‘เป็นเด็กเนิร์ดที่ขบถ’ เส้นทางชีวิตสู่ (ดาว) สภา ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’

เป็นดาวเด่นด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจน หนักแน่น ในข้อมูลจนเป็นที่ชื่นชมล้นหลาม สำหรับ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ ผู้มีเส้นทางชีวิตไม่ธรรมดา

เกิดในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เจ้าของกิจการเดินรถเมล์ในจังหวัดชลบุรี ยืนยันว่าเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ได้ร่ำรวย พ่อแม่ทำงานหนักเลี้ยงลูกสาว 4 คน

จบมัธยมต้นที่โรงเรียนชลกันยานุกูล แล้วหอบกระเป๋าเข้ากรุงเทพฯ เรียนเตรียมอุดมในชั้น ม.ปลาย

ออกปากยอมรับอย่างเขินๆ ว่า เป็นเด็กเนิร์ด ดื้อ เอาแต่ใจ สไตล์ลูกคนสุดท้อง

Advertisement

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วคว้าปริญญาโทอีกใบจากมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส

พลิกบทบาทจากนักวิชาการที่คร่ำหวอดในวงการนานนับสิบปี ตั้งแต่มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กระทั่งก้าวสู่สังเวียนการเมืองเต็มตัว

ต่อไปนี้คือบทสนทนาในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เข้มข้น มีสีสัน แม้ในวันที่อนาคตใหม่เผชิญสถานการณ์ท้าทายอย่างยิ่ง

ไม่ถามไม่ได้ จากสถานการณ์ที่ดูวุ่นวายของอนาคตใหม่ตอนนี้ ในฐานะคนใน มองอย่างไร บางส่วนเชื่อว่าพรรคจะถูกยุบแน่?

ไม่มีคดีไหนที่โทษจะไปถึงยุบพรรคได้สักคดีหนึ่ง แต่กระแสก็มาเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับว่าศาลจะตัดสินอย่างไร วิธีการก็คือทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ให้ประชาชนเป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็ก ให้เขาเห็นว่าการมีอยู่ของอนาคตใหม่ ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าปากกาอยู่ที่ใคร ใครเป็นผู้วินิจฉัย เราก็ไม่สามารถไปก้าวล่วงอำนาจในการวินิจฉัยได้ จะเห็นว่าสิ่งที่เราทำคือพยายามทำหน้าที่ของตัวเองทั้งในและนอกสภาให้ดีที่สุด ในสภาเราก็ทำให้เห็นแล้วว่าการเมืองใหม่มันเป็นไปได้ เราเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเปลี่ยนแปลงในสภาได้ นอกสภาก็ทำงานกันเต็มที่ ถ้าทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เชื่อว่าประชาชนจะปกป้องเรา

มีผู้วิเคราะห์ว่าความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งซ่อมนครปฐมเกิดจากยุทธศาสตร์พลาด มีการพูดคุยกันไหมว่าจริงๆ เกิดจากอะไร เพราะในพื้นที่ดูค่อนข้างมั่นใจว่าจะชนะ?

ใช่ค่ะ ตอนแรกก็ประเมินกันว่าเราก็น่าจะชนะ เราคงต้องมานั่งถอดบทเรียนกันอีกครั้งอย่างจริงๆ จังๆ ว่าเกิดจากการวางยุทธศาสตร์ผิดพลาด กระแสอาจไมได้ดีอย่างที่เราคิด หรือมีปัจจัยภายนอกอย่างอื่นที่เราไม่สามารถควบคุมได้หรือเปล่า สำหรับที่ถูกมองว่าเรามุ่งแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว จริงๆ แล้วแล้วประเด็นอื่นเราก็สนใจ ตัวไหมเองเป็นทีมเศรษฐกิจ ก็พยายามสื่อสารออกไปว่าเราทำไปทั้ง 2 เรื่องพร้อมๆ กัน เพียงแต่อำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเราไม่มี มันต้องอาศัยอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่สามารถทำได้ผ่านทางกลไกนิติบัญญัติ เรามีหน้าที่แค่กระทุ้ง ตรวจสอบ คอยเตือน และให้คำแนะนำกับฝ่ายรัฐบาล เขาจะนำไปใช้หรือไม่นำไปใช้ ก็สุดแล้วแต่เขา บทบาทของเราเลยโดนไฮไลต์ไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

