ใต้แววตา ‘สุธาสินี แก้วเหล็กไหล’ การเมืองในแรงงาน ชาติพันธุ์ใน ‘พื้นที่สีแดง’

9,841 ++ ราย คือยอดสะสมของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกสอง ของประเทศไทย ที่มองแล้วไร้วี่แววจะคุมไหว ในเวลาที่มนุษย์เช้าชามท้องไส้ใกล้แห้งกิ่ว ด้วยจำต้องล็อกดาวน์ทิพย์ ทนหิวไปอีกหน มีเมืองหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นผู้ร้าย ถูกคาดป้าย “พื้นที่สีแดง” อันดับต้นๆ ของจังหวัดที่ควบคุมสูงสุด อย่าง “สมุทรสาคร”

3,142 ++ ราย คือผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสร้ายที่กลายพันธุ์ ย่านเมืองพันท้ายฯ อันแปรสภาพเป็นหนี่งในสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ประหนึ่งอู่ข้าว อู่น้ำหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้ ด้วยสองมือของแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อน

ท่ามกลางคำสั่งเข้มข้นของท่านผู้นำ แข็งขันล้างบางบ่อนการพนันและขบวนการลักลอบแรงงานเถื่อน ด้วยมองว่าคือต้นเหตุที่สร้างความกลัดกลุ้มใจในการแก้ปัญหา จากสัดส่วน 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อ จ.สมุทรสาคร ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ

ทว่า น้ำตาของผู้ใช้แรงงานก็ไม่ได้หยุดหลั่ง “เขาก็ได้แต่ระบายให้เราฟัง เพื่อสื่อสารไปยังหน่วยงานรัฐ”

Advertisement

ในฐานะผู้ประสานงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) “สุธาสินี แก้วเหล็กไหล” เอ็นจีโอ ในวัย 52 ตอบคำถามด้วยความเห็นใจ อันกลั่นจากประสบการณ์ข้องแวะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

ปัจจุบันสถานการณ์โควิดที่สมุทรสาครเป็นอย่างไรบ้าง พี่น้องแรงงานข้ามชาติเดือดร้อนขนาดไหน?

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ตอนนี้ยอดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีอีกจำนวนมากที่น่าเห็นใจ ส่วนของคนงานข้ามชาติ ก็มีความกังวล ผู้ที่ได้รับการคัดกรองแล้ว แต่ไม่ได้ติดเชื้อ ก็กลัวเพื่อนรอบข้าง เพราะวิธีการหลายอย่างยังไม่ถูกสุขลักษณะ ในส่วนของตลาดกลางกุ้ง แม้จะมีหลายหน่วยงานเข้าไปตรวจ ดูแลอย่างดี แต่เสียงสะท้อนออกมาจากข้างใน ก็มองว่ายังมีน้องๆ อีกหลายกลุ่มที่ไม่มีเอกสาร แล้วถูกคัดออก เพื่อนที่คัดกรองไปแล้วก็เกิดความกังวลใจว่า เพื่อนที่ไม่ได้ตรวจ ถ้าติดเชื้อขึ้นมา เขาก็ยังต้องอยู่ร่วมกัน แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

Advertisement

ขณะเดียวกัน แรงงานที่อยู่ตามโรงงานต่างๆ ก็เดือดร้อน เท่าที่เป็นองค์กรคอยช่วยเหลือแรงงาน ตอนนี้เราทำงานตามแผนและเป้าหมายไม่ได้ จึงปรับมาเป็นเรื่องบรรเทาทุกข์ ด้วยการแจกถุงยังชีพให้คนงานพอประทังชีวิตในช่วงนี้ เราได้เห็นหลายคนเดินออกมาบอกว่า “หนูถูกบริษัทให้ออกมากักตัวเองอยู่บ้าน 14 วัน” ซึ่งเราก็ตกใจมาก บริษัทให้กักตัวอยู่ห้อง แล้วเดินออกมาขอถุงยังชีพจากเราถึงสำนักงาน เราเองก็มีความกลัวเหมือนกัน และคิดว่าในกรณีนี้ หากบริษัทคัดกรองแล้วพบผู้ติดเชื้อ ถ้ามีกำลังก็ไม่ควรที่จะไปบอกให้คนงานไปกักตัวเองอยู่ที่ห้องเช่า เพราะคนงานพักอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 2 คนขึ้นไป เพื่อนร่วมห้องก็ไม่รู้ว่าอยู่บริษัทอะไร แผนกไหนบ้าง เชื้อจะยิ่งแพร่ระบาดไปกันใหญ่ บริษัทควรที่จะทำโรงพยาบาลสนามของตัวเองเป็นที่กักกัน ดีกว่าปล่อยให้เขาออกมากักตัวเอง เพราะความหมายของคำว่ากักตัว คือคนเหล่านั้นจะต้องไม่เดินเหินไปไหน แต่นี่เขาก็ยังออกจากห้องมาขอถุงยังชีพเรา ออกไปซื้ออาหารเอง ซึ่งไม่น่าจะปลอดภัยกับคนอื่นๆ

ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ได้ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติอย่างไรบ้าง?

ที่ผ่านมา องค์กรเราทำงานด้านให้การศึกษาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ เรื่องสิทธิตามกฎหมายที่พึงจะได้รับ ให้คนงานได้เกิดการเจรจาต่อรองกับนายจ้างเมื่อมีปัญหาภายใน หรือถ้าเดือดร้อนก็ต้องช่วย ซึ่งมีหลายเคส ทั้งละเมิดสิทธิการคุ้มครอง ค่าจ้างไม่ได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ นายจ้างไม่เอาเข้าสู่ระบบประกันสังคม จนถึงค้ามนุษย์ เราได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ว่า นายหน้าพามาเกินโควต้า เอาไปฝากไว้ที่เล้าไก่บ้าง อะไรบ้าง เหมือนกับนายจ้างหลอกมาว่า มันง่ายทุกอย่าง เขาเลยเชื่อในคำชักชวน ที่ผ่านมาจะเจอเหตุการณ์แบบนี้

ที่สะเทือนใจคือเคส “ค้ามนุษย์” ไปหลอกลวง ขนมาทั้งครอบครัว “ไปเลยๆ มีงานลงเรือให้ทำ ผู้หญิงก็ไปตากหมึก แกะนู่น ทำนี่ มีงานทำทุกคน” พอเอามา ก็ให้ผู้ชายลงเรือ ให้ผู้หญิงทำงานบ้าน เสร็จแล้วก็นวดเจ้านาย คือทำทุกอย่าง สุดท้ายไม่จ่ายเงินเดือน ถ้าทวงเงินเดือนก็ขู่ฆ่า ขู่ว่า “ถ้าไม่อยู่จะขายนะ” เวลาคนงานมาร้องทุกข์เขาก็จะเล่าทั้งน้ำตา แสดงว่าเขาได้รับความรุนแรง ทั้งถูกกระทำเรื่องสิทธิ ทั้งสะเทือนจิตใจ “ค้ามนุษย์” เป็นเคสที่เรารู้สึกว่าแย่ที่สุด

ปัญหาที่สะสม หมักหมมมานานของ “แรงงานต่างด้าว” คืออะไร ไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านใด?

วิกฤตครั้งนี้จะเปิดทางมาเป็นโอกาสให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ก็คงเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น และนายหน้า เพราะมันหนักมาก เป็นการหลอกลวงคนและทำเป็นกระบวนการ ทั้งที่ถ้าเขามาตามกฎหมาย ก็ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย แต่ถ้ามาแบบ G to G รัฐต่อรัฐ ก็มีค่าใช้จ่ายต้นทางเท่านี้จ๊าด ปลายทางเท่านี้บาท ทั้งที่ไทยก็มีกฎหมายชัดเจน แต่เวลาถูกนายหน้าหลอกมา เสียหลายหมื่น เขาแทบจะกู้หนี้ยืมสิน ขายนา-ขายที่ และกระบวนการแบบนี้ก็ไม่จบสิ้น ทุกช่องทางล้วนมีด่าน แต่ทำไมยังมีปัญหาเล็ดลอดมาได้ เป็นคำถามคาใจเราอยู่เหมือนกัน

ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการ คุ้มครองสิทธิพื้นฐาน ของแรงงานย้ายถิ่นบ้างไหม?

