ถอดสลักปมบึ้ม รพ. กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ‘ประเทศไทยไม่ได้ห่างไกลจากการก่อการร้าย’

ไม่ต้องเกริ่นอะไรกันมากมาย สำหรับสถานการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้คนไทยอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้ อย่างกรณีระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย

ก่อเหตุใน รพ.ทหาร ในวันครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร ซุกแจกันห้องที่ตั้งชื่อตามนามสกุลผู้กุมบังเหียนด้าน “ความมั่นคง”

กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นักวิชาการอิสระ เจ้าของผลงาน “THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ” แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้อย่างเฉียบคมจนกลายเป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เปิดมาด้วยประเด็นสะกิดใจ จากการที่ตำรวจแถลงว่าการระเบิดโรงพยาบาลอะไรนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำกันในทางสากล แม้แต่ในช่วงสงคราม สะท้อนว่าประเทศไทยกำลังทรีตปัญหาการก่อการร้ายด้วยสายตาแบบสงคราม ซึ่งเป็นคนละอย่างกัน ตบท้ายด้วยการย้ำให้ยอมรับความจริงว่าประเทศไทยไม่ได้ห่างไกลจากการก่อการร้าย

ช่วงชิงตัวจากคิวแน่นเอี้ยดมาพูดคุยกันในประเด็นสำคัญที่สังคมจับตา

Advertisement

– อยากให้ขยายความเรื่อง พื้นที่ยกเว้น ในทางสากลมีสัตยาบันหรือกฎหมายระหว่างประเทศไหม?

ในสงครามจะมีข้อตกลงร่วม เข้าใจว่ามีข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีกาชาดสากล มีแน่นอน เราต้องเข้าใจก่อนในเบื้องต้นว่าสงครามเป็นการก่อเหตุระหว่างรัฐสมัยใหม่กับรัฐสมัยใหม่ด้วยกัน การมีข้อตกลงแบบนี้ มีประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย เพราะในนั้นมีสิทธิที่จะเป็นทหารฝ่ายคุณเอง และฝ่ายศัตรูด้วย แพทย์ พยาบาลไม่มีสิทธิเลือกว่าจะรักษาทหารฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ ต้องรักษาทุกคน การบอมบ์โรงพยาบาลจึงเป็นข้อห้าม เป็นบาปหนามาก

– ความแตกต่างระหว่างสงครามกับการก่อการร้าย?

เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันแทบทุกอย่าง ก่อการร้ายเป็นการก่อเหตุระหว่างเอกชนกับรัฐ หรือเหนือรัฐ ไม่ว่าจะเป็นคนคนเดียวหรือกลุ่มองค์กร ไม่รู้ว่าจะก่อเหตุโดยใคร ที่ไหน ในขณะที่สงคราม คุณรู้ทุกอย่าง กลุ่มก่อการร้ายมีความตั้งใจแต่แรกที่จะทำลายระบบระเบียบวิธีคิดแบบโลกสมัยใหม่ ซึ่งไม่เอ็นจอยการใช้ความรุนแรง เขาก็ส่งสารออกมาด้วยวิธีการแบบนั้น โดยไม่เลือกเหยื่อ

การสร้างหรือกระจายความกลัวยิ่งทวีคูณ ก่อนหน้านั้นมีการลอบฆ่าทางการเมืองไหม มี แต่พอเป็นการลอบสังหาร เราจะไม่กลัว ตราบที่รู้ว่าตัวเองไม่ใช่คนสำคัญ

การก่อเหตุในโรงพยาบาล สร้างความกลัวหรือจุดกระแสได้มากกว่าจุดอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ของสังคมรุนแรงขึ้น ถ้าใช้กำลังเท่ากันกับกรณี รพ.พระมงกุฎฯ โดยไปบอมบ์ค่ายทหาร เราจะไม่รู้สึกอย่างนั้น เพราะเรารู้สึกอยู่แล้วว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อย่างทหาร ตำรวจ เป็นอาชีพที่ต้องเสี่ยงชีวิต

– เห็นด้วยไหม ที่นักวิชาการรัฐศาสตร์บางท่านมองว่า เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นมา เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงมักรีบ ฟันธง เร็วเกินไป ทั้งที่การก่อการร้ายกับอาชญากรรมมีความซ้อนทับกันอยู่?

