ย่างก้าวใหม่ของ ‘หนังสือเดินทาง’ คำในใจ ‘อำนาจ รัตนมณี’ ถึงวันต้องมูฟ (ออน) โคจรหลบการพัฒนา

“อยู่บนถนนพระสุเมรุจนถึงสิ้นปี”

เป็นข้อความสั้นๆ ที่สั่นคลอนหนอนนักอ่านอยู่ไม่น้อย เมื่อร้าน “หนังสือเดินทาง” (Passport Bookshop) ย่านพระนคร จำต้องย้ายอีกครั้งหลังมูฟจากถนนพระอาทิตย์มาตั้งหลักที่ใหม่ได้เพียงไม่กี่ปี

เพราะการมาถึงของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ จึงต้องเผชิญโจทย์ใหญ่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเดินหน้าลุยรื้อ สร้างทางขึ้น-ลงที่ 1 ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-สำราญราษฎร์ หวังเกาะรัตนโกสินทร์มีขนส่งสาธารณะช่วยอำนวยสะดวก

“ร้านหนังสือเดินทาง” เป็นหนึ่งในอาคารสถานของภาคเอกชน ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่กำลังจะถูกทุบทิ้ง 7 คูหา จาก 14 คูหา แม้อยู่ในรายการที่กรมศิลปากร จ่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามกฎหมาย

Advertisement

และมีทำเลที่ลัดเลาะไปถึงซอยข้าวสาร มีตรอกตัดผ่านถนนเลียบคลองบางลำพู จุดที่ผู้ว่าฯกทม. คนใหม่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เล็งทำเส้นทางท่องเที่ยวย่านอัตลักษณ์

ไกด์บุ๊ก สารคดี เรื่องสั้น วรรณกรรม สังคม ปรัชญา คือรายการที่จัดวางให้หยิบอ่าน

กลิ่นกาแฟ-ชาสารพัดรส ขนมหวานโฮมเมด มีให้ทานคู่

Advertisement

ก้าวขาขึ้นชั้นบนคือ ‘โซนเงียบ’ ที่ชวนพักตามาจดจ่ออยู่กับตัวอักษร ภาพเขียน รูปถ่าย และโปสการ์ดจากหลากหลายมุมโลก

“ถ้าไม่รีบไปไหน นั่งก่อนได้นะคะ/ครับ” คือเสียงที่ได้ยินทันทีที่ก้าวขาเข้าร้าน

“ไม่ใช่เฉพาะร้านหนังสือเดินทางที่กำลังเจอปัญหานี้ พี่ร้านซาลาเปาข้างบ้านก็พยายามอยู่ ทุกคนเจอโจทย์หมด

คุณคิดว่าการเวนคืนที่ ‘ดี’ ได้ค่าชดเชย แต่ในข้อเท็จจริง เราคือคนที่ไปเช่าจากแลนด์ลอร์ดมาอีกทีหนึ่ง ค่าชดเชยเลยไม่เท่า

“คนต้องเปลี่ยนชีวิตหมด เปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนที่อยู่อาศัย เปลี่ยนอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งมันไม่ง่าย ถ้าคุณหาโลเกชั่นไม่ได้ โอกาสการทำงานของคุณก็หายไป แล้วถ้าได้ที่ใหม่ แต่ไม่สามารถสร้างรายได้เท่าเดิมล่ะ?”

คือปากคำของ ‘หนุ่ม’ อำนาจ รัตนมณี ชายไทยวัยเลขสี่ ชาววงเวียนใหญ่ ที่มีร้านหนังสือเป็นของตัวเองตั้งแต่อายุ 26 ก่อนตั้งสำนักพิมพ์ชื่อเดียวกันนี้

เขาคือช่างภาพบางจังหวะ นักเขียนในบางเวลา แต่นักอ่านเป็นงานหลัก ทั้งมวลล้วนมีจุดริ่มต้นจาก “การเดินทาง” นำพาหนุ่มและโย คู่รักที่ทำงานประจำในองค์กรระหว่างประเทศได้ 4 ปี ลี้มาทำสิ่งที่ฝัน

จาก 4 เดือนแรกที่เข้าเนื้อ จนวันนี้ประคองร้านให้เดินต่อได้ถึงขวบปีที่ 20 พลิกผันให้ “หนุ่ม” คนชอบอยู่กับตัวเอง กลายเป็นผู้สร้างบทสนทนาให้อบอวลในห้องคูหา ห้องเล็กๆ

ร้านหนังสือเดินทาง เดินหน้าฝ่าฝันมาได้อย่างไร แล้วจากนี้จะก้าวไปไหน?

