ขนิษฐา คันธะวิชัย มองความต่างใน ‘ชุดเรื่องเล่า’ จาก(ภู)เขา ถึง วิวาทะของ ‘เรา’

จากดราม่าในโลกออนไลน์ กลายเป็นวิวาทะระดับชาติ สำหรับข้อถกเถียงกรณี พิมรี่พาย แม่ค้าออนไลน์คนดัง จัดงานวันเด็กบนดอย ฉายหนังจากพลังโซลาร์เซลล์ซึ่งสุดท้ายสว่างวาบไปทั้งแผ่นดิน นำมาซึ่งการขุดคุ้ยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ขณะที่ฟากฝั่งนักวิชาการสาขาต่างๆ ก็ออกมา “คอมเมนต์” อย่างเข้มข้นและหลากหลาย ท่ามกลางประโยคคำถามของสังคมไทยในประเด็นของบทบาท “ผู้ให้” ที่อาจไม่มีช่วงเวลาใดเคยถูกตั้งคำถามมากมายเช่นนี้มาก่อน

ไหนจะปมร้อนแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์ และเชื่อว่าคงไม่ใช่วิวาทะรอบสุดท้าย

ได้เวลาละสายตาจากแป้นพิมพ์ในมือถือ มาคุยกับ “ขนิษฐา คันธะวิชัย” นักวิชาการ “กึ่งคนใน” ด้วยสายเลือดชาติพันธุ์และวัฒนธรรม “เมี่ยน” จากมารดา

ผ่านประสบการณ์การทำงานอันเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มชนหลากหลาย มีความสนใจในเรื่องราวเชิงวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และการพัฒนา

Advertisement

เคยทำงานให้ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัย

เคยนั่งเก้าอี้เลขานุการคณะกรรมการชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ

ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

ต่อจากนี้ คือมุมมองน่าฟังจากเรื่องของ (ชาว) เขา ที่ไม่ใช่ “คนอื่น” สู่วิวาทะ (ของเรา) ในวันนี้

ข้อถกเถียงจากกรณีพิมรี่พายสะท้อนปัญหาอะไรในสังคมไทยที่ส่วนตัวคิดว่าเป็นปัญหาหลักที่ใหญ่ที่สุด?

กรณีการบริจาคของพิมรี่พายเอง โดยส่วนตัวไม่ติดใจในหลักการ แต่ดราม่าสะท้อนให้เห็นหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามกับงบประมาณที่หน่วยงานภาครัฐลงไป มีคนเอาราคาโซลาร์เซลล์ที่ กอ.รมน.จัดหามาเผยแพร่แล้วตั้งคำถาม การรีแอคต์ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างกรณี กศน.พื้นที่ออกประกาศในตอนแรกว่าห้ามโพสต์รับบริจาค อันนั้นมันก็สะท้อนวิธีแก้ปัญหาแบบรัฐราชการเก่าๆ แต่ก็ยังดีที่แก้ไขประกาศอย่างรวดเร็ว และก็เรื่องการกระจายทรัพยากรที่น่าจะมีความเข้าถึงชุมชนชาติพันธุ์มากกว่านี้ วิวาทะที่เกิดขึ้น มันก็ทำให้เราได้กลับมาทบทวนประเด็นการพัฒนากันใหม่ว่าเราควรจะให้ความช่วยเหลือกันอย่างไร ซึ่งสิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่สุดมองว่าเป็นเรื่องการบริหารงานของรัฐ

คิดว่าส่วนหนึ่งของวิวาทะในความเห็นต่าง มาจาก ‘ภาพจำ’ ของคนในสังคมไทยโดยเฉพาะชนชั้นกลาง ที่มีต่อ ‘ชาวเขา’ กับมุมมองเชิง ‘วิชาการ’ ที่มีต่อ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ หรือไม่?