ถ้ามองตัวกฎหมายน่ะ “ดี” แต่กฎหมายก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็ยังมี ที่บางจังหวัดใช้แบบนี้ บางจังหวัดใช้แบบนี้ เหมือนกฎหมายเขียนคนละจังหวัด ทั้งๆ ที่ก็ออกมาที่เดียวกัน แต่เวลาปฏิบัติใช้ เหมือนกับออกคนละจังหวัด มันก็เป็นปัญหาซ้ำซากอยู่อย่างนี้

ล่าสุดที่ ครม.เห็นชอบ ผ่อนผันแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เป็นเวลา 2 ปี คิดเห็นอย่างไรบ้างกับมาตรการนี้?

เท่าที่อ่านดูแล้วเป็นไปได้ยาก ในขณะที่โรคระบาดรุนแรง คนงานไม่มีงาน ไม่มีเงิน รัฐก็เหมือนจะดี เป็นเทวดาขี่ม้าขาวมา ให้พำนักอยู่ในประเทศไทยได้ไปอีก 2 ปี แต่พอดูค่าใช้จ่าย มันมาก แม้แต่คนไทย ลองจู่ๆ ตกงาน แล้วให้เขาไปทำเอกสารเหมือนแรงงานข้ามชาติ ก็เป็นไปได้ยากมาก ให้หานายจ้างภายใน 90 วัน นายจ้างก็อลหม่านอยู่กับโควิด กลัวรับมาจะพาโควิดเข้าไปสู่ไลน์การผลิตของเขา ตอนนี้ต่างคนต่างกลัว ขณะที่รัฐก็ออกมาตรการเหมือนอยู่ดาวคนละดวง (หัวเราะ) อีกคนหนึ่งก็ออกกฎมาอีกแบบหนึ่ง มนุษย์ก็โกลาหลอยู่อีกแบบหนึ่ง คือมันจอยกันไม่ได้ เป็นไปได้น้อยมาก

พอโควิดกลับมาอีกรอบ เกิดความรังเกียจรังงอนชาวต่างด้าว ในความเห็นส่วนตัว มองแรงงานข้ามชาติ สร้างคุณประโยชน์อะไรกับประเทศไทยบ้าง?

ความจริงคนไทยต้องบูชาเขาด้วยซ้ำ งานหลายอย่างเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจของไทย คนไทยไม่ทำ มองว่าเป็นงานสกปรก งานรีไซเคิล อยู่โรงงานเหล็ก งานลงเรือ ไปหาปลา แล้วก็เข้ามาสู่กระบวนการแปรรูป เข้าโรงงาน ทำปลากระป๋อง อะไรแบบนี้ คนไทยไม่ทำ คนไทยจะอยู่ระดับหัวหน้างาน ฝ่าย HR ข้ามแผนกเขาไม่จับต้อง ซึ่งความจริงแล้ว ทั้งโลกต้องมองว่า เขาเป็นแม่ครัว พ่อครัวของโลก แทบจะว่าได้ เพราะสิ่งที่คุณกิน สิ่งที่คุณรังเกียจ ล้วนแต่เป็นฝีมือของเขาทั้งนั้น แม้แต่อยู่ในรถเข็นเล็กๆ นายจ้างเป็นคนไทย แรงงานข้ามชาติเป็นคนทำให้คุณกิน ไม่ว่าจะอยู่ในห้างศูนย์อาหาร หน้าร้าน ก็มีแต่แรงงานข้ามชาติทั้งนั้น คุณจะไปรังเกียจเขาได้อย่างไร หนีไม่พ้นอยู่แล้ว

ถ้าบอกเป็นมูลค่าจีดีพี ที่แรงงานสร้าง อาจไม่สามารถตอบได้ แต่มีความมั่นใจในฐานะที่ทำงานร่วมกันมาระยะเวลายาวนาน งานทุกอย่าง แรงงานข้ามชาติสามารถทำได้ แม้แต่งานอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ก็เป็นแรงงานข้ามชาติหมดแล้ว เพียงแต่ว่านายจ้างจะเลือกให้เขาอยู่แผนกไหน “แผนกที่แย่กว่าคนไทย” นายจ้างเขาจะเลือกแบบนั้น

ในวันที่แรงงานข้ามชาติตกเป็นจำเลย เข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐ ก็จะมีหลายคนมองว่าช่วยคนไทยก่อนไหม คิดเห็นอย่างไร?

