ฐากูร บุนปาน : ปีที่ 28 ‘ข่าวสด’ สื่อที่กัดไม่ปล่อย ในเกมพลิกผันโลกออนไลน์

ย้อนไปเมื่อ 27 ปีที่แล้ว ที่ชื่อของ “หนังสือพิมพ์ข่าวสด” ถูกใช้อย่างเป็นทางการ ใต้ร่มเงาเครือมติชน ในภาพหนังสือพิมพ์หัวสี คงไม่มีใครนึกภาพออก เมื่อในวันนี้ที่ก้าวล่วงสู่ปีที่ 28 ข่าวสดได้ขึ้นมานำเป็นสำนักข่าวออนไลน์แถวหน้าของประเทศ มีฐานผู้อ่านเติบโตมาพร้อมกับจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในไทยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ที่ต้องทำคือรักษาความสม่ำเสมอ ผมไม่เชื่อเรื่องฟลุค ผมเชื่อเรื่องทำงานหนักต่อเนื่อง แล้วมันจะเห็นเอง”

เป็นมุมมองของ ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ต่อการยืนระยะรักษาความนิยมของข่าวสดออนไลน์

ก่อนจะมองด้วยสายตาของผู้บริหารเช่นในวันนี้ ฐากูรเริ่มเส้นทางอาชีพด้วยตำแหน่งผู้สื่อข่าว อยู่กับความเปลี่ยนแปลงช่วงรอยต่อ เมื่อมติชนรับข่าวสดมาทำต่อ จนร่วมวางรากฐานให้แข็งแรงในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด พร้อมกับทีมข่าวจากมติชนและประชาชาติธุรกิจ ที่โยกย้ายไปช่วยกันปลุกปั้นหนังสือพิมพ์น้องใหม่ในเวลานั้น

Advertisement

จากความท้าทายในประเด็นข่าว เคลื่อนย้ายมาเป็นความท้าทายทางธุรกิจ กับหน้าที่การบริหารสื่อในเครือ โดยเฉพาะเมื่อทั่วโลกถูกโลกดิจิทัลเขย่าอย่างรุนแรง เปลี่ยนหน้าตาธุรกิจสื่ออย่างไม่มีวันเหมือนเดิม

เขายังยืนยันเช่นเดิมว่า แม้โลกดิจิทัลจะไม่แน่นอน ชนิดพลิกผันกันได้ในชั่วข้ามคืน แต่สิ่งที่จะทำให้ยืนระยะได้ยาวนั้นคือ “คุณภาพ” และความเชื่อมั่นในหลักการต่อสิ่งที่ทำ

Advertisement

มองพัฒนาการข่าวสด อะไรทำให้ต่างจากหนังสือพิมพ์หัวสีอื่น?

เป็นความตั้งใจแต่แรก เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว วันที่หนังสือพิมพ์ยังเฟื่องฟูอยู่ เครือมติชนเกิดมาจากการทำฮาร์ดนิวส์โดยเฉพาะ แล้ววันหนึ่งโดยเงื่อนไขบังคับต้องรับข่าวสดเข้ามา ขณะที่มีอยู่แล้ว2 ฉบับ ในทางธุรกิจอย่างแรกคือต้องทำไม่ให้ตีกันเอง ไม่แย่งตลาดกัน

เรามีมติชนเป็นฮาร์ดนิวส์ มีประชาชาติเป็นฮาร์ดนิวส์ยิ่งกว่า โจทย์ก็บอกแล้วว่าข่าวสดต้องเป็นซอฟต์นิวส์เหมือนที่เคยเป็นก่อนหน้านี้ แต่ทำยังไงจะเป็นซอฟต์นิวส์ที่คนเชื่อมั่น ไม่ใช่ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก สนุกได้ แต่สนุกแบบผู้มีปัญญา เป็นหนังสือพิมพ์อารมณ์ดี ซึ่งกว่าจะหาจุดลงตัวได้ไม่ง่าย เพราะเราไม่เคยทำซอฟต์นิวส์มาก่อน

