#แฟลชม็อบจะไม่ทน การเมืองไทยในสายตา ศ.นพ.ประเวศ วะสี ‘เหลือทางเดียวคือใช้โอกาสจากวิกฤต’

“ทางอื่นมันออกไม่ได้ จะออกที่ความรุนแรงก็ไม่ได้ จะไปเผด็จการทหารอีกก็ไม่ได้ จึงเหลือทางเดียวคือใช้โอกาสจากวิกฤต”

เป็นคำกล่าวจากมุมมองของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้ซึ่งเปิด 3 ข้อเสนอแก้วิกฤตการเมืองไทยในยุค ‘แฟลชม็อบ’ ที่มีแฮชแท็ก #จะไม่ทน ผุดขึ้นทั่วไทย

เริ่มจากเสนอให้รัฐบาลร่วมกับสภาจัดรัฐพิธีขอขมาประเทศไทย ตามด้วยประชุมสมัชชาประชาธิปไตย ปิดท้ายด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากตัวแทนทุกภาคส่วน

ทั้งยังเน้นย้ำว่า ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่ใช่แค่ ‘กลไก’ หากแต่ยังมีแง่มุมมากไปกว่านั้น

Advertisement

ท่ามกลางสถานการณ์เผ็ดร้อนรายวัน ทั้งบนเวทีปราศรัย ในการเข้าแถวตอนเช้าเพื่อเคารพธงชาติ บนเรือนร่าง เสื้อผ้า หน้าผมและกระเป๋านักเรียนที่ ‘โบขาว’ ปรากฏเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในมือขวาที่ชู 3 นิ้วไปจนถึง ‘กำปั้น’ ซึ่งวงแร็พต้านเผด็จการอย่าง R.A.D. ชักชวนให้ชูเพื่อเป็นคำมั่นสัญญาในการสู้ไม่ถอยเพื่อประชาธิปไตย

ต่อไปนี้ คือมุมมองของ ‘ราษฎรอาวุโส’ ผู้ซึ่งมีความคิด ความเห็นในประเด็นสังคม การเมือง การศึกษาตลอดหลายทศวรรษของชีวิต ต่อสถานการณ์ ณ ห้วงเวลาสำคัญในยุคเปลี่ยนผ่านที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น

 

Advertisement

มองสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยตอนนี้อย่างไร?

ท่ามกลางความขัดแย้งมันก็เกิดบาดแผลทางจิตใจในสังคมที่ทุกฝ่ายได้มีส่วนก่อไว้ บาดแผลตรงนี้มันมากเกินไป สังคมไทยเลยติดอยู่ในอดีต เคลื่อนไปสู่ข้างหน้าไม่ได้ ถ้าเอาปัญหาเป็นตัวตั้งจะทะเลาะกันใหญ่ ปัญหาทุกชนิด มีรากยาวไกล และมีคนเกี่ยวข้อง พอไปจับปัญหาก็ต้องเจอคน มีจำเลย เลยทะเลาะกันใหญ่ ก็หาทางออกไม่ได้ บางคนที่รู้ ซึ่งมีน้อยคนจึงสรุปซึ่งฟังดูแปลกว่าการพัฒนาไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่การพัฒนาคือการรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี เพราะสิ่งใหม่ ไม่มีจำเลย อนาคตไม่มีจำเลย อดีตจำเลยเยอะ

การจะเคลื่อนไปได้ต้องล้างมลพิษทางจิตใจ สังคม ซึ่งล้างไม่ได้ด้วยการต่อสู้ ยิ่งสู้ยิ่งเกิดบางแผล จึงเป็นที่มาว่าจะยุติวิกฤตชาติอย่างไร

ในข้อเสนอ 3 ข้อ ทำไมต้องเริ่มที่การจัดรัฐพิธีขอขมาประเทศ?

