รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว กรอกคะแนน 1 เดือนชัชชาติ ‘การบริหารความคาดหวังเป็นเรื่องใหญ่’

“เอาไปที่ B+ ก่อนยังไม่ A”

ตอบฉับไวไม่ทิ้งจังหวะคิดนาน เมื่อถูกยิงคำถามเพื่อตัดเกรด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

80 กว่าๆ จากเต็ม 100 คือคะแนนที่ รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กรอกให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 หลังนั่งเก้าอี้ ครบ 1 เดือนเศษ

ไม่ได้แจกแจงว่าประเมินจากภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ หรือบวกจิตพิสัยแล้วหรือไม่ แต่ให้เหตุผลว่า ‘ไม่ปล่อย A’ เพราะยังเป็น ‘ฮันนีมูนพีเรียด’

Advertisement

“มีคนบอกว่า เดือนแรกรอดูน้ำท่วมสักครั้ง 2 ครั้ง จะแก้อย่างไร แล้วเขาก็จัดการได้ มาถึงลอกท่อ ชาวบ้านบอกน้ำระบายเร็วมาก หรือแอพพ์ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ส่งข้อมูลไป 1-2 ชั่วโมง บ่ายนี้แก้ได้เลย สิ่งเหล่านี้ทีมผู้ว่าฯทำได้ดี คนพูดกันปากต่อปาก การเมืองคือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้อยู่ในใจคนได้ แต่ขณะเดียวกัน วันหนึ่งคุณต้องเผชิญเรื่องใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งให้คะแนนเยอะมาก ต้องเหลือพื้นที่ในการพัฒนาบ้าง และดูว่าจะไปถึง A ไหม ถ้าดีจริงๆ ค่อยให้ A+ ก็ยังได้”

ครั้นเมื่อให้เสนอแนะในช่องความเห็นดังเช่นสมุดพกนักเรียน ‘ครูเด่น อรรถสิทธิ์’ ขีดเส้นใต้ว่า 1 เดือนที่ผ่านมาทำเรื่อง ‘เฉพาะหน้า’ ได้ดีแล้ว ส่วน ‘เรื่องใหญ่’ กว่านี้ คือเรื่องที่น่าจับตาและเชื่อว่าคนเริ่มอยากเห็นผลงานยกระดับจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พอใจแล้ว เช่น บีทีเอส และแผนใหญ่ในสถานการณ์น้ำ เป็นต้น

ไม่ปฏิเสธที่จะตอบ แต่ขอ ‘ออฟเรคคอร์ด’ เมื่อถามว่าการเลือกตั้งเมื่อ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา เข้าคูหากาเบอร์ไหนในฐานะชาวกรุงเทพฯตามทะเบียนบ้านมานานนับสิบปี ทว่า มีภูมิลำเนาเป็นชาวแพร่โดยกำเนิด

Advertisement

เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง บิดาเป็นผู้จัดการทั่วไปของโรงพยาบาลเอกชน มารดาเป็นผู้ช่วยพยาบาล

“เป็นคนกรุงเทพมาครึ่งชีวิต เพราะอยู่แพร่ถึงแค่อายุ 12 ย้ายมากรุงเทพตอน ม.1 เรียนที่เซนต์จอห์น ส่วน ม.ปลายเรียนที่ราชวินิตบางแก้ว พ่ออยากให้เรียนรัฐศาสตร์การทูต ไม่รู้เขาไปเอามาจากไหน แต่สอบไม่ติดเพราะคะแนนสูงมาก”

นักเรียน ม.ปลายในวันนั้น อาจารย์รัฐศาสตร์ในวันนี้ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาถึงเส้นทางชีวิตที่ขยับสู่สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คว้าเกียรตินิยมอันดับสอง จากคณะรัฐศาสตร์สำนักสามย่าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ่วงเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนโบยบินข้ามทวีปไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกที่ Georgia State University สหรัฐอเมริกา

บรรจุเป็นอาจารย์รั้วเสรีภาพทุกตารางนิ้วในช่วง พ.ศ.2555 ยืนยัน ไม่ดุ ไม่ตัดเกรดโหดเหมือนโกรธนักศึกษา ตลอด 1 ทศวรรษ ไม่เคยแจก D ใคร มีแต่ให้ F เพราะไม่ส่งงาน

สนใจและเชี่ยวชาญด้าน ‘พฤติกรรมการเมืองและความเห็นสาธารณะ’

ย้อนไปในช่วงเวลาก่อนเลือกตั้งที่ผลโหวตไม่เซอร์ไพรส์ว่า เบอร์ 8 คือผู้คว้าชัย รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ จับมือ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สำรวจ ศึกษา สร้างโมเดลในการอธิบายว่าทำไมคนเลือกชัชชาติ?