 

 

 

 

 

 

 

 

•สถานการณ์ร้านตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ถือว่าทรงตัวได้ดีไหม จากที่มีโควิดและพิเศรษฐกิจ?

การที่ร้านหนังสือเดินทางอยู่มาถึง 20 ปี ยืนยันแล้วว่าร้านหนังสืออิสระแบบนี้อยู่ได้ ในแง่หนึ่งก็ต้องขอบคุณนักอ่าน 20 ปีที่ผ่านมามีสายใยบางอย่างที่ยังไป-มาหาสู่กัน แม้ในปัจจุบันจะมีช่องทางในการเสพสื่อมากมาย แต่ก็ยังอ่านหนังสือเล่มอยู่

มีประโยคหนึ่งอุ่นใจ “การมีอยู่ของร้านนี้ดีอย่างหนึ่ง เวลามาย่านนี้ทำให้รู้ว่าจะได้เจอกับอะไร” มันเป็นมากกว่าการซื้อ-ขาย มากกว่าการช้อปออนไลน์ที่ได้ความสะดวก แต่คือสายใยที่ทำให้ร้านหนังสือเดินทางกับนักอ่านจำนวนหนึ่ง ยังมีมิตรไมตรีให้กันและกันอยู่

•ทำไมถึงรับหนังสือของเครือมติชนมาขายในร้าน?

คอนเซ็ปต์ของเราคือ หนังสือเดินทาง นอกจากหนังสือที่กระตุ้นให้คุณอยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง อยากออกไปดูโลกกว้าง เรามีอีกหมวดหนึ่งที่ให้ข้อมูล ไปยังไง ไปดูอะไร ไปทางไหน พอกลับมา ศิลปะที่คุณไปเห็นคืออะไร? ทำไมเขามีพิธีกรรมแบบนี้ มีหนังสืออีกหมวดที่ให้ข้อมูลในเชิงลึก ซึ่งสำนักพิมพ์เครือมติชนเป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่ตอบโจทย์เราในมิตินี้ ถ้าหนังสือของศิลปวัฒนธรรม คือใช่เลย พอเรานิยามคอนเซ็ปต์แบบนี้มันจะขายได้เรื่อยๆ วันใดที่คนต้องการ คนจะกลับมา บางทีมติชนนำกลับไปขายในโกดังแบบลดราคา แต่ที่ร้านหนังสือเดินทางยังขายเต็มราคาได้ เพราะนักอ่านไม่ได้มีโอกาสไปงานบุ๊กเซลส์บ่อยๆ แต่รู้ว่าถ้ามาร้านหนังสือเดินทางจะเจอแนวนี้แน่นอน

•รายได้ส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่ม หรือหนังสือเป็นหลัก?

หนังสือเป็นหลัก ตั้งแต่วันแรกที่ทำร้าน จนกระทั่งวันนี้ถึงอนาคต อยากมีร้านหนังสือที่มีหนังสือเป็นองค์ประธาน มีเครื่องดื่มเป็นองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ มีอย่างอื่นเสริมทำให้ร้านมีทางเลือก มีอะไรที่น่าสนใจ ดึงดูดให้อยากใช้เวลาอยู่กับร้านนานกว่าเดิม

ร้านหนังสืออิสระ คีย์เวิร์ดหลักคือ “อิสระ” คาดเดาไม่ได้ว่าร้านนี้เดินเข้าไปแล้วจะเจออะไร ซึ่งมุมหนึ่งคือความสนุก โอเคหรือไม่ก็ได้ แต่อย่างน้อยน่าค้นหา

สิ่งที่แตกต่างคือ “บุคลิก” ร้านหนังสือแต่ละร้านมีบุคลิกของมัน คำว่า “หนังสือเดินทาง” ที่เป็นคอนเซ็ปต์หลักของร้าน คนเข้ามาอยากให้เขาเกิดแรงบันดาลใจจากสายตาที่มองเห็น จมูกที่ได้กลิ่น หูที่ได้รับฟัง จากการเขียนโปสการ์ดที่เป็น Old fashion มาก ทำให้คนได้หวนกลับไปถึงวิธีการสื่อสารอีกแบบหนึ่ง บางทีความช้าก็มีความหมาย มันกลั่นอะไรบางอย่าง เราสนุกที่เราได้เสพสิ่งเหล่านี้

•เรียกได้ว่าโควิดไม่ได้กระทบเท่ากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง?

มีหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า โควิดคือสถานการณ์ทดสอบความจำเป็น พิสูจน์ว่าธุรกิจอะไรบ้างที่ยังจำเป็นจริงๆ สถานการณ์แบบนี้คนจะตัดค่าใช้จ่าย ร้านหนังสือของเราได้ถูกพิสูจน์ในมิตินั้น คนยังนึกถึง โหยหา แสดงว่าเรายังจำเป็นอยู่

โควิดเล่นงานร้านหนังสือเดินทางเหมือนกัน แต่ไม่ได้หนักถึงขั้นนั้น ที่มีผลกระทบต่ออนาคตร้านมาก ณ ตอนนี้ คือการมาถึงของโครงการไฟฟ้าสายสีม่วง นั่นทำให้ร้านจำเป็นต้องโยกย้ายจากถนนพระสุเมรุ ไปไหนสักที่หนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการตามหาโลเกชั่นนั้นอยู่ ยังไม่ชัดว่าจะย้ายไปไหน

พอเราทำร้านมา 20 ปี ย้อนกลับไป เห็นว่าปัจจัยหลักที่จะทำให้ร้านเดินต่อไปได้คือ โลเกชั่น ขุดลงลึกไปในรายละเอียดคือเงื่อนไข-สัญญาเช่า ถ้าอยู่ 2-3 ปีแล้วต้องย้ายออก ค่าเช่าสูงมาก หรืออยู่ไปสักพักแล้วไม่รู้ว่าจะมีโครงการอะไรโผล่ขึ้นมาให้ต้องย้ายอีก ย้ายบ่อยๆ ก็ไม่ไหวนะ ไม่ใช่ว่าย้ายไม่ได้แต่ว่ามันก็เหนื่อย ทำให้เรากับแฟนต้องมาคิดในดีเทลว่า ถ้าย้ายรอบนี้อยากได้เงื่อนไขระยะยาว (Long-term) เลยอยากหาสถานที่ในฝันนั้นให้เจอ ต้องใช้เวลา ทีนี้สโคปของเราชอบ “ย่านเก่า” อยากให้เกาะรัตนโกสินทร์มีอะไร มีร้านหนังสือสักหน่อยเพื่อให้การมาเที่ยวหลากหลายขึ้น

มุมหนึ่ง คิดว่าการมีอยู่ของร้านยังจำเป็นอยู่ เลยสโคปแคบลงมาว่า ถ้ามูฟอีกรอบนี้ก็ยังอยากจะอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ ตุลาคมนี้น่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าจะเป็นตรงไหน

•แต่ทางโครงการให้อำนาจตัดสินใจเอง ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน?

ใช่ๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ คนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีช่องทางในการส่งเสียงเท่าไหร่ มีเงื่อนไขมาว่าเราถูกเลือก จริงๆ เราโอเคกับโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้ เพราะคิดว่าการจะแก้ปัญหาจราจร รถติดในเมือง
สิ่งนี้ก็จำเป็น แต่ในฐานะคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คิดว่าโปรเซสที่ให้ผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งช่องทางและเงื่อนไขเวลาสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้

•รู้ตอนไหนว่าต้องย้าย ความรู้สึกเป็นแบบไหน?

ก่อนหน้านั้นมีข่าวลือมาตลอด แต่เราไม่สามารถไปตรวจสอบจากใครได้ว่าจริงหรือไม่ ข่าวลือมาจากมอเตอร์ไซค์รับจ้างบ้าง จากสาวยาคูลท์บ้าง (หัวเราะ) ได้ข้อมูลอะไรมาก็เอามาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง แต่ไม่รู้ว่าจริงไหม เป็นอย่างนั้นมา 4-5 ปี อยู่ๆ ก็มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีทีมงานลงพื้นที่อย่างจริงจัง มาประเมินโครงสร้างตึก มาชี้จุดเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ดีอย่างตรงที่ “ข่าวลือ” มันวอร์มเรามาประมาณหนึ่ง ถ้าอยู่ๆ มาเลยคงช็อกเหมือนกัน แต่อันนี้ อ๋อ! ในที่สุดก็จริงสักที กดปุ่มรีสตาร์ตใหม่ได้แล้ว โอเคงั้นคงต้องคิดใหม่อีกแบบหนึ่ง ถ้าจะคิดอยู่ที่นี่ต่อ คงไม่ได้แล้ว ต้องคิดว่าเราจะไปข้างหน้าอย่างไรมากกว่า

