ดร.กิตติ อิทธิภากร ประธานสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย ‘ชีวิตสอนผมว่าต้องทำและพยายาม’

20,000 คือจำนวนแซ่ของชาวจีนที่ถูกรวบรวมไว้ว่าเคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์โลก

เกือบ 100 คือตัวเลขของแซ่ซึ่งติดตัวคนไทยเชื้อสายจีนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

มีการก่อตั้งสมาคมแซ่ต่างๆ มาอย่างยาวนานถึงครึ่งศตวรรษ

กระทั่งเมื่อราว 15 ปีก่อน มีพัฒนาการครั้งสำคัญคือการก่อเกิด “สหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย” เพื่อรวบรวมสรรพกำลังในความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาชาติไทยอันเป็นผืนแผ่นดินที่ชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาตั้งรกรากอย่างเป็นปึกแผ่นจนถึงวันนี้

Advertisement

ดร.กิตติ อิทธิภากร คือบุคคลสำคัญที่มีบทบาทอย่างสูงต่อสหสมาคมแห่งนี้ โดยนั่งเก้าอี้ประธานอย่างเข้มแข็ง สร้างผลงานและกิจกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือสังคม และประสานสัมพันธ์กับตระกูลแซ่ในอาเซียนและจีนแผ่นดินแม่

“ชีวิตสอนผมว่าต้องทำและพยายาม” คือสิ่งที่อยู่ในใจของ ดร.กิตติ ในวัย 75 ไม่ว่าจะบทบาทใด ทั้งนักธุรกิจใหญ่ และประธานสหสมาคม

อึ๊ง ฮั้ง เลี้ยง คือชื่อแซ่ที่หมายถึง ชาวฮั่นผู้มีจิตใจเมตตากรุณา ซึ่งบิดาเป็นผู้ตั้งให้

ผ่านชีวิต และใช้ชีวิตในประเทศไทยตั้งแต่เกิด โดยไม่หลงลืมรากเหง้าจากบรรพบุรุษ

ต่อจากนี้คือเรื่องราวของเหล่า “แซ่” และสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

บทบาทหน้าที่หลักของสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทยมีอะไรบ้าง?

การก่อตั้งสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย ต้องกล่าวไปถึงตระกูลแซ่ต่างๆ ซึ่งแต่ละตระกูลมีประวัติ มีวัฒนธรรมของตระกูลนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ปีสืบทอดมาแต่ละรุ่นแต่ละสมัยจากภาคกลางของประเทศจีนกระจายไปทั่วโลก เรียกว่าชาวจีนโพ้นทะเล ในอาเซียนมีชาวจีนมาพำนักมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งนำพาวัฒนธรรม ประเพณีของตัวเองมาแต่โบราณถึงปัจจุบัน แล้วมาพัฒนาถึงประเทศไทย

เกือบทุกตระกูลแซ่มีการสร้างศาลเจ้าเหล่าโจ้ว คือศาลบรรพบุรุษให้ลูกหลานไหว้รำลึกปีละ 2 ครั้ง คือ ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูหนาว มีการจัดงานสังสรรค์ทุกๆ ปี

ย้อนไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน มีการจัดตั้งคล้ายๆ ชมรมที่ทุกๆ ตระกูลแซ่มารวมกัน แต่เป็นแค่สัมพันธ์ชมรมเท่านัน จนกระทั่งเมื่อ 15 ปีก่อน ทุกตระกูลแซ่มาคุยกันว่าควรรวมเป็นสหสมาคมตระกูลแซ่เพื่อมีกำลังทำงานให้สังคม ประเทศชาตินั้น จึงก่อตั้งสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทยขึ้น เพราะตระกูลแซ่มีเยอะ มีเกือบ 100 สมาคม มารวมกันเป็นสหสมาคม

