ประธานหอการค้าไทย-จีนคนใหม่ในยุค (หลัง) โควิด ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ‘อย่าไปกลัว ผมว่าเรามีทางออกอีกเยอะ’

“ผมว่าประเทศไทยเรายังมีทางออกอีกเยอะ”

คือคำกล่าวของ ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน (Thai Chinese Chamber of Commerce หรือ Thai CC) สมัยที่ 27 โดยรับไม้ต่อจาก จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี

ประกาศนโยบายตั้งเป้าคณะนักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทยไปเยือน 30 มณฑลในแผ่นดินจีน พร้อมสานต่อภารกิจเพื่อความร่วมมือของทั้งสองประเทศในทุกมิติ

10 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2563 คือวันเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดในจีนก่อนส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยในเวลาต่อมาจวบจนนาทีนี้

Advertisement

ก่อนจะเดินหน้าภารกิจตามที่ปักธงไว้ หอการค้าไทย-จีน ยังมีบทบาทช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งในจีนและไทย

“จริงๆ แล้วหอการค้าไทย-จีน มีบทบาทเรื่องการค้ามากกว่า แต่พูดถึงเรื่องการกุศล การช่วยเหลือประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ เราก็ทำด้วย ก่อนที่จะมีโควิด สมัยน้ำท่วม แผ่นดินไหว เราก็ร่วมด้วย โดยบริจาคผ่านสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ตอนนั้นการส่งพวกอุปกรณ์การแพทย์ไปมันไม่ง่าย แต่ก็ส่งหน้ากากอนามัยและเงินส่วนหนึ่ง รวมมูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท

พอเดือนมีนาคม โควิดระบาดทั่วโลก และเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ เราก็มอบสิ่งของจำเป็นพร้อมทั้งชุดป้องกันเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) แบ่งไปให้โรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลศิริราช พอปลายเมษาฯโควิดเริ่มลด แต่สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหลายเดือดร้อน ก็จัดข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำปลา ไปบริจาคทั้งหมดรวมมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาทเศษ”

Advertisement

ส่วนแนวทางพัฒนาธุรกิจของ 2 ชาติตามเป้าที่วางไว้ ในวาระ 4 ปี ตั้งแต่วันนี้ถึงปี 2566 หอการค้าไทย-จีนภายใต้การนำของนักธุรกิจท่านนี้จะเดินไปในทิศทางใดในห้วงเวลาที่มนุษยชาติต่างหวาดหวั่นต่ออนาคตทั้งไกลและใกล้

มีคำตอบแล้วในบรรทัดถัดไปนับจากนี้

จากการที่โควิดกระทบ “ภาคการผลิต” ของจีน ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้างในแง่ของสินค้าหรือวัตถุดิบซึ่งในภาวะปกติเคยส่งออกให้เราใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมหรือกิจการต่างๆ?

ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีการปิดทั้งน่านฟ้า ทะเล ขนส่งทางบก และโรงงานที่ประเทศจีนส่วนมากก็ปิดหมด ส่วนโรงงานในไทยถึงจะเปิดก็ไม่มีประโยชน์เพราะไม่มีวัตถุดิบบางส่วน ซึ่งของจีนราคาถูกที่สุด ไทยนำเข้ามาเยอะพอสมควร การผลิตอุปกรณ์เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาศัยวัตถุดิบจากจีน ส่งผลกระทบแน่นอน

ภาพรวมการส่งออกของไทยกับจีนที่ชะลอตัวในช่วงหลายเดือนก่อนจากโควิด ภาวะล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง จะมีแนวทางการฟื้นฟูให้กลับมาอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

