เปิดใจก่อนลาเก้าอี้ ‘ผจก.ทีมชาติ’ วทันยา วงษ์โอภาสี ดอกไม้เหล็กในดงแข้ง

นับเป็นข่าวดังที่ผู้คนต่างให้ความสนใจ

เมื่อ วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ เดียร์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ 2017 ได้ประกาศผ่านสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า อาจยุติบทบาทการทำหน้าที่ผู้จัดการทีมชาติไทย

ภายหลังการหารือกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เมื่อวานนี้ (8 ก.ย.2560) มีผลปรากฏแน่ชัดแล้วว่า เธอไม่ได้ไปต่อ

โดย พล.ต.อ.สมยศได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมวทันยาจากการทำหน้าที่ผู้จัดการทีมชุดซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ทั้งยังร่วมเป็นผู้สนับสนุนทีมฟุตบอลไทยชุดซีเกมส์ จนสามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้

Advertisement

“ถือว่าผลงานนางวทันยาสร้างชื่อเสียง สร้างความสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชนคนไทย และยังถือเป็นการคว้าเหรียญทองในฐานะผู้จัดการทีมหญิงไทยคนแรกอีกด้วย” พล.ต.อ.สมยศกล่าวด้วยความชื่นชม

ด้านวทันยาเองได้กล่าวขอบคุณผู้ให้โอกาสด้วยใบหน้าน้ำตาคลอเบ้า

“ขอบคุณที่สมาคมให้โอกาสทำงาน แต่เพื่อเป็นการสนองนโยบายของสมาคม และอยากให้ทีมชาติไทยเดินทางไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อความเจริญก้าวหน้า เติบโตของนักเตะในทีม จึงขอวางมือจากการคุมทีมชุดนี้”

Advertisement

ส่วนในอนาคตนั้น วทันยาเผยว่า ค่อยว่ากันอีกครั้ง ตอนนี้ขอกลับไปทำงานสปริงนิวส์ในส่วนที่ค้างคาไว้ช่วงที่ผ่านมา

การพูดคุยกันครั้งนี้ นับเป็น “ครั้งสุดท้าย” ก่อนวทันยาจะลงจากเก้าอี้ผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ 2017 อย่างสวยงาม

 

เข้าสู่วงการฟุตบอลได้อย่างไร?

มีโอกาสคุยกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คุณสมยศชักชวนว่าสนใจเข้ามาทำทีมชาติไหม ซึ่งขณะนั้นทำงานที่สปริงนิวส์อยู่ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเยอะ และตอนแรกไม่มั่นใจเรื่องการเป็นผู้จัดการทีมซึ่งเป็นทีมผู้ชาย เพราะการเป็นผู้จัดการทำทีมฟุตบอลมันเป็นเรื่องใหม่ เรายังไม่คุ้นเคย

ตอนแรกไม่ค่อยมั่นใจว่าจะทำได้ไหม แต่พอสอบถามจากคนรอบข้าง จากคนที่ทำงานในวงการฟุตบอลอยู่แล้ว รวมถึงพยายามเปิดหาจากอินเตอร์เน็ตด้วยว่าหน้าที่ บทบาทของผู้จัดการทีมสำหรับไทยในช่วงที่ผ่านมาต้องดูแลอะไรบ้าง เท่าที่ดูแล้วรู้สึกว่าบทบาทของผู้จัดการเองไม่ได้อยู่ในบริบทที่ต้องเกี่ยวกับเชิงเทคนิค หรือความรู้ในเรื่องฟุตบอลลึกมากๆ

นานไหมกว่าจะตอบรับคำชวนของ พล.ต.อ.สมยศ?

ไม่นานมาก ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ เหมือนเรากลับมาทำการบ้านในช่วงนั้นมากกว่า ปรึกษากับคนรอบข้าง ผู้ใหญ่ ครอบครัว อีกทั้งครอบครัวเองให้การสนับสนุน

ปกติแฟนชื่นชอบกีฬาฟุตบอลมากกว่าเดียร์เยอะ อิทธิพลเรื่องฟุตบอลก็น่าจะได้จากเขาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน (หัวเราะ)

ปกติสนใจกีฬาหรือติดตามกีฬาฟุตบอลอยู่แล้ว?

