สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นักสร้างความเปลี่ยนแปลง กับฝัน ‘สมาร์ทซิตี้’ ที่ต้องเป็นจริง

ชีวิตของเขาดูราบรื่น ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย

นับจากตำแหน่งศาสตราจารย์ ด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ คนแรกของไทย เมื่ออายุ 37

ผู้คิดค้นทฤษฎีการคำนวณขุดเจาะอุโมงค์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ที่มีผู้อ้างอิง 1 ใน 5 คนของโลกในด้านนี้

เคยเป็นนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ที่อายุน้อยที่สุด

Advertisement

เป็นผู้ก่อตั้งคณะกรรมการยุววิศวกรแห่งประเทศไทย

และหน้าที่สำคัญอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง

เขาปฏิเสธว่าตำแหน่งงานกับอายุเท่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะในต่างประเทศ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรือ “พี่เอ้” ของนักศึกษา

ศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สจล., ปริญญาโท 2 ใบ ด้านนโยบายและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม ม.วิสคอนซิน แมดิสัน, ปริญญาเอกวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม MIT

ปัจจุบันในวัย 45 ดำรงตำแหน่ง ประธาน ทปอ. และรักษาการประธานสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในความสำเร็จที่พุ่งทะยาน สุชัชวีร์เผยว่า ชีวิตไม่ได้ราบรื่นแต่ต้น เคยเจอทั้งสอบไม่ติดและเกือบโดนรีไทร์

เขาเป็นคนระยอง ลูกคนเดียวในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นครู ใส่ใจสนับสนุนเรื่องการศึกษา เวลามีกิจกรรมน่าสนใจในกรุงเทพฯก็จะพาเขานั่งรถ บขส.มาจากระยอง

เรียนดี เป็นนักกีฬา และนักกิจกรรมตัวยงตั้งแต่เด็ก จบ ม.3 จึงมาสอบเข้า ร.ร.เตรียมอุดมฯ ตามความคาดหวังของพ่อแม่

“วันก่อนประกาศผลสอบ คุณพ่อนั่งรถ บขส.จากระยอง ถึง ร.ร.เตรียมฯหัวค่ำ เกาะรั้วรอภารโรงแปะผลสอบตอนเที่ยงคืนเพื่อเปิดให้ดูตอนเช้า พอนักการมาแปะ คุณพ่อก็ขอความอนุเคราะห์ รปภ. เขียนชื่อลูกให้ไปช่วยดู คุณ รปภ.เดินไปลิบๆ แล้วยกมือขึ้นมา คุณพ่อนึกว่าลูกสอบได้ที่ 5 รปภ.กลับมาบอกว่าลูกชายสอบไม่ติด ให้ไปดูอีกรอบก็ไม่ติด พ่อนั่งรถกลับถึงบ้านเกือบเช้า ร้องไห้ผิดหวัง เพราะคิดว่าโรงเรียนที่ดีในกรุงเทพฯจะช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จ ผมก็เสียใจมากที่ทำให้พ่อแม่ที่ประคบประหงมเรามาผิดหวัง”

แม้มีคนเสนอให้เข้าด้วยวิธีพิเศษ แต่พ่อแม่เขาปฏิเสธว่า “ถ้าเริ่มต้นแบบนี้ อนาคตก็ไม่น่าไปได้ถูกต้อง” และให้เรียน ม.ปลายที่เดิม

เข้าเรียนวิศวะลาดกระบังด้วยโควต้าช้างเผือกเด็กต่างจังหวัด เป็นนักกิจกรรมและประธานนักศึกษา จนไปศึกษาต่างประเทศ ประสบความสำเร็จด้านการวิจัย จนกลับมาทำงานสอนและบริหารการศึกษา จนถึงการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน

“…วันนี้ไฟติ้งสปิริตน้อยไปสำหรับคนไทย เราแพ้มาเลเซีย สิงคโปร์ ทั้งที่ไม่ควรแพ้ ไฟติ้งสปิริตเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลก…”

เคยเกือบถูกรีไทร์ตอนเรียน?