ได้รับความชื่นชมมากในการอภิปรายทุกครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุด มีเทคนิคแนวทางอย่างไร ซ้อมหน้ากระจกไหม?

ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วแทบไม่มีเวลาซ้อมเลย เพราะนอกจากจะต้องดูสคริปต์ของตัวเองให้เรียบร้อยก่อนก็ต้องตรวจสคริปต์ของท่านอื่นด้วยว่าข้อมูลที่ใช้ถูกต้องหรือไม่ มีอะไรที่มันขัดแย้ง หรือไม่สอดคล้องกับนโยบายพรรคหรือเปล่าซึ่งก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายทีมนโยบายทั้งนั้น ตอนอภิปรายครั้งแรกไม่ได้พูดดี มีอาการตื่นเต้น ประหม่า คนบ่นว่าพูดอะไร ฟังไม่รู้เรื่อง เป็นนักวิชาการเกินไป (หัวเราะ) ก็จะเอาตรงนั้นมาปรับแก้ พยายามสรรหาวิธีการอธิบายให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ และพัฒนาตัวเองทุกครั้งที่ได้รับโอกาสให้ขึ้นอภิปราย

จากนักวิชาการมาเป็นนักการเมือง ปรับตัวอย่างไรบ้าง เสื้อผ้าหน้าผมปรับด้วยไหม?

ถ้าเป็นเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม จริงๆ ก็แนวนี้อยู่แล้วตั้งแต่ตอนเป็นนักวิชาการซึ่งคำนึงถึงความน่าเชื่อถือเป็นหลัก จะให้แต่งตัวมากเกินไปก็กลัวว่าเดี๋ยวสารที่อยากสื่อจะถูกดึงความสนใจไป อยากให้คนโฟกัสกับสิ่งที่เราจะพูดมากที่สุด ส่วนเรื่องเนื้อหาก็ต้องปรับ ถ้าพูดเหมือนตอนทำวิจัย รับรองว่าในสภาเกินครึ่งคงฟังไม่รู้เรื่อง ไม่ต้องพูดถึงผู้ฟังทางบ้าน ก็ต้องปรับทั้งภาษา และวิธีการสื่อสารเยอะมาก บางทีตอนทำงานวิจัย เราสามารถพูดอย่างค่อนข้างเป็นกลาง ไม่บอกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ให้คนอ่านตัดสินใจจากบทวิเคราะห์ของเราเอง แต่ด้วยความเป็นนักกาเรมือง อาจต้องเน้นการใช้ข้อมูลเหตุผล งานวิจัยมาสนับสนุนเพื่อผลักดันประเด็นที่อยากสื่อให้ไปได้ไกลที่สุด

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Sirikanya Tansakun – ศิริกัญญา ตันสกุล

เห็นว่าเป็นคนระวังเรื่องการแต่งตัวมาก แต่ในสภาสีปากแซ่บมาก ลงพื้นที่ใส่รองเท้าส้นเข็ม?