ใช่ ตามนั้นเลย เป็นชุดเรื่องเล่าที่ต่างกัน หลังจากเหตุการณ์ดราม่าชุดนี้คิดว่าทุกกลุ่มก็ได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม เพราะมันก็มีคนจากแต่ละฝั่งออกมาชี้แจง นักวิชาการก็บอกว่ารัฐและการพัฒนานั่นแหละที่เบียดขับให้ชาติพันธุ์เป็นแบบนี้ และก็ให้แง่มุมว่าถ้าจะมีนโยบายพัฒนาก็ควรจะเป็นอะไรที่มีฐานจากชุมชน ตอบสนองความต้องการในท้องถิ่นซึ่งมันคนละโลกกับชุดความคิดแบบเมือง

ส่วนคนทำงานในพื้นที่ก็ชี้แจงว่าเขาไม่ได้ล้าหลังหรือยากจนขนาดไม่มีไข่เจียวกิน แต่มันเป็นการเรียกกันคนละอย่าง บางส่วนก็มีการตั้งคำถามว่าเอาของไปบริจาคแล้วเขาต้องการจริงหรือ ใดๆ ทั้งหมดนี้แม้จะเป็นดราม่า แต่ตอนหลังคนอื่นที่จะไปให้ความช่วยเหลือก็คงมีกลยุทธ์กันมากขึ้น

ข้อดีของดราม่าก็คือสิ่งนี้แหละคือมันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นและเป็นการเรียนรู้ และถ้าจะแก้ไขปรับจูนกันก็ต้องหมั่นอัพเดตความรู้ อัพเดตสถานการณ์ และพยายามเข้าใจในมุมมองของกันและกัน อาจจะพูดให้ฉุกคิดแต่ไม่น่าจะตำหนิกันเพราะมันจะไม่ทำให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้และยอมรับ

เอาจริงๆ ดิฉันเองบางทีก็ยังไปไม่เป็นเลย คือมันปะทะกันระหว่างวิชาการสายสังคมศาสตร์ที่เรียนมาและสภาพจริงที่เจอ สถานการณ์ทางชาติพันธุ์มีความเปลี่ยนแปลงและหลากหลายมาก เวลาอ่านหนังสือวิชาการเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของสำนักคิดบางสำนักก็จะเห็นว่าชาติพันธุ์ไม่ได้ทำไร่เลื่อนลอยหรือถางป่า แต่เขามีภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับป่า และการบังคับใช้กฎหมายแบบไม่ดูวิถีชุมชนนั่นแหละที่ไปทำร้ายเขา ดิฉันก็มีความคิดชุดนั้น แต่พอได้ไปบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์บนดอยอีกโซนหนึ่งของภาคเหนือก็พบว่าเขาทำไร่หมุนเวียนแต่ทำกันทุกครัวเรือนมันจึงใช้พื้นที่เยอะ ที่ผ่านมาถ้ารัฐไม่เข้าไปจัดระเบียบโดยจำกัดว่าโซนนี้ทำได้แค่เขาด้านซ้ายของถนน อีกโซนให้ทำที่ด้านขวา ป่านนี้เขาคงเรียบตลอดทาง ยังไม่รวมเรื่องเคมีที่ใช้แล้วลงไปแหล่งน้ำจนชาวบ้านเองก็ใช้น้ำในห้วยไม่ได้อีกแล้วนะ คือมันอาจจะต้องว่ากันไปเป็นกรณี และมาอัพเดตสถานการณ์กันบ่อยๆ ส่วนชนชั้นกลางในเมืองเวลาไปเที่ยวบนดอยก็ควรจะตั้งเป้าเรียนรู้จากชาติพันธุ์บ้าง ไม่ใช่ว่าจะไปทำภารกิจเราอย่างเดียว

มีคนทั้งเปรียบเทียบและเชื่อมโยงกรณี ตูน บอดี้สแลม วิ่งช่วย รพ. กับพิมรี่พาย ช่วยเด็กดอย ว่าสุดท้ายปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่แท้จริง?

เห็นด้วยว่าสุดท้ายแล้วมันไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง มันเปรียบเหมือนการยื่นปลาให้ ไม่ใช่การสอนให้ตกปลาหรือให้เบ็ด แต่ประชาชนคนหนึ่งจะทำอย่างไรได้บ้างกับสิ่งที่มันเป็นปัญหา เขาก็คงทำตามความถนัดหรือความเชื่อของเขา เขาให้ปลาได้เขาก็ให้ปลา ส่วนใครจะร่วมสนับสนุนจะอนุโมทนาสาธุหรือไม่นั้นแล้วแต่หลักคิดของแต่ละคน แต่ก็ต้องดูว่าแล้วการกระทำนั้นมันไปถ่วงให้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมันช้าลงรึเปล่า คือในทางสายทฤษฎีมันก็จะมีคนที่มองว่าอีเวนต์พี่ตูนและแบบพิมรี่พายมันก็เท่านั้น มันต้องเปลี่ยนที่โครงสร้างซึ่งก็คือการเมือง รัฐ แล้วก็ต้องทำลายการครอบงำทางความคิดของอำนาจเดิมๆ