สิ่งที่มุ่งหมายคือทำงานให้กับทุกๆ ตระกูลแซ่ เพื่อให้ถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณี ทุกๆ อย่างให้คนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือทำการกุศล ช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาส และเด็กนักเรียนที่ยากจนในชนบท หาเครื่องเขียน แบบเรียนไปแจก เราทำมาตลอดทุกๆ ปี ตอนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สหสมาคมฯก็ไปช่วยมัสยิด ไปช่วยคนในสลัมต่างๆ ไม่มองว่าเป็นคนเชื้อชาติไหน แต่มองว่าเป็นมนุษย์อยู่โลกใบนี้ด้วยกัน ไม่มีการแบ่งแยก

เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านต่างๆ สหสมาคมฯทำงานประสานกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างไร?

สังคมคนไทยเชื้อสายจีน ณ ปัจจุบัน สมาคมที่ยอมรับกันอย่าง หอการค้าไทยจีน สมาคมแต้จิ๋ว และอื่นๆ ถ้าเหล่านี้มีงานอะไร ต้องมาเชิญเราไปร่วม เพราะถือว่าเราเป็นหน่วยงานที่มีเพาเวอร์ ก็ช่วยกันทำงาน นอกจากนี้ เรายังร่วมกับกองทัพบก ช่วยทหาร ช่วยประชาชน ชาวบ้านตามภาคต่างๆ ในถิ่นทุรกันดารด้วย

ตามข้อมูลของทางสหสมาคมฯระบุว่าแซ่ทั้งหมดที่เคยถูกรวบรวมไว้มีมากกว่า 2 หมื่นแซ่ ถ้านับเฉพาะในไทย มีประมาณกี่แซ่?

คิดว่าเกิน 100 แซ่ แต่บางแซ่มีไม่กี่คน อย่างแซ่หนิว ซึ่งแปลว่า วัว บางแซ่ในประเทศไทยมีคนเดียวที่มาจากจีน ตอนนี้สหสมาคมตระกูลแซ่นั้นมี 70 กว่าตระกูลแซ่ แซ่ที่สมาชิกเยอะที่สุด คือ แซ่เฮ้ง แซ่ตั๊ง หรือที่คนไทยชอบออกเสียงว่าแซ่ตั้ง แซ่ฉั่ว แซ่ลิ้ม และแซ่อึ๊ง ซึ่งเวลาเลือกนามสกุล จะใช้ อ.อ่าง อย่างผม ใช้ “อิทธิภากร” เห็นแล้วรู้เลยว่ามาจาก แซ่อึ๊ง หมายถึงสีเหลือง คนปัจจุบันใช้แซ่ของพ่อ แต่เมื่อ 5 พันกว่าปีก่อน ลูกเกิดมาใช้แซ่ของแม่ ต่อมาเมื่อ 4 พันกว่าปีที่แล้ว ผู้ชายทำสงครามยิ่งใหญ่ขึ้นมา เลยกลายเป็นเอาแซ่พ่อมาใช้

ที่บอกว่าบางแซ่มีแค่ไม่กี่คน อย่างนี้เคยมีบันทึกถึงแซ่ที่รู้ว่าเคยมีอยู่ แต่ปัจจุบันสาบสูญไปแล้วไหม?

เยอะมากๆ เพราะประวัติศาสตร์ 5,000 ปีของประเทศจีน มีสงครามมาตลอด เพิ่งมาสงบเมื่อราว 80 ปีมานี้เอง ก่อนหน้านั้นมีก๊กต่างๆ รบกัน อย่างสามก๊ก ต่อมามีการรบกับญี่ปุ่น รบกับก๊กมินตั๋ง แซ่เล็กๆ ในช่วงสงครามหายไปเยอะ และคิดว่าจะค่อยๆหายไปอีก

สำหรับคนไทย นามสกุลเปลี่ยนได้ แล้วแซ่ของจีนเปลี่ยนหรือตั้งใหม่ได้ไหม?