(หัวเราะ) ก็เป็นคนชอบแต่งตัวค่ะ แต่เรื่องใส่ส้นสูงลงพื้นที่ เป็นความผิดพลาดในการสื่อสาร ตอนแรกที่ได้รับบรีฟคือลงไปฟังความเห็นประชาชนในห้องประชุม และตอนนั้นไปแทนคุณทิม พิธา แต่พอไปหน้างาน ต้องไปเยี่ยมฟาร์ม เลยกลายเป็นใส่ส้นสูงลงพื้นที่เกษตรกร ถ้าบรีฟดี จะแต่งตัวได้ตามสถานการณ์ ไม่พยายามทำอะไรที่หวือหวาเกินไป ท่านอื่นอาจมีประเด็นที่ต้องการสื่อสาร เช่น เสรีภาพในการแสดงออก หรือส่งเสริมเอกลักษณ์ท้องถิ่น แต่ประเด็นที่เราเป็นเจ้าของคือเศรษฐกิจ การคลัง นโยบาย ต้องการความน่าเชื่อถือ ไม่ให้มีอะไรมาดึงดูดความสนใจมากกว่าสิ่งที่ต้องการสื่อสาร เลยระวังเรื่องนี้มาก พยายามแต่งตัวอย่างไรก็ได้ ให้คนจำไม่ได้ว่าวันนี้ใส่อะไร เคยได้รับคำชมจากคุณ คำ ผกา ว่าแต่งตัวดี ก็พยายามจะไปโม้ให้เพื่อนสมาชิกฟังว่าฉันได้รับคำชม เพื่อนถามว่า เมื่อวานแต่งอะไร จำไม่เห็นได้เลย

เคยพูดว่าอาจไม่สามารถกลับไปสู่วงวิชาการได้แล้วหลังเบนเข็มมาลงการเมือง แล้วถ้าพรรคโดนยุบจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม วางแผนชีวิตไว้อย่างไร?

เดี๋ยวนี้เอ็นจีโอในประเทศไทยค่อนข้างก้าวหน้า ใช้งานวิชาการในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว เลยคิดว่าเราสามารถทำงานกึ่งวิชาการต่อไปได้ และเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองต่อไปได้ โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการมาเป็นแบ๊กอัพ อาจจะไม่ได้เป็นนักวิชาก๊านนน วิชาการเหมือนเดิม แต่ย้ายไปอยู่ฝ่ายนักกิจกรรมทางการเมืองเพื่อผลักดันประเด็นใดประเด็นหนึ่ง

อาชีพนักการเมือง เคยอยู่ในเรียงความตอนส่งครูไหม ความสนใจการเมืองเกิดขึ้นเมื่อไหร่?

(หัวเราะ) ก็เคยคิดมาบ้าง อยากเป็นรัฐมนตรี อะไรอย่างนี้ ไม่เคยคิดว่าอยากเป็น ส.ส. แต่ติดตามการเมืองไทย มาตั้งแต่เด็กๆ มีคุณพ่อที่สนใจการเมืองมากๆ ชอบเล่า ชอบคุย อ่านหนังสือพิมพ์ไปด้วยกัน ตอนเด็กๆ สัก 7-8 ขวบ ท่องชื่อนักการเมืองในสมัยนั้นได้ครบทุกคน พ่อจะชอบพูดชื่อ เราก็ต่อนามสกุล หรือพ่อพูดนามสกุล เราพูดชื่อ

แต่พอเริ่มเรียนหนังสือก็ค่อยๆ เปลี่ยนแนวไป ชอบงานที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ชอบงานทฤษฎี เลยคิดว่าเบนเข็มมาเป็นนักวิชาการด้านนโยบายน่าจะเหมาะกว่า แต่พอทำงานวิชาการด้านนโยบายเยอะๆ ก็ได้เห็นว่าเวลาพูด ส่งสาร ส่งงานวิจัยออกไป มันยากมากที่คนในตำแหน่งซึ่งสามารถกำหนดนโยบายได้จะหยิบงานของเราไปใช้ เขาจะหยิบไปใช้เฉพาะเวลาที่เป็นประโยชน์กับเขา ถ้าเราอยากทำให้เป็นจริง ก็มีทางเดียว คือเข้ามาผลักดันเอง นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พอพรรคอนาคตใหม่ชวนให้ร่วมงานในฐานะ ผอ.ฝ่ายนโยบาย เลยคิดว่าเป็นก้าวที่ท้าทาย

แม้จะเป็นครอบครัวที่สนใจการเมือง แต่พอลูกสาวจะลงสังเวียนการเมืองเต็มตัว ทางบ้านว่าอย่างไร?