ถ้าเราเสนอทางออกที่คนหมดศักดิ์ศรี มันออกยาก ต้องเสนอวิธีที่ทุกคนมีศักดิ์ศรี ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกองทัพ ประกาศว่าจะสนับสนุนประชาธิปไตยจะเป็นทางออกที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี เพราะฉะนั้น ขั้นแรก รัฐบาลควรร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรจัดรัฐพิธีขอขมาประเทศไทย การขอขมา การสำนึกผิดนี้ ทำให้คนให้อภัยได้ แต่ต้องมีความจริงใจ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมดควรสำนึกผิด กองทัพมีคุณต่อประเทศในอดีต ต่อสู้ศัตรู แต่ทำรัฐประหารมาหลายครั้ง และอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ อย่างคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ควรมาขอโทษ ซึ่งจะช่วยทำให้บาดแผลในใจคนเบาลงไป อย่างตอนนาซีเยอรมันฆ่ายิว เป็นอนันตริยกรรมต่อมนุษยชาติ และโลกทั้งโลกจะไม่ลืม แต่พอ วิลลี บรันดท์ (Willy Brandt) นายกรัฐมนตรีหลังสงครามซึ่งเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับนาซี ออกมาขอโทษ เพราะเป็นนายกฯของประเทศที่ก่อกรรม คุกเข่าลงขอโทษชาวโลก คนก็ให้อภัย เยอรมันสามารถกลับมาสู่สังคมศิวิไลซ์ของโลกได้ และเจริญอย่างรวดเร็วเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

หรือกรณีคริสตจักร ทำกับโคปอนิคัสซึ่งบอกว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ แล้วไปจับเขามาขังคุก บัดนี้ปรากฏว่าที่เขาพูดเป็นความจริง คริสตจักรผิด 400 ปีมาแล้ว พระสันตะปาปาก็ขอโทษต่อชาวโลกในฐานะประมุขของคริสตจักร

เชื่อว่าสมัชชาประชาธิปไตยกับตั้ง ส.ส.ร.คือ ‘ทางลง’ ระหว่างหลายฝ่ายและหลายรุ่นในมรสุมความขัดแย้งในขณะนี้?

การจัดสมัชชาประชาธิปไตยให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม ก็เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง แล้วตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย จะเป็นทางลงอย่างดี เมื่อผ่านการขอขมาแล้ว คนอาจยกโทษให้ แล้วมาร่วมมือกัน หลังจากนั้นจึงจัดสมัชชาประชาธิปไตยที่ตัวแทนทุกฝ่ายในสังคม ทั้งคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา เข้ามามีส่วนร่วมโดยคิดถึงองค์รวมของประเทศ ประเทศไทยจะบินได้เหมือนเครื่องบิน ต้องมีทั้งปีกซ้ายและปีกขวา อย่าทะเลาะกัน

เมื่อ พ.ศ.2537 ผมเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คปป.) ตอนนั้นคุณฉลาด วรฉัตร อดอาหาร ประธานรัฐสภากลัวคุณฉลาดตาย เลยมาประกาศตั้งผมเป็นประธาน คปป. แล้วผมเลือกกรรมการเอง ที่สำคัญคือผมเอาผู้แทนกองทัพทั้งบก เรือ อากาศ มาเป็นกรรมการด้วย เพราะฉะนั้นกองทัพเคยสนับสนุนประชาธิปไตยได้ อย่าคิดว่าสนับสนุนไม่ได้ เคยมีมาแล้ว คปป.เสนอปฏิรูปการเมืองโดยเขียนร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับที่นำไปสู่รัฐธรรมฉบับ 2540 ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อันนั้นกองทัพหนุนเต็มที่เลย

รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในความเห็นส่วนตัวเป็นอย่างไร?

ร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลกนั้น ‘ประชาธิปไตยทางการเมือง’ อย่างเดียวไม่พอ แต่ยังต้องการอีก 3 อย่าง คือ 1.ประชาธิปไตยทางจิตสำนึก ที่ลึกที่สุด ถ้าเรามีสำนึกเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จะเป็นฐานของเรื่องดีงามทั้งหลาย เป็นศีลธรรมพื้นฐาน จะนำไปสู่การเคารพสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ถ้าไม่มีตัวนี้ แต่ทำเพียงเป็นกลไก ประชาธิปไตยก็ไปสู่กลโกงง่ายๆ

2.ประชาธิปไตยทางสังคม คือ สังคมต้องเข้มแข็ง มีพลเมืองที่ตื่นรู้และกัมมันตะ ร่วมคิดร่วมทำกันเต็มประเทศ จะเป็นพลังที่ทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี งานวิจัยที่อิตาลี ซึ่งทางตอนเหนือกับตอนใต้ไม่เหมือนกัน ใช้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ตอนเหนือเศรษฐกิจแถวมิลาน ดี แต่ทางใต้ อย่างซิซิลี ตรงข้ามเลย มีโจร มีมาเฟีย มีการวิจัยว่าทำไมใช้รัฐธรรมนูญเดียวกันแต่ 2 ภาคไม่เหมือนกัน เพราะสังคมไม่เหมือนกัน ข้างบนสังคมเป็นทางราบ ผู้คนตื่นตัว รวมตัว ร่วมคิดร่วมทำ ข้างล่างเป็นสัมพันธภาพแบบอำนาจ ถึงจะเคร่งศาสนา แต่ศีลธรรมก็ไม่ดี