ผมว่าไม่ใช่แค่จีนกับไทย แต่เป็นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม จีนยังเป็นตลาดที่แข็งพอสมควร พอเปิดปุ๊บ เดือนเมษาฯทุเรียนไปจีนหมด ออนไลน์ก็ยังดี คนไม่ต้องเจอกัน ขนส่งก็ง่ายด้วย เรื่องพืชผลเกษตร เรื่องอาหาร ยังเป็นกิจการที่น่าสนใจที่จะต้องโตต่อไป ที่เรามีส่งออกทุกวันนี้ คือ ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล เป็นหลัก นอกนั้นก็พวกอุปกรณ์ ไม่มีอะไรมากมายเท่าไหร่ สำหรับอาหารพวกหมู ไก่ ก็ยังไม่ใช่หลักของการส่งออกไปจีน

สำหรับยางพารา ถ้าเราขายเป็นแผ่นยาง หรือยางดิบ ราคานิดเดียว แต่ถ้าแปรรูปก็ช่วยพวกสวนยางได้พอสมควร มันสำปะหลัง ถ้าขายเป็นมันเส้น กิโลกรัมละไม่กี่บาท รู้สึกว่าตันหนึ่งประมาณ 300 เหรียญ ตกกิโลกรัมละ 8-9 บาท แต่ถ้าเราผลิตเป็นแป้งมัน ทำเป็นวัตถุดิบสำหรับทำเส้นก๋วยเตี๋ยว จะขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 20-30 บาท

หลายๆ ตัวที่เป็นสินค้าเกษตร ถ้าเอามาปรับปรุงผมว่าประเทศไทยเรายังมีทางออกอีกแยะ

ความคืบหน้าในการกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับชาวจีนในช่วงหลังของการเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอนนี้นิว นอร์มอลแล้ว เราก็ยังต้องตั้งใจ อย่างไรก็ต้องพัฒนาเศรษฐกิจไทยกับจีนอยู่แล้ว เราก็เตรียมไว้ว่าจะชวนคนจีนมาลงทุน เรามียางพารา มีปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง เยอะแยะ พืชผลทางการเกษตรและวัตถุดิบบ้านเรามีมาก ตลาดใหญ่เราคือจีน

เดือนพฤศจิกายนนี้ หอการค้าไทย-จีนจะนำคณะไปร่วมงาน China International Import Expo ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นงานระดับโลกของจีน เราเตรียมไว้กว่า 20 บูธ โดยนำร่องเรื่องอาหารก่อน นำเอสเอ็มอีของไทยเข้าไปเปิดตัวว่าเรามีสินค้าแบบนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรดานักธุรกิจของไทยในด้านอาหาร ส่วนปีหน้าจะเพิ่มเรื่องเครื่องสำอางซึ่งเป็นมาร์จิ้นที่แรง

โควิดกระทบเป้าหมายการนำคณะนักธุรกิจไทยไปเยือนจีนให้ครบ 30 มณฑลใน 4 ปี ตามที่ตั้งใจหรือไม่ แนวนโยบายการตั้งทีมนักธุรกิจรุ่นใหม่ 20 คน เพื่อเจรจานักลงทุนจีนและเดินสายให้ความรู้ตามที่เคยวางแผนไว้จะมีการปรับกลยุทธ์อย่างไรบ้าง?

เราตั้งรับไว้แล้ว ยังไงต้องโดนไปปีหนึ่งแน่นอน ช่วงนี้ก็พยายามอยู่ เพราะเราตั้งทีมขึ้นมาแล้ว เป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 40 จนถึง 50 กว่า ซึ่งมีประสบการณ์พอสมควร มีความรู้มาก ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนอกทั้งหมด ตอนนั้นตั้งหลักไว้ว่าต้องไป 30 มณฑล แต่จริงๆ ไม่ต้องไปทั้งหมด ส่วนใหญ่เขาจะมาเยี่ยมเรามากกว่า เราก็ไปหาเขาด้วย มณฑลไหนไม่มา เราก็ไปเชิญชวน เขาจะได้รับรู้ว่าประเทศไทยเรามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ตอนนี้เรามีอีอีซีแล้ว มีอะไรที่น่าลงทุนบ้าง นอกจากนี้เราพยายามดูว่าอะไรที่เราจะร่วมกับเขาเอาไปขายในเมืองจีน ควรเจาะตลาดนี้มากกว่า มีโอกาสสูงกว่าชวนมาลงทุนกับเรา ซึ่งหลายๆ คนก็ทำไปแล้ว

