เปิดใจ ‘มรกต กุลดิลก’ แห่ง ‘แกรนด์ เบลลา’ ในวันที่ ‘โควิด’ ล็อกดาวน์พัทยา

มรกต กุลดิลก

เสียงชื่นชมล้นหลามส่งถึงโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา นามว่า “แกรนด์ เบลลา” เมื่อผู้บริหารประกาศให้ใช้พื้นที่สำหรับ “กักตัว” กลุ่มเสี่ยง และที่สำคัญยิ่งคือการเป็น “โรงพยาบาลสนาม” ที่ไม่เพียงช่วยเหลือผู้ป่วย แต่ยังมีคุณูปการแก่สังคมไทยในห้วงเวลาแห่งความวิกฤตภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก

ชื่อของ มรกต กุลดิลก นักธุรกิจหญิงผู้นั่งเก้าอี้ดูแลโรงแรมในเครือถึง 7 แห่ง ถูกสปอตไลต์ส่องพร้อมคำขอบคุณจากคนไทยที่เอ่ยผ่านโลกออนไลน์ทันทีที่กระแสข่าวนี้ถูกเผยแพร่

“ที่แกรนด์ เบลลา แบ่งออกเป็น 3 อาคารหลัก อาคารที่ทำกันอยู่ตอนนี้เป็นเหมือน Local Quarantine โอเปอเรตด้วยเอกชนเอง 100% คือทำกันเอง กักตัวคนที่มีความเสี่ยง และเปิด 134 ห้องให้เป็นโรงพยาบาลสนาม โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมทีมแพทย์เข้ามาดำเนินการ ใช้เป็นจุดตรวจและทำหัตถการได้เลย”

มรกต เล่ารายละเอียดเบื้องต้น ก่อนสนทนาถึงสถานการณ์ในพัทยาซึ่งในวันนี้ถูกล็อกดาวน์ สกัดการแพร่เชื้อ จากเมืองแห่งสีสันและความสุขไร้ขีดจำกัด กลายเป็นเมืองที่คำว่า “เงียบ” อาจเป็นคำจำกัดความที่น้อยเกินไป

Advertisement

ไม่เพียงเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในพัทยา ทว่า มรกต ยังเป็น “คนพัทยา” โดยกำเนิด และหากสืบสายตระกูลไปไกลกว่านั้น

“แม่ของยายทวดก็อยู่พัทยา พลอยน่าจะเป็นเจเนอเรชั่นที่ 4 หรือ 5 ตั้งแต่แม่ ยาย ทวด และแม่ของยายทวดเลยค่ะ

ก่อนหน้าที่จะมาทำโรงแรม แม่ของพลอยรับเหมาก่อสร้าง ตอนหลังมาทำเกสต์เฮาส์ เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ช่วงที่มีแคมเปญ Visit Thailand year เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตั้งใจทำห้องเช่า ปรากฏว่าห้องพักขาด ก็มีเหมือนไกด์มาบอกว่าอย่างนั้นติดแอร์หมดเลย นู่นนี่นั่น เลยกลายเป็นว่าทำโรงแรมไปโดยไม่ได้ตั้งใจ หลังจากนั้นสถานการณ์ท่องเที่ยวในพัทยาลุ่มๆ ดอนๆ พอเรียนจบก็มาช่วยแม่ขยายกิจการ ระหว่างนั้นมีการเทกโอเวอร์โรงแรมเก่าบ้าง จริงๆ เรามีทั้งหมด 10 แห่งในพัทยา แต่ที่ตัวเองช่วยบริหารมี 7 สาขา”

Advertisement

ออกตัวว่าไม่ได้เรียบจบด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมโดยตรง ทว่า เป็นบัณฑิตด้านการเงินการธนาคารของรั้วสามย่าน จากนั้นศึกษาต่อ MBA ย้อนไปสมัยมัธยม เป็นศิษย์เก่าวัฒนาวิทยาลัยและโรงเรียนสายน้ำผึ้ง

“มีพี่น้อง 2 คน พี่สาวอีกคนเป็นหมอ อาศัยว่าอยู่ในเกสต์เฮาส์มาตั้งแต่เด็ก ก็ช่วยทำนู่นทำนี่ อย่างอื่นก็ศึกษาเพิ่มเติม”