กรณีพิมรี่พาย ดิฉันมองว่าถ้าลองใช้เวลากับหมู่บ้านสักนิด พยายามเรียนรู้เขาบ้างก็จะดูน่าประทับใจ ในรายละเอียดอาจจะตั้งคำถามบ้างกับการให้ทำแปลงผัก เพราะดิฉันยังเชื่อว่าชาติพันธุ์บนดอยปลูกผักดีกว่าเด็กในหมู่บ้านจัดสรรในเมืองอยู่แล้ว และถ้าให้ปลูกผักก็ควรเป็นผักชนิดที่เขากินจริงๆ ส่วนผักใหม่ๆ นี่ปลูกเสริมดูก่อน คือถ้าสุดท้ายแล้วผักในแปลงนั้นมันไม่ต้องรสนิยมของเขา มันก็สูญเปล่า เว้นแต่ว่าเด็กๆ จะช่วยกันปลูกแล้วเอาไปขาย เอาเงินมาเป็นทุนให้โรงเรียนต่อ ก็ว่ากันไป แต่ที่น่าสนใจคือ การให้ความฝัน ในคลิปนั้นคุณครูบอกว่าเด็กที่นี่ไม่มีความฝัน แล้วพอพิมรี่พายถามเด็กๆ ว่าอยากเป็นอะไร เด็กๆ เงียบ เด็กอาจจะอายหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันคงยิ่งทำให้พิมรี่พายรู้สึกว่าไม่ได้การแล้ว จึงไปซื้อทีวี ติดแผงโซลาร์อย่างที่เห็น เพื่อให้เด็กๆ ได้ดูโลกภายนอก จะได้เห็นอาชีพในนี้ ซึ่งดิฉันว่าประเด็นนี้น่าสนใจ

ช่วงนี้มีปมร้อนทั้งแรงงานข้ามชาติและชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง สถาบันทางวิชาการควรใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารกับสังคมอย่างไรบ้าง?

อย่างที่บอก ผลดีของการเกิดดราม่าคือ การเรียนรู้ เพราะมันจะมีภาคส่วนต่างๆ ออกมาอธิบายและมันก็คือการสื่อสารกับสังคมนั่นแหละ แถมได้ผลดีด้วยเพราะคนกำลังอยากฟัง แต่ครั้งนี้ดิฉันเซอร์ไพรส์มากที่ตัวแทนของรัฐออกมาพูดในทางที่ให้เกียรติและเคารพแรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วิธีคิดของคนจากภาครัฐเปลี่ยนไปมาก สิบกว่าปีก่อนดิฉันเห็นตำรวจแถวเมืองชายแดนเมืองหนึ่งพูดกับแรงงานข้ามชาติแบบใช้อำนาจ แต่ 2 ปีที่แล้วได้กลับไปอีกที เจอตำรวจมาขอตรวจบัตรคนบนสองแถวที่มุ่งหน้าไปด่าน เขาสุภาพนะ “ขออนุญาตตรวจบัตรหน่อยนะคร้าบ ขอบคุณคร้าบ อ้าว นี่บัตรหมดอายุแล้ว รีบไปต่อนะคร้าบ” คือท่าทีเปลี่ยนเลย ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสถาบันการศึกษา เอ็นจีโอ คนทำงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามสื่อสารและทำงานร่วมกันมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว

เรื่องคำศัพท์ที่เคยเป็นประเด็นมานานแล้ว เช่น ต่างด้าวกับต่างชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์กับชาวเขา และอื่นๆ ควรถึงเวลายกเครื่อง หรือนำมาพิจารณาอย่างจริงจังหรือไม่ อย่างไร?

