‘รุ่นพี่’ เดือนตุลา ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ มองปรากฏการณ์ ‘แฟลชม็อบ’

ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ สำหรับปรากฏการณ์ “แฟลชม็อบ” ของเหล่านักศึกษาที่ผุดขึ้นทั่วประเทศในห้วงเวลานี้

เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ต้องจับตา หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีกู้เงิน 191 ล้านบาท สิ้นเสียงพิพากษา ป้ายผ้าผุดขึ้นที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” กระทั่งรุ่งขึ้น “สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย” นัดหมายรวมตัว ก่อนมีคลื่นใหญ่ทยอยมาอีกหลายระลอก ทั้งนัดแต่งดำ ขึ้นป้ายผ้า และออกแถลงการณ์มากมายในนามนิสิต นักศึกษา เพื่อแสดงความเสียใจต่อพรรคอนาคตใหม่ เรียกร้องประชาธิปไตย และตั้งคำถามต่อความยุติธรรมในสังคม

ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึง ม.ราชภัฏ ราชมงคล ที่มีแฮชแท็กมากมาย สื่อความหมายยึดโยงอัตลักษณ์ของสถาบันตัวเอง เนื้อหาหลักไม่เอาเผด็จการทุกรูปแบบ แม้แต่เด็กมัธยมในโรงเรียน “หัวกะทิ” ก็ออกมาร่วมด้วย

กระทั่งเกิดนัดหมาย “ซ้อม” ชุมนุมใหญ่ #คืนสู่เหย้าไม่เอาไอโอ(ชา) ที่หน้าหอประชุมใหญ่ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ในวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์

Advertisement

เพียงราว 1 สัปดาห์เศษ ปรากฏการณ์นี้ถูกนำไปเทียบเคียงถึงบรรยากาศก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516

นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ สมาชิกกลุ่ม “สภาหน้าโดม” นักศึกษารั้วธรรมศาสตร์ในครั้งนั้น คือหนึ่งในผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ผ่านชีวิตในป่า

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในวันนี้ คือนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง อดีตคนเดือนตุลาฯ ที่วันเวลาไม่เคยเปลี่ยนอุดมการณ์

Advertisement

ในความเป็น “รุนพี่” นักศึกษา ที่เคยต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย

ในความเป็น “อาจารย์” ของนักศึกษารั้วมหาวิทยาลัย

ในความเป็น “คนไทย” คนหนึ่งในประเทศนี้

ธเนศมองปรากฏการณ์ในวันนี้อย่างไร?

 

มองปรากฏการณ์นักศึกษาตอนนี้อย่างไร คิดว่าจะเป็นไฟลามทุ่งที่นำไปสู่เหตุการณ์คล้ายๆ 14 ตุลาฯ หรือเปล่า?

ประการแรก ผมมองว่าเป็นธรรมชาติของสังคมการเมืองสมัยใหม่ที่ประชาชนมีเสรีภาพ มีส่วนร่วมในการชี้ชะตาชีวิตตัวเอง กระทั่งมีส่วนร่วมในการปกครอง ในการตั้งรัฐบาล นี่เป็นประเด็นพื้นฐาน ถ้าเขารู้สึกว่าระบบมันไม่เป็นธรรม ใช้การตุกติก คุณปิดเขาไม่ได้หรอก ไม่ว่าจะด้วยอะไรต่างๆ มันก็ต้องออกมาเป็นการประท้วง