ตอนมาเรียนลาดกระบัง ทำแต่กิจกรรรม เล่นกีฬา ไม่ตั้งใจเรียน เทอมแรกได้ 2.75 เป็นฮีโร่เลย เพื่อนบอกนี่ขนาดไม่ได้เรียนหนังสือนะ เทอม 2 ยากขึ้น ก็ทำนิสัยเหมือนเดิม สมัยก่อนแปะเกรดหน้าตึกสำนักทะเบียน เปิดดูได้ D D+ C ท่าทางไม่ค่อยสวย เพราะต่ำกว่า 2 ถูกรีไทร์ เพื่อนก็มาปลอบใจว่าถึงเอ้ไม่อยู่ที่นี่ก็ยังเป็นเพื่อนกันนะ แต่วิชาสุดท้ายเกรดยังไม่ออก วิชานี้น่าสนใจมาก

คณบดีสมัยนั้น อ.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ เป็นคนมีวิสัยทัศน์ ต้องการสร้างภาวะความเป็นผู้นำ ทุกวันพฤหัสฯ ให้เด็กปี 1 เข้าหอประชุมใหญ่ แล้วเชิญผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จทั้งวงราชการ อาจารย์ นักธุรกิจ มาพูดสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อนที่เรียนเก่งก็เข้าไปก็นั่งทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ พวกเรียนไม่เก่งก็นอนหลับ ผมชอบวิชานี้มาก อยากรู้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จต้องทำยังไง นั่งจดนั่งฟังตลอด

ปรากฏว่าข้อสอบวิชานี้ ถามว่าแต่ละท่านพูดอะไรให้สรุปมา เพื่อนที่ไม่ตั้งใจฟังก็สรุปไม่ได้ ผมตอบไป 2 เล่มกระดาษคำตอบ วิชาสุดท้ายได้ A เกรด 2.0 พอดี รอดจากการถูกรีไทร์

ตอนนั้นพ่อย้ายมาชลบุรี ผมนั่งรถเมล์กลับบ้าน สมัยนั้นไม่มีมือถือ พ่อมารอที่ท่ารถแต่เช้ายันเย็น พอรับกลับบ้านพ่อบอกว่าพา น.ศ.ไปช่วยงานจิตอาสาที่วัด เจ้าอาวาสดูดวงให้ ทำนายว่าลูกจะได้เกียรตินิยม ผมสวนเลยว่าหมอดูคู่หมอเดา พอบอกว่าได้ 2.0 พ่อมีสีหน้าผิดหวังออกมาแวบหนึ่ง แล้วบอกว่าไม่ถูกรีไทร์ก็ดีใจแล้ว

ผมจำสีหน้านั้นได้แม้จะแวบเดียว จากนั้นไม่เคยได้ต่ำกว่า 3.7-3.8 กลับมาเป็นเด็กตั้งใจเรียน สอบได้ที่ 1 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สุดท้ายเรียนต่อเมืองนอกจนจบปริญญาเอกที่ MIT

จุดเริ่มสนใจศึกษาเรื่องรถไฟใต้ดินที่ MIT?

ผมมีความฝันว่าอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ เปลี่ยนแปลงเมือง ครั้งหนึ่งตอนเด็ก สมัยนั้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มาขึ้นที่ จ.ระยอง คุณพ่อไปงานได้หนังสือของบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ หน้าแรกมีรูปผู้ใหญ่อายุ 50 กว่า มือเท้าโต๊ะนิ้วมีแหวนทอง บุคลิกดีมาก ผมบอกพ่อว่าวันหนึ่งอยากไปเรียนที่เดียวเหมือนคุณลุงคนนี้ เขาจบปริญญาเอก MIT ท่านนั้นคือ ดร.เชาวน์ ณศีลวันต์ อดีตองคมนตรี พ่อบอกว่าถ้าเอ้ตั้งใจเรียนยังไงก็ไปถึง แต่ในใจพ่อคงคิดว่าไกลไปสำหรับเด็กต่างจังหวัดอย่างเรา

พอเรียนลาดกระบังแล้วความฝันนี้เฉิดฉายอีกครั้ง แต่ MIT นานๆ จะรับเด็กไทยสักทีและมักรับจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ลาดกระบังยุคนั้นคนก็ไม่รู้จักมากมายเหมือนปัจจุบัน