เห็นด้วย หลังๆ ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะ เอะอะๆ ก็เรียกว่าก่อการร้ายไว้ก่อน ไม่ใช่แค่ไทย แต่ผมไม่ได้มีปัญหาในการตีความ ถ้าคนที่ออกมาประกาศว่ามันคือการก่อการร้ายแล้วคุณมีความชัดเจนในนิยามว่าการก่อการร้ายของคุณคืออะไร

สำหรับผม นิยามการก่อการร้ายระดับเบื้องต้นสุดคือ การก่อเหตุระหว่างเอกชน คือประชาชน หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งกับรัฐ มีข้อเรียกร้องที่มุ่งกับตัวรัฐโดยตรง ในขณะที่การก่ออาชญากรรมจะเป็นเอกชนกับรัฐก็ได้ แต่แปลว่าเหยื่อ จะเป็นผู้ที่ถูกเลือกไว้แล้ว

ปัญหาของการเคลมในไทยคือ ที่เคลมๆ กัน ไม่ได้เก็ท ไม่ได้มีนิยามชัดๆ ว่าสำหรับคุณ การก่อการร้ายคืออะไร เป็นการเคลมแบบขอไปที แบบให้ได้กระแส นี่เป็นปัญหาที่ไม่สามารถโทษนักวิชาการฝ่ายเดียวได้ แต่ต้องโทษสังคมไทยด้วย เพราะเป็นสังคมที่ไม่มีความอดทนอดกลั้น เกิดเหตุปุ๊บ จะต้องได้คำตอบปั๊บ ถ้าไม่ได้ เราพร้อมจะเอาธงในใจไปเสียบแทนคำตอบทันที

ฝ่ายผู้มีอำนาจในสังคม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเองเข้าใจจุดนี้ดี เพราะฉะนั้น ก็เล่นเกมตาม อย่างกรณีศาลพระพรหมเอราวัณ มันไม่มีที่ไหนในโลกที่ปิดไม่ถึง 1 สัปดาห์ แล้วมีบิ๊กคลีนนิ่งเดย์เรียบร้อย สะท้อนถึงความไม่เข้าใจวิธีการแก้ปัญหาก่อการร้าย

ฝ่ายความมั่นคงของไทย พยายามสร้างภาพว่า ชิลๆ จบ อินแฮนด์ จริงๆ มันไม่ใช่ ยิ่งทำแบบนี้ พอพิสูจน์ออกมา จับคนนี้ก็ไม่ใช่ ทฤษฎีนี้ก็ผิด มันยิ่งสร้างความไม่มั่นใจให้สังคม แต่ก็เป็นโชคดีของรัฐบาลที่คนไทยลืมง่ายเหลือเกิน

– ความ ลืมง่าย ของคนไทยมีผลต่อการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐไหม?

มีสิครับ เมื่อไหร่ที่เราลืมง่ายหรือเลือกจะไม่จำ มันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจในสังคม โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง สะดวกสบายในการซุกปัญหาใต้พรม เพราะไม่มีใครแยแสอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่ซุกไว้ไม่ได้หายไปไหน ยิ่งทิ้งไว้นานก็เน่า โดยเฉพาะปัญหาการก่อความรุนแรง

ต่อให้เราไม่พูดถึงว่ามันจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพื่อเรียกร้องการแยแส แต่สิ่งที่ตามมาคือ เมื่อเรารู้แค่วิธีซุกใต้พรม แต่ไม่รู้วิธีทำความสะอาด สุดท้าย เวลาเกิดปัญหา จะไม่มีทางแก้ได้

ครั้งนี้คุณทำเป็นลืม ไม่สนใจ ฝ่ายดำเนินคดีก็หายเงียบ กรณีศาลพระพรหมเอราวัณ ปัจจุบันคดีถึงไหนไม่รู้