ถ้าหลุดจากสถานการณ์โควิด คิดว่าประมาณสักสิ้นปีนี้เราคงมีข้อมูลจากแต่ละเมืองด้วย ตอนนี้แต่ละมณฑลก็มาเปิดสมาคมการค้า หอการค้าของแต่ละเมืองที่นี่ อย่างกว่างโจวก็มี เหอเป่ย์ก็มี ไหหลำก็มี เขาเริ่มเข้ามาคุยแล้ว ผมก็เปิดกว้าง ถ้าสนใจจะมาลงทุนที่ประเทศไทย เรายินดีที่จะเข้าไปให้ข้อมูล ไปร่วมงานกันเพื่อพัฒนาการค้าให้ได้เร็วขึ้น การติดต่อระหว่างประเทศค่อนข้างช้า แต่ถ้าติดต่อกันในแต่ละมณฑล จะง่ายและกระชับขึ้นด้วย ยังไงๆ ผมก็พยากรณ์ว่าเราคงจะได้บ้าง ใน 30 มณฑล (หัวเราะ)

คาดว่ามณฑลไหนบ้างที่ไทยสามารถสร้างพันธมิตรทางการค้าได้ดี?

ที่คุ้นเคยที่สุด คือ กวางตุ้งกับกว่างโจว และกว่างซีกับยูนนาน นอกจากนี้ ไหหลำจะเปิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมาแรงมาก สาธารณูปโภคพัฒนาสุดยอด รถไฟใต้ดินก็มี อะไรก็มี เขาพัฒนาเตรียมไว้หมดแล้ว ถ้าเปิดขึ้นมา ผมว่าฮ่องกงเหนื่อย

นับจากนี้ไป คิดว่าธุรกิจอะไรมาแรง หลายฝ่ายมองว่าระบบสาธารณสุขและการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดในไทยที่มีประสิทธิผลคือ ‘จุดแข็ง’ ที่ควรนำไปพัฒนาสู่การลงทุน?

ผมว่าเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอย่าง wellness มาแรง เชื่อว่าอีกไม่ช้านี้เป็นรายได้ที่เข้าประเทศไทยมากพอสมควร ยิ่งงวดนี้เราไม่ต้องโฆษณาเลย ทั่วโลกรู้ว่าประเทศไทยเราสาธารณสุขเป็นอย่างไร เราควบคุมได้อย่างไร นิสัยใจคอคนไทยทั่วโลกย่อมรู้ โควิดในบ้านเราติดต่อน้อย เพราะมีระเบียบในการสนองนโยบายสาธารณสุข ออกจากบ้านก็ใส่หน้ากากเว้นระยะห่างระหว่างกัน สถานที่กักกันของรัฐก็ทำได้ดีมาก สำหรับสินค้า คุณภาพต้องมาก่อน ต้นทุนต้องลดลง ถ้าไม่ลดลำบาก เมื่อก่อนคนในกรุงเทพฯกี่สิบล้านคนที่มาจากต่างจังหวัด ตอนนี้ผมว่ากลับเข้ามาน่าจะครึ่งเดียว เพราะเราไม่มีงานให้เขาทำ สำหรับพวกแบรนด์เนมที่ราคาสูงๆ ผมว่ายาก ตอนนี้ทุกคนต้องการใช้ของที่มีคุณภาพ ราคาย่อมเยา การซื้อของฟุ่มเฟือยในช่วง 2-3 ปีนี้น่าจะเบาลง เพราะเงินในกระเป๋าทุกคนหายหมด ไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่มีเพิ่มขึ้น

ความพร้อมของตลาดท่องเที่ยวจีนซึ่งแนวโน้มมาเป็นครอบครัวมากขึ้นกว่ากรุ๊ปทัวร์ มองการขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีนอย่างไร โดยเฉพาะในยุค ‘นิว นอร์มอล’

