จากภาพถ่ายถึงหนังสือ การเดินทางของ พิชัย แก้ววิชิต แรกพบ ‘สถานีกลางบางซื่อ’

จากภาพถ่ายถึงหนังสือ การเดินทางของ พิชัย แก้ววิชิต แรกพบ ‘สถานีกลางบางซื่อ’

“การเดินทางจากความรู้สึกนึกคิด สำคัญมาก

ถ้าเราขยับความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง โลกที่อยู่ภายนอกจะขยับตาม

แต่ถ้าเราไม่ขยับความคิด หรือความรู้สึก แม้จะเดินทางไปไกลแสนไกลแค่ไหน

ภาพที่ได้ก็ไม่ต่างจากเดิม”

Advertisement

คือมุมมองของ พิชัย แก้ววิชิต อดีตวินมอเตอร์ไซค์ผู้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ช่างภาพ’ ที่มีต่อความสัมพันธ์ของการเดินทางและภาพถ่าย

ตึกรามบ้านช่องธรรมดากลับกลายเป็นความแปลกตาด้วยการวางองค์ประกอบภาพเรียบง่าย แต่มีเอกลักษณ์ หลังการกดชัตเตอร์ของช่างภาพซึ่งมีผู้ติดตามผ่านอินสตาแกรมถึงกว่า 84,000 บัญชี ส่วนหนึ่งในนั้นคือช่างภาพต่างชาติที่ชักชวนร่วมงานระดับอินเตอร์

เส้นทางชีวิต อีกทั้งผลงานของพิชัย นับเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ช่างภาพมือใหม่ลุกขึ้นมาหยิบกล้องออกไปบันทึกเรื่องราวรอบตัว

มินิมอลิสต์ สตรีท โฟโต้ คือ นิยามภาพถ่ายในสไตล์ของศิลปินท่านนี้ที่เน้นย้ำความสำคัญของการถ่ายทอดความรู้สึกและความเป็นมนุษย์

ล่าสุด รับบทบาทเป็นคอลัมนิสต์ใน ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ในคอลัมน์ ‘เอกภาพ’ ตามชื่อเล่น ‘เอก’ และ ‘ภาพ’ สื่อความตรงตัวหมายถึงรูปถ่าย ซึ่งพิชัยเป็นคนคิดชื่อเอง

“คิดอยู่ตั้งหลายวัน จนมาพิจารณาว่าเราเป็นใคร เราทำอะไร เราชื่อเอก เอกถ่ายภาพ คำว่าเอกภาพ เลยผุดขึ้นมา ซึ่งความหมายก็ดี คือเอาหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างมารวมกันให้เป็นหนึ่งเดียว สัปดาห์ละภาพเป็นภาพเดียว โดยมีเรื่องราวที่ประกอบกันด้วย” พิชัยเล่า

ไม่เพียงเท่านั้น ยังรับหน้าที่ศิลปินรับเชิญ ครีเอทศิลปะภาพถ่ายให้บูธ A16 ของ “สำนักพิมพ์มติชน” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด ‘Book Journey’ ณ สถานีกลางบางซื่อ ระหว่างเสาร์ที่ 26 มีนาคม-พุธที่ 6 เมษายน 2565 นี้

.

“ดีใจที่สำนักพิมพ์มติชนให้เกียรติ ให้โอกาสเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์หนังสือฯครั้งนี้” พิชัยเปิดใจถึงความรู้สึก ก่อนเล่าถึงการเดินทางก้าวแรกสู่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อบันทึกภาพจากความรู้สึก ‘แรกพบ’ โดยจงใจ ‘ไม่วางแผน’

“ไม่ได้วางแผนเลย เพราะทุกสถานที่ต่างก็มีคาแร็กเตอร์ของตัวเอง มันเป็นเรื่องของการแรกพบ ผมเข้าไปถ่ายภาพทั้งในอาคาร นอกอาคาร และชุมชนรอบๆ ซึ่งเพิ่งได้เห็นชัดเจนตอนมาทำงานครั้งนี้ร่วมกับมติชน”