ความจริงไม่อยากจะให้แยกออกจากกัน ให้เรามองความเป็นคน และความเป็นคนงาน คนงานเป็นเฟืองเศรษฐกิจ ทำให้โลก ให้ประเทศชาติได้สวยหรู ก็ล้วนแต่ฝีมือแรงงานที่เป็นส่วนใหญ่ของคนทั้งโลก ทำไมคนถึงไม่ให้ความสำคัญ ไม่ว่าชาติอะไรก็ตาม ถ้าคุณมองผลกระทบ บอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี เศรษฐกิจตกต่ำ เศรษฐกิจต้องตกต่ำอยู่แล้ว เพราะมนุษย์เงินเดือนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย เฟืองเศรษฐกิจจะหมุนไปได้อย่างไร แม่ค้าส้มตำก็ตาย คนขายรองเท้าก็ตาย คนขายอะไรก็ตาย เพราะมนุษย์เงินเดือนไม่มีเงินในกระเป๋าที่จะไปจับจ่าย

เพราะอะไรที่ทำให้ลูกจ้างเข้าไม่ถึงการเยียวยา ข้องเกี่ยวกับทัศนคติของคนไทยหรือไม่?

เขาอาจจะมองไม่ขาด มองไม่ทะลุว่า ศัตรูที่แท้จริงคือใคร เวลาสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมา ไม่ได้มีผลกระทบตั้งแต่ต้น แม้คุณจะเป็นผู้ลงทุนทั้งต้นทุนผันแปร คือ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเงินเดือน แต่ต้นทุนคงที่ เป็นที่ดิน เป็นอาคาร ลงทุนทีเดียวก็จบ หลังจากนั้นกำลังคนงานก็เข้าไปทำงาน ผ่านไป 10 20 หรือ 50 ปี จู่ๆ โรคร้ายผ่านมาครั้งหนึ่ง แต่คนที่แบกรับวิกฤตกลายเป็นคนงานทั้งหมด เราไม่ได้คิดหรือว่า นายจ้างเขาสร้างกำไรมากี่ปีแล้ว ทั้งๆ ที่วิกฤตครั้งเดียว เขาดูแล-เยียวยาเราได้ กำไรมีมหาศาล รวยกี่แสน กี่พันล้าน เคยได้ยินคนงานรวยไหม? ไม่เคย นอกจากนายคนนี้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 อย่างนี้รวยได้อยู่ คือไม่ว่าวิกฤตครั้งไหนก็โยนแต่ภาระให้คนงานรับ น้ำท่วมก็โยน โรคระบาดก็โยน วิกฤตทุกครั้งคนงานรับ นายจ้างกอบโกยผลกำไรมากี่พันล้าน ทำไมรัฐไม่บอกให้เขารับผิดชอบบ้าง

ครั้งนี้นายกฯเอาจริง จับบ่อน แรงงานเถื่อนให้เป็นรูปธรรม ถ้าจับไม่ได้จะติดตามนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง ตม.เองก็ห้ามคนไทยไปบ่อนเพื่อนบ้าน คิดว่าจะช่วยให้ดีขึ้นไหม ทำได้จริงหรือเปล่า?

ถ้าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว นายกฯตรวจคนของตัวเองก่อนไหม คือหน่วยงานราชการ จะเอาอย่างไร กฎหมายมี ทำไมไม่ใช้ให้มันศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่มอง คือเวลาขังคุก ทำไมขังแต่คนจน ไม่ขังคนรวย?

คิดว่าจะทำอย่างไรให้ระบบนายหน้าหมดไป?

ตราบใดที่คนยังเห็นแก่สินบนก็ยาก ถ้าจะแก้ปัญหาจริงๆ ต้องตรงไปตรงมา เห็นทองที่ไม่ใช่ของตัวเอง ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ จะเอามาเป็นเจ้าของไม่ได้ แต่ถ้าเห็นว่าทองมาแล้ว เปลี่ยนใจทันที ก็ยากที่จะแก้ไข ทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่ว่า ด่านกันการลักลอบ อย่าง อ.แม่สอด มี 4 ด่านใหญ่ มีการตรวจคัดกรอง ถ้าจู่ๆ ผ่านมาได้ ก็ต้องคิดแล้วว่า “มีด่าน คนเถื่อนผ่านมาได้อย่างไร”?

