การเมืองเปลี่ยน การแพทย์ปฏิวัติ ชาติชาย มุกสง เปิดสงคราม ‘จากปีศาจสู่เชื้อโรค’

ชาติชาย มุกสง

ท่ามกลางศึกที่มีคู่ต่อสู้นามว่าไวรัสโควิด เข้าข่าย “ศัตรูที่มองไม่เห็นตัว” ตามคำกล่าวของ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเปรียบเปรยถึงเชื้อโรคที่สร้างภัยให้บ้านเมือง

การแพทย์ยุคใหม่ก้าวกระโดดไปไกลจนดูเหมือนไม่ต้องมองกลับหลัง ทว่าในความเป็นจริงนั้น สังคมมนุษย์มีศัพท์บัญญัติว่า “ประวัติศาสตร์” ที่มอบบทเรียนและทางเลือกหลากหลายแก่มนุษยชาติ

ดร.ชาติชาย มุกสง อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หยิบยกประวัติศาสตร์การแพทย์จากรัฐโบราณ สู่สยาม และประเทศไทย มานำเสนอให้คนยุคใหม่ทำความเข้าใจผ่านประสบการณ์ของบรรพชน

จากปีศาจ สู่เชื้อโรค : ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย คือผลงานล่าสุดในรูปแบบหนังสือเล่มอ่านง่ายที่น่าสนใจตั้งแต่หน้าปกจนถึงอักษรตัวสุดท้าย

Advertisement

“ถ้าเราจะเผชิญกับอะไร ต้องเข้าใจ เคารพนำมาต่อยอด ในจีนก็มีการนำแพทย์แผนจีนเข้าไปมีบทบาทในการช่วยเผชิญหน้ากับโควิด โดยใช้สูตรยาจีนบำรุงปอดคณะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของเขาให้แข็งแรงมากขึ้น” ดร.ชาติชายเล่า พร้อมเทียบเคียงกับภูมิปัญญาไทยในการใช้สมุนไพรอันเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

เปล่าเลย บทสนทนาต่อไปนี้ ไม่ได้พูดถึงสูตรยาหรือคุณูปการด้านสมุนไพรใดๆ หากแต่ว่าด้วยพัฒนาการทางความคิด ความเชื่อ และความรู้ของคนไทย จากยุคแห่งความ “ไม่รู้” ที่ส่งผลให้ภูติผีตกเป็นจำเลยในการนำความป่วยไข้มาสู่ผู้คน กระทั่งเข้าสู่การรับองค์ความรู้จากโลกตะวันตกที่ทำให้มองเห็นกระทั่งรูปร่างหน้าตาของ “เชื้อโรค” เหล่านั้น

การจัดการของรัฐที่ “การเมือง” คืออีกตัวแปรสำคัญของจุดเปลี่ยนด้านสาธารณสุข โดยมีเรื่องราวระหว่างบรรทัดที่ชวนฟังอย่างยิ่ง

Advertisement

ดร.ชาติชาย เป็นชาวพัทลุง เกิดในครอบครัวที่มีย่าเป็นหมอตำแย ปู่และพ่อครอบครองตำรายาที่จดจารบันทึกลงในสมุดไทยเก่าแก่ ซึ่งเจ้าตัวได้เห็น คุ้นเคย หยิบจับมาตั้งแต่ยังอ่านไม่ออก เพราะบางส่วนเขียนด้วยอักษรขอมตามวิถีพื้นบ้านที่มองตำราเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์

จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2540 แล้วเบนเข็มสู่เส้นทางประวัติศาสตร์ จนจบอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ตอนนั้นรู้สึกว่านิติศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่แก้ปัญหาปลายเหตุ คือเกิดการกระทำถึงที่สุดแล้วจึงมาตัดสินปัญหา เป็นศาสตร์ของการตั้งรับ เลยสนใจประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่สร้างความรู้ความเข้าใจมากกว่าการแก้ปัญหาทีหลัง”

ในวัย 46 เป็นคุณพ่อของลูกชายวัยน่ารัก 2 คน เป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้บุกเบิกรายวิชา “ประวัติศาสตร์การแพทย์และสุขภาพไทย” จากประสบการณ์มากมายที่ได้รับระหว่างการทำงานให้สำนักวิจัยสังคม และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

ประวัติศาสตร์การแพทย์จะช่วยสังคมไทยอย่างไรในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ?

เราเผชิญกับโรคระบาดมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ

ประวัติศาสตร์ของการแพทย์ก็เป็นทางหนึ่งในการที่จะทำให้เราเห็นบทเรียนในการทำผิด ทำถูกของมนุษย์ในอดีตที่สามารถนำมาปรับใช้ในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกในการคิดหาทางใหม่ เป็นแรงบันดาลใจสำหรับการที่เราจะต้องเผชิญหน้ากับมัน

โรคระบาดร้ายแรงในตำนานและเอกสารโบราณของไทย บันทึกถึงผลกระทบไว้หนักหนาสาหัสไหม บ้านเมืองถึงขั้นพินาศหรือไม่ ?

โรคที่ระบาดหนักๆ มีผลถึงขั้นทำให้บ้านเมืองล่มสลาย การหนีโรคระบาดเป็นเรื่องปกติมากของคนสมัยโบราณ สมัยต้นรัชกาลที่ 5 มีหลักฐานในเอกสารว่า ชาวบ้านจำนวนมากทั้งที่อีสาน ราชบุรี เวลาเกิดโรคระบาดขึ้น เขาหนีเข้าป่าเลย ทิ้งบ้านเรือนไปอยู่ในป่าเลย พอโรคสงบค่อยกลับมา หรือย้ายไปตั้งชุมชนที่อื่นเลย เพื่อเอาชีวิตรอด เพราะเรามีที่ทางเยอะ เรามีทรัพยากรเยอะ แต่สำคัญคือคน คนเป็นทรัพยากรสำคัญของรัฐ มีการพาคนหนี หรือคนหนีเองแล้วค่อยมารวมกันเองหลังโรคระบาด

หรือย้อนไปเรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่า มีข้อถกเถียงว่า โรคห่าของพระเจ้าอู่ทองอาจจะเป็นกาฬโรค เพราะว่าช่วงที่พระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยามันตรงกับการระบาดของกาฬโรคครั้งใหญ่ของโลกคือ Black Death ใน ค.ศ.1347 บวกลบแล้ว ตรงกับปีสร้างกรุงศรีอยุธยาพอดี มีบอกว่าออกมาจากจีน ออกมาจากอู่ฮั่นเหมือนครั้งนี้ด้วย

ในตะวันตก Black Death ทำให้ประชากรของยุโรปหายไปอย่างน้อยเกือบครึ่ง หรือประมาณ 1 ใน 3 ส่งผลต่อกำลังของผู้คนในการเป็นทรัพยากรของรัฐ มีรายงานว่าหลังการระบาด เมืองขาดผู้ปกครองเพราะโดนโรคเล่นงานตาย ในขณะที่คนชนบทอาจจะอยู่รอด เลยเกิดการเลื่อนชั้นทางสังคม คนกลุ่มใหม่เข้ามาเป็นผู้ปกครองแทน มาเป็นปัญญาชนแทน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสมัยใหม่

รัฐในอดีตมีบทบาทช่วยเหลือเยียวยาผู้คนในแนวทางไหนบ้าง ?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การจัดการโรคระบาดที่เป็นระบบเกิดขึ้นพร้อมกับรัฐ ซึ่งรัฐไทยเกิดในสมัยรัชกาลที่ 4 และเริ่มมีความชัดเจนในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ที่เรียกกันว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยใหม่ การแพทย์จึงกลายเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐในการจัดการขึ้นมา แต่ก่อนหน้านั้น เป็นการใช้ในสิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาของตัวเอง

เทคโนโลยีสมัยนั้นคือพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับความเชื่อของการเกิดโรค เมื่อคนไทยสมัยโบราณสัมผัสโรค เห็นว่าโรคมันมาเร็ว ไม่รู้ว่าสาเหตุมาจากอะไร อาจมีจากสิ่งที่เขากลัว สิ่งที่เขากลัวที่สุดในธรรมชาติ ในความเหนือธรรมชาติคือผี ภูติผีปีศาจ คือสิ่งที่ทำให้เกิดโรค