พอหาจุดได้แล้วมันก็เริ่มเดินไปได้ แต่ละคนจะมีคาแรกเตอร์ส่วนตัว อาจเป็นการแต่งเนื้อแต่งตัวข้างนอก มติชนอาจจะแคชชวลหน่อย ใส่สูทไม่ผูกไท ข่าวสดอาจจะหกคะเมนตีลังกา บางวันก็ออกมาพบประชาชนในชุดผ้าขาวม้าผืนเดียว บางวันก็ใส่ทักซิโด้มาเชียว แล้วแต่สถานการณ์ หกคะเมนตีลังกาเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า แต่เป็นวิธีการนำเสนอ แก่นหรือแกนจริงๆ ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะคนก็มาจากเบ้าเดียวกัน คนที่ไปข่าวสดชุดแรกคือคนของมติชน-ประชาชาตินี่แหละ ฉะนั้นแก่นก็แหมือนเดิม

เหมือนบริษัทผลิตน้ำดื่ม อย่างแรกน้ำต้องบริสุทธิ์สะอาด ดื่มแล้วไม่เป็นพิษเสียก่อน แต่จะขายในหน้าตาแบบไหน ขายเป็นหยด เป็นถุง ถ้วย ขวด แทงค์ ขายผ่านท่อ ได้ทั้งนั้น แต่แกนต้องเหมือนเดิม คือดื่มแล้วปลอดภัย หนังสือพิมพ์ก็เหมือนกัน จะมารูปไหน แต่แก่นต้องเหมือนเดิม ใช้กับเรื่องธุรกิจด้วยว่าคุณไม่ได้ทำแค่หนังสือพิมพ์ คุณอยู่ในธุรกิจสื่อ คุณทำคอนเทนต์ เมื่อทำคอนเทนต์ที่ดีมาแล้วจะขายรูปแบบไหน ขายเป็นกระดาษ ขายเป็นกระจก ขายได้หมด แต่ขอให้เนื้อในมันดีจริง

แก่นที่ว่าทำให้ข่าวสดแตกต่าง?

พูดเองไม่ได้หรอก ตลาดต้องเป็นคนพูด แต่แก่นที่ว่าคือพอถึงเรื่องความเป็นความตาย เรื่องหลักการสำคัญ เช่น เรื่อง 99 ศพ เสียงมติชนกับข่าวสดไม่ได้ผิดกันเลย เป็นเสียงเดียวกันมาตลอดว่า “ไม่ได้” เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกลางบ้านกลางเมืองไม่ได้ อยู่ๆ จะมาฆ่ากันเฉยๆ ไม่ได้ ฆ่ากันแล้วก็ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าความจริงคืออะไร หาความจริงเสร็จก็ต้องหาความยุติธรรม ไม่งั้นสังคมเดินหน้าต่อไม่ได้ หลักไม่ได้ผิดกันเลย วิธีการทวงถามอาจไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง ข่าวสดอาจจิ๊กโก๋กว่า มติชนก็ผู้ดีหน่อย

ข่าวสดเติบโตมาจากข่าวประเภทไหน?

ข่าวเจาะสิ ข่าวสดโดดดึ๋งขึ้นมาได้ด้วย 2 ข่าวในปีเดียวกัน ข่าวยันตระ เริ่มปลายปี2536 จบต้นปี 2538 รวม 444 วันพอดี ยันตระทำให้ข่าวสดที่ขายอยู่วันละหลักหมื่นต้นๆ โดดไปเป็น4-5หมื่น ในเวลาไม่กี่เดือน พอถึงปี 2537 ช่วงกลางปีต่อปลายปี มีข่าว 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ทำให้จากหนังสือพิมพ์หลักหมื่นเป็นหนังสือพิมพ์หลักแสนในสัปดาห์เดียว ก็โตมาจากข่าวเจาะ ข่าวกัดไม่ปล่อย กลายเป็นสโลแกนประจำตัว เป็นหมาเฝ้าบ้านที่กัดไม่ปล่อย

ตอนเป็นบก.ข่าวสดมีข่าวไหนที่จดจำได้แม่น?

จริงๆ ก็นั่งทำด้วยกันทั้งหมด ยันตระก็ใช่ ภาวนาพุทโธก็ใช่ 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์นี่ยิ่งใช่ ทุจริตอาคารสงเคราะห์ก็ใช่ ทำข่าวทุจริตแล้วต้องขึ้นโรงขึ้นศาล 200 กว่าคดี ก็ใช่อีก ต้องบอกว่าทุกข่าว เพราะเวลาเราทำอะไรเอาจริงเอาจังแล้วเราชอบด้วย มันจะสนุกไปหมด ก็จะรู้สึกว่าทุกเรื่องที่ทำสนุกทั้งนั้น แยกกันไม่ค่อยออก ต่อเนื่องกันไป

ไม่มีข่าวไหนเป็นพิเศษ?

