ข้าราชการ 2 แผ่นดิน กิตติพันธ์ พานสุวรรณ ‘ชีวิตนี้คงไม่มีอะไร ที่จะสร้างความภูมิใจได้เท่านี้อีกแล้วž’

ภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา

รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นแม่งานหลัก ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จัดนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณผ่านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งให้เข้าชมพระเมรุมาศและอาคารประกอบที่จัดสร้างอย่างวิจิตร งดงาม สมพระเกียรติ โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายน

10 วันของการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมนิทรรศการเป็นอย่างไร ผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุด ย่อมเป็น กิตติพันธ์ พานสุวรรณŽ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะผู้ดูแลภาพรวมการอำนวยความสะดวกประชาชนในการเข้าชมนิทรรศการครั้งนี้

วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา วิทยาลัยเทคโนโลยี และอาชีวศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นลูกหม้อกรมศิลปากร เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งนายช่างสำรวจ 2 ได้ 3 ปี ไปเป็นวิศวกรโยธา 8 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะกลับเข้ามาเป็นวิศวกรโยธา 4-8 วช กรมศิลปากร ปี 2551 เป็นวิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ และก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม ในปี 2556 และอีก 3 ปีต่อมา ขึ้นเป็นรองอธิบดีกรมศิลปากร

Advertisement

กิตติพันธ์เล่าถึงการทำหน้าที่ตรงนี้ว่า ในช่วงแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ผมเป็นรองอธิบดีกรมศิลปากร กำกับดูแลสำนักสถาปัตยกรรม และสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศ ดูแลตั้งแต่การออกแบบจนแล้วเสร็จ ลงมือก่อสร้างในเดือนมกราคม 2560 เริ่มทยอยแบ่งปันพื้นที่จากประชาชนที่อยู่ในจุดพักคอยการเข้ากราบพระบรมศพ จนกระทั่งการก่อสร้างเต็มพื้นที่

ช่วงเดือนมีนาคม ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองปลัด วธ. ได้เข้ามามีส่วนช่วยงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่เกี่ยวข้อง มีโอกาสได้ร่วมเดินในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ได้เข้ามาดูแลการเข้าชมนิทรรศการของประชาชน

“ผมถือว่าผมมีโอกาสที่ดีมากในชีวิต ที่ได้เข้าไปมีส่วนทำงานที่เกี่ยวข้องกับพระเมรุมาศตั้งแต่ต้น ซึ่งผมขอเป็นตัวแทนครอบครัวผมในการทำงานนี้ ทุกคนก็ภูมิใจและเป็นสิ่งที่ผมเองก็ภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องที่เราสามารถบอกเล่าให้ลูกหลานได้ฟังŽ”

รองปลัด วธ.บอกด้วยความปีติ รวมทั้งกับงานครั้งนี้ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ ที่ประชาชนทุกคนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจะได้เข้าชมพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของคนไทยที่ร่วมใจจัดสร้างถวายเพื่อส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่สรวงสวรรค์

ภาพรวมการจัดนิทรรศการ?

นับตั้งแต่วันเปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการวันแรก วันที่ 2 พฤศจิกายน มีประชาชนเข้ามาชมนิทรรศการจำนวนมาก แต่ยอดผู้เข้าชมก็ยังไม่ถึงจำนวนที่ วธ.เคยคาดการณ์ไว้คือ ประมาณ 100,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการจากตัวเลขประชาชนที่เข้ากราบสักการะพระบรมศพ อย่างไรก็ตาม คิดว่าแรงจูงใจการเข้าชมนิทรรศการมีความแตกต่างกับการเข้ากราบสักการะพระบรมศพ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริง แต่นิทรรศการครั้งนี้ถือเป็นการมาดูงานสถาปัตยกรรมในการจัดสร้างพระเมรุมาศ ที่สามารถหาดูข้อมูลได้หลากหลายหากไม่ได้เดินทางมายังสถานที่จริง อย่างไรก็ตาม ยอดผู้เข้าชมก็ถือว่าไม่น้อย โดยวันแรกมีผู้เข้าชม จำนวน 40,339 คน แบ่งเป็นประชาชน 39,825 คน พระภิกษุสงฆ์ 137 รูป สามเณร 12 รูป ผู้ปฏิบัติธรรม 30 คน และผู้พิการ 335 คน ทาง วธ.คาดการณ์ว่า จำนวนผู้เข้าชมจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงวันหยุด วันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งตัวเลขผู้เข้าชมวันละ 60,000 กว่าคน

