‘โลกก่อนยุคโควิดจะไม่หวนกลับมา’ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แด่โลกใหม่ที่เชื้อโรคร้ายสิ้นสุด

‘โลกก่อนยุคโควิดจะไม่หวนกลับมา’ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แด่โลกใหม่ที่เชื้อโรคร้ายสิ้นสุด


โลกใหม่ –
ไม่มีใครคิดว่า การระบาดของ “โควิด-19” จะสั่นสะเทือนโลกได้ขนาดนี้

ไม่ใครรู้ว่า การระบาดของ “โควิด-19” จะกินเวลาไปจนถึงเมื่อไหร่ หรือจะยุติลงที่จุดไหน

วันนี้ไวรัสร้ายได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 5 หมื่นคน มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 1 ล้านคน

ตัดฉากมาที่ประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มใช้ยาแรง ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึงตี 4 วันรุ่งขึ้น ยกเว้นผู้มีเหตุจำเป็น ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Advertisement

ทั้งหมดก็เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19

เมื่อหลายภาคส่วนต้อง Stay at home เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม คนทำงานส่วนมากต้อง Work from home ภาคการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนมาใช้รูปแบบออนไลน์ การดำเนินชีวิตของคนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป

และแม้วันนี้จะยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ แต่คงไม่เร็วเกินไปหากจะมีใครเอ่ยถึง “โลกใบใหม่” หลังสิ้นสุดฝันร้ายนี้

Advertisement

“ทุกประเทศทั่วโลกจะอยู่ในภาวะอ่อนแอลงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง”

คือข้อสังเกตของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการไทยผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร สังกัดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด และมีประวัติชีวิตที่น่าสนใจเกินกว่าพื้นที่นี้จะเอ่ยได้หมด

คงไม่ช้าเกินไป หากใครหลายคนจะได้อ่านทรรศนะจากผู้เชี่ยวชาญดังต่อไปนี้ เพื่อให้มีแรงกายแรงใจมากพอที่อยู่ใน “โลกใบใหม่”

 

– ประเมินว่า ‘โลกใบใหม่’ หลังสิ้นสุด ‘โควิด-19’ เป็นอย่างไร?

เมื่อเชื้อโควิดสิ้นสุดลง ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเวทีโลกที่เราจะเห็นคือ ผลจากการระบาดของโรคไม่ต่างจากสงคราม เพราะนำไปสู่การเสียชีวิตของคนจำนวนมากในหลายประเทศ วันนี้นักวิชาการหลายส่วนมีความเห็นคล้ายกันว่าระเบียบระหว่างประเทศ หรือโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ อาจไม่ต่างจากระเบียบใหม่ในยุคหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น หรือสงครามคอมมิวนิสต์ และอย่างน้อยสามารถตอบได้ว่า ระเบียบเดิมที่สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจใหญ่แบบเดิมอาจไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป

สมดุลอำนาจในเวทีระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป บริบทเช่นนี้มี 4 ประเด็นใหญ่คือ 1.การเติบโตของจีน ซึ่งวันนี้สามารถเติบโตได้หลายส่วน โดยเฉพาะด้านการเมืองและเศรษฐกิจ 2.การถดถอยของอเมริกา 3.การถดถอยของสหภาพยุโรป ตอนนี้รัฐในยุโรปเผชิญกับปัญหาเชื้อโรคและเป็นปัญหามาก ตัวอย่างที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี สเปน อังกฤษ รวมทั้งเยอรมนีซึ่งเป็นบรรดารัฐหลักในยุโรปประสบปัญหาใหญ่ และเห็นชัดว่าอียูไม่มีขีดความสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างที่หลายคนคาดหวัง และ 4.ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งสหรัฐเดือนพฤศจิกายน 2020 จนถึงวันนี้อาจจะยังตอบไม่ได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้อยู่ในทำเนียบขาวต่อไปหรือไม่ อนาคตของเขาแขวนอยู่บนสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างชัดเจนคือการพยายามเสนอไม่ให้มีการล็อกดาวน์นิวยอร์ก เพราะเชื่อว่าหากล็อกดาวน์เมืองหลักของสหรัฐแล้วเศรษฐกิจของประเทศจะทรุดตัวลงทันที แต่ขณะเดียวกันก็ได้เห็นภาวะตกงานของคนจำนวนมากในสหรัฐ

โครงสร้างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ หลังจากการระบาดซึ่งไม่ชัดเจนว่าจะยาวนานอีกเท่าใด จะส่งให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ อาจมีผลไม่แตกต่างกับการถดถอยใหญ่ในปี 1929-30 ซึ่งประเด็นแรกที่ต้องตามดูอาจเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนว่าสหรัฐยังต้องการผลักดันเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่ อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเชิงธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น การท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเราจะเห็นการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เติบโตมาแล้ว รวมถึงเราจะเห็นพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค

สำคัญที่สุดคือธุรกิจบางอย่างจะถึงจุดจบ หรือจบไปพร้อมการสิ้นสุดการระบาดของเชื้อโรค

– พฤติกรรมของสังคม หรือการใช้ชีวิตของคนจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่?