“เราทำแบบสอบถาม 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งเพื่อเอาผลมาตั้งเป็นโมเดลในการวิเคราะห์ว่าทำไมคนถึงเลือกแบบนี้ เลือกใคร อย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร ตอนแรกคิดว่าคงเป็นเพราะอิสระ ไม่อิสระ สังกัดพรรค ไม่สังกัดพรรค แต่สิ่งที่เจอกลายเป็นว่าไม่ใช่”

คำตอบของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร 807 คน อายุตั้งแต่ 18-86 ปีบ่งชี้ว่า

“คนเลือกชัชชาติเพราะไม่ชอบประยุทธ์”

นี่คือบทสรุปจากปาก 1 ใน 2 เจ้าของงานศึกษาวิจัย

เรียกได้ว่าเป็นผู้ติดตามประเด็นผู้ว่าฯกทม.ตั้งแต่ก่อนคนกรุงเข้าคูหา และสังเกตการณ์แบบยาวๆ จนถึงวินาทีนี้ จึงต้องขอเบียดคิวทองนัดหมาย ณ ตึกสูงใจกลางเมืองฟ้าอมร ขอคำตอบในหลากคำถาม ณ ห้วงยามที่หลายคนบอกว่านี่คือบรรยากาศแห่งความหวังของเมืองหลวงแห่งนี้

● 1 เดือนในปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ มองแนวโน้มในการคงไว้ซึ่งความร้อนแรงเสมอปลายได้อีกนานแค่ไหน?
ยิ่งฟีเวอร์เยอะความคาดหวังยิ่งเยอะ คุณจะไปถึงความหวังนั้นได้มากแค่ไหน แต่ถ้าสามารถเปลี่ยนความฟีเวอร์นั้น ทำให้เกิดความมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ใช่มาดูแล้วแค่กรี๊ด แต่ดูแล้วมาช่วยกัน เช่น กทม.จะปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งไม่ใช่แค่ปลูกเฉยๆ แต่มีแอพพ์ให้ดู อย่างนี้ผมคิดว่าจะทำให้ระดับฟีเวอร์ไม่ลดลงมาก เพราะคนรู้สึกมีส่วนร่วม แต่ถ้าไม่สามารถทำให้คนมีส่วนร่วมได้ ความชอบก็จะลดลง

● มีข้อควรระวังในก้าวต่อไปไม่ให้สะดุดได้อย่างไร?
ไม่ใช่แค่คุณชัชชาติ บรรดานักการเมืองหรือไม่ว่าใครก็ตาม การจัดการกับความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อเขา อย่าลืมว่าแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ที่วันนี้ถูกเปรียบเทียบว่าคนดูไลฟ์น้อยกว่าคุณชัชชาติ ถ้าเราย้อนกลับไปหลังรัฐประหารใหม่ๆ มีคนรอว่า 6 โมง พล.อ.ประยุทธ์จะพูดอะไร แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว นักการเมืองหรือใครก็ตามไม่สามารถทำตามได้อย่างที่ตัวเองพูด ความรู้สึกอยากดูก็ลดไปเรื่อยๆ

แน่นอนว่านักการเมืองมาขายความหวังให้คนเลือก ขายความหวังประชาชน การบริหารความหวังจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควร บางทีเราต้องยอมรับว่าตอนหาเสียงกับตอนทำจริงมันคนละเรื่อง ถ้าเกิดผิดหวังความชอบก็ลดลงไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องแนวโน้มขึ้นอยู่กับผลงานว่าจะสามารถทำให้อยู่ในระดับที่พึงพอใจได้มากน้อยแค่ไหน คนให้ความหวังเยอะแน่นอน ความหวังอาจจะสูงเกิน

สิ่งที่จะเกิดขึ้น 2 อย่าง คือ 1.การบริหารความคาดหวังนั้น และ 2.คำอธิบายเมื่อความคาดหวังนั้นไม่เกิด

