ท่อนหนึ่งของความคิด บนถนนแห่งช่องว่าง นิเวศน์ กันไทยราษฎร์

การเขียนหนังสือ คืองานศิลปะที่ใช้ภาษาไทย เป็นพาหนะบรรทุกท่อนหนึ่งของความคิดไปสู่ผู้อ่าน แม้ไม่จบอักษรศาสตร์ ก็ไม่ใช่อุปสรรค ให้คุณบรรทุกความคิดของคุณให้จบก่อน 1 เรื่อง แล้วกลับมาย้อนอ่าน แก้ไข แต่งเกลา เลือกเฟ้นภาษาสร้างสรรค์ให้รู้เรื่องได้ ภาษาไทย คือสมบัติของทุกคน อยู่ที่ใครจะสนุกในการหยิบเอามาใช้ โอกาสไหน เมื่อไหร่ แบบไหน ถ้าหยิบมาใช้อย่างพอเหมาะจะเกิดเสน่ห์ อยู่ที่กลยุทธ์

คือคำบอกเล่าเบื้องหลังความชำนาญด้านภาษา จากปาก ของ นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ นักเขียนรุ่นเก๋า ผู้ที่มือคุ้นเคยกับฝีแปรง และเกรียงปั้น ก่อนหันเห หนีอาชีพครู วาง “ทัศนศาสตร์” มาทุ่มเทด้าน “วรรณศิลป์” ร้อยเรียงตัวอักษรจนชำนาญ

ด้วยผ่านมาแล้วกว่า 75 ฝน โลดแล่นบนเส้นทางนักเขียนยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ

ตั้งต้นด้วยการเป็นบรรณาธิการ “ชีวิตต้องสู้” สู่วันที่รวมเล่มแล้วกว่า 69 ปก หยิบจับทั้ง บทกวี บทความ เรื่องสั้น และนวนิยาย ไม่ว่าจะ คนสีเหลือง, คนแปลกหน้า, หมายเหตุแห่งชีวิต, 12 นาฬิกา คือเจ้าของนามปากกา “กาสะลอง” ของคอลัมน์วันวิพากษ์ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, “จันทร์จิรา” ในนิตยสารสกุลไทย ไปจนถึงเขียนบทความให้ มติชนสุดสัปดาห์

Advertisement

บ้างก็ร่วมผสานลีลา คลอดออกมาเป็นผลงานเรื่องสั้นร่วมกับศิลปินแห่งชาติ-นักเขียนร่วมสมัย ไม่ว่าจะ หลังสู้ฟ้า, คลื่นเจ้าพระยา, น้ำใสในสายธาร, มาลัยสิบชาย, ตะวันฉายแสง, อันเป็นที่รัก ฯลฯ ‚นับแถบไม่ถ้วน

ในวัย 75 ปี ก่อน “คืนลมหายใจให้ธรรมชาติ” นิเวศน์บอกว่า ขอใช้ความสูงวัยที่ไฟแรง ไปกับการสุ่มสอนคนรุ่นหลังที่อยากเป็นนักเขียน ให้มาเรียนวิชากับเจ้าตัวได้โดยไม่มีค่าครู

ต่อจากนี้ คือส่วนหนึ่งของถ้อยคำที่กลั่นกรองจากการมองโลก หวังให้ข้อคิด เพิ่มมูลค่าชีวิต พัฒนากำลังใจผู้อ่านในช่วงวิกฤตการณ์รุมเร้าบ้านเมือง

Advertisement

หลงใหลงานวรรณศิลป์ตั้งแต่เมื่อไหร่ อะไรดลใจให้จับปากกาสร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้เรียนรู้อะไรจากงานศิลป์แขนงนี้?

ตั้งแต่ปี 2507 ผมสนใจในสิ่งแวดล้อม ในชีวิตผู้คน ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และอยากบอกเล่าความคิดนั้นออกมา แต่การจะไปบอกความคิดกับเพื่อน 4-5 คน มันแคบ ถ้าอยากให้ไปไกล ให้คนรู้เยอะ มีวิธีหนึ่งคือเขียนหนังสือ ซึ่งงานนั้นจะอยู่อีกนานหลายสิบปี จึงเห็นคุณค่าของการเป็นนักเขียน และเลือกที่จะบอกท่อนหนึ่งของความคิดเราออกมาเป็นผลงาน เกิดการแลกเปลี่ยน ถ้าคนอ่านเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยตรงไหน เหมือนเราได้ส่องกระจก เห็นว่าหน้าตาเราอย่างนี้ ใช่หรือไม่ใช่ ทำให้หลงใหลตั้งแต่บัดนั้น

