ฐนพงศ์ ลือขจรชัย ย่อไทม์ไลน์ ‘ปลดแอกชาติ’ ด้วยเรื่องจริงที่เป็นยิ่งกว่านิยาย

ฐนพงศ์ ลือขจรชัย ย่อไทม์ไลน์ ‘ปลดแอกชาติ’ ด้วยเรื่องจริงที่เป็นยิ่งกว่านิยาย

‘ประวัติศาสตร์การเมืองฉบับย่อ ชาติเป็นของใคร? ทำไมจึงต้องปลดแอก’

คือข้อความในบรรทัดบนสุดของปกกระดาษสีแดงฉาน บอกเนื้อหา 282 หน้า ซึ่งอยู่ภายในหนังสือ ‘ปลดแอกชาติ จากศักดินา-(ราชา)ชาตินิยม’

ผลงานลำดับที่ 2 ของ ฐนพงศ์ ลือขจรชัย นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ผู้ซึ่งเคยฝากผลงานไว้ใน ‘เสียดินแดนมลายู: ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot Twist’ การันตีคุณภาพระดับ ‘โอเค นัมเบอร์วัน’ วาทะที่แพร่หลายในม็อบร่วมสมัยในประวัติศาสตร์การเมืองพุทธศักราช 2563 ต่อเนื่องถึงวันนี้

“เริ่มเขียนวันแรกเมื่อ 16 ตุลาคม 2563 วันสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน ใช้เวลาไม่นาน คือเสร็จช่วงปีใหม่พอดี แต่มีข้อมูลในหัว และอยากเขียนมาตลอดอยู่แล้ว วันนั้นทำให้รู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาเขียน”

Advertisement

คือคำให้การของ ฐนพงศ์ ต่อคำถามถึงแรงบันดาลใจในการจรดปลายนิ้วบนแป้นพิมพ์ ก่อนเสร็จสมบูรณ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กที่เข้มข้นด้วยเนื้อหา สวยงามสะดุดตาด้วยภาพ 4 สีทั้งเล่ม สะเทือนอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดด้วยข้อมูลที่เจ้าตัวบอกไว้ในคำนำว่า ‘เรื่องจริง ยิ่งกว่านิยาย’

ตลอด 9 บท ในทุกตัวอักษรบนหน้ากระดาษ ไม่เพียงย่นย่อไทม์ไลน์การเมืองร่วมสมัยที่ไม่ได้ปักหมุดตั้งต้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทว่า ย้อนไปไกลยิ่งกว่านั้น

 ก่อนอื่น คำว่า ‘แอก’ ในชื่อหนังสือ ต้องการสื่อความหมายถึงอะไรบ้าง?
ถ้าอ้างอิงกับตัวของหนังสือ แอก ในที่นี้ เราพยายามจะบอกว่า เมื่อพูดถึงการปลดแอก เราต้องเข้าใจก่อนว่า จริงๆ แล้วแอกที่กดทับเราอยู่ คืออะไรบ้าง ที่ผ่านมา ทุกคนพูดประหนึ่งว่าเรารู้อยู่แล้วว่า แอกคืออะไร สิ่งที่ผมพยายามจะทำให้เห็นในเล่มนี้คือ แอก มีหลายอย่าง ไม่ได้มีอย่างเดียว แต่มีทั้งวิธีคิดของฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา วิธีคิดของทุนนิยม ของสังคมนิยมที่จริงๆ แล้วมันผสมซับซ้อนกันอยู่ เป็นแอกที่ถูกกดลงมา เราต้องค่อยๆ ให้คำจำกัดความว่า แอกแต่ละอย่าง คืออะไร มันไม่ได้มาจากองคาพยพเดียวของสังคม แต่มาจากกลุ่มต่างๆ รอบตัวที่ได้เปรียบอยู่ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว

 นิยาม ความหมาย ความตระหนักรู้ หรืออะไรก็ตาม ของคำว่า ‘ชาติ’ ที่ต่างกันในแต่ละยุคสมัยส่งผลต่อสถานการณ์ทางสังคมการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ อย่างไร?
ส่งผลเยอะ และไม่ใช่เฉพาะช่วงเวลานั้นๆ แต่ส่งผลต่อวัยรุ่น หรือวัยทำงานในช่วงนั้นๆ ด้วย และติดมาถึงปัจจุบัน ถามว่าส่งผลอย่างไร มันคือทัศนคติ โดยพื้นฐาน เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ประเทศไทยมีอุดมการณ์ที่พยายามผลักดันอยู่ตลอดคือ อุดมการณ์ชาตินิยม ความเป็นชาติ รักชาติ ร้องเพลงชาติทุกวัน ตั้งแต่ยุคปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมาก็ทำอย่างนี้ เพียงแต่เนื้อหาข้างในที่มันต่อสู้กันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป

ยุค 14 ตุลา มีความเชื่อว่าเขาต้องโค่นล้มเผด็จการ และเผด็จการที่กำลังคุมอำนาจรัฐอยู่ในวันนั้นไปร่วมมือกับอเมริกาทำลายชาติเรา คนส่วนหนึ่งที่โตมาในบริบทนี้ มาอยู่ในความหมายและความรับรู้อย่างนี้ ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ จะพบว่าตอนเขาเป็นนักศึกษา แล้วตะโกนโจมตีรัฐบาล จริงๆ แล้วเป็นข้อความเดียวกับทุกวันนี้ที่คนรุ่นนั้นยังพูดอยู่ เช่น คุณไปสมคบคิดกับอเมริกา อเมริกาแทรกแซงประเทศไทย มันเป็นวิธีพูดเดียวกับตอนนั้นเลย

แต่สิ่งที่ยากคือ หลังรัฐประหาร 2549 สังคมเริ่มแตกแยกทางความคิดแม้กระทั่งในระดับนักวิชาการเองมาจนถึงปัจจุบัน เลยทำให้ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีการสมาทานชาติคนละอย่างกัน สิ่งที่เกิดในปัจจุบันมันถึงจุดแตกหัก 2 อย่างนี้ มันสมาทานกันไม่ได้

ถ้าไปอ่านในหนังสือ คือ จะมีคนกลุ่มหนึ่งเชียร์ประชาธิปไตย หรือชาติรูปแบบหนึ่ง เวลาเขาพูด จะพูดถึง 14 ตุลา พฤษภา 35 ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่เห็นด้วย ก็จะไปอิงกับเหตุการณ์ 2475 ไปนิยามตัวเองกับ 6 ตุลา และพฤษภา 53 เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว คน 2 กลุ่มนี้ อิงคำนิยามกลุ่มตัวเองกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทั้ง 2 กลุ่มเว้นวรรค คือ เว้นวรรคความหมายชาติเป็นช่วงๆ ในหนังสือประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยรุ่นเก่า จะเขียนธีมประมาณหนึ่ง แต่ความขัดแย้งของ 2 เส้นเรื่องมันเชื่อมกันไม่ได้ สิ่งที่ผมพยายามทำคือการเชื่อม 2 เส้นเรื่องนี้ว่ามันมีขึ้นมีลง และทั้ง 2 กลุ่มก็พยายามเว้นวรรคทั้งคู่

