รัสมี เวระนะ ‘อิสานโซล’ กับ ความท้าทายครั้งใหม่ ‘สรรเสริญหมอลำ’

เพราะเสียงเพลงไม่มีพรมแดน ไม่ว่าคนละฟากโลก เสียงเพลงสามารถเชื่อมร้อยใจคนฟังให้เป็นหนึ่งเดียวได้เสมอ

เช่นเดียวกับเสียงเพลงของเธอ “รัสมี เวระนะ” ที่รู้จักกันในชื่อ “รัสมี อิสานโซล” ที่ชนะ ได้ใจคนฟังอย่างท่วมท้น

แม้จะต่างเชื้อชาติต่างภาษา แต่ด้วยภาษาของเสียงเพลง ของดนตรี ของท่วงทำนองที่ขับขานออกมาจากส่วนลึกของหัวใจ จากจิตวิญญาณของผู้ร้อง ทำให้พรมแดนระหว่างชนชั้นภาษาถูกละลายหายไปในทันใด

“Isan Soul EP.” ประกอบด้วย 7 เพลง ที่เธอแต่งเนื้อร้องทั้งภาษาไทย-ลาว-เขมร ที่หยิบเอาบางเสี้ยวชีวิตมาถ่ายทอด ในกลิ่นอายของหมอลำ โซล แจ๊ซ ร่วมกับ ก้อง-สาธุการ ทิยาธิรา มือกีตาร์ คว้า 3 รางวัล คมชัดลึกอวอร์ด ปี 2559 รางวัลศิลปินเดี่ยวหญิงยอดเยี่ยม รางวัลเพลงยอดเยี่ยม “มายา” และรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยม “อิสานโซล”

Advertisement

“อารมณ์” อัลบั้มที่ 2 หลังจากปล่อยออกมาหมาดๆ รางวัลศิลปินหญิงยอดเยี่ยมจากสีสัน อวอร์ดส ครั้งที่ 29 ก็ตกเป็นของเธอ

รัสมี เวระนะ หรือ แป้ง เป็นนักร้องนักแต่งเพลงลูกครึ่ง เขมร-อีสาน

เป็นคนอำเภอน้ำยืน เมืองดอกบัว ลูกสาวของพ่อ-บุญเริญ นักร้องนักแต่งเพลงชาวเขมร เจ้าของวงเจรียง (การละเล่นพื้นบ้านที่ขับร้องเป็นเพลงคล้ายขับเสภาภาษาเขมร) ที่มาพบรักกับแม่-ผ่องศรี เวระนะ จึงตั้งหลักปักฐานแต่นั้นเป็นต้นมา

ชีวิตของเด็กหญิงแป้งจึงอวลไปด้วยเสียงเพลง ทั้งหมอลำและลูกทุ่ง ที่พ่อหยิบเอาเพลงในยุคสมัยนั้น อย่าง สายัณห์ สัญญา พุ่มพวง ดวงจันทร์ จินตหรา พูนลาภ ฯลฯ มาสอนร้อง

ร้องเพลงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ หลังจากจบประถม 6 อายุได้ 13 ปี รัสมีก็เข้าเป็นสมาชิกวงดนตรีอีสานที่ศรีสะเกษ และต่อมาร่วมเดินสายไปกับวงหมอลำ “เสียงแคนแดนอีสาน” ที่ขอนแก่นราว 6-7 ปี ก่อนความรักเพรียกหา พาเธอไปอยู่เชียงใหม่ พร้อมกับการห่างหายจากเสียงเพลงพักใหญ่

ทว่า เพราะชะตาขีดไว้แล้ว การได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ “เชียงใหม่” เมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะที่หลากหลาย โดยเฉพาะด้านดนตรีและเสียงเพลง กลับเป็นการเปิดหน้าต่างโลกแห่งเสียงเพลงบานใหม่ จากหมอลำ ลูกทุ่ง ค่อยๆ ต่อยอดเป็นบลูส์ โซล แจ๊ซ ป๊อป ร็อก ฯลฯ

การได้รู้จักได้ทำงานกับนักดนตรีจากทั่วโลก เช่น ราฟ โทมัส (Ralph Thomas) และร่วมอัดเสียงกับวงโพนี่ ฮอก (Poni Hpax) จากฝรั่งเศส และในปี 2557 ได้ร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับวงลีมูซีน (Limousine) ทำให้จิตวิญญาณของการรักเสียงเพลงของเธอถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง

แล้วก่อตัวเป็น “อิสานโซล” (Isan Soul) จิตวิญญาณแห่งอิสาน

“…เพราะยังต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง (ส่งตัวเองเรียนต่อจนสำเร็จปริญญาตรี สาขาจิตรกรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา) ร้องเพลงตามโรงแรม พวกสแตนดาร์ดแจ๊ซ ร้องบลูส์ตามคลับ ก็เริ่มรู้จักเริ่มฟังเพลงมากขึ้น มากกว่าประเภทที่เราอยู่อีสานซึ่งรู้จักหมอลำ ลูกทุ่ง ฯลฯ แต่ที่นี่เราได้รู้จักอีกแบบหนึ่งเลย ได้รู้จักต่างชาติ รู้จักฝรั่งทำเพลงด้วยกัน ทำโปรเจ็กต์อะไรที่เราไม่เคยทำ…” รัสมีเล่าให้ฟังในบ่ายวันหนึ่งในงาน ISAN SPIRIT FESTIVAL ที่ช่างชุ่ย

วันนี้ในวัย 34 ปี รัสมีบอกว่า แม้จะเหนื่อยบ้างกับการเดินสายร้องเพลงทั้งในกรุงเทพฯและภาคอีสาน แต่ก็มีความสุข และเตรียมจะวางอัลบั้มใหม่ภายในปีนี้แน่นอน คราวนี้เจาะลึกลงไปถึงรากเหง้าของ “หมอลำ”

เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ไม่ได้เกิดในครอบครัวหมอลำ แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้!

“…หมอลำเป็นของสูง เพราะหมอลำดี เราถึงได้ดีในวันนี้ เพราะครูดี เราเก็บครูไว้บนหิ้งอยู่แล้ว แต่เราขอเอาเพลงมาต่อยอดเท่านั้นเอง หมอลำเป็นแรงบันดาลใจ…”

กว่าจะมีวันนี้ต้องบอกว่าส่วนสำคัญคือคุณพ่อ ที่ให้ทั้งภาษาและเสียงเพลง?

ค่ะ คุณพ่อเป็นนักร้องและนักแต่งเพลง เราจะซึมซาบจากคุณพ่อตั้งแต่เด็ก ร้องเพลงด้วยกัน นอนด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ เสียดายที่คุณพ่อไม่ได้สอนพวกกันตรึมให้เลย ส่วนใหญ่คุณพ่อจะสอนเพลงตามยุคสมัยที่โด่งดังอยู่ในตอนนั้น อย่าง สายัณห์ สัญญา หรือพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่เราไม่เคยได้ยินแผ่นเสียงออริจินัลของพุ่มพวงจริงๆ แต่ได้ฟังจากคุณพ่อ

คุณพ่อมีวงดนตรีของตัวเอง-วงเจรียง?

เป็นเหมือนลิเกพื้นบ้านเขมรที่เดินทางไปตามหมู่บ้าน แล้วก็จะปักหลักอยู่ เล่นเพลงพื้นบ้านเป็นตอนๆ ไป ก็จะมีคนแก่มาฟังคุณพ่อ อะไรอย่างนี้ค่ะ คุณพ่อมาเจอคุณแม่ที่หมู่บ้านนี้ มาเล่นเพลงก็มาพบรัก แต่งงานมีลูกคือเรา ซึ่งหลังจากนั้นคุณพ่อก็ไม่ได้ทำงานแบบนี้แล้ว เสียดายมากๆ เหมือนกัน แต่ได้ยินจากเพื่อนคุณพ่อ คุณพ่อเล่าให้ฟัง ก็จะเป็นประมาณนี้ มันคลาสสิกมาก อย่างบางบ้านจ้างไปเล่น แต่เอาควายมาเป็นค่าจ้าง ได้ยินแล้วรู้สึกว่ามันน่ารักมาก

เพลงที่คุณพ่อสอนเป็นหมอลำ เพลงอีสาน?