ต้องบอกว่าข่าว 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ จะเรียกว่าสุดยอดของการทำข่าวก็ได้ ผมเข้าใจว่าเป็นข่าวเดียวในเมืองไทยที่คนทำข่าวรู้ล่วงหน้าก่อนตำรวจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขนาดชุดทำคดีโทรมาถามว่าพยานปากสำคัญอยู่ไหน ไปเจอมาได้ยังไง ตอนนั้นเขาจะไปค้นที่เกิดเหตุสำคัญ ในทีมหลายคนยังไม่รู้เลย มีคำสั่งให้เตรียมตัวพรุ่งนี้เช้ามืดออก เขายังไม่ทันออก ข่าวสดพาดหัวไปแล้วว่าจะบุกค้น กวีวิลล่า ปราจีนบุรี

อะไรทำให้ได้ข่าวไวกว่าตำรวจ?

ผมว่าองค์ประกอบหลายอย่างมันให้ โชคดีที่ตอนนั้นพอมีข่าวยันตระ คนก็รู้แล้วว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มันพวกเลือดเข้าตา กัดแล้วไม่ปล่อยจริงๆ พอเริ่มมีชื่อเสียงทางนี้ แล้วได้แหล่งข่าวดีๆ หลายท่านที่วางใจเรา มีอะไรก็ส่งมาให้ ปะติดปะต่อจนเห็นโครงเห็นเรื่องชัด เห็นว่าเรื่องจะเดินไปทางไหน ที่เหลือคือหาข้อเท็จจริงมาใส่ รู้อยู่แล้วว่าเรื่องเกิดอย่างนี้ แต่ระหว่างนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นหน้าที่เราที่ต้องไปหาคำตอบมาบอกคนให้ได้

ตอนนั้นสนุก ทำควบคู่กับที่ตำรวจทำคดี พยานก็ได้ก่อนตำรวจ หลักฐานสำคัญก็ได้ก่อน ตอนนั้นมีนายตำรวจระดับพลตำรวจโท ตกเป็นจำเลย 2 ท่าน ท่านหนึ่งเขียนบันทึกเป็นจดหมายคล้ายจดหมายสารภาพ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีขณะนั้น อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น จดหมายยังไม่ถึงนายกฯ เราได้แล้ว นายกฯก็ยังไม่เห็น ชุดทำคดีก็ยังไม่เห็น ทุกคนเห็นจากหน้าหนึ่งข่าวสดพร้อมๆ กัน สำหรับคนทำข่าวมันก็ยืดหน่อยๆ (ยิ้ม) แปลว่ามีคนที่เชื่อใจว่าเราเอาจริง เราไม่ถอย เราพร้อมจะยืนข้างความถูกต้องยุติธรรม

อะไรทำให้ตามติดเรื่อง 99 ศพ อาจจะมากกว่าที่อื่นด้วยซ้ำ?

คิดง่ายๆ เป็นญาติคุณ จะยอมให้ตายฟรีไหม หรือแม้แต่ไม่ใช่ญาติ ถ้ายอมให้เกิดฆ่ากันกลางเมืองแล้วไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ พวกเราถูกสอนมาว่า ก็อย่าทำข่าวดีกว่า ไปทำอาชีพอื่นดีกว่า อย่าเป็นสื่อ อย่าเป็นนักหนังสือพิมพ์เลย ถ้าไม่สนใจความถูกต้อง ความยุติธรรม ความเป็นธรรม แค่นี้แหละ หลักง่ายๆ ตราบใดที่ยังไม่เกิดเรื่องพวกนี้ ก็เป็นหน้าที่จะต้องติดตามทวงถามต่อไป

ตอนนั้นคิดเรื่องจะถูกมองเรื่องสีเสื้อหรือถูกโต้ตอบในทางอื่นไหม?

