“เศรษฐพัฒน์-เอราวัณ” โรงเรียนฝึกฝน สร้างคนพลังงาน

การค้นพบและสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นครั้งแรกที่ “แหล่งเอราวัณ” เมื่อกว่า 36 ปีที่แล้ว นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่นำพาประเทศไทยสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล และมีความมั่นคงทางพลังงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศความท้าทายมากที่สุดประการหนึ่งในยุคบุกเบิกของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม คือการพัฒนาบุคลากรชาวไทยให้มีทักษะความรู้ความสามารถเพื่อลงไปปฏิบัติงาน ณ แหล่งผลิตเอราวัณกลางอ่าวไทย เนื่องจากงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล หรืองาน offshore operations ในสมัยนั้นเป็นของใหม่มากสำหรับประเทศไทย และมีคนไทยน้อยคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือจบการศึกษาในสาขานี้มาโดยตรง การปฏิบัติงานในช่วงแรกจึงต้องพึ่งพาพนักงานชาวต่างชาติเกือบทั้งหมดผู้ดำเนินการในแหล่งเอราวัณสมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ตระหนักถึงข้อจำกัดสำคัญนี้ จึงมีแนวคิดในการพัฒนาบุคลากรชาวไทยให้มีทักษะและความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อลงไปปฏิบัติภารกิจจัดหาพลังงานในอ่าวไทย จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านเทคนิคปิโตรเลียมขึ้นที่ จ.สงขลา โดยปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในนาม “ศูนย์เศรษฐพัฒน์”

นามพระราชทาน
ศูนย์เศรษฐพัฒน์ เดิมชื่อ ศูนย์ฝึกอบรมยูเนี่ยนออยล์
ก่อตั้งขึ้นในปี 2523 ที่ จ.สงขลา หลังความพยายามในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยประสบผลสำเร็จ และแหล่งเอราวัณสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจนสามารถลงนามในสัญญาขายก๊าซฯ ฉบับแรกได้ ต่อมาในปี 2530 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมยูโนแคล ก่อนจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามให้ใหม่ เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการด้านการฝึกอบรมบุคลากรและการผลิตก๊าซฯ กลางอ่าวไทย เมื่อเดือนเมษายน 2533 โดยให้ชื่อว่า “เศรษฐพัฒน์” ซึ่งมาจากคำว่า “เศรษฐกิจ” และ “พัฒนา”

ทฤษฎีเข้ม ปฏิบัติข้น
ที่ศูนย์เศรษฐพัฒน์ ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง
เริ่มตั้งแต่วิชาเทคโนโลยีปิโตรเลียมว่าด้วยการผลิตก๊าซธรรมชาติ การควบคุมการผลิต การซ่อมบำรุง ครอบคลุมตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องธรณีวิทยา จนถึงคุณสมบัติทางเคมีของก๊าซ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยและการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังต้องฝึกอบรมวิชาภาษาอังกฤษ โดยมีการเน้น “ภาษาอังกฤษบนแท่น” ซึ่งใช้พูดกันในงานผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานบนแท่นผลิตและแท่นขุดเจาะในยุคบุกเบิกการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย จะมีชาวต่างชาติหลากเชื้อชาติปฏิบัติงานอยู่เป็นส่วนใหญ่ ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาหลักที่ใช้เพื่อสื่อสารระหว่างกันในการปฏิบัติงาน

นอกจากนั้น ผู้เข้าอบรมยังได้รับการฝึกให้รู้จักการปฐมพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
การฝึกหัดว่ายน้ำ ทักษะการช่วยเหลือตนเองให้อยู่รอดในน้ำ และวิธีการใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ การฝึกผจญเพลิง เพื่อให้พนักงานสามารถรับมือและมีประสบการณ์กับการผจญเพลิงในสภาพการณ์นอกฝั่งอีกด้วย โดยศูนย์เศรษฐพัฒน์ เป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในโลก ที่มีการจำลองเหตุการณ์ฉุกเฉินหลายเหตุการณ์ขึ้นมา เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้พบกับสถานการณ์จริงและมีประสบการณ์หากต้องพบเจอสถานการณ์เหล่านั้นเข้าจริงๆ เพื่ออบรมสร้างมาตรฐานสูงสุดในการปฏิบัติงานนอกชายฝั่งให้เป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพหลังจากการเรียนรู้ภาคทฤษฎีที่ศูนย์เศรษฐพัฒน์แล้ว พนักงานทุกคนจะต้องฝึกภาคปฏิบัติบนแท่นผลิตนอกฝั่งเพื่อให้มีประสบการณ์และมีความชำนาญในการทำงานจริงกับอุปกรณ์ มาตรวัด เครื่องยนต์ต่างๆ รวมถึงระบบควบคุมกระบวนการผลิตทั้งหลาย การฝึกภาคปฏิบัติดังกล่าวดำเนินการเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงสุด รวมระยะเวลาการอบรมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

Advertisement

ศูนย์ฝึกมาตรฐานระดับโลก
ปัจจุบัน ศูนย์เศรษฐพัฒน์มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค นอกจากนี้ ศูนย์เศรษฐพัฒน์ยังได้รับ
การรับรองมาตรฐานจากสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร (United Kingdom) คือ OPITO (Offshore Petroleum Industry Training Organization) ได้รับการรับรองการฝึกอบรมหลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำจากกรมเจ้าท่า ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนฝึกผจญเพลิง และการทำงานในพื้นที่อับอากาศ จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอีกด้วย โดยศูนย์แห่งนี้ได้ฝึกอบรมบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปแล้วเกือบ 400,000 คน (ข้อมูลถึงปี 2560)

สานต่อภารกิจ “สร้างคน” เพื่ออนาคตพลังงานไทย
ความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจจากความมุ่งมั่นและพยายามในการพัฒนาคนไทยให้มีความสามารถทัดเทียมกับบุคลากรชาวต่างชาตินั้น เห็นได้จากการที่พนักงานคนไทยได้เริ่มก้าวขึ้นสู่การทำงานในตำแหน่งสำคัญต่างๆ
บนแท่นผลิตอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันพนักงานที่ปฏิบัติงานบนแท่นผลิตในอ่าวไทยของเชฟรอน เป็นพนักงานคนไทยทั้งหมดร้อยเปอร์เซนต์

หาก ‘เอราวัณ’ คือโรงเรียนกลางอ่าวไทยที่สร้างคนผ่านประสบการณ์การเรียนรู้และแก้ปัญหาจากการลงมือทำงานจริง ‘เศรษฐพัฒน์’ ก็คือโรงเรียนบนฝั่งที่ฝึกฝนเตรียมความพร้อมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเสมือนจริงให้ผู้เข้าฝึกอบรมได้มีความพร้อมมากที่สุด ก่อนการลงไปปฏิบัติงานกลางอ่าวไทย….บุคลากรที่ได้รับการเคี่ยวกรำทั้งจากศูนย์เศรษฐพัฒน์และเอราวัณรุ่นแล้ว รุ่นเล่า ได้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศให้ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ เราเชื่อแน่ว่าโรงเรียนทั้งสองแห่งนี้ จะยังคงทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองหลักสำคัญต่อไปในการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ มาช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของประเทศให้ก้าวเดินต่อไป ดังที่ได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งมาแล้วเกือบ 4 ทศวรรษ…

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image