เจ้าตัวย้อนเล่าในวันที่กำลังจะเป็นคุณแม่ สืบทายาทคนพัทยาแท้ๆ อีกคน โดยเป็นลูกคนแรกที่อยู่ในท้องมา 5 เดือนกว่าๆ

แม้กังวลอยู่บ้างแต่ยังทำงานเต็มที่โดยป้องกันตัวเองอย่างรัดกุมเช่นกัน

กลับมาที่ความเป็นไปของบรรยากาศในพัทยาจากสายตา มรกต ที่ฉายภาพสะท้อนวิกฤตการท่องเที่ยวไทยอีกทั้งปมปัญหาบางอย่างระหว่างมาตรการเยียวยาโดยภาครัฐที่อาจต้องหันมาทบทวนและปรับแก้ให้ทันยุคสมัยและความเป็นไปของสถานการณ์ที่เร่งด่วน

ตอนมีข่าวออกมาใหม่เรื่องโควิดระบาดที่จีน คาดไหมว่าสถานการณ์จะบานปลายมาถึงขนาดนี้ เตรียมใจไว้ก่อนไหมว่ากระทบกิจการโรงแรมแน่?

จริงๆ ครั้งแรกเลยก็คิดว่าจะกระทบ แต่ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ เพราะที่โรงแรมแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็นหลายกลุ่มมานานมากแล้ว เช่น จีนอาจจะมีประมาณ 5 ไม่เกิน 10 มีอินเดีย รัสเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น อะไรอย่างนี้ คือกระจายตลาดระยะสั้น ระยะยาว มีการทำส่วนแบ่งทางการตลาดในแต่ละส่วน ตอนที่จีนระบาดครั้งแรกเรากระทบไม่มาก แต่ก็กระทบบ้าง เพราะพอโรงแรมบางส่วนปิด ราคามันก็จะลงมา แต่ยังอยู่ได้ ไม่ได้เป็นอะไร พอมาตรการต่างๆ ออกมาและประเทศอื่นๆ เริ่มติดเชื้อมากขึ้น ปิดประเทศ ไม่เดินทาง ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยนำอยู่อันดับต้นๆ ของโลก มีการประกาศ Travel warning ตัวเลขก็ลดลงมา บางตลาดไม่กลัว ยังมาอยู่ แต่มาตรการที่เป็นจุดที่หยุดเลยคือการบังคับให้ตรวจโควิดก่อนเข้าประเทศ มาตรการนั้นเป็นตลาดสุดท้าย คือรัสเซีย หยุดบินช่วงปลายเดือนมีนาคม เป็นตลาดสุดท้ายที่เหลืออยู่และหมดไป จริงๆ เรากระทบตั้งแต่ปลายเดือนมกราฯแล้ว มากุมภาฯ มีนาฯ รวม 2-3 เดือนเลย

มีผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งบอกว่าตอนการท่องเที่ยวบูม จ่ายภาษีให้ภาครัฐมากมาย พอเกิดวิกฤต การท่องเที่ยวกระทบหนักสุด แต่รัฐบาลไม่ได้ให้การเยียวยาเท่าที่ควรจะเป็น ส่วนตัวมองอย่างไร?

ขอพูดโดยภาพรวมในทุกจังหวัด เนื่องจากตอนเกิดผลกระทบช่วงแรก กิจการไม่มีลูกค้า แต่ค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจคือค่าแรงพนักงานยังต้องจ่าย พอไม่มีรายได้ ค่าแรงที่เราแบกไว้ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ รัฐประกาศครั้งแรก คำว่าเหตุสุดวิสัยขึ้นมา ว่าสามารถให้ครอบคลุมถึงผู้ที่รัฐสั่งปิดกิจการ ทีนี้เมื่อไม่มีการสั่งปิดโรงแรม เราก็สอบถามไปยังกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พบว่าจะไม่มีการชดเชยให้ เพราะไม่อยู่ในคำว่าเหตุสุดวิสัย ซึ่งเขาตีความตามประกาศหรือคำสั่งเท่านั้น