ช่วยไม่ได้นะ ผมเข้าใจว่าบางเรื่องต้องดูกันยาวๆ มติชนข่าวสดเป็นที่เดียวที่เขียนบทนำหน้า 1 ว่า “อย่าออกกฎหมายนิรโทษกรรม – อย่าออกกฎหมายแบบลักหลับ” (ปี2556) แล้วก็เกิดจริงๆ เราเป็นไม่กี่ที่ที่บอกว่า บ้านเมืองถึงทางตันนะ ต้องถอยคนละก้าว ไม่งั้นมีรัฐประหาร แล้วก็รัฐประหารจริงๆ แล้วถามว่าเราเข้าข้างใคร เหมือนเรื่องเกียรติยศศักดิ์ศรีที่คนอื่นเป็นคนมอบให้ ความน่าเชื่อถือหรือภาพพจน์อะไร ก็เป็นเรื่องที่คนอื่นมอบให้นั่นแหละ ขอให้รู้แก่ใจว่าทำอะไรอยู่ แค่นั้นพอ อย่างอื่นไม่เป็นไร ดูกันยาวๆ เราก็ไม่รีบไปไหน

รุ่นผู้อาวุโสก่อนเราผ่านไปแล้ว มาถึงรุ่นพวกผม วันหนึ่งพวกผมก็ไป แต่ข่าวสดมติชนก็ยังอยู่ และผมเชื่อว่าจะอยู่ด้วยแกนเดิม ด้วยความเชื่อแบบเดิม เรามารวมอยู่ได้ด้วยความเชื่อบางอย่างที่คล้ายกัน เราเชื่อในเรื่องความเป็นมนุษย์ เราเชื่อในเรื่องความยุติธรรม เราเชื่อในเรื่องความเป็นธรรม เราถึงมาอยู่ด้วยกันได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะรุ่นคุณขรรค์ชัย (บุนปาน) คุณพงษ์ศักดิ์ (พยัฆวิเชียร) รุ่นพี่ๆ ก่อนหน้านี้ หรือรุ่นพวกคุณ รุ่นใครก็ตาม ถ้ายังจับแก่นแกนนี้ได้ ข่าวสด มติชน ประชาชาติ ในเครือนี้ก็ยังอยู่ต่อไป

คิดยังไงเวลาคนพูดว่ามติชนเปลี่ยนไป?

ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติมาก แต่มันเปลี่ยนแก่นข้างในของคุณหรือเปล่า จะไม่ให้โตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นคนแก่เลย เป็นไปไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติ แล้วถึงวันหนึ่ง ตาม Product Life Cycle ถ้าไม่อยากตายก็ต้องเปลี่ยนอีก แต่ถามว่าเปลี่ยนแล้วความน่าเชื่อถือ ความเอาจริงเอาจัง ความเคารพในหลักการของเราลดลงหรือเปล่า ถ้าลดลงในเรื่องสำคัญมาบอกเรา แต่ถ้าบอกว่าหน้าตาคุณเปลี่ยนไปนะ น้ำเสียง ท่าทาง คุณเปลี่ยนไปนะ…เออ ก็ต้องมีเปลี่ยนบ้างล่ะ แหม ใครจะพูดเสียงเดียวอยู่ตลอดชีวิต ใครจะหน้าเด็กได้ตลอด ไม่มีหรอก

ตอนเริ่มทำข่าวสดออนไลน์คิดอะไรอยู่?

ไม่ได้คิด (เสียงสูง) โจทย์ง่ายๆ มีอยู่ว่าทุกคนเห็นตรงกันว่าสิ่งพิมพ์ถดถอย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับเครือมติชนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก เกิดมาแล้วในสังคมตะวันตกที่เทคโนโลยีพัฒนาไปก่อน ที่การอ่านเข้มแข็งกว่าเรา ธุรกิจอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ใหญ่โตกว่าเรา มัน Disrupt ไปก่อนแล้ว

สุดท้ายมาเกิดที่ไทย ก็มีชอยส์ให้เลือก ในทางธุรกิจต้องไปหาอย่างอื่นมาทดแทนสิ่งที่ลดหรือถดถอยลงไป เหลืออะไรล่ะ ถ้าทำหนังสือพิมพ์อย่างเดียวเอาไม่ไหว ก็ไปทีวีดีไหม ทีวีคำตอบดูเหมือนง่ายกว่า เพราะเป็นเรื่องคุ้นชิน เห็นโครงสร้างว่าถ้าทำสำเร็จระดับหนึ่งผลตอบแทนจะแค่ไหน วิธีการจัดการควรจะเป็นยังไง

