เปิดบทสนทนา ภาณุ ตรัยเวช ‘ในสาธารณรัฐไวมาร์’ จากตัวอักษรถึงการ์ตูน ฮิตเลอร์ (ก็ยัง) ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสความตื่นตัว กระหายใคร่รู้ในด้านประวัติศาสตร์การเมือง เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษา นักเรียน ม.ปลาย ลงไปจนถึงรุ่นขาสั้น คอซอง

“ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” คือหนึ่งในผลงานโดดเด่นนับแต่การพิมพ์เผยแพร่เมื่อหลายปีก่อน โดยสำนักพิมพ์มติชน

ไม่ว่าจะด้วยเนื้อหาเข้มข้น ลีลาการร้อยเรียงเรื่องราว กระทั่งชื่อเรื่องบนปกสีแดงสะดุดตา ยังไม่นับชื่อเสียงการันตีคุณภาพด้วยชื่อ ภาณุ ตรัยเวช

วันนี้เป็นอีกครั้งที่เรื่องราวจากพ็อคเก็ตบุ๊กเล่มดังกล่าว กลับมาอยู่บนแผงหนังสืออีกครั้งในเวอร์ชั่นใหม่ที่อ่านง่ายกว่าเดิม แต่ยังคงไว้ซึ่งเรื่องราว เหตุการณ์ ต้นกำเนิดและจุดพลิกผันอันนำมาซึ่งสถานการณ์ต่างๆ ที่ชวนติดตาม

Advertisement

“ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง The Comic” เล่าเรื่องในรูปแบบการ์ตูนโดย “Tale Glory” อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

168 หน้า เต็มไปด้วยลายเส้นน่ารักที่ช่วยให้ผ่อนคลาย มุขตลกอิงประวัติศาสตร์ที่ช่วยให้ขับเน้นสีสันของเหตุการณ์ การเล่าเรื่องที่มือวาดได้พูดคุยหารือกับเจ้าของผลงานเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ในสาธารณรัฐไวมาร์ฯ เวอร์ชั่นนี้เป็นอีกฉบับที่น่าอ่านซ้ำอีกครั้งสำหรับผู้เคยอ่านฉบับพ็อคเก็ตบุ๊ก ในขณะเดียวกันก็เป็นฉบับที่อาจเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ที่ยังไม่เคยอ่านฉบับจัดเต็ม 480 หน้า

ต่อไปนี้คือบทสนทนาระหว่าง ภาณุ ตรัยเวช เจ้าของผลงาน และ วิกรานต์ ปอแก้ว ผู้ดำเนินรายการบนเวทีเปิดตัวหนังสือ ณ เวทีกลาง งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 อิมแพค ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 เมืองทองธานี เมื่อไม่นานมานี้ ที่บอกเล่าความเหมือนและต่าง จนถึงกระบวนการทำงานในการเนรมิตตัวอักษรบนกระดาษให้เป็นภาพการ์ตูนสุดน่ารักโดยคงไว้ซึ่งเนื้อหาสาระแน่นหนักดังเดิม แต่ “กินง่าย” กว่าเดิมหลายเท่าตัว

Advertisement

เคยพูดว่าในบ้านเราคำว่า ประวัติศาสตร์ หรือ History ดูเป็นเรื่องยาก ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ ไม่มีคำว่า Popular History เลยอยากทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา อยากให้ช่วยขยายความแนวคิดตรงนี้?

จริงๆ ช่วงนี้เปลี่ยนไปเยอะมาก แต่จำได้ว่าตอนที่ผมเขียนเรื่องไวมาร์เล่มแรกเมื่อ 5-7 ปีมาแล้ว ตอนนั้นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ทางหนึ่งจะเป็นวิชาการไปเลย ซึ่งมันก็จะมีความอ่านยาก มีความขึงขัง แต่อีกทางหนึ่งคือหนังสือเกร็ดเบ็ดเตล็ดรวมความรู้ รวมข้อเท็จจริง ซึ่งก็อ่านง่ายดี แต่ก็รู้สึกว่าอ่านแล้วไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่ ผมเลยเขียนไวมาร์ขึ้นมาเพราะอยากจะหาจุดกึ่งกลางระหว่างสองทางนั้น คือเป็นหนังสือที่มีความถูกต้องทางวิชาการอยู่บ้าง แต่จุดสำคัญคือการเล่าเรื่องที่สนุก ที่คล้ายกับนิยาย ที่คนทั่วไปก็สามารถอ่านได้ แล้วก็พอจบจากเล่มนั้น ก็อยากเอามาดัดแปลงเป็นฉบับการ์ตูน เพื่อสื่อสารไปถึงคนได้มากขึ้น