ดังนั้น ถ้านายกฯอยากจะกวาดล้างจริงๆ ไม่ใช่แค่ไปมองปลายเหตุ ว่าเอานายหน้ามา ต้องดูตั้งแต่ต้นว่า ใครเอื้ออำนวยให้นายหน้าเข้ามาได้-อย่างไร ซึ่งก็น่าจะมีอิทธิพลระดับหนึ่ง ถ้าเป็นสมัยก่อนย้อนหลัง 20-30 ปี ควบคุมไม่ได้ เท่าที่คุยกับเจ้าหน้าที่เก่าๆ ที่ทำงานมากว่า 20 ปี เดินเท้ามาทางภูเขา 7 วัน ค่ำไหนนอนนั่น เพื่อที่จะได้ทำงานในประเทศไทย นั่นคือยุคก่อน แต่ยุคนี้คุณเปิดโอกาสให้เขามาแล้ว มีด่านแล้ว มีกฎหมายอย่างดี ก็ต้องดีกว่านี้ ไม่ใช่สุดท้ายมาแก้เอาปลายเหตุ แก้เท่าไหร่ก็แก้ไม่หมด ต้องหาต้นตอให้เจอว่าเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับคนงานที่ จ.สมุทรสาคร ไม่มีเอกสาร ทำไมอยู่ได้? เป็นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่กฎหมายบ้านเราก็บอกว่า ให้ผลัก ทำไมไม่ผลัก ทำไมยังจับ-ปรับอยู่

กฎหมายเรามีดีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่มี ก็ต้องเคารพ อย่างแรงงานข้ามชาติ ดีกว่าแรงงานไทยด้วยซ้ำไป ซึ่งความจริงเอามาได้ ถ้านายจ้างมอบให้ไปรับมา ก็ต้องเอาเข้าทำงานให้สถานประกอบการนั้นๆ บัตรติดตัว กับบัตรที่ทำงานต้องตรงกัน ซึ่ง ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ มีเยอะที่ไม่ตรงกัน และยังเป็นอยู่ เพราะไม่ใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ถ้าใช้อย่างตรงไปตรงมานะ เอ็นจีโอแบบเราตกงานพอดี และเราก็ยอมที่จะตกงาน (หัวเราะ)

ถ้าให้ขึ้นทะเบียนฟรี ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะหมดไป แต่ก็ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าพอเขาจะเริ่มแสดงตน ก็ถูกจับ ถูกปรับ เบี้ยบ้ายรายทางมาก่อน เวลามีนโยบายอะไรออกมาฟรี บางครั้งก็ไม่ฟรีสำหรับคนงาน เพราะระบบนายหน้าเข้าไปแทรก บอกว่า “รัฐบาลไทยกำลังทำนั่น ทำนี่ ฉันรวบรวมเอกสารไปทำให้ไหม” คนงานเราเสียเยอะมากกับระบบแบบนี้

ในสายตาเอ็นจีโอ คิดว่าเราจะผ่านพ้นผลกระทบจากโควิดได้อย่างไรบ้าง?

ถ้าในส่วนของประชาชน ช่วยเหลือประชาชนด้วยกัน อาจจะห้ามไม่ได้ เรื่องดูหมิ่นดูแคลน คงจะมีกันทุกชาติ แต่ท้ายที่สุด เอาเข้าจริงๆ คนไทยมีน้ำใจ ในการระดมของ ระดมทุนมาช่วยคนที่ลำบาก เป็นประชาชนมากกว่าที่เราจะเห็นเงื่อนไขของรัฐ ทุกอย่างประชาชนจะมาก่อน เพราะหน่วยงานรัฐต้องรอประชุม รอมติ ถ้าเป็นคนธรรมดา เขาตัดสินใจได้เลย

จากที่มีประสบการณ์ประชุมร่วมกับผู้ว่าฯสมุทรสาคร ทำให้ได้เห็นว่าผู้ว่าฯมีความตั้งใจดี เหมือนกับผู้บริหารคนหนึ่งที่พยายามจะทำอะไรให้ดีที่สุด แต่บางทีทีมทำงานก็เกรงใจ เหมือนกับว่า รอท่านผู้ว่าฯถามก่อน คิดก่อน เวลาท่านโยนคำถาม ทุกคนก็หันหน้ามองกัน แล้วคิดในใจว่า เราทำหรือยัง ทำให้เราเห็นความล่าช้า หรือเป็นเพราะระบบเก่าแก่ของเราว่า ต้องรอให้สั่งก่อน ทำไปก่อนล่วงหน้าไม่ได้ เดี๋ยวมีความผิด ก็คิดทั้งมุมดีและมุมไม่ดี

วัคซีนที่ ครม.อนุมัติงบให้คนไทย 60 ล้านคนได้รับวัคซีน หลายคนมีความกังวลใจในการแจกจ่าย มีข้อแนะนำให้วัคซีนกระจายได้ทั่วถึงไหม?