 กลุ่มอนุรักษนิยม ถ้าได้อ่านเล่มนี้จะตาสว่างมาร่วมปลดแอกชาติไหม?
ถ้าถึงขั้นนั้นคงตอบไม่ได้ แต่เขาน่าจะเริ่มถามตัวเองในหลายๆ อย่าง จริงๆ แล้วกลุ่มเป้าหมายที่อยากให้อ่านกลุ่มหนึ่งเลย คือ กลุ่มที่จะเรียกว่าสลิ่มก็ได้ ผมรู้จักสลิ่มที่ในบ้านมีหนังสือ 14 ตุลา เยอะแยะเลย อยากให้เขาเห็นว่าในวันที่เขาเคยเรียกร้อง เขาด่าอะไรผู้ใหญ่ ด่าอะไรรัฐบาลไว้ แล้วโดนรัฐบาลด่าอะไรไว้ แล้วมาดูวันนี้ วันที่เขาเป็นผู้ใหญ่กลับแทบจะใช้คำพูดเดียวกับที่รัฐบาลหรือผู้ใหญ่ในวันนั้นด่าเด็กด้วยสิ่งเดียวกัน แล้วเด็กก็โต้กลับมาด้วยความหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น คุณถูกควบคุม โดนบงการจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น คุณยังไม่เข้าใจประเทศนี้ดีพอ ไม่เข้าใจระบบดีพอ นี่เป็นประโยคที่ยุค 14 ตุลา เถียงกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ผ่านมาถึงวันนี้ คนที่เคยเป็นเด็ก โตมาเป็นผู้ใหญ่ ก็ใช้ประโยคนั้นโจมตีเด็ก

 คือให้ย้อนมาอ่านประวัติศาสตร์ของตัวเอง ถ้าเทียบยุคโซเชียล คือไปขุดโพสต์ในอดีตมาฟาด?
(หัวเราะ) ใช่ ผมต้องการให้เห็นว่าตอนนี้ตำแหน่งคุณสลับกันแล้ว คุณอาจไม่ต้องเห็นด้วยกับเด็ก แต่ต้องเข้าใจเด็กด้วย เพราะตอนคุณเด็ก ก็เคยพูดอย่างนี้ เหมือนกันเป๊ะ ลองมาอ่านประวัติศาสตร์ของตัวเองว่าเคยพูดอะไรไว้ โดนด่าอะไรไว้ แล้ววันนี้มาด่าประโยคเดิมใส่เด็ก เด็กก็เถียงกลับคล้ายๆ ที่คุณเคยใช้เถียงรัฐบาลในวันนั้น แต่ถึงที่สุดแล้วคุณจะออกมาร่วมปลดแอกไหม ไม่คาดหวัง แต่ถ้าได้อย่างนั้นก็ดี (หัวเราะ)

 เดี๋ยวนี้เขาฮิตเซเลบ ถ้าให้สวมบทเป็นไอดอล รีวิวสินค้าตัวเอง จะบรรยายสรรพคุณว่าอย่างไร?
สิ่งที่ผมภูมิใจในหนังสือเล่มนี้ คือ นี่เป็นประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยแบบ 101 เป็นประวัติศาสตร์ช่วงยาวที่เขียนเป็นโมโนแกรม คือเขียนทั้งเล่มด้วยวิธีการนำเสนอรูปแบบเดียวกัน ซึ่งน่าจะเขียนยาวสุดแล้วถ้าไม่นับแบบเรียน ผมอยากให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เราจะเห็นการต่อสู้หลายๆ อย่างในยุคนั้น คำถามที่ผุดขึ้นมาในปี 2563 จริงๆ เป็นคำถามที่เคยผุดขึ้นมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และเคยมีการโต้ตอบกันไปรอบหนึ่งแล้ว และจบลงไป คำถามนี้ถูกทำให้หายไป จนกลับขึ้นมาใหม่ และกลายเป็นเรื่องที่ดูก้าวร้าว ทั้งที่ไม่ใช่คำถามใหม่ แต่เป็นคำถามเก่า

