สุรวัช อัครวรมาศ เจาะลึกทุกมิติท่องเที่ยว ได้หรือเสีย เมื่อ ‘จีน’ เข้ามามีบทบาท

19 เมษายน “แจ๊ก หม่า” เยือนไทยพร้อมเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การมาด้วยตัวเองครั้งนี้ สร้างแรงกระเพื่อม สะเทือนไปแทบทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ภาค “การท่องเที่ยว”

ในแวดวงธุรกิจ แจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัท อาลีบาบากรุ๊ป (Alibaba) นับเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จนเป็นที่จับตามองไปทั่วโลก

หลังผลักดันเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์สัญชาติจีน เข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐ ทำสถิติการขายหุ้นให้กับนักลงทุนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ด้วยมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นนิวยอร์ก

“อาลีบาบา” ได้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง บุกตีตลาดอีคอมเมิร์ซในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

Advertisement

การเข้ามาของอาลีบาบา เพิ่มช่องทางมาร์เก็ตเพลสใหม่อย่าง “ลาซาด้า” (Lazada) ซึ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้-จ่าย ของคนไทยไปแบบพลิกโฉม

ในขณะที่สังคมไทยทั้ง “ผู้ผลิต” และ “ผู้บริโภค” กำลังตื่นตัวอยู่นั้น

ปรากฏการณ์ “แจ๊ก หม่า” เยือนเมืองไทย เข้าทำเนียบรัฐบาลพบ “บิ๊กตู่” อย่างเป็นทางการ พร้อมลงนามเอ็มโอยู 4 ฉบับ และประกาศอย่างมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะวินวินทุกฝ่าย ยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมสั่นสะเทือนไปแทบทุกวงการ

Advertisement

ไม่เพียงสร้างความคาดหวัง ขณะเดียวกันยังสร้างความวิตกกังวล แทบทุกมิติ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

เป็นเหตุให้บรรดานักวิเคราะห์ นักวิชาการ ตลอดจนภาคธุรกิจ ออกมาคาดการณ์และประเมินข้อดี ข้อเสีย ในการเข้ามาของ “แจ๊ก หม่า” ครั้งนี้ในแทบทุกด้าน

รวมถึง สุรวัช อัครวรมาศ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอคต้า) ได้วิเคราะห์ในมุมมองทางการท่องเที่ยวไทยจะได้เปรียบ เสียเปรียบ หรือสร้างผลกระทบอย่างไร

เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดอันดับแรกคือ นักท่องเที่ยวชาว “จีน”

สำหรับ สุรวัช นับเป็นบุคคลหนึ่งที่เฝ้ามองปรากฏการณ์การเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ยุคเริ่มแรก ในฐานะ “มัคคุเทศก์”

“ผมเป็นคนบ้านนอกคนหนึ่ง เกิดที่ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งคนในท้องถิ่นสื่อสารภาษาจีนได้ หลังจบด้านบริหารธุรกิจจาก ม.รามคำแหง และทำงานประจำอยู่ระยะหนึ่ง ก็เข้าสู่ระบบการท่องเที่ยวเป็นมัคคุเทศก์ ทำทัวร์ให้กับไต้หวัน”

สุรวัชเล่าว่า สมัยก่อนประเทศจีนค่อนข้างปิดประเทศไม่ให้นักท่องเที่ยวออกมา ต่อมาการจะเอานักท่องเที่ยวออกนอกประเทศจะมีโควต้ากำหนดคือ จะต้องอินบาวด์หรือนำนักท่องเที่ยวเข้ามา 5 คน ถึงจะสามารถเอาต์บาวด์หรือนำนักท่องเที่ยวออกได้ 1 คน แล้วบริษัททัวร์ที่ทำเอาต์บาวด์ได้มี 2 หน่วยงานเท่านั้นคือ บริษัทนำเที่ยวระหว่างประเทศจีนจำกัด (China International Travel Service) หรือซีไอทีเอส และบริษัทนำเที่ยว ไชน่า แทรเวล เซอร์วิส หรือซีทีเอส

และประเทศแรกที่คนจีนเรียกว่าต่างประเทศคือ “ประเทศไทย”

นักท่องเที่ยวจีนเริ่มเข้ามาตั้งแต่เมื่อไหร่?