เราได้ประโยชน์ตรงเสียงสะท้อน เหมือนกับเราเอาเงิน 100 บาท ไปให้คนนี้ คนนี้ก็เอา 100 บาทมาให้เรา แต่ถ้าคนนั้นความเห็นต่างจากผม ผมจะได้มากกว่า 100 บาท มี 20 คนที่เห็นต่างก็ยิ่งได้มากขึ้นไปอีก สิ่งที่เป็นคุณค่า คือการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เริ่มต้นเขียนหนังสือจากความไม่เห็นด้วยกับวิธีบริหารงานของผู้บริหารสถาบันการศึกษาของผม แต่จะไปคุยกับเพื่อนก็ไม่เกิดประโยชน์ เลยเขียนบทความส่ง “วิทยาสารปริทัศน์” ซึ่งเป็นหนังสือที่ปัญญาชน-คนก้าวหน้าในยุคนั้นดูแล เขาตีพิมพ์บทความผม ผู้บริหารก็เสาะหาตัวว่าคนนี้เป็นใคร เพราะใช้นามปากกา นี่คือการแสดงความคิดเห็นที่รู้สึกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม เพราะผู้บริหารตามหาว่าใครเขียน กลับมาทบทวนและปรับเปลี่ยน

จากนวนิยายสะท้อนสังคมจากการพัฒนา อย่าง “ถนนนอกเมือง” สู่วันนี้ที่เยาวชน คนชั้นกลางออกมาบนท้องถนน เห็นอะไร เป็นถนนนอกเมืองที่เปลี่ยนไปแค่ไหน?

ถนนนอกเมือง ยังคงเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เกิดขึ้นนำมาสู่ 2 สิ่ง เราเรียกว่า ถนนนอกเมืองคือ “ความเจริญเติบโต” การพัฒนาเมือง ใครๆ ก็ปรารถนา แต่สิ่งที่ยังมีอยู่ของถนนนอกเมืองกลับไปย้ำถึง “ความมีชนชั้น”

ไม่พอ ยังเป็นสิ่งที่เข้าไปรุกรานมนุษย์ที่เกิดมาแล้วยากไร้ ไม่มีที่อยู่ ขณะเดียวันก็ทำให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งได้ขายที่ดินไปเพื่อสนองความเจริญเติบโตของเมือง กลายเป็นเศรษฐีใหม่ที่งงๆ ไม่รู้จะใช้เงินอย่างไร ก็ซื้อรถคันหรูๆ ทำอะไรไปแบบงงๆ เพราะไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง

ถนนนอกเมืองมีหลายมุม อยู่ที่เราจะพึงพอใจในมุมไหน ความเจริญมี แต่ช่องว่างถ่างไปอีก แน่นอนเราไม่พอใจ แต่จะต้องเอาความเจริญไหม? แต่เราก็อยากให้เกิดสิ่งที่เสมอภาคด้วย ไม่ต้องการชนชั้น สิ่งเหล่านี้ต้องมีความสมดุล

อีกสิ่งหนึ่งที่ถนนนอกเมืองเจริญเติบโตออกไปเรื่อยๆ จากยุคที่เขียน จนถึงวันนี้ คือ เป็นถนนที่ไม่ใช่ถนน แต่มันเป็นรถไฟฟ้า เป็นใต้ดิน เป็นถนนอีกรูปแบบที่มากมายมหาศาลกว่า และอิงแอบอยู่กับการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่โปร่งใส กับการได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่าความเจริญ ต้องตรวจสอบ แต่ใครจะตรวจสอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง ประชาชน สื่อมวลชน พี่น้องประชาชนนี่แหละ ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ว่าความเจริญที่ได้มามีอะไรซุกซ่อนอยู่หรือไม่ โปร่งใสเพียงใด ใครเป็นคนหาเศษหาเลย เพราะเงินเหล่านี้มาจากงบประมาณ ภาษีอากรของแผ่นดิน จากพี่น้องประชาชน

แล้วผู้ยากไร้ในเวลานี้ เขายากไร้จากอะไร?