จริงๆ แล้วในทางกฎหมาย ต่างด้าวก็คือคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นคนรวย จน เป็นฝรั่ง เป็นคนสัญชาติอเมริกา ญี่ปุ่น เมียนมา เข้ามาถูกกฎหมายหรือไม่คุณก็คือ ต่างด้าวเหมือนกัน แต่ภาษามันมีพลวัตทางด้านอารมณ์และความรู้สึกด้วย อาจจะเกิดจากสถานการณ์ที่คนมักใช้คำคำนี้ สังเกตว่าคำว่า ต่างด้าว มักถูกใช้เวลาพูดถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในทางลบ พวกต่างด้าวสร้างปัญหาโน่น นั่น นี่

แต่กรณีคำว่า ชาวเขา น่าจะเป็นการโต้กลับของฝ่ายวิชาการต่อรัฐ คือการที่รัฐกำหนดคำว่า ชาวเขา มันนำมาสู่การเลือกปฏิบัติ แต่ในกรณีกลุ่มเมี่ยน ส่วนตัว รู้สึกว่าคำนี้เฉยๆ นะ เท่าที่ชวนเมี่ยนคนอื่นคุยเขาก็ไม่ติดใจอะไรเหมือนกัน แถมเรียกตัวเองว่าเป็นชาวเขาได้หน้าตาเฉยมาก

ในภาษาเหนือมันมีคำที่เรียกชาวเขาในทางลบอยู่คือคำว่า แมง ที่หมายถึงแมลงน่ารำคาญ เวลาคนพื้นราบในภาคเหนือจะพูดไม่ดีเกี่ยวกับชาวเขาก็ใช้คำนี้ ประมาณว่า แมงหมู่นี้มันมายะหยัง แปลว่าพวกแมลงหรือชาวเขาพวกนี้มันมาทำอะไร แต่สุดท้ายแล้วถ้าจะมีการให้เกียรติและลดการเลือกปฏิบัติโดยเปลี่ยนจากคำว่า ชาวเขา เป็น กลุ่มชาติพันธุ์ มันก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี เราก็น่าจะยอมรับคำที่มากับวิธีคิดใหม่

ขยับไปมองเพื่อนบ้าน อย่างลาว ชาติพันธุ์เยอะมาก ถึงขนาดมี ‘กรมชนเผ่า’ การบริหารความหลากหลายใช้แนวทางไหน?

ไม่ถามเกี่ยวกับเมียนมาด้วยเหรอ (หัวเราะ) อันนั้นเห็นชัดว่าเขาคุมไม่ได้เบ็ดเสร็จ กลุ่มชาติพันธุ์มีกองกำลังติดอาวุธและแต่ละกลุ่มก็ยังรู้สึกถึงความไม่เป็นพวกเดียวกันค่อนข้างสูง การพัฒนาพื้นที่ในหลายๆ พื้นที่มันจึงมีข้อจำกัด เช่น จะไปทำโปรเจ็กต์ที่ทวายก็ต้องคุยทั้งกับรัฐบาลกลางและกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูซึ่งคุมเส้นทาง ใครจะไปทำอะไรในเมียนมานี่ต้องพิจารณาประเด็นความเคารพต่อชาติพันธุ์ท้องถิ่นและการกระจายผลประโยชน์ในการพัฒนาให้ดีๆ

ส่วนกรณีลาวที่ถามนั้น เอาเป็นว่าถ้าถามว่าเขาประสบปัญหาแบบเราไหม ก็เจอเหมือนกัน คือประเด็นชาติพันธุ์กับความมั่นคงของรัฐ อย่างไทยเคยมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะพวกที่อยู่บนดอยนั้นอาจจะไปเป็นคอมมิวนิสต์ ในขณะที่ลาวมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์พวก ลาวสูง นั้นเป็นภัยต่อการปฏิวัติเพราะเป็นพวกซีไอเอ ช่วยอเมริการบ เข้าข้างพวกจักรวรรดิ ทำให้ชาวม้งในลาวจะอยู่ยาก แต่เรื่องของไทยในประเด็นนั้นมันจบไปเป็น 20 ปีแล้ว มันคลี่คลายไปเป็นประเด็นอื่นๆ ไปแล้ว เช่น เรื่องการพัฒนา เรื่องสิทธิชาติพันธุ์ การเรียนการสอนทวิภาษาอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ ตามที่เราพูดถึงกันมา แต่ของลาวนั้นการจัดการกับกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะชาวม้งมันยังเป็นปัญหาที่นักสิทธิมนุษยชนยังเฝ้าจับตาดูอยู่จนเร็วๆ นี้ แต่มันก็เหมือนจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ล่าสุดราว 7-8 ปีมาแล้ว ลาวก็ประกาศแขวงใหม่คือแขวงไซสมบูน มีเจ้าแขวงเป็นคนม้ง ซึ่งส่วนหนึ่งของแขวงนั้นก็เคยเป็นเขตปกครองพิเศษไซสมบูนที่ชาวม้งติดอาวุธอาศัยอยู่ ถือเป็นเขตหวงห้ามที่นักท่องเที่ยวเข้าไม่ได้ แต่ตอนนี้พอเป็นแขวงแล้วก็น่ามีการเปลี่ยนแปลง

