ท่วงทำนอง ‘อีสานใหม่’ ใน ‘ลูกทุ่งหมอลำป๊อบ’ จากมุมมองของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“เราเห็นอีสานมาตลอด อีสานในสื่อก่อนหน้านี้ดูจะถูกกดทับเช่น คนอีสานถ้าอยู่ในละครก็ต้องเป็น คนใช้ หรือในเพลงก็เป็นคนใช้แรงงาน อีสานกลายเป็นวัฒนธรรมชายขอบที่ถูกกดทับมาตลอด แต่ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีกระแส “อีสานฟีเวอร์” ทั้งหนัง และเพลงอีสานที่ดังขึ้นมาไม่เฉพาะในหมู่คนอีสาน แต่ยังดังไปสู่พื้นที่คนภาคอื่นๆ ด้วย”

คือมุมมองของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย หรือ อีฟ สื่อมวลชนยุคใหม่แห่งกองบรรณาธิการเว็บไซต์ www.the101.world ในวัย 29 มหาบัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ใคร่ศึกษาวิจัยในความเป็น “ลูกทุ่ง”

“อัตลักษณ์ของเพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่” คือ ชื่อวิทยานิพนธ์ที่ชักชวนให้มองไปถึงความเป็นอีสาน ที่ผนวกกับป๊อปคัลเจอร์ หรือวัฒนธรรมที่เข้าถึงง่าย กระจายอยู่รายรอบตัวไม่เว้นแม้แต่ในภาคของ “ดนตรี” ที่เชื่อว่าทุกคนจะมีท่อนติดหูแม้บางครั้งไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามาจากเพลงอะไร รู้ตัวอีกทีคือร้องคลอตามได้ และวนอยูในหัวเป็นที่เรียบร้อย

ต่อไปนี้คือมุมมองของลูกอีสานเลือดขอนแก่น ที่เกิดและเติบโตแวดล้อมท่ามกลางซาวด์พิณ แคน แต่เติบโตและใช้ชีวิตในมหานครเมืองกรุง ผนวกกับการเป็นคนทำสื่อ จึงมองเห็นพัฒนาการของดนตรีแขนงนี้ได้อย่างลุ่มลึกและร่วมสมัย

Advertisement

ทำไมถึงสนใจศึกษาเรื่องนี้ เห็นอะไรในเพลงอีสานประยุกต์?

ช่วงที่เพลงผู้สาวขาเลาะดังมากขนาดที่ดาราช่อง 3 เอาไปร้องเต้นกันที่ราชมังคลากีฬาสถาน งานครบรอบ 48 ปี ช่อง 3 ดาราเบอร์ต้นของประเทศร้องเพลงลูกทุ่งหมอลำ และเต้นกันอย่างสนุกสนาน โดยที่ไม่เคอะเขิน ซึ่งเพลงถัดไปยังเป็นเพลงของบีเอ็นเค48 อีก ทำให้เห็นว่าเพลงอีสานเข้าไปอยู่ในเวทีเดียวกันกับเพลงป๊อปหรือเพลงแนวอื่นได้ ถึงสนใจว่าเพราะอะไรเพลงอีสานที่เคยฟังกันเอง เพลงชาวบ้านร้านลาบ-คนขับแท็กซี่ ทำไมจึงกลายมาเป็นวัฒนธรรมป๊อปที่เข้าสู่ผู้คนในวงอื่นๆ ได้

