เปิดปากคำคนทำ ‘คราฟต์เบียร์’ อาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ จำเลยฐานมอมเมาในชั่วโมง ‘ล็อกดาวน์’

ไม่ว่าจะ “กินเหล้าเข้าสังคม”

ไม่ว่าจะประโยคคุ้นหูสุดคลาสสิก “ข้าไม่ได้ติดใจในรสชาติของสุรา หากแต่ชื่นชอบบรรยากาศของการร่ำสุรา” ล้วนคือคำติดหูคู่วงสังสรรค์ ที่จำต้องพับเก็บลิ้นชักพักการตั้งวงไปชั่วขณะ ด้วย “มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม”

ด้านผู้ประกอบการรัฐบาลสั่งห้ามขาย ครั้นสถานการณ์มีทีท่าดีขึ้นจึงคลี่คลายให้คอดื่มกลับมาซื้อขายให้หายคอแห้ง และล่าสุดดูเหมือนจะมีข่าวดี มีการพิจารณามาตรการผ่อนปรน เฟส 4 สถานบันเทิงอาจได้กลับมาเปิดอีกครั้ง หลายแห่งมีความหวัง เตรียมความพร้อมกลับมาสร้างสีสันยามค่ำคืนในยุคโควิด สำหรับ ชมรมผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายคราฟต์เบียร์ ก็ไม่น้อยหน้า ประธานชมรม ในวัย 54 ปี อาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ บอกว่า “พร้อมเต็มที่” เดินหน้าประสานงานกับชมรมผู้ประกอบการร้านค้ากว่า 50 เจ้า ร่างมาตรการป้องกันไม่ว่าจะเว้นระยะห่าง ทำความสะอาด พ่นยาฆ่าเชื้อ ตั้งเจลแอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ เรียกได้ว่า ตรงตามมาตรฐานรัฐทุกประการ จะมีมากกว่า คือการคัดกรองที่ต้องเข้มงวดมากขึ้น

ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่อดีตช่วงโควิดธุรกิจแขนงนี้ถูกพายุโหมซัดมาหลายหน รายได้หดลงมหาศาล ซ้ำยังถูกปลูกฝังมโนทัศน์ด้วยการตีตรามาช้านานว่าเป็น สินค้าบาป ขนาดล่าสุดเมื่อเปิดให้ขายแบบกลับบ้านได้ ก็มีการใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 กลายเป็นผู้มีความผิด ฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการถ่ายภาพลงโซเชียลให้เห็นโลโก้ ขวด กระทั่งแก้วที่มีตรา จะเป็นการโฆษณามอมเมาเยาวชน

Advertisement

คำขวัญล่าสุดโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ 2563 คือ “สุรา พาคิดน้อย ด้อยความปลอดภัย” ในขณะที่ 1 ใน 5 ของงบประมาณบริหาร คือภาษีที่จัดเก็บจากเครื่องดื่มประเภทนี้ แต่ช่องโหว่ทางกฎหมายกำลังเหยียบย่ำซ้ำเติมให้พวกเขา อยู่ไม่ได้ นี่คือความในใจของตัวแทนคนทำ “คราฟต์เบียร์” ที่แบกภาระหนักบ่า เหลียวหลังเห็นข้อหา แลหน้าเห็นเบียร์อายุสั้นในคลัง ที่กำลังทยอยหมดอายุ

จู่ๆ ถูกสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผ่านมาชมรมผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ของที่สต๊อกไว้เสียหายนับกี่ลิตร สาหัสขนาดไหน?