ประมาณปี 2530 เริ่มมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเเล้วแต่เป็นการมาแบบยังไม่เปิดประเทศ จนปี 2536 ประเทศจีนเริ่มเปิดให้มีการท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่กลุ่มแรกที่มาเที่ยวเป็นกลุ่มข้าราชการ หลายท่านเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงเป็นที่มาของคนไทยที่ทำธุรกิจช่วงแรก ได้รู้จักกับคนจีนที่เป็นชั้นผู้ใหญ่

ส่วนเส้นทางท่องเที่ยวจะมี 2 เส้นทางคือ เส้นทางที่ 1 คือ มาเก๊า ฮ่องกง ไทย แล้วกลับฮ่องกง ต่อมาเริ่มมีทัวร์มากขึ้น เลยมีการเปิดการท่องเที่ยวเส้นทางที่ 2 คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง ที่เรียกว่า “ไทยซิงหม่า” โดยรวมนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 7-8 แสนคนต่อปี ราคาทัวร์เริ่มต้นอยู่ที่ประมาณคนละ 80 เหรียญยูเอสดอลลาร์ต่อวัน ทำให้บริษัททัวร์มีกำไรเยอะมาก

นักท่องเที่ยวจีนในยุคแรกเป็นอย่างไร?

ตอนนั้นผมยังเป็นไกด์ไต้หวัน แต่ก็พยายามดูคนจีนนะ ซึ่งขณะนั้นไกด์ไทยบางส่วนก็ค่อนข้างดูถูกคนจีนด้วย เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าคนจีนเขาเป็นยังไง รู้จักและฟังจากมุมของไต้หวัน ในตอนนั้นอยู่ในช่วงที่มีปัญหาไม่ลงรอยกันอยู่

แล้วการทำทัวร์จีน สมัยก่อนเราต้องเอาเงิน 20,000 บาทไปให้กับตม. เพื่อเป็นการการันตีว่าคนจีนคนนี้ที่เข้ามาในประเทศแล้วจะกลับออกไป อย่างบริษัทหนึ่งทำทัวร์นักท่องเที่ยวจีน 20 คน จะต้องเอา 400,000 บาทไปวางประกัน บางครั้งต้องจ้างตำรวจประจำรถไว้เพราะกลัวเขาหนี อันนี้เป็นการท่องเที่ยวจีนยุคแรก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก?

จีนเปิดประเทศครับ ซึ่งก่อนหน้านั้นประเทศจีนมีการควบคุม เพราะเขาถือว่าเป็นการนำคน นำเงินเขาออกนอกประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้บางช่วงนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเยอะ อย่างปี”40 ที่ไทยลดค่าเงินบาท ก็เป็นช่วงที่คนจีนเข้ามาเยอะมาก เพราะค่าทัวร์จากคนละ 80 เหรียญยูเอสดอลลาร์ต่อวัน ลดมาเหลือ 50 เหลือ 35 เหลือ 28 เหรียญยูเอสดอลลาร์ต่อวัน รวมถึงราคาสินค้าถูกลงด้วย คนจีนที่เข้ามาก็ซื้อสิ้นค้าเหมือนทุกอย่างลด 50 เปอร์เซ็นต์ทั้งประเทศไทย

กลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ บริษัททัวร์ เพราะรายได้หลักมาจากการซื้อของ ตามมาด้วยร้านค้า โดยเฉพาะร้านจิวเวลรี มีการเติบโตมาก ทำให้การการันตีนักท่องเที่ยว ต่อมาเป็นหน้าที่ของร้านจิวเวลรี ที่จะเป็นคนวางเงิน 20,000 บาทกับตม.แทนบริษัททัวร์

การเข้ามาของคนจีน เกิดปัญหากับการท่องเที่ยวไทยบ้างหรือไม่?

คืออะไรก็ตามที่มันดีมากเกินการแข่งขันจะเกิด เพราะมีผลประโยชน์เยอะ หลังปี”40 ก็เริ่มเห็นไกด์ที่ไม่ใช่คนไทย และมีคนจีนมาเปิดบริษัททัวร์เอง จนปี”43 บริษัททัวร์เริ่มปรับตัว ทำให้การเที่ยวเมืองไทยเริ่มมีปัญหาคือ การขายทัวร์ราคาถูก เพื่อขายออปชั่นเพิ่มด้วยการพาไปเที่ยว พาไปดูโชว์