อีกเรื่องคือลาวเขาตระหนักว่าการเรียกแบบเดิมที่แบ่งคนเป็น 3 กลุ่ม ว่า “ลาวลุ่ม ลาวเทิง ลาวสูง” มันอาจจะเป็นการแบ่งแยกและดูเหมือนมีชนชั้น ทำให้ลาวออกกฎหมายใหม่ว่า ลาวมีกลุ่มชาติพันธุ์แบ่งตามตระกูลภาษา 4 ตระกูล คือ ไต-ลาว มอญ-ขแมร์ จีน-ทิเบต และม้ง-เมี่ยน แล้วคุณเคยเห็นตัวอักษรลาวไหมคะ ที่เขาเขียนแบบตามเสียงอ่าน ทิ้งตัวอักษรที่เอาไว้เขียนคำภาษาบาลี สันสกฤต ไปเกือบหมด เช่น ไทยเขียนว่า “ประเทศ” แต่ลาวเขียน “ปะเทด” มันเป็นวิธีการเขียนที่เขามองว่ามันตอบโจทย์กับประชาชนลาวที่ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์เยอะ มวลชนเข้าถึงง่าย เพราะมันไม่ซับซ้อน เรียนง่ายขึ้น นั่นก็อาจจะเป็นเรื่องที่บอกได้ว่าลาวเขามองเรื่องชาติพันธุ์เกี่ยวพันกับการเมืองและการปฏิวัติตามวิถีการปกครองของเขา แล้วในทางกฎหมายนั้นลาวเขาก็ประกาศว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิที่จะธำรงรักษาวัฒนธรรมของตนเอง และการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์นั้นก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติมันก็มีข้อที่นานาชาติยังจับตามอง ซึ่งเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์

อาจเป็นประเด็นที่นักวิชาการพูดกันบ่อยแล้ว แต่ขอถามอีกว่าท้ายที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องแก้ตรงไหน?

มันมีหลายองค์ประกอบ แต่อันดับแรกเลยคือต้องมีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนนดี น้ำดี ไฟมี การสื่อสารมี ถ้ายังไม่มีเหล่านี้ให้ครบมันก็จะไปสเต็ปต่อไปยาก จะให้การศึกษา การสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน ในเมื่อไม่มีถนน ไม่มีไฟสว่าง ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้เราพูดกันตั้งแต่แผนพัฒน์ฉบับแรก พ.ศ.2504 ตอนนี้กลับยังมีหมู่บ้านที่ไม่มีถนน หมายถึงถนนดีๆ สัญจรสะดวกนะคะ มีหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ถามว่าทำไม เขาก็มีหลายคำตอบ เช่น บางทีมันไม่คุ้มทุนที่จะทำเสาไฟฟ้าขึ้นดอยไป 20 กิโลเมตร เพื่อไปหมู่บ้านนี้ เพราะมีคนน้อย บางหมู่บ้านเขาก็เพิ่งย้ายมา หรือติดขัดข้อกฎหมาย ฯลฯ ดิฉันก็เข้าใจวิธีคิดแบบนี้นะคะ เพราะเงินเราก็มีจำกัด รัฐอาจจะไปทำเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอื่นก่อน แต่มันก็ 60 ปีแล้ว ยังมีหมู่บ้านที่ไม่มีถนน ไม่มีไฟที่มีความเสถียรใช้อยู่ คือโซลาร์เซลล์มันไม่ได้เสถียร มันกำหนดไม่ได้ว่าเราจะได้กำลังไฟเท่ากันในทุกๆ วัน มันแค่ทำให้ “พอมี” เท่านั้น สุดท้ายเราก็ต้องการไฟที่เสถียรอยู่ดี