วันนี้นักสังคมวิทยาหลายท่านมีความเห็นไม่ต่างกันคือ เมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง วิถีชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน “ปรากฏการณ์ดิสรัปชั่น” ซึ่งพูดกันก่อนหน้านี้ในระยะ 2-3 ปีก่อนนั้น สังคมมักจะเน้นถึงเรื่องเทคโนโลยี หรือเทคโนจิคัลดิสรัปชั่น หรือความผันแปรทางเทคโนโลยี ผมเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังเห็นของจริงคือ “โซเชียลดิสรัปชั่น” หรือความผันแปรทางสังคม บัดนี้ชีวิตของผู้คนในสังคม หรืออาจทั้งโลกอาจไม่ได้อยู่ในภาวะปกติอีกแล้ว หรืออาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ส่วนวันข้างหน้าจะมีแบบแผนอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม

ก่อนโควิด-19 จะมา เราเห็นโลกที่เป็นออนไลน์และไซเบอร์มากขึ้น แต่เชื่อว่าวิถีชีวิตของคนซึ่งกำลังจะเปลี่ยนแปลง ด้วยเกิดจากข้อเรียกร้องของฝ่ายสาธารณสุขคือการทำงานที่บ้าน (Work from home) หมายความว่า หากทำงานที่บ้านมากขึ้น เราอาจต้องพัฒนาเรื่องไอเอ ไซเบอร์ และออนไลน์ มากขึ้นไปด้วย ส่วนนี้จะไปสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในสังคม กระทบกับการศึกษาเล่าเรียน ผลที่เกิดขึ้นในอนาคตระยะยาวคิดว่าโลกของการเรียนออนไลน์จะมีความสำคัญมากขึ้น

– ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดครั้งรุนแรงของโควิด-19 ทำให้คนตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้้น ฉะนั้น หากสิ้นสุดวิกฤตการณ์ครั้งนี้แล้วคนจะคิดถึงเรื่องความมั่นคงทางสุขภาพมากขึ้น?

ภัยระบาดเป็นภัยคุกคามชุดใหญ่ของโลก เชื่อว่าข้อสรุปอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่การระบาดก่อนหน้านี้ หรือเชื้อโรคใหญ่ๆ ไม่ได้ส่งผลให้เกิดสภาวะของการดิสรัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเอดส์ ซาร์ส หรือไข้หวัดนก ผมคิดว่าโควิด-19 ทำให้เกิดความผันผวนในเวทีโลก ดังนั้น วันนี้ข้อสรุปที่ว่าโรคระบาดเป็นภัยคุกคามนั้นปรากฏเป็นรูปธรรมแล้ว

สิ่งที่ต้องคิดในอนาคตคือ 1.อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอาจเติบโตมากขึ้น 2.ต้องมีการเตรียม หรือริเริ่มระบบสำรองเวชภัณฑ์สำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระดับโลก หรือระดับชาติก็ตาม ทั้งนี้ ในอนาคตนั้น เรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นโจทย์ใหญ่ และอาจสำคัญมากกว่ามิติด้านความมั่นคงทางทหารด้วยซ้ำ

– ปัจจุบันนี้รัฐและประเทศขนาดใหญ่ยังเกิดปัญหา ในอนาคตของรัฐและประเทศเล็กๆ จะเป็นอย่างไร โลกเราจะไปถึงจุดที่ไร้เสถียรภาพหรือไม่?

ในอนาคต โลกจะอยู่ในสภาวะของความไม่แน่นอนและไร้เสถียรภาพ รวมถึงอาจอยู่กับความกลัวว่าจะเกิดการระบาดของเชื้อโรคครั้งใหม่ขึ้นอีกหรือไม่ ดังนั้น เรื่องการระบาดของเชื้อโรคก็ยังเป็นโจทย์สำคัญต่อไป สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นชัดว่าในหลายกรณีรัฐไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากภายนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหรือทางทหาร ฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นชุดความคิดใหม่ในอนาคตคือทำอย่างไรรัฐถึงจะพึ่งพาตนเองในด้านต่างๆ ได้ โดยเฉพาะภัยคุกคามที่มาจากการระบาดของเชื้อโรค