แน่นอนว่าคุณมีแฟนคลับ คุณมีฐานเสียง คนดูไลฟ์คุณเป็นล้าน แต่อย่าลืมว่าคนกรุงเทพฯมี 10 ล้าน แล้วคนที่ 2 ล้าน 3 ล้าน คุณจะไปถึงเขาหรือไม่ อย่าลืมว่าไม่ใช่คนล้านหนึ่งที่ดูไลฟ์ คุณจะอธิบายคนอื่นๆ ได้อย่างไร ถึงแม้คุณไม่ได้เลือกคุณก็ได้รับผลจากนโยบายนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่อย่าให้พลาดคือไม่สามารถสื่อสารและตอบความคาดหวังของคนที่มากกว่าไปกว่าแฟนคลับ

● แล้วผู้ว่าฯกทม.และ #ทีมชัชชาติ จะบริหารจัดการความรู้สึกคาดหวังของคนได้อย่างไร?
บางอย่างที่คนอยากให้ทำคุณชัชชาติก็ตอบสนองได้ดี ตรงนี้ก็จัดการกับความคาดหวังของคนได้ แต่แม้เราจะบอกว่าเขาแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี อย่างไรก็ตาม คุณชัชชาติก็ยังเป็นคน คนที่มีข้อจำกัดบ้าง ข้อไม่จำกัดบ้าง

อย่าลืมว่าการทำงานของคุณชัชชาติ ไม่สามารถสั่งคำเดียวแล้วคนจะทำตาม ผู้ว่าฯทำงานในกรอบกฎหมาย ในกรอบระบบราชการ และที่สำคัญคือ การเมือง มีคนได้และคนเสีย การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ต้องบอกคนคาดหวังก่อนว่า อย่าคาดหวังเยอะ มันมีข้อจำกัดอยู่ มันมีกรอบกฎหมายอยู่ มีระบบราชการอยู่ ดังนั้นควรคาดหวังแบบมีความเห็นใจ

● เสียงตะโกน ‘อยากให้เป็นนายกฯ’ ระหว่างลงพื้นที่ กับการเปรียบเทียบบุคคลในการเมืองระดับชาติ?
คนใช้คุณชัชชาติเป็นตัวแทนอย่างหนึ่ง คนเลือกต้องการส่งสัญญาณว่า นอกจากจะเป็นตัวแทนเราแล้ว ยังเป็นตัวแทนส่งสัญญาณว่า ใครก็ตาม ‘ทำแบบนี้ไม่เป็นเหรอ?’

ถ้าคุณชัชชาติเป็นนักการเมืองในประเทศอื่น แบบนี้มีเป็น 10 มีเป็น 100 เพียงแต่ในประเทศไทย วันหนึ่งเห็นอีกแบบหนึ่ง แล้วพอมาเจอแบบนี้มันดีมาก คนเลยจะเอาแบบนี้ๆ ซึ่งก็มีสิทธิเชียร์ แต่อย่าลืมว่าการเมืองระดับชาติเป็นอีกเวที เป็นอีกเกม

การจัดทีมเป็นอีกแบบหนึ่ง ปัจจัยในการเมืองในระดับชาติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถามว่าคิดได้ไหม คิดได้ และเชื่อว่าโอกาส กับความสามารถของคุณชัชชาติมี แต่ต้องมีการจัดทีมจัดทัพกันใหม่

● การไลฟ์ ทำงาน ทำงาน ทำงาน จะช่วยโน้มน้าวให้คนที่ไม่ได้เลือก ไม่คิดจะเลือก หรือพูดง่ายๆ ว่า ไม่ชอบ ให้หันมาเป็นทีมชัชชาติได้หรือไม่?
ในทางการเมืองคนเขาไม่ชอบเรา พูดไปบางทีคนเขาไม่ฟัง มีงานวิชาการงานวิจัยจริงว่าความเข้าใจผิด ขนาดอธิบายและโยนข้อมูลให้ต่อหน้าก็ไม่เปลี่ยนใจ ฉันไม่เชื่อ เรียกว่าเป็น Motivated reasoning คือการให้เหตุผลแบบมีแรงจูงใจคืออย่างไรก็ไม่เชื่อ

สิ่งที่เราเจอคือทำให้เห็นง่ายที่สุด เราอย่าไปบอกให้เขาตัดสินใจ เราทำแล้วให้เขาตัดสินใจเองว่าสิ่งที่ทำคืออะไร แน่นอนทุกคนยังมี Bias ว่าไม่จริง ไม่ชอบ แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ จะย้ำ Branding ทำงาน ทำงาน ทำงาน เพียงแต่ต้องระวังว่ายิ่งไลฟ์เยอะคนยิ่งเห็นเยอะ ในด้านหนึ่งคือโปร่งใส แต่ขณะเดียวกันจะถูกตั้งคำถามในเรื่องเล็กเรื่องน้อย