ที่ลาดกระบังทุกคนต้องทำโปรเจ็กต์จบ ภาคคอมพิวเตอร์เขียนโปรแกรม ภาคโทรคมนาคมสื่อสารทำวิทยุสื่อสาร ภาคโยธาทุบคอนกรีตทดลองเอาขี้เถ้าผสมแกลบหรือเขียนโปรแกรม แต่เท่านี้ไม่พอให้มหาวิทยาลัยระดับโลกสนใจเรา

ผมรวบรวมเพื่อน 2 คน ออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของเมืองไทย ตั้งแต่ยังไม่มีบีทีเอส ห้องสมุดลาดกระบังก็ไม่มีหนังสือพวกนี้เลย นั่งรถเมล์ไปซีร็อกซ์หนังสือที่เอไอที รังสิต เพราะเป็นห้องสมุดคณะวิศวะที่ดีที่สุดยุคนั้น กลับมาเขียนแบบ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำโมเดลจำลองอุโมงค์รถใต้ดิน

ทำธีสิสเสร็จได้เอกลุ่มเดียวของชั้น แต่จะไม่เกิดประโยชน์ถ้าไม่ทำจริง ผมนั่งรถเมล์ไปเสาชิงช้า ขอพบผู้ว่าฯกทม. นั่งเฝ้าเกือบ 2 อาทิตย์ เลขาฯหน้าห้องบอกจะให้พบผู้ว่าฯ แต่ต้องเอาคณบดีมาด้วย

ผมเข้าพบคณบดีง่าย เพราะเป็นประธานนักศึกษา บอกท่านว่าจะพาไปพบผู้ว่าฯกทม. ท่านวางปากกาเลย ผมบอกว่าทำโปรเจ็กต์ปี 4 มาแก้ปัญหาการจราจร สุดท้ายได้เข้าพบผู้ว่าฯด้วยกัน

คณบดีบอกว่า น.ศ.เราออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกจะมามอบให้ ท่านผู้ว่าฯคือคุณกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา บอก “ขอบคุณครับ กำลังคิดอยู่ว่าจะเป็นลอยฟ้าหรือใต้ดินดี” ผมสงสัยว่าท่านจะเลิกคุยเลยบอกว่า “ท่านครับ รถไฟฟ้าใต้ดินมีความจำเป็นมาก แต่เมืองไทยไม่มีใครจบด้านนี้มาก่อนเลย ผมขออาสาเป็นคนไทยคนแรกไปเรียนด้านการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน” ท่านบอก “ดีมากเลยไปที่ไหนล่ะ” เข้าทางเลย ผมบอก “ไปที่เดียวกับที่ท่านจบแหละครับ” ผมสืบมาว่าท่านจบสถาปัตย์ MIT พูดถึงโรงเรียนเก่าท่านจึงชวนคุย

สุดท้ายผมบอกว่าจะไปเรียนได้ต้องได้จดหมายแนะนำด้วย ท่านผู้ว่าฯเป็นครูมีความเมตตาจึงเขียนจดหมายแนะนำให้

นอกจากจดหมายแนะนำยังมีสิ่งอื่นที่นำมาพิจารณา?

การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยระดับโลกในอเมริกา เขาไม่ได้ดูเกรด ไม่ได้ดูภาษาอังกฤษ ผมสอบได้เกียรตินิยมคนสุดท้าย เพราะเกเรตอนปี 1 คะแนนก็ต่ำ สอบโทเฟล 14 ครั้ง กว่าจะได้ถึง 600 คะแนน

ผมเจอคำตอบตอนไปเรียน MIT ว่าคณะกรรมการชอบจดหมายแนะนำตัวของผม ผมเขียนว่า ผมนั่งรถเมล์มาเรียนไปกลับ 2 ชั่วโมง มองนอกหน้าต่างระหว่างโหนรถเมล์ เมื่อสมัยก่อนไทยได้ชื่อว่าสยามเมืองยิ้ม แต่ตอนนี้รอยยิ้มหายหมดแล้ว เพราะมลพิษ รถติด คนหน้าบูดบึ้ง ในฐานะประธานนักศึกษาที่เรียนโยธาก็คิดว่าจะแก้ปัญหา จึงรวบรวมเพื่อนออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ คนจะได้ไม่ใช้รถ ทำเสร็จแล้วยื่นให้ผู้ว่าฯกทม.นำไปใช้ และบอกว่า MIT มีศิษย์เก่าประสบความสำเร็จเยอะแยะ ผมไม่ขออะไรมาก ขอเรียนเอาความรู้เรื่องการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินมาสร้างที่กรุงเทพฯ เพื่อนำรอยยิ้มกลับสู่ประเทศไทย