รัฐเล็กๆ หรือรัฐยากจนจะประสบความยากลำบากมากขึ้น เพราะความช่วยเหลือต่างๆ ที่เคยได้รับภายนอกอาจลดลง เนื่องจากบรรดารัฐใหญ่เองต้องฟื้นตัว หรือจำเป็นต้องอาศัยเศรษฐกิจของตัวเองเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่หลังการระบาด

เราพูดกันมาระยะหนึ่งแล้วถึงสถานการณ์โลกที่เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลพวงของการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำปีกขวาในสหรัฐ ในกรณีของทรัมป์หรือเบร็กซิทของอังกฤษ ผมคิดว่าเมื่อการระบาดสิ้นสุดลงเราจะเห็นโลกาภิวัตน์อ่อนแอลงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐต่างๆ จะหันไปพึ่งพาตนเอง ซึ่งผมไม่ได้ใช้คำว่า “รัฐต่างๆ จะปิดประเทศ” เหมือนกับช่วงที่ประเทศต่างๆ ใช้การล็อกประเทศในภาวะที่สู้กับการระบาดของเชื้อโรค แต่อย่างน้อยทิศทางในอนาคตเรื่องการพึ่งพาตนเองจะทำให้เกิดชุดความคิดลดกระแสโลกหรือลดกระแสโลกาภิวัตน์ลง

ข้อสังเกตที่ผ่านมาสามารถสรุปได้อย่างเดียวว่า โลกก่อนยุคโควิดจะไม่หวนคืนกลับมา พูดง่ายๆ คือเรากำลังเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกชุดใหญ่

– หากพูดถึงประเทศไทย หลังสิ้นสุดโควิด-19 แล้วเราจะเจออะไรบ้าง?

เราจะเห็น วิกฤตการณ์ทางการเมือง รัฐบาลเกิดวิกฤตศรัทธา ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดลง เพราะขีดความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤตของรัฐบาลไม่มีความชัดเจน รวมทั้งการใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาก็ยังไม่มีทิศทางชัดเจน ไม่ว่าจะในกรณีงบกลาง หรือการเกลี่ยงบประมาณกระทรวงต่างๆ รวมถึงข้อเสนอให้ยุติการซื้ออาวุธเช่นเดิม เราไม่เห็นทิศทางอย่างนี้เลย

หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 เท่ากับบอกแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในหรือนอกสภาก็จะมีความเข้มข้นขึ้น เชื่อว่าเมื่อหมดโควิดแล้วเปิดสภาได้เมื่อไหร่ ประเด็นการบริหารจัดการจะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะนำไปถกเถียงกัน รัฐบาลอาจถูกตรวจสอบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งนี้ คำถามที่ตอบไม่ได้คือผลพวงของการสิ้นสุดการระบาดแล้วรัฐบาลปัจจุบันสามารถอยู่ต่อได้จริงหรือไม่?

ขีดความสามารถบริหารจัดการของภาครัฐนำไปสู่ขีดความสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ หลังการระบาดแล้ว เศรษฐกิจไทยจะถดถอยครั้งใหญ่ไม่แตกต่างจากเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังเกิดความผันผวนทางสังคม พูดง่ายๆ ว่าชีวิตหลังโควิดคือความยากลำบาก โดยเฉพาะชนชั้นกลางระดับล่าง และชนชั้นล่าง ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่ารัฐบาลในอนาคตจะเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างไร ดังนั้น รัฐควรมีแผนบริหารวิกฤต (Crisis management plan) เพื่อให้มีขีดความสามารรับมือกับภาวะวิกฤตได้มากขึ้น เพราะอันที่จริงสังคมไทยเผชิญวิกฤตที่ไม่ใช่ทางทหารมาเป็นระยะ เพียงแต่เราไม่เคยเผชิญวิกฤตที่ไม่ใช่ทางทหารในบริบทที่มีขอบเขตขนาดใหญ่เช่นโควิด-19 ขณะเดียวกันการทำแผนบริหารวิกฤตชุดนี้ยังเชื่อมโยงใหญ่กับรัฐที่เป็นประชาธิปไตย กล่าวคือจะทำอย่างไรที่เราจะสร้างชุดความคิดทางการเมืองว่าการบริหารวิกฤตอาจจำเป็นต้องใช้อำนาจ ขณะเดียวกันก็ยังจำเป็นต้องอาศัยกลไกประชาธิปไตยหรือกลไกของรัฐสภาคู่ขนานด้วย