ถามถึงเสน่ห์ของสถานีกลางบางซื่อ ศิลปินท่านนี้ฉายภาพ 2 คาแร็กเตอร์ที่ซ้อนทับ ทั้งตัวสถานีแห่งใหม่อันใหญ่โต โอ่อ่าทันสมัย และสถานีรถไฟบางซื่อเดิมที่เดินทางผ่านกาลเวลามาถึงวันนี้ โดยใช้เวลาถ่ายภาพราว 2 สัปดาห์ เนื่องด้วยท้องฟ้าไม่เป็นใจ

“ช่วงนั้นฝนตกแทบทั้งสัปดาห์ รู้สึกว่าภาพที่ได้ยังไม่เป็นที่พอใจ เลยต้องไปๆ มาๆ อีกหลายรอบ เราอยากได้ภาพที่มีความสดใส พอท้องฟ้าสวยแล้วก็ออกไปถ่ายใหม่ จนได้ภาพตามที่ต้องการ” พิชัยเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานศิลปะที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญของบูธมติชนในปีนี้

ก่อนงานสัปดาห์หนังสือฯจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า มาสนทนาถึงการเดินทางที่กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 47 ของชีวิตอันเข้มข้นไม่ต่างจากหนังสือเล่มหนาที่ชวนให้เปิดอ่าน

สถานีกลางบางซื่อ ผลงานภาพถ่ายโดย พิชัย แก้ววิชิต

●ดูเหมือนช่วงนี้มีหลายบทบาท ทั้งช่างภาพ ศิลปิน นักเขียน ฯลฯ กิจวัตรในแต่ละวันทำอะไรบ้าง?
ตอนนี้ถ่ายภาพเป็นหลัก ไม่ได้วิ่งรถมาสักพักแล้ว หยุดขับวินไปเลยเกือบ 2 ปีแล้ว หลังจากไปออกรายการโทรทัศน์ ช่วงแรกๆ มีสื่อมาสัมภาษณ์เยอะมาก บางทีก็นัดกอง เขารอเราคนเดียว ถ้าไปวิ่งรถแล้วแขนหักมันจะสะดุดหมด หลังๆ มีคนมาดีลงานตลอด มีงานเข้ามาเป็นระยะๆ เลยต้องเอาเวลาไปถ่ายรูป ต้องมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น ต้องใช้เวลาว่างให้กับตัวเอง ต้องทบทวนเนื้องานด้วย

●ล่าสุดเป็นคอลัมนิสต์ในคอลัมน์เอกภาพ มติชนสุดสัปดาห์ มองศิลปะการถ่ายภาพกับการเขียนว่าเหมือน-ต่าง หรือมีจุดร่วมกันอย่างไร?
การถ่ายภาพและการเขียนไม่เหมือนกันเลย เวลาทำงานเกี่ยวกับศิลปะจะเตือนตัวเองให้คิดน้อยที่สุด ใช้ความความรู้สึกให้มากที่สุด โฟกัสไปมุมมองที่เราเห็น แล้วกดชัตเตอร์ แต่พอในคอลัมน์เอกภาพ มันมีการใช้ภาษา มันไม่สามารถเขียน 2 บรรทัดแล้วจบ แต่ต้องเล่าให้มากกว่านั้น แต่งานเขียน บางทีคิดว่าอิ่มกับ 2 บรรทัดนี้แล้ว แต่มันยังเหลือพื้นที่อีก แล้วฉันจะขยายความมันอย่างไรดี (หัวเราะ) นี่คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้