•เหมือนว่าความไม่ชัดเจน ทำให้ตัดสินใจไม่ได้?

ใช่ๆ ก่อนหน้านั้นก็แบบว่า เอะ! จะอยู่หรือไม่อยู่ดี จะซ่อมแซมอาคารเพิ่มเติมไหม ถ้าโดนโครงการขึ้นมาแล้วจะยังไงต่อ แต่พอโจทย์มันชัดเจนว่าเราต้องไป ก็คิดอีกแบบหนึ่ง

อาจจะเป็นเพราะเราอ่านหนังสือ หรือว่าแก่ขึ้นด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้? เรากลับไม่ได้รู้สึกว่ายึดติดอะไรขั้นนั้นไปแล้ว เคยเจอนักอ่านเจอฝรั่งเขาบอกว่า คุณย้ายไปที่ไหนก็แล้วแต่ แต่มันยังเป็นจิตวิญญาณดั้งเดิม The same soul ตัวที่สำคัญคือซอฟต์แวร์ มันคือบรรยากาศซึ่งติดตัวเรา ถ้าเราไปที่ไหน ก็ยังมั่นใจว่าเราน่าจะสามารถสร้างบรรยากาศเดิมๆ ขึ้นมาได้ ดีไม่ดีอาจจะดีกว่าเดิม อาจจะไปอยู่ย่านที่ไม่เคยมีร้านหนังสือในชุมชนมาก่อน ในแง่ดีมันคือโอกาส แม้ว่าเราได้รับผลกระทบ แต่ความรู้สึกแบบนั้นก็อาจจะอยู่กับเราตลอดไป สลัดไม่ออกสักที เรามูฟออนดีกว่า

แต่บางบ้านที่เขาอยู่ที่นี่มาตลอดชีวิตก็น่าสงสารเขาเหมือนกัน มีคุณยายร้านขายของชำ ก็ 80 กว่าแล้วและมีแนวโน้มว่าต้องไปอยู่คอนโดเล็กๆ ในบั้นปลายชีวิต ซึ่งคนมันไม่เคยอยู่

•กรมศิลปากร มองที่นี่เป็นตึกโบราณ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในเกาะรัตนโกสินทร์ ส่วนตัวมองที่แห่งนี้เป็นอะไร?

เห็นด้วยว่าตึกอย่างนี้ควรจะอนุรักษ์ไว้ ที่อยากถามคือ แล้วทำไมเราถึงอนุรักษ์มันไว้ไม่ได้? ไม่เข้าใจเหมือนกัน เทียบกับโครงการรถไฟฟ้าของหลายประเทศ เรารู้สึกว่า คุณเก็บของเก่าเอาไว้ได้ แล้วคุณดีไซน์ให้ล้อกันโดยที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเยอะๆ มันทำได้ ถ้าเราจะทำ

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก สถานที่ถูกเปลี่ยนให้เข้า-ออกง่ายขึ้น แต่ถ้ามาแล้วไม่มีอะไรให้ดูล่ะ เคยนึกถึงมิตินี้กันไหม? ถ้าเกิดมาถึงแล้วสิ่งที่คนเคยเห็นอยู่ หายหมด คุ้มกันไหม ต้องชั่งตวงดีๆ แต่คิดว่าทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกัน นักอ่านบอกให้ฟังเมื่อรู้ว่าร้านต้องไป “มาง่ายก็จริงพี่ แต่มาแล้วหนูจะดูอะไร” มาแล้วเมืองไม่มีชีวิต

เมืองไม่ใช่อาคาร เมืองคือ “คน”

•จะพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าอย่างไร โดยไม่กระทบผู้คน?