ทางจังหวัดชลบุรี ผู้ว่าฯมีคำสั่งปิดออกมา เราเลยได้รับการช่วยเหลือ แต่ในหลายจังหวัดยังไม่ได้ แต่เบื้องต้นได้ข่าวว่า ครม.มีการเห็นชอบแต่ต้องรอประกาศกระทรวง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาได้รับผลกระทบมาตั้งแต่มกราฯ แต่ใช้เวลา 2-3 เดือน ไม่มีกระแสเงินมากเพียงพอที่จะไปจ่ายลูกน้องได้ ใครมี ทำตามกฎหมายไปตอนต้น คือไปสั่งหยุดกิจการชั่วคราว กฎหมายแรงงานที่มีอยู่คือกำหนดให้เขาจ่าย 75% ของค่าจ้าง แทบไม่ลดลงเลย บางกิจการไม่อยากผิดกฎหมายก็ทำแบบนั้นไป พอทำไปแล้ว มีประกาศออกมาว่าให้ช่วยเหลือชดเชยได้ โดยผ่านประกันสังคม ประกันสังคมบอกว่าถ้าคุณชดเชยไปแบบปิดกิจการชั่วคราวแล้ว จะมารับชดเชยจากประกันสังคมอีกไม่ได้ นี่ก็เป็นข้อขัดแย้งว่าใครจ่ายไปก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งถ้าคุณนับไปเลยว่าลูกจ้างที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวมีเท่าไหร่ ก็อัดฉีดลงไปในธุรกิจ แล้วให้เขาไปจ่ายโดยตรงเลย จะรวดเร็วกว่าการมาจ่ายผ่านประกันสังคมทีละคน แล้วมานั่งอนุมัติ เพราะจริงๆ แล้วสถานประกอบการจ่ายสมทบให้อยู่แล้วทุกเดือน เดือนละ 5% เพราะฉะนั้นคุณก็จ่ายกองนี้ผ่านธุรกิจออกมา แล้วให้ทางธุรกิจมาจ่ายให้ลูกน้องเองเลยน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้รวดเร็วมากขึ้นกว่าการที่ประกันสังคมจะจ่ายทีละคน

คล้ายๆ กับโมเดลอังกฤษที่นักธุรกิจบางท่านเสนอให้ใช้วิธีช่วยเจ้าของธุรกิจด้วยการจ่ายค่าเงินเดือนพนักงานแทนให้กู้ เพราะสุดท้ายจบโควิดเป็นหนี้กันหมด ซึ่งน่ากลัวมาก?

คือตอนนี้เงินเดือนพนักงานบางท่าน โรงแรมจ่ายให้มากกว่าที่ประกันสังคมจ่าย สมมุติว่าประกันสังคมออกชดเชยมา 62% จาก 15,000 บาท บางตำแหน่งเงินเดือน 30,000 หรือ 35,000 บาท เขาได้ 9,000 กว่าบาท เพราะฉะนั้นโรงแรมก็ทบให้ พอทบเสร็จจะมีประเด็นเรื่องข้อกฎหมายอีก เลยบอกว่าจริงๆ แล้วจ่ายให้บริษัทมา

กระจายจ่ายพนักงานเองเลยจะโอเคกว่า แต่รัฐอาจกลัวว่าพอจ่ายให้โรงแรมแล้วโรงแรมจะไม่เอาไปจ่ายให้พนักงานเดี๋ยวจะเป็นปัญหา แต่แนวทางที่ดีควรจะส่งย้อนกลับมาเพื่อความรวดเร็ว ไม่ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป วันก่อนไปเข้าพบประกันสังคม ระบบทุกอย่างยังไม่ใช่ 4.0 เขาให้เรากรอกแบบฟอร์มออนไลน์ไป ทุกอย่างเขาก็ต้องพรินต์ออกมา เพราะไม่มีระบบรองรับที่จะแมตชิ่งข้อมูลนายจ้างที่แจ้งว่าไม่มีงานและลูกจ้างว่างงาน เขาบอกทำแมนนวลเร็วกว่า ทำเอกสารมาเป็นชุดๆ เลย ที่ให้กรอก E-form ทำขึ้นมาเพื่อให้ไม่ต้องมาสำนักงาน ป้องกันโควิดแค่นั้น เลยกลายเป็นว่าทุกอย่างต้องมาช้าลงไปอีก แต่ละจังหวัดประกาศคำสั่งก็ไม่เหมือนกัน การเยียวยาตรงนี้ถามว่าดีไหม คือดี ถ้าทำได้เร็ว และทำให้ไม่เสียหายไปกว่านี้เพราะตอนนี้คนไม่มีงาน ไม่มีเงิน ที่พัทยามีคนแจกข้าวทุกวัน เพราะคนไม่มีข้าวกิน เดี๋ยวจะไปโจรกรรม ปล้น ขโมยของ จะเป็นปัญหาอื่นๆ ตามมา แรงงานหลักของพัทยาคือท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่โรงแรม พอโรงแรมไม่มีลูกค้า คนก็ขายของไม่ได้ เก็บหนี้ก็ไม่ได้ กระทบกันไปเป็นห่วงโซ่