ข้อสองคือ ที่ถามว่าจะเป็นไฟลามทุ่งไหม ผมว่าขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพลเมืองในประเทศตัวเองแล้ว ตรงนี้ก็จะพิสูจน์ความสามารถ ความเข้าใจ ความรับรู้ สติปัญญาของรัฐบาล เขาต้องเป็นคนคลี่คลายเอง การประท้วงมันก็เหมือนเชื้อไวรัส อาการแรกคืออุณหภูมิขึ้น ไข้ขึ้น แล้วคุณจะทำอย่างไร จะไปกักกันเขา จะโดดเดี่ยวให้เขาไปอยู่เกาะ หรือจะเอายาให้กิน เอาวัคซีนไปฉีด ก็ขึ้นอยู่กับหมอตัดสิน ทำอย่างง่ายก็ได้ ทำอย่างยากก็ได้ อย่างง่ายคือการทำความเข้าใจ แล้วก็เปลี่ยนสิ่งที่ผู้คนเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม ปัญหาคือตัวรัฐบาลเองจะยอมเปลี่ยนไหม

แล้วส่วนตัวมองว่าจะยอมไหม หากดูจากท่าทีก่อนหน้านี้ และในวันนี้?

ไม่ยอม (หัวเราะ) ไม่เปลี่ยนหรอก เขาอาจพยายามที่จะให้ยาแก้ปวด ลดไข้มาสักจำนวนหนึ่ง แต่ว่ามันไม่หาย แล้วอาจระบาดต่อไป น่ากลัว เพราะฉะนั้น อาจกักกัน หรือคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสลายการประท้วงไม่ให้ระบาดต่อไป

ที่ว่าน่ากลัว คือลุกลามเป็นการประท้วงใหญ่?

ใช่ เพราะการแสดงความรู้สึกมันไม่ใช่เรื่องเดียว เช่น นาย ก.ถูกโกง เพราะฉะนั้นเอาที่ดิน นาย ก. มาคืน แล้วจบ ไม่มีอะไรต้องประท้วง แต่คราวนี้เป็นเรื่องที่ไปถึงการไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลแล้ว นี่เป็นปัญหาสุดยอดของทุกรัฐบาล ตั้งแต่สี จิ้นผิง, โดนัลด์ ทรัมป์ และดูแตร์เต ก็ต้องทำให้ความชอบธรรมของตัวเองในสายตาประชาชนเป็นที่ยอมรับจริงๆ ไม่ใช่ให้เขาแกล้งๆ ยอมรับไป พอมีปัญหาคนก็ออกมาประท้วงอีก ตอนนี้เริ่มเห็นแล้วว่าสายใยมันเริ่มบอบบางแล้ว และคงจะหลุดลอยไปเร็วๆ นี้

ก่อนหน้านี้มีวาทกรรม เด็กรุ่นใหม่ ไม่สนใจการเมือง ซึ่งนักศึกษาหลายสถาบันนำมาปราศรัยว่าผู้ใหญ่ดูถูกมาตลอด กลัวร้อน อยู่แต่โลกออนไลน์?

เท่าที่ฟังนิสิต นักศึกษาเขาพูด ผมรู้สึกว่าเขามีความกดดัน อย่างที่บอก ว่าเขาไม่ได้พูดเฉพาะปัญหาเดียว อย่างเรื่องคดี ซึ่งมันไม่ใช่ แต่มันเป็นการสะสม การที่จะรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรม โอ้โห มันต้องใช้เวลานานนะ กว่าจะคิดอย่างนี้ได้ เขาต้องเห็นกับตา ได้ยินกับหู สัมผัสด้วยมือ พูดคุยกับคนรอบข้างจนกระทั่งสรุปได้ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่เรื่องการถูกปลุกปั่นอย่างที่ใครต่อใครไปว่าเขา ว่าไปก็ไม่มีความหมายแล้วในตอนนี้ แล้วเขาจะตอบโต้แบบลงไปถึงรากของมันด้วย คนที่ไปว่านักศึกษาก็เตรียมเอากะละมังไปคลุมหัว กะละมังจะขาดตลาด ต้องไปขอปี๊บมาคลุม อาจจะต้องแจกปี๊บเยอะในช่วงนี้ เพราะมีคนต้องใช้เยอะ

น่าสังเกตว่าการชุมนุมครั้งนี้ ผู้นำปราศรัยของแต่ละสถาบันการศึกษาไม่ได้มีเฉพาะเด็กรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แต่น่าสังเกตว่าหลายสถาบันเป็นนิสิตนักศึกษาสาขา ‘ประวัติศาสตร์’ อย่างจุฬาฯ คือเด็กอักษรฯ ส่วนศิลปากร ก็เป็นนักศึกษา ‘โบราณคดี’?

ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ของทุกประเทศมันเป็นเหมือนชีวประวัติ เพราะฉะนั้นประวัติของตัวเองคือเรื่องแรกที่เขาจะเห็นความไม่ชอบมาพากล ความไม่ชอบธรรมมันเริ่มอย่างไร แสดงออกอย่างไร พอดูประวัติศาสตร์ตัวเองก็จะเห็นว่า อ๋อ เคยมีมาแล้ว 70-80 ปี จึงเป็นธรรมดาที่คนเรียนประวัติศาสตร์จะเห็นก่อน (หัวเราะ)

มองความเปลี่ยนแปลงของภาพนิสิตจุฬาฯ วันนี้อย่างไร จากที่เคยมองเป็นฝั่งอนุรักษนิยม วันนี้มาชวนติดแฮชแท็ก เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป ปราศรัยยกย่อง จิตร ภูมิศักดิ์?

ทำไมรอนานขนาดนี้ (หัวเราะ) วันก่อนผมเพิ่งไปคุยเรื่องทอม เพน หนึ่งในผู้ร่วมปฏิวัติอเมริกา เมื่อ ค.ศ.1776 คือเมื่อ 200 กว่าปีก่อน แล้วไปอ่านใหม่ก็ยังรู้สึกซาบซึ้งที่แกพูดถึงสัจธรรมอะไรต่างๆ คนรุ่นนี้เมื่อได้กลับไปอ่านงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งก็เป็นรุ่นพี่ของเขา เขาก็ยิ่งต้องประทับใจ ยิ่งอยากรู้ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเสาถึงหักตั้งแต่ตอนนั้น ผมว่าเป็นธรรมชาติของสังคมการเมือง ความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ หนึ่งคือ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ อีกด้านคือ สำนึกทางการเมือง ซึ่งในยุคโบราณเป็นสำนึกของผู้ปกครอง แต่ต่อมาบ้านเมืองเปลี่ยน มีเสรีภาพ มีการเปลี่ยนแปลงจากตะวันตกมาช่วยปลดปล่อยคนทั่วโลก เทคโนโลยีกับระบบการศึกษาก็ช่วยปลดปล่อยด้วย เพราะฉะนั้น ของเราก็รับมามากด้วย เราไม่เคยเป็นอาณานิคม ซึ่งประชาชนน่าจะมีความคิดก้าวหน้าทางการเมืองมากกว่าที่อื่นใช่ไหม แต่ทำไมช้ากว่าคนอื่นเยอะมาก

“…เป็นธรรมชาติของสังคมการเมืองสมัยใหม่ที่ประชาชนมีเสรีภาพ
มีส่วนร่วมในการชี้ชะตาชีวิตตัวเอง กระทั่งมีส่วนร่วมในการปกครอง
ในการตั้งรัฐบาล นี่เป็นประเด็นพื้นฐาน
ถ้าเขารู้สึกว่าระบบมันไม่เป็นธรรม ใช้การตุกติก คุณปิดเขาไม่ได้หรอก
ไม่ว่าจะด้วยอะไรต่างๆ มันก็ต้องออกมาเป็นการประท้วง…”

 

อาจเป็นคำถามที่น่าเบื่อ แต่ก็ต้องถาม อีกวาทกรรมความเชื่อว่าเด็กถูกจูงจมูกโดยนักการเมืองเลว เป็นเครื่องมือของกลุ่มบุคคล เป็นติ่งพรรค บางคนอ้างเป็นรุ่นพี่สถาบันดังออกมาสอนน้อง?