เพลงอีสานสมัยก่อน อย่างหมอลําของ นกน้อย อุไรพร ก็มีความไพเราะสวยงาม มีเอกลักษณ์ประจำตัว แต่พอศิลปินอีสานรุ่นใหม่มาประยุกต์เพลงหมอลำเข้ากับเพลงป๊อป ที่ฟังง่าย เนื้อหาว่ากันไปทั้ง ความรัก ชีวิต เกิดเป็นรสชาติใหม่แต่ก่อนอาจจะมีแค่ พิน แคน เดี๋ยวนี้ใส่เปียโน ไวโอลิน มีกีตาร์เข้ามา หรือเอาหมอลำผสมกับเพลงแร็พ มีหลากหลายมาก อย่าง ศิลปินก้อง ห้วยไร่ ก็ทำเพลงคู่คอง ประกอบละครเรื่องนาคี ซึ่งถ้าฟังดีๆ จะเห็นว่ามีเปียโนและดนตรีอื่นเข้ามาด้วย เพลงของ รัสมีอีสานโซล ก็เอาหมอลำมาร้องทำนองโซล เนื้อเป็นภาษาอีสานผสมกับเขมรไปอีก มีความหลากหลายมาก สิ่งที่ทำให้โดดเด่นและสวยงามขึ้นมา คือ การไม่หวงวัฒนธรรม ที่ว่าหมอลำต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ห้ามเป็นอย่างอื่น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เหมือนกับเรากินอาหารจานเดิม แต่พอมีคนพยายามปรับเอาอย่างอื่นมาผสม ประยุกต์เกิดเป็นอาหารจานใหม่ซึ่งคนไม่เคยกิน พอได้เห็น ได้ชิม ก็รู้สึกแปลกใหม่ สนุกดี

เรื่องความฮิตของเพลงจะเป็นวงกลมช่วงหนึ่งคนจะฮิตเพลงใต้ แล้วมาฮิตเพลงอีสาน ปัจจุบันเป็นเพลงอีสานป๊อป โซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญในการทำให้เพลงพวกนี้เข้าถึงคนได้มากขึ้น หรือเพลง “เจน นุ่น โบว์” ของภาคกลางเองที่ฮิตขึ้นมาในช่วงหลัง ก็ออกมานานแล้วแต่เพิ่งจะมาดัง เพราะมีรสชาติของความสนุก และแปลกใหม่ เป็นอะไรที่คนเมืองไม่คุ้นเคย เพลงอีสาน ไม่ว่าจะลูกทุ่ง หมอลำ หรืออะไรก็ตามสิ่งที่โดดเด่นมาก คือ ความครีเอทีฟจนเรามานั่งคิดว่า คิดได้ไง เล่าเรื่องแค่นี้ เจนมากับนุ่นและโบว์ เนื้อเพลงไม่มีอะไรเลย (หัวเราะ) แต่ความไม่มีอะไรนี่แหละ ที่ทำให้เห็นว่ามีอะไรซ่อนอยู่ หรือ เพลงห่อหมกฮวกไปฝากป้า เนื้อเพลงคือจะเอาห่อหมกฮวกไปให้ป้า แต่ป้าไม่อยู่บ้าน เอาห้อยไว้แล้วเกิดเรื่องราวขึ้น อะไรแบบนี้มีความกวนและครีเอทีฟ ซึ่งรสชาติอย่างนี้เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม เพราะความสนุก หลายเพลงพูดถึงความรัก บางเพลงก็พูดถึงวิถีชีวิตคนอีสานด้วย

จากเพลงที่ให้ภาพหอบฝันเข้ากรุงเพื่ออนาคต เนื้อเพลงที่บอกเล่าความลำบากของการสู้ชีวิต จนถึงปัจจุบัน มองพัฒนาการจาก อดีตถึงวันนี้อย่างไร?

ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เพลงที่ดังและเป็นภาพจำของคนคือ เพลงลูกทุ่งอีสาน ที่ชีวิตต้องเข้ากรุง มาตามหาความฝันคนอีสานต้องย้ายถิ่นเพราะที่บ้านลำบาก แต่ทุกวันนี้จะเห็นว่าเพลงอีสานกลับพูดถึงวิถีชีวิตที่อีสานเองเสียเยอะ อาจเป็นเพราะวัยรุ่นอีสานส่วนมากอยู่ที่บ้าน ทำค่ายเพลงเอง ก็เล่าวิถีชีวิตที่เห็น เป็นเรื่องทั้งเชิงกายภาพ และดิจิทัล คือแต่ก่อนนักร้องต้องเขากรุงไปหาค่ายเพลงใหญ่เพื่อตามความฝัน ชีวิตคนอีสานก่อนหน้าเป็นอย่างนั้นจริง ต้องเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานในโรงงาน แต่ปัจจุบันมีช่องทางดิจิทัล ร่างกายไม่ต้องมาที่นี่แต่ส่งเสียงผ่านมาทางดิจิทัลได้เพราะ “อำนาจของสื่อ เปลี่ยนไปอยู่ในมือของคนตัวเล็กตัวน้อยมากขึ้น” อินเตอร์เน็ตให้พลังคนโดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก จากแต่ก่อนใครจะทำค่ายเพลงต้องมีเงินมหาศาล ปั๊มเป็นแผ่นซีดี มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ทุกวันนี้ทำห้องอัดเสียงเอง อัด และลงยูทูบ โซเชียลช่องทางต่างๆ สิ่งที่เห็นอย่างแรกคือ เมื่อไม่มีนายทุนใหญ่มาควบคุมว่าจะต้องมีคาแร็กเตอร์แบบนี้ เนื้อเพลงแบบนี้เพื่อที่จะขายได้ เพลงจึงมีความเฉพาะตัวมากขึ้น อย่าง “บักจี่เหลิน” เนื้อเพลงไม่มีอะไรเลย เด็ก ม.2 แอบชอบรุ่นพี่ ถ้าเป็นสมัยก่อนถามว่านายทุนที่ไหนจะกล้าทุ่ม กล้าเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ แต่มายุคนี้ทำกันเองได้ เพราะไม่ต้องไม่ต้องลงทุนสูง คนเลยกล้าเสี่ยง “ทำแบบนี้แหละ ลองดู ถ้ามันดังก็ดัง” ความเขินอายก็ลดลงไปมาก ไม่ใช่อีสานที่เห็นในสื่อสมัยก่อนแล้ว เป็นอีสานยุคใหม่

ปัจจุบันการรับสื่อของคนเปลี่ยนไป เท่าทัน และทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งไม่จำกัดแค่โทรทัศน์หรือวิทยุธานินทร์ ที่เปิดฟังตามเถียงนาเหมือนเมื่อก่อน เปิดโลกทัศน์วัยรุ่นอีสานมากขึ้น ล่าสุดมีการอัดคลิปร้องเพลง กระทั่งเป็นไลฟ์โค้ด มองว่าความพร่าเลือนของชนบทกับคนเมืองลดลงจนเป็นภาพเดียวกันแล้วหรือยัง?

คำว่าพร่าเลือนของชนบทกับเมือง คือความพร่าเลือนในการรับรู้ของคน ปัจจุบันอยู่ชนบทก็สามารถรับสื่อได้อย่างคนในเมือง แต่ก่อนจะมีคำแซวว่า ชาวบ้านฟังเอเอ็ม คนในเมืองฟังเอฟเอ็ม และดูทีวี ช่องทางการรับสื่อคับแคบกว่ากันมาก คนกรุงเทพฯ เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้ดูอะไรที่ทันสมัย คนต่างจังหวัดไม่มีสิทธิเข้าถึง แต่ทุกวันนี้ทั้งคลิป ทั้งไลฟ์สดดูได้พร้อมกันหมด การรับสื่อที่เท่ากันทำให้คำว่า บ้านนอกหลังเขา ไม่มีในปัจจุบัน แต่ใช่ว่าคนในชนบทจะมีวิถีแบบนั่งร้านกาแฟริม BTS เราพูดถึงการรับสื่อ ตราบใดที่มีอินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์ ทุกคนเข้าถึงสื่อได้ แต่อาจจะมีส่วนน้อยที่ยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต

ที่ว่าการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตทำให้เกิดการเปลี่ยนอำนาจการผลิตสื่อ ความเป็นชายขอบเข้าไปอยู่ตรงกลางได้มากขึ้น อย่างนั้นจะเรียกว่า ‘เสียงของคนอีสานดังขึ้น’ ได้หรือไม่?