ก็รายได้เป็นศูนย์ครับ ขายไม่ได้เลย เปิดหน้าบิลไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย มีระบบรองรับอยู่ ส่งเข้าห้างก็ไม่ได้ จะขายไปที่บาร์ก็โดนสั่งปิด มีบางบาร์ที่แอบเปิดขายก็โดนปรับกันไปตาม พ.ร.ก. แต่โดยสถานการณ์แล้วคือ ซีโร่อินคัม ในขณะที่ยังจ่ายเต็มที่อยู่ ตอนโดนคำสั่งปิดทีละ 15 วัน ไม่มีใครไล่พนักงานออกทันที ทุกคนรอ พอถึงวันที่กำหนดก็ยืดออกไปอีก 15 วัน ทำอะไรไม่ได้อีก จะไปเอาพนักงานออกก็ไม่ได้ ซึ่งราชการบางหน่วยงานก็บอกว่าไปยื่นประกันสังคมได้ มีคนไปขอยื่นนะแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขาอ้างอิงตามคำสั่งประกาศห้ามขาย 15 วัน จึงชดเชยแค่ 15 วันก่อน เงินเดือน 15,000 บาท บางคนก็ได้แค่ 3,000-4,000 บาท ความเสียหาย รายย่อยและรายกลาง ยังไม่รวมเจ้าใหญ่ ตัวเลขที่เราเคยยื่นกรมสรรพสามิต รวมประมาณ 500,000 ลิตร ที่นำเข้าเฉพาะกลุ่มเรา แต่สต๊อกรวมทั้งหมดประมาณ 3 ล้านกว่าลิตร ซึ่งตีเป็นมูลค่าได้ยาก เพราะราคาเบียร์ คราฟต์แต่ละเจ้า บางคนสูง บางคนต่ำ เราจึงเรียนขอความอนุเคราะห์ให้มีการคืนภาษีเร็วขึ้น

ก่อนหน้านี้ดำเนินการร้องเรียนที่ไหนไปบ้าง มีอะไรคืบหน้าหรือไม่ อย่างไร?

เราได้ไปยื่นขอเปิดขายส่งกลับบ้าน ที่ศูนย์ดำรงธรรม และสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าให้พิจารณาตีความเราเป็นเหมือนร้านอาหาร ถ้าร้านอาหารเปิดได้ ผับ-บาร์ก็อยากให้เปิดได้ ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์ให้เปิดแบบขายกลับบ้านได้ ซึ่งเราเองก็ไม่แนะนำให้มาดื่มที่ร้านอยู่แล้ว จึงปฏิบัติตามมาตรการของทางรัฐ เมื่อให้ซื้อกลับบ้านได้ก็ต้องมีการสื่อสารกับลูกค้าว่ามีอะไรที่ขายกลับบ้านได้บ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือกลายเป็นโดนไล่จับกันกว่า 500 เคส ว่ามีการโฆษณาออนไลน์ ฝ่ายจับก็จับ หน่วยปรับก็ปรับ ไม่สนใจ ซึ่งความจริงเป็นสิ่งที่เราขอราชการแล้ว และราชการก็ยินยอมให้เราทำนะ อืม…

ส่วนเรื่องการผ่อนปรนเคลื่อนย้ายสินค้าซึ่งมีปัญหาที่ จ.ชลบุรี สินค้าที่เข้ามาทางแหลมฉบังติดขัดในการขนย้ายออกจากคลังของท่าเรือมาที่โกดัง เคลื่อนย้ายสินค้าไม่ได้ กลายเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะสินค้าที่เข้ามาอยู่ในคลังของท่าเรือยิ่งเอาออกช้า ค่าเช่าก็จะเพิ่มแบบยกกำลัง ไม่ใช่เรตต่อวันที่เท่ากัน 7 วันแรกเรตหนึ่ง อีก 7-14 วันอีกเรต 14-21 วันอีกเรตหนึ่ง ซึ่งเขาก็อะลุ้มอล่วย ยอมให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ ต้องขอบคุณทางราชการที่เข้าใจ เรื่องขอคืนภาษี มีการประชุมกับกรมสรรพสามิตอีกรอบ ทางกรมกำลังดำเนินการกับกระทรวงการคลังอยู่ โดยจะให้เป็นลักษณะ เครดิตภาษี งวดหน้าเอาสินค้าเข้ามาก็เอาตรงนั้นมาใช้ได้

