‘คุย-ก่อน-สร้าง’ กุญแจสำเร็จงานวิจัย บัญชา ธนบุญสมบัติ ผอ.ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ‘เอ็มเทค’

การสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” จะขาดองค์ประกอบสำคัญอย่างการออกแบบที่ดี และวัสดุที่มีประสิทธิภาพไปไม่ได้ อีกหนึ่งปัจจัยหลักคือผู้วิจัยและผลิตต้องคำนึงถึง “ความต้องการใช้งาน” โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค มุ่งเน้นในแนวทางดังกล่าวโดยเฉพาะ

เอ็มเทค เป็นองค์กรวิจัยที่ดำเนินงานตามพันธกิจในทิศทางที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ แผนงานระดับประเทศ และแผนกลยุทธ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยยึดหลักการสร้างความร้อยเรียงของกรอบแนวคิด 4 ด้าน คือ ความเชี่ยวชาญ ความสอดคล้อง ผลกระทบ และการเป็นที่ยอมรับ

ทั้งหมดก็เพื่อให้ผลงานที่ผลิตขึ้นจากความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยออกมาตรงกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง กระทั่งได้รับความยอมรับระดับประเทศและนานาชาติ

ปัจจุบัน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 34 โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี เปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายการใช้ประโยชน์ของผลผลิตงานวิจัยจากเอ็มเทค แบ่งเป็น 5 กลุ่มหลักคือ ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต, อุตสาหกรรมการผลิตและการบริการทางวิศวกรรม, อุตสาหกรรมฐานเกษตรกรรม, เกษตรกรรม และสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายอีก 2 กลุ่มคือ พลังงาน และเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่

Advertisement

“สิ่งที่เราทำอยู่เรียกว่างานวิจัยและพัฒนา กว่าครึ่งหรือเกือบทั้งหมดเป็นงานที่ตอบโจทย์ภาคผู้ใช้ ไม่ว่าจะอุตสาหกรรม หรือชุมชน มีบางส่วนที่เราคิดค้นใหม่ ซึ่งมองว่าเรื่องดังกล่าวสำคัญ แต่ในที่สุดก็ต้องมีผู้ใช้ เช่น ระบบเทเลเมดิซีน”

ด้วยเวลามากกว่า 20 ปีที่ บัญชา ร่วมงานกับเอ็มเทค เขาได้เห็น ได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ประเด็นสำคัญคือจุดเริ่มต้นงานวิจัยมิได้เริ่มจากความถนัดของบุคลากร หากแต่อาศัยหลัก “ความต้องการของผู้ใช้” เป็นตัวตั้งต้น

และบรรทัดต่อไปนี้จะช่วยขยายความเข้าใจหลักการดังกล่าว

Advertisement

 

ปัจจุบันนี้ “เอ็มเทค” มีงานวิจัยหรือสร้างนวัตกรรมด้านใด อย่างไรบ้าง?

ด้านสุขภาพทางการแพทย์ แบ่งเป็นมุมมองที่เข้าใจง่าย 3 กลุ่มใหญ่ๆ 1.เกี่ยวกับอาหาร ซึ่งก็นับเป็นวัสดุศาสตร์ บางคนแพ้กลูเตน เราจึงคิดค้นสารทดแทนขึ้น 2.กลุ่มงานทางวิศวกรรม เช่น “โจอี้” เตียงตื่นตัว โดยวิศวกรของเอ็มเทคออกแบบให้เตียงยกผู้ป่วยได้ปกติ พร้อมกับหมุนได้ด้วย และ 3.แนววัสดุ เช่น 3D sole หรือวัสดุรองรองเท้า เพื่อให้การเดินสบายขึ้น

วิธีการของ 3D sole คือให้ผู้ใช้ไปล้างเท้าก่อน จากนั้นมาเข้าเครื่องสแกน แล้วใช้การพิมพ์ 3D พิมพ์วัสดุออกมา ซึ่งของจะเป็นเฉพาะเราไปเลย หัวใจอยู่ที่ว่าไม่ใช่ใครก็ทำได้ เพราะคนที่มีความรู้ในการดูว่าน้ำหนักกดตรงไหนต้องเป็นนักกายศาสตร์เท่านั้น ที่สำคัญต้องทำงานเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์มาก่อน โชคดีที่เอ็มเทคมีน้องท่านหนึ่ง ชื่อบัว เคยทำงานที่ศิริราชมาก่อน เคยออกแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ร่วมกับคุณหมอ เพื่อรักษาคนไข้ แน่นอนว่าเขาไม่ใช่แพทย์ แต่เขาเป็นคนทำอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อให้แพทย์นำไปช่วยเหลือคนไข้ เขาจึงมีความรู้ในการมองข้อมูลของบุคล ดูพฤติกรรมการเดิน แล้วออกแบบมา นี่จึงยืนยันว่าไม่ใช่มีเทคโนโลยีอย่างเดียวก็ทำได้ แต่ต้องมีคนที่มีความรู้เฉพาะทางด้วย