จากการที่ ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เปิดโปงเรื่องไอโอ ผมเลยชักสงสัยว่าไอ้ที่เราเห็นๆ เนี่ย ไอโอหรือเปล่า คือไม่ใช่คนตัวจริง เพราฉะนั้นอย่าไปให้น้ำหนักเลย อาจเป็นกลไกราคาถูกๆ ที่ทำงานได้เท่านี้ การพูดแบบนี้ ไม่รู้จะเอาไปเปรียบกับอะไรดี ไม่มีความหมาย ถ้าเป็นคนที่มีตัวตนจริง อาจเป็นพวกอจินไตย ไม่สามารถโผล่พ้นน้ำได้ เป็นบัวใต้น้ำ ผมคิดว่าโดยทั่วไปคนอายุมาก แนวโน้มคือเป็นอนุรักษนิยม ไม่มีเหตุผล ชินกับอำนาจ ความเคยชินส่วนตัวอะไรต่างๆ โดยเฉพาะในสังคมไทย ยังไม่ทันแก่ก็อนุรักษ์แล้ว

หลังเกิดการชุมนุมผุดขึ้นทั่วประเทศ มีการเผยแพร่คำกล่าวที่ว่า อาจารย์ยุนักศึกษาเป็นแนวหน้า จนต้องหนีเข้าป่า ขณะที่ตัวเองสบายดี โดยอ้างว่าคนพูดคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่จริงๆ แล้วกล่าวโดยอีกบุคคลหนึ่ง ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็น ‘เฟคนิวส์’ แต่ในยุคเดือนตุลาฯ มีแบบนี้จริงไหม?

ผมไม่เคยเจออาจารย์แบบนั้น และตอนมาเป็นอาจารย์ผมก็ไม่เคยทำแบบนั้น แต่จะเป็นคนเบรกก่อนเพื่อนเลย ไม่ได้ห้ามนะ แต่ให้ข้อคิดอีกด้านหนึ่ง คือเขาจะทำก็ทำไป แต่จะพยายามให้ประสบการณ์ของตัวเองในช่วงที่ผ่านมาว่าเราไม่ได้คิดอีกด้านหนึ่งซึ่งก็ไม่ผิด แต่บังเอิญผมเห็นทั้ง 2 ด้าน เพราะฉะนั้นผมถือเป็นเรื่องส่วนตัว

คนที่พูดแบบนั้นอาจเคยเจออาจารย์แบบนั้นจริงๆ แต่คงเป็นคนบางส่วนแล้ว และน่าสงสารมาก คือโชคร้ายจริงๆ ที่เจออาจารย์ที่ห่วยขนาดนั้น แปลกใจว่าคนพูดไปเรียนที่ไหน ถึงไปเจอคนอย่างนั้น ฝากบอกเขานะ ด้วยความเห็นใจ แต่ขอโทษ แบบนี้เอามาพูดลอยๆ ไม่ได้หรอก ถ้ามีจริง ก็เป็นตัวอย่างที่น้อยมากๆ ท้าเลยว่า แน่ใจก็เอาข้อเท็จจริงออกมาเผยเลยว่าเป็นใคร ถึงตอนนี้พูดได้แล้ว อายุจะแปดสิบเก้าสิบกันแล้ว พูดไปเถอะ

ตอนนี้นักศึกษามีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นมา อย่างกลุ่ม ‘มดปฏิวัติ’ ของนักศึกษา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี กลุ่ม ‘คันนา’ ของนักศึกษา ม.แม่โจ้ และ ‘ภาคีนักศึกษาศาลายา’ ของนักศึกษา ม.มหิดล และในการชุมนุมล่าสุดที่ ม.รามคำแหง มีผู้ขึ้นกล่าวว่าอาจมีชุมนุมใหญ่เร็วๆ นี้?