ที่เป็นปัญหาคือทัวร์ด้อยคุณภาพ เน้นการขายออปชั่นเกิดขึ้น เกิดการบังคับนักท่องเที่ยวถึงขนาดใช้วิธีจอดรถกลางแดด แล้วบอกว่าถ้าไม่ซื้อออปชั่นไม่พาทัวร์ต่อ รวมถึงมีการบังคับให้ไปดูโชว์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หลายกรณีก็ไม่บอกก่อนว่าเป็นโชว์อะไร ถึงขั้นโกหกหรือหลอกให้ไปดู ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนโกรธมาก

จนเกิดเรื่องขึ้นคือ มีพ่อกับลูกสาวถูกไกด์บังคับไปดูโชว์ลามก แล้วพ่อโกรธมากเขาเขียนหนังสือร้องเรียน พอนักท่องเที่ยวมาเจอสภาพแบบนี้แล้วรัฐบาลจีนรู้ มีการออกกฎกระทรวงมาฉบับหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ของไทย ช่วงนั้นผมเป็นกรรมาธิการยกร่างกฎหมาย ปี”50 พอดีทำกม.ไทยอยู่ ก็เลยแปลกฎกระทรวงของจีนฉบับนี้เป็นภาษาไทย ระบุถึงข้อห้ามทั้งการห้ามพาไปช้อปปิ้ง ห้ามบังคับต่างๆ ขึ้นมา

การทำงานกับคนจีนเป็นอย่างไร?

การทำงานกับคนจีนเราต้องเข้าใจวิธีคิดของเขา คือคนจีนเขาถือว่าเขาเป็นประเทศใหญ่ คุณพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เขาไม่ถือว่าคุณกระจอก แต่คุณพูดภาษาจีนได้คือคุณเยี่ยม นี่คือแนวคิดคนจีน แล้วคนจีนเขามีแนวคิดเรื่องเชื้อสายมิตรสัมพันธ์ ซึ่งเราต้องเข้าใจ เพราะเรื่องนี้จะมีประโยชน์กับวิธีคิดระหว่างประเทศได้

ดังนั้น การที่เราพูดถึงคนจีน พูดถึงแพลตฟอร์มของเขาก็ดี เราจะพูดยังไงก็ได้แต่อย่าใช้วิธีดูถูก เช่น เราห่วงคนจีนจะมาฮุบธุรกิจแบบนี้พูดได้ แต่อย่าไปว่าร้ายว่าเสียเขา แล้วก็ไม่ต้องไปโปรยยาหอมเยอะเกินไป อย่าง แจ๊ก หม่า มาเมืองไทยถามว่าเขารักเมืองไทยมากจนถึงขนาดเข้ามาลงทุน ผมว่าไม่ใช่ เขาเป็นนักธุรกิจเขามองว่าประเทศไทยทำธุรกิจได้

มองการเข้ามาของอาลีบาบาอย่างไร?

ประเทศไทยเราไปสนใจกับเรื่องทุเรียน 8 หมื่นลูกภายใน 1 นาที มันอาจจะดูดีว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวน แต่ว่าสินค้าของเราที่ขายดีอยู่แล้ว อย่างทุเรียน ทั้งเป็นผลสด เป็นทุเรียนแปรรูปอบกรอบของไทย ปัจจุบันส่งขายคนจีนหรือนักท่องเที่ยวไม่พอนะ

แล้วเมื่อมันไม่พอแล้วเราไปขายผ่านช่องทางนี้ สิ่งที่กลัวมากที่สุดเลยคือขายไม่ได้ราคา และตัดช่องการขาย คือ ปกติการส่งออก จะขายจาก “หนึ่ง” ผ่าน “สอง” ผ่าน “สาม สี่ ห้า” จนไปถึงต่างประเทศ ที่เกิดคือมันตัด 2-5 ทิ้งหมด ซึ่งพวกนี้เป็นตัวแทนที่มีประโยชน์ในอดีต แต่ตอนนี้จะตายทั้งหมดเป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันดู เพราะมันก็ไม่ใช่เรื่องดีของประเทศไทยนะ

นั่นคือ “หนึ่ง” อาจจะได้กำไรเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่คนไทยที่อยู่ระหว่างทางตายหมด คนกลุ่มนี้เราจะดูแลยังไง แล้วคนที่ได้ประโยชน์คือผู้บริโภคซึ่งได้ของถูกลง แล้วผู้บริโภคนั้นๆ อาจจะไม่ใช่คนไทยนะ ถ้ามองภาพรวมประเทศ รายได้ของประเทศส่วนนี้จะหายไปเยอะ เราจะเสียหายมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ขายดีอยู่แล้ว เพราะเราผลิตได้เท่าเดิม คนบริโภคได้เท่าเดิม แต่เราไปทำให้มันถูกลง