ในฐานะคนในพื้นที่ พัทยาที่เคยรุ่งเรือง เฟื่องฟู เป็นเมืองแห่งความสุข ภาพของพัทยาที่เป็นไปตอนนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนไหมเท่าที่ได้สัมผัส?

ไม่เคยเลย ทำงานมา 20 ปี ตั้งแต่ช่วงซาร์ส หวัดนก ปิดสนามบิน ไม่มีเคสไหนเท่านี้เลยจริงๆ ไม่เคยเห็นคนปิดโรงแรมเยอะขนาดนี้ ตอนนี้เนื่องจากเคอร์ฟิวด้วยและประกาศให้อยู่บ้านด้วย ตอนนี้เงียบแบบเงียบจริงๆ ออกไปไม่มีรถเลย ส่วนหนึ่งคือไม่มีนักท่องเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวที่เหลือตกค้างอยู่ที่ยังกลับประเทศไม่ได้ ก็ยังใส่หน้ากากเดินเล่น ยังไม่ค่อยตระหนัก แต่พอเคอร์ฟิวก็ออกมาไม่ได้

 

การอุทิศพื้นที่โรงแรมให้เป็น รพ.สนาม ห่วงผลกระทบในระยะยาวไหม อย่างโรงแรมแห่งหนึ่งทางภาคเหนือถูกชาวบ้านเขียนป้ายประท้วงหลังให้ใช้ห้องพักเป็นสถานที่กักตัว?

โรงแรมมีพื้นที่ 7 ไร่ ตั้งอยู่ติดโรงพยาบาลพัทยา เมมโมเรียลฝั่งด้านหน้า ฝั่งด้านหลังมีอพาร์ตเมนต์ ฝั่งซ้ายติดกับโรงแรมของเราเองอีก เพราะฉะนั้นมีแค่ด้านหลังฝั่งเดียวที่อยู่ติดกับคนอื่น เหมือนจุดใหญ่ในเมืองที่มันไม่ค่อยกระทบคนอื่น อีกอย่างหนึ่งคือพัทยาตอนนี้ คนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ใช่ชาวบ้านในท้องถิ่นเยอะ บาร์ปิด ก็ไม่มีคนแล้ว ถามว่ากระทบเขาไหม ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีคน เลยไม่ได้กระทบ สาธารณสุขก็เข้ามาประเมินพื้นที่ ดูความเสี่ยง จากเราไปโรงพยาบาลแต่ละที่ ด้วยความที่โรงพยาบาลเมืองพัทยาห่างไปแค่กิโลเมตรเดียว ก็เหมือนเป็นศูนย์กลางรับให้โรงพยาบาลอื่นๆ ได้

แต่พูดถึงเรื่องการเสียชื่อเสียงไหม ณ วันนี้มีความเร่งด่วนมาก เราอยากช่วย ชื่อเสียงถ้าทำให้มันดี มีมาตรฐาน เจตนาดี หากจะแย่ สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาให้ได้ เพราะว่าทุกอย่างบนโลกไม่มีอะไรแน่นอนอยู่แล้ว แต่วันนี้ที่แน่ๆ คือถ้าเราช่วยได้ สามารถทำได้ ก็ทำไปก่อน แล้วค่อยมาแก้ปัญหาในภายหลัง

เห็นว่าการทำโรงพยาบาลสนามที่โรงแรมเป็นความร่วมมือกับผู้ประกอบการอื่นๆ ในพัทยาด้วย ดีลอย่างไรให้ได้รับความร่วมมืออย่างดี?