ขณะเดียวกันจากการสุ่มตรวจสอบพบว่า ผู้ที่เข้าชมนิทรรศการส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดยังเดินทางเข้าชมน้อย เชื่อว่าในช่วงที่เหลือประชาชนจากจังหวัดต่างๆ จะเดินทางเข้ามามากขึ้น รวมถึงจะมีการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ซึ่งขณะนี้มีการประสานเข้ามาค่อนข้างมาก ทาง วธ.จึงพยายามจัดสรรคิวเข้าชมที่ไม่ไปกระทบกับประชาชนที่เดินทางเข้ามารอตรงเต็นท์พักคอย ซึ่งต้องพยายามไม่ให้รอนานเกินไป เชื่อว่าจำนวนผู้เข้าชมจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่ตามยอดที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก

ช่วงวันแรกมีการปรับแผนเส้นทางเดินชม?

ในช่วงการซ้อมวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เราปล่อยให้ประชาชนเข้าชมรอบละ 5,000 คน เพื่อจะดูจำนวนประชาชนกับชั่วโมงการเข้าชม ซึ่งค่อนข้างจะมีผลกระทบมาก โดยในวันซ้อมมีการเปิดให้ประชาชนขึ้นไปชมบนชั้นชาลาที่ 1 และ 2 ของพระเมรุมาศ ทำให้เกิดความเบียดเสียด หลายฝ่ายจึงกังวลว่า มีโอกาสที่พระเมรุมาศและประติมากรรมตกแต่งอาจจะได้รับความเสียหาย ซึ่งก็ถือว่ามีโอกาส เพราะคนจำนวนมากทำให้ไม่สามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่

ดังนั้นจึงมีการปรับ โดยยกเลิกการขึ้นไปบนพระเมรุมาศ และปรับเส้นทางการเข้าชม จากเดิมที่ให้เข้าชมอย่างอิสระ เป็นให้เวียนทักษิณาวรรต หรือเวียนขวา โดยประชาชนทุกคนที่เข้าชมจะได้รับโปสการ์ดที่ระลึกภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยประชาชนสามารถถ่ายรูปพระเมรุมาศได้ตลอดเส้นทาง ซึ่งเป็นวิธีที่ดี มีประสิทธิภาพในการเข้าชม

ขณะเดียวกัน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจถึงวิธีการเข้าชมที่เหมาะสมมากขึ้น โดยผมเองมีโอกาสเดินตรวจพื้นที่ และเห็นว่าประชาชนบางส่วนที่เดินทางมาคนเดียว ขอความช่วยเหลือจิตอาสาให้ช่วยถ่ายรูปให้ หลังจากมีการประชาสัมพันธ์ไม่ให้ถ่ายรูปด้วยตนเอง หรือเซลฟี่

ทั้งนี้ ยังพบว่ามีการเซลฟี่ในพื้นที่รอบนอกบ้าง แต่ไม่ใช่กิริยาที่ไม่เหมาะสม ภายหลังมีการประชาสัมพันธ์ ห้ามประชาชนจับหรือสัมผัสประติมากรรมตกแต่ง ต้นไม้ กระถาง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย พบว่า ส่วนใหญ่มีวินัยมากขึ้น โดยผมพบประชาชนคนหนึ่งก้มลงมองที่กระถาง ซึ่งมีเม็ดดินเผาใช้ปิดคลุมต้นไม้เพื่อความเรียบร้อยเพราะข้างล่างเป็นดิน เขาก็ถามว่า เม็ดอะไร แต่ไม่ได้มีการสัมผัส หรือหยิบขึ้นมาดู นั่นหมายความว่า ส่วนใหญ่เข้าใจคำแนะนำในการชม ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ช่วงที่ผ่านมาได้ผลในทางที่ดี คนเข้าใจ

กระแสข่าวค่อนข้างมากว่า การซ้อมเข้าชมนิทรรศการฯ วันที่ 1 พฤศจิกายน ทำให้เกิดความเสียหายต่อพระเมรุมาศ รูปปั้นเทวดาชำรุดเสียหาย?