เราอาจคิดว่าตัวเองสร้างงานแต่จริงๆ ไม่ใช่หรอก บางทีงานอาจจะสร้างเราก็ได้ เคยคิดว่าถ้าตัวเองเป็นนักเขียน จะเขียนอะไร หลาย 10 ปีมาก็ไม่เคยจับปากกามานั่งเขียนเลย จนทางสำนักพิมพ์มติชนให้โอกาสและให้พื้นที่มาได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ มันเป็นการวัดใจกัน คนให้โอกาสก็ใจถึงเหมือนกันนะ (หัวเราะ) กับคนที่ไม่เคยเขียนหนังสือ และผมก็ไม่ใช่คนอ่านเยอะ แต่อ่านหลายแนวมาก อ่านกระทั่งหนังสือธรรมะ จนถึงวิทยาศาสตร์ซึ่งสุดท้ายตรรกะก็มาจบที่เรื่องเดียวกัน อ่านทั้งหนังสือแนวสมัยใหม่จนถึงโบราณคดี หรือบางทีก็ไปอ่านพวกแฟชั่น อยากรู้ว่าไปถึงไหนแล้ว (ยิ้ม)

มุมหนึ่งของสถานีกลางบางซื่อ ภาพถ่ายโดย พิชัย แก้ววิชิต

●ขอย้อนถามถึงการก้าวข้ามจากวินจักรยานยนต์ถึงการเป็นช่างภาพเต็มตัว ตรงไหนคือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในมุมมองของตัวเอง?
ความสำเร็จจริงๆ คือวันที่ได้ออกไปถ่ายรูปวันแรก วันนั้นคือเป็นวันที่ประสบความสำเร็จที่สุด ส่วนที่ตามมาไม่ว่าจะทำงานร่วมกับใครก็ตาม วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เป็นการเรียนรู้มากกว่า เพราะวันที่สำเร็จที่สุดคือวันที่เราเจอตัวเองว่ารักศิลปะ และได้ออกไปถ่ายรูปในแบบที่เป็นเรา ในแบบที่ฉันเป็นฉันจริงๆ ในแบบที่ฉันไม่ใช่วินมอเตอร์ไซค์ แต่ว่าฉันเป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกว่าฉันมีตัวตนจริงๆ อยู่นะ นี่แหละคือรางวัลที่ดีที่สุดมากๆ เพราะว่าเอาจริงๆ ตอนเป็นวินมอเตอร์ไซค์เราต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว แต่เราก็ไม่ได้ไปจองจำตัวเองกับอาชีพนั้นๆ ว่าฉันเป็นคนกวาดถนน ฉันทำงานก่อสร้าง ฉันเป็นแม่บ้าน ฉันทำอะไรไม่ได้หรอก ฉันคิดอะไรเกี่ยวกับศิลปะไม่ได้หรอก แต่เอาจริงๆ ศิลปะมันมาจากความเป็นคน เพราะฉะนั้นถ้าเราทำอาชีพทำอะไรก็ตาม และเรามีความเป็นคน มันมีความเสมอภาคอยู่ในนั้น แต่สิ่งที่กดตัวเองได้แย่ที่สุดคือสิ่งที่เราได้กดตัวเองว่าฉันทำไม่ได้ ฉันไม่ได้เรียนมา ฉันโง่ ฉันไม่มีพรสวรรค์ ผมว่าอันนี้เป็นการกดขี่ตัวเองแบบอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ตัวตนที่อยู่ในจิตวิญญาณของเราต้องถูกปลดปล่อยออกมา อย่าไปกดหรือไปเหยียบมันไปย่ำมันไว้อยู่กับที่อย่างนั้น