ถ้าคิดแทนรัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐ เราก็รู้แล้วว่าหมู่บ้านหนึ่งประชากรมีกี่คน เพราะเราแจ้งเกิด-แจ้งตาย ตำบล อำเภอ จังหวัด ต้องรู้ประชากรของตัวเอง ดังนั้น สามารถที่จะจัดสรรได้อย่างเพียงพอแน่นอน เว้นแต่นับจำนวนไปแล้วเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต วัคซีนอาจจะเหลือ คิดด้วยสูตรง่ายๆ แค่นี้ หรือถ้าเหลือจะเผื่อให้แรงงานข้ามชาติไปรับวัคซีน ก็รู้โควต้าอยู่แล้วว่ารับมาเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ถึงมือคนไทยทุกคน ก็จะหวนกลับไปจุดเดิม คือมีการคอร์รัปชั่น

ประเมินแล้ว คิดว่าล็อกดาวน์รอบ 2 มาแน่ไหม เป็นผลมาจากปัจจัยอะไรบ้าง และจะยืดยาวแค่ไหน?

จะมา ถ้าควบคุมไม่อยู่ ต้องเริ่มตั้งแต่วิธีการเล็กๆ อย่าง การแยกออกจากกัน ดูแลให้ดี บางทีก็อาจไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ก็ได้ คนที่ตรวจคัดกรองแล้วเป็นผู้ติดเชื้อ ก็ควรที่จะแยกออกจากกันจนกว่าเชื้อนั้นจะฝ่อไป แต่ถ้าเป็นการล็อกดาวน์ จะไปล็อกอย่างอื่น ล็อกคนที่ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อด้วยหรือเปล่า เขาต้องเดินเหินไปทำงาน ถ้าเราล็อกไปแล้วจะได้รับผลกระทบหรือไม่ หรือหาวิธีการ ว่าถ้าล็อก จะดูแล-เยียวยากันอย่างไร

ข้อกังวลคือ ยังคิดต่อจากที่แรงงานบอกเราว่า “จะทำอย่างไรให้แยกออกจากกันให้ชัดเจนได้” ถ้าเราไม่ได้คิดแบบเห็นแก่ตัว เชื้อจะหมดไป ก็ต่อเมื่อคนไม่รวมกัน กรมควบคุมโรคจะรู้ดีว่าช่วงไหนมีอาการ ช่วงไหนฟักไข่ ไม่ใช่ว่าตรวจครั้งเดียว ไม่เป็นแล้ว วันต่อมา เกิดคุณไปสัมผัสกับคนอื่นแล้วติดเชื้อ จะทำอย่างไร ควรมีระยะเวลาในการตรวจคัดกรองเป็นครั้งไหม ก็อาจจะคิดเกินเลย ไปรู้ดีกว่ากรมควบคุมโรค (หัวเราะ) แต่เราคิดไปแบบนี้ เพราะอย่างวันที่ 20 ธ.ค. ได้ไปประชุมกับท่านผู้ว่าฯ ในที่ประชุม ท่านก็วิเคราะห์ ประมวลแล้วว่าไม่ได้เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยง ท่านก็สบายใจ แต่มาเป็นอีกวันต่อมา เลยคิดว่า ควรจะตรวจคัดกรองกันเป็นระยะๆ เพราะจะกลายเป็นว่าเชื้อโรคปะทุขึ้นมาไม่หยุดยั้ง ไม่หมดเชื้อสักที

พิษของคำสั่ง-นโยบาย กระทบเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชนพัง นักการเมืองบอกว่า ถ้าไม่มีวัคซีนก็ไม่จบ แล้วเราจะอยู่อย่างไรในตอนนี้ เมื่อรัฐบาลก็ขอให้ประชาชนช่วยกันล็อกดาวน์ตัวเอง?