เสียดายว่าตอนจะตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.คุณพ่อเสียไปก่อน แต่ท่านทราบว่าเข้ามาร่วมกับพรรคการเมือง ซึ่งก็กังวลกันทั้งบ้าน ยิ่งช่วงก่อตั้งพรรค มีอุปสรรคขวากหนามไม่แพ้ตอนนี้ มีข่าวต่างๆ ออกมา เพียงแต่เขารู้ว่าสำหรับลูกสาวคนนี้ เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจชีวิตค่อนข้างน้อย (หัวเราะ) คือถ้าไหมตัดสินใจแล้ว จะไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ตอนนี้คุณแม่กับพี่สาวกลายเป็นคนช่วยเคลื่อนไหว ไปรับฟังความเห็น ข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่แล้วส่งมา เขาเริ่มอินกับงานการเมืองหลังจากเราได้เข้ามา และผ่อนคลายความกังวลลงไปเล็กน้อย ยกเว้นจะมีกรณีที่มีข้อกังวล เช่น จะยุบพรรคไหม แล้วจะยังไงต่อ แต่โดยรวมแล้วให้กำลังใจ

ขอย้อนไปช่วงวัยเด็ก จัดอยู่ในกลุ่มเด็กหลังห้องหรือสายกิจกรรม ทำไมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์?

ตอน ม.ต้น เป็นเด็กเรียนที่ทำกิจกรรมเยอะมาก พอ ม.ปลายมาอยู่เตรียมอุดม ซึ่งทุกคนตั้งใจเรียนมาก เลยทำกิจกรรมน้อยลง พอเข้าธรรมศาสตร์ก็เป็นนักกิจกรรม ออกค่ายสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นแนวเพื่อชีวิตก็ค่ายอาสาพัฒนาชนบทของคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งก็ได้เจอคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นครั้งแรก เขาจำไม่ได้ แต่ไหมจำเขาได้ พอมาคุยกันเขาก็แบบ…อ๋อใช่ๆ ค่ายที่ยโสธร แต่ด้วยความที่เป็นเด็กเนิร์ดด้วย ก็จัดเสวนาวิชาการ จัดงานสัมมนาของคณะ คือยังมีความเป็นเนิร์ดอยู่และเป็นนักกิจกรรมไปในตัวด้วย ตอนนั้นความสนใจด้านการเมืองก็ไม่ได้หมด เพราะถึงจะเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แต่ก็เรียนโทการเมืองหลายตัว วิ่งไปวิ่งมาระหว่างคณะรัฐศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์

ตอนสอบเอ็นทรานซ์ซึ่งรุ่นนั้นยังเป็นระบบแบบสอบครั้งเดียว เลือกได้ 4 คณะ แต่ไหมเลือกแค่ 2 อันดับ คือ เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ อันดับ 1 และเศรษฐศาสตร ม.เชียงใหม่ อันดับ 2 มุ่งหมายมากว่าจะต้องเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ อาจเพราะปีสุดท้ายที่เรียน ม.ปลายคือปี 40 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้สนใจปัญหาและระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย มีรุ่นพี่มาช่วยแนะแนว และพูดถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีหลักการใช้เหตุผล การคำนึงถึงทางเลือกที่มีอยู่ทั้งหมด พูดถึงต้นทุน ค่าเสียโอกาส ก็ชอบไอเดียพวกนี้เลยคิดว่าต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ให้ได้ สุดท้ายเอ็นท์ติดอันดับ 1 ที่เลือก และได้คะแนนสูงสุดของประเทศด้วย ตอนขาเข้านะ ไม่รวมขาออก (หัวเราะ) ขาออกคะแนนกลางๆ ไม่ได้ดีมาก