ผมเป็นคนไทยคนเดียวที่เข้า MIT สาขาวิศวะปีนั้น ความมหัศจรรย์เกิดขึ้นในชีวิตผม จากที่สอบเข้าเตรียมฯไม่ติด จะถูกรีไทร์ สอบโทเฟล 14 ครั้ง เด็กในวัยนั้นกล้าไปรอผู้ว่าฯกทม. 2 สัปดาห์ กล้าไปบอกคณบดีให้ไปพบด้วย เรื่องแบบนี้สมัยก่อนผมคิดว่าน่าอายไม่อยากเล่า ไม่อยากให้คนอื่นเห็นว่าเราไม่เก่ง แต่วันนี้อยากให้เห็นว่าความสำเร็จ ไม่ใช่ว่าคุณเกิดมาเก่งหรือพร้อม แต่คุณมีจิตใจที่จะสู้แค่ไหน

วันนี้ไฟติ้งสปิริตน้อยไปสำหรับคนไทย เราแพ้มาเลเซีย สิงคโปร์ ทั้งที่ไม่ควรแพ้ ไฟติ้งสปิริตเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลก

ให้ความสำคัญเรื่องความเปลี่ยนแปลง?

ผมมาอยู่ลาดกระบังเน้นเรื่องสร้างความเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เราดึง คาร์เนกีเมลลอน มหาวิทยาลัยระดับโลก อันดับหนึ่งด้านไอทีมาตั้งที่ไทย สู้กับสิงคโปร์มา 2 ปี สุดท้ายชนะ เขามาช่วยเรื่องอุตสาหกรรมและงานวิจัยของไทย ตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ชื่อว่า CMKL เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นสูงของคนไทยทั้งหมด ไม่ใช่ของลาดกระบัง

เรายังเปิด ร.ร.สาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ประสบความสำเร็จมาก แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี นั้นจำเป็นมาก เอาครูจบจาก MIT-ฮาร์วาร์ด-โคลอมเบีย มาสอน เด็กเข้ามาไม่ถึงปี ได้ที่ 1 หุ่นยนต์โลก เข้าค่ายเคมีโอลิมปิกประสบความสำเร็จมาก

ผมต้องการสร้างคนสำหรับการแข่งขันระดับโลก ผู้นำยุคที่จะเปลี่ยนโลกต้องเก่งเทคโนโลยี นี่คือหัวใจสำคัญ

เพิ่งเปิดคณะแพทย์หลักสูตรใหม่ด้วย?

เป็นคณะแพทย์ที่สร้างจุดเด่นโดยเอาวิศวะมารวมด้วย เป็นแพทย์ที่มีความสามารถในการทำวิจัย สร้างองค์ความรู้ผลิตเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ด้วยตัวเอง เราไปโรงพยาบาล อุปกรณ์มาจากต่างประเทศหมด แม้แต่เข็มฉีดยา คนไทยทำแต่ถุงมือยางกับของเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้อนาคตเราต้องพึ่งพาต่างชาติไม่รู้กี่แสนล้าน

เราสร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมา ถือเป็นการปฏิวัติการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา จนหนังสือพิมพ์ชั้นนำของอเมริกายกย่องว่า สจล.เป็นมหาวิทยาลัยที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน ตอนนี้เข้ามาเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก 1 ใน 5 ของมหาวิทยาลัยไทย เป็นความสำเร็จในระยะเวลา 2 ปีกว่าเท่านั้นเอง

การสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องส่งผลถึงสังคมโดยรวม?