3.ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ คนต้องสามารถกำหนดเศรษฐกิจของตัวเองได้ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ก็เกิดเรื่องทั่วโลก เราต้องมีระบบเศรษฐกิจที่ประชาชนสร้างงานเองได้ ไม่ตกงาน ไม่มีความยากจน คนยากจนน่าสงสารมาก ไม่มีทางกำหนดอะไรเลย แม้แต่ว่าเขาจะจ้างงานหรือไม่จ้าง ค่าจ้างเท่าไหร่ จะปลดออกจากงานเมื่อไหร่ ไม่มีทางต่อสู้เลย ซึ่งจะไปกระทบประชาธิปไตย

กรณีสหรัฐอเมริกา ที่จริงเป็นต้นแบบเสรีประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ปรากฏแล้วว่าเกิดความเหลื่อมล้ำสุดสุด มีคนเขียนว่า ประเทศที่เป็นมหาอำนาจมีอานุภาพมากที่สุดในโลก มีความรู้มากที่สุด มีคนได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุด เป็นประชาธิปไตย แต่มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดีกว่า

ไม่เชื่อว่าสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้จะนำไปสู่เหตุการณ์เหมือน 6 ตุลา ?

ไม่ๆ ผมเชื่อว่าไม่เกิด เพราะ 6 ตุลา 2519 เกิดขึ้นเพราะความรุนแรงโดยกลไกรัฐ ถ้าเมื่อไหร่รัฐใช้ความรุนแรงจะรุนแรงมาก แต่คราวนี้ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าดูเสียง พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า อย่าใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา และมีคนทำงานด้านสันติวิธีกันมานานมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นผมยอมรับสารภาพก่อนว่ามีอคติกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร รวมถึงพวกที่ไปชุมนุมเรียกร้องรัฐประหารด้วยตอน รสช. พวกหมอเยอะมากก็ต่อต้านรัฐประหาร รวมถึงหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ 30 บาทรักษาทุกโรค จัดสมัชชาแพทย์เพื่อประชาธิปไตย ผมก็ไปพูดอะไรต่างๆ จนมีคนตัดหัวสุนัขห่อกระดาษหนังสือพิมพ์โยนเข้ามาในบ้าน เขียนข้อความว่า คราวนี้หัวหมา คราวหน้าหัวมึง (หัวเราะ) ส่งหนังสือมาขู่คุกคามต่างๆ ว่าจะทำร้ายครอบครัวสารพัดอย่าง

พฤติกรรม พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแบบทหาร ไม่ค่อยฟังใคร ชอบสั่งนู่นสั่งนี่ แต่หลังเกิดโควิด-19 ท่าทีเปลี่ยนไป เพราะโควิด ใช้อำนาจสั่งให้หยุดไม่ได้ มีการตั้ง ศบค. ซึ่งทำให้การสกัดการแพร่ระบาดประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เปลี่ยนจากการใช้อำนาจมาสู่การใช้กลุ่มเซลล์สมอง ตอนหลังยังออกมาบอกว่าอย่าใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาซึ่งถือว่าดี

แต่ในท่าทีรับฟัง ยังมีการจับกุมรายวันจนถูกปราศรัยโจมตีว่า ‘พูดอย่างทำอย่าง’?

ผมมองว่าเป็นหน้าที่ของคนซึ่งมีหน้าที่ทางกฎหมาย เขาต้องทำไป เพราะถ้าไม่ทำ ก็มีคนมาเอาเรื่องเขาอีก ว่าทำไมคุณไม่ทำ แต่มองในแง่ดีคือ หัวเรือบอกแล้วว่าอย่าใช้ความรุนแรง

บางส่วนห่วงความขัดแย้งแตกร้าวระหว่าง ‘คนรุ่นเก่า’ กับ ‘คนรุ่นใหม่’ ว่าจะผลักกันไปอยู่คนละฝั่ง?

การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา เป็นแนวโน้มที่ดีสู่บีบีดี คือ Broad-Based Democracy ประชาธิปไตยฐานกว้าง ตอนนี้ผมกำลังเขียนเรื่องคนรุ่นใหม่กับอนาคตประเทศไทย คนรุ่นใหม่จะมาแทนคนรุ่นเก่า เป็นอนาคตของประเทศ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่จะมาแทนคนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าต้องถนอม รัก และช่วยส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ถ้าเขายิ่งเก่ง ยิ่งดี อนาคตประเทศไทยก็ยิ่งดี คนรุ่นเก่าต้องเข้าใจว่า ใหม่ ไม่เหมือนกับเก่า นี่คือธรรมชาติ สิ่งต่างๆ ล้วนเป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรอยู่กับที่ การที่ลูกหลานไม่เชื่อพ่อแม่ ไม่ใช่พวกเขาเป็นคนเลวลง หากคิดเช่นนั้นจะเป็นความทุกข์ ต้องเข้าใจว่าสมัยโบราณลูกหลานได้ข้อมูลเฉพาะจากพ่อแม่ และครู เขาได้ข้อมูลจากใครก็เชื่อคนนั้น แต่ปัจจุบันมีข้อมูลจากหลายทาง ดังนั้น ถ้าจะให้เขาเชื่อแต่พ่อแม่และครูเหมือนเดิมมันก็ขัดกับความเป็นเหตุเป็นผล เขาไม่ได้เลวลงแต่มีเหตุปัจจัยที่เคลื่อนไป ไม่เหมือนเก่า คนรุ่นเก่าต้องเข้าใจเขา คนรุ่นใหม่จะเป็นอนาคตของประเทศ เขาอยากเคลื่อนไปข้างหน้า แต่คนรุ่นเก่าอาจจะอยู่กับอดีต ก็จะได้เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ โดยเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน

ความหลากหลายต่างๆ นานา เป็นของดี เป็นความงาม ธรรมชาติมีความหลากหลาย ถ้ามีของอย่างเดียวกันหมด ไม่เกิดสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตเกิดเพราะความหลากหลาย อย่าไปรังเกียจ ประเทศไทยที่จะก้าวต่อไปคือการสร้างบูรณภาพ และดุลยภาพ ท่ามกลางความหลากหลาย ถ้าประเทศไทยรวมตัวเป็นองค์รวมได้เมื่อไหร่ จะเกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ซึ่งเราไม่เคยรู้จักมาก่อน การเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือเปลี่ยนทิฐิจากการเห็นแยกส่วนมาเป็นเห็นองค์รวม

ในงานเขียนพูดถึงการศึกษาที่ผิดพลาดของไทยบ่อยครั้ง มองการเคลื่อนไหวล่าสุดของนักเรียนมัธยมซึ่งไปประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการอย่างไร?

การศึกษาเป็นระบบที่ผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ มา 100 ปี ก่อความเสียหาย ทุกข์ยาก ทำให้ประเทศอ่อนแอ ไปเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาความจริงเป็นตัวตั้ง ความจริงของชีวิตซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ คนไทยมองว่าการศึกษาคือการท่องวิชา เรียนวิชาอะไร สอบวิชาอะไร ได้ปริญญาวิชาอะไร อะไรที่ไม่ได้เอาความจริงเป็นฐาน ก็จะไปสู่ความถูกต้องไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผลของการศึกษาสร้างคนไทย 4-5 เจเนเรชั่นที่ไม่รู้ความจริง รู้แต่วิชานิดๆ หน่อยๆ จำไม่ค่อยได้ด้วยซ้ำไป ท่องนู่น ท่องนี่ เครียดจะตาย สูญเปล่าไปเยอะมาก คิดไม่เป็นจัดการไม่เป็น แล้วออกไปเป็นบุคคลสำคัญ เป็นข้าราชการ นักการเมือง ไปรับผิดชอบประเทศ ไปเรียนต่างประเทศก็ไปเอาความคิดของต่างประเทศที่เขาทำกับเมืองขึ้นมาทำกับสังคมไทย โดยไม่รู้ตัว เช่น การเกษตร ทำชาวนาล้มละลาย ยากจน เป็นผลของการศึกษา นักการเมืองที่แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เพราะไม่รู้ความจริงของประเทศ

รมว.ศึกษาธิการคนปัจจุบัน บริหารงานถูกใจไหม?