ความที่เป็นเด็กเตรียมอุดมฯ เพื่อนทั้งห้องเลือกอันดับ 1 ที่จุฬาฯ อยู่แล้ว แต่ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่า ถ้ามีหัวค่อนข้างกบฏๆ หน่อย เป็นแนวรีเบลเลี่ยน ต้องเข้าธรรมศาสตร์เท่านั้น จะหัวดื้อ เราเป็นเนิร์ดที่ขบถ ก็จะดูย้อนแย้งในตัว (หัวเราะ)

 

ย้อนกลับมาสภา โดนประท้วงหยุมหยิมเยอะมากตั้งแต่อภิปรายครั้งแรก ภายใต้การ ‘ยิ้มอ่อน’ อันเป็นเอกลักษณ์ถึงขั้นมี ‘มีม’ และคลิปแซว ถามจริงๆ มีอารมณ์ขึ้นบ้างไหม?

ตอนอภิปรายครั้งแรก ถือว่าช่วยให้รู้สึกหายตื่นเต้น ได้มีจังหวะพักหายใจ เราเตรียมตัวกันอยู่แล้วว่าเดี๋ยวต้องโดนประท้วงแน่โดยเฉพาะ ส.ส.หน้าใหม่ทุกคน เพราะมันเป็นเกม รอบนั้นไม่ค่อยโกรธ แต่รอบสองมีอารมณ์ขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกขึ้นชี้แจง ถ้าอธิบายด้วยเหตุด้วยผลว่าสิ่งที่เราพูดไม่จริงอย่างไร ก็พอรับได้ แต่เหตุผลว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน นี่มันเรียกว่าตรรกะวิบัติ หรือมาบอกว่าเราไปเรียกคนมาทางโซเชียล ซึ่งมันไม่ใช่ เรามีศักดิ์ศรีเท่ากัน ทำไมพูดจาเหมือนไม่ให้เกียรติ และบางครั้งเส้นบางๆ ระหว่างไม่ให้เกียรติและดูถูกมันค่อนข้างเลือนรางมาก

อาจเป็นคำถามที่นักการเมืองหญิงถูกถามบ่อย แต่ก็ต้องถามว่ามองบทบาทผู้หญิงกับการเมืองอย่างไร?

คนชอบมอบบทบาทหน้าที่บางอย่างพอเห็นเราเป็นผู้หญิงก็ต้องพูดให้อ่อนโยน อ่อนหวาน นำเสนอเรื่องเฉพาะ เช่น เรื่องเด็ก เรื่องสวัสดิการ แต่เรารู้สึกว่าบทบาทเราไม่ควรถูกจำกัดเพียงเพราะผู้หญิง เราพูดเรื่องเศรษฐกิจ นโยบาย งบประมาณได้ ไม่จำเป็นว่าจะพูดเรื่องกองทัพไม่ได้ ไปแตะเรื่องความมั่นคงไม่ได้ ส่วนเทคนิคการพูดซึ่งไม่จำเป็นต้องเฉพาะผู้หญิงอย่างเดียว เช่น ใช้ภาษาสุภาพมากขึ้น ไม่เน้นแซะ เน้นให้ข้อมูล ไม่ได้ดึงอารมณ์มาก คุยด้วยเหตุผล แต่บทบาทในสภาดูเหมือนจะชอบอะไรที่มีดราม่านิดๆ

เป็นผู้หญิงเก่งอย่างนี้ ใครคือไอดอลทางการเมือง?