ด้านวิศวกรรม เพื่อสุขภาพและผู้สูงวัย เรามี เทเลแคร์ (Tele Care) อุปกรณ์ดูแลทางไกล อีกชิ้นหนึ่งที่อยากแนะนำคือ “รถเข็นนั่งปรับนอน สำหรับถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วย” ผมเคยโดนผ่าตัด รู้ว่าเวลาถ่ายเตียงแล้วเจ็บ (ยิ้ม) เตียงนี้สามารถนำเข้าเครื่องเอกซเรย์ได้ จากนั้นนำฟิล์มเอกซเรย์ไว้ด้านล่างแล้วฉายได้ทันที ลดความเสี่ยงการขยับตัวของคนไข้

เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยียาง เอ็มเทคมี “น้ำยางโลมาร์” น้ำยางข้นใช้ผสมกับแอสฟัลต์ เพื่อทำถนนลาดยางมะตอย ยืดอายุการใช้งานของถนน ซึ่งมีงานวิจัยต่างประเทศระบุว่าหากใส่ยางธรรมชาติเข้าไปด้วยจะช่วยยืดอายุถนนได้ประมาณ 2 เท่า เอ็มเทคจึงคิดสูตรน้ำยางขึ้นมาเพื่อผสม อีกทั้งยังดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

เอ็มเทคทำงานวิจัยเองด้วย และมีส่วนที่เอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆ ลงทุนให้ทำวิจัยให้ด้วย?

ตอนนี้เกินครึ่งหนึ่งมาจากเอกชนเป็นตัวตั้งต้น แต่แน่นอนว่าด้านเทคโนโลยี วิศวกรรมหลายๆ อย่างเราควรเริ่มเองบ้าง คล้ายๆ กับว่ารู้ว่ามีทิศทางนี้เราชิงทำก่อน ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราเริ่มเองเยอะ แล้วรอให้คนมาไลเซนส์ไป แต่โมเดลนี้ไม่ค่อยเวิร์ก เพราะไม่ได้เอาตลาดนำ แต่โมเดลที่เอาตลาดนำก็ต้องมาจากการจ้าง ขณะเดียวกันก็มีแรงกดดันเช่นกัน เพราะผู้ว่าจ้างมีเวลา เรื่องเวลาสำคัญมาก ต้นทุนก็สำคัญ พูดง่ายๆ คือต้องการเร็วและถูก (หัวเราะ)

เอกชนก็มีแล็บของตัวเอง แต่ที่ไม่ทำเป็นเพราะว่าเวลาทำต้นแบบแรกสุดมันมีต้นทุนอยู่ ต้องการเครื่องมือวิเคราะห์เยอะ ซึ่งราคาเครื่องมือวิเคราะห์แต่ละตัวสูงมาก เขาอาจไม่มีบางตัว หรือต่อให้เขาไม่มีก็จ้างที่อื่น แต่ปัญหาคือเรื่อง “ความลับ” ดังนั้น ถ้าจ้างเรา เซ็นสัญญา ทำต้นแบบมา หรือส่งต้นแบบมาทดสอบที่แล็บเรา การเก็บความลับต่างๆ ก็ง่ายกว่า และเขาไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องมือเอง

กว่าจะเป็นนวัตกรรม 1 ชิ้น ผู้ที่อยู่ในกระบวนการนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

ปกติจะเห็นแต่ผู้สร้าง แต่คำว่า “นวัตกรรม” ต้องมีความต้องการใช้ก่อน ถ้าไม่มีผู้ต้องการ สร้างไปเลยก็ยาก อาจยกเว้นบางกรณีเท่านั้น เช่น กรณีสตีฟ จ๊อบส์ ที่บอกว่าคุณไม่รู้หรอกว่าคุณต้องการอะไร แต่เราจะทำให้คุณต้องการเอง อันที่จริงเขารู้อยู่แล้วว่าคนต้องการความสะดวกจึงสร้างสมาร์ทโฟนออกมา