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลักพอสมควร สำหรับไทยปาไปแล้วเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เราเลยนัดมาประชุมเพื่อหารือ ทั้งสมาคมโรงแรม สมาคมท่องเที่ยวทั้งอินบาวด์ เอาต์บาวด์ และสายการบิน ผมว่าทัวร์ที่จะเข้ามาเป็นกลุ่ม 200-300 คนนี่ยากแล้ว ล่าสุดเราได้ยื่นต่อ ศบค.ไปแล้ว ว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาต้องทำอย่างไร มากับกรุ๊ปทัวร์เล็กๆ แค่ 20-40 คนก็พอ จะได้ควบคุมง่าย ติดตามได้ว่าไปที่ไหนบ้าง พอเข้าปุ๊บ เราเล็งเห็นว่าควรให้ไปที่ภูเก็ตก่อน โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน ไม่อย่างนั้นไม่มีคนมา เพราะวันท่องเที่ยวยังไม่ถึง 14 วันเลย แล้วใครจะออกค่าใช้จ่ายระหว่างกักตัว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ให้นักท่องเที่ยวจากมณฑลที่ปลอดเชื้อ 2 เดือนมาได้โดยบินมาลงภูเก็ตเลย ให้มีใบรับรองแพทย์และประกันสุขภาพ มาถึงก็พักโรงแรม เที่ยวตามเกาะ แล้วถ้าพ้นจาก 14 วัน จะไปที่ไหนก็น่าจะปล่อยให้ไปได้ นี่คือสิ่งที่ยื่นไป ก็ต้องดูว่า ศบค.จะพิจารณาอย่างไร ผมว่าควรให้นักธุรกิจและนักศึกษาจีนเข้ามาก่อน รายได้จะเข้าเมืองไทยเยอะ กิจการก็ขายได้ บ้านเช่าอยู่ได้ ถ้าเขาไปที่อื่น เราจะเสียโอกาส

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสกลัวและไม่ชอบจีน ซึ่งลามไปถึงคนเอเชีย หลังเกิดโควิดเพิ่มขึ้นในโลกตะวันตก คิดว่าเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลหรือไม่ในแง่ธุรกิจการค้า?

ผมทำธุรกิจกับคนจีนในหลายบริษัท ต้องทำให้เขาเกิดความเชื่อถือก่อน มีอะไรก็ต้องคุยกันให้ชัดเจน ถ้ากลัวมากต่างคนต่างปิด เขาก็ปิดเรา เราก็ปิดเขา สุดท้ายทะเลาะกัน ไม่มีผลดี เขาก็ไปหาคนใหม่ คนจีนไม่ใช่คบไม่ได้ มีวันหนึ่งผมเดินเข้าไปจะซื้อของในตลาดที่มะนิลา ฟิลิปปินส์ เขานึกว่าผมมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะหน้าตาเหมือน บุคลิกเหมือน สุดท้ายพอมองป้ายภาษาจีนที่ร้าน ผมเลยคุยแต้จิ๋วกับเขา ถึงรู้ว่าทำไม เพราะมาถึงตั้งขายริมถนน ไม่ต้องเช่าแผง ไม่ต้องเสียภาษี เลยขายของได้ถูกกว่า ในเยาวราชก็คงมีแบบนี้ บางคนเอาสินค้าไม่มีคุณภาพมาขาย แต่จริงๆ แล้ว สินค้าจีนชนิดหนึ่ง มีเป็นร้อยๆ ให้เลือก ตั้งแต่ถูกๆ จนแพง อย่างโทรศัพท์มือถือ 1 พันบาทก็มี ไปจนถึงแพงกว่าของแอปเปิลก็มี อย่างหัวเว่ยบางตัว ของจีนที่มีคุณภาพดีๆ ก็เยอะ

ช่วงโควิดธุรกิจมากมายล้ม ซบเซา และต้องฟื้นฟู ในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมีคำแนะนำในการต่อสู้กับวิกฤตนี้อย่างไรบ้าง?