ในเมืองไทยยังคิดไม่ค่อยออก แต่ชอบติดตามการเมืองฝั่งอเมริกา เพราะก่อนหน้านี้การเมืองไทยไม่ค่อยมีอะไรให้ติดตาม เห็นนักการเมืองหญิงรุ่นใหม่ๆ ที่ค่อนข้างโดดเด่น ชื่อ อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เทซ ซึ่งอายุน้อยกว่าไหมด้วยซ้ำ แต่สามารถเล่นบทบาทตัวเองในสภาได้ดีมาก โดยเฉพาะในชั้นกรรมาธิการ เขาซักบริษัทใหญ่ๆ อย่างบริษัทยา บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรินิกส์ต่างๆ ที่ขายให้กองทัพสหรัฐ โดยใช้ข้อมูลไปถกเถียงกับทั้งบริษัทเอกชนและผู้มีอำนาจในระบบการเมืองอเมริกาได้อย่างเข้มแข็งบนพื้นฐานข้อเท็จจริง เลยรู้สึกว่าฉันอยากทำได้อย่างคนนี้มากๆ

หน้าเพจ sirikanya tansakun-ศิริกัญญา ตันสกุล สื่อสารผ่านโซเชียลบ่อยมาก สวัสดีเช้าวันเสาร์ สวัสดีบ่ายวันอาทิตย์ แล้วตามด้วยข้อมูลลึกมาก ชีวิตจริงติดโซเชียลไหม?

(หัวเราะ) ติดค่ะ แต่ถามว่าในเฟซบุ๊กส่วนตัวแอ๊กทีฟไหม เพื่อนจะบอกว่า เหมือนตายจากโลกไปแล้ว เพราะเป็นพวกดูอย่างเดียว ไม่ค่อยโพสต์ แต่พอต้องมาดูแลเพจของตัวเอง ก็จะค่อนข้างอิหลักอิเหลื่อ ทำไม่ค่อยเป็น โพสต์ยาวมาก ผิดหลักการทุกประการที่ควรทำ ด้วยความเป็นสายเนิร์ดที่มาจับโซเชียลเลยออกมาแนวนี้ ตัวเองเป็นทีมนั่งจ้องคอมเมนต์แน่นอนค่ะ อ่านเยอะ ดูตลอด พยายามทำเพจให้มีชีวิตชีวามากขึ้น มันเป็นภารกิจหนึ่งที่อยากให้คนเห็นว่า ส.ส.ที่รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน เวลาทำอะไรก็ต้องบอกเจ้านาย เขาจะได้เห็นผลงาน จริงๆ งานในชั้นกรรมาธิการมีอีกหลายเรื่องด้วยซ้ำ ที่อยากเอามาเล่าให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ยิ้ม)

สารคดี หนังอินดี้ และ ‘ความรัก’

ไม่ง่ายสำหรับการได้ “บัตรคิว” ในการเข้าพบพูดคุยกับ ส.ส.หญิง ศิริกัญญา ตันสกุล ด้วยตารางงานแน่นเอี้ยดตั้งแต่เช้าจรดเย็น ในวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ จนอดถามไม่ได้ว่า เวลาว่างที่มีน้อยนิด ผ่อนคลายชีวิตด้วยวิธีไหน?

เจ้าตัวรับว่า แก๊งเพื่อน “หมูกระทะ” บ่นมาหนักมาก บางกลุ่มไม่ได้พบกันเป็นปี เพราะด้วยบทบาทนี้ เธอยุ่งมากตั้งแต่เริ่มตั้งพรรค เลยอาศัย “แชต” ผ่านไลน์และเมสเซนเจอร์เฟซบุ๊ก

“ต้องฝากขอโทษเพื่อนด้วย”

ส่วนกิจกรรมอย่างอื่น นิยมบันเทิงใจผ่านการชมชุดข้อมูลผ่านภาพยนตร์สารคดีและหนังอินดี้ เนื่องด้วยไม่ค่อยขำมุขจากแผ่นฟิล์มแนวสูตรสำเร็จ ส่วนหนังสือ เลิกอ่านนิยายไปนานแล้ว เพราะอยากเสพ “ข้อมูล” มากกว่าความ “ฟรุ้งฟริ้ง”