เห็นอะไรในเล่มนี้ถึงคิดว่าจะทำเป็นฉบับการ์ตูนได้ เวอร์ชั่นพ็อคเก็ตบุ๊ก ต่างกับฉบับ Comic อย่างไร?

จริงๆ ผมคิดว่าทุกอย่างมันทำเป็น Comic ได้อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ที่จะมีหนังสือเล่มนี้ มันก็จะมีหนังสือการ์ตูนกึ่งๆ ล้อเลียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น อันนั้นจะเป็นการเปลี่ยนตัวละครประเทศชาตินั้นมาทำเป็นตัวละครเป็นการ์ตูน แล้วก็มีการเล่าเรื่องราวกัน เลยคิดว่าไวมาร์เอง ตัวพื้นฐานก็มาจากแนวคิดคล้ายๆ กัน คือเราหยิบเอาพรรคการเมืองในสมัยนั้นที่มีการแย่งชิงอำนาจ มีการใช้เล่ห์กล มีการช่วงชิงหักเหลี่ยมซึ่งกันและกันมาทำเป็นตัวละครในการ์ตูนเรื่องนี้

มาถึงกระบวนการทำ มีการวางกรอบอย่างไร ระหว่างคุณภาณุซึ่งเป็นคนเขียนเนื้อหากับนักวาดการ์ตูน?

ก็มานั่งคุยกัน เพราะอย่างที่เราทราบกันว่าฉบับพ็อคเก็ตบุ๊ก ก็เป็นหนังสือที่ค่อนข้างหนาอยู่พอสมควร ถ้าจะมาดัดแปลงเป็นการ์ตูนทั้งหมดเลยมันก็คงไม่ได้ เลยคิดกันว่าเราจะเอาแค่ช่วงต้นกับช่วงท้ายเท่านั้น ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความผันผวนทางการเมือง การแย่งชิงอำนาจกัน อันนี้เป็นกรอบกว้างๆ

เนื้อหาเรื่องราวครอบคลุมถึงจุดไหนบ้าง?

เรื่องราวหลักๆ เริ่มตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนหน้านั้นนิดหนึ่งคือตอนที่ประเทศเยอรมนียังปกครองโดยระบอบกษัตริย์และมีการตัดสินใจที่จะไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นมันเป็นการตัดสินใจที่ส่งผลที่ไม่คาดคิดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติในรัสเซีย การเริ่มต้นของระบอบคอมมิวนิสต์ที่จริงจัง รวมถึงในเยอรมนีเองก็นำไปสู่การปฏิวัติที่ทำให้สิ้นสุดระบอบกษัตริย์ในเยอรมนี ประเทศเยอรมนีกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยอยู่พักหนึ่งซึ่งในชื่อเล่นของมันก็คือสาธารณรัฐไวมาร์ แล้วก็จากตรงนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้น มันมีทั้งการต่อรองจากสงคราม สนธิสัญญาแวร์ซาย มีทั้งวิกฤตเงินเฟ้อ มีทั้งวิกฤตเงินฝืด จนไปถึงการรัฐประหารโรงเบียร์ก็คือการพยายามขึ้นครองอำนาจครั้งที่หนึ่งของฮิตเลอร์จนถึงการที่เขาทำอย่างไรถึงขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี สุดท้ายก็ออกประกาศเผด็จการต่างๆ นานามากมายนำไปสู่สิ่งที่เราทราบกันดี ทั้งหมดก็พยายามเล่าในรูปแบบการ์ตูนที่อ่านง่าย เด็กๆ สามารถอ่านได้ และเป็นพื้นความรู้ที่จะเข้าใจสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดีขึ้น รวมถึงสามารถกลับไปอ่านไวมาร์ฉบับเต็มได้อย่างสนุกสนานขึ้นด้วยครับ

Tale Glory และภาณุ ตรัยเวช แจกลายเซ็นที่บูธมติชน งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ

ในเมื่อเรารับรู้ในปัจจุบันว่าสิ่งที่ฮิตเลอร์ทำ คือความรุนแรงโหดร้าย ขณะนั้นทำไมสังคมเยอรมันถึงยอมรับให้เขาขึ้นมาเป็นผู้นำได้?