แล้วตอนนั้นเปิดประมูลทีวีดิจิทัล เราชอบพูดติดตลกกันเองว่า บังเอิญเราสอบตกเลข เรานึกไม่ออก สมมุติทีวีมี 4 ช่อง โฆษณามีอยู่ 100 พอเปลี่ยนเป็น 24 ช่อง แล้วโฆษณาคูณ 6 เป็น 600ด้วยหรือเปล่า…เปล่า ก็ยัง 100 อยู่ เจ้าตลาดใหญ่ 2 ช่อง กินมาร์เก็ตแชร์อยู่ 80% เขาถอยไหม…ก็เปล่า เขายังทำอยู่ เดิม 2 ช่องที่เหลือแบ่งมาร์เก็ตแชร์กัน 20% ในโครงสร้างใหม่ 22 ช่องแบ่งกัน 20% เหลือคนละเท่าไหร่ คุ้มหรือเปล่า

พอทีวีไม่ใช่คำตอบ ก็ต้องเป็นดิจิทัล ซึ่งตอนนั้นเป็นของใหม่มาก และคนก็ยังไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นยังไง วันนั้นคนเล่นเฟซบุ๊กในเมืองไทยยังมีไม่ถึง 4 ล้านบัญชีเลย ภายใน 5 ปี วันนี้คนเล่นเฟซบุ๊กมี 49 ล้านคน เยอะกว่าจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอีก

แต่ก็มีคนอื่นทำมาก่อนแล้ว

เราไม่ได้เห็นเป็นคนแรก มีเพื่อนฝูงร่วมอุตสาหกรรมเห็นเทรนด์นี้และทำมาก่อนแล้ว แต่เข้าใจว่าเป็นเรื่องของจังหวะ เฮงเหรอ…ไม่รู้ เร็วไปก็ไม่เกิดผล ช้าไปก็ตลาดวาย บังเอิญเราเข้ามาถูกจังหวะพอดี ข่าวสดแจ้งเกิดถูกจังหวะ เป็นหนังสือพิมพ์แรกในไทยที่ได้รับการเวอริฟายด์จากเฟซบุ๊ก

ในการทำอีคอมเมิร์ซ สองข้างไม่รู้จักกัน คนกลางจึงต้องรับรองทั้งสองฝ่ายว่าไม่เบี้ยวแน่ คนกลางต้องรู้จักทั้งสองข้าง ตอนนั้นเฟซบุ๊กยังไม่ใหญ่ แต่เรามองว่าน่าสนใจ พอเฟซบุ๊กเวอริฟายด์ข่าวสด มติชนยื่นช้ากว่าไม่เท่าไหร่ เฟซบุ๊กอั้นแล้ว ไม่เวอริฟายด์คนอื่น กระบวนการคงกินเวลาพอควร เพราะเฟซบุ๊กก้าวกระโดดทั้งโลกรวมทั้งในไทยด้วย พอเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่เวอริฟายด์โดยเฟซบุ๊ก อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กก็สปินข่าวเรา มีช่วงหนึ่งที่คนบนเฟซบุ๊กจะไม่เห็นข่าวของหนังสือพิมพ์ไหนเลยนอกจากข่าวสด เพราะเวอริฟายด์อยู่เจ้าเดียว มีคนไม่น้อยที่อ่านไปแล้วติด เป็นแฟนใหม่ขึ้นมา ข่าวสดถึงได้มียอดไลค์ 13 ล้าน เพราะเหตุนี้

ตอนหลังเฟซบุ๊กเวอริฟายด์ทุกคน ตลาดก็ขยาย ไม่มีใครเห็นใครมากกว่า แต่ท่านอื่นมาทีหลัง ผมกินมาร์เก็ตแชร์ไปแล้ว 80-90% ใครมาแทรกก็เหนื่อยหน่อย ยิ่งตอนหลังเฟซบุ๊กเปลี่ยนนโยบายลดนิวส์ฟีด จะอาศัยเฟซบุ๊กเป็นช่องทางขยายฐานผู้อ่านเหมือนแต่ก่อนไม่ง่ายแล้ว ทุกคนต้องยืนบนขาตัวเองหลายๆ ขา

นอกจากเรื่องจังหวะแล้วมีปัจจัยอะไรอีก?

ข่าวสดมีคาแรกเตอร์คือความเอาจริงเอาจริง เวลากัดข่าวไหนก็ยังกัดได้มันอยู่ ขยี้ประเด็นตามเรื่องโน้นนี้ มีมุม มีข้อมูลมาเสริมให้ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งสมบูรณ์ขึ้น ผมว่าลักษณะเด่นนี้ที่ทำให้แฟนชอบ เราดูจากหลังบ้าน ถ้าคนอ่านรู้ว่าเราเอาจริงเอาจัง เขาก็อ่านจริงจังเหมือนกัน

ดิจิทัลทำให้ปรับรูปแบบการหาโฆษณาด้วย?