นอกจากนี้ ยังอยากให้เห็นการต่อสู้โดยเฉพาะฝั่งชนชั้นนำว่าในยุคนั้น ชนชั้นนำต่อสู้ได้ชาญฉลาดขนาดไหน ทำไมจึงทำให้จบลงได้ ทำไมสมัย ร.6-ร.7 หรือปฏิวัติ 2490 ก็ตาม สุดท้ายประชาชนกับชนชั้นนำจึงสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียว และมีความสุขกันมาอีกยาวนาน เขาต่อสู้ทางความคิด ทางวัฒนธรรมกันอย่างไร ในขณะที่ยุคนี้สู้กับแบบเอาไม้ตีหัวอย่างเดียว จับเข้าคุก ซึ่งจะไม่สามารถทำคนเห็นด้วยได้หรอก ส่วนปรากฏการณ์ทะลุเพดาน ยุค ร.5-ร.7 เพดานยังไม่มีด้วยซ้ำ

 เพราะฉะนั้น รัฐบาลทหาร ฟากฝั่งปกครอง ยิ่งต้องอ่านเล่มนี้?
ใช่ ควรอ่านมาก ในอดีตทหารคือหนึ่งในตัวตั้งตัวตีของการนำเสนอผลประโยชน์ของประชาชน ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ชนชั้นนำต่างหากที่พยายามสู้กับทหารโดยใช้สิ่งที่แยบยลพอๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น นิยาย ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องราวดีๆ การพยายามหาคำอธิบายมารองรับสถานะ เขาไม่ได้สู้โดยการจับกุมอีกฝ่ายหนึ่ง แต่สู้ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ผ่านนิยาม ผ่านสื่อต่างๆ ผมเชื่อว่าคนอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถ้าอยู่ยุคนี้ ท่านต้องทำพอดแคสต์ออกมาสู้แล้ว ว่าของเขาดีอย่างไร ป่านนี้ท่านอยู่ในคลับเฮาส์ทุกวัน บอกว่าวัฒนธรรมไทยดีอย่างไร (หัวเราะ) ไม่ใช่เอาแต่จับเด็กเข้าคุก

 คะแนนความแซ่บ ซึ่งมีสิ่งที่พูดไม่ได้ตรงนี้ ต้องไปอ่านเอง ความร้อนแรงเทียบเท่าพริกกี่เม็ด?
ถ้าเต็ม 10 อย่างน้อยต้อง 8-9 เม็ด เพราะเล่มนี้มีจุดเจตนาแฝงอีกอย่างหนึ่ง คือการทำบัญชีหนังหมา ว่าใครเคยพูดอะไรไว้ตอนไหนบ้าง และพยายามเอาคำเฉลยของเหตุการณ์ที่ยังเป็นปริศนาในตอนนั้น เช่น การตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตอนหลังคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาเปิดเผยเอง ผมก็เอาสิ่งที่เขาพูดกลับเข้าไปใส่ในบริบท

 ถ้าเทียบกับเล่มที่แล้ว คือ ‘เสียดินแดนมลายู: ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot Twist’ เหมือน ต่าง หรือมีจุดร่วมกันอย่างไร?
มันดีคนละแบบ แต่ว่าเป็นงานคนละสเกล เล่มเสียดินแดนมลายู เป็นงานศึกษาประเด็นที่เล็กมาก คือการตกลงสนธิสัญญาฉบับหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งสะท้อนเรื่องใหญ่ คือเขตแดน ดินแดน และชาติ แต่เล่มปลดแอกชาติ เป็นการเกาะติดประเด็นเรื่องชาติ โดยพระเอกของเราไม่ใช่เขตแดน แต่เป็นชาติที่ไหลไปตามเวลา วิธีเขียนของเล่มนี้ ไม่ได้ลงลึกในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่จะเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมด

ผมอยากให้คนที่เพิ่งเริ่มอ่านประวัติศาสตร์การเมือง ต่อให้อ่านเล่มหลักแล้ว อยากให้อ่านเล่มนี้ เพื่อดูภาพรวม หนังสือบางเล่มที่ดังมาก เล่าถึงประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง 20-30 ปี แต่เล่มนี้ ผมถอยออกมาดู 100 ปี ว่าเหตุการณ์ 30 ปีนั้น เมื่ออยู่ในบริบท 100 ปี มันอยู่จุดไหนด้วย