สิ่งที่หวนกลับมาคือ ปฏิกิริยาต่อกองทัพ ช่วงที่ผ่านมากองทัพมีภาพพจน์ติดลบ และต้องยอมรับว่ากองทัพไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้ วันนี้เราเห็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรครุนแรง แต่กลับเห็นความพยายามของกองทัพที่ต้องการเดินหน้าซื้ออาวุธไม่จบ หรืออย่างในกรณีของงบผูกพันที่อยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่มีงบจำนวนมากเป็นงบจัดซื้ออาวุธ คำถามคือเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐจะชะลอหรือยุติการซื้ออาวุธชั่วคราว พร้อมนำเงินเหล่านี้มาฟื้นฟูใน 2 ส่วนหลักคือ 1.ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และ 2.ฟื้นฟูชีวิตของประชาชน

นอกจากนี้ยังมีปัญหา การจัดการภายในของรัฐ เราเห็นการล้มลงของหลายธุรกิจ วันนี้โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรที่จะประคองการจ้างงาน หรือฟื้นการจ้างงานหลังวิกฤตจบ นั่นหมายความว่าโจทย์นี้ส่วนหนึ่งได้ผูกโยงกับมิติทางสังคม เพราะหากการจ้างงานฟื้นตัวได้เร็วก็จะเป็นโอกาสในการพาคนกลับสู่ชีวิตปกติได้เร็วมากขึ้น

– เรื่องความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทยคู่ขนานกับมิติโลกด้วยหรือไม่?

ปัญหาด้านความมั่นคงทางสุขภาพเป็นโจทย์ที่ต้องคิดใหม่ และมีคำถามไม่ต่างจากเวทีโลกคือ การสร้างระบบสำรองเวชภัณฑ์อาจต้องคิดเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต รวมถึงว่าถ้าบรรดาเจ้าหน้าที่ได้รับการติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน ภาครัฐจะรองรับหรือเยียวยาพวกเขาอย่างไร ต้องยอมรับว่าหมอ พยาบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่อีกหลายส่วนที่ทำงานอย่างหนัก เสมือนพวกเขาอยู่ในแนวหน้าของสงคราม

การสิ้นสุดของเชื้อโควิด-19 ในรอบนี้อาจไม่ได้บอกว่าเชื้อโรคจะสิ้นสุดลงทั้งหมด ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องคิดต่อคือเป็นไปได้หรือไม่ที่อาจมีการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ดังนั้น เรื่องเตรียมรับมือผู้ป่วยหลังจากพ้นช่วงวิกฤตแล้วก็อาจยังต้องทำต่อ นั่นหมายความว่าในส่วนนี้ยังต้องการการจัดสรรงบประมาณและการดูแลจากภาครัฐ

– ตอนนี้คนทำงานที่บ้านมากขึ้น การเรียนการสอนก็ผ่านรูปแบบออนไลน์ หลังจากสิ้นสุดโควิดแล้วบทบาทของออนไลน์จะเด่นชัดกว่านี้หรือไม่?

เนื่องจากวันนี้ข้อเสนอในการทำงานและเรียนออนไลน์ที่บ้านประสบความท้าทายใหญ่ คือระบบเน็ตอาจไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ในอนาคตสังคมไทยต้องคิดถึงเรื่องระบบออนไลน์ที่สมบูรณ์มากขึ้น หรือต้องคิดว่าเรื่องของโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องของพาณิชย์อีกแล้ว เพราะต้องเป็นการเตรียมรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมข้างหน้าที่ชีวิตจะอยู่กับความเป็นออนไลน์มากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว ในอนาคตไทยควรทำแผนเศรษฐกิจได้มากกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมารัฐไทยพึ่งพารายได้จากแหล่งเดียวคือการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวที่พึ่งพาเพียงอย่างเดียวคือจีน ดังนั้น ควรคิดต่อว่าจะวางแผนเศรษฐกิจอย่างไรที่ไม่พึ่งพาอยู่กับแหล่งรายได้แต่เพียงแหล่งเดียว หรืออาจคล้ายคลึงกับหลายประเทศที่หันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น

ข้อสังเกตส่วนตัวคือ เชื่อว่า ใครจะมาเป็นรัฐบาลหลังจากนี้จะประสบปัญหาความยากลำบากมากขึ้น เพราะมีวิกฤตใหญ่ เช่น วิกฤตทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม ในอนาคตการเมืองไทยต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ หรือมีขีดความสามารถในการบริหารภาครัฐ คิดว่ารัฐบาลที่ผ่านมาเป็นเพียงรัฐบาลทหารที่มาสืบทอดอำนาจ สิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือผู้นำทหารปัจจุบันขาดวิสัยทัศน์และไร้ความสามารถในการบริหารภาครัฐ ผมคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือหลังจากวิกฤตโควิดคือความน่าเชื่อถือต่อระบบการเมืองแบบสืบทอดอำนาจลดลง และจะกลายเป็นวิกฤตของรัฐบาลเอง