คำแนะนำคืออย่าไปกลัวและต้องมองหาโอกาส อย่างผมเองเป็นคนคิดตรงข้ามกับคนอื่น ผมไปทำกิจการที่เขาเลิกแล้ว เพราะถ้าเขาทำอยู่ คู่แข่งแยะ เช่น ตอนนี้ที่ทำอยู่เป็นหลักใหญ่คือ โลจิสติกส์ทางทะเล บริษัทเรือ ซึ่งทั่วโลกเจ๊งมา 10 กว่าปีแล้ว ผมเข้าไปประมาณ 3-4 ปีนี้เอง จากต้นทุนเรือลำหนึ่งที่บรรทุกได้กว่า 3 หมื่นตัน จาก 30 ล้านเหรียญ วันนี้ผมซื้อลำล่าสุด แค่ไม่ถึง 7 ล้านเหรียญเท่านั้น

คู่แข่งในอาเซียนของเราคือใครในการเป็นคู่ค้ากับจีน ใช่เวียดนามที่มีผู้คาดการณ์ไว้ไหมว่ามาแรงมาก?

เวียดนามมาแรงแน่นอน เขามีชายฝั่งยาวเหยียด และใกล้กับจีนพอสมควร ซึ่งเป็นความได้เปรียบ เราสู้เขาไม่ค่อยได้ เพราะเวียดนามกับจีนมีระบอบการปกครองคล้ายคลึงกัน ชายแดนก็ติดเปรี๊ยะ ทุกวันนี้มีรถไฟไปถึงเวียดนามได้เลย แต่ของเรายังเชื่อมไม่ได้ ต้องผ่านลาวหรือเวียดนาม การคมนาคมคือเรื่องสำคัญ แต่จริงๆ แล้วเราเป็นฮับที่ใหญ่พอสมควร การท่องเที่ยวของเรา เครื่องบินสะดวกที่สุด คนจีนบินมากรุงเทพฯดีที่สุด แล้วค่อยเดินทางต่อไปลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม เครื่องบินจากจีนมากรุงเทพฯ มีมากกว่าไปเวียดนาม แต่เขาได้เปรียบที่การขนส่งทางรถไฟและแผ่นดินซึ่งเชื่อมกัน

การทำธุรกิจตอนนี้ถ้าไม่ไฮเทคโนโลยีคงตามเขาไม่ทัน เพราะระบบดิจิทัลไปไกลแล้ว สำหรับไทยกับจีน เราพูดกันง่าย อย่างคุณจะไปทำธุรกิจกับยุโรป ปีหนึ่งกว่าจะเซ็นสัญญาได้ ญี่ปุ่นใช้เวลา 3-4 เดือน

แต่ถ้าเป็นคนจีน กินข้าว 2 ครั้ง หรือถ้าคุยกันดี คืนนี้ดื่มหน่อย พรุ่งนี้มาเซ็นสัญญา ด้วยสีผิว วัฒนธรรม ถ้าคุยภาษาเดียวกันยิ่งไปเร็ว (ยิ้ม)


 

จากสำเภาถึงเครื่องบิน ‘เสื่อผืนหมอนใบ’
สู่มังกรยุคใหม่ เมื่อ ‘เวลา’ สำคัญที่สุด

“สมัยก่อนคนจีนหอบเสื่อผืนหมอนใบ มีขนมเข่งมาก้อนเดียว ตอนนี้คนจีนรุ่นใหม่นั่งเครื่องบินมา 3 ชั่วโมงถึงประเทศไทย เมื่อก่อนเป็นเดือนกว่าจะมาถึงไม่ง่าย ตอนนี้เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่แล้ว สมัยก่อนต้องขยัน อดทน ซื่อตรง ทำมาหากินก็รวยได้ ณ วันนี้ไม่ใช่ แต่ต้องพัฒนาด่วนๆ ตามยุคสมัย เวลาสำคัญที่สุด ถ้าตามไม่ทันไม่ได้กิน สมัยปู่ย่าตายาย ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย สมัยนี้วางเงินปั๊บทำการค้าได้เลย”