ใช่ค่ะ มีดูอยู่บ้าง แต่เราเป็นผู้หญิง ไม่ถึงกับเป็นคอบอลหรืออินไซด์ขนาดนั้น

ปกติดูรวมๆ หมด ถ้าไม่ใช่ช่วงที่มีกิจกรรมซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ หลักๆ ก็จะดูฟุตบอล แล้วที่บ้านซัพพอร์ตลิเวอร์พูล ส่วนตัวเองชอบสตีเว่น เจอร์ราร์ด กับเดิร์ก เคาต์ เมื่อก่อนตอนยุคที่ตามเยอะๆ คือช่วงราฟาเอล เบนิเตซ เป็นผู้จัดการทีมอยู่

มองว่ากีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาสำหรับผู้ชาย?

ส่วนใหญ่คนคงมองแบบนั้น แต่เดียร์ว่าเดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นกีฬาสำหรับผู้ชายอีกต่อไป เพราะแฟนบอลเวลาเขาตามมาเชียร์ แม้ว่า 60-70% จะเป็นผู้ชาย แต่อีก 20-30% เป็นผู้หญิงค่อนข้างเยอะ อาจด้วยทั้งแฟนบอลที่กรี๊ดนักบอล ประกอบกับในเมืองไทยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กีฬาฟุตบอลบูมขึ้นมาเยอะมากๆ ทำให้มีความเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น

เมื่อก่อนมองว่าฟุตบอลจะจำกัดอยู่แค่ผู้ชาย แต่เดี๋ยวนี้เป็นผู้หญิงเข้ามาติดตามเยอะขึ้นมากๆ (ยิ้ม)

บทบาทหน้าที่ผู้จัดการทีม?

ดูแลทั้งหมดที่เกี่ยวกับนอกสนาม ตั้งแต่การประสานงานกับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เรื่องรายชื่อ ตั๋ว ทุกสิ่งทุกอย่างเราจะต้องเป็นคนติดต่อทั้งหมด

กรณีการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีโควต้าทีมไปได้มากที่สุดแค่ 26 คน จริงๆ ตอนแรกตัวเลขไม่ถึง เราต้องไปเจรจาต่อรองกับทางคณะกรรมการโอลิมปิคฯเพิ่ม เนื่องจากทีมงานที่ต้องดูแลทีมฟุตบอลต้องมีเยอะพอสมควร ทำให้มีสต๊าฟส่วนที่เกินโควต้า นี่เองที่เราต้องบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไร

รวมถึงตอนไปมาเลเซีย การไปประชุมผู้จัดการทีม การประสานงาน การดูแลทั้งหมดเกี่ยวกับทีม การเตรียมตัวก่อนแข่งขัน กฎระเบียบ เราเป็นผู้ติดต่อทั้งหมด ซึ่งเวลาอยู่ในสนามหากผู้ควบคุมการแข่งขัน (แมตช์ คอมมิชชันเนอร์) ต้องการอะไร ผู้จัดการทีมต้องเป็นผู้จัดการทั้งหมดเช่นกัน

ความเป็นผู้หญิงช่วยให้ประสานงานได้ง่ายกว่าผู้ชาย?

มีบ้าง อย่างตอนไปมาเลเซีย นัดสุดท้าย แฟนบอลหาตั๋วเข้าไปไม่ได้เลย เดียร์ไม่รู้ว่าเพราะเราเป็นผู้หญิงด้วยรึเปล่า หรือด้วยเพราะบทบาทตำแหน่งผู้จัดการอยู่แล้วที่ว่าคงมีน้ำหนักในการคุยกับสมาคมฟุตบอลแห่งมาเลเซีย (เอฟเอเอ็ม) ก่อนหน้านี้น้องติดต่อไป จนตอนหลังเดียร์โทรไปหาดะโต๊ะ (ดะโต๊ะ ฮามิดิน อามีน-เลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งมาเลเซีย) เอง บอกเขาว่าเราจะไปด้วยตัวเอง

ตอนไปคุยด้วย เรามีความรู้สึกว่า พอเราเป็นผู้หญิง ถ้าเขาทำอะไร คงไม่กล้ารุนแรงกับเราจนเกินไป (ยิ้ม)

ส่วนเรื่องหน้าที่ขอบเขตการทำงาน มันเป็นขอบเขตที่ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิงสามารถลงมือทำได้โดยที่ไม่ได้มีความแตกต่างกันในเรื่องเพศ แรกๆ หลายคนอาจไม่คุ้นชินที่เราเป็นผู้หญิง และไม่แน่ใจว่าด้วยบุคลิกของเราหรือเปล่าที่มองว่าตัวเองไม่ได้เป็นไทป์ที่เป็นผู้หญิงมากเท่าไหร่ (หัวเราะ) ค่อนข้างห้าวๆ คาแร็กเตอร์ลุยๆ อะไรก็ได้ง่ายๆ

เวลาอยู่กับทีมเราไม่ได้เกิดความรู้สึกว่ามันเฟมินิสต์มาก เพราะเวลาไปกับน้อง ไปกับทีมก็แบกเป้ลุยไปกับน้อง ไปได้ทุกอย่างโดยที่ไม่รู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงแล้วน้องต้องมาช่วยถือของ ไม่ได้มีความแตกต่างว่าเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง (ยิ้ม)

เป้าหมายที่วางไว้นอกเหนือจากซีเกมส์?