ความจริงแล้วเสียงของคนอีสานดังมาตลอด แต่จะโดนดูถูกในหลายเรื่อง ที่ชัดเจนอย่างคนอีสานเป็นควายแดง เป็นเสื้อแดง ส่งเสียงดังแค่ไหนก็มักถูกมองว่านี่เป็นเสียงของคนโง่ โดนแปะป้ายไว้ว่า “โง่ จน เจ็บ” ไม่สามารถหลุดจากภาวะนี้ได้ แต่เมื่อเสียงของอีสานมาตามช่องทางอื่น เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ หรือละคร จะเป็นน้ำเสียงอีกแบบ เป็นน้ำเสียงที่ไม่ได้พยายามจะเรียกร้องความเป็นธรรมอะไร แต่อย่างนั้นเสียงที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด คือการประกาศออกมาว่าฉันคือคนอีสาน ฉันเป็นแบบนี้ เพลงโอ้ละน้อ ของก้อง ห้วยไร่ “เกิดเป็นคนอีสาน เลือดก็คนอีสาน มีบุญมีงานก็ต้องมีหมอลำ มีลาบมีก้อย มีจุ๊ซอยจ้ำ ยังจดยังจำวิถีบ้านเฮา” มันคือการเล่าวิถีของตัวเองผ่านเพลงที่สนุก และยังใส่เสื้อหนังแบบเกาหลี เอาวัฒนธรรมป๊อปที่คนเมืองชอบ มาช่วยเล่า เอามาผสมอย่างไม่ได้ห่วงวัฒนธรรมเอาไว้ ซึ่งการบอกว่าเราเป็นคนอีสานก็เป็นการเมืองอย่างหนึ่ง เป็นการเมืองที่เล่าในน้ำเสียงอีกแบบ ทำให้ดูเหมือนว่าเสียงของคนอีสานดังขึ้น แต่ความจริงก็แค่มีคนฟังเสียงของคนอีสานมากขึ้นแค่นั้น เราพยายามจะส่งเสียงมาตั้งนานแล้ว แค่ไม่มีคนอยากฟังจริงๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าคนเห็นแน่ คือความสามารถของคนอีสานในการผลิตงานศิลปะ คนเราเมื่อเห็นความสามารถก็จะซึมเข้าไปในวิธีคิด ที่ผ่านมาเราจะเห็นกระแส “พระเอกขอนแก่น” ที่กลายเป็นคำขาย เมื่อก่อนทุกคนอยากเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด (หัวเราะ) ทุกวันนี้กล้าบอกว่าตัวเองมาจากที่ไหน นี่เป็นการเปลี่ยนและละลายพฤติกรรมคนอย่างค่อยเป็นไปโดยที่เราไม่รู้ตัว น้ำเสียงของคนอีสานป๊อปจะไม่ใช่น้ำเสียงของความโกรธเกรี้ยว ฉันโดนดูถูก โดนทำร้ายหนักมาก ต้องสู้เพื่อคนอีสาน ไม่ใช่น้ำเสียงอย่างนั้น แต่เล่าชีวิตแบบสนุกสนาน มันเป็นการต่อสู้แบบนุ่มนวล

แร็พยุคนี้มี R.A.D. กับเพลง ประเทศกูมี ลูกทุ่งหมอลำอีสานสายก้าวหน้าตอนนี้มีไหม?

มีนะ มีหมอลำการเมืองของ ม.ขอนแก่น ตอนที่นักศึกษาจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ #ขอนแก่นพอกันที ประท้วงหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ มีอยู่วงหนึ่งออกมาร้องหมอลำการเมือง หมอลำทำหน้าที่ 2 อย่างคือ เล่าเรื่องตำนาน คติสอนใจคน แต่อีกมุมคือ การพูดเรื่องการเมือง ต่อต้านส่วนกลาง หมอลำเป็นเช่นนี้มาตลอดและทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ แต่การเมืองในความหมายที่เราเข้าใจกันจะไม่ค่อยอยู่ในวัฒนธรรมป๊อป เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ต้องการเข้าถึงคนจำนวน แต่การเมืองก็ใมีอยู่ในเพลงป๊อป แค่ไม่ได้แบ่งสีแบ่งฝ่ายอย่างที่เราเข้าใจ เป็นการเมืองของวิถีชีวิต อย่างท่อนหนึ่งที่น่าสนใจในเพลงโอ้ละน้อ ของก้องห้วยไร่ ท่อนแร็พ โดย ปู่จ๋าน ลองไมค์ ซึ่งเป็นคนภาคเหนือ ร้องว่า “จะเหนืออีสาน ออก ตก พวกเราทั้งหมดก็ไทยเหมือนกัน” ท่อนนี้สะท้อนวีธีคิดแบบชาตินิยม อยู่ที่ไหนเราก็เป็นคนไทย เราเห็นการพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมแบบรัฐชาติ รวมศูนย์ แต่ขณะเดียวกันเพลงก็พูดว่า กรีดเลือดออกมาเป็นเลือดลาวเหล่านี้มีอะไรที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเราไม่รู้ว่าคนที่แต่งเพลงคิดอย่างไร แต่ศึกษาดูได้ เป็นการเมืองมากๆ พูดถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง

ณ เวลานี้ถึงจุดที่คำว่า ‘บ้านนอก’ หายไปแล้วหรือยัง หากสแกนจากเพลงลูกทุ่งในปัจจุบัน ความน้อยเนื้อต่ำใจยังมีอยู่ หรือหายไปแล้ว?

ชีวิตโอเคขึ้นเยอะแล้วนะ ส่วนตัวกลับรู้สึกว่าความน้อยเนื้อต่ำใจไม่ใช่เรื่องของการเป็นคนอีสาน แต่เป็นเรื่องของฐานะทางเศรษฐกิจมากกว่า หมายความว่าจะเป็นคนภาคไหน ถ้าจนก็จะมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ คำว่าอีสานไม่ได้ผูกติดกับคำว่าจนอีกต่อไปแล้ว โดยธรรมชาติของคนอีสานเป็นนักสู้ เอาตัวรอดเก่ง ไม่ต้องมานั่งน้อยเนื้อต่ำใจ วัยรุ่นอีสานก็ใช้ชีวิตกันไป ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเข้ากรุงเทพฯ ทุกวันนี้เป็นอีสานคูลแล้ว (หัวเราะ)

ช่วงโควิดหมอลำ ลิเก ลูกทุ่ง ต่างเดือดร้อนเพราะออกไปแสดงไม่ได้ หลายศิลปินหันมาทำคลิปลงโซเชียลมีเดียมากขึ้น กระทั่งมีการแต่งเพลงเกี่ยวกับโควิดด้วย หรือเปิดคอนเสิร์ตผ่านไลฟ์สด ชี้ว่าโซเชียลอิทธิพลสูงมาก ‘หมอลำหน้าฮ้าน’ คอนเสิร์ตแบบอีสานๆ จะมีวันตายหรือไม่?

หมอลำหน้าฮ้านก็เหมือนคอนเสิร์ต เทย์เลอร์ สวิฟต์ มีความคล้ายกัน มันเป็นเรื่องของการที่เราต้องไปอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อมีประสบการณ์กัน เป็นการรวมตัวเชิงกายภาพ แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะมีอะไรที่เป็นออนไลน์มากขึ้น เช่น คอนเสิร์ตออนไลน์ที่เห็นในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าวันหนึ่งมนุษย์จะต้องกลับมาหากัน วันหนึ่งโรคระบาดจะหายไปเพราะเรามีวัคซีนเราคงไม่ตัดขาดไปตลอดกาลถามว่าหมอลำหน้าฮ้านจะมีวันตายไหม ก็อาจจะตายถ้าไม่มีคนฟังแต่จะไม่ตายเพราะโควิด คนฟังรุ่นเก่าที่หายไป วัยรุ่นสมัยใหม่อาจจะไม่ฟัง แล้วหันไปฟังเพลงแนวอื่น เป็นเรื่องธรรมดาของวัฒนธรรม เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่มีการปรับตัว วันหนึ่งจะต้องหายไป ปัญหาคือ บางเรื่องถูกแช่แข็งไว้ให้เหมือนเดิม จึงไม่วัฒนะ จะไม่ไปต่อ

วัฒนะ คือความเจริญงอกงาม ดังนั้นเราควรทำวัฒนธรรมให้วัฒนะอยู่เสมอ หมอลำหน้าฮ้าน ถ้าทำแบบเดิมแล้วไม่มีคนฟังก็ควรจะปรับเปลี่ยนตัวเอง เหมือนที่เพลงอีสาน เพลงลูกทุ่ง หมอลำ ลิเก ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองมาตลอด หมอลำแบบเดิมก็ควรอนุรักษ์เก็บรักษาไว้เพราะเป็นภูมิความรู้ที่ส่งต่อกันมา แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องห้ามทำแบบนั้น แล้วต้องทำแบบนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการห้าม