ไม่มี ไม่มีเลย ไม่เคยมีรัฐมนตรีที่มีความคิดใหญ่เรื่องการศึกษาที่พูดๆ กันทุกวันนี้เป็นความคิดเล็กทั้งนั้น มีคนหนึ่งที่มีความคิดใหญ่คือคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ไปให้สัมภาษณ์ที่ปารีส ว่าการศึกษาควรเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ไม่ควรอยู่ในห้องเรียน บางคนการศึกษาไม่ได้สูง แต่การเรียนรู้สูง เช่น คุณกำพล วัชรพล เจ้าของไทยรัฐ จบแค่ ป.4 แต่ทำงานต่อสู้ การทำงานคือการเรียนรู้ที่ดี กลายเป็นคนเก่ง

ในฐานะที่มีแนวคิดเรื่อง ‘การเมืองใหม่’ โดยเขียนบทความอย่างละเอียด ในขณะที่การเมืองไทย พรรคที่ชูการเมืองใหม่ ถูกยุบ แต่นักการเมืองวิวาทะกันรายวัน หยิบเรื่องส่วนตัว ใช้คำรุนแรง ยังอยู่ในสภา จนสังคมตั้งคำถาม มีคำแนะนำในการมุ่งสู่การเมืองใหม่อย่างไร?

การเมืองเก่ามันใช้ไม่ได้ อย่างโควิด การเมืองเก่าไม่สามารถรับมือได้ เพราะเป็นเรื่องการขาดความรู้ในบริบทของเรื่องราวต่างๆ การเมืองคือการตัดสินใจนโยบายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และการตัดสินใจนโยบายว่าประเทศจะเดินทางไหน จะทำหรือไม่ทำอะไร และอย่างไร ต้องเป็นปัญญาสูงสุด ระบบการเมืองจะเป็นเรื่องอำนาจโดยไม่มีปัญญาไม่ได้ ระบบการเมืองต้องเชื่อมโยงกับปัญญาสูงสุด ผมเสนอว่าวิธีคือออกกฎหมายจัด สมัชชาพัฒนานโยบายสาธารณะแห่งชาติ จัดให้มีการประชุมและกำหนดองค์ประชุมว่าผู้เข้าประชุม คือ 1.สมาชิกรัฐสภา 2.คณะรัฐมนตรี 3.ผู้แทนชุมชนท้องถิ่นที่เป็นฐานประเทศ 4.ตัวแทนองค์กรต่างๆ ในสังคม รวมทั้งคนรุ่นใหม่ และสื่อมวลชน 5.นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย 6.ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง 7.อาจเป็นฝ่ายอื่นๆ มาประชุมร่วมกัน ถ้ามีกฎหมายอย่างนี้ และกำหนดสำนักงานให้เป็นจุดเชื่อมระหว่างสภาพัฒน์ สถาบันพระปกเกล้า และสช. โดยให้มีการเปิดรับข้อมูล ข้อเสนอจากคนทั้งประเทศ 24 ชั่วโมง เกิด Big Data ประชาธิปไตย เอามากลั่นกรอง วิเคราะห์ สังเคราะห์ว่ามีประเด็นอะไร เรื่องไหนสำคัญก็เอามาพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ แล้วนำนโยบายสาธารณะที่ดีเข้าสมัชชา เรื่องไหนสมัชชามีมติเห็นด้วยให้รัฐสภากับ ครม.รับไปปฏิบัติ แล้วสมัชชาต้องตั้งคณะทำงานติดตามการปฏิบัติด้วย และมีอีกคณะหนึ่งไปประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายเพื่อเอาฟีดแบ๊กกลับมา ถ้าเป็นอย่างนี้การเมืองก็เกไม่ได้ เพราะที่ประชุมสมัชชาคือที่ประชุมตัวแทนคนทั้งประเทศ ถ้าสมัชชานี้มีมติ กองทัพก็เบี้ยวไม่ได้ รัฐบาลและพรรคการเมืองก็เบี้ยวไม่ได้

ประโยคที่ว่า ‘ถ้าการเมืองดี…’ ถูกปราศรัยในแทบทุกเวที โดยหยิบยกปมปัญหาทางโครงสร้างมาพูดถึงบ่อยครั้ง แม้กระทั่งเด็กมัธยม มองประเด็นนี้อย่างไร?