ผมไม่มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบบนพระเมรุมาศ หลังมีการปิดพื้นที่ไม่ให้ประชาชนขึ้นชม ซึ่งเราเองก็ไม่ควรขึ้นไปเช่นกัน จะขึ้นไปตรวจสอบเฉพาะกรณีที่เกิดความเสียหาย เช่น เมื่อหลายวันก่อนมีลมพัดแรงทำให้ฉากบังเพลิงเกิดการชำรุดเสียหาย แต่ก็มีการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

ส่วนความเสียหายอย่างอื่นที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียล หลายอย่างไม่อยากเรียกว่าความเสียหาย เพราะเป็นการทำงานในช่วงเวลานั้นๆ เช่น มีการเจาะพื้นเพื่อจะฝังไฟอัพไลต์ แต่มีรอยกรีดซึ่งจริงๆ เป็นตำแหน่งในการฝังไฟ กรณีนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากการนำชมในวันซ้อม แต่เป็นช่วงของการทำงาน

ส่วนรูปปั้นเทวดาที่มีการชำรุดนั้น รูปปั้นเทวดาทำจากไฟเบอร์กลาสที่มีความคงทน ไม่สามารถเด็ดหรือหักได้เหมือนงานปูนปั้น การที่คนจะเอามือไปบีบไปหักนั้น คิดว่าเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เครื่องมืองัดแงะถึงจะหลุดออกมาได้ อีกทั้งรูปปั้นเทวดา เฉพาะฐานสูงถึงเมตรกว่า ข่าวที่เผยแพร่ออกไปไม่ทราบว่าเป็นประติมากรรมในสถานที่ใด ที่พบชำรุดมีเพียงงานประดับผ้าทองย่นหลุดร่อนบ้าง เพราะใช้ติดด้วยกาวผ่านแดดและฝนมาระยะหนึ่ง การหลุดร่อนออกมาบ้างจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ก็มีทางทีมช่างจากกรมศิลปากรมาดูแลงานศิลปกรรมให้มีสภาพสวยงามอยู่ตลอดเวลา รวมถึงขณะนี้ยังเพิ่มทีมช่างเข้ามาดูแลระบบสาธารณูปโภค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วย

“…ยังพบว่ามีการเซลฟี่ในพื้นที่รอบนอกบ้าง แต่ไม่ใช่กิริยาที่ไม่เหมาะสม ภายหลังมีการประชาสัมพันธ์ ห้ามประชาชนจับหรือสัมผัสประติมากรรมตกแต่ง ต้นไม้ กระถาง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย พบว่า ส่วนใหญ่มีวินัยมากขึ้น…Ž”

ประเมินประชาชนให้ความสนใจเข้าชมส่วนใดมากสุด?

สนใจพระเมรุมาศมากที่สุด แต่ส่วนตัวถือว่าทุกองค์ประกอบมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ส่วนที่คนทั่วไปอาจจะเข้าชมหรือให้ความสนใจน้อยที่สุด คือนิทรรศการสัมผัส ซึ่งเป็นการจัดสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะให้ผู้พิการทางสายตาได้สัมผัส และไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสัมผัส เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย แม้ปริมาณคนไม่หนาแน่นเท่ากับนิทรรศการอื่นๆ แต่ก็ยังถือว่าไม่น้อยมากนัก เพราะคนทั่วไปก็ผ่านเข้าไปดู จำนวนคนเข้าดูน้อยไม่ใช่เพราะไม่ดี แต่เพราะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย

การจัดระบบการเข้าชมพระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่างจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ผ่านมาหรือไม่?

