จิบน้ำชากับนายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ดร.แสงชัย โสตถีวรกุล มองโควิด ธุรกิจ ‘เซ็งลี้’ และอาเซียน

“คนไม่มีเงินใช้ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีกินสิจะทำอย่างไร” คือคำถามเรียบง่าย ทว่า ยากยิ่งในคำตอบ เป็นประโยคที่เกิดขึ้นในบทสนทนากับ ดร.แสงชัย โสตถีวรกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย วัย 78 ปี ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในการช่วยเหลือผู้คนทั้งชาวไทยและชาวจีน รวมถึงภาครัฐท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อชีวิตในด้านสุขอนามัยที่ต้องระแวดระวังอย่างเคร่งครัด หากแต่อีกประเด็นสำคัญที่กลายเป็นวิกฤต คือปัญหาเศรษฐกิจที่ยิ่งทรุดหนัก

ในบรรยากาศของความซบเซา และหวาดหวั่นของสังคมแทบทุกระดับ ตั้งแต่รากหญ้า จนถึงมหาเศรษฐี ที่คาดการณ์ว่าต้องได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย

ต่อไปนี้ คือมุมมองในวงน้ำชารสชาติดีของ ดร.แสงชัย ในฐานะนักธุรกิจชื่อดัง เจ้าของอาณาจักรอุตสาหกรรมกล่องกระดาษ บรรจุภัณฑ์ลูกฟูกรายใหญ่ เชื้อสายชาวจีนแต้จิ๋ว ที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว และผ่านมาหลายรัฐบาล เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากหลากหลายสถานการณ์ที่ได้เรียนรู้

มองการแก้ปัญหาของรัฐบาลในสถานการณ์โควิดอย่างไรในมุมธุรกิจ ตึงเกินไปหรือไม่ ?

ต้องขอชมเชยนายกรัฐมนตรีที่กล้าตัดสินใจและสาธารณสุขที่กล้าฟังนายกฯ ว่าอย่าเอาโรคของเมืองนอกเข้ามาในประเทศ ยังไงต้องปิดประเทศ ประชาชนก็ให้ความร่วมมืออย่างซาบซึ้งแนบเนียน ประชาชนร่วมจิต ร่วมใจ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐบาล และจริงๆ แล้วทุกท่านกลัวตายทั้งสิ้น ในประวัติศาสตร์เราไม่เคยเจอ การกินอยู่ประจำวันซีเรียสเพิ่มเป็นทวีคูณ ทางจิตใจก็พึ่งศาสนา ผมมีธุรกิจหลายอย่าง ตอนนั้นก็ห่วง แต่ไม่เป็นปัญหาว่าจะกระทบไหม พวกเรานักธุรกิจ ไม่ได้กังวลว่ากิจการของตัวเองว่าจะปิดลงหรือไม่ แต่เป็นห่วงลูกน้องทั้งหมด เพราะคนที่ทำงานกับเรา เขาอาจจะเลี้ยงอยู่ 5 คน 8 คน ปู่ย่าตายาย ลูกเมีย เป็นต้น เราเป็นห่วงเรื่องนี้มากกว่า ขอให้มีชีวิตอยู่ ก็มีแผนใหม่ๆ ที่สามารถทำได้ แต่ถ้าคนป่วย คนตาย สังคมก็ไปต่อไม่ได้ ไม่มีลูกค้า ใครจะมาซื้อ เราไม่ได้มองถึงเซ็งลี้ (การค้า) เพราะเห็นอยู่ว่าเซ็งลี้อยู่ที่คน ถ้าขยัน พยายาม มีวิธีการใหม่ๆ ก็ไม่สิ้นหวัง

Advertisement

สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งควบคุมโควิดได้ดี มีคำแนะนำต่อรัฐบาลอย่างไรในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ มีประเด็นน่าห่วงเป็นพิเศษหรือไม่ ?

ผมรู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลจะเปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่ เปลี่ยนพรรคนู้นมารวมพรรคนี้ รัฐบาลไทยของเรานั้นผู้นำแต่ละกระทรวงมาแบบโควต้า ไม่ใช่คนที่มีความสามารถเฉพาะทาง ว่าท่านเป็นช่างไฟฟ้า ต้องมาอยู่แผนกไฟฟ้า เป็นช่างโยธา ต้องอยู่โยธา เมืองไทยเราไม่ใช่ แต่เป็นแบบพรรคนี้ให้ นาย ก. โดยคนที่จะอยู่ไฟฟ้าหรือโยธา ไม่ใช่วิศวกร แล้วจะผลักดันได้อย่างไร จริงๆ แล้วคนเก่งๆ ในเมืองไทย ไม่แพ้เมืองไหน แต่ไม่ได้ถูกสรรหาเข้าไปบริหารในหน่วยงานนั้นๆ