ไม่ได้ สมมุติว่าแซ่นี้ใช้แล้วไม่พอใจ ใช้แล้วเฮง ไม่เฮง เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าเป็นนามสกุลไทย อยากได้คำเพราะๆ เปลี่ยนได้ แต่แซ่ เปลี่ยนไม่ได้เด็ดขาด เพราะบรรพบุรุษ 3 พัน 4 พันปีใช้กันมาทุกรุ่น ถ้าเปลี่ยนคือนอกตระกูลเลย (หัวเราะ) ถามว่ามีใครเคยพยายามเปลี่ยนไหม ไม่เคยได้ยิน ไม่มีใครกล้า และถ้าจะเปลี่ยน แซ่อื่นไม่ให้เข้า ก็กลายเป็นคนนอกคอกไปเลย

ความที่อาเซียนมีชาวจีนโพ้นทะเลเยอะ ในประเทศเพื่อนบ้านมีสมาคมตระกูลแซ่ต่างๆ เหมือนประเทศไทยหรือไม่?

มีครับ พอเรารวมสมาคมตระกูลแซ่ต่างๆ ก่อตั้งสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทยขึ้นมา ก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และมีการตั้งสมาคมตระกูลแซ่ชาวจีนอาเซียน+จีน ซึ่งมีการประชุมกันทุก 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า รวมถึงจีน มีคนมาร่วม 1-2 พันคน ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ มีการเชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาร่วมเป็นกำลังใจ เป็นสักขีพยานให้ชาวตระกูลแซ่เป็นปึกแผ่นในอาเซียน เราคุยกันด้วยภาษาแมนดาริน

แนวทางสหสมาคมฯในอนาคตบนโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว?

โลกใบนี้มันพัฒนาก้าวไปเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง ทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ลดบทบาทในการที่จะพัฒนาวัฒนธรรมตระกูลแซ่ ลูกหลานเกิดมาใช้ภาษาจีนไม่เป็น นี่คือสิ่งที่พวกเราผู้ใหญ่เป็นห่วงเหมือนกัน แต่ต้องบังคับและขอร้องให้รู้ว่าตัวเองแซ่อะไร อย่างหลานผม ผมถามชื่อแซ่ 3 ตัวตอบได้ให้พันนึง (หัวเราะ)

กล่าวกันว่าหนึ่งในความเข้มแข็งของวัฒนธรรมจีนคือความเป็นพี่น้อง สายเลือด แซ่เดียวกัน ในยุคนี้ยังมีผลอยู่ไหม?

อยู่ที่คนและเหตุการณ์ แซ่เดียวกันฆ่ากันตายก็มี การใช้ภาษาเดียวกันคุยกันง่าย นั่นคือ แซ่เดียวกัน พี่น้องกัน มีอะไรมาคุยกัน สมัยนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่คุยกันว่า ราคาต้องถูกนะ (หัวเราะ) ความทันสมัยจะทำให้วัฒนธรรมพวกนี้จางลงไป

มีแนวทางไหมที่จะทำให้ความทันสมัยกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมเดินควบคู่กันไปได้หรือไม่?

ผมเคยคิดนะ แต่คิดแล้วทำไม่ได้ อย่างมหาเศรษฐีซึ่งมีแซ่ คิดธุรกิจของเขา วันๆ คิดไม่ทัน เขาจะมาคิดว่าจะพัฒนาตระกูลแซ่ไหม เขาไม่คิด เขาคิดแต่ธุรกิจ ว่าเดือนนี้ปีนี้ กำไรเท่าไหร่ ผมคิดว่าการที่เป็นประธานสหสมาคมตระกูลแซ่ จะทำอย่างไรให้ตระกูลแซ่แข็งแรง ก็พยายามรวบรวมมาประชุมกัน ผมพูดทุกครั้งว่าทุกตระกูลแซ่ ต้องพัฒนาวัฒนธรรมประเพณีของตระกูลแซ่นั้นๆ ให้แข็งแรงเพื่อสืบทอดให้ลูกหลาน แล้ววัฒนธรรมนี้จะเจริญรุ่งเรืองไปได้อีกหลายชั่วคน