เขายากไร้จากการที่ไม่มีโอกาสทัดเทียมกับคนอื่น ใครๆ ก็อยากจะมีกิน มีใช้ แต่โอกาสไม่ทัดเทียม

ในช่วงชีวิต ภาพไหนที่เห็นแล้วสลดใจที่สุด ในแง่ความเป็นธรรม?

ภาพที่เห็นแล้วสลดใจมากที่สุด มีหลายยุค หลายช่วง ปีนี้อายุ 75 เห็นอะไรมาบ่อย ช่วงวัยหนุ่มเห็นพระถีบผู้หญิง เห็นพระแทงหวยใต้ดิน เห็นพระทำท่าชกกันแล้วรู้สึกสลดใจ เป็นเหตุผลให้เขียน “คนสีเหลือง” และสลดใจที่ต้องเห็นเด็กลูกคนรวย กับลูกคนจน ถูกจับแยกออกจากกันด้วยความเจริญ ที่พาถนนสวยๆ บ้านจัดสรรเก๋ๆ ออกไปนอกเมือง คนรวยก็บอกกับลูกว่า อย่าไปเล่นกับลูกชาวบ้าน เดี๋ยวจะมาเอาเปรียบลูกเขา มาฉกฉวยของในบ้านเรา เกิดการตีความ ไม่ไว้วางใจ ส่วนลูกคนจนก็จำเจอยู่กับความเจียมตัว บ้านใหญ่เขารวย อย่าไปเล่นกับเขา จะดูถูกเอา อีกมุมก็เจียมตัวจนไม่รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ ลืมไปว่าเราก็เป็นคนเหมือนเขา ไปปลูกฝังสิ่งที่ไม่ควรจะปลูกฝัง ทำให้เด็กที่พร้อมจะเป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนกันไม่ได้

เกิดจากการเคยชิน วัฒนธรรมการเลี้ยงดูและปลูกฝัง สิ่งเหล่านี้เริ่มทลายไปเรื่อยๆ ทุกคนรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วจากโซเชียลมีเดีย รู้ในสิ่งที่คุณรู้-ฉันก็รู้ เด็กรู้ทัดเทียมกัน พ่อแม่ต่างหากที่รู้ไม่ทัน ยังอยู่กับสิ่งเก่าๆ ไม่ฟังลูกตัวเอง ฉะนั้น การพัฒนาเมืองไม่เพียงพอ ต้องพัฒนาความรู้สึกนึกคิดด้วย

ผู้ให้และคนดี ในความหมายของนิเวศน์เป็นอย่างไร ?

มนุษย์มีทั้งการเป็นผู้ให้และผู้รับ มนุษย์จะมีความสุขมากที่เป็นผู้รับ แต่ลืมไปว่าการเป็นผู้ให้ก็เป็นโอกาสมีความสุขเช่นกัน ในชีวิตผม วัยขนาดนี้ ผมเลือกจะเป็นผู้ให้ เพราะเป็นวัยที่พร้อมและมีความสุขที่จะให้ ถึงกระนั้นก็พร้อมจะเป็นผู้รับที่ต่างจากสมัยก่อน รับในวันนี้ คือรับความคิดเห็นแปลกๆ รับการเปลี่ยนแปลง รับในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้ รับในเรื่องที่เคยรู้มานานจากครูสอน แต่ตอนนี้ไม่ใช่ มีอะไรที่ลึกไปกว่านั้นเมื่อเปิดพรมออก เมื่อย้อนประวัติศาสตร์ได้

ส่วนเรื่องความดีและไม่ดี ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ คนดีไม่จำเป็นต้องให้ของ แต่ให้โอกาส ฟังสิ่งที่เขาเรียกร้อง ถ้าเขาว่าสิ่งนี้รังแกเขา ลิดรอนสิทธิ สิ่งนี้ควรเพิ่มให้กับสังคม แค่ให้เวลาฟังเขา แค่นี้ก็ขอคารวะแล้ว

สำหรับผู้มีอำนาจ แม้จะไม่เคยผิดกฎหมาย แต่มีความเกรงใจหรือไม่ เราอาจเรียกสิ่งนั้นเก๋ๆ ว่า จริยธรรม ผมอยากให้รู้สึกบ้างว่าในสังคมมีกล้องวงจรปิด ตามติดดูคุณตลอดเวลา หากเกรงใจสังคม เกรงใจเพื่อนมนุษย์ คุณก็จะไม่ทำความผิด ไม่เอาเปรียบ