ตอนที่ทำกันครั้งแรก มีพี่อีกท่านหนึ่งที่อยู่ในทีมโควิดเมืองพัทยามาปรึกษาว่าไม่คืบหน้าเลย อะไรก็ติดขัดเรื่องงบประมาณไปหมด ทำซ้าย ทำขวา ก็ทำไม่ได้ ทั้งที่ผู้ติดเชื้อในเมืองพัทยาเพิ่มขึ้นสูงมาก เลยบอกว่าตอนนี้โรงแรมไม่มีแขกแล้ว เรามาลองทำกันดูไหม ถ้ากักได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งปลอดภัยกับเมือง ไปเอาคนที่เสี่ยงสูงมาเพื่อลดปริมาณการแพร่กระจายเชื้อ ทำกันไปเองก่อน อย่างน้อยห้องเรามีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเช่าใครที่ไหน ส่วนอื่นๆ เดี๋ยวบอกเพื่อนๆ บอกบุญเขาไป คนก็คงมาช่วยกันเองแหละ ซึ่งตั้งแต่ทำมาก็มีเพื่อนส่งของมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ใช้ในห้องพัก ผงซักฟอก ไม้กวาด น้ำดื่ม อะไรทุกอย่างมีคนช่วยกันทั้งหมดเลย ทุกคนอยากเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้โดยเร็ว เจ้าของแลคตาซอยก็ส่งนมมาให้ บางคนก็เอาไข่ เอาของกิน ข้าวสารมาให้ ความร่วมมือไม่ว่าจะเล็กจะน้อยเราก็รู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มากในเวลานี้ที่ทุกคนเองก็ลำบาก ไม่ใช่ว่าอยู่สุขสบายแล้วมาช่วยเรา ทุกคนก็เดือดร้อนเหมือนกัน แต่ก็เสียสละเงินของตัวเอง หรือสิ่งของมาช่วย รู้เลยว่าคนไทยไม่ทิ้งกันเลย

นอกจากดูแลคนอื่นแล้ว ในวิกฤตโควิด-19 ดูแลธุรกิจโรงแรมของตัวเองอย่างไรบ้าง?

เรามีโรงแรมในเครือทั้งหมด 7 สาขาในพัทยา ถ้าไม่นับโรงพยาบาลสนาม เราไม่ได้ปิดอยู่สาขาหนึ่ง ยังดำเนินการปกติ ซึ่งถ้าใครจะยังอยู่ต่อในเครือเราจะโยกลูกค้าไปอยู่โรงแรมนั้น ที่เหลือปิดหมด พนักงานได้รับชดเชยจากประกันสังคม เนื่องจากเรามีหอพัก มีข้าวให้พนักงานทุกวัน ถ้าใครอยู่บ้านจะมากินก็ได้ มี 3 มื้อให้กินฟรี ถ้าใครเช่าบ้านอยู่แล้วเดือดร้อน ย้ายมาอยู่ที่โรงแรมได้ เราจัดที่พักให้ ตอนนี้คิดแค่ว่ามีที่กิน มีที่นอน มีเงินจากรัฐสนับสนุน เราก็สามารถให้เขาประคองตัวอยู่ได้ ตอนนี้ด้วยความที่พนักงานยังไม่ได้ทำอะไร ว่างอยู่ ก็จัดพื้นที่ให้นั่งห่างๆ กัน ทำหน้ากากอนามัย ต่อเฟซชิลด์ ก็ช่วยๆ กันไป

คาดการณ์ หรือคาดหวังล่วงหน้าไว้ไหมว่าพัทยาจะเริ่มฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เมื่อไหร่?

ในความร่วมมือของทุกคนในภาคเอกชน เราคาดหวังให้กลับมาเร็วที่สุด สักใน 2 เดือน หรือเร็วกว่านั้น แต่สุดท้ายในฐานะที่ทำธุรกิจ ปัจจุบัน สมมุติว่าถ้าสัก 3 เดือน เราก็คิดว่าตอนนี้เราพอมีเงินสดหมุนเวียนใช้ได้บ้าง จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ

ตอนนี้รัฐบาลช่วยเหลือเงินเดือน 90 วัน เพราะฉะนั้นเราคิดว่าอย่างน้อยถ้ากลับมาเปิดได้ใน 90 วัน ก็น่าจะดี เพียงแต่ตอนที่เปิดกลับมามันจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อนหลายๆ คนในแวดวงมองว่าปลายปี ประมาณเดือนตุลาคมไปแล้วน่าจะกลับมาได้