คนที่เป็นข้าราชการการ กินเงินเดือนประจำ อยากจะพูดอะไรที่สะใจก็พูดได้ แต่พนักงานเอกชน รายวัน รายเดือน นายจ้างจะใจดีขนาดนั้นหรือเปล่า จะเอาผลกำไรที่ได้พันหมื่นล้าน มาเสียสละให้คนงานไหม หรือนายกฯ สั่งเลยก็ได้ว่า ล็อกดาวน์ตัวเองอยู่กับบ้าน ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเต็ม ไม่มีผลกระทบต่อเงื่อนไขเบี้ยขยัน-โบนัส แบบนี้ได้หรือเปล่า เขาถึงจะอยู่รอด ถ้าอย่างนี้ทุกคนก็อยู่ได้ ล็อกก็ล็อกไปเลย

มันไม่ง่าย เวลาพูดให้เอาตัวรอดและสะใจ พูดได้ทุกคน แต่แนวปฏิบัติ คนที่หาเช้ากินค่ำมันทำไม่ได้ เราเห็นใจทุกคน แม้กระทั่งร้านอาหาร แม่ค้า ถ้าเรามองแบบละเอียดอ่อน มองด้วยความเป็นมนุษย์ด้วยกัน

เยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ให้นิยามมาตรการของรัฐบาลว่า “ล็อกดาวน์ทิพย์” ส่วนตัวให้นิยามการแก้สถานการณ์โควิดว่าอย่างไร?

ล็อกดาวน์ได้ แต่อย่าล็อกท้องไส้ ล็อกชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน คือคุณจะล็อกดาวน์ แต่ไปล็อกอาหาร ล็อกท้องไส้เขา ล็อกไม่ได้แน่นอน อย่าไปทำอย่างนั้น อย่าไปล็อกความเป็นมนุษย์.

เศรษฐกิจจากหยาดเหงื่อ เมื่อวันผู้คน ถูก”แยกเชื้อ-แยกชาติ”?

“มันทำให้เราเห็นหลายอย่าง เห็นทั้งความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ด้วยกัน ทำให้ซาบซึ้งใจ จากของที่ส่งมาให้เราส่งต่อคนงาน ทำให้เห็นการทำงานแต่และภาคส่วน เมื่อมีปัญหาเข้ามา ว่ารวดเร็วทันใจจริง อย่างที่เขาโฆษณาไหม”

คือตะกอนความคิด จากวิกฤตโควิดระลอกสอง ของผู้ประสานงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ที่ปัจจุบันพักอยู่บ้านเอื้ออาทร ย่านสมุทรสาคร ใจกลางกรุงโควิดแห่งประเทศไทย

เมื่อถามถึงเหตุผลที่สนใจงานด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ

สุธาสินี ตอบชัดเจนว่า อดีตเป็นจัดตั้ง ประธานสหภาพแรงงาน ก่อนภายหลังถูก “เลิกจ้าง” เพราะถูกกล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่ในช่วงปฏิบัติงาน

“ความจริงไม่ได้ละทิ้ง เพราะนายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน เราก็เลยหยุดเครื่องจักร แค่ครึ่งชั่วโมงเอง นายจ้างบอก ทำให้เขาเสียหาย 2 ล้านเศษ ทำให้คิดได้ว่า ดูสิ เราแค่หยุดครึ่งชั่วโมง ยังเท่านี้ ถ้าเราทำทั้งวัน นายจ้างจะได้กี่ล้าน ก็ช่วยกันคิดวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เขาเอาเงินมาจ่ายรวดเร็วทันใจ (หัวเราะ) ตอนนั้น 6 โมงเย็นเขารีบเอามาจ่าย บอกว่า ลูกค้าต่างประเทศยังไม่โอนเข้าธนาคาร” สุธาสินีอธิบายข้อเท็จจริง ด้วยน้ำเสียงขำขัน แต่เบื้องหลังยังคงทำงานอย่างแข็งขันในเรื่องความคิด หาหนทางให้คนงานอยู่ได้อย่างปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ให้คนด้อยโอกาส ไม่มีทางสู้ ได้มีโอกาส บนความเท่าเทียม

“เรามีสายธุรกิจรวมกันเป็นอาเซียน ในขณะที่ความเป็นอยู่ของคน ยังแยกเชื้อ แยกชาติ มีอคติต่อกัน เราจะไปถึงอาเซียนได้อย่างไร?” สุธาสินีฝากถ้อยคำถามสุดคมคายส่งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image