●ภาพแรกที่เปลี่ยนชีวิตคือภาพอะไร?
ภาพแรกไปถ่ายวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นภาพแรกที่ตัดสินใจว่าฉันจะกระโดดเข้าไปโลกออนไลน์ ก่อนหน้านั้นเป็นคนบ้านๆ ไม่เล่นเฟซบุ๊ก เป็นคนที่กลางเก่ากลางใหม่ จะโบราณก็ไม่ใช่ จะสมัยใหม่ก็ไม่เชิง เป็นเด็กวัยรุ่นที่ชอบคุยกับคนแก่ เพราะคนแก่มีเรื่องเล่า และมีหลายแนว แนวนักเลงก็มี แนวนักรักก็มี พอเล่าเรื่องอดีต เราก็จะเห็นภาพตามนั้น และคนพวกนี้ไม่ใช่นักเขียน มันหาอ่านไม่ได้ นอกจากการไปนั่งคุยกับเขา

เคยถามตัวเองว่าทำไมถึงไม่ค่อยเล่นเฟซบุ๊ก ก็เพราะเป็นคนเซนซิทีฟ การจะหยิบจับอะไรสักเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องมด พอมีคนพูดเรื่องมด ผมจะไม่พูดเรื่องมด เพราะรู้สึกว่ามีคนพูดไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเสพเยอะๆ ก็จะทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าสันโดษ ทำสิ่งที่เราไม่เคยรู้ มันจะได้กลิ่นอายอีกแบบหนึ่ง เหมือนที่เราถ่ายรูป ผมไม่ถ่ายจากการไปดูภาพพวกนี้มาก่อน แต่มันมาจากการใช้ชีวิต

●ทำไมชอบสไตล์มินิมอล เป็นความตั้งใจหรือเป็นลายเซ็นที่เกิดขึ้นเอง?
จริงๆ เริ่มจากการที่การที่ไม่ได้มีโอกาสไปเที่ยว เพราะชีวิตส่วนใหญ่มันต้องหาเงิน แล้วใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ทีนี้พออยากจะถ่ายรูปเหมือนมีปัญหาในตัวเอง ไม่รู้จะไปถ่ายอะไร กรุงเทพฯมันก็มีแต่ตึก เสาไฟฟ้า มีรถติดเหมือนที่เราเห็นๆ กันอยู่ แต่มีคนพูดว่าการถ่ายภาพมันเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง แล้วศิลปะมาจากอะไร เขาบอกว่าเหมือนถามตัวเองแล้วก็ตอบตัวเอง ศิลปะมันก็มาจากเส้น รูปร่างรูปทรง แสงเงา สีสัน ซึ่งถ้าเราสังเกตดีๆ องค์ประกอบเหล่านี้ก็อยู่รอบๆ เราเองอยู่แล้ว แต่เราอาจจะมองเป็นตึก มองเป็นประตู มองเป็นหน้าต่าง มองอะไรไปแต่เราไม่ได้มองให้มันเป็นศิลปะ ถ้าเกิดเรามองสิ่งที่อยู่รอบตัวเราให้มันเป็นองค์ประกอบศิลปะ เราจัดคอมโพสในแบบที่เรารู้สึกมันจะเป็นอย่างไร นี่คือที่มาที่ไป คือมาจากภาพของชีวิต เป็นภาพที่คนคนหนึ่ง
มันไปไหนไม่ได้ สุดท้ายมันต้องอยู่กับสิ่งที่มี แล้วก็ใช้สิ่งที่มันเป็นอยู่ ก็เลยได้ภาพออกมาเป็นในลักษณะแบบนี้ ซึ่งไม่ได้คิดว่าการถ่ายมินิมอลต้องมีสเต็ป 1 2 3 ไม่ใช่เลย มันมาจากความรู้สึก มันมาจากชีวิตที่มีอยู่

พิชัย แก้ววิชิต บันทึกภาพสถานีกลางบางซื่อในมุมมองเฉพาะตัว

●เคยศึกษาทฤษฎีถ่ายภาพมาก่อนหรือเปล่า คน ‘หาเช้ากินค่ำ’ ในสังคมไทยรู้สึก ‘ไม่ใกล้’ ศิลปะ?
จริงๆ เคยอ่านพวกทฤษฎีถ่ายภาพตอนเป็นวัยรุ่นนู่นเลย พอมองย้อนหลังคือไม่ได้เรื่องเลย โคตรกรอบเลย มันเหมือนพันธนาการทางความคิดมาก มีทั้งโซ่ตรวน มีทั้งกรงขังอยู่ในนั้นหมด ต้องเคารพเขาเลยว่าเจ๋งจริงๆดีนะกูไม่อ่านเยอะ ตรงนี้คนตกหลุมไปเยอะมาก