มันมีบางช่วงที่ดิฉันไปเมืองมะละแหม่งและเมืองใกล้เคียงที่เมียนมาบ่อยๆ มีน้องคนหนึ่งเคยเป็นแรงงานอยู่ไทย พอกลับบ้านที่เมืองกยาจก์แหมะโรใกล้มะละแหม่งน้องก็ไปทำขนมปังไส้มะพร้าวแพคขาย จริงๆ เขามีเงินพอที่จะซื้อเครื่องปั่นแป้ง แต่เนื่องจากว่าบ้านน้องจะมีไฟแค่เพียงตอนหกโมงเย็นถึงสามทุ่ม แถมอุปกรณ์เต้ารับไฟบางครั้งไม่ได้มาตรฐาน สรุปคือต้องใช้เตาอบจากถังก๊าซ ส่วนการปั่นแป้งนั้นก็ต้องใช้มือ เลยทำได้จำกัด ทำเสร็จก็เอาใส่มอเตอร์ไซค์ไปส่ง ถนนก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง กว่าจะไปถึงร้าน ลองคิดดูว่าถ้าไม่มีถนนเลย หรือเป็นถนนลูกรังตลอดทาง แต่ยังดีที่มีระบบโทรคมนาคม ทำให้หาสูตรใหม่ๆ จากอินเตอร์เน็ตได้ ยืดอายุขนมปังได้ ทำให้น้องมีรายได้เลี้ยงตัว แต่ก็โตไม่ได้เพราะสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่เอื้อ ดังนั้นมันก็ยังเหลื่อมล้ำ สุดท้ายก็ต้องดิ้นรนไปทำงานต่างประเทศ นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพว่าถ้าน้ำ ไฟ ถนน การโทรคมนาคม ไม่มีแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมันก็ยังมีพื้นที่แบบนั้นในไทย

ดังนั้น ทั้งหมดทั้งมวลดิฉันจึงมองว่าบางทีมันถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะเปลี่ยนวิธีคิดจากแบบปฏิฐานนิยมที่วัดค่าเป็นตัวเลขได้ ดูจุดคุ้มทุน ดูจำนวนหัวประชากร ไปเป็นการดูสถานการณ์จริง ถ้ายังคิดเรื่องการคุ้มทุนต่อจำนวนประชากรมันก็จะทำให้บางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้สักที นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรจะได้หาทางออกร่วมกัน

อีกเรื่องคือการสำรวจและให้สัญชาติ เด็กคนหนึ่งจะตั้งใจเรียนไปทำไมถ้าเรียนไปแล้วแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ สมัครงานที่ไหนก็ไม่รับเพราะไม่มีบัตร ซึ่งถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานกับสัญชาติ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสเต็ปอื่นๆ จะเกิดขึ้นยากมาก


 

ขนิษฐา คันธะวิชัย

ลูกครึ่ง ‘เมี่ยน’ ทางเลือกจาก ‘ข้างนอก’ กับความฝันของแม่

“ความคิดที่ว่าไม่ควรจะเอาอะไรไปเปลี่ยนแปลงกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ควรเอาทีวี ไฟฟ้า ของบริจาคไปให้ ถ้าแม่ได้ยินเชื่อได้ว่าแม่จะต้องเถียง” คือมุมมองของนักวิชาการอย่าง “ขนิษฐา คันธวิชัย” เมื่อคาดเดาถึงความคิดของมารดาผู้เป็นชาว “เมี่ยน” ซึ่งเกิดและโตแถวๆ ดอยติ้ว จังหวัดน่าน ก่อนพบกับกับบิดาชาวแพร่ บนรถโดยสารเชียงใหม่-น่าน ตกหลุมรักและแต่งงานกัน

“จริงๆ ตอนนี้แม่ดิฉันกลายเป็นชนชั้นกลางกรุงเทพฯ มากๆ เลยนะคะ แต่เรื่องของแม่ก็สะท้อนอะไรได้มากทีเดียว” ขนิษฐาให้ข้อมูล ก่อนเล่าต่อไปว่า ผู้หญิงชาวเมี่ยนสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสือ อยู่บนดอยก็ทำไร่ข้าวและข้าวโพด เมื่อก่อนครอบครัวก็มีปลูกฝิ่นบ้างสำหรับใช้ในครัวเรือน เลี้ยงหมู ไก่ ไว้ใช้ในพิธีกรรม การปักผ้าก็ปักเฉพาะเอาไว้ใส่เองหรือปักตามประเพณีเท่านั้น แต่แม่ก็รู้จักหารายได้ของตัวเอง เพราะมี ‘คนกลุ่มอื่น’ ที่ขึ้นไปติดต่อ