การที่เราขออนุญาตขายแบบกลับบ้านแล้วมาเจอเรื่องขายออนไลน์ เข้าใจว่าเป็นจังหวะเดียวกันกับที่เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พยายามรณรงค์ ยื่นหนังสือกับกระทรวงสาธารณสุข ขอห้ามไม่ให้มีการขายสุราออนไลน์ ด้วย 2 เหตุผล คือ 1.ไม่สามารถควบคุม หรือตรวจสอบได้ว่าผู้ซื้อมีอายุต่ำกว่า 20 ปีจริง 2.การขายนอกช่วงเวลา ที่มองว่ากรณีขายออนไลน์สามารถซื้อขายได้ทั้งวัน ซึ่งเราก็เข้าใจ แต่แปลกใจอยู่เหมือนกัน เพราะกฎหมายจำหน่ายตามเวลาปัจจุบันทั่วโลกไม่มีแล้วนะ มีที่เมืองไทยที่เดียว (หัวเราะ) ซึ่งสร้างความไม่สะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เพราะเขาไม่รู้ มาถึงเมืองไทยเขาจะกินเบียร์ ต้องอย่าลืมว่า ไวน์ เบียร์ เป็นเครื่องดื่มประจำชาติของเขา มีกฎหมายหลายตัวที่เราใช้กันในประเทศแต่ไม่สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) เช่น กฎหมายฉลาก ซึ่งตอนนี้เป็นปัญหา ทำให้บริษัทบาร์-เหล้าเมืองนอกร้องเรียนผ่านทาง WTO ว่า กฎหมายฉลากบ้านเราไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น ฉลากไวน์ไม่สามารถพูดได้ว่าผลิตปีอะไร ซึ่งไวน์มันต้องมีการระบุปี (หัวเราะ) เป็นกฎหมายที่แม้จะมีประชาพิจารณ์ แต่ถึงเวลาก็ประชาพิจารณ์กันในกลุ่มคนที่จัดตั้งขึ้น ทำให้กฎหมายออกมาลักลั่น ปัจจุบันก็ยังใช้ได้แบบครึ่งๆ กลางๆ

ส่วนที่กำลังรณรงค์กันอยู่ตอนนี้ คือ 1.กฎหมายการควบคุมเวลาขาย ยื่นเสนอไปว่า อยากให้มีการพิจารณาใหม่ 2.การขายออนไลน์ ว่าจะเอาอย่างไร ไม่สามารถยืนยันอายุได้ก็ห้ามขาย เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายมาก อย่าลืมว่าเรามีกระทรวงดิจิทัลฯ เรามีสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องพวกนี้ จะเห็น “ไทยชนะ” ที่ทำออกมา เป็นอะไรสมัยใหม่หมดแล้ว เอาเบอร์มือถือยืนยันอายุก็ได้เพราะลงทะเบียนกับทางรัฐอยู่ ความจริงยืนยันได้หลากหลายวิธีมาก แต่ประเด็นคือเขาไม่เคยคิด คิดเพียงไม่ให้ขาย ซึ่งในแง่องค์รวมของประเทศ ถ้าทำอย่างนั้น พูดตรงๆ ก็แสดงว่าเรายังเป็นเหมือนประเทศโลกที่ 3 ในขณะที่นโยบายของรัฐอยากเป็น ไทยแลนด์ 4.0, 5.0, 4G, 5G คะคานย้อนแย้งกับนโยบายของรัฐทั้งหมด เราก็งง นายกฯพูดเอง “ไปขายออนไลน์สิ” แต่พอเหล้าเบียร์ไม่ให้ขาย เครือข่ายต้องรับฟังเสียงประชาชนบ้าง

อย่างโพสต์ที่ขึ้นหน้าเพจว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนไวรัสโควิด มันเป็นตรรกะที่ตลกมากเลยนะ คนเข้าไปคอมเมนต์กันเยอะมากจนกระทั่งต้องลบโพสต์ คือเราไม่ได้ไปยุใคร แล้วเขาก็จะมาเขียนว่า เป็นหน่วยจัดตั้ง คือ มายด์เซตเขายังเดิมๆ อยู่ กลายเป็นว่าทุกวันนี้รังแกประชาชน ยังไม่ยอมรับว่าที่บุกจับกันก็คือประชาชน มองว่าเป็นเครือข่ายจัดตั้ง หาว่าเป็นนอมินีของเจ้าสัว เรารับไม่ได้ จู่ๆ บอกเป็นตัวแทนนายทุน คุณไม่เข้าใจบริบทของโลกปัจจุบันว่ามีธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ซึ่งความจริงกระทบทุกคน แต่เจ้าใหญ่ไม่พูดเพราะจะโดนคุณเหมารวม เดี๋ยวนี้การหาคนที่คิดเห็นเหมือนกันมีวิธีการมากมาย ไม่จำเป็นต้องปลุกระดม พูดกันตรงๆ เราเองเห็นเขามานานมาก ถามแค่ว่า พวกผม 4-5 คน ไปยื่นจดหมายให้ทางราชการ ใส่ซองกระดาษ แปะหน้าแผ่นเดียว แล้วไปยื่นแบบบ้านๆ ในขณะที่เครือข่ายไปยื่นจดหมายที พร็อพเอย คนเอย ป้ายไฟ ฟิวเจอร์บอร์ด เต็มที่ เหมือนกับเชียร์ดารานักร้อง (หัวเราะ) แบบนี้จัดตั้งปะ? คิดว่าคนเห็นแล้วไม่คิดอะไร แต่จริงๆ เขาคิด เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสแสดงออก พอมาช่วงนี้ที่มีการถูกจับ ถูกปรับกันเยอะ ถึงมีการแสดงออกมากขึ้น