เคยสงสัยไหมว่าทำไมกรุงเทพฯต้องรถติดชั่วกัลปาวสาน มี PM2.5 มีคุณป้าทุบรถ มีน้ำท่วมรอระบาย

ถ้าถามคนทั่วไปว่ากรุงเทพฯหรือเมืองจะเปลี่ยนแปลงได้ไหม ทุกคนคิดว่าไม่น่าได้ เหมือนที่เคยมีแต่คนปรามาสผมว่าไม่น่าไปเรียนเมืองนอกได้ แต่วันนี้ไม่เหมือนวันก่อน วันนี้เรื่องเทคโนโลยีมีจริง

เดือนก่อนฝนตกตั้งแต่ตี 5 ตอนเช้าน้ำท่วม รถติด 3-4 ชั่วโมง กทม.รู้ว่าจะตกตอนเที่ยงคืน ล่วงหน้า 4-5 ชั่วโมง ไปเช็กแล้วเครื่องสูบน้ำบางเครื่องไม่พร้อมทำงาน

ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ ม.ลาดกระบังพยากรณ์ฝนตกล่วงหน้าเกือบ 24 ชั่วโมง รู้ว่าจะตกตั้งแต่ลาดกระบัง หนองจอก เข้าทางลาดพร้าวก่อนถึงเมือง ถ้ารู้ล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมง สามารถส่งสัญญาณเช็กเครื่องสูบน้ำบริเวณที่ฝนจะเข้ามาได้ เดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์เล็กๆ เป็นไวไฟแปะตามท่อว่าเครื่องสูบน้ำพร้อมไหม ราคาไม่แพง เขาใช้กันมานานแล้ว

ถ้าเครื่องแถวหนองจอกไม่พร้อม ก็ย้ายเครื่องจากหนองแขมมา 24 ชั่วโมง ทำทัน แล้วส่งไลน์ไปถึง ผอ.ร.ร.ในเขตให้เลื่อนเรียนไปช่วงบ่ายได้ไหม ส่งถึงเจ้าของออฟฟิศให้ พนง.มาทำงานช้า 2 ชั่วโมง หรือทำงานที่บ้านไป อย่างน้อยก็เบาบางลง ไม่ต้องแห่กันไปโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ชีวิตเราเป็นแบบนี้ไม่ได้ นี่คือความเป็นเมืองอัจฉริยะที่เกิดขึ้นได้จริง

สจล.มีนวัตกรรมที่พร้อมแก้ปัญหา?

เราก่อตั้งสถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะและสถาบันชุมชนอัจฉริยะ เอาเทคโนโลยีที่คิดค้นออกมาแก้ปัญหาชุมชนและเมือง เช่น เรื่องรถติดจากระบบไฟจราจร บางทีตำรวจเปิดไฟให้ฝั่งตรงข้าม เราไม่ได้ไปสักที เพราะเปิดตามความรู้สึก แต่เดี๋ยวนี้มีกล้องอัจฉริยะที่ไม่แพง ประมวลผลตลอดเวลาว่าจะเปิดทางไหนก่อน เป็นระบบออโตเมติกหมด พวกนี้คือระบบปัญญาประดิษฐ์

เราต้องการเปลี่ยนเมืองกับชุมชนโดยใช้เทคโนโลยี ความรู้ต่างๆ จะไร้ประโยชน์ถ้าไม่สร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งที่รู้อยู่ว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ นั่นคือสิ่งที่ทำอยู่และจะทำให้ดี

ความรู้พร้อม เทคโนโลยีพร้อม แต่ติดที่ระบบราชการ

กทม.ทำเรื่องระบบระบายน้ำสิบกว่าปี งบแสนล้าน ระบบพยากรณ์อากาศก็แพง ที่จริงสามารถทำได้ในราคาที่ไม่แพง เทคโนโลยีจะเปล่าประโยชน์ถ้าไม่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น

คำว่า “สมาร์ทซิตี้” ทำจนคนไม่เชื่อแล้ว ป้ายอัจฉริยะไม่ได้อัจฉริยะจริง จนคนรู้สึกว่าขี้โม้ไปแล้ว แต่สมาร์ทซิตี้ทำได้จริงๆ และกำลังทำอยู่ เด็กไทยไปเรียนมหาวิทยาลัยอันดับโลกเยอะ เรียนในแล็บที่ทำสมาร์ทซิตี้ เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งหมด แต่มาเมืองไทยไม่มีโอกาส วันนี้เราพยายามสร้างสถาบันด้านเมืองอัจฉริยะเพื่อแก้ไขปัญหา และจะทำเป็นรูปธรรมให้ได้

มีการพูดคุยกับภาครัฐไหม?