ดิจิทัลทำให้เห็นว่า ลูกค้าตัวจริง ผู้อ่านตัวจริงของเราคือใคร เราไม่สามารถทำไมโครทาร์เก็ตติ้งได้เหมือนอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล แต่เราทำกรุ๊ปทาร์เก็ตติ้งได้ เรามีฐานข้อมูลกลุ่มลูกค้าของเรา รวมทราฟฟิกสื่อในเครือแล้วเยอะพอสมควร มีปริมาณมากพอจะคั้นออกมาเป็นคุณภาพได้

คุณภาพที่ว่าสำหรับการหารายได้จากโฆษณาทางดิจิทัล ถ้าเป็นสินค้าที่ต้องการหว่านให้คนเห็นเยอะๆ ปริมาณคนอ่านมีความหมาย แต่จะมีสินค้าบางอย่างต้องการตลาดจำเพาะ ก็ต้องแยกย่อยจัดหมวดหมู่ว่า เรามีคนรักรถยนต์อยู่แสนท่านที่อ่านทุกวัน มีอีกแสนท่านชอบสายการบินนี้ แล้วสายการบินนี้สนใจไหม

ข้อดีของดิจิทัลคือตรงนี้ 1.ทำให้รู้จักตัวเอง 2.รู้จักลูกค้า 3.สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่สนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงเป้า ไม่ว่าลูกค้าที่เป็นผู้อ่านหรือลูกค้าที่เป็นคนลงโฆษณา

ในฐานะผู้บริหารอยากเห็นข่าวสดเติบโตไปทางไหน?

หนังสือพิมพ์ก็ยังต้องทำอยู่ เพราะว่าคนอ่านหนังสือพิมพ์อายุเฉลี่ยเกิน 45 ขึ้นไป เผอิญท่านที่อายุเกิน 45 คือท่านที่มีอำนาจในการลงนามโฆษณาทั้งนั้น และบัดนี้คนไทยอายุยืนขึ้น ผู้ชายเฉลี่ย 76 ปี ผู้หญิงเฉลี่ย 82 ปี ท่านยังอยู่อีก 20-30 ปี ถ้าไม่มีลูกค้าใหม่เลย แต่ถ้าทำดีๆ มีตัวอย่างจากเมืองนอกว่าหนังสือพิมพ์ฟื้นขึ้นมาได้ ถ้าทำให้เสริมกัน อ่านจากเว็บแล้วอยากรู้ลึกกว่านั้น กว้างกว่านั้น หนังสือพิมพ์ตอบสนองได้ทันที นิวยอร์กไทมส์ วอลล์สตรีทเจอร์นัล โยมิอูริชิมบุน ก็ไปทางนี้ มีเว็บไซต์ที่ดี รวดเร็ว คม แล้วก็มีหนังสือพิมพ์ที่ลุ่มลึกกว้างขวางคอยสนับสนุนไปด้วยกัน

เป้าหมายต่อไปของข่าวสดออนไลน์?

ในแง่ธุรกิจไม่ว่าจะข่าวสดหรืออื่นๆ ในเครือ สิ่งที่เราต้องทำเป็นอย่างแรกคือเนื้อหาที่มีคุณภาพ ต้องรักษาให้ได้ ตรงไหนที่ขาดก็เติม ที่อ่อนก็เสริม ที่ดีอยู่แล้วก็เพิ่มให้ดียิ่งขึ้น ต้องรักษาจุดแข็งนี้ให้ได้ เพราะเนื้อหาที่มีคุณภาพเป็นตัวรักษาฐานผู้อ่านผู้ชมผู้ดูที่ยั่งยืนในระยะยาว