ลูกทุ่งเป็นส่วนใหญ่ คุณพ่อจะร้องหมดเลย นอกจากที่ตัวเองร้องอยู่เป็นเพลงเขมร แล้วก็ยังร้องคัฟเวอร์สายัณห์ สัญญา นักร้องที่คุณพ่อชอบมาก แล้วก็มี พุ่มพวง ดวงจันทร์ ตอนหลังก็มาฝึกร้องหมอลำเอง โดยการเปิดเทป แกะจากเพลงของจินตหรา พูนลาภ นักร้องที่เป็นไอดอลที่เรามีความผูกพันและเป็นศิลปินคนแรกที่เราฟังแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย คือตอนนั้นอยากได้เทปของพุ่มพวง แต่ในตัวเมืองไม่มีเลย ตอนแม่กลับมาก็ได้เทปจินตหรา พูนลาภ มา เราก็เปิดแล้วก็นั่งแกะลูกคอ นั่งร้องตาม

ตอนนั้นอยากเป็นนักร้อง?

อืม ก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากเป็นนักร้องหรืออะไร แต่รู้สึกว่ามีอะไรหลายๆ อย่างที่ผลักดันเราให้มาตรงนี้ เหมือนคุณพ่อก็อยากให้เป็นนักร้อง อยากให้สานต่อฝันของเขา เวลามีวงมาในอำเภอก็จะไปแจม อย่างเวลาจินตหรา พูนลาภ มา หรือคณะเสียงอิสานมา เราก็จะไปขอเขาร้องแล้ว

หลังจากนั้น อายุ 13 ปี จบ ป.6 ก็ได้ไปอยู่ในวงหมอลำจริงจัง ได้ร้องเพลงที่ดังอยู่ในอีสานตอนนั้นทุกสไตล์ทุกแนว เดินสายกับวงนี้ห่างจากหมู่บ้าน 50 กิโล ก็ไปๆ มาๆ แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในวงเลย ประมาณ 6-7 ปี

มารู้จักเพลงฝรั่งที่เชียงใหม่?

ค่ะ ก็พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ เพราะยังต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง ร้องตามโรงแรม พวกสแตนดาร์ดแจ๊ซ ร้องบลูส์ตามคลับ ก็เริ่มรู้จักเริ่มฟังเพลงมากขึ้น มากกว่าประเภทที่เราร้องอยู่อีสานซึ่งรู้จักหมอลำ ลูกทุ่ง ฯลฯ แต่ที่นี่เราได้รู้จักอีกแบบหนึ่งเลย ได้รู้จักต่างชาติ รู้จักฝรั่งทำเพลงด้วยกัน ทำโปรเจ็กต์อะไรที่เราไม่เคยทำ

แต่งเพลงเองด้วย ได้แรงบันดาลใจจากไหน?

ทุกที่ค่ะ ทั่วไป เราชอบเขียนอยู่แล้ว เวลาเจออะไรที่กระทบความรู้สึกก็จะเขียน แล้วเวลาที่เราไปเจอเรื่องที่เราอยากจะปลดปล่อยมันจังเลย ก็จะเขียน แม้แต่ความทรงจำในวัยเด็กกับยาย แต่ถ้าเป็นเพลงเขมรที่ดีๆ หน่อยก็จะเป็นของคุณพ่อ เพราะคุณพ่อจะแตกฉานเรื่องภาษาเรื่องอะไรกว่าเรา ก็จะมี 2 เพลง คือ “รักของบุญเริญ” กับ “บาป-บน” ซึ่งอยู่ในอัลบั้มอารมณ์ คุณพ่อแต่งเนื้อร้อง แล้วเราเอามาปรับเปลี่ยนของเราเองนิดหน่อย

อะไรที่ผลักดันให้ขึ้นมายืนอยู่ตรงนี้เป็น รัสมี อิสานโซล?

จริงๆ แป้งว่าเป็นที่ตัวเราเองด้วยที่ต้องต่อสู้กับการต้องเรียนให้จบต้องทำยังไง สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือร้องเพลง แล้วเราได้กลับมาร้องเพลงอีกครั้ง มันเหมือนมันได้พาตัวเองไปอยู่ในหลายๆ ที่ ซึ่งสิ่งที่ผลักดันให้มาอยู่ตรงนี้ มันคือตัวเราเองที่พาเรามา เหมือนเราทำอะไรง่ายๆ แล้วพอมันออกมาแล้วมีคนสนใจ มันเป็นแรงผลักดัน แรงบันดาลใจ อยากทำมากกว่าเมื่อก่อน เพราะว่าเมื่อก่อนไม่ได้คาดหวัง ทำสนุกๆ แต่พอมีคนเห็นว่า เพลงมันดีมีคุณค่า คนชอบเรา เราก็ปลื้มนะ อยากทำต่อไป

คำว่า “อิสาน โซล” จิตวิญญาณของอิสาน คืออะไร?