วันหนึ่งก็ต้องตายไป เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ฟังแล้ว

 


ขอนแก่นก็ควรเป็นขอนแก่น ไม่ใช่เอา ‘กรุงเทพฯ’ ไปวาง

“การพูดว่าให้คนกลับไปหาเกษตรกรรม ควรจะพูดในการมองในมิติที่ละเอียดกว่านี้”

คือคำตอบของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย สาวขอนแก่นตัวจริง ต่อประเด็นคำถามที่ว่าคนประสบความสำเร็จในเมืองแล้วจะกลับบ้าน แต่ปัจจัยยังไม่ถึงเพราะค่าครองชีพในเมืองสูง จึงต้องติดอยู่ในกรุงนานกว่าจะสานฝันได้

พอจะมีไอเดียอะไรที่จะช่วยให้สานฝันได้เร็วขึ้น รัฐบาลสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?

“สำคัญที่สุดคือ ต้องมีงานให้คนทำมากขึ้นที่ต่างจังหวัด ถ้าจะให้คนกลับไปทำเกษตรกรรมสิ่งสำคัญคือรัฐบาลควรเตรียมความพร้อมให้เขา เพื่อให้งานทุกแบบรองรับคนทุกกลุ่มได้ ไม่ควรรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ ที่มีทุกอย่าง จะทำอะไรก็ได้ คนก็แห่เข้ามา ถามว่าถ้ามีงานที่บ้าน คนต่างจังหวัดอยากมาอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือไม่ อยู่ที่บ้านไม่ดีกว่าหรือ แต่ปัญหาคือที่บ้านไม่มีงาน ความจริงแล้วการขยายเมืองอย่าง ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่อยู่จังหวัดเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้ากรุงเทพฯ หรือจบกรุงเทพฯก็กลับไปทำงานที่บ้านได้ การสร้างธุรกิจรายย่อยและขนาดกลางที่มากขึ้นจะทำให้มีอัตราการจ้างงานมากขึ้น เกษตรกรไม่ควรทิ้ง แต่ถามว่าจะทำอย่างไรให้ชาวนาไม่ใช่คนจนอีกต่อไปเพราะตอนนี้ใครทำนาก็จน ดังนั้น สำคัญคือการสร้างงานให้ครอบคลุมคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกประเภท ปัจจุบันมีอาชีพเยอะมาก ทำขนมปังก็เป็นอาชีพได้ ทำงานอะไรก็ได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวล ควรจะมีรายรับที่สามารถอยู่ได้จริง”

ปาณิสยังบอกว่า ปัญหาคือเวลาเราพูดว่าขยายเมือง มักคิดว่าต้องเป็นการเอากรุงเทพฯ ไปวาง แต่ความจริงธรรมชาติของเมืองไม่เหมือนกัน ขอนแก่นก็ควรจะเป็นขอนแก่น มีนักศึกษาเยอะ แล้วจะพัฒนาเศรษฐกิจและความสร้างสรรค์จากจุดนี้ได้อย่างไรบ้าง คนบางคนควรจะอยู่บ้านแล้วทำผ้ามัดย้อมได้ถ้าเขาอยากทำ

“เราควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยการคิดอย่างชาญฉลาดเพื่อดึงคนกลับสู่บ้านตัวเอง ไม่ควรจะไปสร้างกรุงเทพฯ ในทุกที่ แต่ควรจะทำให้แต่ละที่โตในรูปแบบของตัวเองได้ เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว คนมีความสามารถอยู่ที่เมืองของเขาได้ สถานศึกษาควรพัฒนาให้เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ทุกคนต้องเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ถึงจะดี

“เราไม่ควรให้สิ่งที่ดีๆ อยู่แค่ในกรุงเทพฯ จึงต้องคิดให้ครบตั้งแต่เกิดจนตาย ให้คนสามารถอยู่ในพื้นที่หนึ่งได้อย่างดี เชื่อว่าคนก็ไม่อยากไปที่ไหนหรอก

“อยากอยู่บ้านตัวเองถ้ามันดีแบบนั้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image