เป็นอิทธิพลของโซเชียลมีเดียจริงๆ เลย ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องพิมพ์ใบปลิว อัดสำเนา โอ้โห ยาก! เครื่องโรเนียวโบราณใช้ยากมาก ต้องมีความถนัด ไม่อย่างนั้นก็ต้องพิมพ์หนังสือพ็อคเก็ตบุ๊กเล่มละบาทขาย ถึงจะรู้ว่ามีกลุ่มนี้ขึ้นมาแล้ว ตอนตั้งสภาหน้าโดมก็ต้องพิมพ์หนังสือ คุณแค่มีกลุ่มแล้วไปประกาศกลางสนามหลวงคนเดียวไม่มีใครสนใจหรอก หนังสือพิมพ์ก็ไม่ลงเพราะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยเกินไป แต่เดี๋ยวนี้คุณมีโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่ง แฮชแท็กเข้าไป เพื่อนร้อยคนพันคน เกิดเป็นกลุ่มแล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันไม่ได้มีผู้นำจริงๆ มันเหมือนกับม็อบฮ่องกง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังปราบไม่ได้ มากันด้วยมือถือ วันนี้คนนี้คิด ได้คนมา 100 คน พรุ่งนี้คนนี้คิด ก็ได้อีก 100 คน แค่นี้ตำรวจก็วิ่งหัวปั่นแล้ว ผมคิดว่านักศึกษาวันนี้ก็ทำแบบนั้น

มีคนเสียดสีเรื่องแนวทางการต่อสู้ว่า เด็กยุค 4.0 แต่อ่านกวีบทเก่า ร้องเพลงยุคเดือนตุลาฯ แสงดาวแห่งศรัทธา เพื่อมวลชน โดยมองว่าย้อนแย้งและน่าขบขัน?

(หัวเราะ) มันเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม ถ้าเขามีแหล่งประมาณนี้ แล้วเอามาใช้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร ผมคิดว่าสิ่งที่จิตร ภูมิศักดิ์ พูด มันเป็นสัจธรรม และมีอารมณ์ความรู้สึก เขาก็เอามาใช้ ถ้าเขารู้จัก มาร์ติน ลูเธอร์ คิง รู้จักประวัติศาสตร์อเมริกา ก็ไปโควตมาได้ แต่อาจไปค้นไม่ได้ทัน ยังไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์อเมริกาที่ผมสอน

คิดว่าสถานการณ์แบบนี้จะ ‘อยู่ยาว’ อย่างที่ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ไหม?

เห็นด้วยๆ เพราะถ้าเขาไม่ต้องไปกินนอนอยู่ที่สนามหลวงเหมือนในอดีต ทำที่ตึกไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ ทำเสร็จกลับบ้าน (หัวเราะ) ทำการบ้านส่งครูยังได้ พรุ่งนี้มาเริ่มต่อ ทำแบบนี้ทั้งปียังได้

ตอนนี้ไม่ใช่แค่นักศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่เด็กมัธยมก็ออกมาแล้ว ทั้งสตรีวิทย์ เตรียมอุดม ศึกษานารี ยังไม่นับที่ยังไม่มีแฟลชม็อบ แต่ชวนกันติดแฮชแท็กอย่าง #สวนฯหน้าเผด็จการ ของเด็กสวนกุหลาบ นนทบุรี และ #บดินดร์ไม่อินเผด็จการ ของนักเรียนบดินทรเดชา แต่ก็มีบางส่วนถูกเบรกบ้าง?

คนวัยขนาดนี้ จริงๆ ไม่ใช่เด็กแล้ว ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้ว พอพ้นจากการอ่านออกเขียนได้ เริ่มสร้างเหตุผลง่ายๆ ได้ ก็รับรู้ความเป็นจริงและตอนนี้ข้อมูลมันเยอะมาก เด็กอ่านกันแหลกลาญ ยิ่งพวกที่สอบเข้าโรงเรียนมัธยมดังๆ ของประเทศไทยได้ สติปัญญาเขาล้ำเลิศ ถือเป็นตัวท็อป เพราะฉะนั้นอย่าไปหาเรื่องเด็ก ต้องยอมรับว่าโรงเรียนของเราทำดีแล้ว สร้างคนเก่งขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เขาทำแสดงให้เห็นว่ามีสติปัญญาที่เหมาะสมกับสำหรับวัยขนาดนี้ เขารู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด

ถ้าเทียบกับคนเดือนตุลาฯ เด็กรุ่นนี้ถือว่าโตเร็วกว่าด้วยหรือไม่ในยุคข้อมูลข่าวสาร?