● ทีมงานชัชชาติ โดยเฉพาะ 4 รองผู้ว่าฯ ซึ่งได้รับความสนใจค่อนข้างมาก วันนี้ผลงาน ‘ผ่านโปร’ ไหม?
การจัดทีมรองผู้ว่าฯค่อนข้างเป็นส่วนผสมที่ลงตัว 1 เดือนที่ผ่านมาแต่ละคนแยกย้ายกันทำหน้าที่ได้ดี ก่อนหน้านี้ มีคำถามว่าคุณชัชชาติรู้จักระบบ กทม.ดีแค่ไหน เพราะฉะนั้นเขาจึงเลือก คุณจักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่าฯ ซึ่งเข้าใจระบบราชการและ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล ที่เป็นนักคิดคู่ใจตั้งแต่สมัยเป็นอาจารย์จุฬาฯ ได้ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช ที่เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์ ส่วนคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ ประสานเอ็นจีโอทั้งหลาย มีช่องให้กลุ่มประชาสังคมเข้าถึง ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ผมว่าตรงนี้คือจุดเด่น ไม่ว่าใครจะนัดได้หมด มันทำให้คนรู้สึกว่าเข้าถึง และเสียงของเขาถูกได้ยิน

● ท่าทีประนีประนอมและการตอบคำถาม ‘สยบดราม่า’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไอเดียดนตรีในสวนของกองทัพที่ถูกมองว่าเลียนแบบ กทม., การจัดสถานที่ชุมนุมให้ม็อบ, จุดยืนเรื่อง ม.112 ฯลฯ ?
คุณชัชชาติทำได้ดีในจุดนี้ บางทีไม่ต้องเห็นเหมือนกันหรือต่างกันทุกเรื่องเราก็อยู่ด้วยกันได้ สำหรับการจัดสถานที่ชุมนุม ในหลายๆ ประเทศก็ทำกันอย่างนี้ ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พูด มีพื้นที่ให้คนส่งเสียง ส่วนสิ่งที่คนกังวลคือเนื้อหา ถ้าเข้าไปใกล้เส้น มีความเป็นการเมืองจ๋า หรือมากกว่านั้น คนอาจจะบอกว่าเพราะผู้ว่าฯเปิดโอกาส แต่เราต้องแยกให้ออกว่าผู้ว่าฯเปิดโอกาสให้คนแสดงออก แต่ทุกคนต้องรับผิดชอบในผลของการแสดงออกนั้นเอง ไม่ใช่เรื่องของผู้ว่าฯ

● ขอย้อนไปที่การศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 65 ที่ทำร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า คำตอบที่น่าสนใจที่สุดคืออะไร?
ผลที่เราได้คือคนไม่ได้แคร์ว่า คุณชัชชาติอิสระหรือไม่อิสระ คือมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ให้ความสนใจเลยว่าสังกัดพรรคหรือไม่สังกัดพรรค มีคนที่แคร์อยู่ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงคนจะแคร์เรื่องพรรค 1 ใน 3 ก็ยังเลือกคุณชัชชาติอยู่ดี

งานนี้ต้องบอกว่าถึงจะมีเงาหรือไม่มีเงาจากพรรคการเมือง ตัวบุคคลก็สำคัญด้วย และส่วนอื่นเป็นตัวเสริม ถึงแม้เราจะตั้งสมมุติฐานว่าเงาที่อยู่ข้างหลังจะเป็นตัวลบก็ตาม แต่มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ถ้าสามารถแก้ไขเรื่องนั้นให้มาเป็นบวกกับเขาได้ ก็จะกลายเป็นบวก

ส่วนเรื่องของผลการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งสมมุติฐานอันหนึ่งคือรัฐบาลกลางจะส่งผลต่อรัฐบาลระดับรองลงมาหรือไม่ เราก็ถามเป็นคำถามที่ค่อนข้างมาตรฐานว่าคุณพึงพอใจกับการทำงานของรัฐบาล ณ ขณะนั้นแค่ไหน สิ่งที่เจอคือคนประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่า ‘ไม่พอใจเลย’ 26 เปอร์เซ็นต์ ‘ไม่ค่อยพอใจ’ มีคนที่ ‘พอใจ’ อยู่ 16 เปอร์เซ็นต์ และ ‘พอใจมากที่สุด’ 3 เปอร์เซ็นต์ในการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์