เรามีงานมาแสดงตลอด รออยู่ว่ารัฐจะให้ความสนใจอย่างไร เรามีความพร้อม และอยากให้ประชาชนเชื่อว่าเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเทคโนโลยีจริงๆ แล้วเราพิสูจน์ว่าเป็นไปได้ ต้องขอโทษพลเมืองทุกคนที่ทำให้คำพูดนี้ไม่น่าเชื่อถือไปพอสมควร แต่ทำได้จริงๆ และผมมีความฝันที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่งั้นจะกลายเป็นความชินชาว่าต้องอยู่บนถนนวันละ 3-4 ชั่วโมง คุณภาพชีวิตเราแย่มาก ถ้าใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เราจะได้คุณภาพชีวิตคืนมา

อะไรทำให้ สจล.พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด?

ไฟติ้งสปิริตและแพสชั่น เกิดจากผู้นำทุกที่ที่มีความมุ่งมั่น ปรารถนาให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ตอนผมมาคนบอกเป็นไปไม่ได้หรอกจะเปิดคณะแพทย์ เปิดสาธิต เป็น ม.อันดับโลก หรือชนะสิงคโปร์ ทุกอย่างเป็นไปได้ ใน 2 ปีกว่า การทำงานหรือการเปลี่ยนแปลง มีอุปสรรค เหนื่อย เราท้อเทียมได้แต่อย่าท้อแท้ บ่นๆ บ้าง พรุ่งนี้ก็สู้ใหม่ สำคัญคือความมุ่งมั่นอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดีที่สุด และมีจิตใจความเป็นนักสู้

สิ่งไหนเป็นตัวเองมากกว่า ระหว่างงานวิศวะกับบริหาร?

ไม่ได้มองตัวเองเป็นแบบนั้นเลย สมัยก่อนเขาบอกผมเป็น Game Changer แต่ปัจจุบันเขาบอกว่าเป็น Disruptor ผมถือเป็นนักเปลี่ยนแปลงนักพัฒนามากกว่า ผมอยู่หน่วยงานวิศวะก็ทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด เป็นอาจารย์ก็สอนหนังสือให้ดี เป็นนักวิจัยเก่งอันดับโลก เป็นนักบริหารการศึกษาก็ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้ได้ นั่นคือตัวตน ผมไปอยู่องค์กรไหนในอนาคต ยี่ห้อผมคือสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำสิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ในทางที่ดี

ดูเกินจริงไหมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกที่?

(ยิ้ม) ไม่เกินจริงหรอก กว่าจะพลิกมหาวิทยาลัยได้เหนื่อยขนาดไหน ต้องดูทุกอย่างในรายละเอียด แต่ด้วยใจเป็นนักสู้และมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าก็เปลี่ยนแปลงได้ อุปสรรคทั้งนั้น ไม่มีอะไรสำเร็จในครั้งเดียว แต่ถ้าทำซ้ำๆ ไม่ยอมแพ้ ยังไงก็ต้องสำเร็จ อยากส่งไปถึงทุกคนในสังคมไทยที่ท้อแท้ ทำไมรถติด นี่นั่นไม่ได้ วัฒนธรรมองค์กรอีก เป็นไม่ได้หรอกที่จะเปลี่ยน ถูกฝังหัวอย่างนี้ ให้ลืมซะใหม่ ทุกอย่างเป็นได้จริง ทุกอย่างแก้ได้ ทุกคนมีพลังพิเศษ อยู่ที่เราจะดึงพลังนั้นออกมาจากตัวรึเปล่า

ส่วนตัวมีงานวิจัยเรื่องไหนที่อยากทำต่อ?

เรื่องสมาร์ทซิตี้นี่แหละ เพราะทำแล้วไม่ขึ้นหิ้ง ทำแล้วทุกคนได้ประโยชน์ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด

นี่คือสิ่งทำอยู่และอยากทำให้ดีขึ้น ให้เป็นผลจริงจังมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image