ผมเคยคิดว่าตัวเองไม่ได้เรียนมา ไม่ได้มีพรสวรรค์ เพราะฉะนั้นไม่มีโอกาสสะเออะมาพูดคุยเรื่องศิลปะได้เลย เพราะว่าก็ขับวินไปสิ ก็หาเช้ากินค่ำไปสิ แค่นี้ก็พอแล้วจะไปคิดอะไรศิลปะศิลเปอะ ไร้สาระ แค่ค่าเช่าบ้าน ค่าเลี้ยงดูลูก เป็นหนี้เป็นสิน เอาไปคุยที่อื่นเถอะเรื่องศิลปะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นจริงๆ คนหาเช้ากินค่ำก็จะไม่สนใจเรื่องศิลปะ ทั้งที่ศิลปะเป็นเรื่องของการเยียวยาชีวิต มันเป็นเรื่องเล่าของชีวิต มันไม่ได้เป็นเรื่องเล่าของวรรณะหนึ่งหรือชนชั้นหนึ่งเท่านั้น มันเป็นเรื่องของคน ถ้าคนยิ่งเข้าถึงศิลปะมากเท่าไหร่ ผมคิดว่าความเป็นคนก็จะเพิ่มมากขึ้น การด้อยค่าตัวเองจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราเข้าใจศิลปะ สังคมจะน่าอยู่มากขึ้น มันจะมีรสนิยมมากขึ้น จะไม่แข็งกระด้าง เราพยายามที่จะทำลายกรอบพวกนี้ ให้เห็นว่าคนคนหนึ่งมันทำอะไรได้มากกว่าการเป็นอาชีพที่เขาเป็นอยู่

ถึงเวลาแล้วที่จะให้คนทุกชนชั้นได้เล่าความทุกข์ระทม ไม่ต้องแฮปปี้ก็ได้ เล่าความขมขื่นของชีวิตผ่านศิลปะ จะเป็นงานเขียนก็ได้ งานอะไรก็ได้ที่สื่อถึงการเล่าอารมณ์ เล่าชีวิตที่เขาเจอ ณ ตอนนี้ว่ามันเป็นอย่างไร อาจเป็นยุคที่เราเห็นศิลปินมากหน้าหลายตามากขึ้น มาจากทุกชนชั้น ศิลปะไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่มันคือชีวิต

ภาพถ่ายอันเป็นเอกลักษณ์ของ พิชัย แก้ววิชิต

●ถ้าอย่างนั้น ‘มินิมอล’ ในนิยามของตัวเองคืออะไร?
คือมุมมองที่เรียบง่าย อย่างเราเดินผ่านต้นไม้สักต้นหนึ่งต้นเดียว แล้วเรารู้สึกอยากถ่ายภาพต้นไม้ต้นนี้เก็บไว้ มันก็คือมินิมอลแล้ว คำว่ามินิมอลมันจะอยู่ในรูปทรงเรขาคณิตก็ได้ หรือรูปทรงแบบอิสระแบบธรรมชาติก็ได้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะจัดวางมันอย่างไร เหมือนเราสเกตช์รูปคน หรือเราสเกตช์ต้นไม้สักต้น สุดท้ายจุดเริ่มมันก็มาจากเรขาคณิต เพราะฉะนั้นถ้าเรามองต้นไม้ให้เป็นเรขาคณิต มันไม่ได้ต่างกันเลย แต่ภาพที่ออกมาบางคนอาจจะยังติดความเป็นต้นไม้อยู่