ทุกวันนี้เราจะเห็นความ 2 มาตรฐาน เห็นความอยากใช้เงิน ซื้อนู่น ทำนี่ ก็ทำ แต่บางทีเป็นเงินภาษีอากรของประชาชน เกรงใจบ้างหรือเปล่า เด็กเขามีความรู้สึกนึกคิด แล้วเขากล้ากว่ารุ่นผม รู้สึกแล้วแสดงออก เป็นเรื่องที่น่าดีใจมิใช่หรือ

“อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้” คือคำที่สะท้อนจากคนรุ่นใหม่ จะทำอย่างไรให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข เมื่อหมายคดีอาญามีมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อ “เยาวชนบอกว่า ยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด”?

มองในแง่ประชาชน และนักเขียนคนหนึ่ง แม้ไม่เกี่ยวกับงานเขียนโดยตรง แต่เกี่ยวกับมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ในสังคม ที่ได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัส “ต้องแก้รัฐธรรมนูญ” หันหน้าเข้าหากัน แชร์ความคิด สร้างให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ลงตัว อำนวยประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย รวมทั้งนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากหลายฝ่ายร่วมกันคิด ร่วมกันพินิจ จะเกิดเป็นสิ่งที่ลงตัว อย่างน้อยๆ ก็ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะจะเกิดมาตรฐานเดียวกัน

ในฐานะที่เคยเป็นคุณครู เราจะทำความเข้าใจเด็กได้อย่างไรบ้าง?

อย่างแรก ผมเป็นครูที่ฟังเด็ก เอาเด็กเป็นที่ตั้งในการเริ่มที่จะคุย ที่จะสอน เพราะผมสอนศิลปะ อาจจะออกมานอกห้อง กลางสนามบ้าง ตรงไหนก็ได้ที่เด็กเขาปรารถนา คุณอยากเรียนแบบไหน? บางชั่วโมงเราร้องเพลงกัน ร้องเพลงคนกับควาย ร้องเพลงเปิบข้าว และอธิบายว่าเนื้อเพลงบอกอะไร เด็กที่มาเรียนก็เป็นเด็กบ้านสวนเหมือนผม เขาไม่เคยเห็นชาวนา แต่เขากินข้าวทุกวัน เพลงเปิบข้าวก็ได้เล่าเรื่องราวของชาวนา ซึ่งเด็กก็ชอบ สิ่งที่ตามมาคือ เด็กเล่าให้ผู้ปกครองฟัง ผู้ปกครองถาม “ทำไมครูสอนแบบนี้?” ยุคนั้นยังมีคอมมิวนิสต์ ฉะนั้น ครูเป็นคอมมิวนิสต์เพราะสอนเพลงแบบนี้ ก็ต้องไปอธิบายให้ฟังว่า ไม่ใช่หรอก ผมเพียงแต่สะท้อนให้เด็กได้รู้ชีวิตจริงผ่านเพลง เพราะเพลงก็เป็นศิลปะ

ผมไม่ได้บอกว่าต้องเขียนนั่น เขียนนี่ อยากเขียนอะไร เขียน แต่ก็ต้องมาอธิบายให้เพื่อนฟัง รูปนี้เป็นอย่างไร การดูงานศิลปะบางทีไม่ต้องดูรู้เรื่อง แต่ดูรู้รส คุณรู้สึกอย่างไรกับรูปนี้ สิ่งที่เพื่อนพูดมาเขาต้องรับฟังได้ ต้องไม่ทะเลาะกัน ไม่ผิดหวัง ไม่เจ็บปวด ผมจะเป็นครูแบบนั้น จึงไม่มีปัญหากับเด็ก เป็นครูอยู่ 12 ปี แล้วก็ออกมาเป็นนักเขียน เชื่อว่ามีคนอีกมากที่อยากเป็นครู ให้เขามาเป็นเถอะ นักเขียนก็เป็นครูได้ เราอยากบอกอะไรที่ดีก็บอกผ่านงานเขียน

งานเขียนเรื่อง “คนสีเหลือง” ชี้ว่าศาสนาเสื่อมลงได้ มองศาสนาในปัจจุบัน คิดว่าจะต้องเพิ่มเนื้อหาอีกกี่หน้า แล้วการที่พระสงฆ์ ออกมาเรียกร้องทางการเมืองคิดเห็นอย่างไร?