ใช่ และการแสดงออก เริ่มทำแบบส่วนตัวก่อน รวมๆ แล้ว

มองไปก็ไม่แปลกใจ เพราะเป็นธรรมชาติจริงๆ

 


 

ภารกิจของความรู้ คือ ให้มีเสรีภาพ จุดหมายของเสรีภาพ คือ ‘ให้มีการถกเถียง’

“หลายคนมองความขัดแย้งในทางลบ สำหรับผมยิ่งขัดแย้งยิ่งดี เพราะจะนำไปสู่ความรู้ใหม่ แต่เมื่อไม่เปิดโอกาสให้มีความขัดแย้ง จะนำไปสู่ความเชื่อ และความรุนแรง” คือคำกล่าวของ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ นักวิชาการชื่อดัง ในงานเสวนา “ภาระของความรู้ในยุคเสื่อมสามานย์ของไทย” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่เกิด “แฟลชม็อบ” ของนักศึกษาขึ้นแล้ว

อานันท์มองว่า การเคลื่อนไหวเป็นอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ที่ไม่ชอบการสกัดกั้น และความขัดแย้งไม่ใช่ปัญหา แต่การปิดหูปิดตา ครอบงำต่างหากที่เป็นปัญหาและจะรุนแรงมากขึ้น หากมันทำให้ผิดหวัง ที่อึมครึมตอนนี้เพราะ 3 คำ ยังไม่ชัดเจน ในแง่ที่ว่าคนทั่วไปจะมีใครดึงคำบางคำที่สะท้อนได้หรือไม่ว่า “ความผิดหวังมากเกินไปแล้ว”

ในขณะที่ “รุ่นพี่” รั้วจามจุรี อย่าง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เอื้อนเอ่ยบนเวทีเดียวกันว่า

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมาจนใกล้ฝั่ง ไม่เคยมีครั้งไหนที่ผมรู้สึกภาคภูมิใจกับการเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ เท่าวันนี้ ไม่เคยรู้สึกภาคภูมิใจในโรงเรียนเก่าตัวเอง จนกระทั่งได้อ่านกลอนที่ชื่อว่า เราขอสู้ในนามจามจุรี”

ความบทแรกว่า

“เราขอสู้ในนามจามจุรี ประกาศแก่ธรณีและสรวงสวรรค์ กู้เสาหลักที่แหลกลาญมานานวัน ให้ตั้งมั่นสถิตอยู่คู่แผ่นดิน”

ส่วนบทสุดท้าย มีว่า

“เราขอสู้ในนามจามจุรี สู้ในนามประชาชีที่ขื่นขม สู้เพื่อสิทธิที่จะสร้าง-ล้างโสมม หน้าเราก้มมานานเนิ่น นานเกินพอ!”

ด้าน ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ ม.วิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ย้อนเล่าประสบการณ์ครั้งอดีต หลังเด็ก มช.ร่วมด้วยแฮชแท็ก #มหาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง

“ถ้าหากมหาวิทยาลัยคุยกันอย่างมีสติ ร่วมมือกัน หากจะมีอธิการบดีบางแห่งไม่เห็นด้วยก็ปล่อยไป แต่ส่วนใหญ่ร่วมกันแล้วบอกว่าเราขีดเส้นไว้ เราจะไม่ให้นักศึกษาทำขนาดนั้น ขนาดนี้ ไม่ต้องตามใจรัฐบาลไปหมด เพราะผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลสั่งทุกครั้ง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลัวไปเอง หากจะร่วมกันให้กล้ากว่านี้สักหน่อย แล้วยืนให้ชัดว่าแถวอยู่แค่ไหน เส้นไหนที่ไม่ยอมให้นักศึกษาทำได้ ถ้าทำถือว่ามหาวิทยาลัยไม่ซัพพอร์ต ตัวอย่างชัด อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ อ.นงเยาว์ ชัยเสรี ขีดเส้นชัดว่า การที่นักศึกษายกการชุมนุมเข้าไปในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เห็นด้วยไม่ได้ สิ่งที่ อ.นงเยาว์ทำคือ ไปฟ้องว่าพวกเราบุกรุก แต่ อ.ป๋วยไม่ได้เรียกตำรวจมาจับพวกเรา ไม่เคยมีความพยายามจะทำมากกว่านั้น ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่เพื่อปกป้อง อ.ป๋วย แต่เพื่อปกป้องคนอื่นในธรรมศาสตร์ที่อาจจะยังไม่เห็นด้วย วันที่พวกเราเล่นละคร ต้องการให้งดสอบ อ.ป๋วยยึดหลักการที่เป็นเสียงนิยมจ๋า จนเราไม่พอใจ อ.ป๋วยบอกว่า “คุณกำลังละเมิดเสรีภาพของคนที่อยากสอบ” ย้อนกลับไป จริง คนที่เห็นด้วยกับเรา แต่กลัวก็เสี่ยงภัยไปด้วย เราละเมิดไปหมด ลงโทษกระทั่งคนที่กลัว ซึ่งความกลัวไม่ใช่ความผิดมหาวิทยาลัยน่าจะรวมตัวกันให้เป็นปึกแผ่น ขีดเส้นให้ชัด ว่ามหาวิทยาลัยมีภารกิจทางวิชาการอย่างไร จึงอนุญาตให้นักศึกษาทำได้ประมาณไหน แค่ไหนไม่ให้ ถ้านักศึกษาเลยเถิดเกิดการฟ้อง ลงโทษ ก็ต้องว่ากันไป แต่ไม่ใช่กลัวไปเอง และทำเกินกว่าสิ่งที่ควรจะทำ ไม่มีพื้นที่ระดับนี้เชียวหรือ”

ธงชัยยังบอกว่า ภารกิจของความรู้คือให้มี “เสรีภาพ” จุดหมายของเสรีภาพคือ “ให้มีการถกเถียง” เพราะเราชื่อว่าการถกเถียงไม่ว่าเสรีนิยม อนุรักษนิยม คนเราสามารถตัดสินใจได้เองว่าอะไรคือความศักดิ์สิทธิ์ แค่ไหนคือความศักดิ์สิทธิ์ที่เรายินดีจะบูชายกย่องอย่างจริงใจ แค่ไหนคือความศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะสามารถยกมือไหว้ท่วมหัวได้อย่างยกใจให้ ในขณะที่แค่ไหนที่เราสงวนความต่างไว้ แค่ไหนที่เราไม่เห็นด้วย แต่เมื่อไหร่ที่เราละเมิด เช่น ไปตีหัวคนที่คิดไม่เหมือนกัน เราก็จะถูกคนอื่นเล่นงาน ก็แค่นั้น

อาจจะพูดอย่างเป็นอุดมคติ แต่มหาวิทยาลัยควรเป็นดินแดนที่ให้อุดมคติมีชีวิต ไว้จบก่อนค่อยถูกทำลายอุดมคติ อาจารย์มีหน้าที่ปลูกอุดมคติให้ยังอยู่ เพราะชีวิตของคนที่รู้จักการมีอุดมคติ รู้จักคิด รู้จักว่าแค่ไหนพอเหมาะ

เมื่อเขาพ้นไปอยู่ในสังคมที่เป็นจริง “เขาจะรู้จักอยู่ให้เป็น” อย่างพอเหมาะ พอควรเอง

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image