จุดยืนของเรา เห็นด้วยที่มีโครงการ เพราะย่านเก่าที่จอดรถหายากมาก ถือว่าจำเป็น แค่คิดว่าทางออก exit สามารถทำให้เล็กกว่านี้ได้ ต่างประเทศทำได้ลองไปหาดู ในลอนดอน นิวยอร์ก หรือฝรั่งเศส ทางขึ้นแค่ป่องเล็กๆ ก็ทำได้ ทำไมของเราต้องใหญ่โต ไม่เข้าใจว่ามองอย่างไร

แล้วเราจะเอาแค่อาคาร ทางออกที่ง่ายขึ้น แต่วิถีชีวิตหายไปอย่างนั้นหรือ เสน่ห์ของเมืองคืออะไรกันแน่? คืออาคาร คือผู้คนหรือวิถีชีวิต อย่างหลายสถานีที่เคยคิดว่าถ้ามีรถไฟฟ้าแล้วจะคึกคักขึ้น แต่บางสถานีก็ไม่นะ แปลกดี

การที่มีคนมาใช้พื้นที่มากขึ้น คนในชุมชนอาจจะไม่ได้เสพสิ่งที่คนหน้าใหม่ทำก็จริง แต่ธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามาล้นกระจายไปหาชุมชน ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านของชำ นั่งร้านเราสักครึ่งวัน คุณหิว มีอะไรกินไหมที่ไม่ใช่ขนมเค้ก? เราแนะนำให้ไปร้านก๋วยเตี๋ยวคุณป้าตรงนี้ มีการล้นไปหาเขาในมิตินั้น ในมุมหนึ่งดีต่อกันและกัน แต่ตอนนี้ทุกคนก็ต้องทำใจว่า ชุมชนจะไม่เหมือนเดิมนับจากนี้

•ร้านเคยโพสต์ว่า ลูกค้าคนแรกของวันนี้เป็นผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คนหนึ่ง สุดท้ายลูกค้าคนนี้ได้เป็นผู้ว่าฯไหม?

ได้เป็นผู้ว่าฯ (หัวเราะ) ก็เป็นผู้ว่าฯที่เตรียมตัวเพื่อจะมาเป็นผู้ว่าฯ เพราะนั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เขามาร้านหนังสือเดินทาง เขามาก่อนหน้านั้น 2-3 ปีเป็นอย่างต่ำ เขามาด้วยตัวเขาเอง เขาเดินเข้ามา แล้วก็คุยกับคนนู้นคนนี้นี่คือนักการเมืองที่นำตัวเองมาสู่ผู้คน ไม่ได้วางตัวเองอยู่เหนือความจริง เขาเตรียมตัว พยายามทำความเข้าใจว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้เจออะไร ใช้ชีวิตยังไง ต้องการอะไร

•ได้ถามไหม รู้จักร้านหนังสือเดินทางได้อย่างไร?

เขามีทีมงานที่ใช้ชีวิตกับพวกเรา ทีมงานคนรุ่นใหม่ ที่เสพสัมผัสกับเมืองในมิติที่เราสัมผัส เป็นองค์ประกอบที่ลงตัว ไม่ใช่ว่าพอคุณอยู่ในตำแหน่งนั้นแล้วเอาแค่คนเจนใด เจนหนึ่งเข้าไป แต่นี่ลักษณะเป็น inclusive คือเอาทุกภาคส่วนของเมืองนี้ เขาเตรียมตัว ถ้าเขาไม่เห็นความสำคัญก็อาจจะไม่เอากลุ่มเหล่านี้เข้ามาก็ได้ และเขาเองก็เป็นนักอ่านอยู่ก่อนด้วย

•แล้วผู้ว่าฯคนนี้ ซื้อหนังสือประเภทไหนมากที่สุด?