รัฐบาลก็มองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ฉันต้องใส่ใจ แปลว่า ไม่ต้องเตรียมการรับมือ ในทางทฤษฎีการก่อการร้ายแทบจะเป็นปัญหาที่ป้องกันไม่ได้ สิ่งที่พอจะทำได้คือการรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือ ยุโรป ซึ่งอยู่ในการป้องกันสูงสุดเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายมีการใช้วิธีเอารถบรรทุกมาไล่เหยียบคน เอามีดทำครัวจี้คอบาทหลวง คือคุณไม่สามารถไล่ตรวจสอบทุกอย่างได้

– เตรียมพร้อมอาวุธ ซื้อเรือดำน้ำ ระดมกล้องวงจรปิด มีผลไหม?

การก่อการร้ายเป็นยุทธวิธีต่อต้านรัฐโดยที่ผู้ก่อเหตุรู้ตัวแต่ต้นอยู่แล้วว่าฝั่งตรงข้ามเหนือกว่าทุกด้าน เขาไม่ได้มาสนใจหรอกว่าคุณจะเพิ่มอาวุธปืนมากขึ้น จะเพิ่มกล้องวงจรปิด ตามสำรวจตลาดมืดค้าอาวุธมากขึ้น เขารู้อยู่แล้วว่า เขามีปืนเพิ่มสามกระบอกก็ไม่ได้สู้กับรัฐได้มากขึ้น

– ใน กทม.ผ่านเหตุการณ์มาหลายครั้ง กรณี รพ.พระมงกุฎฯ ภาครัฐรับมือดีขึ้นไหม?

ผมคิดว่าดีขึ้นนิดหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงออกมาพูดว่าไม่มั่นใจว่าฝ่ายไหนทำ ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ที่ฟันธงตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกว่า ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองแน่นอน อันนี้หมายถึงตำรวจนะ ส่วนโฆษกรัฐบาลก็ตามสไตล์ (หัวเราะ)

– ขอย้อนมาที่การฟันธงอย่างรวดเร็ว ถ้าในทางกลับกันมันถูกปฏิเสธอยู่เสมอ?

ผมคิดว่าท่าทีของรัฐบาลหรือสังคมไทยตอนนี้ เป็นท่าทีที่ปฏิเสธการมีอยู่ของก่อการร้าย มากกว่าการรีบฟันธงว่าเป็นการก่อการร้าย ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้การฟันธงเร็วเกินไป

อย่างเหตุการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ที่เกิดมา 13 ปี เราหลีกเลี่ยง บอกว่าไม่ใช่การก่อการร้ายทั้งที่ทุกสำนักการก่อการร้ายศึกษาในโลกบอกว่า นั่นคือการก่อการร้าย แต่เราบอกว่ามันคือการก่อความไม่สงบ เมื่อเราไม่ยอมรับการมีอยู่ของการก่อการร้าย เท่ากับการตัดความเป็นไปได้ของการก่อการร้าย เราจะไม่ปฏิบัติต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในฐานะภัยก่อการร้าย ซึ่งตรงนี้สำหรับผมมันเป็นปัญหามากกว่าการเร่งฟันธงว่าเป็นการก่อการร้าย

– สามารถกล่าวได้ไหมว่ารัฐไทยไร้เดียงสากับเรื่องการก่อการร้าย?

จะว่าไร้เดียงสา พาซื่อ ก็อาจเรียกได้ แต่คิดว่าน่าจะเป็นการชาชินกับการเบ่งมากกว่า นี่ไม่ได้จำกัดเฉพาะรัฐบาลทหาร แต่เป็นกับรัฐบาลเลือกตั้งด้วย เราอยู่กับวัฒนธรรมอำนาจนิยมเกินไป กำลังทหารที่ถือครองอำนาจสูงกว่าพลเรือนเยอะมาก ต่อให้พลเรือนคิดจะต่อต้าน ก็ทำอะไรไม่ได้มาก แต่การก่อการร้ายไม่ใช่ภัยที่จะทำอย่างนี้ได้ คุณจะใช้ ม.44 ไปสั่งให้เขาหยุดได้เหรอ ไม่ได้ !