บทเรียนอะไรในประวัติศาสตร์จีนจากยุคโบราณถึงร่วมสมัยที่ไทยควรนำมาพิจารณาอย่างสำคัญ

จีนเมื่อ 40 ปีก่อน ล้าหลังกว่าไทย ถ้าไทยจะพัฒนาให้เหมือนจีนได้ คำเดียวเลย คือ คอร์รัปชั่นในไทยต้องลดน้อยลงไปให้มากๆ อีกอย่างหนึ่งคือ คนจีน ไม่ว่าพ่อแม่จะลำบากแค่ไหน ต้องส่งลูกเรียนหนังสือ คนไทยเรา ไม่ได้คิดถึงการศึกษา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ฝนมาก็ทำ ฝนตกหนักก็น้ำท่วม ถ้าเมื่อ 25 ปีก่อนเราเน้นเรื่องการศึกษามากๆ คนรุ่นนี้จะฉลาดเยอะ แต่ทุกสมัย ครู เงินเดือนน้อย ในขณะที่สิงคโปร์ จีน ครูมีเกียรติมาก เงินเดือนเยอะ เพราะครูวันนี้สร้างบุคลากรในวันหน้าเป็นหมื่นแสนล้านคน

จากที่เคยทำธุรกิจทั้งในจีนและฮ่องกง จะเห็นว่าฮ่องกงเปลี่ยนไปเยอะ โดยเฉพาะหลังๆ เมื่อกลับมาอยู่กับจีน มีประเด็นทางการเมือง รวมถึงกฎหมายความมั่นคง ส่วนตัวมองอย่างไร?

จีนก็พยายามรวมประเทศของเขา เพราะประเทศจีน 5,000 กว่าปี มีช่วงที่ญี่ปุ่นครองทางตะวันออกเฉียงเหนือ รัสเซียก็เอาภาคเหนือของจีนไป ไต้หวันอยู่เป็นเกาะ ฮ่องกงไปอยู่กับอังกฤษ ตอนจีนขึ้นมาใหม่ๆ อ่อนแรงมาก อินโดนีเซียแอนตี้จีน ฆ่าคนจีนไปเยอะ แต่จีนไม่มีแรง ตอนนี้จีนแข็งแรงขึ้นมาแล้ว ก็พยายามที่รวบรวมประเทศโดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งเกี่ยวกับอาเซียนด้วย อเมริกามาแทรกแซง แต่ทำอะไรจีนไม่ได้ ถ้าวันไหนเป็นจีนดียว จะยิ่งใหญ่แบบทวีคูณ ญี่ปุ่นก็กลัว อเมริกาก็กลัว

ขอกลับมาที่สหสมาคมตระกูลแซ่ฯ ความภาคภูมิใจบนเก้าอี้ประธานคืออะไร?

เราสามารถก่อตั้งสหสมาคมฯสามารถรวบรวมตระกูลแซ่ต่างๆ พัฒนาให้ทุกตระกูลแซ่อยู่ในสังคมของคนจีนและประเทศชาติ สมาคมของเราพัฒนาตระกูลให้แข็งแรง พวกเราจะเป็นกำลังที่มีคุณภาพ ซึ่งผมก็พยายามสร้างบุคลากรที่จะมาสืบทอดตำแหน่ง แต่ยังหาไม่ได้ เพราะคนเรานั่งนานๆ มันก็เพลีย (หัวเราะ)

คุณสมบัติที่สำคัญ ไม่ใช่เงิน เพราะทุกคนมีเงิน แต่ต้องเป็นคนที่ทุกตระกูลแซ่ต้องเกรงใจ นี่ก็พยายามจะให้คนไล่ผมออก แต่ไม่มีคนไล่ (หัวเราะ)

คนที่นั่งเก้าอี้ตัวนี้ ไม่ใช่ว่าใหญ่ เวลาประชุม เป็นประธาน นั่งจุ๊ย 2 ชั่วโมง หลังจบประชุม ผมเป็นลูกน้อง