ผมไม่คาดคิดเลยว่าในวันที่ผมเจอและรู้สึกปวดร้าว ผิดหวัง สะเทือนใจจนต้องเขียนเรื่องสั้น “คนสีเหลือง” เพราะพระที่มีพฤตกรรมนอกรีต คุณไม่ได้เป็นพระ คุณเป็นได้แค่คนสีเหลือง

แต่หลาย 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ คนสีเหลืองมีพฤติกรรมที่แย่กว่ายุคนั้นมากมาย ท้ายที่สุดเราก็เห็นว่าแก้ไม่ได้ เมื่อหลายวันก่อนดูข่าวทีวี คนขับก็เป็นพระ ที่นอนอยู่เบาะหลังก็เป็นพระ พระขับรถมาได้ไง แล้วกินเหล้า เสพเมถุนเป็นว่าเล่น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเก่าที่ไม่ได้แก้ เพราะว่าเราไม่ได้เอาจริงเอาจัง

ที่พระออกมาเรียกร้อง ถ้าแก้ พ.ร.บ.วินัยสงฆ์ แล้วจะทำให้ดีขึ้น ก็ต้องฟัง พระมาเรียกร้องก็ต้องฟังว่าพระต้องการอะไร ถ้าเราตั้งอยู่ในจุดที่ไม่ฟังใคร ฉันมีอำนาจ รู้ดีแล้ว เราจะไม่ได้รู้ถึงความต้องการที่แท้ของผู้คนในแต่ละภาคส่วน

ผมว่าดีนะ ต้องฟังท่าน ท่านออกมาอบอุ่นดี ทำให้ได้เห็นปัญหา เพราะท่านก็เป็นมนุษย์ที่ไปอุปสมบท ความรู้สึกนึกคิดต่อสังคมท่านก็มีได้ จะห้ามท่านพูดหรือ จะไปกักท่านไว้ ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น

อย่างผมเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับพระ ที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมระหว่างเป็นพระ ให้คนอ่านแล้วรู้สึกว่าศาสนาพุทธที่เรากำลังห่วงนักหนาว่าจะล่มสลาย จะล่มสลายก็ไม่ใช่เพราะใครทำ แต่เพราะคนที่อยู่ในศาสนาทำตัวไม่เหมาะสม ทำศาสนามัวหมอง ถ้าเราไม่ออกมาบอก ออกมาเตือน ทุกอย่างก็จะไม่ดีขึ้น ไม่ได้รับการแก้ไข

มีงานเขียนที่สะท้อนว่า ผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่าง ถูกข่มเหงจากเพศตรงข้าม ทำไมจึงยืนหยัดเคียงข้างผู้หญิง และในวันที่เกิดเพศเต็มไปหมด จุดไหนที่เราจะรู้ได้ว่าสังคมมีความเท่าเทียมกัน?

ทุกคนจะมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ต้องดูว่าเขาทำอะไรได้เท่าๆ กัน การไปเรียน การมีเพื่อน การสมัครงาน ไม่เกี่ยวกับว่าเพศอะไร ถ้าย้อนไป ความจริงแล้วผู้หญิงมักถูกกดขี่ ถูกจำกัดไว้ว่าคุณทำได้แค่นี้ ถัดจากนี้คุณไม่ควรทำ ซึ่งไม่ถูก ถ้าเขาทำได้ก็ให้เขาทำสิ (หัวเราะ) คุณทดลองเขาตามกฎกติกา เขาไม่ผ่านโปรก็คือไม่ผ่าน

เป็นความเก่าที่ต้องมีการเปลี่ยน ต้องมีการทบทวน เหมือนการเขียนเรื่องสั้นสมัยปี 2507 เขียนเสร็จก็มานั่งทบทวน ถ้าเรามีสติปัญญาจะเขียนใหม่ก็อย่ารีบส่ง จนประมาณเรื่องที่ 11-12 ถึงส่ง มันจึงเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ส่งแล้วได้ลงทันที ตอนนั้นส่งไป “ชัยพฤกษ์ ฉบับนักศึกษาประชาชน” มีคนถามผมว่า เขียนเรื่องสั้นนานไหมกว่าจะได้ลง ผมบอก ส่งเรื่องแรกก็ได้ลง แต่ไม่ใช่เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เขียน ผมอดทน ผมรอคอย ไม่เข้าข้างตัวเอง เราทบทวน พัฒนาตัวเองตลอด ตอนเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดเรื่องสั้น ผมได้อ่านงานคนรุ่นใหม่ เขาเขียนเก่ง หลายปีมานี้อะไรๆ เปลี่ยนแปลง พัฒนา มาเขียนวันนี้เขียนยากมาก นี่จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ของที่เคยดีในยุคนู้น เมื่อผ่านไปหลายปี มันอาจจะดีกว่านั้นได้อีก ทุกเรื่องราวในสังคม อย่าไปหยุดอยู่แค่นี้ ถ้าจะดันทุรังว่าใช่ ก็ได้ แต่จะกลายเป็นเสียโอกาส