ช่วงที่รัฐบาลผ่อนปรนให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเห็นภาพประชาชนแห่ซื้อจนหมดเชลฟ์ในพริบตา เวลานั้นยอดขายคราฟต์เบียร์กระเพื่อมขึ้นบ้างไหม?

ไม่เลยครับ กำลังซื้อของคนถดถอยช่วงโควิด ที่ขึ้นคือบริษัทใหญ่ เพราะคนมีเงินในกระเป๋า 1,000 บาท ซื้อเบียร์ท้องถิ่นผลิตในประเทศได้เป็นลัง ซื้อเบียร์คราฟต์ได้แค่ 5-6 เต็มที่ 10 กระป๋อง ซึ่งการที่เครือข่ายออกมาพูดว่าเปิดขายชั่วคราว เดี๋ยวปิดอีก ยิ่งกระตุ้นให้คนไปตุน เป็นธรรมดาของคน เหมือนช่วงโควิดแรกๆ ไม่ต้องเหล้าเบียร์คนก็ไปตุนของกันอุตลุด

ก่อนหน้านี้มีการตั้ง “สมาพันธ์สนับสนุนการดื่มที่บ้าน” (สสบ.) หนุนแคมเปญของ สสส. #สัญญาว่าจะอยู่บ้าน แนวคิดนี้เป็นมาอย่างไร นักดื่มให้ความร่วมมือจริงหรือ เมื่อเสน่ห์ของการดื่มคือการร่วมวงสนทนา?

เรารู้สึกว่าหน่วยงานรัฐพูดสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ว่าดื่มอยู่ที่บ้านแล้วเป็นคนติดแอลกอฮอล์ ค่อนข้างตกใจว่าทำไมเครือข่ายคิดขนาดนั้น เราจึงตั้งสมาพันธ์นี้ขึ้นมา รณรงค์ให้คนดื่มที่บ้านอย่างไม่สร้างความเดือดร้อน ซึ่งคนก็ยังปฏิบัติมีติดแฮชแท็กกันอยู่ เป็นเสียงของคนดื่มแอลกอฮอล์แบบเงียบๆ ซึ่งมักไม่ค่อยแสดงความเห็น อยู่ของเขาเรื่อยๆ ดื่มที่บ้าน ไม่ได้ออกไปข้างนอก เอนจอยกับอารมณ์การดื่ม มองว่าเป็นเรื่องสุนทรีย์ เหมือนเอนจอยอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งมีไม่น้อยเป็นหลักแสน แม้แต่ชาวบ้านร้านตลาดก็นั่งตั้งวงดื่มที่บ้าน ไม่ได้ไประรานใคร มีไม่กี่คนที่เป็นข่าวว่ากินแล้วหมดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ที่ผ่านมาเครือข่ายราชการจะรณรงค์ไม่ดื่ม โทษว่าเป็นสินค้าบาป ในขณะที่เรารณรงค์ว่าทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ ให้คนดื่มอย่างมีสติ รณรงค์ว่าคุณต้องรับผิดชอบตัวเองก่อนที่จะไปดื่ม อย่างเมืองนอกมี drink possibility นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นทางรัฐรณรงค์มากกว่า แต่กลายเป็นยกประโยคนี้ในเชิงลบว่า ไม่มีหรอกใครที่ดื่มอย่างรับผิดชอบ ซึ่งถ้าไม่ดีทำไมเมืองนอกใช้กัน บ้านเราอะไรที่ไม่เข้าแก๊ป เข้าทางความคิดของเขาจะต่อต้านทั้งหมด ในขณะที่ทั่วโลกใช้หมด

เมืองนอกอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าผับ บาร์ ซื้อเหล้า ดื่มแอลกอฮอล์ มีความผิดนะ แต่บ้านเราไม่ กฎหมายปกป้องเพราะเป็นเยาวชน ถามว่าเกิดอะไรขึ้น เด็กอยากไปเที่ยวผับ ทำเฟกไอดี ร้านถูกลงโทษปิด 5 ปี ตำรวจท้องถิ่นถูกเด้งยกแผงกระทบไปหมด ปัจจุบันเราให้เด็กอายุ 18 ปีมีสิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งสิทธิต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ อยากเห็นรัฐมีมาตรการลักษณะเพื่อการป้องกันมากกว่า หลายคนก็ไปเทียบว่าโฆษณาเหล้าเบียร์โดนปรับ 50,000-500,000 บาท ในขณะที่เมาแล้วขับโดนแค่ 20,000-200,000 บาท ซึ่งน้อยกว่ากันมากทั้งที่เป็นความผิดที่เกิดแล้ว แต่นี่ความผิดยังไม่เกิดกฎหมายลักลั่นมาก เราถึงรณรงค์แก้ ม.32 ไม่ได้ขอแก้เยอะ อยากให้เพิ่มคำว่า “โดย” เข้าไป จะชัดเจนขึ้นว่า ถ้าโฆษณาโดยมีเครื่องหมายการค้า อย่างนี้ผิด ไม่ว่ากันเราเข้าใจ แต่ไม่ใช่เหมาทุกคน ถึงบอกว่าเป็นกฎหมายที่กดสิทธิพื้นฐาน พูดตรงๆ คือ ขัดรัฐธรรมนูญ นี่เป็นอีกส่วนที่เรากำลังดำเนินการประสานกับฝ่ายกฎหมาย ว่าเราจะสามารถขอปรับกฎหมายให้อิงกับรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลควรทำในตอนนี้ และอนาคตหลังจบโควิด ?

โควิดเราควบคุมได้ค่อนข้างดี เข้าใจหมอว่าห่วงการระบาดรอบสอง เหมือนเราเป็นหวัด ไปหาหมอ ก็จะห้ามกินแอลกอฮอล์ ห้ามนอนดึก เพราะเป็นห่วง หลายคนก็บ่นว่าหมอคิดมากไป แต่เราต้องเข้าใจมายด์เซตของหมอคือป้องกันดีที่สุด ส่วนใจผมป้องกันดี แต่อย่าให้เป็นลักษณะของการ “ห้าม”

สำหรับรัฐบาลจากนี้เป็นเรื่องการผลักดันเศรษฐกิจ หมอทำให้การสาธารณสุขได้ได้รับความเชื่อมั่นจากทั่วโลก ฉะนั้นเรื่องการท่องเที่ยวมาแน่ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าทุกวันนี้เคสที่เพิ่มขึ้นคือ อิมพอร์ต เดินทางมาจากต่างประเทศ ในประเทศไม่มีเพิ่ม จึงอยู่ที่ Gate Way ตอนคนเดินทางเข้าว่าจะป้องกันได้อย่างไรมากกว่า ญี่ปุ่น เกาหลีมีชุดตรวจน้ำลายซึ่งสกรีนคนได้ระดับหนึ่ง อยากเห็นรัฐบาลลงทุนตรงนี้ เราเน้นเรื่องการวัดอุณหภูมิอย่างเดียว แต่วิธีที่น่าจะได้ผลมากที่สุดถ้าทำได้คือการสกรีนทุกคน โดยเป็นค่าใช้จ่ายของคนเดินทาง รัฐบาลไม่ต้องแบกภาระ ซึ่งตอนนี้องค์การเภสัช มีการทำ test kit หลักร้อยบาท นักท่องเที่ยว คนในประเทศ และหมอ ก็น่าจะสบายใจขึ้น เข้มข้นกันตอนคนเข้ามาดีกว่า

คิดเห็นอย่างไรกับการมองว่าคนที่ดื่ม คือ คนไม่ดี เมาแล้วเป็นคนบาป เห็นอะไรจากการห้ามโพสต์รูปเหล้าเบียร์ลงโซเชียล?