จากนั้นส่วนที่ 2 คือทำแบรนด์ ทำยี่ห้อหรือโครงสร้างทางธุรกิจให้แข็งแรงขึ้น เช่นที่บอกว่าโลกดิจิทัลดีที่ทำให้เห็นว่าลูกค้าเป็นใคร อยู่ตรงไหน รสนิยมเป็นยังไง แต่ทั้งหมดนี้ต้องลงทุน มีข้อมูลตอบสนองลูกค้าแค่ไหน ยิ่งลึกขึ้นละเอียดขึ้น ในเชิงโครงสร้างรายได้ก็ดีขึ้น ขายของแพงขึ้นได้ แง่หนึ่งเหมือนแบรนด์แข็งแรงขึ้น แต่จริงๆ แข็งแรงขึ้นได้ด้วยการทำงานหนักของทั้งสองขา ฝ่ายเนื้อหาก็ทำงานหนัก ฝ่ายพัฒนาธุรกิจก็ทำงานหนัก พอรายได้ดีพอควรก็มีกำลังทำให้ซีกคุณภาพดีขึ้นไปอีก เพราะต้องมีการลงทุนต่อทั้งคนหรืออุปกรณ์ หมุนกลับมาว่าเมื่อคุณภาพดี แบรนด์ก็ดีขึ้น ต้องให้ลูปวนขึ้นไปเรื่อยๆ ถอยลงไม่ได้

กังวลไหมเมื่อวันนี้สำนักข่าวออนไลน์อื่นเข้ามาประชิดตัว?

เป็นเรื่องปกติ คุยกันเป็นปีแล้วว่าถ้าไม่ปรับตัวหรือปรับตัวช้าแล้วคนอื่นปรับตัวเร็วกว่า เขาก็ตามทันได้ แซงได้ โลกดิจิทัลมีข้อดีหลายอย่าง แต่มีข้อเสียว่าไม่การันตีที่ 1 ให้คุณ ไม่การันตีว่าวันนี้กำไรแล้วพรุ่งนี้จะกำไรต่อ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้าในข้ามคืนได้เลย เกิดไปทำข่าวแจ๊กพอตเข้า ที่ใหญ่อยู่แล้วเป็นทะลุฟ้าไปเลย หรือถ้าคนอื่นมาเจอ คุณหายไปเลยจากตลาด

ฉะนั้นที่ต้องทำคือรักษาความสม่ำเสมอ ผมไม่เชื่อเรื่องฟลุค ผมเชื่อเรื่องทำงานหนักต่อเนื่อง แล้วมันจะเห็นเอง เรื่องใหญ่ทั้งหลายเกิดจากเรื่องเล็กนิดเดียว แต่คนนั่งทำงานทุกวันจะมีตามีจมูกพิเศษรู้สึกได้ว่าอันนี้ไม่เล็ก อันนี้ยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องสะสมประสบการณ์พอสมควร อ่านสถานการณ์ให้แตก อ่านเรื่องให้ออก แล้วต้องอยู่กับที่ ทำงานหนักต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่งั้นพวกของเล็กๆ ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่จะหลุดรอดไปที่คนอื่น อันนี้ต่างหากที่เราคุยกันว่าต้องรักษาให้ได้และพัฒนาขึ้นไป

เฟซบุ๊กจะยังตอบโจทย์วงการข่าวออนไลน์ในอนาคตไหม?

หนีไม่ได้หรอก แพลตฟอร์มใหญ่ในโลกมี 2 เจ้า คือเฟซบุ๊กกับกูเกิล เมืองไทยใช้เฟซบุ๊กผิดประเภท เว็บไซต์ข่าวในอเมริกาคนเข้าจากโซเชียลประมาณครึ่งหนึ่งหรือต่ำกว่า แต่ของเรา80-90%มาจากโซเชียล เพราะเพื่อนกันก็แชร์ข่าวกระจาย เป็นพฤติกรรมที่น่ามีการทำวิจัยเปรียบเทียบ ถึงเฟซบุ๊กจะลดนิวส์ฟีดลงก็ยังมีผลอยู่ แต่ในทางธุรกิจคุณเอาไข่ไปใส่ในตะกร้าเฟซบุ๊กใบเดียวไม่ได้ ต้องกระจายไป กูเกิล ยูทูบ ไลน์ ทวิตเตอร์ ไอจี คลุมให้หมดทุกขา ยิ่งมีเยอะเท่าไหร่ยิ่งปลอดภัยเท่านั้น แล้วถ้าแข็งแรงทุกแพลตฟอร์ม ไม่ต้องห่วงเลยว่าอันไหนจะขึ้นหรือลง เพราะอันหนึ่งลงก็จะไปขึ้นที่อีกอัน

จากวัฒนธรรมเสพข่าวผ่านการเลื่อนฟีด คนยังต้องการข่าวลึก-ข่าวเจาะแบบในอดีตไหม?