ผมไม่รู้จะอยู่ได้อีกกี่ปี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็น รุ่นลูกจะได้เห็น แต่จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้

ในฐานะที่เคยเขียนงานร่วมกับศิลปินแห่งชาติหลายท่าน คิดเห็นอย่างไรจากการมีผู้ออกมาร้อง ให้ถอดศิลปินแห่งชาติ จากการแสดงความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง?

ศิลปินแห่งชาติ เขาได้รับการยอมรับที่ผลงาน นำมาสู่การยกย่อง เมื่อให้เกียรติเขาเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว จะไปถอดเขาได้อย่างไร นอกเสียจากว่า เขาทำผิดกฎหมาย มีคดีความ

ต้องจำคุก

เมื่อศิลปินแห่งชาติแสดงความคิดเห็น แล้วเราไม่เห็นด้วย ก็บอกเขาได้ว่าไม่เห็นด้วยอย่างไร เขาเป็นบุคคลสาธารณะ พี่น้องประชาชนจะเป็นคนตัดสิน สมควรที่จะเอาความเป็นศิลปินแห่งชาติแยกออกมา พูดเรื่องการเมืองได้ และสมควรจะพูด เพราะเราเป็นพลเมือง เป็นสิทธิ มีข้อยกเว้นไหนที่ห้ามพูดเรื่องการเมือง สังคมต้องยอมรับฟังซึ่งกันและกัน อยู่ที่ว่าคุณมีเหตุผลมา สนับสนุนสิ่งที่คิด สิ่งที่พูด ได้อย่างสมเหตุสมผล น่าเชื่อถือเพียงไร ถ้าไม่น่าเชื่อถือคนเขาจะรู้เอง

ถ้า พ.ศ.นี้ มีโอกาสไปนั่งอยู่ริมถนน ใช้เวลามองคนอย่างพินิจ คิดว่าตัวเองจะเห็นอะไร จะออกมาเป็นงานเขียนที่ชื่อว่าอะไร?

หนังสือเล่มนั้นน่าจะชื่อว่า รอดตาย (หัวเราะ) ผมจะเห็นความจริง ไม่ใช่ภาพลวง ได้ฟังเสียงจริง ได้เห็นความตื่นตระหนก ตื่นตัว และได้เห็นชีวิตที่เป็นสัจธรรม ว่านี่แหละ วันหนึ่งจะต้องมีผู้กล้า ได้เห็นว่าชีวิตนั้นมีจิตใจ กักขังไม่ได้ เมื่อวันหนึ่งเขาต้องการที่จะแสดงออก เขาก็จะแสดงออก ต้องว่ากันอีกทีว่าการแสดงออกนั้นมีเหตุผลมากน้อยเพียงใด คุณสามารถบอกได้ว่า เหตุผลเขาอ่อน ที่ยกมานั้นไม่จริง เมื่อคนแสดงเหตุผลได้ ก็ย่อมวิจารณ์เหตุผลนั้นได้เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ไม่ใช่ว่าเหตุผลต่างกันแล้ว ฉันเป็นคนดี คุณเป็นคนเลว ออกไปอยู่ประเทศอื่น เป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าเสียใจมาก เพียงความคิดเห็นที่แตกต่างถึงต้องตัดสินว่าเลว-ดี

ข้อความที่อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และผู้ใหญ่ที่อยากให้บ้านเมืองคงเดิม?