เป้าหมายของทีมตอนที่เดียร์ทำ ที่คุยกับสมาคมคือเรื่องการผ่านรอบควอลิฟายเอเอฟซี ชิงแชมป์เอเชีย ส่วนภารกิจชิงแชมป์เหรียญทองซีเกมส์นั่นคือเป้าหมายหลักของทีม เป็นบริบทหลักที่คุยกับสมาคมไว้

เรื่องแผนในอนาคต อย่างที่บอกว่าภารกิจที่เราคุยไว้คือเรื่องซีเกมส์ จริงๆ ไม่ใช่คำว่า U-23 ด้วยซ้ำ ตัวเดียร์เองก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับสมาคมไปบ้างเหมือนกัน แล้วแต่สมาคมจะตัดสินใจ เดียร์เองยินดีที่จะปรับเปลี่ยนถ้าจะเขยิบ

เดียร์ว่าอาชีพนักฟุตบอลเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะสั้น ความมั่นคงในสโมสรนั้นมีอยู่แล้ว เพราะเป็นอาชีพหลัก มีเงินเดือน แต่สิ่งที่จะทำให้เป็นอนาคตของเขาจริงๆ จะไปได้รุ่ง หรือว่าจะไปแล้วดับ หรือว่าเขาจะมีโอกาสใหม่ๆ เข้ามาไหม ความภาคภูมิใจอย่างยิ่งคือการที่เขาได้เล่นในฐานะตัวแทนทีมชาติไทย เดียร์บอกกับทางสมาคมช่วงกลับจากซีเกมส์ว่า เราอยู่กับน้องมา 1 ปี เราผูกพัน วันนี้เดียร์รู้สึกว่า แม้ภารกิจเสร็จแล้ว แต่ก็ยังอยากส่งน้องไปให้ไกลได้มากที่สุด (ยิ้ม)

ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่?

ถ้าถามตัวเอง ในโอกาสที่ผู้ใหญ่ให้มา เราสามารถตอบกลับสิ่งนั้นได้สมกับโอกาสที่เขาให้

ถามว่าคือที่สุดแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับน้องๆ ในทีม ซีเกมส์เป็นแค่ทางผ่าน ไม่ใช่ที่สุดในภารกิจของทีม เพราะน้องชุดนี้ในอนาคตเราอยากเห็นเขามีความสำเร็จเรื่องอาชีพในสโมสรฟุตบอล ตอนนี้ถ้าเขาได้แชมป์ซีเกมส์ เขาก็น่าจะมีอาชีพในสโมสรที่มีความมั่นคงมากขึ้น มีชื่อเสียงมากขึ้น

น้องหลายๆ คนตอนไปซีเกมส์เขาฉายแววตอนแข่งขันออกมาได้ค่อนข้างดี และเขาเริ่มมีความแข็งแกร่งเรื่องจิตใจแล้ว เขาได้รับโอกาสที่ดีขึ้น แต่ก็เป็นทางผ่าน เพราะความใฝ่ฝันของน้องทุกคนคือเขาอยากไปติดทีมชาติชุดใหญ่ อยากจะมีโอกาสเล่นกับทีมชาติและสำเร็จไปเรื่อยๆ

 

ปกติแสดงการขอบคุณนักกีฬาเวลาได้รางวัลหรือหลังแข่งเสร็จอย่างไร?

ให้กำลังใจน้อง ชมน้องว่า เห็นไหมว่าเขาทำได้ เวลาเดียร์อยู่กับน้อง ไม่ได้เข้าไปอยู่แค่ก่อนหรือหลังเกม ที่มาเลเซียเองแทบจะอยู่กับน้อง 24 ชั่วโมง ยกเว้นถ้าเราไม่ได้ติดภารกิจที่จะต้องไปประชุมผู้จัดการทีม หรือว่าต้องไปจัดการเรื่องอื่นแทน ซึ่งในการอยู่กับทีมเราจะพูดคุยกับน้อง ให้กำลังใจเขา โดยส่วนตัวเดียร์เชื่อว่าการพูดกันแค่ก่อนหรือหลังเกมมันไม่เพียงพออยู่แล้ว

คนฮือฮาช็อตกอดน้อง?