ทุกอย่างเลยค่ะ เราไม่อยากใช้คำว่า “หมอลำ” เพราะเราไม่ได้เกิดในครอบครัวหมอลำด้วย เราไม่ได้เรียนหมอลำตามเชื้อสายเหมือนอย่างคนที่มีเชื้อสายหมอลำ แต่ขอเรียกว่า “อิสาน” เพราะเขมรก็ไม่ใช่หมอลำ แต่เป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง เลยเลือกคำว่า “อิสาน”-“อิสานโซล” คือจิตวิญญาณ

จิตวิญญาณก็คือ เพลง คือความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต แล้วเราเอามาร้อยเรียงกันเป็นเพลงออกมา ก็คือสิ่งเหล่านี้ที่เราพูดถึงคือจิตวิญญาณ หมอลำแต่ละประเภทที่เลือกใช้

เคยรู้สึกเป็นปมด้อยกับการเติบโตมากับหมอลำ กับลูกทุ่ง?

เคยรู้สึก แต่ตอนนี้ไม่รู้สึกแล้ว เพราะเรามีความเป็นตัวเอง มีความมั่นใจ แต่เมื่อก่อนตอนเป็นเด็กก็มีความรู้สึกเหมือนกัน รู้สึกว่ามันไม่เท่ อย่างเพื่อนบางคนที่ถือแคนเข้าเมืองคนอาจจะมองว่า เอ้ย ขอทานหรืออะไร ตอนนี้ไม่ได้มีความรู้สึกอย่างนั้นเลย หลายปีแล้วเหมือนกัน สัก 4-5 ปีได้ เพราะพอเราไปเจอวัฒนธรรมอีกซีกโลกหนึ่งที่เขาไม่ได้มองว่าหมอลำมันฟังเฉพาะคนขับสามล้อหรืออะไรอย่างนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่ามันเท่จังเลย มีคนฟัง ขนาดเขาไม่ได้รู้วัฒนธรรมเรา แต่เขาให้เกียรติ เขารับฟัง ไม่เข้าใจภาษาแต่เขาก็ให้เกียรติรับฟัง แล้วตรงนี้มันทำให้เราลบภาพเก่าๆ จากหัวเลยว่า มันไม่ใช่แล้วสิ่งที่เราเคยคิด

แต่พอกลับมาก็ยังเจอความคิดแบบเดิมๆ มีการแบ่งชนชั้น?

มันไม่ใช่ความรู้สึกเรา แต่มันเป็นผลกระทบจากภายนอกที่คนพูด มีคนพูดเหมือนกันว่า อย่าเล่นหมอลำตรงนี้ อย่าร้องหมอลำตรงนี้ ไม่ออกลำโพงให้ นู่นนี่ บ้าไปแล้ว มันคือวัฒนธรรม คนพูดเราก็รู้สึก แต่เขาไม่เข้าใจมากกว่า เขาไม่ได้เปิดใจ ก็ไม่เป็นไร เขาก็มีสิทธิที่จะพูด เพียงแต่รู้สึกว่าเขาน่าจะคิดสักนิดก่อนพูดว่า ถ้าพูดแล้วคนอื่นจะรู้สึกอะไรบ้าง นี่มันคือรากเหง้าเลยนะ วัฒนธรรมนะ ถึงจะมาบอกว่าเป่าแคนที่นี่ไม่ได้ แล้วถ้ามันไม่ใช่แคน เป็นดับเบิลเบส เป็นไวโอลิน หรืออะไร คุณจะไม่พูดอย่างนี้ มันไม่ถูก

มองคำว่า “วัฒนธรรม” อย่างไร อนุรักษ์วัฒนธรรมต้องเก็บไว้?

ส่วนตัวคิดว่าวัฒนธรรมมันควรมีคนเห็นมัน พูดถึงเพลงนะคะ อย่างเราเอาเพลงมาทำ ก็มีผู้ใหญ่บ่นอยู่เหมือนกันว่ามันไม่เพียว มันไม่ใช่อีสานแท้ มันกลายเป็นเอาเครื่องดนตรียุโรปมากลบมัน แต่เราไม่ได้คิดอย่างนั้น หมอลำเป็นของสูง เพราะหมอลำดี เราถึงได้ดีในวันนี้ เพราะครูดี เราเก็บครูไว้บนหิ้งอยู่แล้ว แต่เราขอเอาเพลงมาต่อยอดเท่านั้นเอง หมอลำเป็นแรงบันดาลใจ

ตอนเอาเพลงของพ่อมาทำ นานมั้ยกว่าพ่อจะยอมรับ?