คือคำบอกเล่าจาก ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน คนล่าสุด เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคนจีนรุ่นบุกเบิกที่โล้สำเภามาตั้งรกรากในไทย กับคนจีนรุ่นใหม่ในวันนี้ ก่อนย้อนอดีตถึงชีวิตวัยเยาว์ซึ่งเติบโตในย่านบางรัก ขลุกอยู่ในเยาวราช ช่วยงานร้านของชำ

เป็นที่รักยิ่งในครอบครัวซึ่งเจ้าตัวเป็นลูกชายคนเดียวในพี่น้อง 8 คน มีพี่สาว 4 คน น้องสาวอีก 3 คน

ต้นตระกูลแซ่ลิ้ม เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว มาจากหมู่บ้านเถ่งไฮ่ ใกล้ซัวเถา

แม้เลือดจีนเข้มข้น แต่ประธานหอการค้าไทย-จีนท่านนี้บอกว่า วัฒนธรรมจีนในบ้านไม่เข้มข้นนัก ทว่าการที่อยู่ในละแวกคนจีนเหมือนกันรวมถึงเรียนโรงเรียนจีนอย่าง โกศลวิทยา ก็ทำให้พูดภาษาจีนได้คล่องแคล่ว

“ผมโชคดีที่อยู่ละแวกคนจีน ไม่งั้นคงพูดจีนไม่เป็น ตอนเด็กทำงานหนักพอสมควร อยู่แถวบางรัก แล้วไปช่วยขายของชำที่เยาวราช สมัยก่อนร้านใหญ่ เวลาว่างไปช่วยเขาทำให้มีความผูกพัน อยู่กับคนจีนไม่ง่ายนะ (หัวเราะ) ต้องขยัน อดทน ซื่อตรงเมื่อก่อนไม่มีเงินเดือน บางแห่งทำงานแลกข้าวมื้อเดียว บางที่ก็โหด ต้องเอาเงินไปให้เขาเพื่อเรียนรู้งาน แต่อยู่กับคนไทยนี่สบาย”

จากเด็กร้านของชำในวันนั้น สู่เจ้าของธุรกิจมากมาย อาทิ บริษัท เกลือเจริญ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเกลือ “ปรุงทิพย์” อีกทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามหาศาล

ในช่วงเวลาที่กล่าวกันว่าอสังหาริมทรัพย์กระทบหนักทั้งจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ไหนจะโควิดที่เข้ามาซ้ำ ณรงค์ศักดิ์ บอกว่า

“อสังหาฯก็คืออสังหาฯ ที่รวยกันมามากๆ ก็จากอสังหาฯทั้งนั้น ผมว่าอยู่ที่โลเกชั่น ติดสถานีรถไฟฟ้า ยังไงก็ต้องไป ที่ไหนไม่ขึ้นก็คือไม่ขึ้น อสังหาฯช่วงนี้ช็อก แต่ไม่รู้จะช็อกนานไหม พูดยาก ขึ้นอยู่กับโควิดว่าจะมาระลอก 2 ไหม ถ้ามาก็พยากรณ์ไม่ได้ ถ้ามีเงินเย็นก็ลงทุนไป แต่ถ้าเงินกู้คิดหนักหน่อย”

คุยประเด็นธุรกิจมาหลายพันคำ เมื่อถามถึงชีวิตส่วนตัวในวันนี้ ได้คำตอบเป็นรอยยิ้มอ่อนโยนเมื่อเล่าถึงหลานๆ ทั้ง 8 คน จากลูกๆ 4 คน ซึ่งล้วนมาช่วยงานธุรกิจในเครือ

“ช่วงนี้สบายหน่อย อยู่บ้านตีปิงปองกับหลาน ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีเวลาว่าง เพราะดูเรื่องงานเยอะ ออกต่างจังหวัดบ่อย ไปโรงงานแต่ละแห่งมีพรรคพวกชวนตีกอล์ฟ ซึ่งเป็นกีฬาที่ต้องใช้เวลา และก็ทำการค้าไปได้ด้วย แต่เราไม่ใช่อย่างนั้น

ชอบไปลุยงานถึงที่มากกว่า”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image