คนไทยมีพวก ผมไม่ได้ว่ามีพรรคพวกแล้วไม่ดี ดีครับ แต่ต้องให้ถูกจุด หวังอย่างยิ่งว่าจะให้ถูกกิจจะลักษณะ มีบุคลากรเข้าใจ บางคนเข้าใจแต่ไม่ทำ บางคนอยากจะทำแต่ไม่เข้าใจ อยากให้ท่านลองคิดดูว่าจะให้ประชาชนมีบทบาทอย่างไรบ้าง พวกเราอยู่สภาหอการค้า อยู่สภาอุตสาหกรรม เราติดต่อกับสภาพัฒน์อยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างเปิดเผยบนโต๊ะ รัฐบาลสามารถเปิดมาดูในวิธีการและในความเห็นที่พวกเราปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้เพื่อเอาไปวิเคราะห์ได้ แต่มีไหม ไม่รู้ เพราะรัฐบาลตรวจสอบเราได้ แต่เราไม่สามารถไปตรวจสอบรัฐบาลได้ มีแต่เสนอความเห็น แนวคิด เวลา ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

Advertisement

แนวโน้มเศรษฐกิจที่ต่างฟันธงกันว่า หนักกว่า “ต้มยำกุ้ง” แน่นอน จะแก้ไขหรือผ่อนหนักเป็นเบาอย่างไร?

ผมก็เชื่อว่าหนักกว่าต้มยำกุ้ง เพราะ ผลกระทบเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเหมือนปี 2540 อยากฝากรัฐบาลว่าให้มองอาเซียนของเราเองและจีน เราต้องแมตช์กัน อย่าเพิ่งมองไกลไปตะวันตก

เวลานี้เรามีอีอีซี จะต้องทุ่มทุกอย่างให้อีอีซี อย่าเพิ่งลังเล ทำทีละอย่าง ทีละภาค อย่าเพิ่งใจใหญ่ จับปลา 2 มือจะหลุด พยายามให้มีจุดมุ่งหมายแน่วแน่ อาเซียนโควิดน้อย และนับถือศาสนาพุทธด้วยกัน พูดภาษาจีนคล้ายคลึงกัน ผิวเหลืองเหมือนกัน ผมว่าคุยกันได้ เซ็งลี้กันได้ แต่งงานกันได้ เป็นคู่ค้ากันได้ ไม่มีใครดูเบาประเทศไหนๆ แม้ประเทศไทยเป็นอย่างนี้ แต่อีก 9 ประเทศก็ไม่กล้ามองเราในแง่ลบ ยังซูฮกเรา แต่อย่าประมาท อย่าคิดว่าเป็นพี่ใหญ่ในอาเซียน แต่เราสามารถยื่นนโยบายให้อาเซียน เริ่มจากอาเซียนให้แข็งแรงก่อน ส่วนจีน ในอนาคต 3-5 ปี ต้องอาศัยจากไทยในแง่อาหาร เพราะฉะนั้นเกษตรพืชผล เขากว้านซื้อหมด สวนทุเรียนเอย สวนส้มโอเอย สวนลิ้นจี่ ลำไย

สถานการณ์ตอนนี้ มองว่ายังไม่ได้ชีช้ำเสียทีเดียว ทุกคนยังอุ่นไออยู่ อะไรก็แล้วแต่อย่าให้เย็น เย็นเมื่อไหร่ ตายเมื่อนั้น อย่าให้ตาย ต้องให้มีชีวิต ยังไงๆ ก็ฟื้นได้

ปีนี้อายุ 78 ทำธุรกิจมาหลายทศวรรษ ผ่านมาหลายรัฐบาล รัฐบาลไหนบริหารเศรษฐกิจได้ดีที่สุด?

(หัวเราะ) ไม่กล้าฟันธง แต่ผมกล้าเสนอถึงเอกลักษณ์ของแต่ละคนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวค่อนข้างซูฮก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มักตอบคำถามสื่อว่า ไม่มีปัญหา ไม่เป็นไร ทั้งที่หัวจะขาดแล้ว เพราะมองว่าทำไมต้องไปทำให้ประชาชนเสียขวัญ คือจะทำอะไรก็แล้วแต่ อย่าตื่นตระหนก ต้องนิ่ง เพราะคนถามต้องการรู้คำตอบ ท่านชาติชายพูดคำนี้ ไม่ใช่ว่าดีที่สุด แต่ดีทีเดียว เวิร์ก นิ่มนวล แต่ถ้าแบบบู๊ คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีคำขวัญ งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข พูดง่ายๆ ให้คนเข้าใจว่าต้องการมีความสุขต้องหางานทำ พอมีงานทำก็มีเงินเยอะ ทุกรัฐบาลมีดีทั้งนั้น แต่จุดเด่นหลายอย่าง ไม่ได้ถูกเอามาใช้อย่างเป็นกิจจะลักษณะและเอาจริงเอาจัง คนเสนอมี คนเก่งๆ มี แต่คนที่จะไปปฏิบัติ บางครั้งไม่เข้าใจถ่องแท้ในความหมาย

ขอย้อนมาที่บทบาทของสมาคมแต้จิ๋วในช่วงโควิดซึ่งช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ มากมาย ?