ถ้าเป็นทะเลเราอาจจะได้เส้นแนวนอนของขอบฟ้า กับขอบของทะเลที่เป็นเส้นแนวนอนเหมือนกัน มันก็จะมีความมินิมอลอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในธรรมชาติหรืออยู่ในเมือง หรืออะไรก็ตาม หรือเราจะถ่ายภาพคน ท้ายสุดแล้วโครงสร้างของคนก็ยังคงความเป็นเส้นเรขาคณิตอยู่ดี อยู่ที่ว่าช่างภาพจะจัดองค์ประกอบอย่างไร

●นอกจาก ‘โฟกัสที่ความรู้สึก’ แล้ว หลักการอื่นๆ ของการถ่ายภาพของตัวเองคืออะไร?
ถ้ามองว่าตัวเองเป็นช่างภาพ มันถ่ายไม่สนุก แต่ถ้าเราคิดว่าเราเป็น ‘เอก’ เป็นตัวผมเอง อันนี้ถ่ายสนุก คือมันมีอิสระอยู่ในนั้น เอาจริงๆ การตั้งเป้าเป็นมืออาชีพไม่เคยอยู่ในความรู้สึก ไม่เคยอยู่ในความคิดเลย เพราะคิดว่าเราถ่ายอย่างไรก็ได้ให้มีความสุข แล้วซื่อสัตย์กับมุมมองของตัวเอง บางทีก็เตือนตัวเองตลอดว่าเราไม่ใช่ช่างภาพ แต่เราเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งมีความสุขกับมุมมองแบบนี้ และก็เล่าในสิ่งที่เราเห็นอย่างตรงไปตรงมา และก็พยายามรักษามาตรฐานนี้ไว้ ถ้าพัฒนาคงพัฒนาเรื่องแบบจะไปเที่ยวที่ไหนดี หรืออะไรมากกว่าที่จะทะนงตนคิดว่า ตัวเองเป็นช่างภาพอันนี้ไม่ใช่ จะสำรวจตัวเองตลอดเวลา จะนึกถึงวันแรกที่ออกไปถ่ายรูปทุกวัน

●สุดท้าย ทำไมต้องไปงานสัปดาห์หนังสือที่สถานีกลางบางซื่อ?
งานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้เหมือนเป็นศูนย์รวมของรถไฟหลายขบวน เป็นหนังสือที่เราเดินทางได้แบบหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมุ่งหน้าไปที่ไหนผ่านหนังสือที่เราอยากอ่าน ผ่านเรื่องราวที่เราอยากรู้ ถ้าการเดินทางคือการเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งคิดว่าการเดินทางจากความรู้สึกนึกคิดสำคัญมาก ถ้าเราขยับความรู้สึกนึกคิดของเรา ภาพที่อยู่ภายนอก โลกที่อยู่ภายนอก มันก็จะขยับตามเรา แต่ถ้าเราไม่ขยับความคิดหรือความรู้สึก เรายังใช้ความคิดความรู้สึกเดิมๆ อยู่ ภาพมันก็ไม่ได้ต่างจากเดิม แม้เราจะเดินทางไปไกลแสนไกลแค่ไหน มันก็จะเป็นภาพแบบเดิมๆ แต่การที่เราขยับภาพจากความคิดความรู้สึกให้มันมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา มีการเดินทางตลอดเวลา ภาพที่เรามองโลกก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยู่ที่ว่าเราอ่านหนังสือเล่มไหน เราเรียนรู้อะไรกับมัน

หนังสือแต่ละเล่มก็จะมีจุดหมายปลายทางต่างกันออกไป อยากให้ทุกคนมาสัมผัสกับขบวนหนังสือที่มากมายในปีนี้ ว่าเราอยากเดินทางไปไหน ปีนี้เราจะเดินทางผ่านหนังสือแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image