มีการสวดอาตายนสูตร มีพิธีอาพาธพินาศ มีการโปรยทราย โปรยน้ำ อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญแม้แต่พระแก้วมรกต ออกมาแห่ในขบวน ยิงปืนใหญ่ให้ผีกลัวและหนีออกไป นี่เป็นความเชื่อที่รัฐโบราณทำ รัฐมีหน้าที่ในการที่จะสร้างกำลังใจในสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ดังเช่นปัจจุบัน และอาจให้การรักษาเยียวยาทางยาบ้าง แต่เป็นยาสมุนไพร ซึ่งตำรายาสมัยโบราณ มีสูตรสมุนไพรจำนวนมาก

พอไทยก้าวสู่รัฐสมัยใหม่ มีการปรับตัวในยุคอาณานิคม ประมาณศตวรรษที่ 19 ก็เอารูปแบบของรัฐในยุโรปมาใช้ ซึ่งรัฐในยุโรปช่วงก่อนหน้าราวสัก 100 ปี คือศตวรรษที่ 18 การแพทย์มีความเป็นสถาบันที่ใช้ดูแลป้องกันโรคให้กับประชากร และให้ประชากรแข็งแรง กลายเป็นกำลังสำคัญของรัฐและประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ เป็นผู้บริโภคในเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นกำลังทหารและเสียภาษีให้รัฐ พูดง่ายๆ ว่าประชากรเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้รัฐ เพราะฉะนั้นรัฐก็ต้องดูแลให้เขาแข็งแรง

มีร่องรอยหลักฐานอะไรบ้างที่เกี่ยวกับพัฒนาการความคิด ความเชื่อที่ว่าโรคภัยเกิดจากผี ปีศาจ จนมาถึงความรู้เรื่องเชื้อโรค ?

ในเอกสารเก่าบอกว่า เมื่อคนต้องโรค ตายอย่างรวดเร็วเหมือนต้องพิษงู เพราะนั่นมันมีความหมายของการมองว่า ความตายที่มันมาถึงอย่างรวดเร็วที่เขาเห็นคือการถูกงูกัด เมื่อโรคอะไรก็ไม่รู้มาถูกต้องตัวเขา เขาไม่รู้เรื่องเชื้อโรค ไม่รู้ว่ามาอย่างไร จึงคิดว่าน่าจะโดนพิษอะไรสักอย่างหนึ่ง เลยเรียกว่าอหิวาตกโรค อหิ แปลว่า งู วาต แปลว่า ลม เป็นลมที่นำพิษงูมา

เมื่อรับการแพทย์ตะวันตกมาใหม่ๆ ความคิดในการเกิดโรคระบาด หลังจากปีศาจแล้ว ก็จะเป็นความคิดที่ว่าด้วยอากาศพิษหรือไอพิษที่เราสูดเข้าไป ความสกปรกทำให้เกิดโรค เพราะฉะนั้นในช่วงที่หมอบรัดเลย์เข้ามาในสมัย ร.3 ร.4 ต้น ร.5 ก็ใช้วิธีการจัดการบ้านเมือง จัดการร่างกายให้สะอาด กินช้อนกลาง ล้างมือ ทำความสะอาดตัวเอง ทำความสะอาดเสื้อผ้า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อความคิดด้านโรคเปลี่ยนไปว่ามาจากเชื้อโรค โดยการรับความรู้จากตะวันตกที่เข้ามาประมาณ พ.ศ.2440 เป็นต้นมาก็ทำให้เรามองว่าต้องกำจัดเชื้อ ไม่ให้เชื้อแพร่ คือใช้วิธีการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างที่บอกเหมือนเดิม ที่เพิ่มมาจากนั้นคือการกำจัดพาหะนำเชื้อ อย่างเช่น แมลงวัน ยุง เพราะรู้แล้วว่าเชื้อโรคติดจากคนสู่คนได้ การตัดวงจรของเชื้อโดยการตัดพาหะ การไม่เอาสิ่งของเครื่องใช้ของคนตายมาใช้ต่อ คือสิ่งที่มีความรู้ขึ้นมา และใช้มาโดยตลอด จะเห็นว่าเราใช้การสาธารณสุขมากกว่าการแพทย์ด้วยซ้ำ

ความกลัวใน ‘ปีศาจ’ ยุคเก่า กับความหวาดผวาใน ‘ไวรัส’ ร่วมสมัย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?