“พ่อค้าม้าต่างเวลาไปค้าขายบนดอยก็จะถามว่ามีใครจะรับเกี่ยวหญ้าให้ม้าของเขาบ้าง แม่ก็รับทำได้เงินครั้งละ 3 บาท ชีวิตก็อยู่แค่นั้น บางทีก็เจอสัตว์ร้าย แล้วก็ต้องระวังไม่ให้ถูกปล้นเพราะบนดอยแถวๆ น่านในช่วง 40-50 ปีที่แล้วมันมีความวุ่นวาย เจ็บไข้ไม่สบายก็ใช้ฝิ่นและสมุนไพรรักษา ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ‘ความฝันของแม่คือการได้ไปอยู่ในเมืองที่ไม่มีสัตว์ร้าย ไม่ลำบาก และจะได้เรียนหนังสือ’ แต่แม่ไม่ได้ฝันถึงอาชีพอะไรเพราะไม่รู้จักเลยไม่รู้ว่าตัวเองจะฝันอะไรได้ แต่การตระหนักว่าตัวเองจะฝันถึงโอกาสอะไรได้บ้างมันมาเป็นสเต็ปๆ สิ่งสำคัญคือการได้ติดต่อกับคนจากสังคมอื่นนั่นแหละ เด็กๆ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าเกี่ยวหญ้าแล้วได้เงิน แต่รู้ก็เพราะพ่อค้าม้าต่างจีนฮ่อไปถามจ้างจนเก็บเงินเป็นของตัวเองได้ พอต้องลงมาอยู่ที่พื้นราบอำเภอท่าวังผา เห็นมีตลาด คนเมืองบอกให้เอาพริกเอาผักมาขาย พริกที่ปลูกกินเองทุกวันๆ เป็นธรรมดาไม่คิดว่าจะขายได้ แต่ก็ลองเอามาวางๆ ดู ปรากฏว่า เอ้า! มีคนซื้อนี่นา จากนั้นก็ต่อยอดไปเรื่อยๆ”

จากนั้นถึงจุดเปลี่ยน เมื่อแม่พายายไปหาหมอที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ แล้วเข้าพักในสถานที่สงเคราะห์ชาวเขา แถววัดสวนดอก ซึ่งรับซื้อสินค้าหัตถกรรมของชาวเขาด้วย จึงรู้ว่าผ้าที่ปักๆ กันอยู่นี้ “มันขายได้นี่นา”

“แม่เลยไปรับผ้าจากคนในหมู่บ้านและศูนย์อพยพ ทั้งของม้งของเมี่ยน เอามาขายให้โครงการหลวงของสมเด็จย่าดอกละ 3 บาท แล้วเขาก็มีเครือข่ายต่อยอดจนเป็นอาชีพสร้างเนื้อสร้างตัว เรื่องนี้มัน ‘เกินฝัน’ ที่เล่ามานี้ไม่ใช่จะอวดแม่ยืดยาว แค่ต้องการให้เห็นว่าความฝันพวกนี้บางทีมันก็ต้องมีคนนอกมาชี้ช่อง หรือได้เห็นตัวอย่างจากคนอื่นๆ ไม่แน่ การที่เด็กๆ ได้ดูทีวีเขาอาจจะเริ่มอยากเขียนการ์ตูนเองบ้าง อาจจะเริ่มอยากเป็นนักแสดง เป็นนักข่าว เป็นอะไรที่เขาเห็นบนทีวี หรืออาจจะอยากเป็นคนมีเงินแบบพิมรี่พายที่เคยเข้าไปแจกรองเท้าและซื้อทีวีให้เขาก็ได้ เด็กๆ เหล่านี้บางคนอาจจะอยู่ในชุมชนแบบวิถีเดิมต่อไป แต่ใครจะรู้ล่ะ บางคนเขาอาจจะก้าวออกมาแล้วไปได้ดีแบบหลุดจากวิถีเดิมไปเลยก็ได้ เราไม่มีทางบอกได้หรอก

“เพราะฉะนั้น การพัฒนาการศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ห่างไกลนั้นบางทีก็อาจจะต้องมีทั้งแบบที่ตอบสนองวิถีชุมชน เรียนทอผ้าเรียนปลูกพืชอะไรไป แต่มันก็ต้องมีทางเลือกจากข้างนอกให้เขาด้วย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image