อึ้งที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่มีน้องไปญี่ปุ่น ดื่มเบียร์และถ่ายคลิปมายูทูบ ซึ่งไม่ใช่เบียร์ที่ขายในเมืองไทย ก็บอกว่าเป็นการโฆษณาอาจทำให้คนเห็นแล้วบินไปดื่มที่ญี่ปุ่น นี่คือเคสที่อึ้งสุด รองลงมา มีการแปลบทความว่าเมืองนอกว่ามีการออกสินค้าตัวใหม่ ซึ่งเมืองไทยไม่มีขาย เจ้าหน้าที่บอกว่า โพสต์แบบนี้อาจจะมีคนบินไปซื้อมาดื่ม เราอึ้งกับการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ต้องเข้าใจก่อนว่ากฎหมาย ม.32 เป็นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ป้องกันเยาวชน อย่างเคสนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่เยาวชนเห็นแล้วจะบินไปดื่ม ถึงบอกว่า พอไม่มีกฎหมายที่ให้บทลงโทษนักดื่มหน้าใหม่ทำให้ทุกคนซวยไปหมด เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นักดื่มหน้าใหม่น้อยลงทุกปี แต่กฎหมายเหมารวมเป็นหลัก นึกอะไรไม่ออกก็ห้ามไว้ก่อน ไม่มีความเข้าใจเรื่องระบบออนไลน์ก็ห้ามไว้ก่อน บอกว่าห้ามโฆษณาแต่ฟีดที่มาจากเมืองนอกให้เข้ามาได้เพราะไม่มีกฎหมายระบุไว้ สุดท้ายคุณไม่ได้โดดเดี่ยวอยู่บนโลก ขนาดจีนยังเปิดประเทศเลย คนจีนขึ้นชื่อเรื่องการดื่มเหล้าขาว โหดมาก ไม่ต้องไปเทียบถึงฝรั่ง ที่มีวัฒนธรรมเบียร์-ไวน์ แต่จีน-ไทย ไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน ทำไมจีนไม่มีปัญหาเรื่องพวกนี้

ส่วนตัวเชื่อว่าคนเรามีทั้งข้อดีและไม่ดี คุณอาจจะบอกว่าคนดื่มเหล้าเป็นคนไม่ดีก็ได้ เหมือนคนทำงานธุรกิจกลางคืนแต่เขาเลี้ยงดูพ่อแม่ เขาส่งน้องเรียน ทำได้หลายอย่าง เวลาดูคนต้องดู 2 มุม เราเข้าใจเครือข่ายนะ ที่รณรงค์อย่างหนักเพราะเป็นการหาผลงาน ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่ได้รับเงินสนับสนุน ถึงบอกว่า ส่วนหนึ่งคุณช่วยสังคม เราชื่นชม แต่บางเรื่องสุดโต่ง บางทีคุณต้องฟังสังคมด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่รณรงค์ในทิศทางที่ใครไม่คิดเห็นเหมือนกัน ก็ปรักปรำเขาว่าเป็นคนไม่ดีไปทั้งหมด

เราอยากเห็นการทำงานร่วมกัน นโยบายรัฐก็ปรองดองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คุณทำตอนนี้ขัดกับนโยบายรัฐทุกอย่าง ทุกคนอยากขึ้นออนไลน์ รัฐบาลก็อยากให้ทำออนไลน์ แต่กลับมาบล็อกไม่ให้ทำ ทั้งที่หากให้ทำรัฐก็มีรายได้เพิ่ม เข้าใจว่าปีนี้รัฐบาลจัดเก็บภาษีไม่มีทางเข้าเป้าอยู่แล้ว เหล้าเบียร์ที่หยุดขายไป 1-2 เดือน คือภาษี 1 ใน 5 ของงบรัฐบาลด้วยซ้ำ 170,000 ล้านบาท ที่เก็บจากเราไป หากไม่สนใจ พูดตรงๆ ว่า อย่างไรก็บริหารประเทศไม่รอด ไม่ได้พูดว่าเรามีบุญคุณ แต่ของอย่างนี้เหมือนกับ น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

เรามักจะได้ยินว่า ดื่มสุราเพื่อลืมทุกข์ แต่ตอนนี้คนทำธุรกิจสุราทุกข์หนัก มองสถานภาพชมรมคราฟต์เบียร์ ณ ปัจจุบัน รสชาติจะประมาณไหน?