ข้อสังเกตนี้เองที่เป็นประเด็นในภาพรวมและเป็นประเด็นที่แทบจะพูดได้ในทั่วโลกคือ หลังจากการสิ้นสุดการระบาดแล้ว ทุกประเทศทั่วโลกจะอยู่ในภาวะอ่อนแอลงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง


 

แม้ ‘โควิด’ จะมา ผมก็ไม่หยุดสอน


“นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่สอนออนไลน์”

คำตอบจาก ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ทวีความร้ายกาจต่อเนื่อง จนประชาชนต้องหันมา “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ตามการรณรงค์ของภาครัฐอย่างเข้มข้น ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเป็น Work from home เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing

ขณะที่นิสิต นักศึกษา คณาจารย์เองก็จำเป็นต้องปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกประกาศให้สถาบันอุดมศึกษาหยุดการดำเนินงานด้านการเรียนการสอนทุกรูปแบบ ยกเว้นการสอน “แบบออนไลน์”

“เนื่องจากจุฬาฯสั่งหยุดการเรียนการสอนทั้งหมด และจะไม่มีการสอบในห้องสอบอีกแล้ว นั่นหมายความว่า ชีวิตผมวันนี้ วันไหนต้องสอนก็ต้องตื่นมาเปิดเครื่อง (คอมพิวเตอร์) เข้าโปรแกรมที่จะสื่อสารกับนิสิต แล้วก็สอนกันเป็นปกติ เพียงแต่ข้อดีคือผมไม่ต้องขับรถไปจุฬาฯ อาจมีข้อเสียเล็กน้อยคือจะเห็นหน้า หรือไม่เห็นหน้านิสิตบ้าง เพราะเขาปิดหน้าจอไว้ ดังนั้น นี่ก็เป็นเรื่องท้าทายดังที่บอกว่า ถ้าโลกในอนาคตเราต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น เราต้องการ 3 อย่าง คือเอไอ ไซเบอร์ ออนไลน์

“สิ่งที่ต้องคิดต่อคือจะทำอย่างไรในการสอบนิสิตแบบออนไลน์ กรณีของเด็กมหาวิทยาลัยอาจง่าย แต่กรณีเด็กสอบเอ็นทรานซ์จะต้องทำอย่างไร อีกทั้งในอีกระยะหนึ่งพวกผมต้องสอบรับนิสิตปริญญาโท-เอกเข้าเรียนต่อ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจัดสอบอย่างไร?

“อยากจะฝากให้รัฐบาลคิด เพราะถ้าในกรณีการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย เราจะทำอย่างไรกับน้องๆ นักเรียน เรื่องสอบ ป.โท-เอก ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สามารถจัดการได้ ส่วน ป.ตรี ก็สอบง่าย นี่จะเป็นครั้งแรกที่นิสิต ป.ตรี ประเทศไทยสอบผ่านระบบออนไลน์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเราจะทำห้องสอบที่เป็นไซเบอร์” ศ.ดร.สุรชาติอธิบาย

แน่นอน ประเด็นดังกล่าวยังไม่น่าห่วงเท่ากับการที่ หากในอนาคตอันใกล้นี้เชื้อไวรัสโคโรนายังไม่หยุดการแพร่ระบาด การเปิดภาคเรียนตามระบบปกติจะเป็นไปอย่างไร ในเมื่อตอนนี้ยังไม่มีวี่แววว่าภาครัฐจะเคาะมาตรการอันเฉียบขาด?

“หากเชื้อโรคยังไม่หยุด ปกติน้องๆ จะเปิดเทอมช่วงเดือนพฤษภาคม โรงเรียนจะทำอย่างไร? หรือมหาวิทยาลัยที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างภาคการศึกษา และจะเปิดเทอมช่วงสิงหาคมนั้นจะทำอย่างไร? ดังนั้น ประเด็นเหล่านี้ท้าทายชีวิตของทุกอาชีพ สำหรับผมตอบได้อย่างเดียวว่านี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่สอนออนไลน์ เห็นประโยชน์และอุปสรรคบ้าง เพราะรู้สึกว่าห้องเรียนออนไลน์ไม่สามารถควบคุมได้เหมือนในภาวะการสอนปกติ

“แต่อย่างน้อยก็ตอบชัดว่า แม้เชื้อโรคจะมาผมก็ไม่หยุดสอน ระบบออนไลน์ยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผมเปิดห้องเรียนได้ปกติ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image