การสร้างนวัตกรรมต้องดูจาก 1.มีกลุ่มคนที่เป็นผู้ต้องการ จากนั้นดูว่าตอบโจทย์หรือไม่ 2.องค์กรต้องยอมให้นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักประดิษฐ์ลงไปตอบโจทย์นั้น เพราะในฐานะองค์กรไม่สามารถทำทุกอย่างได้ และองค์กรต้องมีนโยบายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม 3.ต้องมีคนมีฝีมือ คุณมีโจทย์ มีนโยบาย แต่ถ้าไม่มีคนที่มีฝีมือก็จบ 4.ต้องขายได้ ต้องโน้มน้าวใจผู้ผลิต จากนั้นต้องให้ผู้ใช้ยอมจ่ายในราคาที่เราทำออกมาได้ ซึ่งต้นแบบต้องไม่แพงจนเกินไป และถ้าแมสแล้วต้องราคาถูกลง อย่างน้อย 4 องค์ประกอบนี้ต้องมี ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้

ถ้ามีผู้ต้องการใช้ นักวิจัยมีฝีมือ แต่องค์กรไม่สนับสนุนแล้วแอบทำกันเอง ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่ แต่สุดท้ายก็ไม่เกิด เพราะไม่มีเงินมาลง คำว่านโยบายองค์กรคือเขาให้เงินสนับสนุน ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ หรือถ้าทำหมดแล้วแต่ไม่มีคนขยายผลก็เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ อยู่แค่ในแล็บ เหมือนที่พูดกันว่าขึ้นหิ้ง นี่ยังไม่นับรวมว่าถ้ามีคู่แข่งนะ (หัวเราะ)

เรื่องทุนสนับสนุนภายในเอ็มเทค รวมทั้งบุคลากรที่ใช้วิจัย ผลิตนวัตกรรม ปัจจุบันนี้ถือว่าเพียงพอไหม?

(หัวเราะ) น่าสนใจมาก เพราะถามกลุ่มวิจัยไหนๆ ก็บอกว่าต้องการคนทั้งนั้น ยิ่งถ้าเป็นนักวิจัยที่มีผลงานเยอะๆ ซึ่งเขาทำงานเต็มร้อย บางคนเกินร้อย โดยเฉพาะพวกที่ทำงานแล้วได้ผลก็สนุกใหญ่ นั่นคือส่วนหนึ่งที่เกิดจากตัวเขาเอง แต่อย่างที่บอกว่าเกินครึ่งแล้วเป็นผลงานที่เราได้รับการว่าจ้าง มีเดดไลน์อยู่ คุณต้องทำให้เสร็จ เพราะนอกจากการรายงานความคืบหน้าภายในแล้ว ก็ต้องรายงานลูกค้าด้วย (หัวเราะ) ถ้าไม่ทันก็ต้องมีเหตุผลเพียงพอ

จำนวนบุคลากรด้านวัสดุศาสตร์ในประเทศไทยนั้น โอ (ลากเสียงยาว) บางฟิล กรณีการแพทย์ หรือพวกสุขภาพเอง ถามผม ผมก็จะบอกว่าเราต้องการเพิ่มเติม อย่างที่เล่าให้ฟังเรื่องน้องบัว ตอนนี้ในเอ็มเทคมีคนเดียว ส่วนที่อื่นก็มีไม่เยอะเหมือนกัน ซึ่งความต้องการใช้อุปกรณ์ในปีๆ หนึ่งมีออเดอร์หลักสิบ สมมุติประชากรไทย 65 ล้านคน และกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นี่ยังไม่รวมถึงผู้พิการบางอย่าง หรือผู้ป่วยบางรายที่ต้องการอุปกรณ์อะไรพิเศษ

ส่วนที่ขาดหายไปเป็นเพราะว่าคนรุ่นใหม่ไม่เลือกเรียนสาขาที่เกี่ยวข้อง?