นอกจากนี้ เรายังไม่ได้พูดถึงมุมที่สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาเลย ต้องระวังเรื่องนี้ด้วย เพราะเป็นไปได้สูงมากว่าอาจจะมีบางอย่างของเขาเข้ามาแล้วทำให้ธุรกิจบางอย่างในไทยตายไปได้ แต่เราตายไปในบางมุมก็โทษเขาไม่ได้นะ อาจจะต้องโทษตัวเราเองที่ไม่พัฒนาและปรับตัว

“…อย่าไปว่าร้ายว่าเสียเขา แล้วก็ไม่ต้องไปโปรยยาหอมเยอะเกินไป
อย่างแจ๊ก หม่า มาเมืองไทย ถามว่าเขารักเมืองไทยมากจนถึงขนาดเข้ามาลงทุน
ผมว่าไม่ใช่ เขาเป็นนักธุรกิจ เขามองว่าประเทศไทยทำธุรกิจได้…”

‘แจ๊ก หม่า’ เข้ามามีผลกับการท่องเที่ยวหรือไม่?

ถ้าพูดถึงเรื่องช่องทางการท่องเที่ยว แจ๊ก หม่า ไม่ได้เป็นอันดับ 1 ของจีน ที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่ม ซีทริป (Ctrip) มีคู่แข่งคือ อโกด้า (Agoda) ซึ่งเข้ามาในเมืองไทยสักพักแล้ว ซึ่งผมพูดมาหลายครั้งแล้วว่า ทุกวันนี้เราเสียเอกราชในการจองโรงแรมให้กับต่างชาติไปหมดแล้ว ทั้งหมดเราสู้เขาไม่ได้

แต่การเข้ามาของอาลีบาบาในด้านการท่องเที่ยวนั้นรู้สึกเป็นกังวลอยู่บ้าง แม้การขายทัวร์ในระบบออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มั่นใจว่าการเข้ามาครั้งนี้ แจ๊ก หม่า จะได้ประโยชน์เต็มๆ ผ่านการใช้ระบบชำระเงินแบบอาลีเพย์ (Alipay) เนื่องจากมีระบบที่สามารถจองโรงแรมและหาไกด์ได้โดยตรงจากไทย ตรงนี้จะต้องดูแลให้ดี โดยเฉพาะเรื่องการเก็บภาษี เรื่องเข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวของต่างชาติ

แต่ก็มีความคาดหวังว่าจะช่วยหนุนการท่องเที่ยวเมืองรองได้?

อย่างที่ผมบอกไป อาลีบาบา ยังไม่ใช่ตัวนำด้านการท่องเที่ยวนะ แล้วสิ่งที่ผมห่วงคือ ก่อนที่เราจะเปิดแหล่งท่องเที่ยวเยอะๆ เราต้องมีเตรียมการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งการเดินทาง และคนในพื้นที่ต้องพร้อมรับนักท่องเที่ยวจีน การที่เอานักท่องเที่ยวไปให้ ขณะที่เขาไม่พร้อม คนที่ได้ประโยชน์อาจเป็นคนไม่กี่คน หรืออาจจะไม่ใช่คนในพื้นที่จริงๆ เป็นนายทุนเข้าไปหาผลประโยชน์ อาจทำให้คนในพื้นที่เดิมเป็นทุกข์ก็ได้

ยังมีเรื่องของทรัพยากร ประเทศไทยโชคดีเรามีต้นทุนด้านนี้ แต่อย่าคิดว่าพวกนี้เป็นของที่จะกลับมามีอีกได้ เราบอกว่า แจ๊ก หม่า จะทำให้ การท่องเที่ยวเข้าถึงท้องถิ่น เงินอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ใครได้ประโยชน์สูงสุดบางทีเราก็ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ทำไปทำมาจีนอาจจะมาเปิดบริษัททัวร์เอง เป็นระบบต่ำกว่าทุนที่วันนี้ลดลงแล้วแต่ก็ยังแก้ไม่หมด

มองว่า แจ๊ก หม่า เข้ามาเมืองไทย ต้องการทำเรื่องใดบ้าง?