น้องส่วนใหญ่อายุ 20-21 เดียร์ 32 แล้ว ช็อตกอดน้องคนก็ไปมองว่า ตายแล้วไปกอดเขา แต่ในทีมไม่ได้มีความรู้สึกของผู้ชายผู้หญิง แต่เป็นพี่น้อง เราดีใจไปกับน้อง ดีใจไปกับนักกีฬา เราดูแลทุกคนเหมือนลูก เราซื้อของให้เขาบางทีก็รู้สึกเหมือนไปเลือกของให้ลูก รู้สึกเหมือนน้องเหมือนลูกมากกว่า (ยิ้ม)

คนก็ถามว่าช็อตที่กอดรู้สึกยังไง เราก็ไม่ได้รู้สึกยังไง เราดีใจกับน้อง ตอนแมตช์เวียดนามมันเครียด ชี้ชะตาว่าจะผ่านรอบแรกหรือไม่ เวียดนามก่อนมาเจอเราเขาเล่นดีมากจริงๆ ตอนก่อนจะเจอเวียดนาม เดียร์เจอแรงกดดันเยอะมาก ไม่ใช่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ข้างนอก แต่เป็นเรื่องผู้ใหญ่ คนรอบข้างที่เรารู้จัก นักข่าวก็บอกว่าบอลเวียดนามเจ๋งมาก เราไปไม่รอดแน่ๆ ซึ่งเราก็เลยเครียด

ช็อตที่น้องได้ เดียร์ก็รู้สึกเป็นความหวังทันที ขอให้ได้แค่ลูกเดียวเท่านั้นก็มีความหมาย ไม่ว่าชนะกี่ลูก ตอนนั้นเลยเหมือนความรู้สึกมันระเบิดออกมาว่าเราดีใจ ได้ลูกนั้นจากที่คนปรามาสว่าทีมชาติรอบนี้ไม่ผ่านแน่ๆ

การทำงานกับทีมสต๊าฟหรือโค้ชโย่ง?

โดยรวมทุกอย่างผ่านไปได้ราบรื่น ต้องอธิบายว่าพี่โย่งเขาเป็นคนมีพื้นที่ของตัวเองอยู่บ้างแล้ว สื่ออาจจะเห็นว่าเหมือนไปข้างนอกไม่ได้คุยกัน มีปัญหาอะไรหรือเปล่า แต่ความจริงในการทำงานไม่ได้มีปัญหาอะไร เวลาไปสนามทุกคนมีหน้าที่ เดียร์ไปสนาม ลงพื้นที่ ทุกอย่างเราต้องเป็นคนดูแล แมตช์คอมฯจะมาตรวจน้อง มีเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวมีวอเตอร์เบรก เดี๋ยวไม่มี งานทุกอย่างเราต้องโฟกัส

พี่โย่งเองไปสนามเขาก็คงต้องการสมาธิในเกมที่จะเกิดขึ้น เวลาเราลงพื้นที่เหมือนต่างคนแยกย้ายทำงานตามหน้าที่ตัวเองมากกว่า แต่เวลาขึ้นรถ ถ้ามีเรื่องงานเราก็พูดคุยทุกอย่างตามปกติเหมือนเดิม

เคยขอคำปรึกษาจากคุณแป้ง-นวลพรรณไหม?

ไม่ถึงกับขอคำปรึกษาโดยตรง มีบางทีพูดคุยทางโทรศัพท์กับคุณแป้งบ้างว่ามีปัญหาแบบนี้ไหม ตอนที่ทำเป้าหมายของสมาคมคือเรื่องซีเกมส์ ทางคุณสมยศบอกว่าอยากทำให้ไปไกลเกินกว่าอาเซียน ไม่อย่างนั้นเหมือนเราย่ำอยู่กับที่ ภูมิใจอยู่แค่การเป็นแชมป์อาเซียน เราควรต้องมองไปข้างหน้าให้มากกว่านี้

ทีมที่จะต้องเตรียมความพร้อมเวลาอุ่นเครื่อง เดียร์จึงมองว่าอยากหาทีมที่ไม่ใช่อาเซียนมาอุ่นเครื่องกับทีม อยากส่งน้องให้มีโอกาสได้ไปเตะฟุตบอลที่อื่นที่ไม่ใช่ในโซนอาเซียน

ในแง่การทำธุรกิจ ถ้าจุดหมายเราอยู่ตรงนี้ก็ต้องดูว่าเราจะเดินไปยังไง ถ้าเป้าหมายของสมาคมคืออยากยกระดับไปไกลกว่าอาเซียน อยากไปคัดทีมระดับเอเชีย แน่นอน ถ้าเราจะหาโอกาสให้เขาได้ฝึกฝนประสบการณ์ก็ควรจะหาทีมนอกโซนอาเซียน เป็นทีมระดับเอเชีย แต่เราก็ไม่มั่นใจ เพราะธุรกิจอาจคิดแบบนี้ได้ แต่ฟุตบอลมันใช่หรือเปล่า ก็เคยถามคุณแป้งเหมือนกัน คุณแป้งก็บอกว่าเขารู้สึกว่ามีผลที่ดีมาก (ยิ้ม)

มองภาพกว้างวงการฟุตบอลต่อจากนี้ยังไง?