ผมเข้มงวดมากในเรื่องนี้ คนไม่มีเงินใช้ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีกินสิจะทำอย่างไร เรายังพอมีกินพอใช้ ผมมองว่า รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย มีใจนักกีฬาขึ้นมาทันที หวังอย่างยิ่งว่าทุกคนจะต้องมีกิน มีใช้ ดังนั้น สมาคมแต้จิ๋วของเราเป็นสมาคมแรกที่ซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ เครื่องใช้ต่างๆ ส่งไปเมืองจีนประมาณ 5 ล้านบาท ทั้งหมด 3 ขบวนใหญ่ สิ่งที่ทำไปไม่ใช่พลังคนหนึ่งคนใด แต่เป็นพลังของสมาชิกทั้งหมดของสมาคมแต้จิ๋วที่พร้อมเพรียงกันในการจะสกัดไม่ให้โรคระบาดไปมากกว่านี้ ไม่ว่าในต่างประเทศและในประเทศ เราไม่ท้อถอย ต่อมาสมาคมแต้จิ๋วยังมอบเงินเข้ากองทุนเพื่อสกัดโควิดให้กรุงเทพมหานคร และสอบถามว่าต้องการอะไรอีกบ้าง เราก็ส่งมอบให้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนภาคประชาชน ทุกวันเสาร์ผมอยู่ที่สมาคม ก็มีการแจกถุงยังชีพ 1,000 ถุง ต่อเนื่องมารวมแล้ว 4,000 ชุดให้คนในชุมชนแถวนี้ซึ่งแม้ไม่มีเงินใช้ไม่เป็นไร แต่ขอให้เขาไม่หิว ถ้าหิวแล้วขโมยเยอะ ถ้าหิวแล้วจะคิดในสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นสมาคมแต้จิ๋วไม่ได้ช้าหรือน้อยกว่าใคร อย่างน้อยที่ทำไปแล้วมากกว่า 10 ล้าน ถึง 20 ล้านบาท และจะช่วยเหลือต่อไป ถ้าใครต้องการหน้ากากอนามัยก็มาขอรับที่สมาคมได้ เรามีสำรองไว้ที่มีในปริมาณพอสมควร

มองจุดอ่อน-จุดแข็งของคนรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่กับธุรกิจในอนาคตอย่างไรบ้าง?

จุดแข็งของครรุ่นเก่าคือความอดทน ความพยายาม ไม่จะมีความรู้หรือไม่มีความรู้ คนเก่าๆ ก็ไม่เคยดูถูกคนจากการดูแค่ภายนอก หรือดูเบางานชนิดใด มองเห็นความสำคัญทุกอย่างไม่ว่ายากหรือง่าย ส่วนรุ่นปัจจุบัน เขารู้ว่าพ่อแม่ลำบาก ส่งเสียให้เขามีวันนี้ เพราะพ่อแม่มีความพยายามโดยคิดว่าต้องคนรุ่นใหม่ต้องเก่งกว่าเขา ไม่ชีช้ำเหมือนเขา มีหน้ามีตาในสังคม เพื่ออยู่อย่างสันติ มีความสุข

สำหรับรุ่นหลาน เป็นแนวออนไลน์ อิเล็กทรอนิกส์ วิทยาศาสตร์ มีเครื่องจักรทดแทนเพื่อให้การดำรงชีวิตสะดวก รุ่นหลานของเราที่อายุ 20-21 เขาไปไกลแล้ว ต้องแข่งขันกันคิดอะไรใหม่ๆ คุณทำได้ผมต้องทำได้ ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นมาทำตาม ฉันต้องไม่ตามคนอื่น อีกหน่อยการทำมาหากินอาจยากกว่าเราหลายเท่า เพราะต้องทำสิ่งใหม่ๆ ดีๆ แจ๋วๆ กว่าคนอื่น เขาต้องการแบบนั้น เพราะฉะนั้น จำเป็นที่ต้องสอนเขาว่า ต้องไม่ลืมวินัย ระเบียบ ระบบ ในวัฒนธรรมหลายพันปี สิ่งที่คนรุ่นก่อนสอนเรามา รุ่งเรืองมาอย่างไร ชีช้ำมาอย่างไร

เรื่องกตัญญู สามัคคี ประหยัด กตัญญู การร่วมมือร่วมใจ รักพี่หวงน้องและการมีความรู้ จำเป็นอย่างยิ่ง อาจไม่ต้องเรียนถึงปริญญาเอก แต่ขอให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงและตามให้ทัน ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ไม่ใช่แบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่นำทั้งของเก่าที่ไม่ใช่เต่าล้านปีมาผสมผสาน