อาจต้องย้อนไปดูการระบาดของอหิวาห์ตกโรค สมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งระบาดครั้งแรก คนไทยกลัวมากเพราะไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร “ศึกผีมาแต่ทิศประจิม ทิศหรดี” พอมาแล้วทำให้คนตายอย่างรวดเร็ว มันมีความน่ากลัวในแง่ที่ว่าการสื่อสารของคนกันเองยิ่งทำให้น่ากลัวเพราะไม่มีความชัดเจน แต่ในเชิงของระบาดวิทยา การทำให้คนตาย อหิวาต์ใช้เวลาสั้นมาก ทั้งลงทั้งราก ทั้งอาเจียน ทั้งถ่าย ทำให้สูญเสียน้ำในร่างกายอย่างรวดเร็ว

กาฬโรคพระเจ้าอู่ทองก็อาจเป็นอย่างนั้น และกาฬโรคสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ค่อนข้างร้ายแรงเหมือนกันแต่จำกัดอยู่ในเมือง ไม่ค่อยขยายตัวออกไปทุกที่เหมือนตอนนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเทียบแล้ว “โควิด” มีลักษณะของการเป็นโรคระบาดโลกาภิวัตน์

ครั้งยังทำงานที่สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปประชุมประวัติศาสตร์การแพทย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 1 ณ กรุงเสียมเรียบ กัมพูชา

ย้อนไปที่ประเด็นกลไกสำคัญในการสกัดโรคระบาดในช่วงรับความรู้ด้านสาธารณสุขจากตะวันตกมาใหม่ๆ คือการป้องกันตัวเองมากกว่าการรับการรักษาจากแพทย์ ?

ยาที่รักษาได้จริงๆ อย่างอหิวาตกโรค หมอบรัดเลย์ใช้น้ำการบูร ผสมหัวแอลกอฮอล์เป็นสูตรในการรักษา ใช้ฝิ่นผสมทิงเจอร์ ใช้เหล้า ยังไม่เป็นการแพทย์แบบตะวันตกอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเท่าไหร่นัก แต่พอค้นพบเชื้อโรคและค้นพบยารักษาเชื้อโรคได้ ฆ่าเชื้อโรคได้ในทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา หรือ พ.ศ.2460 เป็นต้นมา เราก็มีวิธีการควบคุมได้ดีขึ้น

การปลูกฝีของไข้ทรพิษลดความอันตรายลง เหล่านี้มาพร้อมกับการแพทย์สมัยใหม่ที่นำเข้ามาจากโลกตะวันตกในยุคอาณานิคม ในขณะเดียวกันเราก็ใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้จักป้องกันตัวเอง นี่เป็นกลไกสำคัญมากที่ทำให้การป้องกันและควบคุมโรคในอดีตประสบความสำเร็จ เพราะชาวบ้านรู้จักป้องกันข้าศึกที่มองไม่เห็นตัว ซึ่งเป็นคำของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

การแพร่หลายของสบู่ แชมพู ยาสระผม สำคัญมาก เพราะกำจัดเชื้อโรคซึ่งเคยเป็นปัญหาในสุขลักษณะในอดีตให้หายไป อย่างโรคเรื้อนมันสามารถเอาชนะได้ด้วยสุขภัณฑ์ง่ายๆ

นอกเหนือจากการรับวิทยาการตะวันตก ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และ ‘การเมือง’ ก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ?