การหยิ่งผยองกับการใช้อำนาจแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ทำให้สังคมไทยชินกับการแก้ปัญหาแบบไม่ต้องอดทนรอ ที่ผ่านมา พอมีวิกฤตทางการเมือง เราก็เรียกหานายกฯ ม.7 ไม่อดทนรอการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

– ประเทศอื่นที่เจอปัญหาความรุนแรง อดทนรอการแก้ปัญหาอย่างไม่ลืมง่ายเหมือนบ้านเรา?

กรณีโอมชินริเกียวของญี่ปุ่น ต้องการความอดทนอดกลั้นในสังคมสูงมาก เกิดการตั้งชุดสืบค้นพิเศษ ใช้เวลา 10 กว่าปี กว่าจะตามผู้ก่อเหตุครบ 6 คน คำถามของผมมีง่ายๆ เลย ว่า สังคมไทยพร้อมที่จะรอนานขนาดนั้นไหม

– ทำไมการตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงจึงไม่ช่วยแก้ปัญหา?

กลุ่มก่อการร้ายคือคนที่ไม่กลัวตาย คนที่กล้าเอาระเบิดพันตัว พลีชีพ เขารู้อยู่แล้วว่าทำไปก็ต้องตาย ไม่มีใครโง่ขนาดคิดว่าเอาระเบิดพันตัวแล้วจะไม่ตาย นั่นแปลว่า เขาเชื่อว่ามันมีคุณค่าอะไรบางอย่าง มีชุดความคิดและข้อเรียกร้องบางอย่างที่สำคัญเหนือกว่าชีวิตเขา การที่คุณเอาปืนไปยิง เลยไม่แก้ปัญหาไง เพราะเขาพร้อมตายอยู่แล้ว และทำให้ขบวนการก่อการร้ายขยายตัวมากขึ้น เพราะคนที่โดนลูกหลงหันมาโกรธแค้น อัลกออิดะห์ใหม่ ไอเอส อะไรพวกนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่คาราคาซังไม่จบสักทีก็เป็นแบบเดียวกัน

– ถ้าทำเป็นเพิกเฉย?

คนก่อการร้ายไม่ได้แยแสว่าคุณไม่สนใจเขาครั้งสองครั้งแล้วจะหยุด ไม่แยแสครั้งที่ 1 ก็ก่อเหตุครั้งที่ 2 แรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สักวันหนึ่งคุณหันมาแยแส เขาไม่ย่อท้อ ฉะนั้น สุดท้ายทางออกมีแค่ 2-3 อย่าง หลักๆ คือต้องคุย ต้องพร้อมอดทนอดกลั้น ไม่ใช่เกิดเหตุวันนี้ ไปเร่งว่าอีก 2 วันต้องหาตัวมาให้ได้นะ

– จากประวัติศาสตร์โลกสากล การพูดคุย คือทางออกที่ได้ผล?

ทางออกหลักในประวัติศาสตร์สากลที่พอจะเห็นว่ามันแก้ปัญหาได้บ้าง หนีไม่พ้นการพูดคุย อย่าง “ไออาร์เอ” ที่ต้องการปลดแอกตัวเองจากสหราชอาณาจักร รบไปรบมา อังกฤษไม่ไหว ก็ทำข้อตกลงกัน หรือกรณีอเมริกาใต้ตอนแรกเป็นวิกฤตใหญ่ เนลสัน เมนเดลา มีชื่อเป็นผู้ก่อการร้าย พอผ่านการพูดคุยก็จบปัญหาได้ กลายเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

เราเห็นตัวอย่างของความฉิบหายจึงค่อยมาคุยกันเพื่อแก้ปัญหาอยู่แล้ว ความพังพินาศได้ที่แล้วค่อยมาคุย เมื่อเรารู้ว่าสุดท้ายก็ต้องคุย ทำไมต้องรอให้พินาศก่อน คำถามผมอยู่ตรงนี้ มนุษย์ควรมีทักษะในการเรียนรู้จากอดีต ถ้าเรียนรู้ไม่ได้ ก็เป็นได้แค่ลิง

– มาตรการที่รัฐควรทำในตอนนี้?