จริงๆ แล้วก็มีหลายสาเหตุ แต่ถ้าจะตอบให้สั้นที่สุด เพราะคนเยอรมันในสมัยนั้นท่องอยู่สองคำ คืออย่างน้อยเขาก็รักชาติ ชาตินิยมหรือว่าแนวคิดแบบเผด็จการฟาสซิสต์ตอนนั้นมีอิทธิพลมากๆ ในประเทศเยอรมนีในยุคนั้น แล้วมันก็ทำให้คนรู้สึกว่าต่อให้คุณเป็นนักเลงหัวไม้ เป็นอันธพาล เป็นคนโกหกอะไรก็ตามขอให้คุณรักชาติเถอะ คุณน่าจะเป็นคนดีที่จะมาเป็นผู้นำปกครองเราได้ ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนั้น มันมีกระบวนการทางประชาธิปไตยต่างๆ ที่คอยหยุดยั้งให้ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจได้ แต่สุดท้ายเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นสิ่งที่อยากให้ติดตามอ่านกันในหนังสือเล่มนี้ครับ

ในช่วงนั้นฮิตเลอร์ได้รับความนิยมมากไหม?

ก็มากอยู่นะครับ มากอยู่ในบางพื้นที่แล้วกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนที่ต่อต้านเขาแรงๆ ด้วย มันไม่ใช่ว่าไม่มีพรรคฝ่ายซ้ายอยู่เลย ไม่ใช่ว่าไม่มีพรรคฝ่ายกลางอยู่เลย จริงๆ แล้วก็มีคนที่ไม่ชอบฮิตเลอร์ และพยายามต่อต้านฮิตเลอร์อยู่นะครับ แต่ว่าเกิดอะไรกับคนเหล่านั้น แล้วเสียงคนพวกนั้นหายไปไหน อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากบอกเล่าในหนังสือทั้งสองเล่ม

ในหนังสือจะเห็นว่ามีเหตุการณ์ในสังคมที่มีสีสันมากมาย มีกลุ่มที่เรียกว่านักกีฬาออกไปต่อยตีชาวบ้าน ซึ่งเป็นความรุนแรง เวลาทำเป็นฉบับการ์ตูน มีการลดทอนลงไปไหม?

จริงๆ มันก็มีการใส่มุขตลกเข้าไป ก็คือมันก็ยังมีความรุนแรงอยู่นั่นแหละ ตีหัวไม้ฆ่าหมาฆ่าแมวอะไรอย่างนี้ แต่ว่าด้วยรูปแบบบางอย่างของการเล่าเรื่องที่ทำให้มีอารมณ์ขัน ก็ช่วยทำให้เรื่องมันกินเข้าไปได้ง่ายขึ้น

คำที่ใช้ในฉบับการ์ตูน มีความร่วมสมัย เพื่อให้สัมผัสได้ง่ายและเร็วด้วย?

ใช่ครับๆ (พยักหน้า)

ฟีดแบ๊กจากแฟนคลับเป็นอย่างไรบ้าง?

ก็มีหลากหลายนะครับ แต่ส่วนใหญ่ที่เจอเยอะสุดจะเป็นฟีดแบ๊กของเกมท้ายเล่มมากกว่า คือทางมติชนอยากให้ผมออกแบบการ์ดเกมเล็กๆ ทำเป็นกิมมิกดู ในเล่มนี้ที่จะต้องซีลพลาสติกเอาไว้ เพราะว่าด้านหลังมีการ์ดเกมแถมให้ด้วย เป็นการ์ดเกมไวมาร์ ซึ่งใช้ตัวละครในเรื่องนี้เอามาเล่นกัน เป็นเกมเล่นง่ายๆ จบได้ง่ายๆ ตาละ 3 นาที 5 นาที ถ้าสนใจ นอกจากจะได้หนังสือแล้วก็ยังได้เกมมาเล่นด้วย

แล้วส่วนของเนื้อหา กลุ่มคนอ่านที่เคยอ่านฉบับหนังสือมาก่อน พอได้อ่านฉบับการ์ตูน มีผลตอบรับอย่างไร?