การเสด็จประพาสอาณานิคมของฝรั่ง อินเดียเอย สิงคโปร์ ชวา ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ทำให้เห็นว่าต้องใช้โรงพยาบาลในการจัดการสุขาภิบาล ความสะอาด น้ำประปา ก็เป็นสิ่งที่รัฐจัดสรรให้ดีขึ้นเพื่อป้องกันโรคระบาด และมีการตั้งโรงพยาบาลศิริราชใน พ.ศ.2431 นี่เป็นจุดเริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้มีอยู่เฉพาะในเมืองหลวง และในเมืองใหญ่ๆ บ้าง แต่ไม่มาก ถือว่ายังจำกัดมาก มีรายงานว่า ก่อน 2475 มีโรงพยาบาลแค่ 3-4 โรงเท่านั้นเอง รวมของมิชชันนารีแล้ว ก็ยังมีจำนวนน้อยมาก คนต่างจังหวัดและในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีทางเข้าถึงอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อเกิดการปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งเหล่านี้ขยายตัวมากขึ้น เพราะรัฐบาลโดยคณะราษฎรออกนโยบายที่เรียกว่า รัฐเวชกรรม ในปี 2477 นโยบายคือ 1.ต้องให้มี รพ.ทุกจังหวัด 2.ต้องมีระบบป้องกันโรค และควบคุมโรคระบาดที่เป็นอันตราย อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้ทรพิษ มาลาเรีย ฯลฯ 3.สนับสนุนอนามัยแม่และเด็ก เพื่อให้ประชากรเพิ่ม เพื่อสร้างประชากร เพื่อสร้างชาติ เพราะเรามีคนเกิดเยอะ แต่เด็กตายตั้งแต่ยังเป็นทารกสูงมาก

เมื่อมีการปฏิวัติการเมือง ก็มีการปฏิวัติการแพทย์ ทำให้ระบบการแพทย์สาธารณสุขขยายไปทุกจังหวัด ต่อมาก็ขยายไปทุกอำเภอ ต่อมาก็ขยายไปยัง รพ.สต. หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

สถานการณ์ ‘โควิด’ นี้ เห็นได้ชัดว่า อสม.หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีบทบาทสูงมาก เป็นภาคส่วนได้รับความชื่นชมมาก ?

ระบบ อสม.เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2520-2521 ทำให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วมในระบบสาธารณสุข ทำให้ระบบสาธารณสุขของเราค่อนข้างเข้มแข็งอย่างมากในการเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด จะเห็นว่าระบบของเราเป็นระบบที่มาจากพื้นที่ส่วนไกลสุด มาสู่ส่วนกลาง ทำงานกันอย่างเป็นระบบมาก แต่ระบบการเมือง ก็แล้วแต่การจัดการว่าแต่ละรัฐบาลมีความเข้มแข็งอย่างไรในแต่ละยุคสมัย

ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ คือรัฐบาลที่กระจายอำนาจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นนักวิชาชีพ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการจัดการ อย่างกรณีไข้หวัดนกในปี 2546 จะทำให้การควบคุมทำได้ดีกว่าการที่อำนาจถูกรวมไว้ที่เดียว แต่การจัดการไม่ลื่นไหลไม่สามารถ one stop service ได้

จากบทเรียนจากประวัติศาสตร์ มองอนาคตในยุคหลังโควิดอย่างไร ?

มนุษย์ในอดีตอาจกลัวเพราะไม่มีความรู้ ไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร เลยโยนไปว่าเป็นผี ปีศาจ จะมาเอาชีวิต เลยป้องกันผี แล้วแต่ว่าพระ หรือผู้ปกครองจะว่าอย่างไร แต่มนุษย์ปัจจุบันได้เปรียบตรงที่เรารู้ว่ามันเกิดจากอะไร แล้วมีความรู้ในการที่จะจัดการด้วย เพราะนั้นถ้าคุณมีความรู้ขนาดนี้แล้ว คุณยิ่งต้องต่อสู้ เอาชนะมันให้ได้

โรคระบาดจะทำให้คนรู้จักป้องกันตัวเองมากขึ้น รู้จักที่จะระมัดระวัง ในการอยู่กิน ในการใช้ชีวิต อย่างกรณีโรคเอดส์ ให้เราสำรวมในกามมากขึ้น มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างเข้มงวด ทำให้เราเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด เกี่ยวกับการใช้ชีวิต

สำหรับบ้านเมืองเองก็อาจจะเปลี่ยนนโยบายในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การเปลี่ยนที่หนักๆ คือการเปลี่ยนกลุ่มคน ชนชั้น เพราะโรคระบาดคร่าชีวิตคนในเมือง

ผมคิดว่านอกจากมีสติ เราต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เปิดใจเรียนรู้ ไม่ว่าจากประสบการณ์ เปรียบเทียบกับสังคมอื่น เช่น การจัดการที่ดีของไต้หวัน ญี่ปุ่นบางเกาะ เช่น ฮอกไกโด มาปรับใช้ หรือวิธีการจัดการส่วนบุคคล ชุมชนที่ดี มีประโยชน์ ต้องสื่อสารแพร่กระจายให้ชุมชน ปัจเจกบุคคลรับมือได้