เขามาหลายครั้ง ครั้งหลังสุดก่อนจะเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ซื้อเกี่ยวกับเรื่องเมืองโดยเฉพาะ แกบอกว่า ผมเตรียมตัวที่จะทำงาน คงต้องการองค์รวมของความรู้อีกมากมายเพื่อนำไปใช้ หลายอย่างก็นึกออกเลยว่ามาจากหนังสือเล่มไหน (หัวเราะ) เพราะชอบเรื่องประมาณนี้อยู่เหมือนกัน มีครั้งหนึ่งนั่งคุยกันเลย เขายังอยากฟังในมุมของร้านหนังสือเล็กๆ ร้านหนึ่งเหมือนกัน ว่ามองเมืองอย่างไร เราอึดอัดกับอะไรบ้าง แล้วอะไรที่สามารถทำให้ดีขึ้นได้บ้าง ไม่ได้จะยกยอนักการเมืองคนนี้ แต่แค่รู้สึกว่ามีบางอย่างที่นักการเมืองก่อนหน้านี้ไม่มี และไม่เคยทำ

•อยากให้ผู้ว่าฯคนนี้ช่วยเจรจา ชะลอโครงการรถไฟฟ้าหรือไม่?

ไม่เลยนะ สารภาพตามตรง โครงการนี้จำเป็น แต่ในเชิงดีเทลมีช่องโหว่ที่ทำให้ดีกว่านี้ได้ เมื่อมาไกลถึงขั้นนี้แล้ว มูฟออนดีกว่า

•ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ เริ่มจัดดนตรีในสวน หากิจกรรมให้คนเมืองนอกจากเดินห้าง แต่สิ่งที่ยังขาดคืออะไร?

การมาถึงของผู้ว่าฯคนใหม่ มีเหตุผลเชิงประจักษ์ เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น ก่อนหน้านี้สิ่งที่ขาดหายไปในมุมของเรา คือคำว่าพื้นที่สาธารณะซึ่งมี 3 ปัจจัย

คือ 1.ควรหลากหลายในเชิงกิจกรรม 2.ควรจะหลากหลายในเชิงของคนที่เข้าไปใช้ ไม่ใช่ผูกขาดคนกลุ่มเดียว

3.ควรจะหลากหลายในช่วงของเวลา ไม่ใช่เปิดเฉพาะ 09.00-16.00 น. แล้วปิดห้ามใช้ ตกดึกอาจจะเป็นส่วนของพวกฮิพฮอพ เช้าๆ ก็เป็นอากงอาม่ามาเอ็กเซอร์ไซส์ บ่ายๆ เป็นกลุ่มไหนก็ว่าไป

พื้นที่สาธารณะไม่จำเป็นต้องสวน ทุกเย็นหนุ่มสาวหรือคนแก่มานั่งริมรั้วสะพานพุทธมากมาย นี่เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งเลยว่า คนต้องการพื้นที่เหล่านี้แต่เรามีให้เขาไม่ได้ มองออกไปโล่งๆ มีจุดทอดสายตา เรามองข้ามไปหลายมิติมากในการพัฒนาเมือง

ร้านหนังสือเอง ก็มีลักษณะเป็นพื้นที่สาธารณะ จะมีสักกี่ร้านเชียวที่คุณเดินเข้าไปโดยไม่เสียตังค์สักบาท ร้านกาแฟอย่างน้อยคุณเข้าไปก็ต้องซื้ออะไรสักอย่าง ร้านอาหารยิ่งแล้วใหญ่ แต่ร้านหนังสือบางทีเดินเข้ามาคุณอาจจะใช้เวลาเป็นชั่วโมง คุณไม่ซื้อเขาก็ไม่ว่าอะไร โดยเนเจอร์ของธุรกิจ มีความเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่ในตัว

มุมหนึ่ง ทำหน้าที่เหมือนห้องรับแขกอยู่กลายๆ ฝรั่งเดินๆ อยู่ถูกตุ๊กๆ หลอกไปร้านตัดสูท มีปัญหากับร้านไม่รู้จะไปไหนก็แวะมาที่นี่มี โฮสเทลหลังหนึ่ง กำหนดวัน “แฮปปี้ ฮอลิเดย์” มีน้องพาฝรั่งเที่ยว สุดท้ายก็มาลงที่นี่ เขาได้มาเห็นหนังสือที่นักอ่านไทยอ่าน เป็นการแลกโลกของกันและกัน บางทีมันอาจจะทำให้ใครบางคนรู้จักความเป็นไทย หรือเข้าใจสังคมไทยได้มากกว่าการไปชมอย่างเดียว ร้านหนังสือมีนัยยะอย่างนี้อยู่

•เปิดมา 20 ปีมีประโยคไหนที่จำไม่ลืม?

