพราะรู้ว่าพอสำเร็จแล้วมันจะตามมาด้วยปัญหา

“ยิ่งสำเร็จมากปัญหาก็ยิ่งจะใหญ่ขึ้น เราต้องเตรียมตัวแก้ปัญหา ฉะนั้นผมดีใจแค่วันเดียว ทุกวันต้องศึกษาว่าเรามีอะไรต้องเปลี่ยนแปลงไหมเราอย่าไปอิจฉาใคร เราต้องดูตัวเอง สร้างตัวเอง เปลี่ยนแปลงตัวเอง ความล้มเหลวก็เช่นกัน ไม่ควรกลุ้มใจเกินหนึ่งวัน เพราะเมื่อความล้มเหลวเกิดขึ้นแล้ว จะมัวกลุ้มใจก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ควรคิดว่าไม่มีใครทำสำเร็จทุกเรื่อง หากล้มเหลวแล้วควรกลุ้มใจแค่วันเดียว จากนั้นคิดทบทวนว่าล้มเหลวเพราะอะไร เพื่อเป็นกรณีศึกษาไม่ให้ล้มเหลวอีกครั้ง”

เจ้าสัวธนินท์เปิดใจอย่างตรงไปตรงมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image