พระเมรุมาศครั้งก่อนหน้านี้ ก็มีการจัดระบบการเข้าชม แต่อาจจะมีคนเข้าชมไม่มากเท่านี้ เพราะต้องเข้าใจว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระบารมีที่แผ่ไพศาล พสกนิกรชาวไทยทุกคนรักและศรัทธาพระองค์ท่าน จึงมีคนเข้ามากราบพระบรมศพ และเข้าชมนิทรรศการมากขนาดนี้ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดระบบการเข้าชมที่เป็นระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับความรู้และชมความงดงามของพระเมรุมาศได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยคณะกรรมการจัดนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ มาดูแลหลายฝ่าย ซึ่งมีการประชุมหารือมากกว่า 2 เดือน แต่ช่วงเวลาการติดตั้งนิทรรศการค่อนข้างสั้น เพราะริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ริ้วที่ 6 ซึ่งเป็นริ้วขบวนสุดท้าย เสร็จสิ้นในวันที่ 29 ตุลาคม หลังจากนั้น เราจึงมีโอกาสเข้ามาติดตั้ง และเปิดทดสอบวันที่ 1 พฤศจิกายน

การจัดนิทรรศการครั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ทั้งข้าราชการ วธ.เอง ที่เข้ามาดูแลประชาชนแต่ละวัน ไม่ต่ำกว่า 150 คน แบ่งเป็น 2 ผลัด ผลัดแรก เวลา 05.00-15.00 น. ผลัดที่ 2 คือ 15.00-23.00 น. นอกจากนี้ยังมีในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เข้ามาช่วยดูแลอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ จิตอาสา ภาคประชาชน นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการส่วนอื่นๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามามีส่วนร่วมอีกมากมาย รวมกันแล้วแต่ละวันน่าจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลประชาชนหลายร้อยคน

การดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคณะสงฆ์?

เรามีการประสานงานกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และกรมการศาสนา ในการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลนักบวชและคณะสงฆ์ โดยทาง วธ.อำนวยความสะดวกให้ผ่านจุดคัดกรองที่ 3 หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อความสะดวกเรียบร้อย และมีเต็นท์สำหรับพักคอย ซึ่งหากเทียบสัดส่วนคณะสงฆ์กับประชาชนที่จะเข้ามาก็ถือว่าไม่มาก เฉลี่ยวันละ 200 รูป

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมนิทรรศการ จะต้องเข้าคิวผ่านจุดคัดกรองเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป หากต้องการถ่ายภาพพระเมรุมาศเพียงอย่างเดียว มีการจัดพื้นที่บริเวณถนนเส้นกลางท้องสนามหลวง ด้านหน้าทางเข้าพระเมรุมาศไว้รองรับ แต่จะเปิดให้เข้าถ่ายภาพหลังจากที่ประชาชนในแต่ละชุดผ่านเข้าสู่พระเมรุมาศเรียบร้อยแล้ว ให้เวลาชุดละ 10-15 นาที จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเชิญออก และเชิญประชาชนชุดต่อไปเข้าชมนิทรรศการ

โดยการเปิดให้ประชาชนเข้าชมจะประเมินจากจำนวนผู้เข้าชมบริเวณท้ายแถว หากยังมีพื้นที่ว่างจะเปิดให้ประชาชนชุดต่อไปได้เข้าชมทันที เพื่อไม่ให้รอคอยเป็นเวลานาน โดยกำหนดเวลาเข้าชมรอบละ 45 นาที-1 ชั่วโมง

ปัญหาอุปสรรคการทำงานครั้งนี้?

การทำงานโดยทั่วไป มีการสั่งการมอบหมายงานไว้อย่างชัดเจนตามลำดับ แต่อุปสรรคเฉพาะหน้า เช่น การกำหนดจำนวนผู้เข้าชม จากเดิมกำหนดไว้รอบละ 5,000 คน จากการซ้อมพบว่าหนาแน่นมากเกินไป ก็มีการปรับลด เพื่อให้ประชาชนเข้าชมได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเส้นทางการชม เดิมเปิดให้เข้าชมอิสระ ก็เปลี่ยนมากำหนดเส้นทางการเข้าชม โดยให้เวียนขวา เพื่อให้ประชาชนได้ชมนิทรรศการอย่างละเอียด และลึกซึ้งมากขึ้น