ส่วนตัวคาดหวังว่ามาตรการที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่พัทยามีล็อกดาวน์ และเราไม่ได้ทำแค่โรงพยาบาลสนาม แต่ในส่วนของภาคเอกชน เรามีมาตรการเชิงรุกในการเข้าไปทุกคอนโด ทุกโรงแรม ไปแฟลตของชาวต่างชาติที่ยังอยู่ คนไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีทีมลงไปพามาตรวจ คือเราพยายามหาคนป่วยในพื้นที่ออกมาให้ได้มากที่สุด ต้องเข้มงวด ไม่อย่างนั้นไม่มีทางกลับมาได้ แค่การอยู่บ้าน คนอยู่บ้านก็อยู่บ้านไป แต่คนที่จะออกมา เขาก็ยังออกมาอยู่วันยังค่ำ เพราะฉะนั้นต้องประกอบด้วยมาตรการที่เข้มงวดของรัฐ เพื่อให้ทุกคนล็อกตัวเองจริงๆ ไม่เอาเชื้อไปแพร่กระจาย เพราะตอนนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติก็เป็นปัจจัยหลัก เขาไม่กักตัวเองเลย แม้บาร์ปิดแต่ความที่พัทยาเป็นเมืองแบบนั้น ยังมีคนที่อาจจะไซด์ไลน์หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่คิดว่ายังมีผู้หญิงที่ทำแบบนี้อยู่ ไม่แน่ใจว่ามาจากไหน

ตอนนี้ตั้งครรภ์อยู่ ป้องกันตัวเองเป็นพิเศษอย่างไรบ้าง เพราะทั้งอยู่ในเมืองที่ชาวต่างชาติเยอะ และเปิดโรงพยาบาลสนามที่โรงแรมด้วย?

แม่ไม่ให้เข้าเลยค่ะ (หัวเราะ) แต่ส่วนใหญ่จะโทรถาม และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กัน รายงานกันแบบออนไลน์ แต่ก่อนหน้านี้ยังไปเกือบทุกวัน ไปดู ไปประชุมเอง ตอนนี้โทรเป็นหลัก เพราะไม่อยากให้เสี่ยงด้วย อีกไม่กี่เดือนก็จะคลอดแล้ว

ผู้หญิงกับการบริหารโรงแรมเยอะขนาดนี้ รู้สึกหนักไหม?

ถ้าทำอะไรในสิ่งที่เราชอบ คงไม่ได้เหนื่อยและคิดว่าอยากจะปรับปรุงมันไปในทุกๆ วัน อะไรที่เข้ามาแล้วเห็นแนวทางพัฒนาได้ เราก็จะปรับปรุง ไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา แต่จะทำให้ดีขึ้น ถ้ามองว่าจะทำให้ตรงนี้ดีขึ้นได้เแบบไหนก็จะทำ ไม่รู้สึกว่าเหนื่อยกับสิ่งที่เจอ แต่สนุกกับการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่เข้ามา อย่างวันนี้เราโอเปอเรตร่วมกับโรงพยาบาลสนาม เราไม่เคยทำเลย ไม่เข้าใจ แต่ก็เรียนรู้ทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน ทำให้ทุกคนมีทักษะ มีประสบการณ์อะไรใหม่ๆ เพราะฉะนั้นก็สนุกกับงานที่ทำ ถึงแม้บางคนอาจจะมองว่าเหนื่อย แต่นอนปุ๊บตื่นมาก็หาย ไม่ได้รู้สึกทุกข์

หลักการสำคัญที่สุดในการบริหารงานโรงแรมของตัวเองคืออะไร?

บริหารงานโรงแรมมี 2 ส่วนหลักคือ บริหารคนในโรงแรม คือพนักงานที่เรามองเขาว่าเป็นเหมือนคนในครอบครัว อีกส่วนหนึ่งคือบริหารงานภายนอก คือการตลาด นู่นนี่นั่น ถ้าภายในเราดี เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเกิดปัญหา อุปสรรคอะไร จะช่วยสนับสนุน แล้วไปด้วยกัน ผ่านอุปสรรคไปได้ นี่คือปัจจัยสำคัญ แต่ส่วนภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการหาลูกค้า การขยายกิจการ ก็เป็นส่วนที่เราต้องมีช่องทางการดูแล

แต่หลักๆ แล้วหัวใจของการทำให้โรงแรมเข้มแข็งและเติบโตได้คือการมีบุคลากรหรือทีมงานที่ดี พร้อมจะทำงานกับเราไปในทุกๆ ด้าน