สารคดีที่ฝังใจจนชมมากกว่า 1 ครั้ง ชื่อว่า Poverty inc. ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมค้าความยากจน

“อันนี้ฝังใจมาก เพราะพูดเรื่องประเทศยากจน ไม่มีประเทศไหนหลุดพ้นจากความยากจนได้ด้วยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ เพราะสุดท้ายแล้วกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้คนจนยังจนต่อไป เพื่อให้องค์กรเอกชนระหว่างประเทศสามารถมีงานทำได้เรื่อยๆ เขาทำให้เห้นว่าเงินที่เข้าไปช่วยเหลือ หรือของที่บริจาค มันเข้าไปทำลายระบบเศรษฐกิจในประเทศนั้นอย่างไร เช่น หลังแผ่นดินไหวในเฮติ มีข้าวบริจาคเยอะมากกกกก เยอะจนทำให้ชาวนาไม่สามารถปลูกข้าวได้ เพราะขายไม่ได้ เนื่องจากมีของฟรีบริจาคอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องไปปลูกพืชชนิดอื่น ทั้งๆ ที่ข้าวก็ยังเป็นอาหารหลักที่กินทุกมื้อ

หรือว่าการบริจาคเสื้อผ้ามือสอง ก็ไปทำลายอุตสาหกรรมเสื้อผ้าท้องถิ่น บางทีเราความบริสุทธิ์ใจ อยากเอื้อเฟื้อ แต่ในอีกทางก็ทำลายอาชีพที่เขาสามารถลืมตาอ้าปาก ยืนบนขาตัวเอง

ส่วนหนังเรื่องล่าสุดที่ไปดู คือ “พาราไซท์” ภาพยนตร์เกาหลีที่ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำในประเทศ

“การที่ชนชั้นหนึ่งถูกกดทับ มีสภาพความเป็นอยู่แบบหนึ่ง ทำให้การเลื่อนชนชั้นยากมาก ถ้ามองจากภายนอก ก็ตัดสินคนพวกนี้ได้เลยว่า เขาโกง ทำผิด พยายามปลอมแปลงบางอย่างให้ตัวเองได้ประโยชน์ แต่ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์นั้นแล้ว การทำงานหนักมาทั้งชีวิต มีความสามารถ แต่ไม่มีวันถูกยอมรับ เพราะไม่มีปริญญาที่คนรวยเข้าถึงได้ ก็ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปอีกแบบ”

มาถึงตรงนี้ ไม่ต้องถามอ้อมๆ ว่าไปดูหนังกับใคร แต่ขอยิงตรงกลางใจว่า มีใครในนั้นหรือยัง?

“มีค่ะ เพิ่งเริ่มคบตอนมาทำการเมือง แต่เขาเป็นคนนอกวงการ เป็นแนวๆ นักวิชาการเหมือนกัน เป็นคนที่เข้าใจและให้อิสระให้เราทำตามความฝัน ได้ใช้โอกาสในความเป็นตัวเอง และเข้าใจว่าเราเป็นคนบ้างาน (หัวเราะ)”

ศิริกัญญา ตันสกุล 'ท่องชื่อนักการเมืองได้ตั้งแต่7-8ขวบ'

ค้นลึกเส้นทางชีวิต ศิริกัญญา ตันสกุล ผอ.ฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ จากลูกสาวคนเล็กของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วในจังหวัดชลบุรี เจ้าของกิจการเดินรถ 'เด็กเนิร์ดสายขบถ' ที่หลงใหลในเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎี และข้อมูล ท่องชื่อนักการเมืองไทยตั้งแต่วัยเด็ก เพราะคุณพ่อที่สนใจการเมืองมากๆ พลิกบทบาทจากนักวิชาการดาวรุ่งสู่นักการเมืองรุ่นใหม่ที่ใครๆต่างร่วมจับตา #ศิริกัญญา #อนาคตใหม่ #อนค #เศรษฐกิจ #เศรษฐศาสตร์

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2019

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image