ถ้าไกลไปกว่านั้นอาจเทียบสังคมในประวัติศาสตร์ โดยทำความเข้าใจผ่านการจัดการโรคระบาดในอดีต ก็อาจสร้างแรงบันดาลใจ

เป็นความรู้ และทางเลือกในการใช้ชีวิตและการรับมือ

 


 

“ผมเขียนในมุมมองของประชาชนคนสามัญ”

“อยากให้คนในสังคมไทยได้เห็นว่าในอดีต เรามีภูมิปัญญา เราเคยเผชิญโรคระบาดในประวัติศาสตร์อย่างไรบ้าง ผมเขียนในมุมมองของผู้ป่วย หรือมุมมองของประชาชนคนสามัญ มากกว่ามุมมองของรัฐหรือบุคลากรทางการแพทย์ ให้เห็นว่าคนสามัญสามารถทำอะไรได้บ้าง”

คือคำกล่าวของ ดร.ชาติชาย มุกสง เจ้าของผลงาน “จากปีศาจสู่เชื้อโรค : ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย” พ็อกเก็ตบุ๊กส์เล่มใหม่จากค่าย “มติชน”

1 เดือนเต็ม คือช่วงเวลาที่เจ้าตัวบอกว่าใช้ในการเรียบเรียงต้นฉบับสุดท้าย ทว่าข้อมูลทั้งหมดทั้งมวล ทุกประโยค วลี และตัวอักษร ผ่านการรวบรวม คัดกรอง ร้อยเรียงจากงานวิจัยเข้มข้นและประสบการณ์ยาวนานนับสิบปี ตั้งแต่ครั้งยังทำงานอย่างทุ่มเท ที่สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

“ข้อมูลในเล่มมาจากงานวิจัยที่ผมทำมาเรื่อยๆ เกี่ยวกับโรคระบาดในสังคมไทย นับย้อนไป 20 ปี ชีวิตมนุษย์ต้องมีปัจจัย 4 แต่เราไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ในเรื่องใกล้ตัวแบบนี้สักเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญในชีวิต”

ค้นคว้าเอกสาร “ชั้นต้น” ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อสู้โรคระบาดของชาวสยามแต่ครั้งโบราณกาล เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสำคัญที่เป็นทั้งบทเรียนและแนวทางในอนาคต แม้ในวันที่โลกยุคใหม่มีวิทยาการทางการแพทย์ก้าวไกลอย่างยิ่ง

“แม้ว่าจะมีการแพทย์แบบวิทยาศาสตร์ตะวันตก และการแพทย์ที่รัฐจัดขึ้น แต่ในรัฐทุกรัฐ มีลักษณะพหุลักษณ์เสมอ กล่าวคือ มีหลายระบบการแพทย์ดำรงอยู่เป็นทางเลือกในการป้องกัน รักษา เยียวยา ใน 3 ขั้นตอนนี้สามารถเลือกใช้ได้ เรามีสมุนไพรมากมายที่ปรากฏในตำรายา หรือแม้กระทั่งบางอย่างเป็นความเชื่อที่เราอาจมองว่างมงายในปัจจุบัน แต่ว่ามันเป็นภูมิปัญญาในการเอาตัวรอดของคนโบราณ เช่น

“การเอาผ้าแดง เสื้อแดงไปแขวนหน้าบ้าน เรื่องนี้มีในเวชศาสตร์โบราณ ที่ว่าด้วยการหลอกกองทัพผี เอาอาหารน้ำไปวางให้ผีหน้าบ้าน ไม่ให้ผีเข้ามาในบ้าน สิ่งเหล่านี้มีในความคิดความเชื่อของคนไทยในอดีต เขามีสิทธิที่จะทำได้ เป็นการเยียวยาในภาคประชาชน”

เป็นอีกผลงานน่าสนใจที่ต้องมีไว้ในศักราชนี้ เปิดให้สั่งซื้อล่วงหน้าแล้วที่ เฟซบุ๊ก matichonbook-สำนักพิมพ์มติชน สอบถามรายละเอียด โทร 0-2589-0020 ต่อ 3350-3360

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image