พอออกทีวีปั๊บ พ่อยอมรับเลยค่ะ (หัวเราะ) บอกว่าต่อไปนี้จะเอาไปทำอะไรก็เอาไปเลย เดี๋ยวพ่อแต่งให้ ก็ทีวีมีอิทธิพลพอสมควรกับคนบ้านนอกอะไรอย่างนี้ ตอนแรกพ่อไม่เข้าใจเลย ไม่เข้าใจในที่นี้คือพ่อเคยมาดูคอนเสิร์ตทีหนึ่งก็มีบ่น แล้วหลังจากนั้นพอเราเริ่มมีคนรู้จัก เริ่มมีคนมาสัมภาษณ์ เริ่มออกทีวี แต่ก็นานเป็นปีเหมือนกัน พ่อก็ยอมรับ แล้วก็มีแต่งเพิ่มให้ ยังเก็บไว้เยอะเลยค่ะ

จากอัลบั้มแรกมาอัลบั้มที่ 2 มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

อัลบั้มแรกเป็นอะไรที่ง่ายมาก เพราะมีแค่แป้งกับคุณก้อง สาธุการ ทิยาธิรา มือกีตาร์ ก็ช่วยกันแต่ง ช่วยกันทำเพลง เข้าห้องอัด อาทิตย์นึงได้เพลงนึง ทีละเพลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้กดดันอะไร 2-3 เดือนกว่าจะเสร็จ แล้วลองทำคอนเสิร์ต แต่พออัลบั้มที่ 2 มันเข้มข้นมากขึ้น เราอยากให้มันมีเครื่องดนตรีที่เป็นฟูลแบนด์ด้วย ก็เลยทั้งซ้อมทั้งเล่นสดด้วยบางเพลง ช่วงที่เรามากรุงเทพฯ เราก็เข้าห้องอัด ก็หนักเหมือนกัน แต่มันได้กลิ่นอายของเครื่องดนตรีที่เป็นแอฟริกันเข้ามา มีพวกเพอร์คัสชั่น แล้วก็มีพวกดีเจมเบ้ มีแคน มีพิณ มีกลอง มีเบส

ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของเราที่ทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ คนเชียงใหม่เล่นดนตรีเก่งมาก มีความพิเศษเป็นตัวของตัวเองในแต่ละคน เราดึงความเป็นตัวของคนคนนั้นมาใช้ในอัลบั้มนี้ด้วย อย่างเช่น พี่ที่เล่นดีเจมเบ้เก่งเราขอให้เขาใช้ความเป็นตัวเองเข้ามาด้วย

ตอนไปปารีสครั้งแรกก็ได้เพลงกลับมา ตอนนั้นไปอย่างไร?

ไปปารีสครั้งแรกมีงานคอนเสิร์ต เป็นเหมือนงานแจ๊ซ คนชวนไปเป็นพี่นักดนตรีมือพิณอยู่อุบล เขาจะไปเล่นกับนักดนตรีกลุ่มหนึ่งชื่อวงลีมูซีน แล้วเขาก็ทำโปรเจ็กต์สยามโรด แต่หมอลำต้องมีนักร้อง พอดีมาเจอแป้ง เลยชวนให้ไปเจอกับวงนี้ที่จะมาเล่นแถวสุขุมวิท พอไปแล้วเขาก็เรียกแจม 1 เพลง นักดนตรีปารีสตื่นเต้นกันมากเลยบอกว่า นี่ยูต้องไปที่ปารีสเดี๋ยวจะมีงาน เขาก็ชวนไปจริงๆ ทำเรื่องให้ไปงานคอนเสิร์ต 1 งาน ไป 1 อาทิตย์ก็กลับ อีก 3 เดือนต่อมาก็ไปอีก

ปีนั้นไป 3 รอบ เขามีงานทัวร์ ปารีส-น็องต์-เลอม็อง แต่ก็เหนื่อยหน่อย ไม่ได้อยู่ยาว 10 วันก็กลับ พอกลับมาแล้วรู้สึกว่าอยากทำอัลบั้มเป็นของตนเอง เก็บไว้ให้ตัวเองฟัง แจกพี่น้องฟัง เราแค่อยากทำเฉยๆ อยากเก็บไว้เฉย

ตอนนี้ความคิดนี้เปลี่ยนไปหรือยัง?