การเมืองดีไม่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่ต้องทำระบบให้ดี การเมืองก็จะดี เราไม่ค่อยสนใจประเด็นโครงสร้างอำนาจ สนใจแต่ปัจเจกบุคคลว่านักการเมืองคนนั้นดีหรือไม่ดี หากคิดเช่นนี้อย่างเดียว แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องคิดเรื่องระบบและโครงสร้าง ถ้าระบบไม่ดี คนดีก็กลายเป็นคนเลวได้ คนเก่งกลายเป็นคนไม่เก่ง ถ้าระบบดี คนไม่ดีก็อาจกลับดีได้ แต่เราไม่สนใจโครงสร้าง มัวไปสนใจตัวนักการเมืองว่า คนนั้นดี คนนี้เลว มันก็แก้ไม่ได้

ที่จริงคนไทยเป็นคนดี มีน้ำใจ แต่ติดเรื่องวิธีคิด คิดว่าอะไรดีชั่ว ขึ้นอยู่กับกรรมส่วนบุคคล ไม่มีความคิดว่าโครงสร้างและระบบเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคนและองค์กร นี่คือกฎธรรมชาติตั้งแต่อะตอมถึงจักรวาล ที่ผมเล่ามาคือการกำหนดโครงสร้างให้ดี ถ้าทำได้ การเมืองจะดีขึ้น

เรามีทรัพยากรที่ทำให้ประเทศไทยไปได้ไกลมาก เยอะกว่าสิงคโปร์ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์อีก ถ้าเรายุติการยึดติดอยู่กับความขัดแย้งในอดีต แล้วรวมตัวกันสร้างประชาธิปไตยไปในอนาคต เราจะสามารถสร้างประเทศไทยที่น่าอยู่ที่สุดในโลก โดยที่คนทุกคนมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ มีความถูกต้องเป็นธรรม มีความงดงาม

ในฐานะที่สนับสนุนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขณะนี้โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ล่า 50,000 ชื่อเพื่อผลักดันอยู่ จะมีชื่อ ประเวศ วะสี อยู่ในนั้นไหม?

ผมเป็นคนแก่ เป็นผู้ใหญ่แล้ว จะไม่ไปร่วมเรียกร้องอะไรทั้งสิ้น แต่ให้คำแนะนำจะดีกว่า


 

‘ไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน ถ้าไม่โกรธเขา เราก็ได้เรียนรู้’

“ไม่เป็นไร เป็นธรรมดา คนเราก็มีความเห็นต่างๆ กันไป เขาก็วิพากษ์วิจารณ์ได้ เราก็ไม่ได้วิเศษวิโสอะไรมาจากไหน เขาก็ว่าเราได้ต่างๆ นานา จะไปโกรธเขาทำไม ถ้าไม่โกรธเขา เราก็ได้เรียนรู้”

คือคำตอบจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ต่อคำถามถึงการรับมือและรับฟังหลังทุกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง

ถามว่า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ไม่เห็นพ้องบ้างหรือไม่?

“ผมไม่ค่อยชอบไปถกเถียงอะไรกับใคร เราก็ฟัง แล้วเอามาคิดพิจารณาดู”

ที่ไม่ถามคงไม่ได้ คือการดูแลสุขภาพในวัย 89 ปีที่ยังคงดูสดสด แข็งแรง กระฉับกระเฉง แม้มี ‘ไม้เท้า’ ประจำกาย ยังเดินทางไปปาฐกถาตามสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในหัวข้อ ‘ประเทศไทยหลังโควิด’ อีกทั้งเขียนบทความต่างๆ อยู่เสมอ

“สั้นๆ 3 อย่าง คือ บริหารกาย บริหารจิต คิดเรื่องดีๆ

บริหารกาย ง่ายที่สุด การออกกำลังกายทำให้สุขภาพดี ป้องกันอัลไซเมอร์ ทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น

บริหารจิต คนในโลกทำเยอะมากขึ้น โดยเฉพาะการเจริญสติแบบพุทธ ฝรั่งทำเยอะ การเจริญสติทำให้สุขภาพและภูมิคุ้มกันดี คิดเรื่องดีๆ เพราะธรรมชาติสมอง มันจำเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี เรื่องดีๆ มีเยอะไม่จำหรอก แต่ถ้าเรื่องร้ายมีสักเรื่อง จำแล้วเอามาคิด (หัวเราะ) แต่ถ้าเจริญสติจะช่วยได้ ที่ว่าคิดเรื่องดีๆ ทำให้เรามีความสุข คิดเพื่อคนอื่น ทำอย่างไรจะเกิดประโยชน์”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ ยังย้ำปิดท้ายว่า

“ผมเจริญสติ ศึกษาธรรมะอยู่ พยายามจะไปนิพพาน (หัวเราะ)”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image