ก็มีคนเล่าให้ฟังว่า เขาไม่เคยอ่านการ์ตูนมาก่อนเลย แต่พออ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่ามันเป็นมุขตลกแบบที่ไม่เหมือนกับขายหัวเราะทีเดียว แต่ก็ช่วยให้อารมณ์ดี อ่านได้จนจบเรื่องอะไรแบบนี้ครับ

นอกจากผลงานหนังสือแล้ว ทำเพจ ‘Our History : เรื่อง เล่า เรา โลก’ ด้วย กระแสเป็นอย่างไรบ้าง?

รู้สึกว่าคนสนใจกันเยอะขึ้นนะครับ จริงๆ แล้วอย่างที่เราหลายคนทราบว่าอัลกอริทึ่มของเฟซบุ๊กเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเอื้อกับเพจเท่าไหร่แล้ว โพสต์อะไรไปก็ยากอยู่ แต่โดยภาพรวมยังรู้สึกว่าตัวเพจ ถ้าโพสต์เกร็ดประวัติศาสตร์อะไรที่จบในโพสต์เดียว คนจะสนใจมากๆ เพราะว่ามันอ่านง่าย มันเข้าใจง่าย นอกจากประวัติศาสตร์เยอรมนีแล้ว ประวัติศาสตร์ไวมาร์แล้ว ก็ยังมีประวัติศาสตร์อื่นๆ แล้วก็อัพเดตผลงานของผมเอง

เทรนด์ตอนนี้ที่เขียนอยู่แล้วรู้สึกว่าคนสนใจเยอะเป็นประวัติศาสตร์ช่วงเวลาไหน?

จริงๆ แล้วก็จะเกี่ยวกับผลงานชิ้นถัดไป คือเป็นประวัตินักเขียนหญิง 5 คน ที่อาจจะไม่ได้เขียนอย่างเดียว แต่เป็นประวัติผู้หญิงเก่ง 5 คนก็แล้วกัน ที่เหมือนกับต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยทางจิตใจ ก็มีการอัพเดตเรื่องราวของพวกเธอเป็นระยะ คิดว่าหนังสือเล่มนี้ถ้าไม่ติดขัดอะไรก็จะออกได้ปลายๆ ปีหน้า

สุดท้าย ช่วงขายของ ฝากหนังสือเล่มนี้หน่อย?

ก็อยากให้อ่านกันนะครับ สำหรับคนที่เคยอ่านฉบับพ็อคเกตบุ๊กแล้ว ฉบับการ์ตูนก็เหมือนได้ทบทวนเหตุการณ์ว่ามันเกิดอะไรขึ้นพร้อมกับอารมณ์ขันที่เพิ่มขึ้นมา สำหรับคนที่ไม่เคยอ่านฉบับเต็มเลย ถ้ารู้สึกว่าหนังสือ 400 หน้ามันดูหนา มันดูน่ากลัวก็อาจจะเริ่มจากหนังสือการ์ตูนเล่ม 160 หน้า ตอนนี้ก่อนก็ได้ครับ

อีกหนึ่งคำถาม คิดว่า ‘America First รบเถิดอรชุน’ ซึ่งพูดถึงประวัติศาสตร์อเมริกา สามารถมีฉบับการ์ตูนเหมือนเล่มไวมาร์ไหม?