ตอนนี้เราดิ้นรน โควิดไวรัสเหมือนดิสรัปต์อย่างหนึ่ง ธุรกิจคราฟต์เบียร์กำลังปรับตัวกันอยู่ ผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์หลายเจ้าหันมาทำธุรกิจอื่นๆ เสริม ส่วนตัวทำธุรกิจเรื่องการฆ่าเชื้อ เพื่อแยกความเสี่ยงออกไป คนทำคราฟต์เบียร์เต็มที่เราก็หยุดนำเข้าไปพักหนึ่ง แล้วมานั่งจัดอะไรใหม่ได้ ว่าจะนำเข้าอีกหรือไม่ ในแง่การปรับตัวเราจึงปรับได้เร็ว รสชาติตอนนี้จึงยังไม่ได้ขมมากขนาดนั้น ด้วยนโยบายรัฐที่ไม่แน่นอนเวลาทำอะไรเราจึงต้องระมัดระวังพอสมควร วันที่รัฐประกาศห้ามขาย คือก่อนสงกรานต์ ซึ่งเราวางแผนล่วงหน้า 2-3 เดือน ไม่คิดว่ารัฐบาลจะเลื่อน ดังนั้น ที่เจ็บอยู่ตอนนี้มาจากการที่เตรียมของช่วงสงกรานต์แล้วไม่ได้ขาย ส่วนความเป็นอิสระของคราฟต์เบียร์ยังเหมือนเดิม เพราะกฎหมายยังไม่เปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุที่หนีไปทางอื่น ต้มที่เมืองนอกแล้วนำกลับเข้ามา ซึ่งค่อนข้างน่าเสียดาย แทนที่จะต้องเสียค่าตั๋ว ค่าที่พัก ค่ากิน เสียภาษีให้เขาที่นู่น เสียค่าอิมปอร์ต และเอ็กซ์ปอร์ตกลับเข้ามาเมืองไทย เงินส่วนนี้น่าจะเป็นของคนไทยล้วนๆ แต่เพราะเราผลิตที่บ้านไม่ได้

ในกลุ่มมีความคิด 2 อย่าง คือ 1.ขอให้ปลดล็อก ไม่ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ไม่ต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ ก็ส่งให้ทางพรรคก้าวไกลดำเนินการ แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตที่รัฐอนุญาตมี 2 ช่วง คือ 1 แสน-1 ล้าน อย่างตะวันแดง และ เกิน 10 ล้านขึ้นไป อย่างไฮเนเก้น สิงห์ ช้าง ลีโอ ซึ่งจะเห็นว่าโรงเบียร์ช่วง 0-แสน (ขนาดเล็ก) และ 1-10 ล้าน (ขนาดกลาง) ยังไม่มี ถ้าเราผลักดันให้ทำได้จะเป็นประโยชน์กับประเทศอย่างมากเพราะคนจะกล้าลงทุนมากขึ้น แต่รัฐบาลก็คงจะเกรงเพราะมีรายย่อยมากขึ้น รัฐก็กลัวว่าท้ายที่สุดจะโดนเครือข่ายออกมาโจมตีว่าไม่ห่วงสุขภาพคนในประเทศ ต้องเตรียมงบสำหรับคนที่เจ็บป่วยเพราะดื่มแอลกอฮอล์เยอะอีก

ทิศทางของคราฟต์เบียร์ในอนาคตจะไปอย่างไรต่อ เมื่อส่งด้วยบริการดิลิเวอรีไม่ได้ และล่าสุดกฎหมายก็ออกมาห้ามโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์?