จากเด็ก ‘ขายจิ้งหรีด’ สู่นักธุรกิจข้ามชาติ

“ตั้งแต่เด็กคิดว่า ทำไมจนอย่างนี้ ชีวิตสอนผมว่าต้องทำ ต้องพยายาม และจะมีเงินเข้ามาเอง แล้วมันก็เป็นเรื่องจริง ตอน 6-7 ขวบเคยซื้อเหมาจิ้งหรีดเป็นปี๊บ 100 ตัว 20 บาท เอากระป๋องบุหรี่และดินมาปั้นเป็นรัง ตัวไหนใหญ่ ใส่กระป๋องขายได้ราคาสูง ที่เหลือใส่ในรังดินปั้น ตั้งขายแถวห้างทองตั้งโต๊ะกัง ได้กำไรทั้งหมด 10 บาท ถือว่าเยอะมาก เพราะก๋วยเตี๋ยวยังชามละ 50 สตางค์”

คือคำบอกเล่าจากปาก ดร.กิตติ อิทธิภากร ลูกหลานชาวจีนแซ่อึ๊ง ซึ่งต่อมากลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและอีกบทบาทหนึ่งก็คือประธานสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย

เกิดที่ กทม. แถบถนนเสือป่า ตรงข้ามโรงพยาบาลกลาง โดยรุ่นพ่อแม่เดินทางมาจากอำเภอเหยี่ยวเพ้ง เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง

“ตอนนั้นพ่อมาทำงานให้ อื้อจื่อเหลียง มหาเศรษฐี รุ่นเดียวกับตระกูลเตชะไพบูลย์ แต่ทางบ้านฐานะไม่ได้ร่ำรวย ถือว่ายากจน ไม่มีตังค์ ชีวิตตั้งแต่เด็ก คิดอย่างเดียว ทำอย่างไรจะมีตังค์ก็พยายามหาเงิน ขายจิ้งหรีด ปลา ของเล่น และหนังสือเพลง 100 เพลงบาท ซึ่งตอนนั้น ทูล ทองใจ กำลังดัง” ท่านประธานสหสมาคมฯวัย 74 เล่าย้อนอดีต โดยบอกว่า ต่อมาในวัยหนุ่ม จึงเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง

“ผมเริ่มธุรกิจจากการเป็นลูกน้องเขาก่อน ตอนอายุ 12 เป็นช่างทำสิ่งพิมพ์ ทำอยู่จนอายุ 20 ก็เป็นเถ้าแก่ มาถึงปัจจุบันก็ 54 ปีแล้ว”

เดินทางด้วยเหตุผลด้านการทำธุรกิจมามากมาย เปิดออฟฟิศที่ฮ่องกง ซื้อเครื่องจักรจากญี่ปุ่น เกาหลี ไปลงทุนที่จีนนานกว่า 10 ปี ผ่านประสบการณ์มากมายกว่าครึ่งศตวรรษ เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการลงทุนในอดีตกับปัจจุบัน ดร.กิตติบอกว่า

“ยุคนั้น ลงทุนน้อย เน้นความมานะ อดทน ก็หาเงินได้ ส่วนยุคนี้ หาเงินไม่ยาก แต่ลงทุนสูง ต้องมีเครื่องจักร เทคโนโลยีสูง โรงงานที่เป็นมาตรฐาน ISO ถามว่ากำไรดีไหม ก็ดี อยู่ที่การวางฐาน วางลูกค้า มนุษยสัมพันธ์ ผมมีหลัก 3 ข้อในการค้าขาย คือ บริการ มาที่ 1 ตามด้วยคุณภาพต้องได้มาตรฐาน ส่วนราคา คุยกันได้ อย่างเวลาผมรับงาน ไม่ใช่ราคาถูก เพราะเราบริการอย่างดี ลูกค้าก็ติด”

เป็นหลักประจำใจของนักธุรกิจและผู้ได้รับการเคารพนับถืออย่างยิ่งในสังคมคนไทยเชื้อสายจีนในแผ่นดินไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image