ถ้าจะมี ก็มีได้นะครับ ถ้าจะทำ ผมคิดว่าทำได้แน่ๆ เพราะว่าจริงๆ เล่มนั้นมันก็จะเป็นอีกรสชาติหนึ่ง เป็นเรื่องผู้ชายสองคนในประวัติศาสตร์อเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีแนวทางการเมืองแตกต่างกันคนละขั้ว คนหนึ่งเป็นนักบินชื่อว่า ลินเบิร์ก เขาบอกว่าประเทศอเมริกาต้องไม่ไปยุ่งฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์อยากทำอะไรก็ปล่อยเขาทำไปในยุโรป ส่วนอีกคนคือโรเบิร์ต เชอร์วูท เป็นนักเขียนที่มีความเชื่อว่าปัญหาในยุโรปก็เป็นปัญหาของอเมริกาด้วย เราจะได้เห็นการขับเคี่ยวกันทางความคิดกันระหว่างสองคนนี้ คนหนึ่งเป็นนักบินที่เป็นขวัญใจชาวอเมริกา อีกคนก็เป็นนักเขียนเป็นเป็นสปีชไรท์เตอร์ คนเขียนบท คนเขียนคำปราศรัยให้กับประธานาธิบดีรูสเวลต์ แล้วชีวิตสองคนนี้มันจะเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร แล้วเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับประวัติศาสตร์ของโลกด้วย ก็เป็นเรื่องราวที่จริงๆ แล้วน่าเอามาเล่าในแบบฉบับการ์ตูนมากๆ

คงจะสนุก พอๆ กับเล่มนี้


 

ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง The comic

ผลงานคุณภาพของ ภาณุ ตรัยเวช ผ่านการเล่าเรื่องด้วยภาพ โดย Tale Glory ฉายภาพสาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ หากต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ระบอบกษัตริย์หรือจักรวรรดิอ่อนแอลง ผู้ขึ้นครองอำนาจต่อมาจึงเป็นชนชั้นนำจากกองทัพบกและพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวสาธารณรัฐไวมาร์ยังมีสิทธิเสรีภาพตามสมควร สามารถแสดงออกอย่างเปิดเผย มีการเลือกตั้ง โดยกลุ่มชนชั้นในสาธารณรัฐมีทั้งทหารบกฝ่ายขวา สังคมนิยมฝ่ายซ้าย และเกษตรกร พวกเขาไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ปรับตัวกับสังคมใหม่

ในช่วงระยะเวลานั้น พรรคนาซีเพิ่งถือกำเนิดขึ้นเป็นพรรคเล็กๆ ในต่างจังหวัด กองทัพบกและชนชั้นสูงของไวร์มาปกครองประเทศด้วยความเป็นอนุรักษนิยม ขณะที่พรรคนาซีพยายามเข้าถึงมวลชนฝ่ายซ้ายทั้งๆ ที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของตัวเองเพียงเพื่อหาสมาชิกเพิ่ม ครั้งหนึ่งพรรคนาซีเคยทำผิดถึงกับถูกระงับบทบาททางการเมืองและถูกจำคุก แต่ด้วยแก่นแกนของสาธารณรัฐแห่งนี้ค่อนข้างออกไปในทางอนุรักษนิยมซึ่งเป็นแก่นแท้ของฝ่ายขวาและอุดมการณ์ชาตินิยมอยู่แล้ว พรรคนาซีจึงหวนกลับมาโลดแล่นอยู่ในเวทีการเมืองได้อีกครั้ง

จุดหักเหหลักหลังพรรคนาซีรื้อฟื้นคืนกลับมาก็คือเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารรัฐสภา หลายฝ่ายโยนความผิดให้พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายหรือสังคมนิยมจนแทบไม่มีที่ยืนทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคนก่อเรื่อง อีกทั้งศาลและชนชั้นสูงต่างก็ไว้วางใจในบทบาทของพรรคนาซี พรรครัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจึงมอบอำนาจให้พรรคนาซีดูแลบ้านเมืองด้วยหวังว่าจะให้ปกครองเพียงชั่วขณะ แต่สุดท้ายพรรคนาซีก็ฉวยโอกาสรวบอำนาจก่อนจะกำจัดคู่แข่งทางการเมืองของตนจนหมดสิ้น

นับเป็นการปิดฉากสาธารณรัฐไวมาร์อย่างสิ้นเชิง เป็นด่านแรกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เป็นด่านแรกของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

และเป็น 168 หน้าที่คุ้มค่าในทุกนาทีของการเปิดอ่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image