มีฝรั่งอีกคนหนึ่ง มาเมืองไทยมาบ่อยจนสนิทกัน เขาพยายามหาช่องทางอยู่ที่นี่ให้ได้แล้วเจอเงื่อนไขมากมาย มาจนกลายเป็นคอมฟอร์ตโซน เวลาเจอปัญหาเขาพูดประโยคหนึ่งว่า “ที่นี่เหมือนกับห้องกระจกที่อนุญาตให้มะเขือเทศงอกในฤดูหนาว” “ไม่น่างอกได้ในสภาวะ แต่งอกได้” พี่นักเขียนไทยคนหนึ่งบอกว่า “นี่คือโรงบ่มเพาะจินตนาการ” น้องบางคนบอกว่า “ที่นี่ไม่มีใครปกติหรอก มีแต่คนไม่ปกติกันจนเป็นปกติ” น่ารักดี คือฟีดแบ๊กที่กลับมา

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ร้านอยู่มาได้ คือมิติของความเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่กลายๆ ไม่ได้ละเลยความเป็นมนุษย์ คุณซื้อออนไลน์ อ่านใน Kindle ก็ได้ แต่ปฏิสัมพันธ์ที่คุณเข้ามาแล้วเราถามว่า คุณเป็นไงบ้าง? ตบหลัง โอบไหล่กันได้ สิ่งนี้ยังจำเป็นกับชีวิตคน ขอยืนยัน ลองนึกถึงตัวเราถ้าอยู่ในห้อง ทุกวันสั่งอาหารเข้ามาส่ง ไม่ไปไหนเลย แชตกับเพื่อนออนไลน์ทั้งวัน เอาไหม? 1-2 เดือนคุณอาจจะแฮปปี้ ปีนึงคุณอาจจะเอ็นจอยก็ได้ แต่ทำไมนักเรียนเรียนออนไลน์ถึงอยากไปโรงเรียน สุดท้าย ไม่ใช่มีอะไรมาแกนอะไรหรอก เพียงแต่ว่าต้องใช้ประโยชน์คู่กัน

•ในกำแพงร้านเขียนว่า เรามักคิดว่าความสนุก คือความสุข แต่ว่าความสงบก็เป็นความสุขได้เช่นกัน คำนี้มาจากไหน?

มาจากสิ่งที่สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคน แล้วบรรยากาศแบบไหนกันที่อยากจะอยู่ การมาถึงของโลกออนไลน์มีทั้งบวกและลบ สำหรับร้านหนังสือเดินทาง เราอยากให้คนได้สัมผัสในอีกมุมหนึ่ง คุณโฟกัสกับสิ่งที่คุณเห็น ได้ยิน สักชั่วโมงหนึ่งได้ไหม วางสิ่งเหล่านั้นก่อน เมื่อก่อน มีคนทำชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ ไม่รู้ว่าไปไหนแล้ว ชอบมาก กรุงเทพฯ ตอนนี้มี noise เยอะมาก ลองไปสถานีรถไฟฟ้าดู มีเสียงที่เราไม่อยากได้ยินแต่คุ้นชินไปแล้ว

•ในโลกที่วุ่นวายแบบนี้ เราจะหาความสงบสุขได้จากอะไร?

นี่เป็นประเด็นที่ได้รับผลกระทบกันทั่ว คุณต้องหาสถานที่ที่คุณไปแล้วมีความสุขให้เจอ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ว่า  ด้วยความเงียบ คีย์เมสเสจคือ ถ้าคุณอยู่เงียบๆ ในห้องของคุณได้ คุณอยู่ที่ไหนก็ได้ ทุกวันนี้เราต้องเสพ ต้อง คอนเน็กต์ ต้องอะไรสักอย่างอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสิ่งเหล่านั้นเรารู้สึกรับไม่ได้ ตัวเองไม่สำคัญ ฉันไม่มีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้ สุดท้ายก็มีอาการดีเพรส แต่ถ้าคุณอยู่กับความเงียบได้ ออฟไลน์ได้ จะค้นพบอินเนอร์บางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า ฉันรับมือกับภาวะอย่างนี้ได้ ฉันอยู่ตัวคนเดียวได้

เวลาเราเงียบจะได้ยินเสียงมากมาย ได้ตรวจสอบ ก็จะเห็นแผนที่ตัวเองชัดขึ้น ทำให้คุณไม่หลงทาง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image