ยกตัวอย่างข่าวสด ผมว่าที่ข่าวสดยังรักษาสถานภาพสำนักข่าวเบอร์ 1 ได้นั้น เพราะวิธีการทำข่าวแบบนี้ อาจไม่เหมือนข่าวเจาะในหนังสือพิมพ์ รูปร่างหน้าตาอาจไม่คล้ายกัน และผมว่าเครือที่ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับบุพเพสันนิวาสเยอะที่สุดคือเครือมติชน เป็นกึ่งเชิงวิชาการ เชิงข้อมูล ทั้งข่าวสด มติชน ศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ แล้วคนอ่านเยอะด้วย

ถามว่าอย่างนี้เจาะหรือเปล่า ก็พูดยาก สำหรับผมเป็นข่าวเจาะประเภทหนึ่ง อะไรที่ต้องคิดต้องค้น ไปจัดการเรียบเรียง จัดระเบียบข้อมูลใหม่ ให้โยงกับสิ่งที่เกิดขึ้น อันนี้ก็เจาะระดับหนึ่ง มีเรื่องให้คิดทุกวัน คิดมาไม่รู้กี่ร้อยข่าวแล้วอันเนื่องมาจากบุพเพฯ คนทำไม่ได้สักแต่ว่าทำ เขาทำไปด้วยคิดไปด้วย แล้วดูปฏิกิริยาไปด้วย ข่าวออนไลน์จะเห็นเลยว่าคนชอบหรือไม่ ถ้าคนชอบก็มีหน้าที่ขวนขวายไปหาเรื่องเดียวกัน หรือที่เกี่ยวเนื่องต่อกันมานำเสนอต่อ

วงการสื่อยังแข่งกันที่คุณภาพหรือเปล่า เมื่อมีความฉาบฉวยในการเกาะกระแส?

ง่ายสุดอย่างเรื่องบุพเพฯ การที่คนรู้ประวัติศาสตร์เยอะขึ้น ในหลายมุม เราเรียกมันเป็นความฉาบฉวยได้ไหม บางเรื่องเหมือนเอาใจตลาด แต่ก็มีตัวตนของคุณแฝงในนั้นด้วย ถามว่าใครให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาเยอะที่สุดตอนนี้ ผมว่าเครือเรา เราใส่ข้อมูลลงไปในช่วงที่คนชอบคนสนใจ ถ้าทำอย่างนี้ผิด ก็นึกไม่ออกว่าทำยังไงถูก

หนังสือพิมพ์หรือสื่อเป็นทั้งผลิตผลและเป็นเบ้าของสังคม สื่อไม่ได้งอกมาจากกระบอกไม่ไผ่ เป็นลูกมีพ่อมีแม่ รับการศึกษาในระบบ เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง ออกมาทำงาน ก็มีทัศนคติมีความเชื่อ บางเรื่องเหมือน บางเรื่องไม่เหมือน สะท้อนหมุนกลับไปมา ด่าสื่อข้างเดียวได้ไหม…ได้ ไม่ยากหรอก ถูกด่ามาทั้งชีวิตแล้ว แต่ถามว่าคุณภาพสื่อวันนี้กับเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วดีขึ้นไหม ผมว่าถ้าดูอะไรต้องดูเป็นกราฟ อย่าดูเป็นจุด ดูเป็นจุดนี่วิจารณ์ง่ายมากเลือกตรงไหนมาก็ได้ ถ้าดูเป็นกราฟ โดยส่วนตัวผมค่อนข้างพอใจ

คิดยังไงที่สื่อโดนมองเป็นตัวร้ายตลอด?

คุณเป็นหรือเปล่าล่ะ (ยิ้ม) ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่เป็นมันก็ไม่เป็น ไม่ใช่หน้าด้านนะ แต่คุณต้องรู้ว่าทำอะไรอยู่ คุณทำอะไรลงไป มีหน้าที่ก็ทำไปเถอะ เพลงเดินหน้า กรมหลวงชุมพรเขียนว่า “วันนี้ยอ พรุ่งนี้ด่า ไม่ใช่ขี้ข้าปากของใคร” เขาชมมาทำให้คุณทำงานดีขึ้นเหรอ อาจมีกำลังใจ แต่เขาชมได้ก็ด่าได้ เวลาเขาชมก็ดีใจน้อยๆ หน่อย เวลาเขาด่าจะได้ไม่เสียใจมาก ถ้าไม่รู้สึกอะไรเลยก็ให้ไปบวชซะ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image