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ แจ๊ก หม่า มาเมืองไทย เขาได้ประโยน์ทางธุรกิจแน่นอนอยู่แล้ว เพราะเขาเป็นนักธุรกิจ ที่เขาเข้ามาเพราะต้องการทำ 2 เรื่อง คือ 1.โลจิส

ติกส์ เพราะของเรามันแย่ แต่ตัวนี้ผมเห็นประโยชน์นะ 2.เรื่องการเงิน เขาเอาอาลีเพย์มาใช้ ซึ่งประเทศจีนการใช้อาลีเพย์ต้องผ่านแบงก์ชาติ ดังนั้น เรื่องนี้ผมขอเลยว่าแบงก์ชาติไทยต้องควบคุม อย่าอุ้มเด็ดขาด เพราะขนาดประเทศจีนเขายังไม่ปล่อย เพราะไม่อย่างนั้นระบบแบงก์มีปัญหาหมดแล้วจะคุมไม่ได้ ที่ผมกลัวที่สุดคือ เขามาคุยกับรัฐบาลแล้วขอเปิด

ควรวางแนวทางปฏิบัติจากการเข้ามาของอาลีบาบาอย่างไร?

ถ้าดูจากประวัติ แจ๊ก หม่า เป็นคนที่เก่ง เติบโตจากคนไม่มีอะไร แต่ที่ประเทศจีนยังมีอีกคนที่พอฟัดพอเหวี่ยงในเรื่องออนไลน์คือ หม่า ฮว่าเถิง หรือ โพนี่ หม่า ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท “เทนเซ็นต์” (Tencent) ที่ทำแอพพลิเคชั่น “วีแชต” (WeChat)

ประเทศไทยวันนี้อาลีบาบามาแล้ว เทนเซ็นต์เขาต้องมาแน่นอน แต่ 2 กลุ่มนี้เขามากันคนละแบบ แจ๊ก หม่า มาด้วยตัวเองแต่เทนเซ็นต์เขาไม่ออกมาเขาใช้วิธีมีตัวแทน คือเราอาจจะเริ่มเห็นวีแชตเพย์บ้างแล้ว ซึ่งผมอยากให้รัฐบาลถ่วงให้ดีระหว่าง 2 องค์กรนี้ ต้องดูแลเท่ากัน แล้วอย่าไปอุ้มอย่าลดภาษีโน่นนี่ เพราะธุรกิจแบบนี้ถึงแม้กำไรจะ 5-10 บาท แต่มันเป็นกำไรจากการทำธุรกิจกับคน 1,000 ล้านคน มันมีมูลค่าเป็นหมื่นล้านได้นะ ฉะนั้น ถ้าไปลดภาษีให้แค่นิดเดียว มันจะทำให้เขาแซงคนอื่นหมดเป็นสิ่งที่อันตราย เราต้องปล่อยให้ธุรกิจไปแข่งขันกันเอง

จะป้องกันอย่างไรให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด?

ต้องควบคุมครับ โดยเฉพาะเรื่องเพย์เมนต์เกตเวย์ (Payment Gateway) อย่าปล่อยให้มีอิสระจนเกินไป และเรื่องของภาษี ที่จะต้องเก็บจะเป็นอย่างไรหรือรูปแบบไหนควรจะต้องตั้งให้เรียบร้อย อย่าปล่อยให้เกิดเหลื่อมล้ำเด็ดขาด รวมถึงการดูแลคนไทย การวางกำแพงป้องกันต่างชาติ หรือนอมินีที่จะเข้ามา

ส่วนตัวผมมองว่าบางครั้งการควบคุมก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องยอมรับว่าโมเดลของประเทศจีน อย่างการควบคุม เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ทำให้คนของเขาพัฒนาขึ้นมาได้ ถ้าตอนนั้นเขาเปิดเลยไม่มีการควบคุม ตอนนี้คงไม่มีอาลีบาบา ไม่มีวีแชตแล้ว ซึ่งพอเขาทำของเขาจนเข้มแข็งเมื่อเขาเปิดให้แอพพ์ต่างๆ เข้าไป คนจีนก็ใช้งานบ้างแต่ใช้เป็นตัวรับสำรอง วีแชตยังเป็นหลักในการสื่อสาร ขณะเดียวกันคนชาติอื่นกลับต้องเริ่มใช้วีแชต ใช้อาลีบาบา เพื่อติดต่อทำธุรกิจกับจีน

สะท้อนให้เห็นว่าบางครั้งการควบคุมก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องมี และการทำอะไรต้องมีจังหวะในการเปิดหรือปิด หลายโมเดลของประเทศจีนเราสามารถศึกษาและใช้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image