การแก้ปัญหาก่อการร้ายเชิงนโยบายไม่มีอะไรดีไปกว่าการพูดความจริง สิ่งที่ต้องปรับทัศนคติกันใหม่คือ หนึ่ง รัฐต้องหยุดมองว่าประชาชนโง่ สองให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน สาม ใช้เวลา คุณอาจต้องปิดพื้นที่นั้นสองอาทิตย์ เพื่อหาหลักฐานให้ครบหมด อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ผมคิดว่าเรื่องอย่างนี้ คนเข้าใจได้

กรณีพระพรหมเอราวัณคือครั้งที่สำคัญมากของการคิดว่าประชาชนโง่ ตอนแรกบอก ไม่ใช่การก่อการร้าย เป็นกลุ่มขบวนการค้ายาบ้าง ค้ามนุษย์บ้าง พออันหนึ่งไม่ใช่ก็ค่อยๆ ตัดตัวเลือก ซึ่งมันผิดวิธีการไปหมด ที่ถูกต้องคือ การไล่ความเป็นไปได้ทั้งหมดก่อน แล้วค่อยๆ ตัดตัวเลือกออกหลังจากสืบหาหลักฐานได้

อันนี้เล่นบอกว่าเป็นความเป็นไปได้เดียว พอไม่ใช่ก็ค่อยตัดทิ้ง มันยิ่งสร้างความไม่มั่นใจ ไม่มีที่ไหนในโลกหรอกที่เหตุระเบิดเกิดที่โคนเสารถไฟฟ้า แต่ไม่ปิดรถไฟ คุณจะบ้าหรือเปล่า? แล้วทุกครั้งที่เกิดเหตุ กล้องวงจรปิดเสียทุกครั้ง ในขณะที่ต่างประเทศอย่างแมนเชสเตอร์ คลิปต่างๆ เท่าที่จะผลิตออกมาเป็นสื่อได้ ผลิตหมด คุณต้องให้ประชาชนเห็นความจริงทั้งหมด

เราต้องการความรู้เรื่องการจัดการกับวิกฤตที่ชัดเจน ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจัดการวิกฤตดีที่สุดในโลก มีการออกเอกสารมาก่อนว่าถ้าเกิดเหตุจะรับมืออย่างไร มีการฝึกปฏิบัติจริงๆ มีการเตือนประชาชนล่วงหน้าเยอะๆ ต่อให้โอกาสเกิดขึ้นต่ำแค่ไหน ของไทย บางทีได้ข้อมูลมาก็ไม่พูด อย่างก่อนหน้านี้ กรณีภาคใต้ที่ฝ่ายความมั่นคงบอกว่า เราได้ยินระแคะระคายมา อ้าว! ได้ยินแล้วทำไมไม่บอก

– กลัวประชาชนตื่นตระหนก?

อาจตื่นตระหนกวูบแรก แต่ถ้าเตรียมพร้อมไว้ก่อน ก็รับมือได้ไม่ฉุกละหุก คนตายน้อยลง ปัญหาคือรัฐไทยห่วงหน้าตัวเองมากกว่าชีวิตประชาชน ถามว่าถ้าเกิดวิกฤตในห้างสรรพสินค้า มียามกี่คนที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ มีกี่คนรู้วิธีที่จะกันประชากรออกจากพื้นที่ และหาทางจัดระเบียบให้ออกสู่ทางหนีทีไล่ที่เป็นระบบได้ มันถึงเวลานานแล้วที่จะต้องฝึก

ถ้าเข้าใจไม่ผิด ประเทศไทยมีคนเรียนจบด้านการจัดการวิกฤตแค่ 5-6 คน และแทบไม่มีใครทำงานในภาครัฐเลย ทั้งที่มีวิกฤตในประเทศนับครั้งไม่ถ้วน อย่างน้อย 13 ปีของความไม่สงบภาคใต้ ยังไม่นับวิกฤตทางการเมืองอื่นๆ อีก เราก็อยู่กันโง่ๆ ต่อไป

– จากนี้ไปคนไทยควรเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร?