เข้าใจว่าเป็นความเข้าใจของสังคมที่ยังไม่ครบถ้วน เพราะผมก็เพิ่งรู้ว่ามีอาชีพเหล่านี้ด้วย (หัวเราะ) ถ้าไม่มาอยู่เอ็มเทคก็ไม่รู้ว่ามีอาชีพออกแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงคิดว่าการจะเป็นอะไรเฉพาะทางแบบนี้ได้ ต้องมีความรู้หลากหลายสาขา และต้องถูกบ่มในสถานที่ หรือบริบทที่เหมาะสม คิดดูว่าถ้าผู้ออกแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่มีแพทย์คอยไกด์ให้ก็ทำไม่ได้ ไม่มีคนไข้จริงๆ มาให้ทดลองก็ทำไม่ได้ ซึ่งก่อนทำมาก็ต้องเรียนมาก่อน ดังนั้น กลายเป็นว่าเรื่องบางเรื่องมันเฉพาะทางมากทีเดียว

ในกรณีของวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหลาย ถ้าเรามีคนไทยที่วิจัยเรื่องนี้ โดยความเชื่อส่วนตัวแล้วคิดว่าตลาดน่าจะโตมากพอที่คุณจะมีงานทำ เพราะยังมองไม่ออกเลยว่าจะไม่โตได้อย่างไร เมื่อคนยังเจ็บป่วย มีความสูงวัย ต่อให้ไม่สูงวัย คนก็ต้องการสุขภาพที่ดี เช่น เข้าฟิตเนส ซึ่งก็เกี่ยวข้องกัน เพราะต้องออกแบบอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับบุคคล

การออกแบบอุปกรณ์บางอย่าง ฝรั่งออกแบบมาจากสรีระของเขา โดยเฉลี่ยก็ใหญ่กว่าเรา ดังนั้น เรื่องสุขภาพ การแพทย์น่าจะสมเหตุสมผล และน่าจะมีตำแหน่ง/อาชีพมากพอที่เห็นว่าใครยังสนใจลองมองหน่อยดีไหม ถามว่าคุณจะได้ทำงานกับใครบ้าง? กับแพทย์ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ ซึ่งเราก็มีผู้ต้องการใช้นวัตกรรมอย่างชัดเจน

นักวัสดุศาสตร์มีฐานคิดเรื่องการออกแบบวัสดุกับเทรนด์โลกในอนาคตอย่างไรบ้าง?

เรื่องวัสดุเป็นฐานเกือบที่สุดของสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ ปกติมักไม่ได้รับการชื่นชม เชิดชูเท่าไหร่ เช่น อีลอน มัสก์ ประกาศเปิดตัวรถเทสลารุ่นใหม่ พร้อมบอกว่ามีสมรรถนะชนะยี่ห้ออื่น คนไม่ถามหรอกว่าล้อยางทำจากอะไร แต่มองแค่ว่าเทสลามีโมเดลเจ๋ง หากคิดในเชิงเทคนิคแล้ว เทสลาคันนั้นจะเป็นเทสลาคันที่เป็นไม่ได้ ถ้าขาดการออกแบบและวัสดุที่ดี เช่น การออกแบบดีแค่ไหนก็ตาม แต่วัสดุมีประสิทธิภาพไม่ถึงก็จบ คุณต้องดูว่าทนแรงบิดได้เท่าไหร่ ล้อยางต้องเกาะถนนได้ดีขนาดไหนด้วย

เมื่อก่อนนักวัสดุอาจไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มากเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ต้องคิดแล้ว เพราะคุณเป็นต้นทางคนอื่น ต้องดูว่าปลายทางเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกระแสสิ่งแวดล้อมกำลังมา ใช้เสร็จแล้วทิ้งที่ไหน ไปลงทะเล สัตว์ทะเลมากินแล้วจะตายหรือไม่ ดังนั้น ต้องคิดเรื่องการย่อยสลายต่อไปอีก ซึ่งเอ็มเทคก็มีนักวิจัยในเรื่องเหล่านี้เช่นกัน โดยเฉพาะการย่อยสลายพลาสติก

ท้ายที่สุดแล้ว จุดเด่น จุดแข็งของ ‘เอ็มเทค’ คืออะไร?

(คิดนาน) ตอนนี้เราอาศัยความต้องการของผู้บริโภค ภาคสังคม อุตสาหกรรมเป็นโจทย์ในการทำงาน แปลว่างานที่เราทำมีโอกาสนำไปใช้สูงมาก บางเรื่อง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นเทรนด์ของโลก เช่น เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม อีกทั้งเอ็มเทคปีนี้ปีที่ 33 แล้ว ผมเข้ามาตั้งแต่เอ็มเทคเข้าสู่ปีที่ 6-7 ได้เห็นพัฒนาการเยอะมาก ตอนนั้นยังงงๆ อยู่ เพราะนักวิจัยสมัยก่อน เรียนอะไรมา จบเอกอะไรมา ส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มทำเรื่องแบบนั้น แต่ปัจจุบัน แน่นอนว่าความชำนาญส่วนนั้นต้องใช้อยู่แล้ว แต่เมื่อต้องเข้ากลุ่มวิจัยซึ่งมีเป้าหมายชัดเจน เขาต้องปรับตัว จึงต้องเคลมว่าผลงานของเอ็มเทคสามารถตอบโจทย์ภาคสังคมได้เยอะมาก

เรามีการประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมด้วย ความหมายที่แท้จริงคือมีคนเอานวัตกรรมไปใช้จึงนับเป็นผลกระทบได้ หรือหากไม่ทำแล้วเกิดความเสียหายเท่าไหร่ ก็เป็นอีกโมเดลหนึ่ง แต่โดยความหมายแล้วมันมีประโยชน์ เช่น ทางเศรษฐกิจมันสามารถขายได้จริง

เคยได้ยินคำว่า “Human-centric Design” ไหม คือการเอาตัวผู้ใช้งานเป็นตัวตั้ง วิธีการแบบ Human-centric Design คือเราไปคุยกับผู้ใช้ กรณีเตียงตื่นตัว “โจอี้” ก็คุยกับคนไข้ คุยกับผู้ดูแล พยาบาล หมอ แล้วทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทุกอย่างสมบูรณ์ถึงจะออกมา ดังนั้น จึงไม่ใช่การทำทีเดียวจบแล้วใช้งานได้เลย ต้องมีการทำซ้ำ ลงพื้นที่

ข้อดีคือตอบโจทย์ แต่การลงไปคุยกับคนยังเป็นเรื่องยาก ผมเคยคุยกับทีมวิศวกรที่ต้องลงพื้นที่ คิดว่าเรื่องนี้ง่าย แต่เขาบอกว่ายาก ตอนที่ยังไม่รู้จักคนในโรงพยาบาล ทีมเขาคนหนึ่งจบจากเยอรมัน อีกคนจบจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) พวกเขาเดินเข้าไปหา ผอ.โรงพยาบาลหรือผู้มีอำนาจ บอกว่าเป็นนักวิจัยของแล็บนี้ ทำแบบนี้ ส่วนใหญ่ไม่เชื่อ คิดว่าเป็นเซลส์มาขายของ (ยิ้ม) แต่โชคดีที่เขามีความมุ่งมั่นไปหลายที่ จนมีบางที่เชื่อ เนื่องจากทีมวิศวกรมีความตั้งใจจริง ลงมือทำจริง ทีมนี้จึงกลายเป็นทีมต้นแบบ คือเมื่อทำอะไรให้มีประสิทธิภาพดี 1.ฝีมือต้องดี 2.ต้องมีความตั้งใจ 3.โน้มน้าวใจคนได้ จึงจะสำเร็จ

อย่าลืมว่า ต่อให้สำเร็จแล้ว ขยายผลไปอุตสาหกรรม ต่อไปก็ต้องให้อุตสาหกรรมยอมผลิตตามด้วย

 


 

ปรากฏการณ์เมฆสีรุ้ง (Iridescent clouds) เมื่อวันที่ 17 ก.ค.63 เวลา 18.39 น. โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

‘ดูเมฆ’ แพสชั่นอันแรงกล้า กับอีกหนึ่งบทบาท ‘ดอกเตอร์ชิว’

นอกจากผู้คนจะรู้จัก ดร.ชิว-บัญชา ธนบุญสมบัติ ในฐานะ ผอ.ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี แห่งเอ็มเทคแล้ว เขายังมีชื่อเสียงในแวดวงดูเมฆ กระทั่งได้ริเริ่มตั้ง “ชมรมคนรักมวลเมฆ” ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 พร้อมมีสมาชิกในเพจเฟซบุ๊กกว่า 70,000 คนแล้ว

“ผมชอบเมฆ ชอบดูรังสีต่างๆ ก่อนจะศึกษาแล้วไปสอนคนอื่นต่อ ตอนหลังพบว่ามีคนมาเขียนการ์ตูนบนเมฆ บางคนแต่งกลอน แต่งโคลง บางคนแต่งเรื่อง บางคนก็ขำๆ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่บอกว่าการดูเมฆมันเตะใจ ซึ่งหลายคนก็มาเล่าให้ผมฟังในสเตตัสเฟซบุ๊ก บางส่วนมาในกล่องข้อความ บางคนก็มาเล่าในอีเมล์”