 ก่อนหน้านี้ มีคนอยากเลือกตั้ง มาจนถึงคนอยากปลดแอก แต่ต้องยอมรับว่ามีคนไม่อยากเลือกตั้ง และคนอยากอยู่ในแอก แอกนี้ดีอย่างไร ทำไมยังพอใจในแอก?
เพราะเขาไม่รู้ว่าถ้าปลดแอกออกมาแล้ว จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร สมมุติว่าทุกวันนี้เขามีชีวิตอยู่ด้วยการโดนแอกกดทับ แต่เขารู้แล้วว่าจะดำรงชีวิตในแอกอย่างไร เขารู้ว่าน้ำหนักที่ห้อยแขนห้อยขาตัวเองมีเท่าไหร่ จะอยู่ด้วยอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าถ้าปลดแอกออกมา จะกลายเป็นอย่างไรต่อ เขากลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่รู้ว่าถ้าปลดแอกปุ๊บ สังคมไทยจะเป็นอย่างไร เจ้าทุยตัวนั้นที่โดนแอกกดทับแล้วสงบ จะวิ่งเตลิดเปิดเปิงหรือเปล่า

 เพราะฉะนั้น คำสำคัญคือ ‘ความเปลี่ยนแปลง’?
ใช่ครับ และไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่เป็นทั้งโลก อย่างคนยุคเบบี้บูมเมอร์ ที่เป็นคนสูงอายุ วิถีชีวิตของเขาคือ ลูก การมีลูกคือมีไปก่อน เพื่อให้ลูกมาช่วยงาน เป็นเหมือนแรงงาน แต่ยุคผม ซึ่งตอนนี้อายุ 30 ปี สิ่งที่ตัวเองและเพื่อนนั่งคิด คือ จะเลี้ยงลูกอย่างไร ต้องใช้เงินเท่าไหร่ วิธีคิดมันตรงกันข้าม

 ในบทบาทนักวิชาการ เขียนหนังสือเผยแพร่ความรู้ ในบทบาทประชาชน ไปร่วมปลดแอกชาติกับม็อบเยาวชนด้วยไหม?
ไปครับ ครั้งแรกที่ไปคือสนามหลวง ม็อบ 19 กันยา คืนอำนาจให้ราษฎร เป็นม็อบใหญ่ และพอกระจายมาที่วงเวียนใหญ่ก็ไป หลังจากนั้นยังติดตามการชุมนุมตลอด แต่เน้นสังเกตการณ์เป็นหลัก เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีคือการเขียนหนังสือ เพื่อพยายามสร้างความเข้าใจในสังคมนี้

 แล้วในฐานะพ่อที่จบนิติศาสตร์ จากรั้วเสรีภาพทุกตารางนิ้ว และเป็นนักประวัติศาสตร์ในวันนี้ หวังให้ลูกโตมาในชาติแบบไหน?
แน่นอนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ก็อยากให้ทุกคนเติบโตมาในจุดที่เวลาเราพูดถึงความมั่นคงของชาติ หมายถึงความมั่นคงของประชาชน การกินดี อยู่ดี อยู่ในประเทศที่ผู้คนมีความมั่นคงในนิติฐานะ เราควรรู้ว่ากฎหมายเป็นอย่างนี้ ถ้าเรากระทำการไป จะรู้ว่าผิด หรือถูก เช่น กรณีที่เกิดขึ้น ระหว่างที่ยังไม่มีการตัดสินว่าผิดหรือถูก สิทธิขั้นพื้นฐานคือ สิทธิการประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อออกมาสู้คดี

พื้นฐานนี้ต้องอิงอุดมการณ์หลักว่า อธิปไตย เป็นของประชาชน ชาติ เป็นของประชาชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image