นอกจากนี้ เรายังถามมากกว่านั้นอีก ว่ามองสภาพเศรษฐกิจหลักอย่างไร คนตอบว่า ‘แย่ลงมาก’ ประมาณ 58 เปอร์เซ็นต์ ‘ค่อนข้างแย่ลง’ 28 เปอร์เซ็นต์ มีคนตอบว่า ‘ค่อนข้างดีขึ้น’ และ ‘ดีขึ้นมาก’ รวมกันประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเราได้ข้อมูลนี้ทั้งหมดก็นำมาทำเป็นโมเดล ใช้วิธีทางสถิติ พอทำสถิติออกมาจึงนำมาหาค่าความน่าจะเป็นในการเลือกตั้ง

● แล้วประเด็นความไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาล ต่อการเลือกผู้ว่าฯ ที่เกริ่นมาข้างต้นว่า ‘คนเลือกชัชชาติเพราะไม่ชอบประยุทธ์’?
ความรู้สึกต่อการพึงพอใจต่อการทำงาน ซึ่งมีจุดเชื่อมระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น มันน่าแปลกใจที่ว่า พอเราใช้ความพึงพอใจมาถาม พบว่าคนที่ ‘ไม่พอใจ’ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกคุณชัชชาติ 44 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ ‘พอใจมากที่สุด’ จะไม่เลือกชัชชาติเลย ความน่าสนใจที่สุดอยู่ที่คุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คนที่ตอบว่าพอใจการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มากที่สุด มีแนวโน้มจะเลือกคุณสุชัชวีร์ถึง 99 เปอร์เซ็นต์ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ ว่าชอบประยุทธ์เลือกสุชัชวีร์ ไม่ชอบประยุทธ์เลือกชัชชาติ

● คะแนนของวิโรจน์ ลักขณาอดิศรในอันดับ 3 คิดว่ามาจากตัวบุคคลหรือพรรคก้าวไกล?
คนมีแนวโน้มเลือกก้าวไกลเพราะเขามีแนวโน้มอยากเลือกก้าวไกล ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ ถึงไม่ใช่คุณวิโรจน์ก็จะได้ประมาณนี้ แต่ด้วยความเป็นคุณวิโรจน์จึงได้คะแนนดีแบบนี้ ในขณะที่กรณีพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง และคุณสุชัชวีร์ ค่อนข้างน่าแปลกใจว่าความเป็นพรรคการเมืองไม่ค่อยช่วยเท่าไหร่

สำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งผมใช้อายุ 25 ปี ซึ่งเมื่อ 7 ปีที่แล้วตอนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา เขาคือคนอายุ 18 ปี ดังนั้น พวกเขาคือ First Time Voter ซึ่งต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลทำคะแนนได้ดี ความน่าจะเป็นสำหรับคนที่อยากให้สังกัดพรรคการเมือง 41 เปอร์เซ็นต์จะเลือกคุณวิโรจน์ คนที่จะมาเลือกคุณชัชชาติมีแค่ 24 เปอร์เซ็นต์

● จากแผนภูมิในงานวิจัย คนรุ่นใหม่เพศหญิงมีแนวโน้มเลือกวิโรจน์มากกว่าเพศชาย อะไรคือเหตุผล?
ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แสดงว่าการทำงานการเมืองของก้าวไกลกำลังตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง แต่ไม่อยากให้มองว่าเพศส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการเมือง

ผู้หญิงใช้เวลากับการโหวตแบบมีเหตุผล (Rational) คือการดูเนื้อหา การเข้าไปพิจารณาว่าพรรคนำเสนออะไร มองอะไร ตัวเลขที่เกิดขึ้นต้องบอกว่าดีใจกับก้าวไกลจริงๆ ถามว่าทำไมถึงเป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงพิจารณาค่อนข้างละเอียดในนโยบาย

ระหว่างชัชชาติกับวิโรจน์ ชัชชาติ 39 เปอร์เซ็นต์ วิโรจน์ 23 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ต่างกันมาก ถ้าดูจากนโยบายแล้ว วิโรจน์อาจจะนำเสนอนโยบายที่ไปไกล ผมคิดว่าผู้หญิงอาจจะต้องการความเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่เห็น

● ที่สุดแล้ว บทสรุปสำคัญจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ คือ?
สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศ บอกว่าคนเลือกเพราะชอบ ชอบนโยบายพรรค ชอบหัวหน้าพรรค ชอบพรรคอะไรก็ว่ากันไป

แต่ผลการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ผมคิดว่า ‘เลือกเพราะไม่ชอบ’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image