คือคำบอกเล่าอันเป็นแพสชั่นส่วนตัวของ ดร.ชิว ก่อนจะอธิบายถึงปรากฏการณ์บนท้องฟ้าในช่วงนี้ที่มีทั้งเมฆก้อนรูปทรงต่างๆ ไปจนถึงอาทิตย์ทรงกลด ตลอดจนความในใจจากใครหลายคนที่หลงรักท้องฟ้าและก้อนเมฆโดยไม่รู้ตัว

“ช่วงนี้ฤดูฝน ความชื้นเยอะเพราะมรสุม โอกาสเกิดเมฆจึงเยอะตามไปด้วย ซึ่งเมฆก็คือน้ำ คิดง่ายๆ ว่าฝนมาจากเมฆ ดังนั้น เมฆก็คือน้ำ และเมฆมีได้หลายรูปร่าง เช่น ปลายงอนเหมือนลายกนกก็มี คล้ายเต้านม เมฆฝนฟ้าคะนอง บางทีเมฆไปบังแสงอาทิตย์เกิดเป็นพระอาทิตย์ทรงกลด โดยช่วงนี้จะเห็นพระอาทิตย์ทรงกลดบ่อยมาก

“จริงๆ แล้วมนุษย์มองฟ้า มองพระอาทิตย์ขึ้นและตกเป็นเรื่องปกติ มันมีความโรแมนติกอยู่ในนั้น เหมือนเวลาขึ้นมาเป็นความหวังใหม่ ลับฟ้าไปพักผ่อน แต่ก็มีบางอย่าง เช่น บนท้องฟ้ามีเมฆก้อนๆ ก็ให้ความสบายใจกับคน ผมเคยมีรุ่นน้องซึ่งตอนนั้นเป็นพยาบาล ปัจจุบันเป็นแพทย์ เล่าให้ฟังว่าช่วงอกหักอาการหนัก อยากทำร้ายตัวเอง เลยไปนั่งเซ็งๆ อยู่ในที่หนึ่ง ดูเมฆก้อนธรรมดาที่ลอยมาแล้วก็ลอยไป จากนั้นอีกก้อนหนึ่งก็ลอยมา แล้วก็ลอยไป ก่อนจะบรรลุขึ้นมาว่ามันมาแล้วก็ไป ทำไมต้องมานั่งจมปลักกับผู้ชายคนเดียว แล้วเขาก็ลุกขึ้นมาทำอย่างอื่น จนตอนนี้เรียนจบเป็นหมอ (หัวเราะ)

“มีทฤษฎีส่วนตัวซึ่งอาจจะผิดก็ได้ว่า เมื่อมนุษย์มีปัญหามักจมอยู่กับตัวเอง คิดอยู่ว่าทำไมแฟนต้องทิ้ง ทำไมต้องถูกโกง ทำไมต้องเจอคำวิจารณ์ในแง่ลบ อะไรก็ฉัน ฉัน ฉัน แต่พอมองท้องฟ้าแล้วมันกว้างใหญ่ ตัวเราเลยเล็กลงไป ปัญหาที่มีอยู่เมื่อเทียบกับฟ้าแล้ว โดยเฉพาะถ้าฟ้าสวยๆ ก็ยิ่งดึงความสนใจเราไปตรงนั้น เลยมลายหายไป สำหรับคนจำนวนหนึ่งท้องฟ้าเลยมีพลังด้วยเหตุนี้”

ดร.ชิวเล่าให้ฟังยาวๆ ก่อนจะกล่าวบางอย่างส่งท้ายว่า ความชอบเมฆอาจต่างจากพวกดูนก นักดูนกเคยมาอธิบายว่าไม่ง่ายเลยเพราะต้องเข้าไปในพื้นที่ของนก การแต่งตัวต้องไม่โดดเด่น ส่งเสียงดังไม่ได้ ต้องนั่งเงียบๆ ถือกล้องส่อง ซึ่งผมทำได้ แต่ไม่ได้มีแพสชั่นขนาดนั้น (ยิ้ม) เลยรู้สึกนับถือคนเหล่านี้ที่เขามีความรักจริง ส่วนดูดาวก็ว่าสวยดี สนุกดี แต่ดูดาวแล้วยุงกัด (หัวเราะ)

“ดูเมฆแล้วกลัวรถชนอย่างเดียว เพราะเมฆพาเราไปกลางถนน ซึ่งก็ต้องระวังมาก”

แล้วบทสนทนาในวันนั้นก็จบลงด้วยเสียงหัวเราะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image