สำหรับเด็ก เขาควรจะมีเหตุผลเยอะๆ ค้นคว้าเยอะๆ และพาหนะที่จะบรรทุกเหตุผลเพื่อแสดงออกสู่สาธารณชน ไม่ว่าจะในการชุมนุม หรือการออกสื่อ พาหนะนั้นควรเป็นพาหนะที่สุภาพ ถ้าคุณมีเหตุผลแต่บรรทุกไปในความหยาบคาย บรรทุกสิ่งที่ทำให้คนที่ต้องฟังรู้สึกไม่ชอบฟัง เหตุผลนั้นก็จะตกหล่นไประหว่างทางอย่างน่าเสียดาย และเหตุผลนั้นจะอ่อนลง ถ้าเราจะพูดให้คนเชื่อในสิ่งที่บอก ก็ควรจะใช้กลยุทธ์ที่จะทำให้เขาอยากฟัง

สำหรับผู้รับฟัง สำคัญคือ ผู้หลักผู้ใหญ่ กรุณาอดทนฟังและเมตตา เด็กก็ย่อมเป็นไปตามประสาเด็ก การควบคุมอารมณ์นั้นอาจจะมีน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่มันคงจะแปลกและน่าเสียดาย ถ้าผู้ใหญ่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้.

“หนีตาย” ความท้าทายใน 75 ฝน

“ตอนนี้อยู่ในเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน ยังคงซุ่มเขียนเรื่องสั้นอยู่”

คือเสียงของ นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ นักเขียนอาวุโส ชาวฝั่งธนฯ บางขุนเทียน ที่เผยชีวิตปัจจุบันขณะ ในฐานะหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจและโควิด-19

“ส่วนตัวก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเพราะผมเป็นนักเขียน สนามลด ไม่มีที่เขียน สำนักพิมพ์ก็พิมพ์ไม่มาก เพราะขายยาก แต่ก็ไม่ได้ท้อแท้ ยังเขียนหนังสืออยู่ โดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย ใครจะซื้อหนังสือก็ติดต่อมาหาผม จะลดราคาให้ เมื่อคุณซื้อหนังสือแล้วอยากเป็นนักเขียนบ้าง ก็จะสอนให้ เป็นมูลค่าเพิ่ม มีบริการพิเศษ”

เรื่องสั้นสัญจร “อยู่ในกาลเวลา” คือ ผลงานล่าสุด ที่นิเวศน์ให้แนวทางการเขียนเรื่องสั้น ระหว่างการเป็นวิทยากร อัดแน่นด้วยผลงานเขียนของบรมครูที่ยกมาเป็นแนวทาง

พร้อมเผยว่า ในวาระครบรอบ 75 ปี ปลายมกราคมนี้ จะคลอดเรื่องสั้นเล่มใหม่ ชื่อ “หนีตาย” โดยสำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น ซึ่งนอกจาก “หนีตาย” นิเวศน์แง้มว่า ยังมีเรื่องอื่นอีก “รออ่านในมติชนสุดสัปดาห์”

“เรื่องสั้นหนีตาย ยากเหลือเกินในวัย 75 ปี แต่ก็พยายาม ในช่วงที่โควิดมาคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ และถูกกัก

แต่ผมเป็นนักเขียน กักอย่างไรก็ยังมีสติปัญญาที่จะเขียน

เรื่องสั้น ยังมีไฟ ถึงออกมาเป็นเรื่องสั้นชุดนี้”

ในฐานะครอบครัวนักเขียน “นิเวศน์” มองว่า ในยุคนี้คนไม่ค่อยออกจากบ้าน โควิดเป็นปัญหามาก คนยังพอมีตังค์จับจ่ายใช้สอย แต่จะพิถีพิถันมากขึ้น

ในแง่ของนักเขียน เราจะขายหนังสือยากขึ้น ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะหนังสือไม่ได้ขายดีเหมือนเสื้อผ้าอยู่แล้ว

สำหรับผู้จัดงานหนังสือ นิเวศน์แนะนำว่า อย่าคาดหวังสูง แต่ก็อย่าได้ท้อถอย

“จงจัดเถอะ จงไม่คาดหวัง แต่ไม่หยุด เรารู้ว่าคนไม่ซื้อหนังสือมากขึ้น แต่เราก็จะทำหนังสือ อาจจะพิมพ์น้อยหน่อย ทำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ทำหนังสือการเมืองตอนนี้ขายดี ทุกฝ่ายต้องปรับ การทำธุรกิจต้องปรับ นักเขียนก็ต้องปรับ” นิเวศน์คิดเห็นเช่นนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image