ก็ไม่ได้หวือหวาอะไรนะคะ ทำเรื่อยๆ คือมีงานเข้ามาเรื่อยๆ อย่างที่ไปแสดงที่ลาวนี่ กลุ่มนักดนตรีปารีสรู้จักเราจากไหนก็ไม่รู้ จ้างไปงานแจ๊ซ ดูแลเทกแคร์ดีมาก ซึ่งงานนั้นก็ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เราไม่ได้พยายามว่าจะต้องส่งโปรไฟล์ยังงั้นอย่างงี้ แค่ว่าถ้าเขาชอบเราให้มาหาเรา ก็ดีค่ะ ก็ยังอยากทำเพลงอยู่ แล้วตอนนี้เริ่มกลับลงไปหารากเหง้า จริงๆ ทำเสร็จอีกอัลบั้มหนึ่งเป็นไซด์โปรเจ็กต์ แต่ยังไม่ได้เปิดตัวอะไรที่ไหน เป็นหมอลำใช้ชื่อว่า “สรรเสริญหมอลำ” ก็มีไปอยู่อีสาน แล้วไปแต่งเพลงหมอลำแต่ละประเภท ใช้พิณหรือแคนตัวเดียวเลย เป็นเหมือนสมัยก่อน ร้องกับแคนกับพิณแค่นี้ ถ้ามีเวลาว่างก็จะไปหาคนที่เขามีความรู้ ไปอยู่กับหมอลำ

ต้องไปกินอยู่ที่บ้านเขาเลย?

ใช่ค่ะ ไปอยู่กับน้องมือพิณที่สกลนคร เขาก็เล่าประวัติว่าแคนลายนี้มีผมเป่าได้แค่คนเดียว สมมุติว่าชนเผ่าผมไม่มีใครเป่าได้แล้ว เราก็อยากรู้จักว่ามันยังไง แล้วกลอนลำล่ะ ปกติไม่สอนนะ เพราะเขาถือผี จะลำเฉพาะเวลาที่มีคนป่วย คนไม่สบาย ถ้าเราจะไปมีครูแบบนั้นเราต้องทำตามเขาทุกอย่างกว่าจะได้วิชา แต่แป้งก็ไม่ได้ทำถึงขนาดนั้น ไปฟัง ไปรู้จัก เพราะเขาก็ไม่ได้ถ่ายทอดให้คนง่ายๆ

ทำไมต้องเป็นหมอลำ?

แป้งว่าหมอลำน่าสนใจ และมีหลายประเภทมาก ซึ่งบางประเภทเราก็ไม่รู้ อยู่กับชนเผ่ากะโซ่ มีเฉพาะที่สกลนคร คือเรามีความรู้สึกว่า อย่างพิณ มันมีเสน่ห์มาก เวลาที่มันเล่นด้วยตัวของมันเอง เราไม่อยากให้พิณเป็นส่วนประกอบ อยากให้มันเป็นตัวหลัก แล้วก็ร้องเท่านั้น เป็นแบบดั้งเดิม

สำหรับตัวเองเรารู้สึกว่า เหมือนผู้ใหญ่บอกว่าเราไม่ใช่หมอลำ เราอยากพิสูจน์ตัวเองด้วยว่า ถ้าเราร้องหมอลำแบบสมัยก่อนเลยจะเป็นอย่างไร อยากทำอย่างนั้น

นอกจากอัลบั้มนี้อยากทำอะไรอีก?

หลายอย่างค่ะ (หัวเราะ) อยากทำหมดเลย นีโอโซลก็ชอบ-ชอบมาก แต่พยายามหาเวลาก่อน แล้วก็จริงๆ อยากคอมโพสเองด้วย ตอนนี้ก็เริ่มมาเรียนโน้ต อ่านโน้ต เรียนเปียโนด้วย เพื่อที่จะแต่งจริงจังมากกว่าเดิม มากกว่าแค่เราเขียนเนื้อแล้วเอาไปให้คนอื่นคอมโพส เราอยากเขียนคอร์ดเอง

อยากทำเบื้องหลัง อยากเป็นนักแต่งเพลง เพราะถ้าทำทัวร์คอนเสิร์ตแบบนี้ เราไม่ไหว เราอยากเขียนเพลง หาคนร้องเพลงที่เราแต่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image