ควรสังเกตสิ่งรอบตัวว่ามีอะไรผิดวิสัยไหม เวลาเดินในพื้นที่สาธารณะ มีโอกาสเป็นเป้าง่าย ก็มองทางออกฉุกเฉินบ้าง ระดับปัจเจกบุคคลทำได้เท่านี้ ตราบใดที่รัฐยังไม่มีชัดเจนว่าต้องฝึกประชากร นี่คือสิ่งที่เราไม่สามารถฝึกได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถฝึกกดสัญญาณในห้าง ต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐก่อน ถ้าทำจริง นั่นถึงเวลาของเราที่จะให้ความร่วมมือ

ผิดไหมที่จะกลัว ไม่ผิด ผมก็กลัว ถ้ามันระเบิดตรงนี้ ผมก็กรี๊ด แต่ไม่ต้องกลัวมันอย่างล้นเกิน สถิติคนตายจากก่อการร้ายพอๆ กับการโดนอุกกาบาตตกใส่หรือฟ้าผ่าตายในสเกลระดับโลก


ความกลัว (ตาย) : สิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองอันดับ 1 ของยุคสมัยใหม่

“อากาศร้อน กลับมาให้แม่จ่ายค่าไฟ” กฤดิกรเล่าอย่างติดตลกหลังถูกถามว่า ทำไมช่วงนี้กลับมาเมืองไทย เพราะทราบกันดีในวงวิชาการว่าเจ้าตัวศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่เกียวโต (ซึ่งขณะนี้เป็นฤดูร้อน) ก่อนจะเฉลยว่าจริงๆ แล้ว กลับมาเก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัยที่ต้องใช้เอกสารฝั่งไทยจำนวนมาก ถึงเมืองไทยปุ๊บ ก็เกิดเหตุระเบิดปั๊บ ไม่ใช่แค่ที่กรุงเทพฯ แต่ยังตามมาด้วยแมนเชสเตอร์ และความวุ่นวายในอีกหลายประเทศทั่วโลกอย่างไม่ได้นัดหมาย

จบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ MSc Econ in Terrorism and International Relations University of Wales, Aberystwyth ประเทศอังกฤษ ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท หัวข้อ The Delegitimation of (Non-State) Vilolence: Constructing Terror in Medernity

ถามว่าทำไมสนใจเรื่องก่อการร้าย?

กฤดิกรบอกว่า ถ้าตอบแบบไม่รักษาหน้าคือ ตนเกิดวันที่ 11 กันยาฯ คือวัน (คล้ายวัน) เวิลด์เทรดถล่ม ส่วนการตอบแบบรักษาหน้าคือ วิชาการก่อการร้ายในตะวันตกเป็นสาขาที่ขยายตัวแรงมาก แต่ในไทยแทบไม่มีบุคลากรด้านนี้เลย อีกทั้งส่วนตัวชอบเรื่องความมั่นคง หลงใหลในทฤษฎีแนววิพากษ์

กลับเข้าสู่โหมดจริงจัง เขาเล่าว่า คำว่าก่อการร้ายเป็นคำที่เพิ่งเกิดในปี 1795 ในฝรั่งเศสซึ่งไม่ใช่ประเทศที่อ่อนไหวต่อความรุนแรง เพราะเขาผ่านความรุนแรงมานับรูปแบบไม่ถ้วน ทั้งเผาแม่มดทั้งเป็นกลางสี่แยก คนอดตายกลางถนน ทำไมเพิ่งมารู้สึกถึงความรุนแรง นั่นเพราะเกิดสิ่งสำคัญมากคือ “ความกลัวตาย”

“ความกลัวตายในระดับสัญชาตญาณมีบ้างอยู่แล้วในสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง แต่ความกลัวตายในฐานะความกลัวสูงสุด หรือชีวิตในฐานะสิ่งสำคัญที่ไม่อาจสูญเสียได้ เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ เมื่อเกิดสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน มีสิทธิพื้นฐานสุดคือ สิทธิในการมีชีวิตอยู่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image