ผมมองว่าธุรกิจคราฟต์เบียร์ในประเทศไทยน่าจะโตขึ้น เพราะตอนนี้เรามีโรงเบียร์ขนาดกลางของ ไทย สพิริท อาจมีโรงเบียร์ขนาดกลางเกิดขึ้นอีกที่ ซึ่ง 2 โรงนี้จะซัพพอร์ตไทยคราฟต์ให้โตเป็น Made in Thailand อนาคตของคราฟต์เบียร์น่าจะยังสดใสอยู่ แต่ในเรื่องการห้ามโฆษณา ต้องบอกว่า ธุรกิจแอลกอฮอล์โดนกลั่นแกล้งเยอะ โดนข้อกำหนดสารพัด ภาษีเสียเยอะสุด สารพัดภาษีที่ต้องเสีย แต่ในแง่คนทำธุรกิจมีทางดิ้นอยู่ เพียงแต่ช่วงนี้ที่หนักเพราะประชาชนโดน คือสิ่งที่เราอยากสื่อสารไปยังเครือข่าย เพราะเครือข่ายก็ฟังมา ไม่ใช่คนที่เดินไปคุยกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เป็นคนจ่ายค่าปรับ แต่ประชาชนที่โดนเขาไม่รู้จะไประบายกับใคร จึงมาหาพวกผม พวกผมก็โดนก็ไปจ่ายเต็มที่ ไม่ได้เกี่ยง เพียงแต่คนที่โดนเป็นบล็อกเกอร์ เป็นประชาชนคนธรรมดา ไม่รับเงิน แต่เขียนด้วยความสุจริตใจ ไม่มีผลประโยชน์ทางการค้า และเขียนถึงโปรดักต์ที่อยู่นอกประเทศ แต่เหมาความ แล้วทึกทักเอาเอง คือสิ่งที่เราอยากขอ อย่าเลย อย่าใช้ดุลพินิจแบบนี้เลย เพราะคนที่เดือดร้อนคือประชาชน


คราฟต์เบียร์ ก็คือ ‘อาหารจานหนึ่ง’

“คราฟต์เบียร์เหมือนอาหาร เราจะเห็นส้มตำเป็นอาหารท้องถิ่นที่กินกันทั่วไป ในขณะเดี๋ยวกันก็มีส้มตำที่เป็นคราฟต์ด้วยการประดิษฐ์ ใส่นู่นนี่นั่นเข้าไป หรือผัดไทยที่ขายริมถนน ก็มีผัดไทยที่ขายตามภัตตาคาร คราฟต์เบียร์ไม่ต่างกัน เป็นสิ่งที่เราพูดมาตลอดว่า จริงๆ คราฟต์เบียร์คืออาหาร” นี่คือมุมมองของ อาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์

ที่ยืนยันว่าไม่กลัวคราฟต์เบียร์จะตาย เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ของตลาด คือเบียร์ลาเกอร์ คราฟต์เบียร์จึงเสมือน “เบียร์ทางเลือก” สำหรับคนที่วันนี้ไม่อยากกินรสชาติเดิม

“แต่บริบทของสังคมปัจจุบัน เครือข่ายไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาคิดอย่างเดียวว่ามันคือเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ แต่ถ้าคิดในแง่มุมกลับว่า คืออาหาร มีลำดับชั้นของมัน คุณอาจจะไปกินผัดไทยประตูผี คุณอาจจะไปกินผัดไทยหน้าปากซอย คุณอาจจะไปกินผัดไทยในเซเว่น หรือคุณอาจจะไปกินผัดไทยที่โรงแรม ก็ต่างกันหมด ทั้งๆ ที่คือผัดไทยเหมือนกัน คราฟต์เบียร์คือแบบนั้น แต่ที่ผ่านมาบริษัทเบียร์ในเมืองไทยผลิตเบียร์ออกมาประเภทเดียวคือ ลาเกอร์ นั่นคือบริบทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่บริบท 10 ปีนี้มันไม่ใช่ โลกมันเคลื่อนไปตลอด แต่เครือข่ายเขายังไม่เคลื่อนตาม”

อาชิระวัสส์ ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า เร็วนี้ๆ อาจมีข่าวดีว่าเราจะมี “คราฟต์เบียร์ เมดอินไทยแลนด์” เพราะมี 1 โรงเบียร์ ที่เพิ่งได้ใบอนุญาต อยู่ในขั้นเจรจาว่าจะผลิตในประเทศได้หรือไม่

“แต่ก็ต้องลุ้นกันต่อ เพราะยังถูกโดนเพ่งเล็งจากกลุ่ม เครือข่าย บางครั้งทำให้ราชการไม่กล้าตัดสินใจเปิดให้มีการสนับสนุนคราฟต์เบียร์มากขึ้น เพราะจะกลายเป็นสนับสนุนให้บริโภคแอลกอฮอล์ สูญเสียฐานเสียง เพราะถ้าได้ฐานเสียงของ ‘คนดี’ รัฐบาลก็เหมือนได้ความชอบธรรมในการบริหารประเทศ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image