 

‘ตอนนี้ไม่มีรายได้ แต่สวนผักของเรายังทำกับข้าว มาส่งพนักงานทุกวัน’

“ชอบโรงแรมแนวเกษตร (หัวเราะ)”

คือคำตอบของ มรกต กุลดิลก หรือคุณพลอย หญิงแกร่งแห่ง เครือโรงแรมแกรนด์ เบลลา ต่อคำถามที่ว่า ในฐานะผู้บริหารโรงแรมถึง 7 แห่งในเมืองท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของโลกอย่างพัทยา โฮเต็ลแห่งใดคือสุดยอดความประทับใจ หรือโรงแรมในฝันที่อยากหาเวลาไปสัมผัสสักครั้ง

อาจต้องประหลาดใจกับคำตอบจากปากนักธุรกิจหญิงท่านนี้ เมื่อไม่มีชื่อโรงแรมระดับ 6 ดาวในดินแดนอันไกลโพ้น ทว่า เกสต์เฮาส์แนววิถีชีวิต ใกล้ชิดธรรมชาติและผู้คน ต่างหาก คือสิ่งที่อยู่ในความคิดคำนึงเสมอมา

นอกจากนี้ยังเล่าว่า เป็นผู้ชื่นชอบในการถ่ายภาพที่แทบไม่มีรูปถ่ายของตัวเองอยู่ในกล้องเลย เพราะเป็นมือถ่ายที่เดาได้ว่าไม่ใช่สาย “เซลฟี่” ทว่า ดื่มด่ำไปกับการบันทึกวินาทีแห่งความงดงามของภาพชีวิตของผู้คนและธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้า

“ส่วนตัวชอบท่องเที่ยวไปในเมืองเล็กๆ ชื่นชมธรรมชาติ โฮมสเตย์ ชอบแนววิถีชีวิตชาวบ้าน ที่โรงแรมก็มีปลูกผัก ทำนู่นทำนี่ หลายอย่าง อยากให้เป็นแนวเศรษฐกิจพอเพียง อย่างตอนนี้เราไม่มีรายได้ แต่สวนผักของเรายังทำกับข้าวมาส่งพนักงานทุกวัน”

เมื่อเป็นเช่นนั้นต้องขอถามต่อ แล้วอยากลองทำโรงแรมแนวที่ว่าเพิ่มเติมจากธุรกิจโรงแรมที่ดูแลอย่างทุ่มเทถึง 7 แห่งบ้างไหม?

“จริงๆ ก็คิดว่าอยากจะทำแบบนั้น ตอนนี้ที่เราปลูกผักอยู่ โรงแรมในเครือก็ปลูกผักตามดาดฟ้า ตั้งใจไว้ว่าถ้าแพลนนี้โอเค อาจพัฒนา ทำ Agro-tourism (การท่องเที่ยวเชิงเกษตร) ให้สัมผัสชีวิตพอเพียง ตอนนี้ลงต้นไม้ใหญ่ไว้ อีก 10 ปี 20 ปี ก็คงมีความเป็นป่าด้วย เป็นที่เล็กๆ ไม่ได้ใหญ่มาก”

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ตัดฉากมาสู่ฉากชีวิตจริงภายใต้ภาวะล็อกดาวน์การท่องเที่ยว ในชะตาชีวิตซึ่งต้องสู้รบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อต่อลมหายใจทางเศรษฐกิจ

คุณพลอย เลือกสู้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากแต่จับมือฝ่าฟันไปพร้อมๆ กันด้วยการเปิดพื้นที่โรงแรมให้เป็นโรงพยาบาลสนาม ช่วยเหลือสังคมในวันวิกฤต โดยมีการป้องกันความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด

“หน้างานผู้ให้บริการในหน่วยงานของโรงพยาบาลสนามจะมีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งสแตนด์บาย แต่มีการป้องกันความเสี่ยงสูงสุด แม้จะเป็นเคส Negative ก็ให้ใส่ป้องกัน เพราะกลัวเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ” คุณพลอยเล่าอย่างใส่ใจในทุกรายละเอียด

เป็นอีกเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในพัทยา ณ ห้วงเวลาที่ไร้ซึ่งแสงสี และเสียงดนตรีเร้าอารมณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image