ทั้งนี้ การสั่งการผู้ใหญ่จะดูจากสภาพปัญหา และข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เป็นสำคัญ จากนั้นจึงลองประสานและปรับใช้ เพราะนโยบายชัดเจนว่าต้องดำเนินการให้การเข้าชมมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เช่น เวลาการเข้าชม ไม่ใช่ว่าต้อง 1 ชั่วโมงพอดี เพราะบางคนมาเป็นครอบครัว หมู่คณะก็ต้องรอออกพร้อมกัน เป็นต้น ทุกอย่างสามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์จริง

ปัญหาอุปสรรคที่พบจริงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องระบบสาธารณูปโภค ห้องน้ำ ถังขยะ เพราะการออกแบบประเมินไว้สำหรับประชาชนไม่เกิน 10,000 คน ดังนั้นอัตราการใช้ก็อาจจะไม่ได้มากนัก เมื่อมีประชาชนจำนวนมากเข้ามาใช้พื้นที่ ทำให้เกิดความสะสม ห้องน้ำมีปัญหาเรื่องกลิ่นบ้างแต่เราก็พยายามแก้ไข จัดเส้นทางให้ประชาชนได้เข้าห้องน้ำในหลายเส้นทางมากขึ้น ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องมาดูและแก้ไขตามสถานการณ์

ต้องดูแลตรงนี้ตลอด เหนื่อยหรือไม่?

ถามว่าเหนื่อยหรือไม่ คงเป็นเพียงความเหนื่อยทางกาย เพราะผมเองถือว่าการมีโอกาสได้ถวายงานในครั้งนี้ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด และสิ่งที่ชดเชยทำให้ความเหนื่อยล้าหายไปได้คือการได้เห็นประชาชนที่เข้าชมนิทรรศการมีความสุข ได้รับความสะดวกไม่ติดขัด ซึ่งเท่าที่ดูประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างชื่นชมการจัดสร้างพระเมรุมาศในครั้งนี้ว่ามีความสมพระเกียรติอย่างสูงสุด ชีวิตนี้คงไม่มีอะไรที่จะสร้างความภูมิใจได้เท่านี้อีกแล้ว

คำสอนใดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ยึดถือปฏิบัติ?

หลายเรื่องที่พระองค์ทรงสอนไว้ สามารถใช้ได้ดีในวงกว้าง เอาแค่หลักการทรงงาน เข้าถึง เข้าใจและพัฒนาŽ ก็สามารถแผ่ขยายไปได้ทุกเรื่อง เช่น การเข้าถึงผู้ใต้บังคับบัญชา เราต้องเข้าถึงตัวเขา เข้าใจว่าเขามีภาระข้อจำกัดแบบไหน และควรพัฒนาเข้าไปในทิศทางใด ตรงนี้เป็นเรื่องของคน

ส่วนเรื่องการทำงาน ก็สามารถนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ โดยต้องเข้าใจปัญหา และคิดว่า ถ้าเป็นเราจะแก้ปัญหานั้นได้ด้วยวิธีการใด ยังไม่รวมถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่อะไรก็ได้ ถ้าเราพอเพียง จะรู้สึกสบาย แล้วจะมีความสุข ตรงกับหลักทางพระพุทธศาสนาคำหนึ่งที่บอกว่า สันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่งŽ

สันโดษ ก็คือความพอเพียง พอใจในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ และหากทุกคนรู้จักพอเพียง จะมีเหลือเผื่อแผ่ แบ่งปันถึงคนอื่นๆ ด้วย ตรงนี้เป็นหลักง่ายๆ ที่ผมตีความด้วยตนเอง

ตอนนี้ผมถือว่า ตัวเองเป็นข้าราชการ 2 แผ่นดิน เช่นเดียวกับหลายคน การทำงานหลายๆ อย่างก็คงไม่มีความเปลี่ยนแปลง พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงมีความปรารถนาดี อยากให้พสกนิกรชาวไทยอยู่อย่างมีความสุข ถ้าข้าราชการยึดถือหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 นำมาปฏิบัติในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 จะเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้ไม่ต้องทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายมากนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image