นี่คือหลักที่พ่อค้าคนจีนที่อยู่ในเมืองไทยใช้เป็นหลักคิดมานาน


82 ปีสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย

กับนายก คนที่ 15

“ที่ตั้งสมาคม ที่นั่งอยู่ตรงนี้ ก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้ามาอยู่ เพราะเป็นสุสาน เขาเลยหนีบ้าง ขายบ้าง ให้เราบ้าง ตอนนี้มี 100 กว่าไร่ ช่วงนี้กลายเป็นใจกลางเมือง คนไม่กลัวแล้ว ที่ว่าง ก็สร้างเป็นที่ท่องเที่ยวไปเลย เรามาอยู่ที่นี่ 58 ปีแล้ว เป็นที่ทำการแห่งที่ 3 ก่อนหน้านี้ย้ายมา 2 ครั้ง ตึกนี้คนจีนในประเทศจีนออกแบบมาให้เราอย่างแน่นหนามาก”

คือคำบอกเล่าของ ดร.แสงชัย โสตถีวรกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นลำดับที่ 15 ในช่วงเวลาถึง 82 ปีของการก่อตั้งนับจากวันจดทะเบียน

“ถ้านับตั้งแต่จดทะเบียน คือ 82 ปี แต่จริงๆ มีมาแล้ว 100 ปีขึ้นไป เนื่องจากก่อนหน้านั้นเราไม่ได้จดทะเบียน เพราะช่วงนี้คนแต้จิ๋วยังใช้ใบต่างด้าว ไม่สามารถซื้อที่ดินได้ พิสูจน์ได้จากสุสาน ศาลเจ้า โรงเรียนที่บรรพบุรุษสร้างเอาไว้ ตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล อย่างโรงเรียนเผยอิง ที่ถนนทรงวาด กำลังจะฉลองครบ 100 ปี โรงเรียนโกศลวิทยา ซึ่งเก่าแก่พอสมควรคือ 70 กว่าปี และโรงเรียนนิพัทธ์วิทยา อายุ 60 กว่าปี 80 กว่าปีนี้ มีนายก 15 คน แต่ละท่านมีบทบาทคือรักษาทรัพย์สมบัติ ดูแลโรงเรียน สุสาน สร้างศาลเจ้า เพราะคนจีนต้องไหว้เจ้าเพื่อความสบายใจ บรรพบุรุษของเราคิดการณ์ไกลจริงๆ มีโรงเรียนให้ลูกหลาน มีศาลให้ไหว้เจ้า มีสุสานให้ฝังศพ มีให้ทุนการศึกษาด้วย ต้องดูแลคนจีนแต้จิ๋วที่มาอยู่ในเมืองไทย ต้องการอะไร มาคุยกัน”

ส่วนแนวทางพัฒนาการดำเนินงานของสมาคมแต้จิ๋วในอนาคต ดร.แสงชัย กระซิบดังๆ ว่า

“ต้องบอกก่อนนะ ไม่มีองค์กรไหนรวยกว่าแต้จิ๋ว เพราะที่ดินเยอะ (หัวเราะ)”

เรื่องราวขยายความจากข้อมูลข้างต้น คือเมื่อราว 100 ปีก่อนมีการซื้อสุสาน ซื้อที่ดินไว้สร้างโรงเรียน ศาลเจ้า ซึ่งยังมีที่ดินอีกมากมายที่ยังไม่ได้พัฒนา แต่เนื่องจากสมาคมเป็นมูลนิธิ จึงขายไม่ได้

“แต่ถ้าใครจะมาเช่า ยินดีให้เช่า แล้วร่วมกันพัฒนา เราจะยินดีอย่างยิ่ง ตอนที่ผมมาเป็นนายกมีนโยบายเพิ่มหลายอย่าง และยังมีหลายโครงการที่กำลังจะสร้าง ผมเป็นนายกมา 4 ปี ยังเหลืออีก 2 ปี ที่ผ่านมาก็พัฒนา ตกแต่งที่นี่ใหม่หมด ทำให้คนอื่นๆ เห็น พัฒนาในทุกด้าน สามารถใช้ความรู้ของเราให้เป็นประโยชน์ พยายามปลุกปั้น ให้สมาชิกมีส่วนร่วม ถ้าเราไม่อยู่ เขาก็ดูแลได้ ทำงานได้ บริการได้ ฝึกให้แต่ละคนให้เข้ากับคนอื่นได้ ที่นี่เราฝึกคนให้รู้จักบริการ

ผมบอกว่า ทุกคนคือเถ้าแก่ ลื้อไม่ต้องมาดูแลนายกหรอก ต้องดูแลคนอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image