เดียร์ยังไม่ได้มองภาพตัวเองไปต่อขนาดนั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสมาคมด้วย แล้วภารกิจที่เราคุยกับสมาคมไว้คือเรื่องเอเอฟซีกับซีเกมส์ ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็เหมือนเราส่งมอบภารกิจนั้นไปให้สมาคมสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

การทำงานแต่ละปี แต่ละยุคสมัย นโยบายวิสัยทัศน์ก็ต้องปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา จะมาบอกว่าฉันทำซีเกมส์สำเร็จแล้วจะตั้งเป็นเงื่อนไขที่จะต้องไปต่อ เดียร์ว่ามันไม่ใช่ ต้องดูว่าทีมชาติเมื่อมันผ่านยุคนี้ไป เป้าหมายต่อไปคือระดับเอเชีย ก็ต้องหาต่อว่าแล้วแบบไหนถึงจะเป็นนโยบายที่ดีที่สุดที่จะพาทีมไประดับเอเชียได้ (ยิ้ม)


 

ไม่เรียก ‘มาดาม’ ได้ไหม?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อของ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ได้เข้ามาครองพื้นที่สื่อภายหลังจบกีฬาซีเกมส์มากกว่าแต่ก่อน

แต่หารู้ไม่ว่า ความจริงแล้ววทันยาไม่ปลื้มกับคำว่า “มาดาม” สักเท่าไหร่นัก

วทันยาเผยความในใจว่า ตอนแรกพยายามจะบอกทุกคนว่าไม่เรียกมาดามได้ไหม? แม้ในความรู้สึกจะไม่ได้คิดว่าดูแก่ แต่ “มาดาม” ดูเป็นอะไรที่สูง ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้คิดว่าตัวเองหรือบทบาทของตัวเองสูงมากขนาดนั้น

“เราอยากให้รู้สึกว่า ถ้าคุณมาทำงานกับเรา อยากให้พูดคุยกันได้เหมือนเพื่อนพี่น้องกันมากกว่า” ผู้จัดการทีมฟุตบอลเอ่ยพร้อมรอยยิ้ม

ก่อนเล่าต่อว่า กับน้องทุกคนในทีม จะเรียกแทนตัวเองว่า “พี่” เรียกเขาว่า “น้อง” ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเขาก็จะมีชื่อที่เพื่อนตั้งให้ เราก็จะเรียกกัน เช่น ชัยวัฒน์ บุราณ เขามีฉายาที่คนในทีมเรียกกันว่า “เหยิน” เวลาเราอยู่กับน้องก็จะพูดคุยกับเขาเหมือนเป็นพี่ เป็นเพื่อน (ยิ้ม)

“ตอนแรกเคยถามนักข่าวเรื่องคำว่า “มาดาม” เพราะไม่ชอบ เขาก็เลยบอกว่าไม่ต้องตกใจ เพราะเวลาผู้หญิงเข้ามาในวงการฟุตบอล นักข่าวกีฬาจะใช้คำว่ามาดามเป็นธรรมเนียมประเพณีในวงการกีฬา

“พอนักข่าวอธิบายตอนหลังเราก็เลยไม่อยากทัดทานเขา และยังไงก็ทัดทานไม่ได้ ทุกคนเรียกมาดามๆ จำได้ว่าตอนแรกที่ไปเนชั่นส์ คัพ น้องก็เรียกมาดามเหมือนกัน ก็เลยดุว่าห้ามเรียก ถ้าใครเรียกพี่จะไม่เลี้ยง” (หัวเราะ)

หลังจากนั้นในทีมก็เลยไม่มีใครเรียก “มาดาม” จะเรียก “พี่เดียร์”

พร้อมกระเซ้าถามต่อว่า รู้สึกอย่างไรที่มีคนเรียกว่า เป็นอีกหนึ่งนางฟ้าแห่งวงการลูกหนังไทย

“ดีใจนะคะ เป็นนางฟ้าก็ดีกว่านางมารร้าย” วทันยาตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

 


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image